Saturday, March 23, 2013

แนะนำอาชีพ “สมุนไพรทอดกรอบ”

ในงานตลาดนัดภูมิปัญญาสร้างอาชีพ ครั้งที่ 3 ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการฝึกอาชีพแก่ผู้สูงอายุกว่า 50 อาชีพ ซึ่งทีม “ช่องทางทำกิน” ก็แวะไปดูงานนี้ และก็ได้ข้อมูลการทำ “สมุนไพรทอดกรอบ” มาให้ลองพิจารณากัน...
  
สุนีย์ เปถะรัตน์ ประธานกลุ่มแม่บ้านกำนันแม้น 3 ซึ่งสอนทำ “สมุนไพรทอดกรอบ” ในงานตลาดนัดฯ เล่าว่า ประกอบอาชีพค้าขายมาก่อน และได้รวมกลุ่มทำพริกต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ต่อมาทางสำนักงานเขตต้องการให้ทำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเพื่อประกวด 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ และส่งวิทยากรมาสอนให้ ซึ่งสมุนไพรทอดกรอบนี้เป็นการประยุกต์จากสูตรน้ำพริกของวิทยากรที่มาสอนให้ ทางกลุ่มนั่นเอง
  
อุปกรณ์ที่ใช้ทำ “สมุนไพรทอดกรอบ” หลัก ๆ ก็มี เตาแก๊ส, กระทะ, มีด-เขียง, ถาดอะลูมิเนียม  และอุปกรณ์เครื่องครัวเบ็ดเตล็ดทั่วไป
  
สำหรับส่วนประกอบในการทำ “สมุนไพรทอดกรอบ” คุณสุนีย์บอกว่า ตามสูตรก็ประกอบด้วย หอมแดงซอย 200 กรัม, กระเทียม (แกะเปลือก) ซอย 100 กรัม, ตะไคร้ซอย 100 กรัม, ใบมะกรูดฉีก 100 กรัม, พริกขี้หนูแห้ง 100 กรัม, ปลาไส้ตัน 100 กรัม และกุ้งแห้งทอด 100 กรัม
  
ในการทำนั้น เริ่มแรกก็นำส่วนประกอบทั้งหมดมาทอดน้ำมันให้สุก เหลืองกรอบ โดยแยกทอดทีละอย่าง ทอดโดยใช้ไฟแรงปานกลาง อย่าใช้ไฟแรงมาก เพราะของที่ทอดจะไหม้ง่าย เมื่อทอดเสร็จแล้วก็พักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน แต่ในส่วนของพริกขี้หนูแห้งเมื่อทอดเสร็จแล้วให้หักหรือหั่นเป็นท่อน ๆ เตรียมไว้       

ขั้นตอนต่อมา เตรียม “น้ำปรุงรส” ตามสูตรก็จะมีส่วนผสมของน้ำมะขามเปียกแบบข้น ๆ 2-3 กก., น้ำตาลปี๊บ 1 กก.,น้ำตาลทราย 1 กก. และเกลือ 2 ช้อนชา
  
วิธีทำ “น้ำปรุงรส” ก็ตั้งกระทะ ใช้ไฟร้อนปานกลาง ใส่น้ำมะขามเปียก, น้ำตาลปี๊บ, น้ำตาลทราย ลงไปเคี่ยวให้เข้ากัน จากนั้นจึงใส่เกลือลงไปเคี่ยวรวมด้วย เคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนกว่าส่วนผสมจะเข้ากันดี สังเกตจากน้ำปรุงรสจะข้น และเหนียว แต่ระวังอย่าให้เหนียวมากจนเป็นตังเม ซึ่งจะใช้ไม่ได้    

ชิมรสน้ำปรุงรสให้มี 3 รส คือ เปรี้ยว หวาน เค็ม โดยที่จะต้องมี “รสเปรี้ยวนำ” ไว้ก่อน จึงจะใช้ได้ 
    
คุณสุนีย์แนะนำด้วยว่า ควรเตรียม “น้ำปรุงรส” ไว้ข้ามคืนจะดีกว่า เวลาที่ทำจริงจะได้ไม่ลำบาก ไม่กระชั้นเกินไปในการที่จะใช้คลุกกับสมุนไพรทอดการคลุกสมุนไพรทอด ก็ตั้งกระทะ ใช้ไฟร้อนปานกลาง ตักน้ำปรุงรสที่ทำเตรียมไว้พอประมาณ ใส่ลงไปอุ่นให้ร้อน จากนั้นจึงเทของทอดที่เตรียมไว้ใส่ลงไปทีละอย่าง เริ่มจากกุ้งแห้ง ปลาไส้ตัน กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกขี้หนูแห้ง จนครบ คลุกของทอดกับน้ำปรุงรสให้เข้ากันด้วยตะหลิวคู่ แล้วเทน้ำตาลทรายพอประมาณลงไปคลุกด้วยเป็นขั้นตอนสุดท้าย

“วิธีคลุกต้องคลุกแบบมีจังหวะ ต้องใช้ความชำนาญพอสมควร ต้องฝึกฝนให้มากจึงจะคลุกได้ชำนาญ ซึ่งคล้าย ๆ กับการคลุกหมี่กรอบนั่นเอง” คุณสุนีย์บอก
   
เมื่อคลุกได้ที่แล้ว ก็พร้อมจะทำการแบ่งขาย ซึ่งถ้าแบ่งเป็นถุง ถุงละ 100 กรัม ขายได้ในราคาขีดละ 30 บาท หรือ กก.ละ 300 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาขาย
 
ใครสนใจ “สมุนไพรทอดกรอบ” อยากสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ คุณสุนีย์ เปถะรัตน์ ประธานกลุ่มแม่บ้านกำนันแม้น 3 ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-5933-1683 ซึ่งสำหรับ “ช่องทางทำกิน” จากอาหารกินเล่นนั้น กับอาหารแนวสมุนไพรแบบนี้ก็น่าสนใจ.


http://www.dailynews.co.th/article/384/192545

Friday, March 22, 2013

แนะนำ ''พิมพ์ภาพลงวัสดุ''

โอกาสทางธุรกิจนั้น นอกจากการมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีแล้ว “เทคโนโลยี” ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้ การใช้ “เทคโนโลยี” นอกจากจะช่วยลดขั้นตอนการผลิตแล้ว ก็อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสได้อีกทาง ซึ่งวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีมาต่อยอด กับ ’ธุรกิจพิมพ์ภาพลงวัสดุ“ รายนี้...
 
“ธช ธัมมพิพัฒน์” เจ้าของธุรกิจดังกล่าวนี้ เล่าว่า เริ่มต้นทำธุรกิจ “พิมพ์ภาพลงวัสดุ” มาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว โดยเริ่มจากการรับทำตุ๊กตาหน้าเด้ง 3 มิติ ต่อมาก็ต่อยอดขยายออกมาเป็นการพิมพ์ภาพลงวัสดุ ต่าง ๆ หลากหลายมากขึ้น โดยใช้ชื่อว่า ido4idea โดยมีหน้าร้านแบบออนไลน์บนเว็บไซต์ www.ido4idea.com และทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/ido4idea ซึ่งนอกจากรับพิมพ์ภาพแล้วก็ยังให้บริการจำหน่ายเครื่องพิมพ์ภาพ หมึกพิมพ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ
ที่เกี่ยวเนื่อง ให้กับผู้สนใจ ในรูปแบบแฟรนไชส์

สำหรับการ “พิมพ์ภาพลงวัสดุ” นั้น มีตั้งแต่การใช้ระบบกดความร้อน หรือเครื่องฮีตเพรส (Heat Press Machine) จนถึงระบบใหม่ ที่เรียกว่าเครื่องมินิ-ทรีดี วาคัม (Mini-3D Vacuum Machine) ซึ่งเป็นการพิมพ์แบบสามมิติที่สามารถพิมพ์ภาพได้ตั้งแต่ลายการ์ตูน ลายกราฟิก ไปจนถึงภาพถ่ายส่วนตัว โดยสามารถพิมพ์ภาพลงไปได้จนถึงขอบด้านข้างเคสโทรศัพท์มือถือ พิมพ์ได้ทั้งวัสดุผิวโค้ง ผิวเรียบ ซึ่งตอนนี้วัสดุที่ตลาดกำลังเป็นที่นิยมสำหรับการพิมพ์ภาพแบบนี้ ก็หนีไม่พ้นการพิมพ์ภาพลงวัสดุอย่างเคสโทรศัพท์มือถือ กับแท็บเล็ต

“ตลาดเคสมือถือและเคสแท็บเล็ตขณะนี้ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีความต้องการสูง อีกทั้งกลุ่มลูกค้าหลักส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นกับวัยทำงานที่ต้องการใช้งานเคส เหล่านี้ในลักษณะของสินค้าแฟชั่น งานพิมพ์ตัวนี้จึงได้รับความนิยมมาก” เจ้าของธุรกิจพิมพ์ภาพลงวัสดุรายนี้กล่าว

พร้อมทั้งบอกต่อไปว่า จุดเด่นของเครื่องนี้อยู่ที่สามารถใช้พิมพ์ภาพลงวัสดุได้หลากหลาย นอกเหนือไปจากการพิมพ์ลงเคสโทรศัพท์ อาทิ แก้วน้ำ, จาน, เสื้อยืด, เข็มกลัด, กระเบื้อง, พวงกุญแจ เป็นต้น ซึ่งสามารถต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ เพราะเป็นธุรกิจขายความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ จะดีหรือไม่ดีก็ต้องขึ้นอยู่กับทำเล การทำตลาด และกลุ่มลูกค้าด้วย

ธุรกิจนี้ อุปกรณ์ที่ใช้หลัก ๆ ก็ประกอบด้วย เครื่องพิมพ์ภาพลงวัสดุ, พรินเตอร์, คอมพิวเตอร์, แม่พิมพ์สำหรับพิมพ์วัสดุต่าง ๆ, หมึกพิมพ์พิเศษ หรือหมึกซับลิเมชั่น (Sublimation), วัสดุที่จะใช้พิมพ์, กระดาษซับหมึก, ถุงมือกันร้อน

ทุนเบื้องต้นธุรกิจนี้ ใช้ประมาณ 19,900 บาท ไปจนถึงประมาณ 59,000 บาทขึ้นไป ขึ้นกับขนาดธุรกิจ และชนิดเครื่องพิมพ์ที่ใช้ ส่วนทุนหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณลูกค้า หรือหากจะยกตัวอย่างกรณีพิมพ์ภาพลงเคสโทรศัพท์มือถือ ราคาพร้อมเคสตกประมาณ 450-990 บาท โดยมีต้นทุนเฉพาะค่าวัสดุที่ใช้พิมพ์ประมาณ 20% ขึ้นไป ยังไม่รวมค่าไฟ ค่าเสื่อราคาของเครื่อง และค่าดำเนินการ

ขั้นตอนการทำ การพิมพ์ภาพลงวัสดุต่าง ๆ มีขั้นตอนใกล้เคียงกัน จะแตกต่างก็ที่การใช้แม่พิมพ์สำหรับวางไว้ในเครื่องพิมพ์เท่านั้น จึงขอยกตัวอย่างการพิมพ์ภาพลงเคสโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เห็นหลักการขั้นตอนการทำคร่าว ๆ โดยการพิมพ์ภาพลงบนเคสโทรศัพท์มือถือก็เริ่มจากการคัดเลือกภาพที่ต้องการจะ พิมพ์ ทำการพรินต์ภาพที่จะพิมพ์ออกมาด้วยเครื่องพรินเตอร์ โดยระหว่างการพรินต์ภาพนั้นให้ทำการเปิดเครื่องพิมพ์ภาพเพื่อวอร์มเครื่อง ให้พร้อมสำหรับการพิมพ์

เมื่อได้ภาพที่จะพิมพ์มาแล้ว ให้นำมาทาบลงบนเคสโทรศัพท์มือถือ (หรือบนวัสดุอื่นที่ต้องการพิมพ์) จากนั้นนำเคสโทรศัพท์บรรจุลงในแม่พิมพ์ ตรวจความเรียบร้อย ทำการบรรจุลงเครื่องพิมพ์ ตั้งความ ร้อน จากนั้นทำการปิดฝา โดยขั้นตอนการพิมพ์นี้จะใช้เวลาประมาณ 4-10 นาทีเท่านั้น เมื่อครบกำหนดเวลา ก็ทำการเปิดฝาเครื่องพิมพ์ออก นำชิ้นงานมาสำรวจความเรียบร้อย เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำงาน

“จุดเด่นของธุรกิจนี้คือ สามารถทำได้ทั้งเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม สามารถเปิดหน้าร้านรับงาน หรือใช้บ้านเป็นที่ทำงานโดยอาศัยช่องทางการทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม เรียกว่าไม่ต้องมีหน้าร้านก็ทำธุรกิจได้” เป็นคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่กำลังมองหาลู่ทางทำธุรกิจ สำหรับผู้สนใจงานลักษณะนี้
 
ใครสนใจ ’ธุรกิจพิมพ์ภาพลงวัสดุ“ ต้องการติดต่อเจ้าของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ เลขที่ 49/255 หมู่บ้านดิสคอฟเวอรีบาหลี-ไฮ รังสิตคลอง 4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โทร. 0-2152-5275, 08-6629-6554 หรือลองเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กข้างต้น ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกธุรกิจน่าสนใจ ที่ทันสมัยอินเทรนด์ไปกับไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบัน.

http://www.dailynews.co.th/article/384/192264

Sunday, March 17, 2013

แนะนำอาชีพ “กุ้งสะเต๊ะสมุนไพร”

มูสะเต๊ะ เสียบไม้ย่างบนเตาร้อน ๆ ส่งกลิ่นหอมยั่วยวนน้ำลาย เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารว่างยอดนิยม กินได้ทุกเพศทุกวัย มีผู้ทำขายกันไม่น้อย จนมีการแข่งขันสูง จึงมีการพลิกแพลงสินค้าให้มีจุดขายที่แตกต่าง มีการเปลี่ยนวัตถุดิบจากหมูเป็นกุ้ง ทำเป็น “กุ้งสะเต๊ะ” ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับกุ้งสะเต๊ะมาให้ลองพิจารณากัน...
 
นฤมล ตัญญะ หรือ แหง๋ว เจ้าของร้าน “กุ้งสะเต๊ะ สูตรสมุนไพร” เล่าให้ฟังถึงที่มาของอาชีพนี้ว่า มีอาชีพหลักคือการเลี้ยงกุ้งขาวขาย แต่เมื่อ 6 ปีก่อนเกิดวิกฤติกุ้งราคาตก ขาดทุน จึงพยายามคิดหาทางออก พอดีช่วงนั้นตลาดน้ำบางคล้าเพิ่งจะเปิดใหม่ ๆ และด้วยเพราะครอบครัวช่างกิน และตนเองก็เป็นคนชอบทำอาหาร จึงมักจะศึกษาและฝึกทำอาหารจนเป็นนิสัยอยู่แล้ว ก็เกิดปิ๊งไอเดียอยากทำอาหารขาย โดยใช้วัตถุดิบที่มีมาแปรรูปพลิกแพลงให้เป็นสินค้าที่น่าสนใจ

“คิดทำอาหารขายหลายชนิด โดยใช้วัตถุดิบหลักคือกุ้ง เสร็จแล้วก็มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลตลาด ก็มีเงื่อนไขว่าอาหารที่นำมาขายซ้ำได้ไม่เกิน 3 อย่างต่อหนึ่งโป๊ะ แล้วก็มาลงตัวที่กุ้งสะเต๊ะ เพราะยังไม่มีขาย จากนั้นก็ศึกษาหาข้อมูล และสูตรจากผู้เชี่ยวชาญ แล้วมาลองฝึกทำทั้งกุ้งสะเต๊ะและหมูสะเต๊ะ ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะลงตัว พอทำออกขายแล้วเสียงตอบรับดีมาก ๆ ทั้งจากต่างชาติและคนไทย ก็ทำขายเรื่อยมา 5-6 ปี เรียกว่าเป็นรุ่นบุกเบิกตลาดน้ำบางคล้าก็  ว่าได้”

คุณแหง๋วบอกถึงเคล็ดลับความอร่อยให้ฟังว่า นอกจากกรรมวิธีในการหมักที่เป็นสูตรเฉพาะแล้ว การย่างก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเน้นเร่งไฟ เมื่อนำกุ้งหรือหมูที่หมักด้วยสมุนไพรมาย่างเนื้อจะนุ่มและหอมน่ากิน ถ้าใช้ไฟอ่อนจะกระด้าง ไม่อร่อย และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ต้องสดใหม่เสมอ เช่น ถั่วลิสง ต้องคั่วและตำเองทุกวัน น้ำส้มสายชูก็ต้องเป็นหัวน้ำส้มที่ได้รับการรับรองจาก อย. ส่วนพระเอกคือกุ้งขาว คัดไซซ์ขนาด 40 ตัว/กก. หรือ 50 ตัว/กก. ขึ้นอยู่กับช่วงการเลี้ยง”

อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ทำ ก็มี...เตาถ่าน-ตะแกรงย่าง, เตาแก๊ส, หม้อสเตนเลส, ถาด, กะละมัง, กระชอน, เขียง, เครื่องปั่นหรือครก, คีมคีบถ่าน, ไม้เสียบ, มีด, กล่องพลาสติก, ถุงพลาสติก, ใบตอง, ถ่าน และเครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

ส่วนผสมในการทำ หลัก ๆ ก็มี...กุ้งขาว สายพันธุ์ฟลอริดา, น้ำตาลทราย, ผงกะหรี่, หัวกะทิ, ข่าหั่นฝอย, ตะไคร้หั่นฝอย, ขมิ้นสด, ใบมะกรูด, รากผักชี และเกลือป่น

ขั้นตอนการทำ “กุ้งสะเต๊ะ” เริ่มจากเตรียมเครื่องหมักสมุนไพรก่อน นำเอาข่าหั่นฝอย ตะไคร้หั่นฝอย ผงกะหรี่ ขมิ้นสด รากผักชี เกลือ น้ำตาลทราย มาโขลกรวมกันหรือปั่นให้พอละเอียด ตั้งพักไว้ก่อน

กุ้งขาว ล้างสะอาด ปอกเปลือกออกให้หมด เหลือแต่หางไว้ (เพื่อความสวยงาม) แล้วนำกุ้งคลุกเคล้ากับเครื่องสมุนไพรที่เตรียมไว้ ใส่กะทิตามลงไปเคล้าให้ทั่ว ก่อนจะนำไปหมักพักไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา 20 นาที แล้วนำกุ้งมาเสียบไม้เรียงในถาด นำเข้าช่องแช่แข็ง เมื่อต้องการจะใช้ก็นำออกมาตั้งไว้สักครู่ให้คลายความเย็น ก่อนจะนำไปย่าง

การทำ “น้ำจิ้มสะเต๊ะ” ใช้กะทิ 5 กก. (แยกหัว-หาง) ต่อถั่วลิสงป่น (คั่วเอง) ใหม่ ๆ 1 กก., น้ำพริกหมูสะเต๊ะ 1/2 กก. (ใช้น้ำพริกแกงเผ็ด 3 ขีด ผสมน้ำพริกแกงมัสมั่น 2 ขีด), น้ำตาลปี๊บ 1.5 กก., น้ำปลา 120 ซีซี. และน้ำมะขามเปียก

วิธีทำน้ำจิ้ม...เคี่ยวหัวกะทิจนแตกมัน ใส่น้ำพริกแกงเผ็ดและน้ำพริกแกงมัสมั่นลงไปผัดให้หอม ใช้ไฟปานกลาง ใส่หางกะทิ ใส่ถั่วลิสงป่น ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา น้ำมะขามเปียก เคี่ยวจนแตกมันมีสีแดง เท่านี้ก็เป็นอันใช้ได้ อย่างไรก็ตาม น้ำจิ้มที่อร่อยต้องปรุงได้ครบรส ทั้งหวาน เค็ม เปรี้ยว มัน และเผ็ดเล็กน้อย

ส่วนผสมของ “อาจาด” ใช้น้ำตาลทราย 2 กก. ต่อน้ำส้มสายชู 1 ขวด, เกลือป่น 1 ขีด และแตงกวา พริกชี้ฟ้า หัวหอมแขก หั่นชิ้นเล็ก ๆ ตามขวาง วิธีทำอาจาด... นำน้ำตาลทราย น้ำส้มสายชู เกลือ ใส่หม้อตั้งไฟ คนให้ส่วนผสมเข้ากัน เคี่ยวไปจนน้ำอาจาดเข้มข้น จึงยกลงตั้งไว้ให้เย็น พักไว้ เมื่อจะรับประทาน จะขาย ก็นำแตงกวาหั่น พริกชี้ฟ้าหั่น หัวหอมซอย ใส่ภาชนะ ราดด้วยน้ำเชื่อมอาจาด จัดเป็นชุดพร้อมน้ำจิ้ม ขนมปังปิ้ง และกุ้งสะเต๊ะ

สำหรับราคาขาย “กุ้งสะเต๊ะ” และหมูสะเต๊ะ คุณแหง๋วจัดขายเป็นชุด ๆ ละ 60 บาท ชุดหมูสะเต๊ะมีหมู 15 ไม้ ถ้าเป็นกุ้งสะเต๊ะ ถ้ากุ้งไซซ์ขนาด 50 ตัว/กก. ใน 1 ชุดจะมีกุ้ง 8 ไม้ ขายพร้อมอาจาด น้ำจิ้ม และขนมปังปิ้ง
 
“กุ้งสะเต๊ะ” และหมูสะเต๊ะ สูตรสมุนไพร เจ้านี้ขายอยู่ที่โป๊ะ 3 ตลาดน้ำบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ทุกเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00-17.00 น. นอกจากนี้ยังรับออกร้านตามงานต่าง ๆ นอกสถานที่ด้วย โดยมีเบอร์ติดต่อคือ โทร.08-1949-6825, 08-1761-5121 ทั้งนี้ เรื่องการทำมาหากินนั้น หากขยัน ไม่ท้อเสียอย่าง โอกาสหรือ “ช่องทางทำกิน” ก็มีเสมอ.

http://www.dailynews.co.th/article/384/190941

Saturday, March 16, 2013

แนะนำอาชีพ “ข้าวแช่ชาววัง”


“ข้าวแช่ชาววัง” ยังทำเงินงามทุกฤดูร้อน

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม 2556 เวลา 00:00 น.
“ข้าวแช่” สูตรดั้งเดิมหาทานยาก เพราะการทำต้องพิถีพิถันมาก แต่นี่ก็ยิ่งกลายเป็นจุดเด่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมคอลัมน์ ’ช่องทางทำกิน“ ได้ไปร่วมงาน “เทศกาลข้าวแช่ชาววัง (เพชรบุรี)” โรงแรมเซรารีสอร์ท ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งงานจะมีไปจนถึงเดือน พ.ค. จึงเก็บสูตร ’ข้าวแช่ชาววัง“ มาฝาก เผื่อใครสนใจนำไปฝึกฝนเพื่อใช้ทำเงินกัน...

อัญญการ พุ่มพวง ผู้นำสูตรข้าวแช่ชาววังมาเผยแพร่ เล่าว่า เทศกาลข้าวแช่นี้จัดขึ้นเพื่อหวังให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักเมนูไทยดั้งเดิม เพิ่มขึ้น ทั้งยังช่วยสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยให้สืบต่อ เมนูข้าวแช่นั้นขึ้นชื่อเรื่องความละเอียดพิถีพิถัน ความสวยงาม และรสชาติเฉพาะตัว
  
สำหรับอุปกรณ์ในการทำข้าวแช่ หลัก ๆ ประกอบด้วย หม้อ, กระทะ, ซึ้ง, กระชอน, ผ้าขาวบาง เป็นต้น โดยทุนอุปกรณ์การทำข้าวแช่อยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป
  
ทุนวัตถุดิบ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50-70 บาท สำหรับข้าวแช่แบบเต็มเครื่อง 1 ชุด ที่ราคา 150-170 บาท แต่หากเป็นตามท้องตลาดทั่วไป ที่มีกับข้าวแช่ไม่กี่อย่าง ก็อาจขายในราคาชุดละ 50-70 บาท ต้นทุนก็ลดลงตามส่วน
อย่างไรก็ดี ข้าวแช่นั้นจะให้อร่อยต้องใช้ฝีมือ และเวลาในการทำ ซึ่งสามารถตั้งราคาขายได้สูง ถ้ารสชาติถึง และครบเครื่องจริง ๆ
  
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากทำส่วน “ข้าวแช่” โดยนำข้าวสารมาหุงด้วยน้ำมาก ๆ จนข้าวสุกเป็นไตแข็งในเมล็ด อย่างที่เรียกว่า “ตากบ” เมื่อได้ที่แล้วก็นำข้าวมาเทลงกระชอน ทิ้งให้สะเด็ดน้ำ นำไปแช่น้ำเย็น นำข้าวแช่ที่เป็นตากบมาทำการขัดข้าว ใช้มือสองข้างกอบข้าวขึ้นมาแล้วทำการสีกันไปมาบนตะแกรงจนเมล็ดข้าวขาว เกลี้ยงเกลา ให้ล้างน้ำไปเรื่อย ๆ จนเห็นว่าน้ำล้างใสดีแล้ว จึงเทข้าวเกลี่ยบนผ้าขาว นำไปนึ่งให้สุก
  
อีกส่วนคือการทำ “น้ำข้าวแช่” นำน้ำเปล่ามาอบด้วยเทียนควั่น, ดอกกระดังงา, ดอกมะลิ, ดอกชมนาด, ดอกกุหลาบมอญ ทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน นำน้ำที่อบหอมนี้ไปเก็บในโถกระเบื้องหรือหม้อดินมีฝาปิดสนิทเพิ่มกักเก็บ กลิ่นหอมไว้
  
การทำ “กับข้าวแช่” ถือว่าเป็นจุดเด่นของเมนูข้าวแช่ ซึ่งมีหลากหลายอย่าง สำหรับสูตรนี้มี ลูกกะปิทอด, พริกหยวกสอดไส้, ปลายี่สกผัดหวาน, หมูสับกับปลาเค็ม และเนื้อเค็มฝอย โดยมีขั้นตอนการทำ ดังนี้...
  
“ลูกกะปิทอด” ส่วนผสมประกอบด้วย กระชาย 7 ราก, ตะไคร้ 2 ต้น, ข่า 5 แว่น, ผิวมะกรูด 1ช้อนชา, รากผักชี 1 ช้อนชา, หอมแดง 9 หัว, กระเทียม 10 กลีบ, กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ, เนื้อปลาดุกย่าง 1 ตัว, ปลาฉลาดย่าง 2 ตัว, น้ำปลา และน้ำตาล อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ, ไข่ไก่ 3ฟอง, แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ วิธีทำ โขลกกระชาย ตะไคร้ ข่า ผิวมะกรูด รากผักชี หอมแดง กระเทียม ให้ละเอียด ใส่กะปิ เนื้อปลา โขลกให้เข้ากัน ผัดกับหัวกะทิในกระทะใบใหญ่ด้วยไฟอ่อน ๆ ให้หอม ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ผัดจนแห้ง ยกลง ทิ้งไว้ให้เย็น ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เล็ก ๆ ให้เท่ากัน พักไว้ ตอกไข่ใส่ภาชนะ ตีไข่ให้แตก ใส่แป้งคนให้เข้ากัน แล้วนำกะปิที่ปั้นไว้มาชุบ นำไปทอดให้เหลือง เป็นอันเสร็จ
  
“พริกหยวกสอดไส้” ใช้หมูสับ 500 กรัม, กุ้งสับ 10 ตัว, กระเทียมพริกไทยโขลกรวมกัน 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำปลา 1.5 ช้อนชา, ไข่ไก่ 5 ฟอง, พริกหยวก วิธีทำ คลุกเคล้าหมู กุ้ง กระเทียม พริกไทย ให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ตอกไข่ 1 ฟองลงผสม ปั้นเป็นแท่งยาว ทอดจนสุก นำไปใส่ในพริกหยวกคว้านไส้ นึ่งในซึ้งน้ำเดือด 5 นาที ทิ้งให้เย็น บีบน้ำออกให้หมด พักไว้ ตอกไข่ที่เหลือตีพอแตก ใช้มือชุบไข่โรยไปมาในกระทะที่ตั้งไฟอ่อน ใส่น้ำมันพอลื่น พอไข่สุกก็ลอกเป็นชิ้น ๆ ใช้ห่อพริกที่เตรียมไว้ให้รอบ

“ปลายี่สกผัดหวาน” ส่วนผสมประกอบด้วย เนื้อปลายี่สก, น้ำตาลทราย วิธีทำ นำเนื้อปลาผัดน้ำตาลจนเหนียวใช้ปลายส้อมตะกุยแบ่งเป็นคำ จะได้เนื้อปลาเป็นปุย อีกเทคนิคคือ ย่างให้สุกก่อนแล้วค่อยยีเนื้อ นำไปผัดให้เหนียวจนปั้นเป็นก้อนถึงจะอร่อย แต่อย่าผัดนานเกินไปเพราะจะแข็ง
  
“หมูสับกับปลาเค็ม” ส่วนผสมประกอบด้วย เนื้อหมูติดมันสับละเอียด, ปลาเค็ม, กระเทียม, ไข่ไก่ วิธีทำ นำเนื้อหมูมาคลุกผสมเนื้อปลาเค็มทอดสุกที่ยีเตรียมไว้ ใส่กระเทียมสับ ปรุงรสให้มีรสเค็มนำ แล้วปั้นเป็นก้อนเล็ก นำไปชุบไข่แล้วทอด
  
“เนื้อเค็มฝอย” นำเนื้อเค็มมาปิ้งให้สุก ฉีกเป็นฝอย นำไปผัดน้ำตาลจนแห้ง โรยด้วยหอมแดงเจียว ซึ่งคนที่ไม่ทานเนื้อวัวก็อาจเปลี่ยนเป็นทำหมูฝอยแทนก็ได้
  
“ข้าวแช่เป็นอาหารพิถีพิถัน ผู้ทานจะรู้สึกถึงความพิเศษ วิธีทานเริ่มจากนำข้าวใส่น้ำข้าวแช่ให้น้ำมากกว่าข้าว ใส่น้ำแข็งลงไปเล็กน้อย เมื่อตักกับข้าวใส่ปากจึงตักข้าวแช่ตาม จะได้รสชาติเย็นฉ่ำอร่อยกลมกล่อม” ผู้เผยแพร่สูตรข้าวแช่ชาววังแนะนำ

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสูตร ’ข้าวแช่ชาววัง“ ซึ่งใครสนใจไปชิมในงาน ’เทศกาลข้าวแช่ชาววัง (เพชรบุรี)“ โรงแรมเซรารีสอร์ท ชะอำ จ.เพชรบุรี สอบถามได้ที่ โทร. 0-3250-8545-6 ส่วนใครอยากลองทำขายเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ก็ลองนำสูตรไปฝึกฝนกัน  ถ้าฝึกทำได้อร่อยจริง ก็สามารถจะเป็นเมนูทำเงินสร้างรายได้ที่ดีในช่วงฤดูร้อนนี้ได้.


http://www.dailynews.co.th/article/384/190713

Sunday, March 10, 2013

แนะนำอาชีพ “ทำชุดมาสคอต”

“ชุดมาสคอต” ที่ตัดเป็นตัวการ์ตูน รูปสัตว์ หรือรูปคน ปัจจุบันมีการใช้กันแพร่หลาย เช่น ใช้เป็นสัญลักษณ์นำเสนอสินค้า เป็นสัญลักษณ์ของบริษัท ใช้ในวงการกีฬา หรือตามงานอีเวนต์ต่าง ๆ ซึ่งจากความนิยมใช้มาสคอต อาชีพหรือธุรกิจ “รับทำชุดมาสคอต” จึงกลายเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจในยุคนี้  และวันนี้ก็ลองมาดูกัน...
                              
เอ-ศุภฤกษ์ อริยกุล เป็นอีกผู้หนึ่งที่รับตัดรับทำ “ชุดมาสคอต” เจ้าตัวเล่าว่า โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบงานปั้น ทำโมเดล ม็อคอัพ งานหล่อไฟเบอร์ เรซิ่น ตอนแรกนั้นเริ่มจากการที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ ชอบหนังที่มีเอฟเฟกต์ จนได้มีการรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ฝึกหัดทำม็อคอัพเป็นรูปต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบภาพยนตร์ ซึ่งก็ใช้การเรียนรู้กันเองโดยดูจากหนังสือของต่างประเทศ แล้วก็ลองหัดทำ หลังจากที่พยายามฝึกปั้นทำม็อคอัพจนสามารถทำได้และมีความชำนาญมากขึ้น ต่อมาจึงตัดสินใจหันมารับทำงานทางด้านนี้โดยตรง และก็ทำมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน
  
ส่วนงานรับตัดชุดมาสคอตนั้น ก็ทำเพิ่มขึ้นมา โดยจุดเริ่มมาจากการที่มีลูกค้าจำนวนมากสอบถามว่ารับทำชุดมาสคอตด้วยหรือ เปล่า พอลูกค้าถามมาก ๆ ก็เกิดความสนใจ เห็นว่าการทำชุดมาสคอตก็ใช้ทักษะเดียวกันกับการทำม็อคอัพอยู่แล้ว จึงคิดว่าน่าจะลองทำดู และเริ่มศึกษา ซึ่งจากการที่พอจะมีพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว จึงไม่ยากที่จะฝึกฝนจนทำได้
  
การทำชุดมาสคอตนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ การปั้นขึ้นรูป การหล่อทำบล็อก และการตัดเย็บ ซึ่งผู้ที่คิดจะรับทำชุดมาสคอตควรที่จะมีพื้นฐานทางด้านการปั้นและพื้นฐาน ด้านการตัดเย็บชุดอยู่บ้าง เพราะจะทำให้เข้าใจและทำได้ง่ายขึ้น
  
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำชุดมาสคอต หลัก ๆ ก็มี ดินน้ำมัน หรือดินเหนียว, ปูนปลาสเตอร์, ผ้าขน (สำหรับใช้ทำตุ๊กตา), เรซิ่น, โฟม เป็นต้น นอกจากนั้นก็เป็นพวกเครื่องมือสำหรับการปั้น เครื่องมือสำหรับการตัดเย็บชุดดินน้ำมันที่ใช้ในการปั้น จะต้องเป็นดินน้ำมันที่มีการผสมให้ได้ดินที่เหมาะกับการปั้น โดยจะมีการผสมพาราฟินเพื่อทำให้ดินน้ำมันนั้นมีเนื้อแน่น และก็ผสมเทียนเหนียวเพื่อให้เนื้อดินน้ำมันนั้นนิ่ม ลื่น ง่ายต่อการปั้นขั้นตอนการทำชุดมาสคอต เริ่มจากนำแบบที่ลูกค้าสั่งมาทำการสเกตช์ภาพลงบนกระดาษเพื่อเป็นแบบในการทำ จากนั้นก็เริ่มทำจากส่วนหัวของชุด โดยนำเหล็กมาสร้างเป็นโครงหัวตัวการ์ตูนที่จะทำ หรือจะใช้โฟมมาตัดทำเป็นโครงก็ได้ โดยขนาดของส่วนหัวนั้นต้องทำให้ใหญ่ ให้กว้างประมาณเท่าไหล่ทั้งสองข้าง
      
ทำโครงเสร็จแล้วก็นำดินน้ำมันหรือดินเหนียวมาพอกลงบนโครงให้ทั่ว ให้หนาประมาณ 1 ซม. เพื่อไม่ให้มีน้ำหนักมากเกินไป เมื่อพอกดินจนรอบแล้วจากนั้นก็ทำการปั้นตกแต่งรูปทรงหน้าตาให้ได้ตามแบบตัว การ์ตูน พอปั้นเรียบร้อยแล้วก็มาถึงขั้นตอนการหล่อทำแบบพิมพ์ ใช้ปูนปลาสเตอร์เทพอกลงไปบนแบบที่ปั้นไว้จนทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จนปูนปลาสเตอร์แห้งสนิท จึงทำการแกะแบบพิมพ์ออกมา จากนั้นก็ใช้เรซิ่นเทหล่อลงไปในแบบพิมพ์ปูนปลาสเตอร์ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณครึ่งวันจนเรซิ่นแห้ง จึงแกะออกจากแบบพิมพ์ ทำการขัดตกแต่งส่วนที่ไม่มีผ้าปิด คือส่วนที่เป็นตา จมูก จากนั้นก็ทำสีตาและเจาะรูให้เรียบร้อย ถัดมาก็นำผ้าขนมาวางตามแพตเทิร์นแล้วตัดตามแบบ นำไปหุ้มติดส่วนหัวของตัวการ์ตูนโดยใช้กาวยางยึดติดให้แน่น เท่านี้ก็จะได้เป็นส่วนหัวของชุดมาสคอตต่อไปเป็นขั้นตอนการตัดเย็บส่วนที่ เป็นตัว ซึ่งจะทำเป็นชุดที่สวมใส่ได้ โดยวาดแพตเทิร์นตามแบบ จากนั้นก็ตัดแพตเทิร์นออกมาเย็บ โดยจะต้องใช้แพทเทิร์นด้านละ 2 ชิ้น เพราะจะต้องใส่ฟองน้ำไว้ตรงกลางด้วยเพื่อให้ชุดนั้นดูพอง ๆ เพื่อความน่ารักสวยงาม เมื่อได้แพทเทิร์นทุกส่วนแล้วก็เย็บประกอบเป็นชุดตามแบบ ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน
         
ราคาชุดมาสคอตของเอ มีตั้งแต่ชุดละ 18,000 บาท ไปจนถึง 25,000 บาท โดยมีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัสดุประมาณ 60-70% ของราคา ซึ่งราคาค่าผลิตชุดมาสคอตนี้ก็ขึ้นอยู่กับดีไซน์ ความละเอียดของชุด และวัสดุที่ใช้ทำ โดยชุดมาสคอตของเอมีการใช้วัสดุหลากหลาย ทั้งชุดผ้าขนสัตว์, หัวไฟเบอร์กลาส, หัวฟองน้ำ, ไฟเบอร์กลาสทั้งตัว, ชุดแบบที่เป็นยาง, ชุดแบบใส่กลไกขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ตา หู จมูก ปาก ได้ตามต้องการ
                           
สนใจ “ชุดมาสคอต” ของ เอ-ศุภฤกษ์ ต้องการติดต่อเจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ออฟฟิศอยู่ที่ บ้านเลขที่ 4/1469 ถนนนวมินทร์ ต.คลองกุ่ม อ.บึงกุ่ม กรุงเทพฯ หรือเข้าไปดูผลงานได้ที่ http://mascot.anubistfx.com และ http://www.facebook.com/anubistfx ส่วนเบอร์โทรศัพท์ติดต่อสอบถามคือ โทร. 08-1402-2344.

http://www.dailynews.co.th/article/384/189483

Saturday, March 9, 2013

แนะนำอาชีพ 'ต้นไม้ประดิษฐ์'

ต้นไม้ประดิษฐ์ งานศิลปะจากลำต้นของต้นไม้ สามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพได้ไม่แพ้งานประดิษฐ์อื่น ๆ เพียงแต่เปลี่ยนขนาดชิ้นงานใหญ่ขึ้น ฝึกฝนให้ชำนาญ ก็ทำให้เกิดรายได้ได้อย่างไม่ยากนัก ซึ่งวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพการทำการขาย “ต้นไม้ประดิษฐ์” รูปแบบหนึ่ง มานำเสนอให้ลองพิจารณากัน...
สัมฤทธิ์ ภูมีแกดำ หรือ คุณหนุ่ม วัย 46 ปี ชาวจังหวัดอุดรธานี เจ้าของงาน “ต้นไม้ประดิษฐ์” ที่จะมาดูกันในวันนี้ มีประสบการณ์ด้านนี้มานานกว่า 10 ปี เจ้าตัวเล่าว่า เดิมทำงานเป็นเซลส์ขายเสื้อผ้าแฟชั่นผู้ชายของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ จนเกิดความเหนื่อย จึงลาออกมาเป็นเซลส์ขายต้นไม้ประดิษฐ์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจเกิดปัญหาฟองสบู่แตก บริษัทที่ทำงานอยู่ปิดตัว แต่ก็ยังมียอดออร์เดอร์ลูกค้าที่ถืออยู่ในมือ ดังนั้น จึงตัดสินใจใช้เงินเก็บจำนวนหนึ่งซื้อวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ ลำต้นของต้นไม้ อุปกรณ์ช่างไม้ มาลงมือฝึกหัดทำด้วยตนเอง เพื่อส่งขายให้ลูกค้าที่สั่งซื้อ ซึ่งใช้เวลาฝึกราว 6 เดือนก็ทำได้ แต่จะให้ชำนาญต้องใช้เวลาเป็นปี

ต้นไม้ประดิษฐ์ที่ร้านนี้มีหลากหลายกว่า 200 ชนิด แต่ที่ได้รับความนิยมมากหน่อย คุณหนุ่มบอกว่า ก็มี ซากุระ, เมเปิล, ไผ่, ชาดัด, เส้นทางเงิน, ศุภโชค, ตะเพียนเงิน ซึ่งนิยมใช้ตกแต่งบ้านพัก อาคารสถานที่ โรงแรม ร้านอาหาร หมู่บ้าน ฯลฯ โดยในแต่ละยุคลูกค้าก็จะเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ และสภาพสังคม ซึ่งปัจจุบันลูกค้าที่มีมาเรื่อย ๆ ก็คือประเภทบ้านพักอาศัย จะมีมาเรื่อย ๆ ไม่ขาดสาย และบางครั้งก็มีลูกค้าห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ให้ไปตกแต่งสถานที่ให้

วัสดุที่ใช้ในการทำต้นไม้ประดิษฐ์ หลัก ๆ ก็มี ลำต้นของต้นไม้-กิ่งไม้ที่ผ่านการอบแห้งและฆ่าเชื้อ ปกติคุณหนุ่มจะใช้ต้นหว้า และไผ่รวก สั่งจากจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดเพชรบูรณ์ และใช้ใบไม้ประดิษฐ์รูปแบบต่าง ๆ จากจีน

อุปกรณ์ในการทำ หลัก ๆ ก็มี ค้อน, ตะปู, สว่าน, คีม, คัตเตอร์, กาว, ปากกาเมจิก ซึ่งส่วนมากก็เป็นอุปกรณ์ช่างไม้ทั่วไป ใช้เงินลงทุนอุปกรณ์ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป

วิธีทำ “ต้นไม้ประดิษฐ์” เริ่มจากนำไม้ไผ่รวก หรือต้นหว้า มาอบในเตาอบก่อน ด้วยอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เพื่อรีดเอาน้ำออก ซึ่งจะทำให้ผิวต้นไม้นั้นแห้งสนิท ใช้วิธีจ้างโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์อบให้ เสียค่าจ้างอบครั้งละ 3,000 บาท / น้ำหนักไม้ 250 กก. โดยไม้ขนาดใหญ่จะอบ 3 วัน แต่ถ้าเป็นไผ่จะอบ 2 วัน หรือบางชนิดอาจใช้เวลาอบเป็นสัปดาห์ก็มี

ไม่ควรสร้างโรงอบไม้เอง เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก ไม่คุ้ม

เมื่ออบไม้เสร็จแล้ว พักไม้ที่อบแล้วไว้ 1 คืนก่อน เพื่อช่วยลดความชื้น และเนื้อไม้จะแห้งสนิท เมื่อได้ไม้อบที่แห้งสนิทดีแล้ว ก็นำไม้นั้นมาใส่ยาฆ่าเชื้อ เสร็จแล้วนำไม้ไผ่ ต้นหว้า ไปย้อมสีตามแบบที่กำหนดไว้ การย้อมสีนั้นต้องใช้สีย้อมไม้เท่านั้น และต้องย้อมให้ดูเนียนสวยและคล้ายธรรมชาติของจริงมากที่สุด

เมื่อได้ไม้ที่ย้อมสีแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนออกแบบโครงสร้างต้นไม้ ที่จะต้องมีกิ่ง ก้าน ใบ โดยโครงสร้างต้นไม้นี้ อาจจะเขียนใส่กระดาษ หรือมีวาดภาพไว้ในใจก็ได้ จากนั้นก็สร้างต้นไม้ประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยการเจาะรูตามลำต้น ปักกิ่งไม้แล้วตอกตะปูลงไปให้ติด ทำแบบนี้จนกระทั่งได้โครงต้นไม้

ในขณะเดียวกัน ระหว่างที่สร้างโครงต้นไม้นั้นก็ต้องคิดไปด้วยว่าจะติดใบไม้หรือดอกไม้ตรง ไหนดี เมื่อทำโครงต้นไม้เสร็จแล้วก็เจาะรูตามกิ่งไม้อีกครั้งหนึ่ง แล้วนำก้านใบไม้ประดิษฐ์ไปจุ่มกาวยาง จากนั้นนำมาเสียบไปตามรูที่เจาะเอาไว้จนครบทุกจุดที่เจาะไว้ เท่านี้ก็จะได้ต้นไม้ประดิษฐ์ที่สมบูรณ์ทุกส่วนตามที่กำหนดไว้

คุณหนุ่มอธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุที่ใช้ต้นหว้า ซึ่งถือว่าเป็นไม้หลักในการทำต้นไม้ประดิษฐ์ ก็เพราะสามารถตกแต่งตามที่ดีไซน์ ตามที่วางรูปแบบไว้ได้เป็นอย่างดี และต้นหว้าก็เป็นต้นไม้ที่เนื้อไม้แข็ง เหมาะที่จะเจาะรูเพื่อติดใบไม้ ดอกไม้ ได้อย่างไม่ต้องกลัวผิวไม้จะแตก

คุณสมบัติของ “ต้นไม้ประดิษฐ์” ที่สำคัญคือ ต้องมีความคงทน ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายและดูแลรักษา มีความสวยงาม สามารถใช้ในการประดับตกแต่งภายในสถานที่ต่าง ๆ และงานสำคัญ ๆ ได้เป็นอย่างดี

ราคาขายต้นไม้ประดิษฐ์นั้น อยู่ที่ต้นละ 1,200-25,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด ชนิดของต้นไม้ และความยากง่ายในการทำ โดยมีต้นทุนในการทำอยู่ที่ประมาณ 50% ของราคาขาย

ใครสนใจ ’ต้นไม้ประดิษฐ์“ ต้องการติดต่อ คุณหนุ่ม-สัมฤทธิ์ ภูมีแกดำ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-7044-9559 ซึ่งนี่ก็เป็นกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ เกี่ยวกับงานประดิษฐ์ที่เลียนแบบธรรมชาติ ที่ทำเงินได้น่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/article/384/189163

Sunday, March 3, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ทองม้วนกรอบ’

ขนมโบราณมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง ทั้งยังมีชื่อเป็นมงคล อย่างเช่นขนมที่ขึ้นชื่อว่า “ทอง” ที่ใช้ในงานมงคลต่าง ๆ ซึ่งแม้กรรมวิธีการทำจะละเอียดอ่อน หลายขั้นตอน แต่ถ้าใครทำขนมไทยได้อร่อย ก็สามารถจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดี อย่าง “ทองม้วนกรอบสูตรโบราณ”  นี่ก็น่าสนใจ เพราะลงทุนไม่มาก...
                              
คุณซิ่ว–นัยนา กรดกางกั้น ผู้รับช่วงต่อร้านขนมปั้นขลิบและขนมทองม้วนกรอบคุณน้อย  เล่าให้ฟังถึงที่มาของอาชีพนี้ว่า ความจริงเธอมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท พอดีเจ้าของร้านคนเดิมคือ คุณน้อย ซึ่งเป็นญาติกัน เสียชีวิต เธอและแฟนจึงมารับช่วงกิจการร้านขนมนี้ต่อ เป็นเวลา 2 ปีมาแล้ว ซึ่งก็ถือเป็นธุรกิจเสริมที่ดีของครอบครัว  โดยปัจจุบันเธอก็ยังทำงานประจำเหมือนเดิม ส่วนแฟนจะเป็นผู้ดูแลทั้งการผลิตและการตลาดเป็นหลัก
  
“หลังคุณน้อยเสียชีวิต ภรรยาของคุณน้อยได้โทรศัพท์มาสอบถามว่าสนใจจะทำธุรกิจขนมหรือเปล่า ได้โอทอป 3 ดาวด้วยนะ ตอนแรกก็ปฏิเสธไปนะ เพราะมีอาชีพประจำอยู่แล้ว ส่วนแฟนก็ทำอาชีพอิสระ และที่สำคัญคือเราทำขนมไม่เป็น แต่ภรรยาคุณน้อยบอกว่ามีพนักงานมือโปรทำขนมประจำร้านอยู่หลายคน และพร้อมจะทำงานอยู่ที่ร้านต่อ จึงปรึกษากับแฟนว่าเอาไงดี แฟนบอกว่าอาชีพของเขาก็ไม่แน่นอน หากมีอาชีพทำขนมขายเป็นอาชีพเสริม หรือเป็นหลักอีกทาง ก็น่าจะดี ขนมร้านคุณน้อยก็ขึ้นชื่อและติดตลาดอยู่แล้ว ทั้งเรื่องรสชาติที่กลมกล่อมอร่อย หอมกรุ่น  กรอบ  หวานมันกำลังดี มีลูกค้าขาประจำไม่น้อย ลูกค้าขาจรก็กลายเป็นขาประจำเพิ่มเรื่อย ๆ จึงตัดสินใจที่จะเรียนรู้เพื่อรับช่วงร้าน”
  
การทำขนมทองม้วนกรอบสูตรโบราณ อุปกรณ์ที่ใช้หลัก ๆ ก็มี... เตาพิมพ์ไฟฟ้า หรือใช้เตาถ่าน ใช้พิมพ์ขนมทองม้วนสัก  2 ชุด (1 ชุด มี 2 พิมพ์ติดกัน), ไม้สำหรับม้วนทองม้วน เส้นผ่าศูนย์กลาง 1/2 นิ้ว ยาวประมาณ 7 นิ้ว 2 อัน, ถาด, มีดปลายแหลม (ไม่คม) ใช้แซะขนม, หม้อ, กระทะ และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบยืมเอาจากในครัวได้
  
วิธีการทำ เริ่มจากการเตรียมส่วนผสมก่อน ตามสูตรก็มี... แป้งสาลีร่อนแล้ว 1 กก., มะพร้าวขูดขาว 1 กก., ไข่ไก่เบอร์ 1 จำนวน 5 ฟอง, งาดำคั่ว, ผักชีสด 2 ขีด, น้ำตาลโตนด, เกลือป่น, น้ำมันสำหรับทาพิมพ์, น้ำสะอาด
  
ขั้นตอนการทำ “ขนมทองม้วนกรอบ” เริ่มจากนำมะพร้าวมาคั้นด้วยน้ำอุ่น 3 ถ้วย เพื่อให้ได้หัวกะทิ 5 ถ้วย ส่วนหางกะทิแยกเก็บไว้อีก 5 ถ้วย พักไว้นำแป้งสาลีมาร่อนประมาณ 2 ครั้ง แล้วทำการผสมกับน้ำตาลโตนดในอ่างผสมให้เข้ากันดี พักไว้ ตอกไข่ที่เตรียมไว้ใส่ชาม ตีให้เข้ากัน ใส่หัวกะทิ เกลือ คนผสมให้เข้ากัน จากนั้นจึงค่อยเทส่วนผสมกะทิลงไปในส่วนผสมแป้งที่เตรียมไว้ทีละน้อย ระหว่างนั้นก็คนให้เข้ากันดี ถ้าแป้งข้นเกินไป  ก็ค่อย ๆ เติมหางกะทิทีละน้อย ท้ายสุดก็ใส่งาดำคั่วถ้าทำเป็นแบบหวาน หรือใส่ผักชีหั่นถ้าทำเป็นแบบเค็ม

ขั้นต่อไป นำเตาพิมพ์ไฟฟ้ามาอุ่นให้ร้อน หรือถ้าเป็นเตาถ่านก็ตั้งพิมพ์บนเตาให้ร้อนก่อน แล้วทาน้ำมันบาง ๆ ให้ทั่วพิมพ์ทั้งสองด้าน ใช้ช้อนขนมหวานตักแป้งราดลงบนพิมพ์ขนม (ช้อนเดียวพอ) ทั้ง 4 พิมพ์ ปิดบีบพิมพ์ให้แน่น ทิ้งไว้สักครู่ ให้พอเหลือง ประมาณ 2 นาที แล้วจึงเปิดพิมพ์ ใช้ปลายมีดแซะขนมออกมา แล้วม้วนขนมด้วยไม้แท่งกลมในขณะที่ขนมยังร้อน ๆ อยู่  เพราะถ้าเย็นแล้วขนมจะแข็งกรอบ ม้วนไม่ได้

นอกจากม้วนทองม้วนด้วยไม้เป็นม้วนกลมแล้ว ยังสามารถดัดแปลงเป็นรูปกรวย พับเป็นสี่เหลี่ยม หรือลักษณะอื่น ๆ ได้ตามต้องการ จากนั้นก็ปล่อยให้ทองม้วนเย็นสนิท  แล้วบรรจุภาชนะที่มีฝาปิด หรือถุงพลาสติกผูกปากแน่น ๆ ก็ได้

“ก่อนจะตักแป้งใส่พิมพ์ ต้องรอให้พิมพ์ร้อนก่อนทุกครั้ง และต้องคนแป้งก่อนทุกครั้งด้วย เพราะแป้งที่ผสมไว้จะนอนก้น” ทางเจ้าของร้านบอกเคล็ดลับ
  
สำหรับการขายขนมทองม้วนกรอบสูตรโบราณ เจ้านี้จะขายเป็นแพ็ก ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ แพ็กเล็กมี 20 ชิ้น ราคา 35 บาท แพ็กกลาง 25 ชิ้น ราคา 50 บาท และแพ็กใหญ่ 30 ชิ้น ราคา 60 บาท
                              
 ใครสนใจ “ทองม้วนกรอบสูตรโบราณ” ร้านขนมปั้นขลิบและทองม้วน (กรอบ) โบราณคุณน้อย  ร้านนี้จะอยู่หลังตลาดเคหะทุ่งสองห้อง (ใกล้กับร้านเคหะแก๊ส) เลขที่ 329/62 เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง ถนนภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ หรือต้องการติดต่อเจ้าของ “ช่องทางทำกิน” รายนี้ทางโทรศัพท์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-6053-8854, 0-2573-7228.

วรัญญู เหมือนเดช : ภาพ
..................................  

คู่มือลงทุน...ทองม้วนกรอบ

ทุนอุปกรณ์     ประมาณ 10,000 บาท
ทุนวัตถุดิบ     ประมาณ 60% ของราคา
รายได้    ราคาขาย 35 บาท / 20 ชิ้น
แรงงาน    1 คนขึ้นไป
ตลาด    ขายเอง, ส่งขายร้านของฝาก
จุดน่าสนใจ    ขนมโบราณกินง่ายขายคล่อง

http://www.dailynews.co.th/article/384/187907

Friday, March 1, 2013

แนะนำอาชีพ "เคสมือถือแฟนซี"

งานประดิษฐ์ งานฝีมือ ที่เกี่ยวกับของใช้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ “โทรศัพท์มือถือ” ในปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคนช่างคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ทำออกมา ขายได้เรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะโทรศัพท์มือถือก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่อง ประดับ จึงไม่แปลกที่จะมีสินค้าที่เกี่ยวข้องในตลาดหลากหลายรูปแบบ อย่าง ’เคสโทรศัพท์มือถือแฟนซี“ นี่ก็เป็น ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ…
                                
“อารีนา ปิ่นมุข - อรุณโรจน์ บุญฉลอง” ผลิต “เคสโทรศัพท์มือถือแฟนซี” จำหน่าย โดยอรุณโรจน์เล่าว่า งานเคสโทรศัพท์มือถือที่ทำนี้เกิดจากการที่มองเห็นว่าปัจจุบันตลาดมีความ ต้องการสินค้าประเภทนี้มากขึ้น จึงมองว่าหากนำทักษะงานฝีมือที่มีอยู่มาประกอบเข้ากับลักษณะการใช้งานของ ลูกค้าในปัจจุบัน ก็น่าจะมีช่องทางในการทำตลาดได้ จึงคิดประดิษฐ์เป็นรูปแบบงานในสไตล์ของตัวเอง ที่เน้น “ตัวการ์ตูนสัตว์ประหลาด” หน้าตาน่ารักและเน้นสีสันที่สดใสเป็นหลัก จนออกมาเป็นสินค้าโดยใช้ชื่อว่า “ฟันนี่ มอนสเตอร์ (Funny Monster)” ซึ่งต่อยอดจากงานปลอกหมอนที่ทำอยู่เดิม ซึ่งนอกจากสินค้าจะอยู่ในหมวดเครื่องใช้แล้ว บางครั้งลูกค้าก็ยังซื้อเพื่อนำไปมอบแทนของขวัญหรือของที่ระลึกอีกด้วย
  
อรุณโรจน์บอกอีกว่า เนื่องจากไม่มีหน้าร้าน จึงจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ คือที่ www.chalongpillow.com และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/pages/Chalongหมอนอิง ซึ่งจุดเด่นชิ้นงานอยู่ที่การนำวัสดุหลายประเภทเข้ามาใช้ประกอบหลัก ๆ ก็เป็นผ้าตามด้วยพลาสติก, เชือก, ลูกไม้, กระดุม, ลูกปัด โดยนำเทคนิคทั้งงานปักลายผ้า และการปั้นซิลิโคนขึ้นรูป เข้ามาประกอบ เน้นองค์ประกอบตามสไตล์เฉพาะ คือเน้นที่สีสันสดใสและให้อารมณ์สนุกสนาน
  
“ที่ลูกค้าชอบมาก ๆ คือ ความแปลกที่ไม่ค่อยเหมือนของใคร รวมทั้งพยายามผลิตสินค้าให้มีความหลากหลายรูปแบบ หลากหลายแนว อาทิ แนวหวาน ๆ น่ารัก แนวร็อก ๆ แนวไทยดั้งเดิม นอกจากนี้การเลือกวัสดุก็เลือกใช้วัสดุที่มีความคงทน แม้จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ถือว่าเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้า”
  
ทุนเบื้องต้น ใช้เงินทุนอยู่ที่ประมาณ 7,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์และวัสดุ ส่วนทุนวัสดุต่อชิ้นอยู่ที่ประมาณ 40% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มต้นที่ 250 บาท ไปจนถึง 350 บาท
  
วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในงานทำเคสมือถือ อาทิ เคสเปล่าของโทรศัพท์รุ่นต่าง ๆ,  ตุ๊กตาพลาสติก, ลูกปัด, กระดุม, ลายผ้าปัก, คีมคีบลูกปัด, ถุงพลาสติก, ซิลิโคนสำเร็จรูป, หัวบีบซิลิโคน, กาว, เข็ม-ด้าย, กรรไกร, คัตเตอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งตามชอบ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายงานประดิษฐ์ทั่วไป  ราคาก็ขึ้นกับคุณภาพวัสดุที่ใช้
  
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบ อาจใช้วิธีวาดภาพร่างลงบนกระดาษหรือสเกตช์ภาพตำแหน่งของชิ้นงานไว้ก่อน เพื่อดูว่าองค์ประกอบที่วาดไว้นั้นสวยหรือเหมาะสมกันดีหรือไม่ เมื่อเลือกแบบที่ต้องการได้แล้วก็นำเคสโทรศัพท์มือถือเปล่าที่จะใช้มาจัดวาง จากนั้นเตรียมวัสดุหรือของตกแต่งที่เตรียมไว้มาจัดวางพร้อมลงมือทำ
  
เมื่อได้ของครบหมดแล้ว นำซิลิโคนมาใส่ลงในหัวบีบ จากนั้นทำการบีบซิลิโคนลงไปบนเคสโทรศัพท์มือถือในตำแหน่งที่ได้ทำการออกแบบ ไว้ ข้อควรระวังคือ อย่าให้ซิลิโคนพอกหรือหนาจนเกินไป
  
เมื่อบีบซิลิโคนลงบนตำแหน่งที่ต้องการแล้ว ก็นำวัสดุตกแต่งที่คัดเลือกไว้ มาจัดวางลงไปบนเคสโทรศัพท์มือถือตกแต่งจนพอใจ จากนั้นปล่อยให้ซิลิโคนเซตตัวหรือรอให้แห้งสนิท จึงสำรวจความเรียบร้อย หรือตกแต่งสีเพิ่มเติมด้วยสีตามชอบเป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ
  
“ขั้นตอนและรายละเอียดในการทำไม่ยุ่งยากซับซ้อน จุดสำคัญคงอยู่ที่เรื่องของการเลือกใช้วัสดุและการตกแต่งลวดลายต่าง ๆ มากกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับไอเดียของคนทำเป็นสำคัญ” อรุณโรจน์ กล่าวแนะนำ

ใครสนใจ ’เคสโทรศัพท์มือถือแฟนซี“ หากต้องการติดต่อเจ้าของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-0952-9914 และ 0-2943-1061 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นงานไอเดียที่ปรับตัว ปรับรูปแบบ เพื่อให้เหมาะกับตลาดสินค้าในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป.

http://www.dailynews.co.th/article/384/187654