Thursday, December 24, 2009

แนะนำอาชีพ"เลี้ยงจิ้งหรีด"

กว่า 8 หมู่บ้านใน ต.โคกสูง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ถือเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ทำให้ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ต้องอพยพไปขายแรงงานในต่างจังหวัดกันจำนวนมาก หมู่บ้านที่นี่ถูกขนานนามว่า “หมู่บ้านคนชรา” ที่ต้องถูกปล่อยอยู่ลำพัง รอเพียงลูกหลานที่เดินทางไปทำงานต่างถิ่นส่งเงินกลับคืนมาให้เป็นค่าใช้จ่าย ดูแลลูกหลานศึกษาเล่าเรียนและเลี้ยงครอบครัว
โฆษณาโดย Google
อาชีพทำเงินรู้ในวงจำกัดลงทุนหลักหมื่นแต่ทำรายได้หลักแสน มีที่ปรึกษาแนะนำ การันตีธุรกิจwww.richagel.com

แต่เมื่อ 4 ปีก่อน ชาว ต.โคกสูง ได้รวมกลุ่มการทำอาชีพ ด้วยการเลี้ยงจิ้งหรีด จนปัจจุบันสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้งยังไม่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปขายแรงต่างถิ่นเหมือนเช่นในอดีต

"ศิริธร รักษาศีล" หนึ่งในผู้ริเริ่มการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีดประจำ ต.โคกสูง ฟาร์มจิ้งหรีดเศรษฐกิจพอเพียง เลขที่ 90 บ้านโคกสูง หมู่ 1 ต.โคกสูง เล่าถึงความเป็นมาของการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี 2548 ว่า เริ่มจากได้เข้าร่วมฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จิ้งหรีดทองลาย หรือชาวบ้านที่นี่เรียกว่า "พันธุ์สะดิ้ง" ซึ่งมีผลการศึกษาว่ามีคุณภาพทางสารอาหารดีกว่าจิ้งหรีดในท้องถิ่นพันธุ์ อื่นๆ

"ได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมานานกว่า 6 เดือน ใช้เงินลงทุนขั้นต้นราว 7,500 บาท โดยได้แบ่งพื้นที่ทำนาที่มีทั้งหมดกว่า 6 ไร่ มาเพียง 1 ไร่ เพื่อทำโรงเรือน เตรียมบ่อจะทำเป็นบ่อปูนหรือไม้ก็ได้ตามแต่ต้นทุน ขนาดบ่อกว้าง 90 ซม. สูง 55 ซม.และยาว 3.5 เมตร วัสดุอุปกรณ์ พร้อมกับศึกษาวิธีเลี้ยงเพื่อไม่ให้จิ้งหรีดตาย ซึ่งจะมีศัตรูหลัก คือ จิ้งจก,ตะขาบและมด เป็นหลัก และการเลี้ยงก็ง่ายมากเพราะมีการให้อาหารเพียงวันละ 1 ครั้ง ตอนช่วงเช้า ด้วยรำบดผสมหัวอาหารไก่แรกเกิดเพียงเล็กน้อย ใช้ระยะเวลาเลี้ยงแต่ละรุ่นไม่เกิน 45 วัน"

จากนั้นต่อยอดด้วยการเพาะขยายพันธุ์ในฟาร์มเลี้ยงเอง ด้วยการใช้ขันน้ำพลาสติก ใส่แกลบข้าวเปลือก ผสมดินเผาและทราย เป็นบ่อเพาะขยายพันธุ์ต่อได้อีกในระยะเวลา 10 วัน ก่อนนำออกแยกบ่อเพาะเลี้ยงต่ออีกไม่เกิน 45 วัน ส่งขายได้ตลอดช่วงหมุนเวียนกันไป ด้วยการลงทุนเพียงครั้งเดียว ซึ่งสามารถทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมได้ในครอบครัว ที่สำคัญไม่มีปัญหาในด้านการตลาด เฉพาะใน จ.ชัยภูมิ แทบส่งขายให้ไม่ทัน รวมทั้งตลาดในประเทศ อย่างที่ตลาดไทตลาดคลองเตย และตลาดโรงเกลือ ราคาก็สูงถึงกิโลกรัมละ 200-300 บาท

การเลี้ยงจิ้งหรีดของกลุ่มชาวบ้านที่นี่ปัจจุบันกำลังกลายเป็นทั้งอาชีพหลัก และอาชีพเสริมที่สร้างรายได้อย่างดีให้คนในชุมชนและยังช่วยหยุดการย้ายถิ่น ของแรงงานได้อีกด้วย

Tuesday, December 15, 2009

แนะนำอาชีพ'แจ่วบอง'

"แจ่วบอง” เป็นน้ำพริกอีสานที่ชาวบ้านชาวช่องรู้จักกันดีเป็นอย่างยิ่ง อันว่า แจ่ว แปลว่า น้ำพริก แต่คำว่า บอง แปลว่าอะไรไม่รู้เหมือนกัน แจ่วบอง เรียกอีกอย่างว่า ปลาร้าบอง ที่ตอนนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเป็นอย่างดี เพราะมันมีรสชาติที่แซบหลาย ด้วยเหตุฉะนี้ จึงต้องรับประทานกับผัก เพื่อคลายความเผ็ดร้อนลง

นางอัจฉรา เดชพรรณา ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนนาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มฯ มีสมาชิก 20 คน แปรรูปปลาร้า เป็นปลาร้าบอง ด้วยการนำเครื่องปรุงต่าง ๆ เข้าไปผสมหลายรูปแบบ ทำให้ได้หลายรสหลายสูตร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรสได้ตามอารมณ์ อยาก ตามความชอบ เรียกได้ว่า ชอบแบบไหนมีให้เลือกได้หลายแบบ

การทำปลาร้าถือเป็นภูมิปัญญาของคนอีสาน ในการถนอมอาหารไว้กินนาน ๆ ซึ่งได้จากการนำปลามาทำความสะอาด คลุกด้วยเกลือและรำอ่อนและข้าวคั่ว ก่อนนำไปหมักในไหหรือภาชนะที่ปิดฝาให้แน่นสนิท เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก็จะได้ปลาร้าที่มีรสชาติดี พร้อมที่จะนำมารับประทานหรือนำมาปรุงอาหารได้

การนำปลาร้ามาเข้าเครื่องหรือทำปลาร้าบอง ก็หมายถึงการเพิ่มรสชาติของการกินปลาร้าให้แปลกออกไปจากที่เคยรับประทานทุก เมื่อเชื่อวันนั่นเองจะได้ไม่จำเจซ้ำซาก เหมือนคนรับประทานน้ำพริกถ้วยเก่า รสชาติเก่า ๆ มันก็น่าเบื่อเป็นธรรมดาตามประสาวิญญูชน หากเปลี่ยนรสชาติไปบ้างก็เหมือนรับประทานน้ำพริกถ้วยใหม่จะได้ไม่น่าเบื่อไง ด้วยปลาร้าธรรมดาเมื่อตักออกมารับประทานจะให้รสเค็มอย่างเดียว แต่พอใส่เครื่องปรุงเข้าไป ก็จะได้รสชาติที่แปลกใหม่ ชวนรับประทาน นำมารับประทานกับข้าวเหนียวหรือข้าวสวยก็ได้ สามารถเก็บไว้ได้นานนับเดือน ทีเดียว

จากความอร่อยของปลาร้าบอง ชาวอีสานจึงนำเผยแพร่ ออกสู่คนต่างถิ่น กระทั่งทุกวันนี้ ปลาร้าบองได้โกอินเตอร์อย่างภาคภูมิใจ ทำรายได้ให้ผู้ผลิตอย่างดี...ข้อนี้มิใช่อะไร เพราะมีชาวอีสานไปทำงานยังต่างประเทศ เป็นจำนวนมากนั่นเอง!

สำหรับกรรมวิธีการทำปลาร้าบอง ของ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ประธานกลุ่ม กล่าวว่าสูตรที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีส่วนผสมคือ ปลาร้าที่นำมาทำปลาร้าบอง ต้องเป็นปลาที่ผ่านการหมักมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งนิยมใช้ปลาช่อนเพราะมีเนื้อนุ่มกว่าปลาชนิดอื่น การทำปลาร้าบอง มีส่วนผสมคือ พริก 500 กรัม ข่า 300 กรัม กระเทียม 5 กก. หอม 5 กก. งา 300 กรัม ใบมะกรูด 200 กรัมและปลาร้า 6 กก.

วิธีการทำก็คือ นำส่วนผสมดังกล่าวทุกอย่างอบให้สุกและนำไปบดให้ละเอียด นำปลาร้าไปต้มให้สุกกรองเอาแต่น้ำแล้วนำเครื่องปรุงที่เตรียมไว้ทั้งหมดมา รวมกันนำไปเข้าเครื่องนวดผสมให้เข้ากันจนละเอียด แล้วนำน้ำปลาร้าที่สุกแล้วเทลงในเครื่องนวดผสมเข้ากันดีจนเหนียวได้ที่ก็ เป็นอันเสร็จ พิธี จากนั้นนำไปบรรจุกล่อง โดยการชั่งน้ำหนักให้ได้ 80 กรัมต่อ 1 กระปุก จำหน่ายด้วยราคา 10 บาท ส่วนอีกราคาหนึ่งคือ 50 บาท บรรจุในกระปุกด้วยน้ำหนัก 500 กรัม

แต่กว่าที่จะจำหน่ายได้ราคาดีจนทุกวันนี้ มีหลายหน่วยงานที่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดสร้างอาคาร ซื้อวัสดุอุปกรณ์และให้เงินหมุนเวียน เมื่อปี 2545 เช่น กศน.จ.กาฬสินธุ์ สนับสนุนเงิน 13,000 บาท อบจ.กาฬสินธุ์ สนับสนุนเงิน 100,000 บาท เทศบาลตำบลนาจารย์หนุนเงิน 360,000 บาท จังหวัดกาฬสินธุ์สนับสนุนงบซีอีโอ 100,000 บาท สหกรณ์สนับสนุน 40,000 บาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานสนับสนุนอุปกรณ์ตู้อบไฟฟ้า ตู้ตากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมให้ความรู้ด้านการแปรรูปอาหารอีกด้วย ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนเงิน 150,000 บาท จัดซื้ออุปกรณ์และบรรจุภัณฑ์

การทำปลาร้าบองนั้น ส่วนประกอบล้วนมาจากผลผลิตที่สามารถผลิตได้เองด้วยคนในชุมชน เครื่องประกอบต่าง ๆ ล้วนเป็นสมุนไพรที่สามารถปลูกเองได้ ปลูกได้ทุกบ้าน และผักที่นำรับประทานด้วยนี้ก็เป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณประโยชน์....นับเป็น กิจกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น.

Monday, December 14, 2009

แนะนำอาชีพ‘อเมริกันคุกกี้’

ใกล้เทศกาลปีใหม่เข้ามาทุกที ซึ่งปีใหม่นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่คึกคักแล้ว ยังเป็นช่วงตระเตรียมส่งความสุข ความปรารถนาดี ในหลาย ๆ รูปแบบ และสิ่งที่ขาดไม่ได้กับเทศกาลปีใหม่คือของขวัญ ซึ่งในบรรดาขนมที่นิยมใช้เป็นของขวัญนั้น ก็รวมถึง “คุกกี้” และวันนี้ “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลมานำเสนอ...

“ส้ม-คิสราภัธต์ ศรีโรจน์” เจ้าของร้าน “เบเกอรี่ บาย คิสรา” ซึ่งรับทำเบเกอรี่โฮมเมด อาทิ คุกกี้ ขนมปัง เค้ก ปัจจุบันได้คิดทำ “อเมริกัน คุกกี้” จำหน่ายด้วย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าอเมริกันคุกกี้นี้เป็นสูตรใหม่ เพิ่งจะคิดค้นขึ้นมาได้ไม่นาน นอกเหนือจากคุกกี้ข้าวโอ๊ต คุกกี้รัมเรซิ่น คุกกี้เนย คุกกี้ธัญพืช คุกกี้งาดำ คุกกี้กาแฟ

“ที่มาของการทำเบเกอรี่โฮมเมด คือการไปเรียนที่สถาบันที่สอน เบเกอรี่ จากนั้นก็มาปรับวิธีทำ และสร้างสูตรให้เป็นของตัวเอง โดยสูตรของเรานั้น คุกกี้จะไม่หวานมาก ทานเพลิน ๆ” ส้มบอก

สำหรับอเมริกันคุกกี้ สูตรนี้จะมี “เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบ” และ “ลูกเกดเหลือง-ดำ” เป็นตัวชูโรง โดยแต่งกลิ่นด้วยกลิ่นอัลมอนด์ให้ น่าทานยิ่งขึ้น โรยหน้าด้วยช็อกโกแลตชิพ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าครบสูตรแบบ
อเมริกันคุกกี้จริง ๆ ซึ่งนอกเหนือจากซื้อทานเอง ซื้อฝากผู้อื่น ยังใช้เป็นของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ได้ด้วย

รายละเอียดของอเมริกันคุกกี้สูตรนี้ มีส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้ แป้งสาลีอเนกประสงค์ 100 กรัม, แป้งสาลีเค้ก 150 กรัม, เกลือป่น 14 ช้อนชา, เบกกิ้งโซดา 14 ช้อนชา, วานิลลาผง 12 ช้อนชา, นมผง 20 กรัม, ช็อกโกแลตไรซ์ 50 กรัม, เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบทุบ 100 กรัม, มะพร้าวอบ 20 กรัม, ลูกเกดเหลือง–ดำหั่นหยาบ 50 กรัม, เนยสดชนิดเค็ม 100 กรัม, เนยขาว 125 กรัม, น้ำตาลทรายขาว 100 กรัม, น้ำตาลทรายแดง 50 กรัม, น้ำหอมกลิ่นอัลมอนด์ 1 ช้อนชา และไข่ไก่ 1 ฟอง

นอกจากนี้ ยังใช้ช็อกโกแลตชิพ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ครึ่งซีก สำหรับแต่งหน้าคุกกี้ด้วย

วิธีทำ เริ่มจากร่อนแป้งสาลีทำเค้ก และแป้งสาลีอเนกประสงค์ เบกกิ้งโซดา เกลือป่น นมผง และวานิลลาผงเข้าด้วยกัน จากนั้นผสมช็อกโกแลต ไรซ์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลูกเกด และมะพร้าวอบ ลงในแป้ง

ตีผสมเนยเค็มกับเนยขาว น้ำตาลทราย และน้ำตาลทรายแดง ด้วยหัวตีรูปใบไม้ ด้วยความเร็วต่ำ จนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

ใส่น้ำหอมกลิ่นอัลมอนด์ และไข่ไก่ ตีผสมจนเข้ากันทันที และค่อย ๆ ใส่แป้งที่ร่อนไว้ ตีผสมจนเข้ากัน

นำเนื้อแป้งคุกกี้ที่ตีเข้ากันแล้ว ปั้นเป็นรูปคุกกี้ตามขนาดต้องการ โดยมีน้ำหนักชิ้นละ 50 กรัม วางลงบนถาดที่เตรียมไว้ โดยต้องทาเนยบนถาดก่อน แต่งหน้าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และช็อกโกแลตชิพ

จากนั้นนำเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 400 องศาฟาเรนไฮต์ ใช้ไฟบน-ล่าง นานประมาณ 8-10 นาที

เมื่อครบเวลานำออกจากเตา พักให้เย็น แล้วนำเข้าเตาอบต่ออีกครั้ง อบที่อุณหภูมิ 300 องศาฟาเรนไฮต์ ประมาณ 7 นาที หรือสังเกตดูว่าคุกกี้มีสีออกเหลืองกรอบ

นำออกจากเตา รอให้คุกกี้พออุ่น ๆ จึงบรรจุลงภาชนะ

คุณส้มแนะนำว่า คุกกี้นี้ถ้าทานกับชาร้อนอังกฤษ หรือกาแฟร้อนจะอร่อยมาก และถ้าต้องการทานคุกกี้ให้อร่อยยิ่งขึ้น แนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็น และหยิบทานตามต้องการ เมื่อแช่ตู้เย็นคุกกี้จะกรอบอร่อยมาก และยังทำให้อายุคุกกี้เก็บไว้ได้นานมากขึ้น

ส่วนราคาขาย “อเมริกันคุกกี้” นั้น อยู่ที่ กก.ละ 700 บาท โดยมีกำไรประมาณ 30% ซึ่งเหตุที่ขายในราคาสูง เพราะใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ

ใครสนใจ “อเมริกันคุกกี้” และเบเกอรี่อื่น ๆ ของ ส้ม-คิสราภัธต์ ศรีโรจน์ ติดต่อได้ที่ โทร.08-1909-0983, 08-1915-3482, 08-0616-9238 ส่วนใครพอมีฝีมือทางการทำขนม-ทำเบเกอรี่ และกำลังคิดจะทำขายรับเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง บางที “คุกกี้” อาจจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดี !!.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=37049&categoryID=525

Wednesday, December 9, 2009

แนะนำอาชีพ‘น้ำมันลูกประคบ’

“ลูกประคบสมุนไพร” เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่ยังแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รักสุขภาพ ซึ่งวันนี้ทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกประคบสมุนไพรมานำเสนอ นั่นก็คือ “น้ำมันลูกประคบ” ที่สร้างรายได้ให้ผู้ผลิตได้อย่างน่าสนใจ...

สันติ แฉล้ม อายุ 40 ปี ประธานชมรมสมุนไพรไทยบ้านวัดถั่ว และเจ้าของคลินิกศรีประจันต์การแพทย์แผนไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องหอมไทย “ทิพย์เกสร” เล่าให้ฟังว่า ตนเป็นทายาทผู้รับช่วงรุ่นที่ 3 ของคุณตามิ่ง (หมอมิ่ง แนบเนียน) แสงสีทอง แพทย์แผนโบราณแห่งลุ่มน้ำสุพรรณบุรี ซึ่งได้นำความรู้แพทย์แผนปัจจุบันมาประยุกต์กับสมุนไพร เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ โดยการสกัดน้ำมันจากลูกประคบและหัวดองดึง แล้วทำเป็น “น้ำมันนวดตัว” เพื่อสะดวกในการใช้และพกพา แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าของสมุนไพรลูกประคบ

“สาเหตุที่ผมเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาแปรรูป เพราะแม้คนยุคปัจจุบันก็หันมาให้ความสนใจลูกประคบสมุนไพรกันมาก แต่ความนิยมยังน้อยอยู่ เพราะเกิดความยุ่งยากในขั้นตอนการประคบ ซึ่งต้องใช้เวลาในการนึ่งเป็นวัน ๆ ใช้ได้ 1-2 วันก็ต้องทิ้ง เพราะเป็นเชื้อรา ผมก็เลยคิดเอาคุณค่าสมุนไพรในลูกประคบมาประยุกต์สกัดเป็นน้ำมัน เพื่อสะดวกในการใช้ และพกพา และเป็นได้ทั้งของขวัญของฝากที่มีประโยชน์ ใช้สำหรับถวายพระสงฆ์ มอบให้ผู้สูงวัย ผู้ที่ใช้สมองเคร่งเครียดกับการทำงาน จนรู้สึกปวดต้นคอ หรือผู้ที่ทำงานหนัก นักกีฬา มีติดตัวไว้สำหรับทา ถู นวด เพื่อช่วยให้ร่างกายเกิดความรู้สึกสดชื่น เบากาย”

ที่คลินิกของสันติยังมีผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านอีกหลายชนิด เช่น เครื่องหอมสมุนไพรทิพย์เกสร, ยาหม่องสมุนไพร, น้ำหอมสมุนไพร, ยาหอมบำรุงหัวใจ, รางจืด, เบญจธาตุยาลมขึ้นเบื้องสูง ฯลฯ

สำหรับการทำน้ำมันนวดตัวลูกประคบ อุปกรณ์ที่ใช้หลัก ๆ ก็มี... เตาแก๊ส, กระทะ, ถังสเตนเลสขนาดใหญ่, ทัพพี, ผ้าขาวบาง, ไม้พาย, เขียง, มีด, กระด้ง, เครื่องชั่ง, ตะแกรง, ถ้วยตวง, ครกสำหรับตำ, ขวดแก้ว หรือขวดพลาสติกที่มีฝาปิดใช้ใส่ผลิตภัณฑ์ และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบฉวยจากในครัวเรือนได้

วัตถุดิบ-ส่วนผสมที่ใช้ในการทำน้ำมันลูกประคบ ก็มี...น้ำมันสกัดจากสมุนไพรลูกประคบ 400 กรัม, น้ำมันระกำ 150 กรัม, ทิงเจอร์ดองดึง 100 กรัม, เกล็ดสะระแหน่ (เมนทอล) 100 กรัม, การบูร 70 กรัม, พิมเสน 120 กรัม, น้ำมันยูคาลิปตัส 120 กรัม, น้ำมันเปปเปอร์มินต์ 100 กรัม, กานพลู 60 กรัม, น้ำมันอบเชย 40 กรัม, น้ำมันเขียว 40 กรัม และไวท์ออยล์ 100 กรัม

ขั้นตอนแรกต้องทำน้ำมันสกัดจากสมุนไพรในลูกประคบก่อน สมุนไพรในลูกประคบประกอบด้วย... หัวไพลสด 1 กก., ว่านม้าสด 500 กรัม, ว่านนางคำสด 100 กรัม, เถาวัลย์เปรียง สด/แห้ง 100 กรัม, ตะไคร้สด 100 กรัม, เถาเอ็นอ่อน สด/แห้ง 100 กรัม, ข่าสด 100 กรัม, เถาโคคลาน สด/แห้ง 100 กรัม, ผักเสี้ยนผีสด 100 กรัม, ขมิ้นอ้อยสด 100 กรัม, ผิวมะกรูดสด 100 กรัม, ใบส้มป่อย 100 กรัม, น้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าว 3 ลิตร

วิธีทำ นำสมุนไพรที่เตรียมไว้มาทำความสะอาดให้เรียบร้อย จากนั้นก็นำตะไคร้ หัวไพล ผิวมะกรูด และขมิ้นอ้อย มาหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ตำหยาบ ๆ พอแตก เสร็จแล้วก็นำมาคลุกเคล้ากับสมุนไพรที่เหลือทั้งหมด ก่อนจะนำสมุนไพรทั้งหมดลงไปทอดในน้ำมันงาด้วยไฟอ่อน ๆ จนสมุนไพรทั้งหมดเหลือง กรอบดี (ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง) นำขึ้น ปล่อยให้เย็น แล้วจึงกรองเอาแต่น้ำมันเตรียมไว้เป็นส่วนผสมของยาต่อไป

ต่อไปทำทิงเจอร์สมุนไพรดองดึง วัตถุดิบที่ใช้ก็มี หัวดองดึงสด (หัวขวาน) 1 กก. นำมาตำให้ละเอียด นำลงแช่ในเหล้าโรง 40 ดีกรี จำนวน 3 ขวดกลม เป็นเวลา 15-30 วัน แล้วจึงกรองเอาแต่น้ำ เตรียมไว้เป็นส่วนผสมของยาต่อไป

ขั้นตอนสุดท้ายในการทำ “น้ำมันลูกประคบ” เมื่อเตรียมส่วนผสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำส่วนผสมหรือวัตถุดิบดังกล่าวทั้งหมดใส่รวมกันในถังสเตนเลส ทิ้งไว้ประมาณ 2 วันก็ใช้ได้ แต่ก่อนใช้ต้องทำการกรองเอาแต่น้ำมันมาใช้ บรรจุใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย

จากสูตรที่ว่ามาข้างต้น สามารถทำน้ำมันลูกประคบออกมาได้ในปริมาณ 1,000 กรัม (1 กก.) บรรจุขวดโดยราคาขาย ขวดใหญ่ 50 ซีซี 150 บาท ขวดเล็ก 22 ซีซี 80 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 50%

ใครสนใจ “น้ำมันลูกประคบ” ต้องการซื้อไปใช้ หรือเป็นตัวแทนจำหน่าย ติดต่อคุณสันติได้ที่ 113/2 หมู่ 1 บ้านวัดถั่ว ต.ศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี 72140 โทร. 0-3558-1967, 0-3558-1909 หรือที่มือถือ 08-5384-4965 ซึ่งเจ้าของ “ช่องทางทำกิน” รายนี้ก็เป็นกรณีศึกษาการต่อยอดภูมิปัญญาไทยที่น่าสนใจ.
ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=35822&categoryID=525

Saturday, November 28, 2009

แนะนำอาชีพ'จานด่วนมังสวิรัติ'

“อาหารมังสวิรัติ” เป็นอาหารอีกประเภทที่เริ่มแพร่หลายในชีวิตประจำวันของคนไทยที่ไม่อยากรับ ประทานเนื้อสัตว์ ต้องการรักษาสุขภาพหรือดูแลรูปร่างให้ดูดีไม่มีไขมันส่วนเกิน ซึ่งก็กลายเป็นอีกช่องทางสร้างอาชีพ-สร้างรายได้ที่น่าสนใจ และวันนี้ทางทีมงาน “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลมานำเสนอ..

ประภา อภิพัฒนา หรือ คุณเจี๊ยบ เจ้าของร้านอาหาร “รวมมิตร” ซึ่งขายอาหารหลายประเภท อาทิ อาหารตามสั่ง, ก๋วยเตี๋ยวหลอด, บะหมี่กวางเจา, หมูสะเต๊ะ รวมถึง “อาหารมังสวิรัติ” อยู่ที่ย่านถนนพุทธบูชา กรุงเทพฯ เจ้าตัวบอกว่า สืบทอดกิจการร้านอาหารจากรุ่นคุณยายซึ่งขายอาหารมานานกว่า 30 ปี ซึ่งร้านอาหารของตนนั้นจะเน้นวัตถุดิบที่ปลอดภัย ไม่ใช้ผงชูรส

สำหรับเมนูอาหารมังสวิรัตินั้น คุณเจี๊ยบแนะนำ “จานด่วน” 3 เมนู ได้แก่ สปาเก๊ตตี้ผัดเห็ด/ ผักโขม, ข้าวกระเพราเห็ด 3 อย่าง, หมี่กระเฉดมังสวิรัติ โดยเป็นเมนูที่ทำขึ้นสำหรับออกงานให้กับโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งลูก ๆ คุณเจี๊ยบเรียนอยู่ แต่วันนี้เธอได้บอกเล่าวิธีทำผ่านทีมงานคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน”

เริ่มที่ “สปาเก๊ตตี้ผัดเห็ด/ ผักโขม” มีส่วนประกอบของ เส้นสปาเก๊ตตี้, เห็ดออรินจิ, ผักโขมจีน, แครอท, โหระพา, หอมใหญ่, กระเทียม, พริกขี้หนูแห้งทอด, น้ำมันมะกอก, เนยกระเทียม

เน้นวัตถุดิบคุณภาพดี และวิธีทำถูกต้อง โดยเริ่มที่เส้นสปาเก๊ตตี้ ก่อนใช้ต้องลวกไม่ให้สุกจนเกินไป หมายความว่าแกนข้างในต้องไม่สุก เพราะถ้าลวกสุกทั้งเส้น จะทำให้เส้นเละมากหลังผัด, เห็ดออรินจิ ซึ่งเป็นเห็ดญี่ปุ่น หรือเห็ดเกาหลี เนื้อจะแน่นมาก เพียงแต่ราคาค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยราคา กก.ละกว่า 200 บาท เห็ดนี่ต้องล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ, ผักโขมจีน ต้องลวกก่อน และเพื่อความสดกรอบต้องนำไปแช่น้ำแข็งเอาไว้ก่อนใช้ ส่วนน้ำมันมะกอก ต้องเลือกใช้ประเภทสำหรับผัดหรือทอดเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละประเภทกับที่ใช้ทำน้ำสลัด

วิธีทำ “สปาเก๊ตตี้ผัดเห็ด/ ผักโขม” ตั้งกระทำใส่น้ำมันมะกอก ใส่เห็ดลงไปผัด จากนั้นใส่เนยและกระเทียมสับพอประมาณลงไปผัดด้วย ผัดให้เข้ากันและมีกลิ่นหอมของเนยและกระเทียม ก็ตักขึ้นมาพักไว้

ขั้นต่อไปคือ ตั้งกระทะเจียวหอมหัวใหญ่และกระเทียมให้สุกดี ที่ต้องเน้นให้สุกเพราะถ้าเจียวไม่สุกหอมใหญ่จะเผ็ด กระเทียมก็จะเผ็ดและมีรสระคาย เมื่อเจียวทั้งกระเทียมและหอมใหญ่สุกแล้ว ใส่เส้นสปาเก๊ตตี้ลงไป ตามด้วยแครอทหั่นฝอย จากนั้นตามด้วยเห็ดที่ทำเตรียมไว้ และผักโขมจีนลวก ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยซอสปรุงรส และเกลือทะเลที่มีแร่ธาตุอื่น ๆ นอกเหนือจากโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
เมื่อผัดเข้ากันจนสุก ปรุงรสจนมั่นใจว่าใช้ได้แล้ว ก็ตักขึ้นได้เลย เวลาเสิร์ฟนั้นโรยหน้าด้วยใบโหระพาใบใหญ่ และพริกขี้หนูแห้งทอด เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย เมนูนี้มีต้นทุนอยู่ที่จานละประมาณ 50 บาท

ต่อด้วย “ผัดกระเพราเห็ด 3 อย่าง” ซึ่งมีส่วนประกอบของ เห็ดฟาง, เห็ดหูหนู และเห็ดนางรม, แครอทหั่นฝอย, ใบกระเพรา, กระเทียมสับ และพริกขี้หนู

วิธีทำ ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันรำข้าว เจียวกระเทียมให้สุก จากนั้นใส่พริกขี้หนูสับลงผัดให้สุก (ถ้าผัดไม่สุก พริกขี้หนูจะเหม็นเขียว) ใส่เห็ด 3 ชนิดที่เตรียมไว้ลงไปผัดด้วย โดยใส่เห็ดนางรมลงไปก่อน เพราะสุกยากกว่าเพื่อน ตามด้วยเห็ดฟาง เห็ดหูหนู และแครอทหั่นฝอย ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายแดง (ให้รสชาติหวานกลมกล่อม-ส่วนน้ำตาลทรายขาวรสชาติจะหวานแหลม), น้ำมันหอย และซอสปรุงรส ผัดจนเข้ากัน เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย

เมนู “ผัดกระเพราเห็ด 3 อย่าง” นี้มีต้นทุนอยู่ที่จานละประมาณ 30 บาท

อีกเมนู “หมี่กะเฉดมังสวิรัติ” ส่วนประกอบก็มี เส้นหมี่อบแห้ง, ผักกระเฉด, โปรตีนถั่วเหลืองเกษตรชนิดเล็ก, พริกขี้หนูสับ, กระเทียมสับ, เห็ด (ตามฤดูกาล)

วิธีทำ แช่เส้นหมี่อบแห้งไว้นาน 3 นาทีเพื่อให้เส้นนุ่ม จากนั้นตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน เจียวกระเทียมและพริกให้สุก เหมือนกับวิธีทำกระเพราเห็ด 3 อย่าง จากนั้นใส่เห็ดลงไปผัดจนสุก ใส่เส้นหมี่ และผัดกระเฉดตามลงไป ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว, ผงซุปเห็ดหอม และน้ำตาลทรายแดง ผัดให้เข้ากันจนสุก เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีต้นทุนจานละประมาณ 40 บาท

ในการขายทุกเมนู ก็บวกส่วนกำไรเข้าไปอีกจานละ 10-15 บาท

ร้านรวมมิตรของคุณเจี๊ยบ ตั้งอยู่ที่ 9/266-267 หมู่บ้านสวนริมคลอง (บางมด) ถนนพุทธบูชา กรุงเทพฯ เปิดขายเวลา 07.00-19.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์กลางเดือน หมายเลขโทรศัพท์คือ 0-2869-3944-5 ใครจะลองชิมก็เชิญได้ ส่วนใครที่ได้ไอเดีย “ช่องทางทำกิน” จาก “อาหารมังสวิรัติ” แล้ว...ก็อย่ารอช้า !!

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=34622&categoryID=525

แนะนำอาชีพ'วุ้นสายรุ้ง'

พูดถึงขนมนิ่ม ๆ ใส ๆ อย่างวุ้น หลายคนอาจนึกถึงแต่วุ้นกะทิ หรือหากเป็นสมัยก่อนที่ผู้เฒ่าผู้แก่รู้จักกันดีก็จะเป็นวุ้นไข่หรือวุ้น สังขยา แต่ไม่ว่าจะเป็นวุ้นอะไร ก็เป็นขนมที่ทำได้ไม่ยาก หาวัสดุอุปกรณ์ในการทำก็ง่าย ราคาไม่แพง อีกทั้งเป็นขนมที่นิยมบริโภคกันทั่วไป ซึ่งเป็นข้อยืนยันว่าขนมชนิดนี้ทำเมื่อไรก็ขายได้ และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลเรื่องวุ้นมานำเสนอ เป็น “วุ้นสายรุ้ง” หลากสี...

ในปัจจุบันเราจะพบการทำวุ้นที่ดัดแปลงรูปแบบหลากหลาย อย่างเช่นวุ้นเค้ก ซึ่งก็เป็นวุ้นกะทิ นิยมทำสลับชั้นแล้วใช้พิมพ์รูปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปสัตว์ ระฆัง โบว์ ใบไม้ หัวใจ ตัวอักษร และผลไม้ ดูแล้วสวยงาม

มาโนชญ์ อินทวงษ์ อายุ 46 ปี เป็นเจ้าของร้านขนมไทย-วุ้นสายรุ้งหลากสี ก็ทำวุ้นแบบดัดแปลงรูปแบบเช่นกัน โดยเจ้าตัวเล่าให้ฟังถึงที่มาของอาชีพนี้ว่า ทำอาชีพค้าขายของกินทั้งคาว-หวานมาหลายอย่างแล้ว อาทิ เค้กกระป๋อง แต่จำต้องเลิกเพราะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ คนตกงาน วัตถุดิบที่ใช้ในการทำขนมขึ้นราคา

ขนมที่ทำจะขายราคาเดิมก็ไม่มีกำไร ขายราคาสูงขึ้นคนก็ซื้อยาก ก็หันไปทำขนมกุยช่ายขายตลาดนัดอยู่พักหนึ่ง

ภายหลังก็เริ่มทำวุ้นขาย โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ได้เรียนรู้ว่าแม้ผลิตภัณฑ์สินค้าชนิดเดียว กัน แต่ถ้าเราทำรูปแบบให้น่าสนใจ ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างคือการบรรจุหีบห่อ เพื่อให้ได้วุ้นที่

น่ารับประทาน เป็นที่สะดุดตา ก็จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งวุ้นสามารถแบ่งตลาดจากเค้กได้ อาจเพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับนม-เนย

การทำวุ้นสายรุ้งหลากสี มี 2 ชั้นสลับกัน คือตัววุ้น กับหน้ากะทิ

ส่วนผสมหลักของการทำวุ้นเจ้านี้ ตามสูตรประกอบด้วย... ผงวุ้นอย่างดี ตรานางเงือก (1 ซอง บรรจุ 50กรัม), น้ำลอยดอกมะลิ, น้ำตาลทราย, สีผสมอาหาร, กาแฟ, ใบเตยหอม และกลิ่นมะลิ

วัสดุ-อุปกรณ์... ใช้หม้อต้มสแตนเลส (เบอร์ 28), ทัพพีทรงกลมลึก, ช้อนตวง, ถ้วยตวงน้ำ, ถ้วยตวงแห้ง, ช้อนกาแฟ, ไม้พาย, เตาแก๊ส, ถ้วยแบ่ง, แม่พิมพ์วุ้นรูปแบบต่าง ๆ, ผ้าขาวบาง, ที่ปาดส่วนผสม, กระติกเก็บความร้อน, ขวดที่มีฝาบีบได้, ถ้วยหรือกระบอกสำหรับแบ่งวุ้นเพื่อหยอดพิมพ์

ขั้นตอนการทำ “วุ้นสายรุ้ง”

เริ่มจากทำวุ้นสี นำผงวุ้นที่เตรียมไว้ โรยลงไปในน้ำสะอาด ตามสัดส่วน คือวุ้น 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 2? ถ้วยตวง (ถ้าไม่ใช้น้ำ แต่เป็นกะทิ ก็สัดส่วนเหมือนกัน) ถ้าใช้น้ำ (หรือกะทิ) มากกว่านี้ตัววุ้นจะนุ่ม ไม่ค่อยอร่อย

ใส่ผงวุ้นลงไปในน้ำสะอาดประมาณ 1 นาที เพื่อให้วุ้นได้ดูดน้ำให้เต็มที่ ก่อนจะนำขึ้นตั้งไฟ ควรใช้ความร้อนปานกลางค่อนข้างอ่อนในการเคี่ยว เมื่อวุ้นละลายดีแล้ว จังหวะนี้หากต้องการเติมรส-สีสัน กลิ่น ตามที่ต้องการ เช่น รสกาแฟ ก็ให้ใช้กาแฟชงกับน้ำร้อนในปริมาณเข้มข้น เพื่อหยอดใส่ลงในหม้อวุ้น

เช่นเดียวกับใบเตย นำใบเตยมาปั่นแล้วคั้นน้ำเข้มข้นเติมใส่ลงไปในหม้อเคี่ยววุ้น หากเป็นสีสันอื่น ๆ ก็ให้ใช้สีผสมอาหารละลายกับน้ำสะอาด และใส่กลิ่นต่าง ๆ ตามต้องการ ใส่น้ำตาลทราย เมื่อวุ้นเดือดเคี่ยวต่อประมาณ 5 นาที ก็จะได้วุ้นสีใส เตรียมไว้หยอดลงพิมพ์รูปต่าง ๆ ที่เตรียมไว้
ควบคู่กับการทำวุ้นสี คือการทำส่วนผสมวุ้นกะทิ... ใช้ผงวุ้น, น้ำลอยดอกมะลิ, หัวกะทิ, น้ำตาลทราย และ เกลือ

เริ่มจากผสมผงวุ้นกับน้ำลอยดอกมะลิ ตั้งไฟเคี่ยวจนวุ้นละลายจนหมด จึงใส่น้ำตาลทราย เคี่ยวต่อไปอีกสักครู่จึงใส่หัวกะทิ เกลือ คนให้ส่วนผสมเข้ากัน ตั้งไฟ พอเดือดทั่วใส่กลิ่นมะลิลงไป แล้วยกลง

ตักหยอดวุ้นกะทิสลับกับวุ้นสีที่ทำเตรียมไว้ลงในพิมพ์ เสร็จแล้วปิดท้ายด้วยวุ้นกะทิชั้นบนสุด ก็จะได้วุ้นสายรุ้ง โดยใส่ถ้วยพลาสติกใส ขนาด 180 กรัม จะได้จำนวนประมาณ 20 ถ้วย ขายราคาถ้วยละ 20 บาท

เทคนิคการทำ “วุ้นสายรุ้ง” ให้ออกมาเป็นชั้น ๆ สวยงาม คืออย่าทิ้งผิววุ้นให้แห้ง มิฉะนั้นจะหยอดชั้นต่อไปไม่ติดกัน และทำให้แต่ละชั้นหลุดออกจากกัน

มาโนชญ์บอกว่า ลักษณะวุ้นสายรุ้งของที่ร้านจะมีกลิ่นหอม สีสันสวยงาม เนื้อนิ่ม รับประทานง่าย รสชาติกำลังดี สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณ 4 - 5วัน

ผู้ที่สนใจอยากมีอาชีพเสริมหรือจะยึดเป็นอาชีพหลัก ด้วย “วุ้น” ก็ลองฝึกทำกันดู แต่หากคิดอยากจะทำขาย เริ่มต้นควรหาตลาดก่อน ว่าจะขายยังไง ตรงไหน ดูกลุ่มลูกค้าว่าชอบวุ้นแนวไหน ทั้งนี้ วุ้น-วุ้นสายรุ้งนี้ยังเหมาะที่จะใช้ในงานประชุมสัมมนา ทำบุญเลี้ยงพระ เป็นของฝากของขวัญในเทศกาลงานปีใหม่ โดยใครต้องการจะติดต่อกับเจ้าของ “วุ้นสายรุ้ง” ที่ว่ามา ติดต่อได้ที่ โทร.08-5481-1152, 08-1939-9019

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=33334&categoryID=525

แนะนำอาชีพ‘ซูชิข้าวกล้อง’

อาหารว่างประเภท “ซูชิ” ปัจจุบันมีการทำขายทั้งตามข้างทาง ตลาดนัด หรือในห้างสรรพสินค้า มีตั้งแต่ราคาย่อมเยาไปจนกระทั่งราคาภัตตาคาร ซึ่งใครคิดจะทำขายบ้างก็คงต้องฉีกแนวเพื่อหา กลุ่มลูกค้าของตนเอง และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ นั่นก็คือ “ซูชิข้าวกล้อง”

“ชูซิข้าวกล้อง” เกิดขึ้นจากแนวคิด ความสุขในการทำ ไม่เครียดในการขาย ของผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชนคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า “ชูชื่น พลอยเกษม” หรือ คุณต๋อย เจ้าของซูชิข้าวกล้อง “มิโดริ” ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่า ซูชิข้าวกล้องนี้เกิดขึ้นจากการทำแจกในหมู่เพื่อน ๆ จนมีการเชียร์ให้ทำขาย และมีการคิดให้เป็นซูชิเพื่อสุขภาพ โดยใช้ข้าวกล้องที่มีประโยชน์ โดยเมื่อทำออกมาแล้วมีรสชาติไม่แตกต่างไปจากของต้นตำรับ

การทำ “ซูชิข้าวกล้อง” ขาย คุณต๋อยจะทำวันต่อวัน โดยวางขายในโรงเรียนที่ลูกเรียนอยู่ ปกติจะมี 12-13 หน้า อาทิ สลัดทูน่า, สลัดกุ้ง, สลัดปู, สาหร่ายปู, ไข่กุ้งส้ม, ปลาไหล, กุ้งต้ม, ปูอัด, ครีบหอยเชลล์, ปลาหมึก ฯลฯ โดยส่วนผสมที่เป็นหน้าต่าง ๆ ของซูชินั้น หาซื้อได้ในห้างสรรพสินค้าที่มีการขายเครื่องปรุงอาหาร

ราคาขายส่วนใหญ่ชิ้นละ 10 บาท ยกเว้นหน้าไข่หวาน มากิหมู-มากิปู ขายชิ้นละแค่ 5 บาท

การหุงข้าวทำซูชิ หรือข้าวปั้น ถ้าใช้ข้าวประมาณ 16 กระป๋องตวงข้าวเล็ก ๆ จะทำได้ประมาณ 300 ชิ้น โดยสัดส่วนหรือส่วนผสมตัวข้าวโดยประมาณคือ ข้าวญี่ปุ่น 60% ข้าวกล้อง 20% และข้าวหอมมะลิอีก 20%

เทคนิคการหุงข้าว นั้น คุณต๋อยบอกว่า ข้าวไทยจะมีปัญหามากกว่าข้าวญี่ปุ่น เพราะมีทั้งข้าวใหม่และข้าวเก่าที่ใช้ปริมาณน้ำในการหุงไม่เท่ากัน แต่โดยพื้นฐานของสูตรแล้ว จะทยอยหุงคราวละ 4 กระป๋อง โดยจะใช้น้ำ 5 กระป๋อง โดยถ้าหุงออกมาแล้วข้าวแฉะเกินไป ก็ต้องลดปริมาณน้ำในคราวต่อไป ถ้าแข็งก็ต้องเพิ่มน้ำมากขึ้น ทดลองทำอย่างนี้ก่อนจนกว่าจะได้มาตรฐานการใส่น้ำสำหรับข้าวที่ซื้อมาแต่ละ ลอต

หน้าสลัด จะมี 3 หน้าคือ สลัดทูน่า สลัดกุ้ง และสลัดปู ส่วนผสมของสลัดคือ แตงกวา แครอท ผสมน้ำสลัด และทูน่า หรือกุ้ง หรือปูอัด

ซูชิมากิหมู หมูต้องหมักกับซีอิ๊ว และกระเทียม แล้วนำไปทอด ซึ่งเวลาห่อกับข้าวจะใส่ซอสมายองเนสด้วย เพื่อความอร่อย อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการห่อนั้นขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน

หน้าไข่หวาน สัดส่วนคือไข่ไก่ 3 ฟอง ผสมกับสาเก 1.5 ช้อนตวง และน้ำตาลทราย 1.5 ช้อนตวง นำไปทอดในกระทะซึ่งใส่เนยลงไปในน้ำมันเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติความหอมให้ กับไข่หวาน การทอดไข่หวานนั้นต้องใช้ไฟในระดับอ่อนสุด เพื่อให้สุกทั่ว

การห่อซูชิ ห่อได้หลายแบบ ถ้าเป็นแบบกลม ๆ และ รี ๆ โดยเป็นแบบสาหร่ายพันข้าวนั้น ใช้เสื่อญี่ปุ่น และแผ่นสาหร่ายสำหรับทำซูชิเป็นอุปกรณ์และวัสดุสำคัญ โดยตักข้าวกะในปริมาณที่พอดี ๆ ม้วนออกมาแล้ว สามารถตัดออกเป็นชิ้น ๆ โดยกะให้ตัดออกมาได้ประมาณ 8 ชิ้น

หน้าซูชิที่ใช้ข้าวปั้นแบบกลม ๆ คือ หน้าปลาไหล, ไข่กุ้งส้ม, ปลาหมึก, สลัดหน้าต่าง ๆ และหน้าสาหร่ายที่โรยงาขาวคั่วไว้ด้านบน ซึ่งงาขาวคั่วสำหรับโรยหน้าสาหร่าย และสำหรับการทำอุระมากิซูชิ ซึ่งเป็นการห่อด้วยการนำสาหร่ายไว้ด้านในเอาข้าวไว้ด้านนอก เมื่อหั่นออกมาแล้วนำไปคลุกงานั้น งาที่ใช้ต้องคั่ววันต่อวัน

ส่วนซูชิที่พันออกมาเป็นแบบรี ๆ คือ หน้าปลาหมึก

ซูชิที่เป็นมากิหมู–ปูอัด จะบิดออกมาให้เป็นแบบสามเหลี่ยม เพราะต้องการจัดเรียงซูชิให้เป็นรูปดอกไม้ โดยจะต้องวางไส้ด้านใน มีแตงกวา และแครอท และเพิ่มมายองเนสลงไปเพื่อรสชาติที่กลมกล่อมขึ้น

หน้าไข่หวาน ปูอัด และกุ้งต้มนั้น จะต้องปั้นข้าวออกเป็นชิ้น ๆ ลักษณะออกรี ๆ วางหน้าต่าง ๆ ไว้ด้านบน แล้วพันด้วยสาหร่ายด้านบน
การทำ “ซูชิข้าวกล้อง” ของคุณต๋อยนั้น จะทำวันต่อวัน เน้นใช้วัสดุ-วัตถุดิบที่ต้องสดและสะอาดเป็นหัวใจสำคัญของการขาย ขณะที่การตั้งราคาขายนั้นก็ตั้งในระดับที่ซื้อง่าย-ขายคล่อง เอากำไรแบบพอประมาณ พอดี ๆ ไม่เน้นทำกำไรมาก เพราะคุณภาพอาจจะลดลง

ใครสนใจ “ซูชิข้าวกล้อง” ต้องการติดต่อ คุณต๋อย-ชูชื่น พลอยเกษม ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1257-9820 และ 08-9815-4711 ส่วนใครที่คิดจะทำซูชิขาย นอกจากสูตรการทำที่เป็นสแตนดาร์ดโดยทั่วไปแล้ว ก็อย่าลืมคิดหา “จุดเด่น-จุดแปลกใหม่” เพื่อเป็น “จุดขาย” ด้วย !!.
ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=32003&categoryID=525

แนะนำอาชีพ'สาคูแคนตาลูปนมสด'

“สาคูแคนตาลูปนมสด” เป็นขนมหวานที่ประยุกต์จากสาคูน้ำกะทิ ขนมบ้าน ๆ ที่แสนจะธรรมดา พัฒนาปรับปรุงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขนม ทั้งรสชาติและตัวขนม ผสมผสานเข้ากันจนลงตัวพอดี แถมยังเติมแต่งด้วยผลไม้ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ จนเป็นที่ถูกอกถูกใจลูกค้า ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมาเล่าสู่...

ดวงใจ จิระวัฒนานันท์ เจ้าของธุรกิจขนมผลไม้นมสด “ซอฟท์ฟรุท” (Soft – Fruit) เล่าให้ฟังว่า สูตรขนมเพื่อสุขภาพนี้พี่สาวเป็นคนคิด เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ รวมถึงแบ่งปันให้กับญาติ ๆ เพื่อน ๆ และผู้ที่มาร่วมทำบุญ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดว่าสูตรขนมดังกล่าวนี้จะกลายเป็นอาชีพหลัก เพราะก็มีงานประจำที่มั่นคงทำอยู่แล้ว แต่หลังจากทำขายเป็นอาชีพเสริมอยู่ระยะหนึ่งก็เล็งเห็นว่าธุรกิจตัวนี้น่าจะ ไปได้สวย จึงลาออกจากงานประจำ เพื่อมาสร้างธุรกิจนี้อย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อเดือน ส.ค. 2552 ที่ผ่านมา

“คนที่ได้ชิมขนมของเราเขาชอบ มีร้านค้ามาขอให้ทำไปวางขายที่ร้านของเขา จึงทำแบบสมัครเล่นเป็นอาชีพเสริมอยู่ 5 ปี จนมีลูกค้าประจำ ทำให้มั่นใจถ้าทำเต็มตัวน่าจะไปรอด จึงลาออกจากงานมาลุยเต็มตัว”

จุดเด่นของขนมชนิดนี้คือความสด หอมหวาน จากส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มาจากธรรมชาติ ที่ผสมกัน
แล้วเกิดเป็นรสชาติแปลกใหม่ที่ลงตัว กินแล้วชื่นใจ และยังให้คุณค่าอาหารครบหมู่ โดยรสชาติไม่หวานเกินไป

สำหรับส่วนผสมหลัก ๆ ที่ใช้ในการทำ “สาคูแคนตาลูปนมสด” ก็ได้แก่ นมสดพาสเจอร์ไรส์, แคนตาลูป, สาคูเม็ด, มะพร้าวอ่อน, ลูกตาลอ่อน, น้ำสะอาด และน้ำตาลทราย

ส่วนอุปกรณ์ก็เป็นพวกหม้อสแตนเลสหลายขนาด, ทัพพี, ไม้พาย, เตาแก๊ส, ผ้าขาวบาง, ตะแกรง, กระชอน, ที่ตักผลไม้หรือพิมพ์กดวุ้น และอุปกรณ์เครื่องครัวเบ็ดเตล็ด

ขั้นตอนการทำ “สาคูแคนตาลูปนมสด” เริ่มจากการทำน้ำเชื่อมเข้มข้นเตรียมเอาไว้ก่อน ใช้น้ำสะอาด ผสมกับน้ำตาลทราย อันตราส่วน 1 : 1 ใส่หม้อแล้วนำขึ้นตั้งไฟให้เดือดจัดสักครู่ จึงยกลงทิ้งไว้ให้เย็น

ขั้นต่อไปนำน้ำสะอาดใส่หม้อพอประมาณ ยกขึ้นตั้งไฟปานกลาง ระหว่างรอน้ำเดือด ให้เทสาคูเม็ดใส่กระชอนตาห่าง ร่อนเอาฝุ่นผงออก แล้วทำการล้างสาคู โดยการเปิดน้ำก๊อกให้ไหลผ่านตะแกรง

ห้ามใช้มือลูบ เพราะจะทำให้เม็ดสาคูเสียหาย !!

พอน้ำเดือด เทสาคูใส่ลงไปในหม้อ ใช้ทัพพีคนให้สาคูกระจายอย่างรวดเร็ว ทำการคนไปเรื่อย ๆ จะได้โดนความร้อนทั่วถึง เวลาสาคูพองจะได้พองเสมอกัน และเป็นการกันสาคูติดหม้อด้วย พอสาคูพองขึ้น น้ำจะค่อย ๆ ลดลงไป หากสาคูเม็ดยังไม่ใสให้เติมน้ำต้มต่อ ให้สังเกตดูจุดขาวตรงกลางในเม็ดสาคูจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเม็ดสาคูใส จึงใส่น้ำตาลตามลงไปในหม้อสาคูเล็กน้อย เพื่อให้ตัวสาคูมีความหวานในตัวบ้าง

ระหว่างที่รอสาคูสุก นำแคนตาลูปที่เตรียมไว้มาผ่าครึ่ง ทำการคว้านเอาเม็ดกับไส้ออกให้หมด ใช้ที่ตักผลไม้ตักเป็นลูกกลม ๆ ถ้าไม่มีที่ตักก็ใช้มีดหั่นเป็นชิ้น ๆ หรือจะใช้พิมพ์กดวุ้นกดเป็นรูปแบบที่สวยงามก็ได้

ส่วนมะพร้าว ใช้ช้อนหรือที่ตักทำการตักเป็นชิ้นพอคำ และลูกตาลก็ใช้ที่กำลังดี ไม่อ่อน-ไม่แก่เกินไป ปอกเปลือกแล้วนำไปล้าง หั่นเป็นชิ้นยาวขนาดตามต้องการ แล้วเก็บไว้ในตู้เย็น เตรียมไว้

พอสาคูเม็ดใสดีแล้ว ยกลงจากเตา เทใส่กระชอนอีกครั้งแล้วล้างเอาเมือกแป้งออกด้วยน้ำเย็น สาคูจะร่วนไม่เกาะติดกัน ตักสาคูใส่ภาชนะที่สะอาด ค่อย ๆ เทนมสดใส่ตามลงไป คนให้สาคูกับนมสดเข้ากัน ตามด้วยลูกตาล และมะพร้าวอ่อน ถ้านมสดน้อยไปก็สามารถเติมได้ตามชอบ ลองชิมดู หากหวานไม่พอให้เติมน้ำเชื่อมที่ทำเตรียมไว้ลงไป มาก-น้อยก็ตามชอบ แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็น

เวลาเสิร์ฟ ตักสาคูใส่ถ้วย ตามด้วยแคนตาลูป ลูกตาล และมะพร้าว ก็จะได้ขนมที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน กินแล้วชื่นใจ และไม่อ้วน ซึ่งดวงใจบอกว่าขนมผลไม้นมสดของเธอเป็นสูตรเฉพาะ จะพิเศษตรงรสชาติขนมที่มีความหอมหวานโดยไม่ต้องพึ่งกะทิ เพราะใช้น้ำนมสด และไม่ใส่สารกันบูด สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 3 วัน อย่างไรก็ตาม ทางร้านจะเน้นมากที่ความสด ผลิตวันต่อวัน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ราคาขาย “สาคูแคนตาลูปนมสด” หรือขนมผลไม้นมสดนี้ เมื่อบรรจุถ้วยพลาสติกขนาด 100 กรัม ขายปลีกถ้วยละ 30-35 บาท ขึ้นอยู่กับสถานที่นำไปขาย

“สาคูแคนตาลูปนมสด” นี้ นอกจากขายทั่วไปแล้วยังสามารถนำไปใช้ในงานจัดเลี้ยงต่าง ๆ หรืองานสัมมนา และปกติแล้วดวงใจก็จะนำสินค้าออกขายตามงานแฟร์ ออกบูทตามงานต่าง ๆ ส่วนถ้าใครต้องการสั่งไปใช้หรือนำไปขายต่อ ก็ติดต่อสอบถามกับดวงใจที่ โทร.08-1558-0028, 08-6572-5959 ได้ทุกวัน

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=30650&categoryID=525

แนะนำอาชีพ‘ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัว’

“ช่องทางทำกิน” วันนี้ทางทีมงานมีเมนูอาหารที่ทำทานก็ได้-ทำขายก็ดี 2 เมนูมาบอกกล่าวกัน นั่นก็คือ “ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” และ “ยำส้มโอ” สูตรของผู้ที่มีดีกรีเวทีประกวดอาหาร...

ปรเมศน์ วงษ์ศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 แผนกอุตสาหกรรมการบริการอาหาร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นเจ้าของตำแหน่งรองชนะเลิศจากการแข่งขันทักษะการทำอาหารจานเดียวจากข้าว และบัว ในงาน “เทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สืบสานตำนานบัวหลวง รวงข้าวไทย” เจ้าของเมนูข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ได้โจทย์อาหารเป็นอาหารจานเดียวทำจากข้าวและบัว และให้คงแนวคิดแบบไทย ๆ ไว้ด้วย จึงเป็นที่มาของเมนูอาหารดังกล่าว

“บัว” นั้น นอกจากดอกที่นิยมใช้บูชาพระแล้ว ส่วนประกอบอื่น ๆ ของบัวก็นำมาใช้ทำอาหารได้หมด โดย “ไหลบัว” คือส่วน “หน่อ” ที่ยื่นจากบัวหลวงต้นแม่ออกไปด้านข้าง เพื่อเกิดเป็นบัวต้นใหม่นั่นเอง

รสชาติของไหลบัวก็คล้าย ๆ กับสายบัว แต่กรอบแน่น และกรอบได้ทนกว่าสายบัว เมื่อซื้อมาแล้วก็ล้างให้สะอาด แล้วหั่นเฉียง ๆ แช่น้ำเกลืออ่อน ๆ เอาไว้ ไหลบัวนี้ทานได้เลยไม่ต้องลอกเปลือก ไม่เหมือนกับสายบัวที่ต้องลอกเปลือกก่อน ซึ่งในการทำข้าวผัดนั้น ถ้าใช้ปริมาณข้าวสวย (ข้าวหอมมะลิ) จำนวน 3 กก. จะใช้ไหลบัวประมาณ 600 กรัม โดยไหลบัวนี้มักจะแบ่งขายเป็นมัดละ ๆ 300 กรัม ราคามัดละประมาณ 25 บาท

น้ำพริกกะปิ ที่ใช้ทำ “ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” ส่วนประกอบตามสูตรจะใช้กะปิอย่างดี 750 กรัม ห่อใบตองนำไปเผาไฟหรือนาบกับกระทะร้อน ๆ ให้พอสุกและมีกลิ่นหอมของกะปิออกมา จากนั้นนำไปตำกับพริกขี้หนู 100 กรัม, กระเทียม 200 กรัม ปรุงรสด้วยน้ำปลา 250 กรัม, น้ำมะนาว 500 กรัม และน้ำตาลปี๊บ 200 กรัม ตำให้เข้ากัน ตักขึ้นพักไว้ แต่งหน้าน้ำพริกด้วยเม็ดบัวต้ม 250 กรัม และมะเขือพวง 200 กรัม การผัดข้าวกับน้ำพริกนั้น เคล็ดลับอยู่ที่การผัดน้ำมันกับ มันกุ้ง ก่อน จากนั้นค่อย ๆ ทยอยใส่ข้าวสวยลงผัดเพื่อให้ออกสีสัน และค่อย ๆ เทน้ำพริกลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยกะปริมาณข้าว มันกุ้ง และน้ำพริกกะปิในแต่ละกระทะให้พอดีกัน เมื่อผัดเสร็จก็อุ่นไว้ในหม้อหุงข้าว เมื่อจะทาน-จะขายก็อุ่นด้วยการผัดอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนเครื่องเคียงของ “ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” ใช้กลีบ ดอกบัวชุบแป้งทอด รากบัวต้มชุบแป้งทอด (หรือสายบัวต้ม) และไหลบัวสด รวมทั้งกุ้งลวก และไข่เค็ม

ปรเมศน์บอกว่า จากปริมาณข้าวสวย 3 กก. และวัตถุดิบอื่น ๆ ตามปริมาณที่ว่ามาข้างต้นนั้น จะสามารถจัดชุด “ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” ได้ประมาณ 50 ชุด ขายได้ในราคาชุดละ 40-50 บาท ซึ่งถ้าขายหมดก็จะมีรายได้ประมาณ 2,000-2,500 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,500 บาท หรือราว 50-60%

ต่อกันด้วยสูตร “ยำส้มโอ” เป็นสูตรของ อานนท์ พงษ์ จิวานิช นักศึกษาชั้นปี 3 แผนกอาหารและโภชนาการ สถาบันเดียวกันกับรายแรก รายนี้เป็นเจ้าของรางวัลชนะเลิศระดับภาคจากการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 23 สาขาประกอบอาหารไทย ซึ่งเจ้าตัวก็ได้เปิดเผยสูตรการทำยำส้มโอ

ส่วนประกอบของยำส้มโอ ตามสูตรนี้ก็มี เนื้อส้มโอแกะ 150-200 กรัม (ใช้ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง หรือขาวแตงกวา ไม่นิยมพันธุ์ทองดี เพราะมีน้ำมาก เมื่อยำแล้วเนื้อจะแฉะและเละง่าย), กะทิ 1 ช้อนโต๊ะ, กุ้งลวก 2-3 ตัว, หอมเจียว 1 ช้อนโต๊ะ, เนื้อมะพร้าวขูดคั่ว 1.5 ช้อนโต๊ะ, หอมแดงคั่ว (ตำ) 1 หัว, กระเทียม (ตำ) 1 หัว, ปลาแห้งป่น 1 ช้อนโต๊ะ, พริกแห้งป่น 1 เม็ด
นำส่วนผสมมายำรวมกัน แล้วปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก (เคี่ยวให้งวด) 3 ช้อนโต๊ะ และน้ำตาลปี๊บ กับน้ำปลา อย่างละพอประมาณ เมื่อปรุงรสได้ที่แล้วก็โรยหน้าด้วยใบมะกรูดและพริกชี้ฟ้าแดงหั่นฝอย

อานนท์บอกว่า ส้มโอ 1 ผล จะทำเป็น “ยำส้มโอ” ได้ประมาณ 7-8 ชุด ขายได้ในราคาชุดละ 30 บาทขึ้นไป โดยที่ต้นทุนวัตถุดิบต่อชุดจะประมาณ 20 บาท หรือประมาณ 60-70% จากราคาขาย

“ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” และ “ยำส้มโอ” เป็นอีก 2 เมนูอาหารที่น่าลองทำขาย ซึ่งจะขายคู่กันทั้ง 2 เมนูก็เข้าที ซึ่งถ้าใครต้องการพูดคุยกับเจ้าของสูตรก็ติดต่อสอบถามไปได้ที่คณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โทร. 0-2282-8531-2 ในวัน และเวลาราชการ.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=29300&categoryID=525

แนะนำอาชีพ‘บัวลอยแฟนซี-มีไส้’

การนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าติดตลาดได้ง่ายขึ้น อย่างกรณีการนำเอาขนมหัวล้านของชาวใต้ มาประยุกต์กับขนมบัวลอย-ไข่หวาน ภายใต้ชื่อ “ขนมบัวลอยบ้านยะลา (มีไส้)” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอวันนี้ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีภายในเวลาอันรวดเร็ว

อานนท์ ยะมานนท์ หนุ่มใหญ่วัย 41 ปี อพยพครอบครัวจากใต้สุดแดนสยาม เข้ามาทำกินในเมืองกรุงด้วยขนมบัวลอย หลายคนที่เคยชิมฝีมือขนมหวานของอานนท์ อาจจะนึกว่าต้องเป็นสูตรเด็ดเคล็ดลับการทำขนมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษแน่ ๆ เพราะทั้งหอม ทั้งหวานพอดี ทั้งมัน รวมแล้วอร่อยจังหู แต่พอถามไถ่ได้ความ ก็ทราบว่าเพิ่งทำ “บัวลอยแฟนซี-มีไส้” ขายหลังจากคุณแม่เสียไป เมื่อ 2 ปีมานี้เอง

“ผมฝันถึงแม่ ท่านมาบอกว่าชั่วโมงนี้ทำขนม ขายของกิน จะดีที่สุด ผมก็มานั่งคิดว่าของกินที่ว่าคืออะไร ที่นึกได้ในตอนนั้นคือ ขนมหัวล้านปักษ์ใต้ ขนมชนิดนี้จะเป็นที่นิยมกันในละแวกบ้านจังหวัดยะลาและปักษ์ใต้เท่านั้น คนกรุงเทพฯ ไม่รู้จัก แล้วจะขายได้ยังไง จากนั้นผมก็มาคิดต่อยอดสูตรการทำและดัดแปลงทดลองทำ เสียของไปไม่น้อย กว่าจะได้มาเป็นขนมบัวลอยมีไส้แฟนซีอย่างทุกวันนี้”

คุณแม่ของอานนท์เป็นคนทำขนมเก่ง ขนมหวานทุกชนิดทำขายหมด เป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว จากการที่คลุกคลีอยู่กับขนมหวาน อานนท์จึงซึมซับการทำขนมมาตั้งแต่เล็ก และจากขนมหัวล้านสูตรดั้งเดิมที่เป็นข้าวเหนียวสีขาวล้วน ๆ ก็ถูกเขาแต่งแต้มด้วยสีสดใสจากพืชพรรณธรรมชาติ กลายเป็นขนมแฟนซีสีสันสะดุดตาสวยงามน่ารับประทานยิ่งขึ้น อาทิ สีส้มจากแครอท สีเหลืองจากฟักทอง สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน สีขาวนวลจากเผือก และสีดำจากข้าวเหนียวดำ

วัสดุอุปกรณ์ในการทำอาชีพนี้ หลัก ๆ ก็มีเตาแก๊ส, รังถึง, หม้อ, ทัพพีกลม, กะละมังสเตนเลสหลายขนาด, กระทะทองเหลือง, ไม้พาย, ถาดสเตนเลส, หม้อหุงข้าวไฟฟ้า, ถุงพลาสติก และอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

สำหรับวัตถุดิบและส่วนผสมที่ใช้ในการทำขนมบัวลอยแฟนซี-มีไส้ ตัวไส้ขนม ก็ใช้... ถั่วเหลือง, หัวกะทิ, น้ำตาลทราย และเกลือ และ ตัวแป้งห่อไส้ จะใช้... แป้งข้าวเหนียวอย่างดี, น้ำสีธรรมชาติที่คั้นจากพืช เช่น สีส้มจากแครอท สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน สีขาวนวลจากเผือก สีเหลืองจากฝักทอง สีดำจากข้าวเหนียวดำ

การทำ “บัวลอยแฟนซี-มีไส้” ต้องเริ่มจากทำตัวไส้ขนมก่อน โดยนำถั่วเหลืองมาเลาะเปลือกล้างให้สะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง เสร็จแล้วนำถั่วที่แช่แล้วไปนึ่งในรังถึงให้สุก นำขึ้นมาทิ้งไว้สักพัก ก่อนจะนำถั่วไปบดให้ละเอียด เสร็จแล้วก็นำไปกวนเป็นไส้ โดยนำถั่วที่บดละเอียดใส่ลงกระทะ ตามด้วยหัวกะทิ น้ำตาลทราย เกลือ ทำการกวนส่วนผสมให้เข้ากัน ใช้ไฟอ่อน กวนไปเรื่อย ๆ จนผสมเหนียวขนาดปั้นได้ จึงยกลงจากเตาพักไว้ให้เย็น ก่อนจะปั้นเป็นก้อนกลมเล็ก ๆ ตามขนาดที่ต้องการ พักไว้สำหรับทำเป็นไส้ขนม

ต่อไปทำตัวแป้งห่อไส้ เริ่มจากการทำน้ำผสมสีธรรมชาติที่คั้นจากพืชผักเตรียมเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงนำแป้งข้าวเหนียวในปริมาณพอเหมาะเทใส่กะละมัง ใส่น้ำร้อนลงไปเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ใส่น้ำสีผสมธรรมชาติที่ต้องการลงไปพอสมควร แล้วทำการนวดแป้งผสมสีให้เข้ากัน นวดไป เรื่อย ๆ สังเกตดูลักษณะตัวแป้งว่าจับกันเป็นก้อน มีน้ำหนัก ทั้งนุ่มและเนียนดี ก็เป็นอันใช้ได้ ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดพอหมาด ๆ คลุมปิดไว้ไม่ให้แป้งแห้ง

จากนั้น เป็นการทำ น้ำเชื่อมและน้ำกะทิสด น้ำเชื่อมส่วนนี้เอาไว้หล่อขนม โดยนำน้ำตาลทรายต้มกับน้ำสะอาดให้เดือด และสัดส่วนพอเข้มข้น พอเดือดยกลงตั้งไว้ให้เย็น ก่อนเทใส่ในถาดเตรียมไว้ ส่วนน้ำกะทิสด เอาหัวกะทิล้วน ๆ ผสมน้ำตาลและเกลือนิดหน่อยเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม ทำการต้มและอุ่นกะทิด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าตลอดเวลา เพื่อป้องกันการเสียง่าย น้ำกะทิสดนี้สามารถเก็บไว้ได้นาน 4 วัน

ต้มน้ำในหม้อให้ร้อนจัด แล้วจึงค่อย ๆ ปั้นแป้งห่อไส้ถั่วกวนที่เตรียมไว้ทีละลูก วางลงในภาชนะ พอได้ปริมาณพอสมควร ค่อย ๆ หย่อนใส่ลงหม้อต้มน้ำ เมื่อตัวแป้งสุกจะลอยขึ้นมา ใช้กระชอนตักขึ้นมาใส่ในถาดซึ่งมีน้ำเชื่อมหล่อเตรียมไว้ เพื่อช่วยไม่ให้เม็ดแป้งที่ต้มสุกแล้วคืนตัวเร็ว ก่อนจะไปผสมกับน้ำกะทิสด

ส่วนการทำ ไข่หวาน ก็ตอกไข่ใส่ลงไปต้มในน้ำเชื่อม โดยเจ้านี้จะทำแบบให้ไข่แดงเป็นยางมะตูม และมีความเหนียวนุ่ม เตรียมไว้สำหรับลูกค้าที่ชอบรับประทานบัวลอยโดยใส่ไข่หวานด้วย

การเสิร์ฟ-การขาย ให้ตักบัวลอยใส่ถ้วย แล้วตักน้ำกะทิสดราดตามลงไป โดย “บัวลอยแฟนซี-มีไส้” นี้ 8 ลูก ขาย 25 บาท ถ้าใส่ไข่หวาน 1 ฟองด้วย ก็ 35 บาท ซึ่งด้วยการเน้นคุณภาพ ความสะอาด และความเป็นธรรมชาติ ราคานี้ลูกค้าก็ไม่เกี่ยงงอน

“บัวลอยแฟนซี-มีไส้” ขายอยู่ที่เสรีเซ็นเตอร์ ชั้น G โซนอาหาร และที่กรมส่งเสริมการส่งออก รัชดาฯ รวมถึงมีการไปออกบูธ-ออกร้านตามงานต่าง ๆ ด้วย ใครต้องการติดต่ออานนท์ ก็ โทร. 08-7590-9883.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=27984&categoryID=525

Wednesday, October 21, 2009

แนะนำอาชีพ ‘กินเจ’

ขายได้ทั้งปี-ขายดีช่วง ‘กินเจ’

ในยุคที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด ถ้าใครมัวแต่ย่ำอยู่กับสิ่งเดิม ๆ ก็คงไปไม่รอดแน่ ซึ่งกับการค้าขายนั้นการสร้างจุดขายและไอเดียที่แปลกใหม่เป็นสิ่งจำเป็นมาก และสำหรับตัวอย่าง “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ก็มีไอเดียดี ๆ มีสินค้าน่าสนใจ ซึ่งกับ “เทศกาลกินเจ” ที่ใกล้จะมาถึง สินค้าตัวนี้ก็มีโอกาสขายดิบขายดียิ่งขึ้น...

เฉลิมพันธ์ เจษฎาพงศ์ภักดี หรือ เจ๋ง ทายาทร้านแม่เก่ง ขายข้าวเหนียวมูนสมุนไพรแฟนซี และ “ข้าวเหนียวมูนธัญพืช” เจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจครอบครัว ที่ได้ระดมความคิดและลองผิดลองถูกในการทำข้าวเหนียวมูนร่วมกันมา สุดท้ายก็มาลงตัวกับรสชาติปัจจุบัน เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ที่ได้ลิ้มลอง

เจ๋งเองก็โตมาพร้อม ๆ กับธุรกิจข้าวเหนียวมูน รู้ขั้นตอนการผลิตและการขายทุกอย่าง และตอนนี้ก็ได้เข้ารับช่วงสานต่อธุรกิจนี้ โดยกำลังศึกษาระดับปริญญาตรีบริหารธุรกิจ เพื่อจะนำความรู้มาพัฒนาธุรกิจต่อไป

“ข้าวเหนียวสมุนไพรแฟนซี เป็นแนวคิดของผม เป็นไอเดียที่นำสีจากสมุนไพรธรรมชาติมาผสมเพื่อสร้างสีสันและความแตกต่าง โดยทำเป็น 9 สี 9 รส สีม่วงจากอัญชัน, สีเหลืองจากขมิ้น, สีเขียวจากใบเตย, สีส้มจากแครอท, สีแดงจากบีทรูท, สีดำจากข้าวเหนียวดำ, สีชมพูจากดอกเฟื่องฟ้า และสีเนื้อจากแก่นฝาง เมื่อทำออกมาขายในตลาด กระแสตอบรับดีมาก ๆ จนระยะหลัง ๆ ก็มีคนลอกเลียนเยอะเหมือนกัน”

เจ๋งเล่าต่อไปว่า ต่อมาได้มีการพัฒนาสินค้า จนเกิดเป็น “ข้าวเหนียวมูนธัญพืช” ซึ่งจากกระแสรักสุขภาพ ก็มีลูกค้าสนใจมาก และในช่วง “เทศกาลกินเจ” เมื่อปีที่แล้ว ก็ขายดิบขายดี จนต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งก็จะมีทั้ง ข้าวเหนียวมูนลูกเดือย, ข้าวเหนียวมูนแปะก๊วย, ข้าวเหนียวมูนเม็ดบัว, ข้าวเหนียวมูนถั่วเหลือง, ข้าวเหนียวมูนเผือก, ข้าวเหนียวมูนงาม่อน, ข้าวเหนียวมูนถั่วแดง, ข้าวเหนียวมูนกลอย

สำหรับการทำข้าวเหนียวมูนขาย อุปกรณ์ที่ต้องใช้หลัก ๆ ก็มี... เตาแก๊ส, ลังถึง, ไม้พาย, หม้อสเตนเลส, ถังน้ำ, กะละมังขนาดใหญ่, ถาด, มีด, ทัพพี, กระชอน, กระทะ, ผ้าขาวบาง ฯลฯ

ส่วนวัตถุดิบทำ “ข้าวเหนียวมูนธัญพืช” ถ้าใช้ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 10 กก. จะใช้มะพร้าวขูดขาว 18 กก., น้ำตาลทรายขาว 6 กก. และลูกเดือย เผือก ถั่วแดง แปะก๊วย เป็นต้น

ขั้นตอนการทำ “ข้าวเหนียวมูนธัญพืช” เช่น ลูกเดือย แปะก๊วย เผือก และถั่วแดง เริ่มจากนำข้าวเหนียวมาแช่น้ำทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง แล้วซาวล้างให้สะอาด นำไปใส่ลังถึงนึ่ง โดยรองด้วยผ้าขาวบาง เกลี่ยข้าวเหนียวให้ทั่ว นึ่งน้ำเดือดไฟแรงประมาณ 45 นาที เพื่อให้เมล็ดข้าวเหนียวอ่อนนุ่ม

ธัญพืชต่าง ๆ ให้แยกนึ่งแต่ละชนิด ลูกเดือย ให้นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง แล้วซาวล้าง จากนั้นนำไปต้มสัก 10 นาที ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำแล้วนำไปนึ่งพร้อมกับข้าวเหนียว, แปะก๊วย ล้างให้สะอาด นำไปนึ่งพร้อมกับข้าวเหนียว, เผือก ทำการปอกเปลือก แล้วล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก นำไปนึ่งพร้อมกับข้าวเหนียว ส่วนถั่วแดง นำไปแช่น้ำ 3 ชั่วโมง ล้างให้สะอาด แล้วนำไปต้ม 15 นาที ให้เม็ดนิ่ม แล้วจึงนำไปนึ่งพร้อมข้าวเหนียว

ระหว่างที่รอข้าวเหนียวสุก ทำการคั้นมะพร้าวด้วยน้ำต้มสุกจนได้หัวกะทิสดที่เข้มข้น

นำหัวกะทิสดที่ได้มาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้ในการมูนข้าวเหนียว โดยนำน้ำกะทิมาเติมน้ำตาลทราย เกลือ ให้รสชาติออกหวานเค็มพอดี ๆ ใช้ทัพพีคนส่วนผสมให้ละลายเข้ากัน แล้วทำการกรองน้ำกะทิด้วยผ้าขาวบางอีกรอบให้สะอาด นำขึ้นตั้งไฟพอเดือด ยกลงตั้งพักไว้ เมื่อข้าวเหนียวที่นึ่งกับธัญพืชสุก เทใส่กะละมัง นำน้ำกะทิที่เตรียมไว้เทราดลงในข้าวเหนียวธัญพืชที่ยังร้อน ๆ ใช้ไม้พายช่วยมูนให้ข้าวเหนียวกับน้ำกะทิเข้ากันจนทั่ว แล้วปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีเพื่อให้ความร้อนจากข้าวเหนียวดูดซึมน้ำกะทิให้แห้ง

น้ำกะทิอีกส่วน นำมาผสมแป้งข้าวโพด น้ำตาลทราย เกลือนิดหน่อย ชิมรสชาติตามชอบ นำขึ้นตั้งไฟใช้ความร้อนปานกลาง คนไปเรื่อย ๆ ไม่ให้กะทิแตกมัน พอเดือดยกลง ก็จะได้กะทิสำหรับราดข้าวเหนียวเพื่อเพิ่มรสชาติ และก็ต้องทำถั่วเขียวซีกคั่วไว้สำหรับโรยหน้าข้าวเหนียวมูนด้วย ซึ่งจุดเด่นข้าวเหนียวมูนร้านแม่เก่งคือจะมีรสชาติหวานมันกลมกล่อม ข้าวเหนียวไม่แฉะ ตอนรับประทานรสชาติยังคงติดลิ้น

ข้าวเหนียวมูนทุกอย่างของร้านนี้ ขาย กก.ละ 120 บาท โดยมีต้นทุนประมาณ 50% จากราคาขาย

ร้านข้าวเหนียวมูนร้านนี้อยู่ปากซอยหมู่บ้าน ต.รวมโชค 33/496 ซอยโชคชัย 4 (54) ถนนลาดพร้าว กรุงเทพฯ โทร. 08-9881-2349, 08-9889-8891, 0-2538-3331 ใครสนใจซื้อ สนใจจะสั่งไปขายต่อ ก็เชิญได้ตามสะดวก ซึ่งกับ “เทศกาลกินเจ” ที่ใกล้จะมาถึง “ข้าวเหนียวมูนธัญพืช” ก็เป็นอีกสินค้าที่มีแนวโน้มสดใส.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=23956&categoryID=525

แนะนำอาชีพ‘อาหารเจ’

‘อาหารเจ’ พร้อมทำเงิน

“ช่องทางทำกิน” วันนี้ยังคงเป็นข้อมูลอาชีพ “ขายอาหารเจ” รับ “เทศกาลกินเจ” ที่ใกล้จะมาถึง โดยวันนี้มีเมนูประเภท “ผัด” มาเปิดสูตรอีก 3 สูตรคือ...“ผัดหมี่เจ-ผัดโปรตีนเกษตรเจ-ผัดมะเขือยาวเจ”

อุไรวรรณ ติยะวัฒน์วิทยา เจ้าของ วินรถสองแถวรับ-ส่งในซอยย่านจรัญสนิทวงศ์ 37 เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญการทำอาหารเจ เธอเล่าว่า ช่วงเทศกาลกินเจจะเป็นช่วงที่อาหารเจได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งก็เคยมีความคิดที่จะทำขายเหมือนกัน แต่คนในครอบครัวห้ามไว้ เพราะไม่อยากให้เหนื่อยมาก และเพราะความใจดีชอบช่วยคน ถ้าทำขายก็คงจะได้กำไรไม่คุ้มเหนื่อย ประกอบกับอายุมากแล้ว จึงไม่ทำขาย แต่เปลี่ยนเป็นทำแจก 1 วันในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งก็ทำแจกแบบนี้ติดต่อกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม วันนี้คุณอุไรวรรณจะเปิดสูตรเมนูอาหารเจให้ 3 สูตรคือ...

“ผัดหมี่เจ” ส่วนประกอบหลักคือ เส้นหมี่เหลืองกลม ๆ ใหญ่ ๆ ราคา กก.ละไม่เกิน 25 บาท, หัวไชโป๊สับฝอย, เต้าหู้หั่น, เห็ดหอม, คะน้า, กะหล่ำปลี, แครอท, เห็ดฟาง ส่วนเครื่องปรุงรสนั้นก็มี ชูรสเจ, ซีอี๊วขาว, ผงปรุงรสเจ (แบบก้อน-นำไปละลายน้ำ), น้ำตาลทราย และน้ำเห็ดหอมปั่น

การผัดหมี่เจนั้น คุณอุไรวรรณบอกว่า ง่ายมาก แต่ว่าผัดแล้วจะอร่อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการปรุงรสเป็นหลัก โดยคนทานนั้นส่วนมากจะเน้นทานผักและเต้าหู้มากกว่าเส้น การผัดนั้นก็ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช รอให้ร้อนก็ใส่หัวไชโป๊ลงไป ใส่เห็ดหอม เห็ดฟาง ลงไปผัดให้เข้ากัน จากนั้นใส่เส้นหมี่ลงผัด ตามด้วยผักต่าง ๆ แล้วก็ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงตามชอบ โดยเน้นให้มีรสชาติกลมกล่อมพอดี ๆ ผัดต่อไปสักพักจนผักสุก เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ

เคล็ดลับความอร่อยของอาหารเจคุณอุไรวรรณ คือการใช้น้ำเห็ดหอมปั่นเป็นส่วนผสมด้วย ซึ่งการทำก็นำเห็ดหอมไปแช่น้ำจนนิ่ม จากนั้นนำไปปั่นกับน้ำพอประมาณ ปั่นให้ละเอียด แล้วนำไปต้มให้สุก ปรุงรสกับซีอิ๊วขาวพอประมาณ เท่านี้ก็ใช้ได้ ซึ่งน้ำเห็ดหอมนี้ทำแล้วสามารถเก็บใส่ตู้เย็นไว้ใช้คราว ต่อ ๆ ไปได้

คุณอุไรวรรณบอกว่า ผัดหมี่เจนั้น 1 กก. จะลงทุนไม่เกิน 60 บาท ขายได้ประมาณ 200 บาท ซึ่งเป็นสัดส่วนกำไรที่น่าสนใจทีเดียว ส่วนอาหารเจอื่น ๆ โดยทั่วไปจะมีกำไรครึ่งหนึ่งจาก ราคาที่ตั้งขาย

ต่อไปเป็น “ผัดโปรตีนเกษตร เจ” เคล็ดลับที่ทำโปรตีนเกษตรอร่อยนั้น คุณอุไรวรรณ บอกว่า ก่อนอื่นต้องนำไปแช่น้ำแล้วตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นทอดโปรตีนเกษตรให้กรอบ แล้วจึงนำไปผัด อย่าทิ้งไว้นาน เพราะถ้าทิ้งไว้นานแล้วโปรตีนจะไม่กรอบเลย

เมื่อทอดโปรตีนเกษตรเสร็จแล้ว ก็ตั้งกระทะใส่น้ำมันพอประมาณ เมื่อน้ำมันร้อนใส่พริกแกงพอประมาณลงไปผัด แล้วใส่โปรตีนเกษตรที่ทอดแล้วลงไป ปรุงรสด้วยผงปรุงรสก้อน-ละลายน้ำ, น้ำมันหอย, ชูรสเจ, น้ำตาลปี๊บ และงาขาว ชิมรสดูให้ได้ที่ แล้วผัดไปเรื่อย ๆ ให้เข้ากัน ระหว่างผัดอย่าให้ไฟแรงไป เพราะจะไหม้ เมื่อส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดีแล้ว ตักใส่จาน โรยหน้าด้วยพริกชี้ฟ้าแดงหั่นฝอย และใบมะกรูดหั่นฝอยพอประมาณ เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว

อีกสูตรคือ “ผัดมะเขือยาวเจ” เป็นเมนูเจยอดฮิตอีกเมนูหนึ่ง คุณอุไรวรรณบอกว่า ผัดมะเขือยาวเจจะอร่อยได้นั้น จะต้องหักมะเขือยาวเป็นท่อน ๆ แทนการหั่น เพราะการปรุงรสต่าง ๆ จะซึมเข้าเนื้อมะเขือยาวได้ดีกว่าการหั่น โดยมะเขือยาวที่หักแล้วให้แช่น้ำและใส่เกลือลงไปเล็กน้อย เพื่อไม่ให้มะเขือยาวดำ

การผัดก็เริ่มต้นด้วยการตั้งกระทะใส่น้ำมัน เมื่อน้ำมันร้อนใส่หัวไช โป๊ลงผัด ใส่พริกแกงพอประมาณ ใส่มะเขือยาวที่เตรียมไว้ลงผัด เติมน้ำเล็กน้อย ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยว, น้ำเห็ดหอมปั่น, เกลือ, ชูรสเจ ชิมรสให้ออกรสกลมกล่อมพอดี ๆ แล้วปิดฝาครอบลงไปเพื่อให้มะเขือสุก เมื่อมะเขือสุกแล้ว โรยใบโหระพาลงไป แล้วผัดให้เข้ากัน เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย พร้อมรับประทานหรือจำหน่าย

ใครที่กำลังคิดจะทำ “อาหารเจ” ขาย บางที “เมนูผัด” 3 เมนูที่ว่ามาอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดี ก็ลองนำสูตรไปฝึกฝนทำกันดู หรือใครอยากจะสอบถามเพิ่มเติม อยากจะขอคำแนะนำจากคุณอุไรวรรณ ติยะวัฒน์วิทยา ก็ลองโทรศัพท์ไปที่หมายเลข โทร. 0-2412-5518 (ช่วงเวลา 15.00-19.00 น. เท่านั้น).

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=25285&categoryID=525

แนะนำอาชีพ‘กากถั่วเหลือง’

มีคุณค่า-เป็นสินค้าทำเงิน

จากถั่วเหลือง” ที่เหลือจากการผลิตนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ ยังมีคุณค่า เมื่อนำไปอบแห้งจะประกอบด้วยโปรตีน 24-28% ไขมัน 8-12% เส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ 40-44% เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำ 12-15% รวมทั้งมีเกลือแร่และสารที่มีประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งกากถั่วเหลืองนี้สามารถใช้ทำ “ผลิต ภัณฑ์อาหาร” แทนแป้งสาลีได้ โดยวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำผลิตภัณฑ์จากกากถั่วเหลืองมานำเสนอ...

เรื่องของกากถั่วเหลืองเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการประชาสัมพันธ์คหกรรมศาสตร์ โครงการ “บ้านสวยด้วย 3R มากคุณค่าอาหารไทยชิมผัดไทยแชมป์โลก” เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ศูนย์เทเวศร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) โดย ปริญญาพร อ่อนคล้าย และ ภูมิสิทธิ์ ประดิษฐ์ธีระ นักศึกษาปริญญาโท คณะคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร เจ้าของผลงาน “ผลิตภัณฑ์จากกากถั่วเหลือง” บอกว่า กากถั่วเหลืองที่มักจะถูกทิ้ง ที่จริงมีประโยชน์ จึงคิดนำมาเป็นส่วนผสมของขนมและอาหาร 3 ชนิดคือ คุกกี้ช็อกโกแลตชิพ, กรอบเค็ม, น้ำพริกเผา เพื่อให้กากถั่วเหลืองเกิดประโยชน์ ไม่ถูกทิ้งไปสูญเปล่า

ก่อนหน้านั้นเคยทดลองทำด้วยกากถั่วเหลืองที่เหลือสด ๆ จาก การทำน้ำถั่วเหลือง แต่ปรากฏว่ามีกลิ่นสาบและความชื้น อาหารที่ทำออกมามีเนื้อเหลวใช้การไม่ได้ จึงเปลี่ยนวิธี และพบว่าการอบแห้งเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยใช้การอบด้วยเตาไมโครเวฟ เกลี่ยกากถั่วเหลืองให้แผ่ออก อบด้วยความร้อน 150 องศา ระยะเวลา 30 นาที ระหว่างอบหมั่นเกลี่ยเรื่อย ๆ โดยกากถั่วเหลืองสด 1,000 กรัม อบแห้งแล้วจะเหลือ 500 กรัม

สำหรับการนำมาทำเป็นอาหาร เริ่มที่ “คุกกี้ช็อกโกแลตชิพกากถั่วเหลือง” ส่วนผสมก็มี กากถั่วเหลืองอบแห้ง 250 กรัม ต่อแป้งสาลี 500 กรัม, เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนชา, เนยสด 454 กรัม, น้ำตาลไอซ์ซิ่ง 450 กรัม, เกลือ 1 ช้อนชา, ไข่ไก่ 3 ฟอง และช็อกโกแลตชิพ 200 กรัม

วิธีทำ ร่อนแป้งสาลีกับเบกกิ้งโซดา แล้วนำแป้งมาผสมกับกากถั่วเหลือง พักไว้ จากนั้นตีเนยสด น้ำตาลไอซ์ซิ่ง เกลือ ให้ขึ้นฟูด้วยหัวตีใบไม้ แล้วใส่ไข่ทีละฟอง ใส่กลิ่นวานิลลาผสมพอเข้ากัน ตามด้วยใส่ส่วนผสมแป้ง และใส่ช็อกโกแลตชิพเล็กน้อย จากนั้นนำส่วนผสมที่ได้มาปั้นก้อนเล็ก ๆ แล้วแต่งหน้าด้วยช็อกโกแลตชิพอีกเล็กน้อย นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส ประมาณ 13-15 นาที หรือจนขนมสีเหลืองสุก ซึ่งเตาอบนี้ให้ทำการอุ่นเตาอบโดยเปิดอุณหภูมิ 180 องศา นาน 10-15 นาที ก่อนอบจริง เพื่อให้ได้อุณหภูมิคงที่ 180 องศา

ตามสูตรนี้จะทำคุกกี้ได้ 45 ชิ้น (ตัวคุกกี้เบอร์ 12) ขายได้ในราคา 50 บาท มีต้นทุนประมาณ 20 บาท

ต่อไป “กรอบเค็มกากถั่วเหลือง” ใช้กากถั่วเหลืองอบแห้ง 1 ถ้วยตวง ต่อแป้งสาลี 100 กรัม, แป้งข้าวเจ้า 50 กรัม, ผงฟู 1/2 ช้อนชา, ไข่ไก่ 2 ฟอง, เกลือ 1 ช้อนชา, น้ำปูนใส 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำมันพืช 2 ช้อนชา

วิธีทำ ร่อนแป้ง 2 ชนิดกับผงฟูให้เข้ากัน แล้วผสมแป้งที่ได้กับกากถั่วเหลืองให้เข้ากัน ใส่น้ำมันพืช ใส่ส่วนผสมที่เหลือทั้งหมด นวดจนแป้งนุ่ม (ถ้าแป้งแห้งเติมน้ำเล็กน้อย) แบ่งแป้งเป็น 4 ก้อน คลึงแป้งแผ่เป็นแผ่นบาง ตัดเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1 นิ้ว แล้วนำไปทอดในน้ำมันที่ร้อนจนแป้งเหลืองสุก ตักขึ้นใส่กระชอนพักไว้

กรอบเค็มนี้ต้องมี “น้ำปรุงรส” ด้วย ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ น้ำตาลปี๊บ 1 ถ้วย, น้ำเปล่า 1/3 ถ้วย, กระเทียม 1/2 ถ้วย, พริกไทย 1/4 ช้อนชา และแบะแซ 50 กรัม โดยวิธีทำน้ำปรุงรสคือ ตีกระเทียมกับพริกไทยให้เข้ากัน แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดใส่ผสม เคี่ยวจนงวดได้ที่ เสร็จแล้วก็นำไปคลุกกับแป้งกรอบเค็มที่ทำไว้

จากสูตรนี้จะทำกรอบเค็มได้ 200-250 กรัม บรรจุขายกล่องละ 20-25 บาท มีต้นทุนประมาณ 10 บาท

ปิดท้ายด้วย “น้ำพริกเผากากถั่วเหลือง” ซึ่งมีส่วนผสม ได้แก่ กากถั่วเหลืองอบแห้ง 1 ถ้วยตวงต่อหอมแดงซอย 1 ถ้วย, กระเทียมซอย 1 ถ้วย, พริกขี้หนูแห้ง 30 เม็ด, พริกชี้ฟ้าแห้ง 10 เม็ด, น้ำตาลปี๊บ 150 กรัม, น้ำปลา 1/3 ถ้วย, น้ำมะขามเปียก 1/2 ถ้วย และน้ำมันพืช 3/4 ถ้วย

วิธีทำ ตั้งกระทะใส่น้ำมัน เจียวหอมแดง และเจียวกระเทียม พักไว้ จากนั้นปั่นพริก 2 ชนิดรวมกัน นำลงผัดในน้ำมันให้หอม ตามด้วยใส่กากถั่วเหลืองอบแห้ง ใส่หอมแดงเจียว กระเทียมเจียว ผัดพอเข้ากัน เสร็จแล้วปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา น้ำมะขามเปียก ผัดต่อจนแห้ง เสร็จแล้วพักไว้ให้เย็น แล้วบรรจุใส่กล่อง

สูตรนี้จะได้น้ำพริก 20 กระปุก กระปุกละ 80 กรัม ขายได้กระปุกละ 15 บาท มีต้นทุนประมาณ 7-8 บาท

ใครสนใจเรื่อง “ผลิตภัณฑ์จากกากถั่วเหลือง” ทั้งคุกกี้ช็อกโกแลต ชิพ, กรอบเค็ม, น้ำพริกเผา ต้องการติดต่อ ปริญญาพร อ่อนคล้าย และ ภูมิสิทธิ์ ประดิษฐ์ธีระ นักศึกษาปริญญาโท คณะคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร เจ้าของผลงาน ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-5482-5570 และ 08-6633-8546.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=26621&categoryID=525

Sunday, October 4, 2009

แนะนำอาชีพ'เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนขาย'

อาชีพเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนขาย

ปลาการ์ตูน นอกจากสวยงามแล้วยังเพาะพันธุ์ทำเป็นอาชีพได้ด้วย

บทนำ

การเลี้ยงปลาสวยงามได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงภายในครอบครัว ตามร้านอาหาร โรงแรม สถานที่ราชการ หรือหน่วยงานต่าง ๆ เนื่องจากตู้ปลาสวยงามจะสร้างความสวยงาม ความเพลิดเพลินให้แก่ผู้พบเห็น บางคนเลี้ยงปลาสวยงามเป็นงานอดิเรกภายในครอบครัว ทำให้มีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เป็นการสร้างความรักความสามัคคีและความผูกพันธุ์ภายในครอบครัว เด็ก ๆ ที่ได้เลี้ยงปลาสวยงามจะทำให้เขามีความรัก ความเมตตาต่อสัตว์ มีจิตใจอ่อนโยน ทำให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติดและอบายมุข ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญในสังคมปัจจุบัน จากความนิยมในการเลี้ยงปลาสวยงาม ได้ก่อให้เกิดกิจกรรม และธุรกิจต่อเนื่องหลายอย่าง สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่บุคคลหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น ธุรกิจเพาะพันธุ์ปลา ธุรกิจจำหน่ายปลา ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจผลิตและขายอุปกรณ์การเลี้ยงปลา ธุรกิจยา อาหาร และสารเคมี และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปรากฎชัดเจนแล้วว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับปลาสวยงามได้สร้างงานสร้างรายได้ เข้าประเทศได้ดีทางหนึ่ง


การเลี้ยงปลาสวยงามแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามลักษณะน้ำที่ใช้เลี้ยงคือ การเลี้ยงปลาสวยงามน้ำจืดและการเลี้ยงปลาสวยงามทะเล ในอดีตเมื่อนึกถึงการเลี้ยงปลาสวยงาม คนส่วนใหญ่มักนึกถึงแต่การเลี้ยงปลาสวยงามน้ำจืด ส่วนการเลี้ยงปลาสวยงามทะเลจะเป็นสิ่งที่ไกลตัวและเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบันเมื่อคนเข้าใจในระบบนิเวศน์ของทะเลมากขึ้น การเลี้ยงปลาทะเลจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน การเลี้ยงปลาสวยงามทะเลจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปลาทะเลจะมีความสวยงามกว่าปลาน้ำจืดนั่นเอง แต่ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือการจับปลาจากทะเล และการเก็บสิ่งประดับตู้ปลาต่าง ๆ จากทะเลเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะสร้างรายได้อย่างงามให้แก่คนในธุรกิจนี้แต่ก็มีผลเสียต่อธรรมชาติ เป็นอย่างมากเช่นกัน ด้านการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามทะเลในปัจจุบันพบว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่า ที่ควร คือเพาะพันธุ์ได้น้อยชนิด และผลิตได้จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด ดังนั้นหากจะพัฒนาธุรกิจด้านการเลี้ยงปลาสวยงามทะเล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งศึกษาด้านการเพาะพันธุ์ปลาสวยงามทะเล การเพาะพันธุ์ปะการัง รวมไปถึงพันธุ์ไม้น้ำทะเลด้วย


เมื่อนึกถึงปลาสวยงามทะเล คนส่วนใหญ่จะนึกถึงปลาการ์ตูนเป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีสีสรรสวยงาม น่ารัก เชื่องง่าย เมื่อการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามเริ่มขยายตัว ปลาการ์ตูนจากธรรมชาติจึงถูกจับมาขายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงและเป็นปลาที่จับได้ง่าย ปัจจุบันนี้พบว่า ประชากรของปลาการ์ตูนชนิดต่าง ๆ ได้ลดจำนวนลงอย่างมาก เกือบเข้าภาวะวิกฤติ จะต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ในสังกัด กองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปลาชนิดนี้ทั้งในด้านการอนุรักษ์และคุณค่าทาง เศรษฐกิจ จึงเริ่มศึกษาด้านการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนของไทยตั้งแต่ต้นปี 2544 โดยผสมผสานความรู้จากการศึกษาพฤติกรรมการวางไข่และการเจริญเติบโตของปลา การ์ตูนส้มขาวของอุ่นจิต (2537) กับความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ปลากะรังของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดกระบี่ จนถึงปัจจุบัน ( กรกฎาคม 2545) สามารถเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้ 5 ชนิด คือ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง ปลาการ์ตูนหลังอาน และปลาการ์ตูนอินเดียน ทั้ง 5 ชนิด สามารถผลิตปลาขนาด 1 นิ้ว ได้จำนวนมากและมีอัตรารอดสูงอย่างสม่ำเสมอ วิธีการต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในเอกสารฉบับนี้

ชีววิทยา

ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่ถูกจัดอยู่ในครอบครัวปลาสลิดหิน (damselfishes, family pomacentridae) (สุภาพร, 2543) ปัจจุบันปลาการ์ตูนทั่วโลกที่สำรวจพบ และได้รับการจำแนกแล้วมี 28 ชนิด เป็นสกุล (genus) Amphiprion จำนวน 27 ชนิด และ สกุล Premnas อีก 1 ชนิด คือ spinecheek anemonefish, Premnas biaculeatus ซึ่งลักษณะที่ใช้แยกปลาสกุลนี้ออกมาคือ มีหนามขนาดใหญ่ (enlarged spine) บริเวณใต้ตา (Allen, 1997)อุ่นจิต(2537) กล่าวว่า ปลาการ์ตูนที่พบในน่านน้ำไทยมี 7 ชนิด แบ่งเป็นฝั่งอันดามัน 5 ชนิด ได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาการ์ตูนอินเดียน ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง และปลาการ์ตูนแดงดำ ส่วนปลาการ์ตูนที่พบในอ่าวไทยมี 2 ชนิด คือ ปลาการ์ตูนหลังอาน และปลาการ์ตูนอินเดียนแดง แต่ ธรณ์(2544) กล่าวว่า ปลาการ์ตูนลายปล้องสามารถพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นอกจากนั้นยังพบปลาการ์ตูนส้มขาว และ ปลาการ์ตูนอินเดียนที่เกาะโลซิน จังหวัดนราธิวาส (อ่าวไทย) อีกด้วย

ปลาการ์ตูนพบได้เฉพาะในเขตมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกบางส่วน ในธรรมชาติปลาการ์ตูนจะอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากดอกไม้ทะเล ดังนั้นเราจะพบปลาการ์ตูนได้ก็ต่อเมื่อได้พบดอกไม้ทะเลเท่านั้น แม้ว่าดอกไม้ทะเลจะมีเข็มพิษแต่กลับไม่ทำอันตรายต่อปลาการ์ตูน ทำให้ปลาการ์ตูนอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในดอกไม้ทะเล จากการสำรวจพบว่า ปลาการ์ตูนแต่ละชนิดจะจำเพาะเจาะจงต่อชนิดของดอกไม้ทะเลที่จะอาศัยอยู่ด้วย แต่ก็มีปลาการ์ตูนอีกหลายชนิดที่สามารถอาศัยอยู่กับดอกได้ทะเลได้หลายชนิด


ปลาการ์ตูนแต่ละชนิดจะมีรูปแบบสีที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งปกติจะประกอบไปด้วยสีส้ม แดง ดำ เหลือง และส่วนใหญ่จะมีแถบสีขาวพาดขวางลำตัว 1-3 แถบ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของปลาการ์ตูนก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นปลาการ์ตูนชนิดเดียวกันแต่ก็จะมีส่วนที่มีสีแตกต่าง กันอยู่เสมอ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ปลาการ์ตูนจำคู่ของมันได้ นอกจากนั้นปลาที่อาศัยต่างสถานที่กันอาจมีสีที่แตกต่างกันได้เรียกว่าความ ผันแปรของสี (colour variation)โดยปกติปลาการ์ตูนจะอยู่กันเป็นคู่ ๆ และอาจมีปลาขนาดเล็กอาศัยร่วมอยู่ด้วย แต่ในดอกไม้ทะเลดอกหนึ่ง จะมีปลาตัวผู้และตัวเมียอย่างละตัวเท่านั้น ปลาตัวเมียจะมีขนาดโตกว่าตัวผู้และตัวอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด และทำหน้าที่เป็นผู้นำ คอยปกป้องอาณาเขตที่เป็นที่อาศัยของมัน ถ้าปลาตัวเมียตายไป จะมีปลาตัวใหม่เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วและกลายเป็นตัวเมียแทน หรือหมายความว่า ปลาการ์ตูนสามารถเปลี่ยนเพศจากเพศผู้เป็นเพศเมียได้ Allen(1997) กล่าวว่า ปลาการ์ตูนจะวางไข่ครั้งละหลายร้อยฟองบริเวณฐานของดอกไม้ทะเล ซึ่งมีหนวดของดอกไม้ทะเลปกคลุม ทำให้ไข่มีความปลอดภัย พ่อปลาจะคอยดูแลไข่ หลังจากนั้น 6-7 วัน ไข่จะฟักเป็นตัวและล่องลอยไปตามน้ำ ใช้ระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ จากนั้นปลาต้องหาดอกไม้ทะเลเพื่อเป็นที่อยู่ ไม่อย่างนั้นปลาจะตายเนื่องจากอดอาหาร หรือถูกกิน

ปลาการ์ตูนส้มขาว clown anemonefish, A. ocellaris (Cuvier, 1830)

ลำตัวมีสีส้มเข้ม มีแถบสีขาว 3 แถบ พาดบริเวณส่วนหัว ลำตัวและบริเวณหาง ขอบของแถบสีขาวเป็นสีดำ ขอบนอกของครีบเป็นสีขาวและขอบในเป็นสีดำ อาศัยในที่ลึก ตั้งแต่ 1-15 เมตร ขนาดตัวโตที่สุดประมาณ 10 เซนติเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis magnifica และ Stichodactyla gigantea เป็นต้น ปลาการ์ตูนส้มขาวพบได้บ่อยที่สุดในทะเลอันดามัน อ่าวไทยพบได้ที่เกาะโลซิน จังหวัดนราธิวาส อาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ในดอกไม้แต่ละกออาจพบปลาการ์ตูนชนิดนี้อยู่ด้วยกัน 6-8 ตัว

ปลาการ์ตูนลายปล้อง clark's anemonefish, A. clarkii (Bennett, 1830)

ลำตัวมีสีดำเข้ม ส่วนหน้าครีบอกและหางมีสีเหลืองทอง มีแถบขาว 3 แถบ ตรงส่วนหัว ลำตัว และโคนหาง ปลาชนิดนี้มีความผันแปรของสีสูง มีไม่ต่ำกว่า 8 รูปแบบ (ธรณ์, 2544) สีของลูกปลาวัยรุ่นก็ต่างจากปลาเต็มวัย พบทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จัดเป็นปลาการ์ตูนใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ขนาดโตที่สุดประมาณ 15 ซ.ม. อาศัยอยู่ร่วมกับดอกไม้ทะเลได้หลายชนิด บางครั้งเป็นชนิดที่พบตามพื้นทราย ปลาการ์ตูนลายปล้องมีการแพร่กระจายกว้างมาก อาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 3-4 ตัว โดยมีตัวเมีย ซึ่งมีขนาดโตที่สุด เป็นจ่าฝูง ตัวที่มีขนาดรองลงมาจะเป็นตัวผู้ ถ้าตัวเมียตายไปตัวผู้ก็จะรีบโตและเปลี่ยนเพศขึ้นมาทำหน้าที่แทน

ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง sebae anemonefish, A. sebae (Bleeker, 1853)

ลำตัวมีสีดำ ส่วนหางมีสีเหลือง มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกพาดอยู่บริเวณหลังตา อีกแถบพาดผ่านท้องขึ้นมายังครีบหลัง เป็นชนิดที่หายาก พบเฉพาะฝั่งอันดามันในที่ลึกตั้งแต่ 2-25 เมตร ขนาดโตที่สุดประมาณ 14 เซนติเมตร อยู่กับดอกไม้ทะเลชนิดที่ฝังทรายได้แก่ Stichodactyla haddoni มีสีน้ำตาลหนวดสั้น มักอยู่กันเป็นคู่กับลูกเล็ก ๆ 3-4 ตัว มีนิสัยดุร้ายกับปลาอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว

ปลาการ์ตูนหลังอาน saddleback anemonefish, A. polymnus (Linnaeus, 1758)

ลำตัวมีสีน้ำตาลอมดำ มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกอยู่หลังตา อีกแถบเริ่มบริเวณกลางลำตัวเป็นแถบโค้งพาดเฉียงขึ้นไปที่ครีบหลัง ลักษณะคล้ายอานม้า พบในที่ลึก ตั้งแต่ 2-30 เมตร ขนาดโตที่สุดประมาณ 12 เซนติเมตร อยู่กับดอกไม้ทะเลชนิดที่ฝังตัวอยู่ตามพื้นทราย คือ Heteractis crispa และ Stichodactyla haddoni พบเฉพาะในอ่าวไทย

ปลาการ์ตูนอินเดียน yellow skunk anemonefish, A. akallopisos (Bleeker, 1853)

ลำตัวมีสีเนื้ออมเหลืองทองอมชมพู มีแถบขาวเล็ก ๆ พาดผ่านบริเวณหลังตั้งแต่ปลายจมูกจนจรดครีบหาง อาศัยในที่ลึกตั้งแต่ 3 - 25 เมตร ขนาดโตที่สุดประมาณ 10-11 เซนติเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis magnifica และ Stichodactyla mertensii อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่คล้ายปลาการ์ตูนส้มขาว พบได้บ่อยทางฝั่งอันดามัน ส่วนอ่าวไทยพบที่เกาะโลซิน

การเพาะพันธุ์และอนุบาล

1.การจัดการพ่อแม่พันธุ์

1.1 การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์

รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ พยายามรวบรวมให้ได้พ่อแม่พันธุ์ที่จับคู่กันอยู่แล้วจะช่วยให้พ่อแม่พันธุ์ วางไข่ได้เร็วขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถหาพ่อแม่พันธุ์เป็นคู่ ๆ จากธรรมชาติได้ การจับคู่ให้ปลาการ์ตูนก็สามารถที่จะทำได้ เพศเมียจะมีขนาดใหญ่และอาจมีท้องที่อูมเป่ง ส่วนตัวผู้เลือกตัวที่มีขนาดเล็กและท้องเรียบ หลังการจับคู่ให้ปลาแล้วต้องคอยสังเกตว่าปลาจะยอมรับกันหรือไม่ ถ้าปลาไม่ยอมรับจะพบว่าปลาตัวเมียจะไล่กัดตัวผู้ บางครั้งตัวผู้อาจตายได้เนื่องจากโดนกัดหรือกระโดดหนีออกนอกตู้

1.2 การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

1.2.1 การจัดตู้

ใช้ตู้กระจกขนาด 45x90x45 เซนติเมตร ใช้ระบบกรองน้ำแบบกรองทรายภายในตู้ โดยใส่แผงกรองรองรับพื้นตู้ใช้กรวด ซากปะการัง หรือ เศษเปลือกหอยเป็นวัสดุกรอง ใส่วัสดุสำหรับให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์วางไข่ไว้ข้าง ๆ ดอกไม้ทะเล เช่น ก้อนหิน(ไม่จำกัดรูปทรงแต่ให้ผิวเรียบ)หรือเปลือกหอยตะโกรม(ปลาจะวางไข่ด้าน ในของเปลือกหอย) เปลือกหอยมือเสือเป็นอีกวัสดุหนึ่งที่ปลาชอบใช้วางไข่แต่ไม่ควรนำมาใช้ เนื่องจากการมีเปลือกหอยมือเสือในครอบครองเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ควรเลือกใช้หินผิวเรียบ หรือเปลือกหอยนางรมจะดีกว่าเนื่องจากหาได้ง่ายและไม่ผิดกฎหมาย
ดอกไม้ทะเลเป็นสิ่งสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดหนึ่ง บุคคลทั่วไปไม่สามารถมีในครอบครองได้ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาหนึ่งของการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน แต่จากการทดลองเบื้องต้นของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่พบ ว่า พ่อแม่พันธุ์ปลาการ์ตูนส้มขาวที่เลี้ยงในตู้กระจกโดยไม่ใช้ดอกไม้ทะเล ปลาสามารถที่จะวางไข่ในตู้กระจกได้ ส่วนการอนุบาลลูกปลาการ์ตูนและการเลี้ยงปลาการ์ตูนที่ได้จากโรงเพาะฟักพบว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ดอกไม้ทะเล


1.2.2 น้ำและการจัดการ

น้ำที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาการ์ตูนของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จัวหวัดกระบี่เป็นน้ำทะเลที่มีความเค็มประมาณ 30-33 ppt ก่อนนำมาใช้จะทำการฆ่าเชื้อในน้ำด้วยคลอรีน ความเข้มข้น 15-25 ppm และเป่าลมจนคลอรีนสลายหมด ในตู้กระจกจะใส่น้ำประมาณ 150 ลิตร เปลี่ยนถ่ายน้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง(ไม่ต้องนำปลาออกจากตู้)ในช่วงบ่าย ครั้งละ 70-80 % พร้อมกับทำความสะอาดตู้(บริเวณด้านข้างของตู้) ควรล้างทรายในตู้เดือนละประมาณ 1 ครั้ง (นำปลาออกจากตู้ก่อน)น้ำที่นำมาใช้นอกจากการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนแล้ว น้ำที่ผ่านระบบกรองทรายก็น่าจะใช้ได้ผลดี สำหรับในแหล่งที่จัดหาน้ำทะเลไม่ได้ การใช้น้ำทะเลเทียมประกอบกับระบบกรองที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการกรองทรายก็มี ความเป็นไปได้ ทั้งนี้ผู้เลี้ยงต้องมีความรู้ในการควบคุมสภาพน้ำในระบบปิดเป็นอย่างดี

1.2.3 อาหารและการให้อาหาร

ใช้เนื้อกุ้งสับละเอียดหรืออาร์ทีเมียตัวใหญ่(ตัวเต็มวัย) เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ให้อาหารจนอิ่ม วันละ 2 ครั้ง ในเวลา 09.00 น. และ 15.00 น. มีบางรายงานที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ด้วยหัวใจวัว หรืออาหารชนิดอื่น ๆ แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบผลของอาหารแต่ละชนิดต่อความสมบูรณ์ของปลา แต่จากการใช้เนื้อกุ้งและอาร์ทีเมียในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์พบว่าปลามี สุขภาพสมบูรณ์ดี ให้ไข่สม่ำเสมอและได้ลูกปลาวัยอ่อนที่แข็งแรงดี นอกจากนั้น เนื้อกุ้งสามารถจัดหาได้ง่าย และสามารถเลือกซื้อกุ้งขนาดเล็กที่มีราคาถูกมาเป็นอาหารพ่อแม่พันธุ์ได้

2.การวางไข่และการพัฒนาของไข่

ก่อนที่ปลาจะวางไข่ 2-5 วัน ปลาตัวผู้จะเลือกวัสดุและทำความสะอาด โดยใช้ปากตอด ใช้ครีบอกและครีบหางโบกพัดสิ่งอื่น ๆ ที่ติดอยู่บนผิวหน้าของวัสดุให้หลุดไป เมื่อใกล้วางไข่ ปลาตัวเมียจะมีท้องที่อูมเป่ง ใหญ่กว่าปกติ และมีท่อนำไข่ไผล่ออกมายาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร หลังจากนั้น ปลาจะเริ่มวางไข่ภายใน 1 ชั่วโมง แม่ปลาจะวางไข่ติดกับวัสดุที่เลือกไว้แล้ว โดยวางเป็นชุด ๆ พ่อปลาก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสม เมื่อวางไข่เสร็จพ่อปลาจะเฝ้าดูแลไข่ ด้วยการโบกพัดด้วยครีบ ใช้ปากตอด และเก็บไข่เสียออก แม่ปลาจะเข้ามาช่วยโบกพัดเป็นครั้งคราว ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน ไข่ก็พร้อมที่จะฟักออกเป็นตัว ปลาการ์ตูนสามารถที่จะวางได้ประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500-1,000 ฟอง ขึ้นกับขนาดและความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ ในการวางไข่ชุดแรก ๆ พบว่าปลามักจะกินไข่ตัวเองจนหมด เนื่องจากอาการตกใจ แต่เมื่อวางไข่ชุดหลัง ๆ ปลาจะเริ่มเคยชินกับการถูกรบกวนและจะไม่กินไข่ตัวเองอีก

3.การฟักไข่

หลังจากปลาวางไข่แล้ว 7-8 วัน ไข่พร้อมที่จะฟักเป็นตัว สังเกตได้จากตาของตัวอ่อนในไข่มีสีเงินวาว ในตอนเย็นนำไข่ที่พร้อมจะฟักออกเป็นตัวซึ่งติดอยู่กับก้อนหินหรือเปลือกหอย ไปฟักในถังขนาด 500 ลิตร เติมน้ำทะเลสะอาด 300 ลิตร ในการฟักใช้หลักการเดียวกับ อุ่นจิต(2537) โดยอาศัยแรงลมดันน้ำให้ไหลผ่านไข่ปลาเบา ๆ (รูปที่ 6) ลูกปลาจะฟักออกจากไข่ในเวลากลางคืน จากนั้นจึงนำวัสดุ และอุปกรณ์การฟักออก

4.การอนุบาล

4.1 บ่ออนุบาล

ถังไฟเบอร์กลาสสีน้ำตาล หรือ ถัง PE สีดำ ขนาดความจุ 500 ลิตร ใช้เป็นถังฟักและอนุบาลลูกปลาตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 15 วัน หลังจากนั้นจึงย้ายลูกปลาไปอนุบาลต่อในคอกในบ่อดิน(คอกทำด้วยอวนในล่อน ขนาดตาละเอียด หรือเลือกขนาดตาที่เหมาะสมที่ปลาไม่สามารถหนีออกไปได้)การอนุบาลในช่วง 5 วันแรก ควรปิดปากถังด้วยผ้าพรางแสงสีดำ 1 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงของแสงในบ่ออย่างรวดเร็ว และป้องกันสิ่งสกปรกอื่น ๆ

4.2 น้ำและการจัดการ

การอนุบาลในถังควรเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ วันเว้นวัน พร้อมกับดูดตะกอนก้นถัง การดูดตะกอนจะเริ่มทำเมื่อปลาอายุประมาณ 5-6 วัน หรือเห็นว่าพื้นถังเริ่มสกปรก การถ่ายน้ำและการดูดตะกอนต้องทำอย่างนิ่มนวล เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันในถังอนุบาล ซึ่งจะทำให้ปลาช็อกได้

4.3 อาหารและการให้อาหาร

ปลาอายุ แรกฟัก ถึง 7 วัน ใช้โรติเฟอร์เป็นอาหาร ความหนาแน่น ประมาณ 5-15 ตัว/มล. พร้อมกับเติมคลอเรลลาให้น้ำมีสีเขียวอ่อน ๆ เพื่อเป็นอาหารของโรติเฟอร์ ควรเช็คความหนาแน่นของโรติเฟอร์วันละ 2-3 ครั้ง เริ่มฝึกให้ปลากินอาร์ทีเมียแรกฟัก เมื่อลูกปลาอายุ 5 วัน เมื่อลูกปลากินอาร์ทีเมียได้ดีแล้วจึงหยุดให้โรติเฟอร์ อายุ 15 วัน ย้ายไปอนุบาลในคอก ถ้าไม่มีคอกอาจจะอนุบาลต่อในถังหรือบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ขึ้นก็สามารถทำได้ โดยให้มีความหนาแน่นลูกปลาประมาณ 0.5-2 ตัว/ลิตร แต่การอนุบาลในคอกจะลดการทำงานในส่วนของการถ่ายน้ำ และมีต้นทุนที่ถูกกว่าหลังจากย้ายลูกปลาลงไปอนุบาลในคอกแล้วยังต้องให้อาร์ ทีเมียตัวเล็กเป็นอาหารอีกประมาณ 5 วัน จึงฝึกให้กินไรแดงแช่แข็งและเนื้อปลาสดบดละเอียด วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าสามารถจัดหาอาร์ทีเมียตัวใหญ่เป็นอาหารลูกปลาได้จะช่วยให้ลูกปลาโตเร็ว ขึ้น ใช้เวลาอนุบาลลูกปลาในคอกประมาณ 40-45 วัน จะได้ลูกปลาขนาด 1 นิ้ว สามารถจำหน่ายได้ หรือเลี้ยงให้โตกว่านี้ก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น

ที่มา ไพบูลย์ บุญลิปตานนท์/อาคม สิงหบุญ/สามารถ เดชสถิตย์/พิกุล ไชยรัตน์
สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดกระบี่

แนะนำอาชีพ'เทียนหอมกันยุง'

ทำเทียนหอมกันยุงสร้างอาชีพ


เทียนหอมกันยุง แต่งบ้านให้ได้ทั้งความสวยงามและได้ประโยชน์ ทำไม่ยาก สามารถประกอบเป็นอาชีพเสริมได้


เทียนหอมกันยุง

วัสดุอุปกรณ์และวิธีการทำ

1 หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ใช้สำหรับละลายเทียนเพื่อความสะดวก เพราะตัวหม้อจะมีระบบตัดไฟเมื่อน้ำเทียนเดือด เมื่อเทียนแข็งตัวและเราต้องการให้เทียนหลอมละลายอีกเราก็กดปุ่มอีกครั้ง

2 หม้อสองชั้นสำหรับตุ๋นเทียน ชั้นล่างเป็นหม้อใบใหญ่กว่าสำหรับใส่น้ำ ใบบนสำหรับใส่เทียนเป็นหม้อใบเล็กกว่ามีด้ามจับ ถ้าใช้หม้อชั้นเดียวเนื้อเทียนจะถูกความร้อนโดยตรงซึ่งร้อนเกินไปและไม่ สะดวกแก่การทำงาน

3 ถาดขนมสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ ควรเป็นแบบที่ทำจากอลูมิเนียมจะได้ทนความร้อนได้ดี

4 ช้อน สำหรับตักเทียน

5 แม่พิมพ์ สำหรับยอดเทียนให้เป็นรูปต่างๆ

6 เหล็กคีบ ใช้หนีบภาชนะร้อนๆจะได้ไม่ร้อนมือ

7 กาละมังสเตนเลสใบเล็ก

8 ทัพพีกลมสำหรับตักน้ำเทียน

9 กรรไกรสำหรับตัดแต่งเทียน

10 แม่พิมพ์ สำหรัยยอดเทียนให้เป็นรูปต่างๆ กรณีที่ต้องการทำรูปแบบต่างๆให้ดูสวยงาม

11 เหล็กแหลม สำหรับปักไส้เทียน

วัสดุที่เราใช้ในการทำเทียน

1 พาราฟินแวกซ์ มีลักษณะเป็นของแข็งใสมีทั้งแบบก้อนและเม็ด มีจุดหลอมเหลวที ่58°c - 62°c

2 โพลีเอททีลีนแวกซ์ หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า พีอี หรือโพลีเอสเตอร์ เอสเตอร์รีน มีลักษณะเป็นเกล็ด ช่วยทำให้เทียนจุดได้นานขึ้นปกติจะใช้ประมาณ 2--10 เปอร์เซนต์

3 สเตียริคเอซิค ช่วยทำให้เทียนมีผิวลื่นแกะออกจากพิมพ์ง่าย มีทั้งแบบเป็นเกล็ดและเม็ดไข่ปลา ปกติจะใช้ 4 ช้อนโต๊ะต่อพาราฟิน 1/2 กก.

4 ไมโครแวกซ์ ช่วยทำให้เทียนมีความเหนียวง่ายต่อการปั้นหรือแกะสลัก มีลักษณะเป็นแผ่นสีขาว ถ้าใช้แบบคุณภาพต่ำจะทำให้มีควันมาก

5 ไส้เทียน มี 2 แบบคือแบบที่ฟอกแล้วจะมีสีขาวและแบบที่ยังไม่ได้ฟอกจะมีสีขาวขุ่น

6 สีผสมเทียน

7 น้ำมันตะไคร้หอม


เรื่องของวัสดุในการทำเทียนหอมกันยุ ได้แจงรายละเอียดไว้เผื่อสำหรับในการ ทำเทียนแบบสวยงามด้วยเลย จึงดูค่อนข้างจะมีส่วนประกอบมาก ลองทำดูก็แล้วกัน มีไอเดียอะไรในเรื่องของรูปแบบหน้าตาก็ดัดแปลงได้ไม่ ผิดกติกา วัสดุหาซื้อได้ตามร้านเครื่องเขียนโดยเฉพาะร้านใหญ่ๆจะมีขายส่วนอุปกรณ์หา ซื้อได้ตามซุปเปอร์มาเก็ตตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป บางรายการเช่นแบบพิมพ์ขนมรูปต่างๆมีขายตามร้านขายอุปกรณ์ทำขนม

วิธีทำ

1 นำแผ่นฟาราฟินแวกซ์หั่นเป็นท่อนๆใส่หม้อขึ้นตั้งความร้อนปานกลาง เคี้ยวไปจนละลายเป็นของเหลว

2 ใสสีตามลงไปโดยใส่ทีละน้อยตามต้องการคนจนสีเนียนเข้ากันทั่วทั้งหม้อหากสีจืดไปค่อยเติมสีเพิ่ม

3 ใส่หัวน้ำมันตะไคร้หอมประมาณ 3-4 หยดต่อเทียน 1/2 กก.

4 หยอดเทียนใส่พิมพ์ รอจนแข็งตัวจึงแกะออกจากพิมพ์ ตกแต่งผิวด้วยมีดหรือกรรไกร หรืออาจหยอดใส่ถ้วยแก้วเล็กๆก็ได้

5 นำมาตกแต่งด้วยริบบิ้นหรืออื่นๆเพื่อให้ดูสวย

การทำเทียนแบบนี้ก็เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่สร้างสรรได้ตามความคิดของผู้ทำ รูปแบบของหน้าตาที่ออกมาจะสวยอย่างไรก็คงคล้ายๆกับการแต่งหน้าเค้กที่ต้อง อาศัยทักษะ การสังเกตุจดจำรูปแบบต่างๆที่เคยเห็นและนำมาประยุกต์หรืออาจออกแบบตามแนว ความคิดที่จินตนาการขึ้นเอง

ที่มา กรมประชาสัมพันธ์

Thursday, October 1, 2009

แนะนำอาชีพ'กระเพาะปลาน้ำแดง'

'เพื่อสุขภาพ' เพิ่มจุดขาย !!

การขายอาหารการกินในปัจจุบัน ไม่ว่าจะร้านเล็ก-ร้านใหญ่ นอกจาก ราคาเป็นธรรม ใส่ใจเรื่องความสะอาดแล้ว ควรให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพผู้บริโภคด้วย ซึ่งกับ “กระเพาะปลาน้ำแดงยอดมะพร้าว-แปะก๊วย” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอวันนี้ ก็ใส่ใจสุขภาพลูกค้าจนเป็นจุดขายที่ดีทีเดียว...

“กระเพาะปลาน้ำแดงยอดมะพร้าว-แปะก๊วย” เจ้านี้ ธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาสำหรับคนรักสุขภาพ ผู้ปรุงขายนั้นเป็นอดีตข้าราชการของสถาบันมะเร็งฯในตำแหน่งโภชนากรดูแลอาหาร ผู้ป่วย เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วก็เปิดกิจการเล็ก ๆ ขายกระเพาะปลาน้ำแดงยอดมะพร้าวฯ และก็เป็นที่นิยมของลูกค้ามากทีเดียว

อารยา ปั้นพิพัฒน์ หรือ ป้าเจียม เจ้าของสูตร เล่าว่า ทำกระเพาะปลาน้ำแดงยอดมะพร้าว-แปะก๊วยขายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ก็เป็นเวลากว่า 9 ปีแล้ว กระเพาะปลาที่ทำขายนั้นนอกจากเน้นความอร่อยแล้วยังให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ด้วย จะไม่ใส่เครื่องใน ใช้ยอดมะพร้าวแทนหน่อไม้ เสริมด้วยเม็ดแปะก๊วยซึ่งดีต่อสุขภาพ และจะไม่ใส่น้ำปลาและชูรส ที่สำคัญจะไม่ใส่สารกันบูด แต่แป้งก็ไม่มีการคืนตัว
สำหรับ อุปกรณ์ในการทำกระเพาะปลาน้ำแดงขายนั้น ถ้าทำขายเล็ก ๆ อุปกรณ์ การทำก็เป็นพวกเครื่องครัวต่าง ๆ เช่น เตาแก๊ส หม้อ จาน ฯลฯ และก็ควรต้องมีหม้อใส่กระเพาะปลาขายโดยเฉพาะด้วย

ส่วนสูตรและวิธีทำกระเพาะปลาน้ำแดงยอดมะพร้าว-แปะก๊วยเจ้านี้ เริ่มที่ทำน้ำซุป โดยใส่น้ำสะอาดในหม้อเบอร์ 40 ต้มน้ำให้เดือด จากนั้นใส่โครงไก่หักครึ่ง 2 กก. รากผักชี 200 กรัม และพริกไทยดำ 200 กรัม ปรุงรสด้วยซอส 2 ถ้วย ซีอิ๊ว 1/2 ถ้วย และน้ำตาลกรวด 500 กรัม น้ำซุปนี้ต้มเคี่ยวประมาณ 3 ชั่วโมง

เมื่อขั้นตอนการต้มน้ำซุปเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการทำกระเพาะปลาน้ำแดงยอดมะพร้าว-แปะก๊วย โดยใส่กระเพาะปลา 1,500 กรัม (แช่น้ำให้นุ่ม ต้มให้สุก ล้างด้วยน้ำเย็น บีบให้พอหมาด ๆ แล้วหั่นเป็นชิ้น ๆ) แล้วใส่ เห็ดหอม 300 กรัม (แช่น้ำให้นิ่ม และหั่นเป็นชิ้น ๆ เช่นกัน)

ใส่ยอดมะพร้าวหั่นต้ม 1.5 กก. จากนั้นค่อย ๆ ละลายแป้งท้าวยายม่อมและแป้งถั่วอย่างละ 200 กรัม กับน้ำในปริมาณที่พอประมาณ ดูว่าไม่ใสเกินไป-ไม่ข้นเกินไป ละลายแป้งแล้วก็ใส่ลงไปในหม้อ ตามด้วยใส่เลือดไก่ 5 ถ้วย ซึ่งต้องล้าง และต้มให้สุกเสียก่อน จากนั้นใส่ไข่นกกระทาต้ม 50 ฟอง เท่านี้ก็เรียบร้อยไปส่วนหนึ่ง

ในส่วนของเม็ดแปะก๊วยนั้น จากสูตรส่วนผสมข้างต้น จะใช้ประมาณ 1.5 กก. (ล้างให้สะอาด และต้มให้สุก) โดยจะแยกไว้ต่างหากไม่ใส่ผสมเลยทีเดียว และรวมถึงเส้นหมี่ลวกสุกกับผักชีหั่น ที่ก็แยกไว้เช่นกัน

นอกจากนี้ ก็ต้องเตรียมน่องไก่และปีกไก่ตุ๋น 2 กก. (การตุ๋นน่องไก่หรือปีกไก่นั้นให้นำลงต้มพร้อมกับน้ำซุปกระเพาะปลาให้สุก ก่อน เมื่อน่องไก่หรือปีกไก่สุกแล้วก็ให้ตักออกมาใส่หม้อตุ๋นอีกใบต่างหาก โดยตุ๋นด้วยน้ำซุปกระเพาะปลาที่แบ่งมา และปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำพอประมาณ ตุ๋นไปจนงวดก็เป็นอันใช้ได้)

การขาย ก็ตักกระเพาะปลาใส่ถุงหรือชาม ขายชุดละ 25 บาท โดยกะปริมาณกระเพาะปลา ยอดมะพร้าว เส้นหมี่ และแป้ง ให้พอดี ๆ ใส่ไข่นกกระทา 2 ฟอง, น่องไก่หรือปีกไก่ 1 ชิ้น และเม็ดแปะก๊วยต้มจำนวนหนึ่ง โรยหน้าด้วยผักชีซอย และพริกไทย เสิร์ฟ-ขายพร้อมเครื่องปรุง อาทิ น้ำตาลทราย,จิ๊กโฉ่ว

จากปริมาณส่วนผสมที่ว่ามาข้างต้นนั้น เจ้าของสูตรนี้บอกว่า ถ้าขายหมดจะมี รายได้ประมาณ 2,000 บาท โดยต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ซึ่งก็นับว่าเป็นเมนูอาหารที่สร้างรายได้น่าสนใจทีเดียว

ใครสนใจ “กระเพาะปลาน้ำแดงยอดมะพร้าว-แปะก๊วย” สูตร ของป้าเจียม-อารยา อยากชิม หรือต้องการติดต่อไปออกร้าน ก็ติดต่อสอบถามไปได้ที่ โทร. 0-2526-5681, 08-1699-7505, 08-9484-7167 ส่วนใครที่ได้ไอเดียทำกินจากอาหารที่เน้นสรรพคุณเพื่อสุขภาพเป็นจุดขาย ก็รีบฝึกฝนเพื่อทำขาย อย่ารอช้า !!.

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : รายงาน

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=21304&categoryID=525

แนะนำอาชีพ'ข้าวผัดกิมจิ'

อาชีพขายอาหารยังเป็น “ช่องทางทำกิน” ยอดฮิตทุกยุคสมัย ซึ่งการจะประสบความสำเร็จ นอกจากรสมือจะต้องดีแล้ว เรื่องทำเล เรื่องการปรับตัวตามกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย และกับผู้ที่เลือกขายอาหารในย่านสถานศึกษา และมีเมนูตามกระแสนิยมของลูกค้าเป้าหมาย เช่น “ข้าวผัดกิมจิ” นี่ก็น่าสนใจ...

รวมพร หมื่นอินกุล หรือ ตวง อายุ 29 ปี เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการมาทำอาชีพนี้ว่า หลังจากเรียนจบก็เข้าทำงานด้านการตลาด แผนกแฟชั่น เสื้อผ้าและของใช้ผู้หญิง ทำงานอยู่เกือบ 4 ปี ก็รู้สึกเบื่อ อยากทำงานอิสระ จึงลาออก

แรก ๆ นั้น เพราะเคยทำงานด้านแฟชั่น จึงหันมาเปิดร้านขายเสื้อผ้าหลังการบินไทย ตัดเอง ออกแบบเอง ช่วงแรกขายดีมาก มีเท่าไหร่ก็หมด ธุรกิจไปได้สวยจริง ๆ แต่ขายอยู่ประมาณปีกว่า ๆ ก็ต้องปิดตัว เพราะเศรษฐกิจเริ่มไม่ดี รายได้ของร้านลดลง จากเดิมลูกค้าซื้อ 7,000 - 8,000 บาท และมาบ่อย ๆ หลัง ๆ มาเดือนละครั้งสองครั้ง ยอดซื้อเหลือ 2,000 – 3,000 บาท แล้วที่สุดก็หายหน้าไปเลย

ตวงบอกว่า เป็นคนที่คิดเร็วทำเร็ว ก็เลยเปลี่ยนแนว หาทำเลทำร้านอาหารทันที ซึ่งที่บ้านทั้งคุณแม่และคุณยายทำอาหารอร่อยมาก ตนเองจะติดกับข้าวที่บ้าน และก็เป็นคนที่ชอบกินและชอบทำอาหารด้วย ชอบดูรายการอาหารทางทีวี ดูสูตรจากอินเทอร์เน็ต และซื้อตำรามาฝึกทำ ทั้งอาหารไทย อิตาเลียน ฝรั่ง ญี่ปุ่น และเกาหลี ลองผิดลองถูกไปเรื่อย โดยมีน้องชายเป็นผู้ช่วยชิม

สำหรับร้านอาหารที่เปิดขายอยู่นี้ เปิดมาได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว และกำลังไปได้ดีเลยทีเดียว มีน้อง ๆ นักศึกษาเข้ามาเป็นลูกค้าขาประจำจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะทางร้านเข้าใจว่านักศึกษามีความเป็นวัยรุ่น ชอบอาหารที่มีสไตล์แปลก ๆ มีเมนูผสมผสานกัน ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ การเปิดร้านอาหารในทำเลแบบนี้ เมนูต้องเด็ดใหม่เสมอ ขณะที่เรื่องรสชาตินั้นถ้าเป็นอาหารต่างชาติก็ต้องประยุกต์ให้ถูกปากคนไทย

รายการอาหารของทางร้าน ก็จะมีอาทิ ข้าวผัดกิมจิ, ข้าวห่อไข่-ข้าวผัดแฮม, ข้าวผัดเบคอน, ไข่เจียวแฮมชีส, คร็อกเก้แกงกะหรี่ญี่ปุ่น, คร็อกเก้ครีมซอสแฮม, ตับไก่บดกับขนมปังปิ้ง, หอยลายเนยกระเทียมกับขนมปังปิ้ง, ข้าวผัดอเมริกัน, ข้าวผัดแกงกะหรี่ญี่ปุ่น, ข้าวปลาซาบะย่างซีอิ๊ว, ข้าวผัดต้มยำไก่-ทะเล, สปาเกตตีต้มยำ-ทะเล, ข้าวผัดเนื้อเค็ม, ข้าวไข่ระเบิด, ข้าวผัดพริกขี้หนูสด, ข้าวไก่คลุกฝุ่นกระเพากรอบ, ข้าวผัดแกงเขียวหวาน ฯลฯ โดยราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่เมนูละ 30-40 บาทเท่านั้น ซึ่งกำไรก็พอให้ร้านอยู่ได้และวันนี้ตวงก็มีสูตรการทำ “ข้าวผัดกิมจิ” มาแนะนำ

การทำ “ข้าวผัดกิมจิ” นี้ เริ่มกันตั้งแต่การทำ “กิมจิ” ก่อน วัตถุดิบที่ใช้ตามสูตรก็มี... ผักกาดขาว 2 หัวใหญ่, ต้นหอม 100 กรัม, ขิง 20 กรัม, พริกชี้ฟ้าสดสีแดง 100 กรัม, กระเทียม 10 กรัม, น้ำส้มสายชู 3 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ, เกลือ และน้ำสะอาด

วิธีทำกิมจิ นำผักกาดขาว 2 หัวใหญ่ ล้างให้สะอาดแล้วผ่าครึ่ง เด็ดออกทีละใบจนหมด พักไว้ ผสมน้ำเปล่ากับเกลือ 40 กรัม ทำการคนให้เกลือละลายเป็นน้ำเกลือ ชิมรสให้ออกเค็มเล็กน้อย จากนั้นนำผักกาดขาวที่เตรียมไว้มาแช่น้ำเกลือนานประมาณ 6-8 ชั่วโมง จนผักสลด จึงนำขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ

นำพริกชี้ฟ้าแดงสดมาผ่าเอาเม็ดออก หั่นเป็นชิ้นเล็กใส่ลงไปในครก ตามด้วยขิง กระเทียม ทำการโขลกส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียด ตักมาใส่อ่างผสม ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู น้ำตาลทราย และเกลือป่น คนให้เข้ากันเป็นน้ำปรุงรส แล้วพักไว้ จากนั้นหั่นต้นหอมเป็นท่อนยาวประมาณ 1 นิ้ว หั่นผักกาดขาวที่เตรียมไว้เป็นชิ้นพอคำ แล้วนำต้นหอม ผักกาดขาว และน้ำปรุงรส มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วหมักทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วัน ก็เป็นอันใช้ได้

การจะทำข้าวผัดกิมจิ วัตถุดิบหลัก ๆ ก็มี... ข้าวสวย, เนื้อหมูหรือเนื้อไก่หั่นเป็นชิ้น, เนย, น้ำมันหอย, น้ำตาลนิดหน่อย และขาดไม่ได้คือกิมจิ

วิธีทำ “ข้าวผัดกิมจิ” เริ่มจากนำเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ผัดกับเนยให้สุกและหอม ปรุงรสด้วยน้ำมันหอยและน้ำตาลนิดหน่อย จากนั้นก็นำกิมจิมาใส่ ใช้ไฟแรงผัดไปมา 3-4 ครั้ง ก็ตักราดบนข้าวสวยร้อน ๆ พร้อมเสิร์ฟ ซึ่งร้านนี้เขาจะไม่นำข้าวลงผัดคลุก จะใช้วิธีราดเครื่องลงบนข้าวเพื่อความสวยงาม แต่ก็เรียกชื่อเมนูเป็นข้าวผัด

ร้านของตวงอยู่ข้าง ๆ มหาวิทยาลัยรังสิต ถ้ามาจากหมู่บ้านเมืองเอกวิ่งตรงมาตลอด ให้สังเกตร้านจะอยู่ติดกับร้านอินเทอร์เน็ตและร้านก๋วยเตี๋ยวโบราณ เปิดขายทุกวันตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าไปจนถึง 2 ทุ่ม ใครอยากไปลองชิม ถ้าหาร้านไม่เจอสอบถามได้ที่ โทร.08-1925 -1171 ซึ่งร้านนี้ก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนเช่นกัน !!

เชาวลี ชุมขำ :รายงาน / จเร รัตนราตรี :ภาพ

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=19840&categoryID=525

แนะนำอาชีพ'น้ำพริกแกงมัสมั่น'

“น้ำพริกแกง” เป็นสิ่งที่อยู่คู่ครัว คนไทยมาช้านานแล้ว เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่บรรพบุรุษรุ่นเก่าก่อนได้สร้างสรรค์อาหารจาก การผสมผสานพืชพรรณต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายในท้องถิ่น และในยุคต่อ ๆ มาจนวันนี้ อาชีพ “ขายน้ำพริกแกง” ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่ไม่ควรมองข้าม...

“บุญธรรม อุตเดช” หรือ “ยายบุญธรรม” เป็น เจ้าของร้านน้ำพริกแกงสำเร็จรูปแม่บุญธรรม ตลาดท่าน้ำนนทบุรี เจ้าของร้านนี้เล่าให้ฟังว่าก่อนจะมามีอาชีพทำน้ำพริกแกงขายเคยทำงานทอผ้า และขายผัก ซึ่งเพราะความที่เป็นคนชอบกิน ชอบทำ แล้วก็ชิมพวกแกงทุกชนิด เวลาไปทำบุญที่วัดทุกครั้งก็จะถือโอกาสชิมแกงที่วัดนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง กระทั่งวันหนึ่งได้เจอกับเจ้าตำรับน้ำพริกแกง ชื่อ “แม่พวง” เป็นแม่ครัวของหลวงพ่อโอภาศรี วัดตลาดบางซื่อ ซึ่งเป็นแม่ของเพื่อน ซึ่งท่านทำแกงอะไร ๆ ก็อร่อย

“ทำให้เราต้องเดินทางมาที่วัดนี้บ่อย ๆ เพื่อมากินแกง แล้ววันหนึ่งก็บอกแม่พวงไปว่าสนใจอยากทำแกงได้อร่อยเหมือนของท่าน ต้องทำยังไงบ้าง แม่พวงท่านเห็นความตั้งใจของเรา ก็สอนให้โดยไม่หวงวิชาเลย สอนตั้งแต่การเลือกสมุนไพร เครื่องเทศ ส่วนผสมของแกง รวมถึงรสชาติของแกงแต่ละชนิดว่าควรเป็นอย่างไร ซึ่งสูตรส่วนผสมเครื่องแกงที่แม่พวงให้มานั้นเป็นแบบครกต่อครก”

จากนั้นก็นำสูตรที่ได้มาทดลองทำทีละอย่าง จนทุกอย่างเข้าที่ และก็อยากจะทำน้ำพริกแกงขาย เพื่อให้ทุกคนได้กินแกงที่อร่อย แต่ก็ต้องมากะสูตรต่อครกใหม่ ซึ่งใช้เวลานานประมาณ 2 ปีกว่าทุกสิ่งจะเริ่มลงตัว

สถานที่ซื้อวัตถุดิบมาทำ ก็ไม่ควรมองข้าม ซึ่งเจ้านี้เขาโชคดีตรงที่ร้านอยู่ในตลาดสดอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องแหล่งวัตถุดิบ

น้ำพริกแกงร้านแม่บุญธรรมมีหลายอย่าง เช่น... น้ำพริกผัดพริกขิง, น้ำพริกแกงมัสมั่น, น้ำพริกแกงเผ็ด, น้ำพริกผัดเผ็ด, น้ำพริกแกงส้ม, น้ำพริกแกงเหลือง, น้ำพริกแกงกระหรี่, น้ำพริกแกงพะแนง, น้ำพริกแกงเผ็ด, น้ำพริกแกงไตปลา, น้ำพริกแกงเผ็ดใต้, น้ำพริกแกงเขียวหวาน, น้ำพริกเผา แต่ละอย่างราคาไม่แพง ราคาขาย กก.ละ 60-70 บาท นอกจากนี้ก็มีกะปิอย่างดีจากหลายจังหวัดที่มีชื่อด้านความอร่อย มาขายด้วย

ยายบุญธรรมบอกว่า คนขายสินค้าประเภทนี้ ต้องสามารถกะสัดส่วนของส่วนผสมแกงต่าง ๆ ให้กับลูกค้าได้ด้วย ทั้งเนื้อ น้ำพริกแกง และกะทิ รวมทั้งวิธีทำแบบคร่าว ๆ ด้วย
สำหรับอาชีพขาย “น้ำพริกแกง” นี้ อุปกรณ์ที่ใช้หลัก ๆ ก็มี... เครื่องบด หรือครก, กะละมัง, ทัพพี, กระทะ, ตะหลิว, เขียง, มีด เป็นต้น

ขณะที่ส่วนผสมน้ำพริกแกงต่าง ๆ ก็มีอาทิ... พริกแห้งเม็ดใหญ่ (พริกชี้ฟ้าแห้ง), หอมแดง, กระเทียม, ตะไคร้หั่นฝอย, ขาหั่นเป็นแว่น ๆ, รากผักชีหั่น, เกลือป่น, พริกไทย, ลูกจันทร์, ดอกจันทร์, เมล็ดผักชี, กานพลู, อบเชย, ลูกกระวาน, ยี่หร่า, เกลือ, น้ำมันพืช เป็นต้น
ร้านน้ำพริกแกง “ยายบุญธรรม” มีน้ำพริกแกงขึ้นชื่อหลายอย่าง เช่น “น้ำพริกแกงมัสมั่น”

ขั้นตอนการทำ “น้ำพริกแกงมัสมั่น” ยายบุญธรรมเปิดเผยว่า เริ่มจากผ่าพริกแห้งเอาเมล็ดออกทิ้ง แล้วหั่นหยาบ ๆ แช่น้ำทิ้งไว้สักครู่ เพื่อให้พริกแห้งนุ่ม เสร็จแล้วใช้มือบีบน้ำออก ใส่ภาชนะเตรียมไว้

จากนั้นนำพริกแห้งที่เตรียมไว้ใส่ครก ตามด้วยข่าหั่น ตะไคร้หั่น พริกไทย กระเทียม หอมแดง รากผักชีและเกลือป่น โขลกจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน พักไว้

ทำการคั่วพริกไทย ลูกจันทร์ ดอกจันทร์ เมล็ดผักชี ยี่หร่า ลูกกระวาน กานพลู และอบเชย ให้หอมเหลือง แล้วโขลกรวมกันให้ละเอียด จากนั้นตักขึ้นพักไว้ ก่อนจะนำไปโขลกรวมกับส่วนผสมของพริกให้เข้ากันดี แล้วนำไปผัดในน้ำมัน ใช่ไฟปานกลาง ผัดไปเรื่อย ๆ จนน้ำพริกมีกลิ่นหอม เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ยายบุญธรรมบอกอีกว่า น้ำพริกแกงที่ร้านจะมีเอกลักษณ์ซึ่งทำให้มีลูกค้าประจำมาก คือจะมีกลิ่นหอมโชย รสชาติเข้มข้น และใช้สมุนไพรที่มีการเลือกสรรมาอย่างดี

ร้านน้ำพริกแม่บุญธรรมอยู่ในตลาดท่าน้ำนนทบุรี เปิดร้านตั้งแต่ตี 4 จนถึง 6 โมงเย็น ใครต้องการรับน้ำพริกแกงไปขายต่อ ก็ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.0-2526-7297, 0-2525-1403 ทั้งนี้ อาชีพ “ขายน้ำพริกแกง” นั้นทำเงินแบบไม่ธรรมดาได้...ถ้ามีสูตรเด็ด ใครพอมีฝีมือทางนี้ก็ลองหาสูตรมาฝึกฝน-หาทำเลขายกันดู

เชาวลี ชุมขำ :รายงาน / จเร รัตนราตรี :ภาพ
ทีมา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=18510&categoryID=525

Sunday, September 6, 2009

แนะนำอาชีพ "น้ำพริกตาแดง-น้ำพริกอ่อง"

สูตรน้ำพริกตาแดง-น้ำพริกอ่อง

ข้าวสวยร้อนๆทานกับน้ำพริกตาแดง-น้ำพริกอ่องแสนอร่อย ทำกินในครอบครัวก็แจ๋ว หรือจะทำขายก็เจ๋ง


@น้ำพริกตาแดง

เครื่องปรุง พริกแห้งเลือกเม็ดแดง ๆ สัก ๗-๑๐ เม็ด ปลาย่าง ๑ ตัว หัวหอม ๒ หัว กะเทียม ๑ หัว ปลาร้า ๑ ช้อนโต๊ะ เกลือ (จะใส่กะปิก็ได้ ๑/๒ โต๊ะ)
วิธีทำ เอาพริกเสียบไม้ ย่างไฟสูง ๆ เรียกว่า "พิงไฟ" พอกรอบและหอมอย่าให้ดำ แล้วเอาหัว กะเทียมหัวหอมหมกไฟพอสุก แกะเปลือกออก กะปิย่างไฟ ปลาร้าสับห่อใบตองหมกไฟให้สุก ปลานั้นนำไปปิ้งไฟให้หอมเอาเครื่องปรุงทุกอย่างโขลกด้วยกันให้ละเอียด จนมีลักษณะเหนียว อาจเก็บไว้ในกระปุก ซึ่งสมัยก่อนมักเอาใบตองแห้งห่อไว้ สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเดือน

เนื่องจากน้ำพริกแดงสามารถเก็บไว้ได้นาน จึงนิยมนำไปกินในทุ่งนา ป่า ไร่ สวน หรือการเดินทางไกล เมื่อเก็บไว้นานอาจมีลักษณะแห้ง ดังนั้นเมื่อจะรับประทานจะเอาน้ำใส่แล้วคนให้มีลักษณะเหนียวหรืออาจบีบเอา น้ำจากผลมะกอกเติมก็ได้ โดยทั่วไปการกินน้ำพริกแดงจะต้องมีผักนึ่งเช่นผักกาด กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ถั่วผักยาว ถั่วพู มะเขือ อาจมีชิ้นปิ้ง คือเนื้อปิ้ง บ้างชอบรับประทานพร้อมกับจอผักกาด

พบว่าน้ำพริกตาแดง ในปริมาณ ๑๐๐ กรัม มี ๑๔๗.๓๗ แคลอรี โปรตีน ๑๐.๑๔ กรัม ไขมัน ๕.๒๒ กรัม คาร์โบไฮเดรท ๑๔.๙๔ กรัม แคลเซียม ๙๗.๔๘ มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส ๑๗๙.๗๙ มิลลิกรัม เหล็ก ๗.๔๑ มิลลิกรัม วิตามินเอ ๑๕๓๙.๘๗ อาร์อี วิตามินบีหนึ่ง ๐.๑๐ มิลลิกรัม วิตามินบีสอง ๐.๒๕ มิลลิกรัม ไนอะซิน ๓.๒๓ มิลลิกรัม และ วิตามินซี ๑๐.๕๐ มิลลิกรัม

@น้ำพริกอ่อง

เครื่องปรุง เนื้อหมู ๒ ขีด พริกแห้ง ๓-๕ เม็ด กระเทียม ๓-๔ กลีบ หัวหอม ๒ หัว มะเขือเทศลูกใหญ่สัก ๒-๓ ลูก ถ้าอย่างลูกเล็กประมาณขีดครึ่ง ปลาร้า ๑ ครึ่งช้อนโต๊ะ เกลือ ครึ่งช้อนโต๊ะถั่วเน่าแข็บ(ถั่วเน่าแผ่น)ครึ่งแผ่น บางคนจะใช้กะปิแทนปลาร้าสับละเอียด ผักชี รากผักชีต้นหอม น้ำมันหมู

วิธีทำ ย่างถั่วเหลืองแผ่นให้สุกเสียก่อน ทิ้งไว้ให้กรอบ นำพริกแห้ง หัวหอม กระเทียม และรากผักชีโขลกพร้อมกัน เมื่อแหลกดีแล้วเอากะปิหรือปลาร้า และถั่วเน่าแข็บ (ถั่วเน่าแข็บ คือถั่วเหลืองต้มเปื่อยหมักแล้วบดละเอียด ทำเป็นแผ่น ๆ ตากแห้ง ชาวไทยใหญ่นิยมใช้แทนกะปิ) ใส่ลงไปโขลกให้เข้ากัน ส่วนเนื้อหมูสับให้ละเอียด มะเขือเทศหั่นหรือใส่ครกบด แล้วตั้งกะทะใส่น้ำมัน เอากระเทียมลงเจียวพอหอมแล้วเอาน้ำพริกลงผัด เอาเนื้อหมูใส่ และมะเขือเขือเทศใส่ตาม เติมน้ำพอสมควรแล้วชิมดูสุกแล้วยกลงผักชีโรยหน้า บางสูตรจะเอาหมูลงผัดก่อนแล้วจึงตามด้วยเครื่องปรุงและมะเขือเทศภายหลัง บางสูตรจะเอาเนื้อหมู เครื่องปรุง และมะเขือเทศโขลกรวมกันก่อนลงผัด บางสูตรจะย่างพริกแห้งให้หอมก่อนโขลกรวมเครื่องแกง

อย่างไรก็ตามลักษณะเด่นของน้ำพริกอ่องคือ มีสีส้ม(สีมะเขือเทศและพริกแห้ง) ข้นเป็นน้ำขลุกขลิก มีน้ำมันลอยหน้าเล็กน้อย มีสามรส คือ เปรี้ยว เค็ม เผ็ดเล็กน้อย และรสหวานตาม การกินน้ำพริกอ่องต้องมีผักจิ้ม เช่น มะเขือเปราะ ถั่วผักยาว ผักกาดขาว ต้นหอม ผักชี ถั่วพู กะหล่ำปลี แตงกวา จะลวกหรือกินสดก็ได้ อาจมีแคบหมูมากินด้วยก็ยิ่งดี

พบว่าน้ำพริกอ่องในปริมาณ ๑๐๐ กรัม มี ๑๔๔.๙๔ แคลอรี โปรตีน ๑๐.๒๓ กรัม ไขมัน ๙.๐๐ กรัม คาร์โบไฮเดรท๕.๗๓ กรัม แคลเซียม ๖๒.๑๒ มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส ๘๐.๔๙ มิลลิกรัม เหล็ก ๒.๒๕ มิลลิกรัม วิตามินเอ ๓๒๙.๘๓ อาร์อี วิตามินบีหนึ่ง ๐.๒๙ มิลลิกรัม วิตามินบีสอง ๐.๑๕ มิลลิกรัม ไนอะซิน ๓.๐๙ มิลลิกรัม และ วิตามินซี ๔.๕๔ มิลลิกรัม

ที่มา http://www.oknation.net/blog/mahoo/2009/09/04/entry-1

Saturday, August 29, 2009

แนะนำอาชีพ ‘ลูกเดือยทอดกรอบ’

ผสมสมุนไพร-ขายสุขภาพ

ขนมกรุบกรอบทานเล่นจากโรงงานใหญ่ ๆ ที่มีวางขายตามท้องตลาดนั้น บ้างก็มีประโยชน์น้อย บ้างก็มีราคาสูง ซึ่งนี่ก็เป็นช่องว่างทางการตลาดสำหรับรายย่อย เป็น “ช่องทางทำกิน” จากการผลิตขนมกรุบกรอบที่มีประโยชน์-ราคาไม่แพง อย่างการทำ “ลูกเดือยทอดกรอบสมุนไพร” ขาย ก็น่าสนใจ...

ชมพูนุช เผื่อนพิภพ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร เปิดเผยว่า จากการทำโครงการเกษตรอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ เมื่อลงพื้นที่ในต่างจังหวัดก็พบพวกธัญพืชต่าง ๆ เป็นที่นิยมมาก แล้วก็เห็น “ลูกเดือย” ซึ่งใคร ๆ ก็คิดว่านำไปต้มได้เพียงอย่างเดียว

แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว เห็นว่าน่าจะทำเป็นอย่างอื่นได้ อาทิ อาหารทานเล่นแบบกรุบกรอบ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ โดยลูกเดือยมีสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายมากมาย

เช่น ใยอาหาร วิตามินเอ วิตามินบี 1 ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคล เซียม และยังมีสรรพคุณเป็นยาเย็น ใช้บำบัดอาการหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ น้ำคั่งในปอด แก้ร้อนใน บำรุงไต บำรุงกระเพาะอาหารและม้าม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ บำรุงสตรีหลังคลอด ช่วยย่อยอาหาร และเจริญอาหาร

ทั้งหมดคือคุณประโยชน์ของเจ้าเม็ดกลม ๆ อ้วน ๆ ที่เรียกว่า “ลูกเดือย”

ส่วน “ลูกเดือยทอดกรอบสมุนไพร” ที่คิดทำขึ้นมา นอกจากลูกเดือยแล้ว ยังมี ใบมะกรูด, พริกไทยดำ เป็นสมุนไพรที่เพิ่มกลิ่นและสีสันให้มีความน่ารับประทานมากขึ้น และมีประโยชน์มากขึ้น

ลูกเดือยทอดกรอบสมุนไพร มีวัตถุดิบและวิธีการทำดังนี้คือ...

วัตถุดิบก็มี ลูกเดือย 250 กรัม, ใบมะกรูด 45 กรัม, เมล็ดพริกไทยดำ 20 กรัม, น้ำตาลทรายขาว 30 กรัม, เกลือป่น 5 กรัม และน้ำมันพืช (สำหรับทอด) 0.5 ลิตร

ส่วนวิธีทำ...เริ่มจากนำลูกเดือยแช่น้ำสะอาดนาน 1 คืน แล้วต้มให้สุก เมื่อสุกแล้วตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำ นำไป อบในตู้อบที่อุณหภูมิ 60 องศา เซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง วิธีนี้จะทำให้ลูกเดือยเมื่อทอดแล้วจะพองฟูและมีความกรอบนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง (หากไม่มีตู้อบให้ใช้วิธีการตากแดดให้ แห้งแทน)

ขั้นตอนต่อมา ทอดลูกเดือยในน้ำมันที่ร้อนจัด จนพองฟูและมีสีเหลืองทอง นำขึ้นสะเด็ดน้ำมัน โดยแบ่งทอดทีละน้อย เตรียมหั่นใบมะกรูดเป็นฝอยลงทอดให้กรอบดี และทอดเมล็ดพริกไทยดำให้พอสุก พักไว้

วิธีการคลุกเคล้าส่วนผสม นำลูกเดือยทอดกรอบ + ใบมะกรูดทอดกรอบ + เมล็ดพริกไทยทอดกรอบ + น้ำตาลทราย + เกลือ ใส่ลงในถุงพลาสติกชนิดที่ไม่มีหูหิ้ว ขนาดกว้าง 8 นิ้ว แล้วเขย่าให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน

หากทำในปริมาณมาก ใช้ภาชนะขนาดใหญ่ที่มีฝาปิดแทนถุงได้ จากนั้นนำใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด พร้อมขาย ซึ่งสามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน และเหมาะสำหรับเป็นของรับประทานเล่นของผู้ที่รักสุขภาพ

อ.ชมพูนุชบอกว่า ตามสูตรนี้หากบรรจุใส่ภาชนะ 25 กรัม จะได้จำนวนประมาณ 14 กระปุก ขายในราคากระปุกละ 20 บาท ก็จะได้ 280 บาท ส่วนต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ตกอยู่ที่ประมาณ 170 บาท

นอกจากนี้ อ.ชมพูนุช ยังได้แนะนำเคล็ดลับเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็นคือ หากชอบให้รสชาติเคลือบติดอยู่กับผิวลูกเดือย สามารถใช้วิธีการฉาบได้ โดยนำน้ำตาลและเกลือตั้งไฟเคี่ยวให้เหนียวแล้วจึงใส่ลูกเดือยทอดลงไปคลุก เคล้าให้เข้ากัน หรืออาจเปลี่ยนจากน้ำตาลและเกลือเป็นเนยหรือช็อกโกแลตได้

รวมถึง สามารถเปลี่ยนรสชาติด้วยผงปรุงรสสำเร็จรูปได้หลากหลาย เช่น รสต้มยำ, รสพิซซ่า, บาร์บิคิว โดยรสชาติเหล่านี้การจะใช้ก็ไม่ยุ่งยาก เพราะมีผงปรุงรสสำเร็จรูปขาย ส่วนแต่ละรสจะใช้ปริมาณมากน้อยเท่าไร ก็กะดูว่าต้องการให้ลูกเดือยมีรสชาติจัดจ้านเพียงใด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นรสต้มยำ ในปริมาณวัตถุดิบข้างต้นนั้น ควรจะใช้ผง ปรุงรสต้มยำประมาณ 25 กรัม ซึ่งก็เป็นการใช้แทนเกลือป่น และน้ำตาลทรายขาว

สนใจเรื่อง “ลูกเดือยทอดกรอบสมุนไพร” ต้องการติดต่อ อ.ชมพูนุช เผื่อนพิภพ ก็ไปได้ที่คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร หรือ โทร. 0-2281-9231-4 ต่อ 1201-3

บางทีนี่อาจจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดีสำหรับคุณ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=15673&categoryID=525

แนะนำอาชีพ 'กระยาสารท'อีกหนึ่งขนมโบราณทำเงิน

“กระยาสารท” เป็นขนมไทยพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม อย่างแพร่หลาย คนยุคก่อนจะทำกันช่วงเทศกาลทำบุญวันสารทไทย แรม 15 ค่ำ เดือน 10 แต่ปัจจุบันขนมชนิดนี้ถูกปรับปรุงพัฒนาให้เป็นขนมกินเล่นได้ อย่างเช่นยี่ห้อ “อำนวยขนมไทย” ใน จ.ปทุมธานี ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ...

อำนวย ลางคุณเสน ประธาน กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เล่าว่า สมัยก่อนพอถึงช่วงเทศกาลสารทไทย ชาวไทยพุทธทุกบ้านจะต้องนำเอาพืชผลทางการเกษตรที่ให้ผลผลิตครั้งแรกในฤดู เก็บเกี่ยว ทั้งข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา น้ำผึ้ง น้ำตาล และน้ำอ้อย มาทำเป็นขนม “กระยาสารท” เพื่อนำไปประกอบพิธีทำบุญในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ตามความเชื่อที่ว่า บุญกุศลจะไปสู่ญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้วและยังส่งผลให้พืชผลทางการ เกษตรเจริญงอกงาม และอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

แม้วัฒนธรรมการทำขนมชนิดนี้จะเลือนหายไปตามเวลา จนเกือบไม่เหลือให้เห็นแล้ว แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังติดใจในรสชาติความอร่อยของกระยาสารท ตนเองซึมซับและผูกพันกับขนมไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสนใจอยากจะทดลองทำขายดู ซึ่งการทำกระยาสารทไม่ใช่เรื่องยาก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้อร่อยโดนใจ

ด้วยพรสวรรค์ บวกกับพรแสวงที่ได้จากการฝึกฝนวิชาทำขนมกระยาสารทจากรุ่นปู่ย่าตายาย พลิกแพลงพัฒนาหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดอำนวยก็ได้สูตรเฉพาะของตนเอง และในปี 2538 ก็เริ่มผันตัวเองจากอาชีพทำนามาเป็นแม่ค้าขายกระยาสารท แล้วชักชวนเพื่อนบ้านจัดตั้งเป็น “กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย” ขึ้น ใช้ทุนเริ่มต้นสำหรับอุปกรณ์ราว 25,000 บาท จากการสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน

อำนวยไปอบรมความรู้ตามหน่วยงาน ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพ ทั้งรสชาติ กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ จนได้รับการรองทั้งจาก อย., มผช., โอท็อป, รางวัลชนะเลิศกระยาสารทงานของดีเมืองปทุมธานี ฯลฯ ทำให้สินค้าขายดีขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดยังได้รับเลือกให้วางขายในห้างเทสโก้ โลตัส ด้วย

วัตถุดิบหรือส่วนผสมที่ใช้ในการทำ “กระยาสารท” ก็มี... ข้าวเม่า, ข้าวตอก, ถั่ว, งา, น้ำอ้อย, น้ำกะทิ, มะนาว, นมสด ส่วนอุปกรณ์หลัก ๆ ก็มี... กระทะขนาดใหญ่, เตาแก๊สหรือเตาถ่าน, ไม้พาย, ตะหลิว, ถาดขนาดใหญ่, กะละมัง, ไม้กลิ้ง, พิมพ์ และอุปกรณ์งานครัวเบ็ดเตล็ด

ขั้นตอนการทำ “กระยาสารท” เริ่ม จาก... นำข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา ไปคั่วด้วยไฟอ่อนให้หอมและสุกเหลืองพอดี ใส่ภาชนะแยก วางพักไว้ แล้วก็เตรียมน้ำอ้อย น้ำกะทิ นมสด และน้ำมะนาวให้พร้อม นำกระทะตั้งไฟใส่น้ำอ้อยลงไป ตามด้วยน้ำกะทิและนมสดในสัดส่วนที่พอเหมาะ ใช้ไฟร้อนปานกลางเคี่ยวผสมให้เดือดสักครู่ แล้วเติมน้ำมะนาวเล็กน้อย จะช่วยให้กระยาสารทมีสีเหลืองนวลสวย ใส และกรอบ

ทำการเคี่ยวต่อไป เรื่อย ๆ ประมาณ 2 ชั่วโมงจนส่วนผสมเหนียวได้ที่ นำข้าวตอกใส่ลงไป ตะล่อมคนให้ทั่วและให้เข้ากันดี จากนั้นค่อยนำส่วนผสมที่เหลือเทรวมลงไป โดยใช้ไม้พายคนให้เข้ากันอีกประมาณ 40 นาที ระหว่างนี้ใช้ไฟอ่อน ๆ สังเกตดูส่วนผสมทุกอย่างเกาะติดกันจนเหนียวได้ ค่อยยกลงจากเตา

จากนั้นนำไปเทลงในแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ แล้วใช้ลูกกลิ้งไม้ผิวเรียบอัดด้วยแรง เพื่อให้กระยาสารทเกาะแน่นติดกัน จากนั้นนำมาตัดเป็นชิ้น ๆ ก่อนแพ็กบรรจุภัณฑ์เพื่อไปวางจำหน่าย โดยการขายก็มีหลายแบบ ถ้าบรรจุกล่อง 300 กรัม ราคา 49 บาท ถ้าแพ็กเป็นถุง ๆ ละ 20-35 บาท หรือชั่งเป็นกิโลกรัม ๆ ละ 100 บาท

คุณอำนวยนั้น จากชาวนา สามารถพัฒนาอาชีพขายกระยาสารท จนกลายเป็นธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ ยืนหยัดมานานราว 16 ปี และช่วยให้คนในชุมชนมีงาน มีรายได้ด้วย โดยเจ้าตัวบอกว่าแม้กำไรที่ได้ไม่มากมาย แต่ได้ความเป็นอยู่ที่ดีของเพื่อนสมาชิก และความสุขในครอบครัว นี่คือกำไรที่มีค่ายิ่งแล้ว

ใครสนใจ “กระยาสารท” สนใจ ขนมไทยโบราณ “อำนวยขนมไทย” สนใจเคล็ดลับ เทคนิค วิธีการบริหารจัดการธุรกิจ ของกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย ติดต่อได้ที่ เลขที่ 3 หมู่ 6 ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โทร.0-2593-2403, 08-9775-0932 แล้วจะรู้ว่า...ทำ-ขายขนมโบราณ...ไม่บานบุรี !!

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=14278&categoryID=525

แนะนำอาชีพ ‘เพาะเห็ดฟาง’

ถึงไม่ใหม่แต่ก็ยังขายดี

อาชีพ “เพาะเห็ดฟางขาย” แม้จะมีมานาน แต่จนวันนี้ก็ยังน่าสนใจอยู่ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลจาก ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดฟาง ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มาให้ลองพิจารณา หลังจากทีมงานได้เดินทางไปดูงานกิจกรรมฟาร์มสเตย์ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งทาง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้การสนับสนุนอยู่ เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา...

โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้านั้นมีพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครง การคือกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งก็เป็น “ช่องทางทำกิน” ของชาวบ้าน และสำหรับการ “เพาะเห็ดฟาง” ก็มีศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดฟางเป็นทั้งแหล่งให้ความรู้ และเป็นแหล่งรวบรวมเห็ดจากสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด และผักปลอดสารพิษ ซึ่งแต่ละวันก็จะมีเห็ดฟาง 200-300 กก. เป็นอย่างต่ำ

บัญชา มัจฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด และผักปลอดสารพิษ ต.บ้านซ่อง เล่าว่า รวมกลุ่มผักปลอดสารพิษบ้านหนองหว้ามาตั้งแต่ปี 2548 แรกเริ่มเดิมทีมีสมาชิก 12 คน โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานเกษตร อ.พนมสารคาม, เทศบาลนคร ต.บ้านซ่อง และ มีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอมาถ่ายทอดความรู้ให้

สำหรับการรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษ เริ่มกันในปีนี้ โดยมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 ครัวเรือน ในส่วนของเห็ดจะผลิตได้วันละกว่า 200-300 กก.ขึ้นไป ซึ่งหลังรวมตัวกันในเรื่องการเพาะเห็ดฟาง ฟาร์มเห็ดก็ได้สร้างรายได้ให้ชาวบ้านและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับชุมชนได้ มากขึ้น

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ด บอกว่า ปัจจุบันมีโรงเรือนเพาะเห็ดของกลุ่มฯ กว่า 100 โรง ซึ่งหากไม่มีปัญหาอะไรโรงเรือนแต่ละโรงจะให้ผลผลิตเห็ดเฉลี่ยเดือนละ 250-300 กก. โดยสร้างรายได้ กก.ละ 55 บาทขณะที่ต้นทุนของการผลิตเห็ดฟางนั้นตก กก.ละ 25-30 บาท ซึ่งจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงศูนย์

โรงเรือนแต่ละแห่งจะสร้างด้วยไม้ หลังคามุงด้วยใบจาก และต้องมีผ้าใบคลุมด้วย ในกรณีที่จะต้องรักษาอุณหภูมิ โรงเรือนนั้นจะมีขนาด 5 x 8 เมตร ขนาด 4 ชั้น 2 แถว โดยมีต้นทุนโรงละ 15,000-20,000 บาท

ส่วนกรรมวิธีเพาะเห็ด จะเริ่มตามลำดับของวัน คือ วันที่ 1-3 แช่ปาล์ม จำนวน 2.5-3 ตัน ในน้ำ (ปริมาณท่วมปาล์มพอดี) ใช้ทะลายปาล์มที่หีบน้ำมันออกหมดแล้ว หรืออาจจะใช้กากมันสำปะหลัง หรือใช้เปลือกถั่วก็ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับปาล์มน้ำมันในปริมาณดังกล่าวจะใช้กับโรงเรือนได้ 4 โรงเรือน ซึ่งต้องผสมอีเอ็มหรือน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพจำนวน 3 ลิตร, กากน้ำตาล 3 ลิตร และปุ๋ยยูเรีย 3 กก. ละลายให้เข้ากัน แช่ทิ้งไว้ 3-4 คืน แล้วนำขึ้นมา เพื่อเตรียมขึ้นปาล์มบนโรงเรือน

วันที่ 4 ขึ้นปาล์ม โดยมีอาหารเสริมด้วย (เป็นส่วนผสมที่คลุกระหว่าง ขี้วัว 45 กก., รำข้าว 25 กก., อีเอ็มหรือน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ 100 ซีซี, กากน้ำตาล 100 ซีซี และน้ำเปล่า 100 ลิตร)

วันที่ 5-7 เลี้ยงเชื้อรา คือจะมีราขาวขึ้นบาง ๆ บนปาล์มน้ำมัน

วันที่ 8 อบไอน้ำ (จะมีหม้อต้มน้ำด้านหลังโรงเรือน และปล่อยไอน้ำตามท่อเข้าไปในโรงเรือน และขณะอบไอน้ำต้องคลุมผ้าใบโรงเรือนให้มิดชิดด้วย) รักษาอุณหภูมิ 70-75 องศาฯ นาน 3 ชั่วโมง

วันที่ 9 โรยเชื้อ (ชั้นละ 7 ก้อน อัตราส่วน 1.5 ตร.ม. / เชื้อเห็ด 1 ก้อน) ซื้อจาก จ.นครนายก ราคาก้อนละ 10 บาท แต่ถ้าเขี่ยเชื้อเห็ดเองได้จะเหลือต้นทุนก้อนละ 5 บาท)

วันที่ 10-13 เลี้ยงใย (รักษาอุณหภูมิ 30-34 องศาฯ)

วันที่ 14 ตัดใย (วิธีการคือ ใช้น้ำเปล่ารดให้ยุบลง และเปิดช่องระบายอากาศ)

ทิ้งไว้ถึงวันที่ 17-30 เก็บผลผลิต (รักษาอุณหภูมิ 28-32 องศาฯ) ซึ่งในระยะ 2 สัปดาห์ จะเก็บผลผลิตได้ 3- 4 ครั้ง โดยเก็บเสร็จแล้ว รดน้ำ และปล่อยไว้อีก 3-4 วัน จะได้ปริมาณเห็ดในจำนวนที่กล่าวไว้ข้างต้น

เทคนิคในการเก็บเห็ดนั้น บัญชาแนะนำว่า ควรจะ เก็บเห็ดฟางเมื่อเห็ดออกเป็นดอกตูม ๆ ซึ่งเห็ดลักษณะนี้ จะได้ราคาดี ส่วนถ้าเป็นเห็ดบาน ๆ ราคาจะไม่ดี ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ดอกเห็ดบานจนเกินไป

“เพาะเห็ดฟางขาย” ยังเป็นอาชีพด้านเกษตรที่น่าสนใจ แต่ด้วยเนื้อที่จำกัดจึงแจกแจงได้ไม่ละเอียด อย่างไรก็ตาม หากสนใจเรื่องราวการเพาะเห็ดฟาง ติดต่อ บัญชา มัจฉานุ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดฯ หมู่ 3 ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อขอไปเรียนรู้ได้ ที่โทร. 08-0622-8681.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=13037&categoryID=525

แนะนำอาชีพ ‘ทองพับแคลเซียม’

เพิ่มคุณค่า-เพิ่มจุดขาย

ขนมธรรมดา สามารถทำให้ไม่ธรรมดาได้ด้วยการนำคุณค่าทางอาหารมาเสริมเข้าไป ทำให้ขนมไทยกลายเป็นอาหารสุขภาพ กลายเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่สนใจมากขึ้น อย่างเช่น “ทองพับเสริมแคลเซียม”

ปลั่ง เสนาะคำ เจ้าของผลิตภัณฑ์ “ทองพับเสริมแคลเซียม” ยี่ห้อ “คุณย่าปลื้ม” เล่าว่า เดิมเปิดร้านข้าวแกงและของชำ ต่อมาเข้าร่วมโครงการกับสถาบันวิจัยโภชนาการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารว่าง สุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งก็ได้เลือกทำทองพับเสริมแคลเซียม และกลายมาเป็นรายได้เสริมที่ดีทีเดียว

การทำทองพับเสริมแคลเซียมนั้น อุปกรณ์ที่ใช้มี อาทิ ชามผสม ที่ตีไข่ เกรียงแซะอาหาร กระชอนร่อนแป้ง ถ้วยตวง ช้อนตวง และเครื่องพิมพ์ปิ้งทองพับไฟฟ้า 2 หัว ส่วนวัตถุดิบ ได้แก่ แป้งสาลีอเนกประสงค์ 700 กรัม, น้ำตาลทราย 300 กรัม ต้มเป็นน้ำเชื่อมได้ 1 กก., เกลือไอโอดีน 10 กรัม, กะทิมะพร้าว 500 กรัม, นมถั่วเหลืองต้มไม่ใส่น้ำตาล 500 มล. (ใช้ทดแทนกะทิร้อยละ 50 เพื่อลดปริมาณไขมันอิ่มตัว), น้ำปูนใส 150 กรัม, ไข่ไก่ 6 ฟองเล็ก, งาดำคั่ว 50 กรัม, น้ำเปล่า 720 มล. และ ไตรแคลเซียมฟอสเฟต 15.6 กรัม (ผงแคลเซียม)

ปริมาณส่วนผสมข้างต้น เป็นแป้งที่เตรียมไว้ทั้งหมด 5 สูตร แต่แบ่ง 4 ส่วนใช้กับแต่ละรส รสละ 1 ส่วน ซึ่งเมื่อผสมออกมาแล้วจะได้ส่วนผสมแป้งที่เมื่อแบ่งออกเป็น 4 ส่วน จะได้ส่วนละประมาณ 760 กรัม

4 รสที่ว่าก็มี รสกล้วยหอม ใช้กล้วยหอมสุกงอม 300 กรัม ผสมแป้ง 1 ใน 4 ส่วน, รสเผือก ใช้เผือกต้มบดละเอียด 300 กรัม, รสฟักทอง ใช้ฟักทองต้มบดละเอียด 300 กรัม และ รสดั้งเดิม ไม่ต้องผสมอะไร

การใช้กล้วย, เผือก และฟักทอง เป็นการดัดแปลงให้เพิ่มคุณค่าสารอาหารที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ได้ด้วย

วิธีทำ เริ่มที่แช่ปูนที่กินกับหมาก 0.5 กก. กับน้ำสะอาดในปริมาณที่ให้ท่วมปูนอีก 4 เท่า คนให้ละลาย ตั้งทิ้งไว้ให้ใส ตักส่วนที่ใสไว้ใช้ นำแป้งสาลีมาร่อนด้วยตะแกรง 1 ครั้งก่อนนำไปผสมกับผงแคลเซียม คนให้เข้ากัน ไม่ต้องร่อน เพราะผงแคลเซียมจะติดตะแกรงง่าย นำน้ำตาลไปต้มกับน้ำ เคี่ยวเป็นน้ำเชื่อมให้ได้ 500 มล.

จากนั้นผสมแป้งกับกะทิ นมถั่วเหลือง น้ำเชื่อม น้ำปูนใส ใช้ที่ตีไข่กวนผสมให้เนียนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน และตามด้วยไข่ไก่ ตอกรวมตีให้แตกก่อนนำไปใส่รวมในส่วนผสม ใส่ไข่ลงในส่วนผสม แล้วคนให้ส่วนผสมเข้ากันจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ตามด้วยการใส่เกลือป่น งาคั่ว ลงไปในส่วนผสม

สำหรับการเตรียมรส ไม่ว่าจะเป็นเผือก ฟักทอง กล้วยหอม แต่ละรสก็ผสมกับส่วนผสมแป้ง 1 ใน 4 ส่วน กวนผสมแป้งกับรสต่าง ๆ ให้เนียนจนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

หรือถ้าจะทำเป็น รสผักหวาน ก็ล้างผักให้สะอาด หั่นฝอย นำไปอบไฟอ่อนประมาณ 45 นาที ให้น้ำหนักเหลือ 1 ใน 3 หรือจะทำเป็น รสใบมะรุม อันนี้ไม่ต้องหั่นฝอย รูดใบแล้วนำไปอบได้ ซึ่งการอบช่วยให้ใบผักแห้งสนิท นำไปใช้โรยหน้าทองพับขณะปิ้ง

ขั้นตอนการปิ้งทองพับ เริ่มที่เปิดเครื่องพิมพ์ทองพับไฟฟ้า ตั้งอุณหภูมิที่ 80 องศาเซลเซียส รอให้เครื่องร้อนก่อนใช้ โดยหมั่นคนส่วนผสมให้เข้ากันทุกครั้งก่อนที่จะตักแป้งหยอดใส่พิมพ์ เพื่อให้ได้ส่วนผสมสม่ำเสมอทุกแผ่น เพราะแป้งจะตกตะกอนนอนก้น ใช้น้ำมันพืชทาพิมพ์เล็กน้อย จากนั้นจึงค่อยตักแป้งหยอดลงบริเวณกลาง ๆ พิมพ์ ปิดพิมพ์เบา ๆ เพื่อไล่แป้งให้กระจายสม่ำเสมอทั่วพิมพ์ก่อน จึงค่อยออกแรงกดพิมพ์ให้แน่น จะได้แผ่นทองพับที่บาง ปิ้งไฟไว้จนแป้งขนมสุกและมีกลิ่นหอม จึงใช้เกรียงแซะขนมออกจากพิมพ์

การปิ้งขนมให้กรอบอร่อยให้สังเกตสีขนม ควรมีสีเหลืองออกน้ำตาลอ่อนเล็กน้อย เมื่อขนมสุกแล้ว ผึ่งไว้ให้เย็นก่อนบรรจุถุงพลาสติกใส ปิดปากถุงด้วยเครื่องรีด เก็บในปี๊บขนม จะเก็บได้นานประมาณ 1 เดือน

สำหรับสูตรที่ระบุมาข้างต้น ถ้าทำ 4 รส จะได้ขนมรสละประมาณ 60 แผ่น น้ำหนักแผ่นละประมาณ 6 กรัม จะได้ขนมทั้งหมดประมาณ 240 ชิ้น ใส่ถุงจำหน่ายถุงละ 17 ชิ้น ขายราคาถุงละ 20 บาท ขายหมดจะได้ 280 บาท โดยมีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 70-80 บาท

ผลิตภัณฑ์ “ทองพับเสริมแคลเซียม” เจ้านี้ขายอยู่ที่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 3 ต.ดอนแฝก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โทร. 0-3423-9898 ส่วนสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีสูตรอาหารว่างสุขภาพอีกหลายชนิด ใครสนใจสอบถามไปที่ อ.อรพินท์ บรรจง โทร. 0-2800-2380 ต่อ 314 (ในวันและเวลาราชการ).


http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=17004

Thursday, August 27, 2009

แนะนำอาชีพ ผลไม้ย่างราดซอสคาราเมล

ผลไม้ย่างราดซอสคาราเมล


พูดถึงของย่าง อาจจะนึกถึงเนื้อย่าง หมูย่าง แต่มาดูสูตรแปลก ผลไม้ย่าง แถมราดซอสคาราเมล อีกด้วย

ผลไม้ย่างราดซอสคาราเมล Baked Fruits with Palm Sugar Sauce

ส่วนประกอบ :
กล้วยหอม (เลือกให้สุกก่อนพอดีทานคือให้มีสีเขียวปนบ้าง เวลาอบจะได้ไม่เละ) 2 ผล

สับปะรดลูกเล็ก หั่นเสี้ยวตามยาว 2 ชิ้น

แอ๊ปเปิ้ลเขียว แดง อย่างละ 1 ผล, น้ำตาลโตนด 100 กรัม
วิปปิ้งครีม 4 ออนซ์

ผงชินนามอน 1/2 ช้อนชา และเกลือทะเลเล็กน้อย

วิธีทำซอสคาราเมล :

นำน้ำตาลโตนด วิปปิ้งครีม ผงชินนามอน ใส่หม้อตั้งไฟให้ละลาย พอเดือดหรี่ไฟอ่อน ใส่เกลือทะเลเล็กน้อย ชิมรสพอเค็มปะแล่มๆ หมั่นคนและตั้งๆไฟอ่อนต่อไปจนนำเชื่อมข้น

หมายเหตุ : ถ้าผงชินนามอนจับเป็นก้อน ให้ใช้หลังช้อนช่วยบี้ หรือถ้ามีตะกร้อมืออันเล็กๆ คอยคนก็ยิ่งง่าย และเวลาใส่เกลือ ค่อยๆ ใส่ทีละปลายนิ้ว
ถ้าเค็มเกินไปจะเสียรสของขนมที่ควรจะหอม หวาน นุ่มนวล

ขั้นตอนอบ : นำกล้วยหอมผ่าครึ่งตามยาว สับปะรด แอ๊ปเปิ้ลเขียว แดงผ่าครึ่ง (ผลไม้ทั้งหมดไม่ต้องปอกเปลือก) วางบนแผ่นฟอยล์ นำเข้าเตาอบที่ความร้อน 180 องศาเซลเซียส (350 องศาฟาเรนไฮต์) ประมาณ 20 นาที จากนั้นอบต่ออีกประมาณ 10 นาที ระหว่างอบก็คอยตักซอสคาราเมลราดผลไม้เรื่อยๆ เสร็จแล้วจัดใส่จานพร้อมมีดและส้อมทานกับไอศกรีมวานิลลาก็ยิ่งอร่อยขึ้นไป อีก

สูตรอาหาร ธิดารัตน์ นุตาคม สไตล์ มัทนา สนิทวงศ์ ภาพ มานิตย์ เดชสุภา

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Livingetc ฉบับภาษาไทย

Monday, August 10, 2009

กระปุกออมสินไม้ไผ่จากเมือง3หมอก

กระปุกออมสินไม้ไผ่จากเมือง3หมอก

ไม้ ไผ่เป็นพืชที่พบได้ในพื้นที่ทั่วๆ ไป และนับว่าเป็นพืชที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องประดับ เครื่องใช้ต่างๆ
โดย ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีต้นไผ่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป และมีเป็นจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่จึงนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ รวมถึงทำเป็นของฝากและของที่ระลึกต่างๆ มากมาย

เมื่อเทียบกับสังคมเมืองที่มีแต่การใช้โลหะ พลาสติก และวัสดุต่างๆ ที่มีการคิดค้นขึ้นมาแล้ว ในกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับตรงกันข้าม นั่นคือพยายามนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ ในส่วนของประปุกออมสินนั้นในเมืองก็นิยมทำมาจากโลหะ หรือปูนปาสเตอร์ แต่ในสังคมที่อยู่กับธรรมชาติแล้ว สามารถที่จะประยุกต์หรือสรรหามาได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะทำมาจากดิน กะลามะพร้าว หรือกระบอกไม้ไผ่

ในส่วนของการทำกระปุกออมสินจากไม่ไผ่นั้น จริงๆ แล้วเป็นผลพลอยได้จากการตัดไม้ไผ่ ซึ่งเกิดจากการตัดไม้ไผ่นำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ตัดมาทำบ้านเรือน เครื่องจักสาน หรือเครื่องประดับ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีไม้ไผ่บางส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เหลืออยู่บ้าง ซึ่งก็เพียงแค่การหาไม้ไผ่ที่มีขนาดพอเหมาะ ตามความต้องการของแต่ละคน อาจจะขนาดเล็กบ้าง ขนาดใหญ่บ้างตามชอบ เมื่อได้มาก็ตัดหัวตัดท้ายให้เหลือเพียงแค่ปล้องเดียว แล้วก็เจาะรูที่ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้สามารถใส่เหรียญหรือใส่แบงค์ลงไปได้

ปัจจุบันนี้เมื่อเดินทางไปในส่วนต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจจะได้พบกับภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ขายโดยทั่วไป อาจจะมีการตกแต่งบ้าง หรืออาจจะคงสภาพแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ตกแต่งเลย ราคาก็ 10 - 30 บาท ตามแต่ละขนาด จากสิ่งที่หลายๆ คนมองว่าไม่มีค่าก็อาจจะมีค่าขึ้นมาได้

สิ่งของที่อยู่รอบตัวเรา หากเรามองว่าไม่มีค่า สิ่งนั้นก็จะไม่มีค่าอยู่เช่นนั้นตลอดไป แต่หากเรามองให้มีค่า สิ่งนั้นก็จะมีค่าขึ้นมาทันที แม้ขยะยังมีค่าสำหรับคนหลายๆ คน แม้มูลหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ก็ยังมีค่า เพราะฉะนั้นลองมองรอบๆ ตัวดู ว่าอะไรบ้างที่เรามองว่าไม่มีค่าแล้วอยู่กับเรา สิ่งนั้นอาจจะมีค่าสำหรับผู้อื่นก็ได้ จงใช้ หรือจงให้ เพื่อสิ่งเหล่านั้นจะได้ไม่ไร้ค่าอีกต่อไป

นอกจากนี้ทุกสิ่งล้วนมีคุณค่า แล้วคุณล่ะ มีคุณค่าหรือไม่

ที่มา : วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน