Saturday, March 31, 2012

แนะนำอาชีพ "ข้าวตัง - เมี่ยงลาว"

เปิด 2 สูตร ข้าวตัง ทำตังค์ หน้าตั้ง - เมี่ยงลาว
ข้าวตัง” ของว่างไทย ๆ อยู่คู่คนไทยมานาน มีทั้ง “ข้าวตังหน้าตั้ง” “ข้าวตังเมี่ยงลาว” ซึ่งทำขายได้ทั้งแบบที่เป็นกิจจะลักษณะมีหน้าร้าน หรือจะเป็นลักษณะทำขายส่งจากที่บ้านก็ได้ ซึ่งรูปแบบหลังนี่ก็เหมาะกับการค้าขายในยุคปัจจุบัน เป็นการลดรายจ่ายในเรื่องภาระหน้าร้าน หรือเวลา ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” จะพาไปรู้จักการทำข้าวตัง 2 อย่าง คือ “ข้าวตังหน้าตั้ง” “ข้าวตังเมี่ยงลาว” ซึ่งเป็นการทำขายอยู่กับบ้าน และก็สามารถสร้างรายได้ได้ไม่น้อยเลย...

แหม่ม-ธิดา ตรีกุลรัตน์ ทำข้าวตังในชื่อ “ปิยภัค” ขาย เจ้าตัวเล่าว่า เพิ่งจะทำข้าวตังเมี่ยงลาว และข้าวตังหน้าตั้ง รวมทั้งน้ำกะทิทุเรียน ขนมจีบ ขายมาได้ 4-5 เดือน ก่อนหน้านั้นเปิดร้านขายอาหารมาก่อนแต่มีปัญหาเรื่องคนทำงาน จึงตัดสินใจปิด และทำของว่างดังกล่าวนี้ขายส่งตามร้านอาหาร และร้านขายขนม ซึ่งก็ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี จึงได้ทำขายมาตลอด ซึ่งที่เลือกทำข้าวตังขายด้วย ก็เพราะเห็นว่าเป็นขนมโบราณที่คนยังนิยม และเป็นสูตรที่เรียนรู้จากคุณแม่ที่ทำทานกันในบ้าน โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบทำอาหารอยู่แล้ว จึงหัดทำได้ไม่ยาก แต่กว่าจะได้ที่ก็ต้องลองผิดลองถูกอยู่นานเหมือนกัน ได้ที่แล้วก็ทำส่งร้านอาหารในละแวกหมู่บ้านก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับขยายออกไป

ในการทำนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นอุปกรณ์ในครัวเรือน อาทิ เตาแก๊ส กระทะทองเหลือง กะละมัง แล้วเครื่องใช้กระจุกกระจิก ถ้าหาซื้อใหม่หมดก็ประมาณ 10,000 บาท ถ้ามีในครัวอยู่แล้วก็หยิบมาใช้ได้เลย เป็นการประหยัดต้นทุน

เริ่มที่ “เมี่ยงลาว” ส่วนผสมที่สำคัญตามสูตรก็มี ไชโป๊หั่นฝอย 2 กก., ถั่วลิสงคั่ว 500 กรัม, น้ำตาลปี๊บ 500 กรัม, หอมแดงหั่นฝอย 500 กรัม, เนื้อหมูสับหยาบ 1 กก., ข่าตำละเอียด 50 กรัม, พริกไทยตำละเอียด 50 กรัม, รากผักชีตำละเอียด 50 กรัม และเกลือ 5 ช้อนชา

วิธีทำ ตั้งกระทะทองเหลือง ใช้ไฟร้อนปานกลาง ผัดเครื่องทุกอย่างเข้าด้วยกันจนแห้ง ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง เหตุที่ใช้กระทะทองเหลือง เพราะเวลาผัดส่วนผสมของไส้นั้นส่วนผสมทั้งหมดจะแห้งเร็ว และหอม และที่สำคัญก็จะไม่ติดกระทะ ผัดเสร็จแล้วก็พักไว้จนเย็น

วิธีห่อเมี่ยงลาว นำผักกาดดอง ใช้เฉพาะส่วนใบ มาลวกน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วบีบน้ำให้แห้ง ตัดให้ได้ขนาด 3x3 เซนติเมตร แผ่ใบออก ตักไส้เมี่ยงลาวลงบนใบผักกาดดอง 1 ช้อนชา จากนั้นห่อด้วยการพับใบจากด้านบนลงมา แล้วพับใบด้านข้างเข้ามาทั้งสองข้าง และพับใบด้านล่างขึ้นมาด้านบน ปิดให้เรียบร้อย เท่านี้ก็เรียบร้อย โดยที่ส่วนผสมของไส้ในปริมาณดังกล่าวจะห่อได้ 400 ห่อ เสร็จแล้วนำไปแพ็กคู่กับข้าวตังที่ทอดแล้ว

“ข้าวตังดิบ” ทำมาจากข้าวที่หุงสุกติดกระทะหรือหม้อ นำมาแซะออกให้เป็นแผ่นบาง ๆ ผึ่งแดดให้แห้ง ตัดเป็นแผ่น ๆ นำไปทอดให้พองฟู ข้าวตังในสมัยโบราณจะคดข้าวที่ติดก้นหม้อหรือกระทะมาใช้ แต่ปัจจุบันมีข้าวตังดิบสำเร็จรูปขายเป็นแผ่น ๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 2x2 นิ้ว ราคา กก.ละประมาณ 200 บาท

ในส่วนของการทอดข้าวตังดิบนั้น ธิดาบอกว่า จะทอดคราวละมาก ๆ โดยตั้งกระทะ ใส่น้ำมันท่วม ใช้ไฟแรง รอให้น้ำมันร้อน จากนั้นค่อย ๆ ใส่ข้าวตังลงไปทอด โดยรอให้ข้าวพองตัวขึ้นก็ใช้ได้ ตักขึ้นตั้งพักรอให้สะเด็ดน้ำมัน แล้วนำไปแพ็กรวมกับไส้เมี่ยงลาวได้เลย อย่างไรก็ตาม หากต้องทอดข้าวตังดิบต่ออีกชุดในกระทะเดิม ต้องหรี่ไฟให้อ่อนลง เพราะถ้าน้ำมันร้อนมากไป แล้วใช้ทอดข้าวตัง ข้าวตังรอบหลังอาจจะไหม้ได้

ต่อไป “หน้าตั้ง” มีส่วนผสมที่สำคัญตามสูตรคือ เนื้อหมูบด 1 กก., เนื้อกุ้งสับละเอียด 1 กก., หัวกะทิ 2 กก., หอมแดงสับละเอียด 300 กรัม, ถั่วลิสงป่น 300 กรัม, น้ำตาลปี๊บ 400 กรัม, พริกแห้งตำละเอียด 50 กรัม, เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ ตั้งหัวกะทิเคี่ยวไฟอ่อนกับพริก แดงตำละเอียด ใช้ไฟปานกลาง ใส่ถั่วลิสงป่น หอม แดง น้ำตาลปี๊บ เกลือ ชิมรสให้ออกหวาน เค็ม มัน และเผ็ดเล็กน้อย เคี่ยวจนเครื่องทั้งหมดเข้ากันดี เสร็จแล้วใส่หมูบดเคี่ยวต่อจนน้ำแกงซึมเข้าเนื้อหมู ต่อมาก็ใส่กุ้งสับละเอียด พอกุ้งสุกก็เป็นอันเสร็จ ตักขึ้นพักให้เย็น แล้วจึงนำไปแบ่งแพ็กคู่กับข้าวตังทอด

วิธีแพ็กข้าวตังเมี่ยงลาวและข้าวตังหน้าตั้ง ข้าวตังเมี่ยงลาว 1 ชุด ใส่ข้าวตังทอด 4 แผ่น เมี่ยงลาว 6 ห่อ ราคาขายชุดละ 25-30 บาท ข้าวตังหน้าตั้ง 1 ชุดใส่ข้าวตังทอด 4 แผ่น ส่วนหน้าตั้งตักใส่ถ้วยพลาสติกขนาด 3 ออนซ์ ประมาณ 2 ตะบวยครึ่ง (ตะบวยเล็ก) ราคาขาย 25-30 บาทต่อชุดเช่นเดียวกัน โดยมีต้นทุนเฉพาะวัตถุดิบต่อชุดประมาณ 15 บาท

ใครสนใจ “ข้าวตังเมี่ยงลาว” “ข้าวตังหน้าตั้ง” ต้องการติดต่อ แหม่ม-ธิดา ตรีกุลรัตน์ ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1297-4452, 08-6900-9100 ใครสนใจฝึกทำ จากสูตรที่ว่ามาข้างต้นก็ลองนำไปฝึกฝนทำดู บางทีอาจจะได้ “ช่องทางทำกิน” เป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพใหม่ที่ทำเงินได้ดีกว่าเดิม โดยที่เป็นการทำอยู่กับบ้านแล้วขายส่ง ก็ได้.

http://www.dailynews.co.th/article/384/19954

Friday, March 30, 2012

แนะนำอาชีพ"เลี้ยงปูนิ่มขาย"

ปูนิ่ม” เลี้ยงง่าย ราคาดี จึงเป็นอีกหนึ่ง ’ช่องทางทำกิน“ ที่สร้างความมั่นคงให้กับผู้ลงทุนทำได้ อย่างไรก็ตาม การจะประสบความสำเร็จได้ ก็จำเป็นต้องศึกษาวิธีการเลี้ยงให้เข้าใจถ่องแท้ ซึ่งจากการที่ทีม “ช่องทางทำกิน” ร่วมคณะของ ธ.ก.ส.-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ลงไปดูงานด้านการประกอบอาชีพภาคเกษตรที่ภาคใต้ ก็มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลวิธีการ กระบวนการ ’เลี้ยงปูนิ่ม“ ขาย วันนี้จึงนำมาเสนอให้ได้ลองพิจารณากัน...

ไผ่-วิชญุตธ์ สารวัลภ์ เจ้าของบ่อเลี้ยงปูนิ่ม ที่ ต.วิสัยใต้ อ.เมือง จ.ชุมพร เล่าให้ฟังว่า ที่บ้านนั้นเมื่อก่อนเลี้ยงกุ้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหยุดเลี้ยง แล้วก็ปล่อยบ่อทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จนกรมประมงเข้ามาส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปูนิ่มแทนการเลี้ยงกุ้งในบ่อเลี้ยงกุ้งเดิม โดยจะลงทุนให้ในครั้งแรก ทั้งต่อแพเลี้ยงและเอาพันธุ์ปูมาลงให้ จึงสนใจ

“เกิดความสนใจ เพราะดีกว่าปล่อยบ่อทิ้งไว้เฉย ๆ เริ่มเลี้ยงครั้งแรกก็ลงเลี้ยงปู 600 ตัว เมื่อเลี้ยงแล้วไปได้ด้วยดี ก็เริ่มขยายกิจการออกไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้ก็เลี้ยงปูนิ่มอยู่ประมาณ 5,000 ตัว” ไผ่บอก และว่า การเลี้ยงปูนิ่มนั้นไม่ยาก อยู่ที่ความขยันและตั้งใจ การเริ่มเลี้ยงปูนิ่มก็เริ่มจากเลือกทำเลในการเลี้ยงก่อน จะต้องเป็นบริเวณชายฝั่งหรือปากแม่น้ำ ที่สามารถนำน้ำเข้าบ่อได้ง่ายและน้ำหมุนเวียนได้สะดวก ซึ่งบ่อเลี้ยงกุ้งที่เป็นบ่อดินนั้นสามารถใช้เป็นบ่อเลี้ยงปูนิ่มได้

การเลี้ยงปูนิ่มในบ่อดินเป็นที่นิยม เพราะบ่อดินนั้นปูจะลอกคราบได้ดี ส่วนเรื่องของน้ำที่ใช้เลี้ยงปูนิ่มนั้น จำเป็นที่จะต้องดูแลให้อยู่ในค่าที่พอดี คือต้องมีค่าความเค็มอยู่ที่ 10-30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10-30 ppt

สำหรับบ่อเลี้ยง และแพรองรับตะกร้าเลี้ยงปู ในส่วนของบ่อเลี้ยงนั้นจะสร้างลักษณะคล้ายบ่อเลี้ยงกุ้ง มีความลึกประมาณ 2 เมตร มีประตูสำหรับระบายน้ำเข้า-ออก 2 ประตู หรือประตูเดียวก็ได้ บริเวณกลางบ่อทำทางเดินไม้พร้อมหลังคาคลุมกันแดดพาดระหว่างคันบ่อ สำหรับไว้เดินให้อาหารปู ตรวจสอบ และเก็บปู

ส่วนการสร้างแพรองรับตะกร้า ใช้ท่อพีวีซีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-2 นิ้ว มาต่อกันเป็นแพ ยาว 10-20 เมตร มีจำนวน 4 ช่อง ใช้ไม้ไผ่วางพาดขวางยึดท่อให้มีระยะห่างพอดีเพื่อรองรับตะกร้าที่ใช้บรรจุปู โดยตะกร้าที่ใช้เลี้ยงปูนั้น จะมีความกว้าง 22.6 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร สูง 16.1 เซนติเมตร โดยจะใส่ปู 1 ตัว ต่อ 1 ตะกร้า

แพสำหรับเลี้ยงปูนิ่ม ต้องเคลื่อนที่ไปมาได้โดยการดึงเชือกที่ผูกยึดกับแพ โดยแพขนาด 10-20 เมตร เลี้ยงปูนิ่มได้ประมาณ 300-400 ตัว ส่วนค่าใช้จ่ายในการต่อแพ 1 แพ จะประมาณ 2,000-3,000 บาท การเลี้ยงปูนิ่มในตะกร้า ต่อ 1 แพ ที่เลี้ยงปูประมาณ 300-400 ตัว จะลงทุนค่าพันธุ์ปูประมาณ 3,000-4,000 บาท พันธุ์ปูที่ใช้เลี้ยงจะใช้เป็นพันธุ์ปูดำที่มีขนาดตัวประมาณ 6.0-7.5 เซนติเมตร หรือประมาณ 10 ตัวต่อกิโลกรัม จะต้องเป็นปูที่มีสภาพแข็งแรงสมบูรณ์ มีอวัยวะครบสมบูรณ์ ปูจึงจะโตเร็ว เก็บผลผลิตขายได้เร็ว พันธุ์ปูนั้นไผ่ซื้อจากจังหวัดระนองในราคากิโลกรัมละประมาณ 100 บาท

การปล่อยปูลงเลี้ยงในตะกร้า ก่อนที่จะปล่อยจะต้องทำการปรับสภาพของปูให้เข้ากับแหล่งน้ำที่จะเลี้ยงก่อน โดยการใช้น้ำในบ่อที่ใช้เลี้ยงรดบนตัวปูให้ชุ่ม จากนั้นจึงค่อยตัดเชือกที่มัดก้ามออกแล้วปล่อยลงตะกร้า ตะกร้าที่ใช้เลี้ยงจะต้องใช้ตะกร้า 2 ใบประกบกันบน-ล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ปูหนีออกไปได้ โดยตะกร้าด้านบนทำรูไว้สำหรับให้อาหาร

หลังจากปล่อยปูลงเลี้ยงในตะกร้าแล้ว จะต้องเริ่มตรวจปูลอกคราบในวันถัดไป เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 25 วัน ปูจะเริ่มลอกคราบ และจะลอกคราบหมดประมาณ 3 เดือน การตรวจและเก็บปูนิ่มจะดูทุก 4 ชั่วโมง เพราะถ้าปูลอกคราบไปแล้วประมาณ 6 ชั่วโมง กระดองจะเริ่มแข็ง ไม่สามารถจำหน่ายได้ และกว่าปูจะลอกคราบอีกครั้งต้องรออีกราว 45 วันปูที่เลี้ยงนี้ เมื่อครบ 3 เดือน หรือปูไม่สามารถลอกคราบได้แล้ว ปูนั้นก็จะตาย ซึ่งสามารถเก็บขึ้นมาขายได้ในราคากิโลกรัมละประมาณ 40-50 บาท แต่จะต้องรีบเก็บมาแช่แข็งภายใน 4 ชั่วโมง

การตรวจเก็บปูนิ่ม จะสังเกตจากตะกร้าใดมีปูอยู่ 2 ตัว แสดงว่าปูลอกคราบ ต้องรีบทำการเก็บทันที เมื่อเก็บปูนิ่มมาแล้วให้นำไปแช่ในน้ำจืดที่สะอาดประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้ความเค็มลดลง จากนั้นนำไปใส่ภาชนะบรรจุเก็บไว้ในตู้แช่เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 18 องศาเซลเซียส เพื่อให้คงความสดไว้รอจำหน่าย และสามารถรักษาไว้ได้นานถึง 2-3 เดือน

สำหรับการดูแลให้อาหารปูนิ่มที่เลี้ยง จะต้องให้อาหารทุก ๆ 2 วัน อาหารที่ให้จะเป็นปลาเบญจพรรณ (ปลาเป็ด) ที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 1-2 นิ้ว ให้ตัวละ 1 ชิ้น ไม่ควรให้อาหารปูที่เลี้ยงเยอะเกินไป เนื่องจากจะทำให้ปูนั้นอ้วนเกินและจะไม่ลอกคราบ หรืออาจทำให้ปูตายได้ด้วย โดยค่าอาหารจะตกเดือนละประมาณ 250-300 บาท ต่อ 1 แพ

“การเก็บปูนิ่มนั้นสามารถเก็บได้ทุกวัน โดยที่บ่อของเราก็สามารถเก็บได้วันละประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งปูนิ่มนั้นขายได้กิโลกรัมละประมาณ 200 บาท” เจ้าของบ่อเลี้ยงปูนิ่มรายนี้กล่าว และยังบอกด้วยว่า ช่องทางในการจำหน่ายปูนิ่มนั้นส่วนใหญ่จะส่งขายให้กับร้านอาหารและคนที่เข้ามารับซื้อที่บ่อ และบ่อดินที่ใช้เลี้ยงปูนิ่มนั้นยังสามารถปล่อยปลากะพงลงไปเลี้ยงได้ด้วยซึ่งก็จะได้รายได้จากการจับปลากะพงขายอีกทางหนึ่งด้วย

บ่อ ’เลี้ยงปูนิ่ม“ ของ ไผ่-วิชญุตธ์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ต.วิสัยใต้ อ.เมือง จ.ชุมพร ถ้าใครสนใจอยากศึกษาวิธีการ ขั้นตอนกระบวนการเลี้ยงปูนิ่ม หรือต้องการสั่งปูนิ่ม ลองโทรศัพท์ไปพูดคุยกับไผ่ได้ที่ โทร. 08-4889-9085 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่ง ’ช่องทางทำกิน“ ภาคการเกษตร ที่ทางทีมงานเราไปพบเจอมาระหว่างที่ร่วมคณะไปกับ ธ.ก.ส. หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนไทยด้านการเกษตร ก็นำมาฝากไว้ให้ได้ลองพิจารณากัน.

http://www.dailynews.co.th/article/384/19764

Saturday, March 24, 2012

แนะนำอาชีพ “ถ้วยฟูสมุนไพร”

แม้ “ขนมถ้วยฟู” จะเป็นขนมธรรมดาที่มีมาแต่โบราณ และยุคนี้ก็ยังหารับประทานได้ไม่ยาก แต่ผู้ประกอบการขายขนมรายนี้ก็ใช้ขนมถ้วยฟูนี้สร้างรายได้ได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการสืบสานคุณค่าต่อยอดภูมิปัญญารุ่นต่อรุ่น พัฒนาสูตรเป็น “ขนมถ้วยฟูสมุนไพร” จนขนมถ้วยฟูกลายเป็นสินค้าโอทอปที่มีชื่อเสียง เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” กรณีศึกษาน่าสน...

ป้อ-ฐาปนี กิจแก้วมรกต และ บีม-ภาคภูมิ เพียรรัตน์พิมล คู่รักหนุ่มสาว เป็นผู้รับช่วงของบ้านขนมมรกต จ.สระแก้ว โดยป้อเล่าให้ฟังว่า สูตรขนมถ้วยฟูสมุนไพร เป็นสูตรของอาม่า คุณแม่เป็นคนนำมาสืบทอดพัฒนาปรับปรุงสูตรให้แตกต่างจากสูตรโบราณ ใช้สีต่าง ๆ ที่มาจากธรรมชาติ และใส่กะทิลงไปเพื่อเพิ่มความหอมมันอร่อย แต่ยังคงความเหนียวนุ่มและรสชาติกลมกล่อมของความเป็นโบราณอยู่ นี่เป็นขนมงานมงคล ช่วงเทศกาลงานบุญจะมีออร์เดอร์มาก

“ป้อเรียนจบการโรงแรม เช่นเดียวกับบีม ทำงานหาประสบการณ์อยู่หลายเดือน ก็ไม่ชอบ ไม่อิสระ แถมเงินเดือนที่ได้ก็นิดเดียว คุณแม่เลยแนะนำว่าให้ลองทำขนมขายมั้ย เพราะมันเป็นธุรกิจของเราเอง เป็นเจ้านายตัวเอง ได้เงินดี อยากหยุดวันไหนก็หยุดได้ ตั้งแต่เล็กจนโตป้อก็อยู่กับขนมถ้วยฟูมาตลอด เรียกว่าเราทำเป็นทุกกระบวนการ อีกทั้งส่วนตัวก็ชอบขายของ ก็เลยสนใจอยากจะมาขยายสาขาที่กรุงเทพฯ เพราะคุณแม่มีลูกค้าที่กรุงเทพฯ อยู่แล้ว ส่วนแฟนก็มีความคิดเหมือนกัน จึงออกจากงานมาช่วยกันทำขนมขาย มาต่อยอดขนมถ้วยฟูสมุนไพร”

บีมเสริมว่า ขนมถ้วยฟูที่ทำขายนั้น ไม่ได้ทำประชาสัมพันธ์อะไรเลย อาศัยการบอกต่อของลูกค้า ซึ่งก็คิดว่าสิ่งที่ทำให้ลูกค้าซื้อขนมจำนวนมากคือรสชาติที่กลมกล่อม อร่อยแตกต่างจากเจ้าอื่น ใช้วัตถุดิบที่คัดคุณภาพดี โดยใช้แป้งสดโม่เองทุกวัน ใช้สีธรรมชาติ ไม่ใส่สารกันบูดและไม่ใส่ผงฟู จะทำแป้งเชื้อข้าวหมากเอง ขนมจะอร่อยเหนียวนุ่ม

ขนมถ้วยฟูสีขาวจะเป็นสูตรโบราณที่ไม่ใส่สี ส่วนขนมสีชมพูสีที่ใช้ได้จากเปลือกไม้ฝาง, สีเหลืองได้จากเนื้อตาล, สีม่วงได้จากดอกอัญชัน, สีเขียวได้จากใบเตยหอม

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำขนมถ้วยฟู หลัก ๆ ก็มี... เตาแก๊สสำหรับนึ่งขนม, ลังถึงขนาดใหญ่, เครื่องโม่แป้งไฟฟ้า, หม้อหลายขนาด, ถาด, กะละมัง, กระบวย, ผ้าขาวบาง, ทัพพี, ถ้วยตะไลใบเล็ก, กระด้ง เป็นต้น

ส่วนผสมในการทำ “ขนมถ้วยฟูสมุนไพร” ตามสูตรนี้ก็มี ข้าวสารคัดพิเศษ, น้ำตาลทราย, หัวกะทิสด, แป้งเชื้อข้าวหมาก, น้ำลอยดอกมะลิสด, เทียนอบขนม และเนื้อตาลยีเรียบร้อยแล้ว น้ำใบเตยหอมคั้นเข้มข้น น้ำดอกอัญชันคั้นเข้มข้น เปลือกไม้ฝาง สำหรับใช้แต่งสีขนม

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำข้าวสารมาซาวล้าง นำขึ้นใส่ภาชนะ ใส่น้ำสะอาดให้ท่วมแช่ทิ้งไว้ค้างคืน จากนั้นจึงนำไปโม่ แล้วตั้งทิ้งไว้ให้แป้งตกตะกอน รินน้ำใส ๆ ข้างบนทิ้ง เทน้ำแป้งใส่ถุงแป้ง ทับน้ำให้แป้งแห้งพอหมาด ๆ ก็จะได้ก้อนแป้งข้าวเจ้าสด พักไว้ นำน้ำกะทิมาผสมกับน้ำตาลทรายตั้งไฟพอละลาย ยกลงกรองด้วยผ้าขาวบาง แล้วนำขึ้นตั้งไฟอีกสักครู่ ยกลงตั้งพักไว้ให้เย็น ระหว่างนั้นนำแป้งเชื้อข้าวหมากมาบดละเอียด แล้วนวดผสมกับแป้งข้าวเจ้าสดที่ทำไว้ และนวดผสมเข้ากับน้ำหัวกะทิทีละน้อยจนนุ่มมือและเนียนเข้ากันดี จึงเติมกะทิที่เหลือทั้งหมดเพื่อเป็นการคลายตัวเนื้อแป้งขั้นต่อไป จัดแบ่งแป้งเป็นส่วน ๆ ตามจำนวนสีที่จะใช้ ใส่สีแต่ละสีตามแป้งแต่ละส่วน นวดให้สีผสมกลมกลืนกับเนื้อแป้งเชื้อ จากนั้นก็นำแป้งที่นวดผสมเสร็จแล้วเทใส่ภาชนะที่มีฝาปิด นำไปตั้งพักไว้ในที่ที่มีแดดส่องหรือที่อุ่น ๆ ประมาณ 4-5 ชั่วโมง เพื่อรอให้แป้งขึ้นตัว ทั้งนี้ การทำขนมถ้วยฟูแบบโบราณต้องใจเย็น ๆ ต้องรอจนแป้งขึ้น จนเป็นฟองปุด ๆ (ขนมถ้วยฟูสมัยใหม่จะย่นย่อเวลาหมักแป้งด้วยการใส่ผงฟูบ้าง ยีสต์บ้าง)

เตรียมลังถึงสำหรับนึ่ง ใส่น้ำประมาณ 3/4 ของลังถึง ตั้งไฟให้น้ำเดือด นำลงมาเรียงถ้วยตะไลให้ระยะห่างพอดี อย่าให้เบียด มิฉะนั้นขนมจะไม่สวย ต้องให้ไอน้ำขึ้นมาในลังถึงได้ทั่ว ยกขึ้นตั้งไฟให้น้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีให้ถ้วยร้อน จากนั้นจึงยกลงเพื่อจะนำส่วนผสมแป้งที่ได้ที่ดีแล้วใส่ถ้วย โดยใช้ทัพพีคนแป้งเบา ๆ ตักใส่กระบวยหยอดใส่ถ้วยตะไลเกือบเต็ม ก่อนจะวางเรียงบนลังถึง นำขึ้นนึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 5 นาที แล้วลดไฟลงนึ่งต่ออีก 10 นาที ขนมจะสุกพอดี ยกลง นำถ้วยขนมแช่ในภาชนะที่มีน้ำเย็นเพื่อสะดวกต่อการแคะ ขนมจะออกมาหน้าตาสวยงามน่ารับประทาน

ป้อและบีมร่วมกันบอกว่า ความอร่อยของขนมถ้วยฟูอยู่ที่ความสดใหม่ ความนุ่มเหนียวของเนื้อขนม กลิ่นหอม และรสชาติที่กลมกล่อม โดย “ขนมถ้วยฟูสมุนไพร” เจ้านี้ จะจัดขายเป็นกล่อง กล่องหนึ่งมี 10 ถ้วย ราคา 25 บาท โดยมีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 50% ของราคา

บ้านขนมมรกต อยู่ที่ซอยอุดมโชค (บางศรีเมือง 18) จ.นนทบุรี นอกจากขนมถ้วยฟูแล้วก็ยังมีขนมน้ำดอกไม้ด้วย โดยตั้งโต๊ะขายอยู่ที่ท่าน้ำนนท์ใกล้ร้านเกาเหลาติดป้ายรถเมล์ตั้งแต่เช้าถึงบ่าย และวันพฤหัสฯจะมีขายที่กรมป่าไม้ วันศุกร์มีขายที่กรมประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงรับสั่งทำ-รับสั่งทำขายส่งด้วย โดยต้องสั่งล่วงหน้า 1 วัน ซึ่งใครต้องการติดต่อป้อและบีมก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-8185-3650 และ 08-8092-1898 ทั้งนี้ ยุคนี้เป็นยุคที่ขนมอนุรักษ์ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ซึ่งก็รวมถึงขนมถ้วยฟู และยิ่งมีการพัฒนาต่อยอด ก็สามารถจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ไม่ธรรมดาได้.

http://www.dailynews.co.th/article/384/18779

Friday, March 23, 2012

แนะนำอาชีพ ‘งานผ้าสักหลาด’

งานผ้ากับสินค้าประดิษฐ์ เป็นอีกแนวอาชีพที่สามารถผลิตและมีตลาดเปิดกว้างเสมอสำหรับผู้ที่มีไอเดียและมีฝีมือ ตลาดยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สามารถจะเปลี่ยนจากการผลิตเป็นงานอดิเรกพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ อย่างเช่น ’งานประดิษฐ์จากผ้าสักหลาด“ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้...

“อรทัย ดานาดแก้ว” เล่าว่า เริ่มทำงานประดิษฐ์จากผ้าสักหลาดมาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนไม่จบ โดยอาศัยขายตามงานแสดงสินค้าและงานฝีมือต่าง ๆ ที่เปิดให้นักศึกษาและคนทั่วไปได้วางสินค้าจำหน่าย ต่อมาเมื่อเรียนจบแล้วก็คิดว่าน่าจะสานงานนี้ต่อเพื่อทำเป็นอาชีพหลัก เพราะมองว่าตลาดสินค้างานฝีมือประเภทนี้มีโอกาสที่จะขยายและเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสอดรับกับการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่มีเพิ่มมากขึ้น สอดรับกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ซึ่งตลาดสินค้ากลุ่มหลังนี้ยังไม่ค่อยมีสินค้าที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ตกแต่ง หรือถึงมีก็มักจะมีราคาที่แพง จึงคิดว่าสินค้างานฝีมือของตนที่ทำขึ้นนี้น่าจะสามารถเจาะตลาดลูกค้าในกลุ่มนี้ได้

“ตอนเรียนมีวิชาที่ต้องเขียนแผนธุรกิจ พบว่าแนวโน้มของสินค้ากระจุกกระจิกที่เกี่ยวเนื่องกับโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตน่าจะมีแนวโน้มการใช้งานสูงขึ้น ตลาดสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ซองโทรศัพท์ กระเป๋าสำหรับใส่มือถือ น่าจะเป็นสินค้าที่มีการเติบโตได้ จึงตัดสินใจว่าจะลงทุนทำงานฝีมือตัวนี้” อรทัยกล่าว

จากที่เริ่มผลิตสินค้าจำหน่ายเป็นงานอดิเรกยามว่างจากการเรียน จนมาถึงผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายแบบเต็มตัวหลังเรียนจบ รวมแล้วก็กินระยะเวลากว่า 3 ปี ทำให้มีความชำนาญเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสินค้าผลิตขึ้นโดยใช้ชื่อ Lovely Bunny มีหลากหลายประเภท อาทิ กระเป๋าใส่โทรศัพท์มือถือ, ซองผ้าใส่แท็บเล็ต, แม็กเน็ตติดตู้เย็น, พวงกุญแจ, ซองเก็บพวงกุญแจ, ที่ห้อยโทรศัพท์มือถือ, กระเป๋าสตางค์ โดยสินค้าจะใช้วัสดุหลักคือ ’ผ้าสักหลาด“ เป็นจุดเด่น

ในแง่การขาย เนื่องจากยังไม่มีหน้าร้านประจำ จะอาศัยขายตามงานแสดงสินค้าและตามตลาดนัดทั่วไป และเปิดหน้าเว็บไซต์ http://lovelybunny.weloveshopping.com สำหรับลูกค้าที่ต้องการชมผลงาน ข้อดีของการขายแบบนี้คือลงทุนไม่สูง แต่ก็จำเป็นต้องเพิ่มในเรื่องของการออกแบบให้สินค้ามีจุดเด่น เพื่อสร้างจุดแข็งให้เป็นจุดขายสำหรับสินค้า

นอกจากรูปแบบที่เน้นตัวการ์ตูนและรูปแบบน่ารัก ๆ แล้ว ในเรื่องความแข็งแรงทนทานก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าซ้ำ ทั้งยังมีในเรื่องรายละเอียดที่เกี่ยวกับการตั้งราคาขายสินค้า ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้นด้วย

“การตั้งราคาขายถือว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของลูกค้ามาก ไม่แพ้การออกแบบและเรื่องวัสดุ การตั้งราคาขายต้องมีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและไม่ทำให้สินค้าถูกลดคุณค่าลงไปด้วย เพราะสินค้าเป็นงานฝีมือทุกชิ้น จึงไม่ควรตั้งให้ต่ำหรือสูงเกินไป” อรทัยพูดถึงเคล็ดลับในแง่มุมของการตั้งราคาให้เหมาะสม

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 10,000 บาท จะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์หลัก อาทิ จักรเย็บผ้าไฟฟ้า ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 30% ของราคา ซึ่งราคาขายคือชิ้นละ 59-280 บาท โดยวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้หลัก ๆ ก็มี จักรเย็บผ้าไฟฟ้า, กรรไกร, คัตเตอร์, เข็ม-ด้าย, ผ้าสักหลาด, วัสดุตกแต่ง เช่น ตะขอ ห่วง พวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น เป็นต้น

ขั้นตอนการทำ ’งานประดิษฐ์จากผ้าสักหลาด“ เริ่มจากการออกแบบลวดลายหรือแบบที่ต้องการ ลงบนกระดาษลอกลาย เพื่อสร้างแพทเทิร์นให้กับชิ้นงานก่อน เมื่อได้แบบเสร็จแล้วก็นำแบบที่ได้มาทาบลงบนผ้าสักหลาด จากนั้นตัดขึ้นแบบตามแพทเทิร์นนั้น โดยตัดเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ คละสี คละแบบ คละขนาดไว้

เมื่อได้ส่วนประกอบทั้งหมดแล้วจึงนำส่วนประกอบที่ตัดไว้มาเย็บขึ้นรูปด้วยจักรไฟฟ้าจนประกอบขึ้นเป็นชิ้นงานที่ต้องการ แล้วทำการตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่งที่เตรียมไว้ ตรวจดูความเรียบร้อยของชิ้นงาน ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน

อรทัยบอกว่า คนที่ทำสินค้าประเภทนี้จำเป็นต้องศึกษาเทรนด์หรือกระแสความนิยมของตลาดเพื่อดูว่าขณะนั้นสินค้าประเภทใดรูปแบบใดกำลังเป็นที่นิยม จากนั้นนำมาปรับแต่งให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง นอกจากนี้พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมีผลต่อการกำหนดขนาดและประเภทการใช้งานของสินค้าด้วย

“ลูกค้าปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานใหม่ ๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าครั้งละหลายชิ้นเพราะซื้อให้ตัวเองรวมถึงซื้อเพื่อนำไปเป็นของฝากด้วย นอกจากนี้อาชีพนี้ยังมีรายได้อีกทางหนึ่งจากการรับผลิตตามออร์เดอร์โดยลูกค้ากลุ่มหลังนี้มักจะสั่งทำเพื่อนำไปเป็นของชำร่วย ของที่ระลึก หรือของแจกสำหรับลูกค้า” อรทัยกล่าว

ใครสนใจงานประดิษฐ์ประเภทนี้ ต้องการติดต่อกับอรทัย ติดต่อได้ที่ โทร. 08-7052-1139, 0-2569-7751 หรือทางอีเมล lovelybunnyshop@gmail.com ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ งานผ้าผสานไอเดีย ผนวกความช่างสังเกต จนกลายเป็นสินค้าทำเงิน โดนใจ ตรงกับความต้องการของตลาด ได้อย่างน่าสนใจ.

--------------------------------------------

คู่มือลงทุน...งานผ้าสักหลาดทุนเบื้องต้น

ประมาณ 10,000 บาท

ทุนวัสดุ ประมาณ 30% ของราคา

รายได้ ราคาชิ้นละ 59-280 บาท

แรงงาน 1 คนขึ้นไป

ตลาด กลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ ทั่วไป

จุดน่าสนใจ ทุนต่ำ, ขั้นตอนไม่ซับซ้อน

http://www.dailynews.co.th/article/384/18642

Sunday, March 18, 2012

แนะนำอาชีพ "ผลิตภัณฑ์สปา"

ทีม “ช่องทางทำกิน” ไปดูโครงการอบรมเกี่ยวกับสปา ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็มีข้อมูล “ผลิตภัณฑ์สปา” มานำเสนอให้ลองพิจารณากัน...

คัพเค้ก บาธบอมบ์ และ ชูการ์ สครับ เป็นผลิตภัณฑ์สปา โดยคัพเค้ก บาธบอมบ์ เป็นเกลือฟู่ ใช้สำหรับแช่ตัว แช่เท้า วิธีการใช้คือใส่ลงในอ่างน้ำที่แช่ เกลือจะฟู่มีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย ส่วนด้านบนของผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะเป็นการแต่งหน้าให้สวยงาม โดยมีเนื้อครีมสามารถนำมาลูบไล้ตามตัวเพื่อให้ผิวชุ่มชื้นได้ ซึ่งส่วนผสมในการทำ คัพเค้ก บาธบอมบ์ จำนวน 6 ชิ้น มีดังนี้คือ ผงกรดมะนาว 1 ถ้วย, เกลือเบ๊กกิ้งโซดา 2 ถ้วย, น้ำมันหอมระเหย 5 หยด, สีผสมอาหาร 3-5 หยด, ผงโซเดียมคลอไรด์ซัลเฟต 1 ช้อนชา ถึง 1 ช้อนโต๊ะ (มีคุณสมบัติทำให้มีฟอง) และน้ำยา วิท ฮาเซล (มีคุณสมบัติทำให้จับตัวเป็นก้อน) ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ทำก็มี เครื่องตีแป้ง, ถ้วยพลาสติกใบใหญ่, ถ้วยคัพเค้ก และถุงบีบครีม

วิธีทำ คัพเค้ก บาธบอมบ์ เริ่มจากนำผงกรดมะนาวผสมกับเบ๊กกิ้งโซดาในภาชนะให้เข้ากัน ใส่โซเดียมคลอไรด์ซัลเฟต 1 ช้อนชา ถึง 1 ช้อนโต๊ะ ลงไปคลุกเคล้า จากนั้นค่อย ๆ หยดน้ำมันหอมระเหยและสีผสมอาหารลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยดูว่าความเข้มของสีกำลังดีก็ใช้ได้ เสร็จแล้วค่อย ๆ ฉีดน้ำยา วิท ฮาเซล ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ส่วนผสมเหนียวติดกัน ฉีดไปนวดไป จนกระทั่งส่วนผสมเหนียวติดกันเป็นก้อน จากนั้นนำส่วนผสมใส่ลงถ้วยคัพเค้กอัดให้แน่น แล้วพักไว้

ต่อไปทำส่วนผสมหน้าบาธบอมบ์ โดยใช้ผงเมอแรง 3 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาลไอซ์ซิ่ง 500 กรัม, ผงไข่ขาว 1/4 ช้อนชา, น้ำอุ่น 15 ช้อนโต๊ะ, สีผสมอาหาร 3-5 หยด (หรือมากกว่านี้ก็ได้) การทำหน้าบาธบอมบ์นั้นทำด้วยเครื่องตีแป้งขนาดเล็ก เริ่มที่นำผงเมอแรงตีผสมกับน้ำอุ่น ค่อย ๆ ตีให้เข้ากัน ใช้ความเร็วไม่แรงมาก ค่อย ๆ เติมผงไข่ขาวและน้ำตาลไอซ์ซิ่งลงไปตีให้เข้ากัน ตีด้วยเครื่องไปเรื่อย ๆ จนเข้ากัน ถ้าส่วนผสมหนืดมากไปให้ค่อย ๆ เติมน้ำอุ่นลงไป ตีส่วนผสมให้เข้ากันไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั้นก็ค่อย ๆ หยดสีผสมอาหารลงไป ตีจนรู้สึกว่าส่วนผสมเบา ก็ใช้ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาเกือบ 20 นาทีจากนั้นตักส่วนผสมที่ได้ลงในถุงบีบครีม ค่อย ๆ บีบส่วนผสมลงบนบาธบอมบ์ที่ทำไว้ในขั้นตอนแรก วนให้เป็นวง โรยหน้าด้วยเม็ดน้ำตาลแต่งหน้าเค้ก เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ นำบรรจุในกล่องหรือถุงบรรจุภัณฑ์ พร้อมจำหน่าย

ต้นทุน คัพเค้ก บาธบอมบ์ 6 ชิ้น ประมาณ 100 บาท ส่วนราคาขายในท้องตลาดอยู่ที่ 150-300 บาท ต่อ 6 ชิ้น

สำหรับ ชูการ์ สครับ อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์สปา เป็นสบู่ที่มีเนื้อน้ำตาลทรายเป็นส่วนผสมด้วย ใช้ทำความสะอาด และสามารถขัดผิวได้ด้วย ซึ่งส่วนผสมก็มีเนื้อสบู่ (แบบขุ่น) 350 กรัม, น้ำตาลทรายขาว 2 ถ้วย, โจโจ้บา ออยส์ 100 มิลลิลิตร, วิตามินอี 1/4 ช้อนชา, น้ำมันหอมระเหย 1/4 ช้อนชา (กลิ่นตามชอบ) และสีผสมอาหาร (สีตามชอบ) ส่วนอุปกรณ์การทำก็มี ถ้วย, ช้อนตวง, หม้อตุ๋น หรือไมโครเวฟ, ไม้พาย, มีด และแม่พิมพ์สบู่ทรงสี่เหลี่ยม หรือรูปทรงอื่น ๆ

วิธีทำ ชูการ์ สครับ หั่นเนื้อสบู่เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ นำเนื้อสบู่ที่หั่นแล้วไปหลอมในเตาไมโครเวฟหรือหม้อตุ๋น ซึ่งหากใช้หม้อตุ๋นให้ใช้ไฟอ่อน ให้เนื้อสบู่ค่อย ๆ หลอมละลาย อย่าใช้ไฟแรง เพราะเนื้อสบู่จะไหม้ การหลอมก็ค่อย ๆ ใช้ไม้พายกวน แล้วเติมสี (ตามชอบ) และเติมกลิ่น (ตามชอบ) ตามด้วยวิตามินอี และโจโจ้บาร์ ออยส์ เสร็จแล้วก็เติมน้ำตาลทรายลงไปแล้วคนเร็ว ๆ จากนั้นเทส่วนผสมลงใส่พิมพ์ที่เตรียมไว้ รอให้เย็น บรรจุใส่ถุงตกแต่งให้สวยงาม พร้อมจำหน่าย

ชูการ์ สครับ 1 เซต มี 28 ชิ้น (น้ำหนัก 30 กรัม/ชิ้น) ต้นทุนการทำประมาณ 177 บาท ส่วนราคาขายในท้องตลาดอยู่ที่เซตละประมาณ 500 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้ สำหรับวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์สปาทั้งสองอย่างนี้ หาซื้อได้จากร้านค้าวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์สปาในย่านคลองถม กรุงเทพฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2-3 ร้าน

ดร.วินัย อวงพิพัฒน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ กล่าวไว้ว่า ธุรกิจสปาขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในย่านธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ในสปาจึงเป็นโอกาสในอาชีพอีกอย่างหนึ่งด้วย ซึ่งใครสนใจอบรมเรื่องสปาและการทำผลิตภัณฑ์สปา ติดต่อสอบถามไปที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ ได้ที่ โทร.0-2287-9600 ต่อ 1205 อีเมล chemistry_rmutk@hotmail.com
http://www.dailynews.co.th/article/384/17664

Friday, March 16, 2012

แนะนำอาชีพ"สบู่ถ่านไม้ไผ่"

ถ่านเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงหุงหาอาหารของคนไทย และใช้ดูดซับความชื้นและกลิ่นได้ด้วย แต่สำหรับถ่านที่เผาจากไม้ไผ่ยังมีคุณสมบัติพิเศษด้านอื่น ผงถ่านจากไม้ไผ่ช่วยบำรุงผิวพรรณได้ด้วย ซึ่งก็มีการนำมาผ่านกรรมวิธีทำเป็น ’สบู่ถ่านไม้ไผ่“ และเป็นที่นิยมไม่น้อย จนอาจเป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสน ซึ่งทางทีมงานก็มีข้อมูลมานำเสนอ...

ทีม “ช่องทางทำกิน” เดินทางไปกับคณะของ ธ.ก.ส. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ไปดูงานที่ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. ที่บ้านพะงุ้น จ.ชุมพร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 84 ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. ซึ่งที่บ้านพะงุ้นนี้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เกษตรกรทั่วไปที่เข้าเยี่ยมชมและดูงาน โดยแบ่งเป็นฐานต่าง ๆ เช่น ฐานคนเอาถ่าน และน้ำส้มควันไม้ ธนาคารต้นไม้ ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมูหลุม ฐานการเพาะเห็ด ซึ่ง “สบู่ถ่านไม้ไผ่” หรือสบู่ผงถ่านไม้ไผ่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในส่วนของกลุ่มที่สอนการทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนที่สามารถทำใช้เองได้ เช่น น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม สบู่

ต้น-อดิศาสินี แก้วนวล วิทยากรกระบวนการศูนย์ ในส่วนของฐานคนมีน้ำยา ซึ่งเป็นวิทยากรสอนเกษตรกรในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถทำเองได้ ให้ข้อมูลว่า สำหรับฐานคนมีน้ำยานี้จะเป็นฐานที่สอนการทำน้ำยาต่าง ๆ ที่สามารถทำใช้เองได้ และสำหรับสบู่ผงถ่านไม้ไผ่ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทางกลุ่มทำขึ้นมา

ผงถ่านที่ใช้ทำสบู่นั้นจะเป็นถ่านที่เผาจากไม้ไผ่ โดยต้องใช้ไม้ไผ่ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3 ปี เผาด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส จะได้เป็นถ่านคาร์บอนคุณภาพสูง มีคุณสมบัติมากมาย ทั้งป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ดูดซับกลิ่นได้ดีกว่าถ่านอื่น ๆ เพราะถ่านไม้ไผ่จะมีโพรงเล็ก ๆ จำนวนมากกว่า โพรงเล็ก ๆ นี้จะดูดซับกลิ่นและความชื้นได้มากกว่า

และเมื่อนำถ่านจากไม้ไผ่มาทำเป็นสบู่โดยผสมเข้ากับสมุนไพรไทยก็จะมีคุณสมบัติมากมาย เช่น กำจัดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และมลพิษที่ตกค้างบนผิวหนัง ช่วยขัดผิว ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ชำระล้างสิ่งสกปรกบริเวณใบหน้า ขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและสิ่งตกค้างต่าง ๆ ตามรูขุมขน แก้ปัญหาสิวเสี้ยน และช่วยขจัดกลิ่นตัว

สำหรับสูตรการทำ “สบู่ถ่านไม้ไผ่” ดูดสารพิษ บำรุงผิวพรรณ ของทางศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. บ้านพะงุ้น ตามสูตรจะมีส่วนผสมที่สำคัญดังนี้คือ... กลีเซอรีน (Soap Bar) 1 กิโลกรัม, น้ำมะขามเปียก 200 กรัม, น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ, ผงถ่านไม้ไผ่ที่ผ่านการเผาที่ 1,000 องศาเซลเซียส 4 ช้อนโต๊ะ...

ส่วนอุปกรณ์ในการทำ หลัก ๆ ก็มี... หม้อสเตนเลส, เตาแก๊ส, ไม้พาย, แม่พิมพ์ ฯลฯ

วิธีทำสบู่ถ่านไม้ไผ่เริ่มจาก... นำกลีเซอรีน 1 กิโลกรัม ใส่ลงต้มในหม้อสเตนเลส ใช้ไฟประมาณ 70-80 องศาเซลเซียส ไม่ควรใช้ไฟแรงเพราะจะทำให้กลีเซอรีนไหม้ จากนั้นก็ใช้ไม้พายทำการคนกวนกลีเซอรีนไปเรื่อย ๆ จนกลีเซอรีนละลายเป็นของเหลว

นำน้ำมะขามเปียกที่ผ่านการกรองแล้ว ประมาณ 200 กรัม ใส่ลงไปในหม้อผสมกับกลีเซอรีน ทำการกวนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นก็นำผงถ่านมาทำการกรองร่อนด้วยตะแกรงเพื่อให้ได้ผงที่ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ตักใส่ผสมลงไปประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ กวนผสมให้เข้ากันเติมน้ำผึ้งผสมลงไป 2 ช้อนโต๊ะ ทำการกวนไปเรื่อย ๆ (น้ำผึ้งจะไม่ใส่ผสมเยอะเกินไป เพราะถ้าใส่น้ำผึ้งเยอะเกินไปจะทำให้เกิดความชื้น ไม่อิ่มตัว สบู่จะไม่จับเป็นก้อน)

ทำการกวนไปเรื่อย ๆ โดยระยะเวลากวนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทำจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อน้ำเริ่มแห้ง ดูว่าจะใช้ได้แล้วหรือยังให้สังเกตดูจากน้ำที่กวนอยู่เริ่มเหนียว ก็ลองตักขึ้นมาหยดดูบนกระดาษ ถ้าหากหยดลงไปแล้วสบู่แห้งแข็งเป็นน้ำตาเทียน ก็แสดงว่าใช้ได้แล้ว

เมื่อส่วนผสมได้ที่แล้ว ก็ยกลงมาจากเตา ตั้งพักทิ้งไว้สักครู่ให้ความร้อนลดลง จากนั้นถ้าต้องการที่จะแต่งกลิ่นด้วยน้ำหอมกลิ่นต่าง ๆ ก็ให้หยดน้ำหอมลงไปผสมแล้วทำการคนให้เข้ากันก่อน เมื่อผสมน้ำหอมเรียบร้อยแล้วก็ทำการเทลงแม่พิมพ์รูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องการ พักทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง สบู่จะแข็งตัว ก็นำออกจากพิมพ์ ห่อบรรจุภัณฑ์ พร้อมขาย

“กลีเซอรีนที่ใช้ทำสบู่ ถ้าใช้ประมาณ 1 กิโลกรัม สามารถผสมทำสบู่ออกมาได้ประมาณ 16 ก้อน แต่ก็อาจได้น้อยหรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับแม่พิมพ์ที่เราใช้ว่าใหญ่หรือเล็กแค่ไหน” ต้นกล่าว

ส่วนราคาขาย “สบู่ถ่านไม้ไผ่” ของทางศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. บ้านพะงุ้น จ.ชุมพร อยู่ที่ก้อนละ 30 บาท มีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบต่าง ๆ ไม่รวมค่าแรงงาน ประมาณ 15 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจ ’สบู่ถ่านไม้ไผ่“ หรือ “สบู่ผงถ่านไม้ไผ่” อยากเรียนรู้ หรือสั่งไปใช้-ไปจำหน่ายเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ต้องการติดต่อ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. บ้านพะงุ้น หมู่ 2 อ.สวี จ.ชุมพร โทรศัพท์ติดต่อสอบถามได้ที่ ต้น-อดิศาสินี เบอร์โทรศัพท์ 08-9971-5091, 08-5885-5409.

http://www.dailynews.co.th/article/384/17471

Saturday, March 10, 2012

แนะนำอาชีพ "ขนมเปี๊ยะ"

แนะนำอาชีพ "ขนมเปี๊ยะ" ไม่มีหน้าร้านก็ขายได้
อาชีพอิสระที่ทำงานอยู่กับบ้าน แล้วส่งงานไปตามสถานที่ต่าง ๆ หลายคนอยากทำ แต่คนที่จะทำอย่างนี้ได้นั้นก็ต้องมีฝีมือ กรณีนี้ก็รวมถึงอาชีพการทำขนมขายด้วย อย่างการทำ “ขนมเปี๊ยะ” นี่ก็อยู่ในข่าย ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้ลองพิจารณากัน...

กบ-นวรัตน์ กิจชนะถาวร น้องสาวคุณติ๋ม ผู้ทำขนมเปี๊ยะ “เปี๊ยะ by ปิ่งปิ่ง” เล่าให้ว่า ทางครอบครัวถนัดทำอาหาร พอมาถึงรุ่นหลังก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไร พี่สาวกับพี่เขยที่ทำขนมเปี๊ยะขายก็มีอาชีพรับส่งเด็กนักเรียนมานานนับสิบปีแล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำอยู่ แต่เพราะหลังส่งเด็กตอนเช้าก็จะมีช่วงว่าง กว่าจะถึงเวลารับเด็กอีกที ซึ่งอาจจะเพราะซึมซับจากครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับเป็นคนชอบกินและชอบทำ ช่วงกลางวันทั้งสองจึงมักจะช่วยกันทำขนม ทำของกินเตรียมไว้ให้ลูกหลาน และเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนฝูงพี่น้องและคนรอบข้างได้ชิมกัน จนเขาติดใจต้องออกปากขอซื้อ และสั่งทำเพื่อเอาไปเป็นของฝากของขวัญให้เพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง แล้วก็พูดกันปากต่อปาก จนต้องทำขายในที่สุด

“ทำขนมเปี๊ยะที่บ้านแล้วส่งไปขายตามร้านกาแฟและร้านขนมมาหลายปีแล้ว ไม่ได้มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง เพราะลำพังขนมเปี๊ยะอย่างเดียวคงไม่พอที่จะจัดหน้าร้านให้สวยงามและชวนซื้อ แต่ขนมเปี๊ยะที่ทำขายกันก็แตกต่างจากขนมเปี๊ยะทั่วไป ทั้งตัวแป้งและไส้ที่หอม รสชาติกลมกล่อมเข้ากันพอดี เป็นสูตรเฉพาะที่พี่สาวและพี่เขยคิดทำขึ้นมา วัตถุดิบที่ใช้จะเลือกคุณภาพเกรดเอ ทุกวันจะมีออร์เดอร์จากหน่วยงานและบริษัทต่าง ๆ สั่งไปใช้ในงานอบรมสัมมนา เป็นอาหารว่างทานกับน้ำชากาแฟ บ้างก็จะสั่งจัดเป็นกระเช้าและกล่องเพื่อใช้เป็นของฝากของขวัญช่วงเทศกาล”

แม้กระบวนการทำขนมเปี๊ยะจะค่อนข้างซับซ้อนยุ่งยาก แต่กบซึ่งรับหน้าที่เป็นฝ่ายการตลาด บอกว่า ถึงจะทำไม่ง่ายแต่ขนมเปี๊ยะของที่บ้านก็จะทำกันใหม่สดทุกวัน และสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน จะทำไส้เดียวคือถั่วกวน-ไข่เค็ม และจะแพ็กใส่กล่องแบบที่สามารถใส่ในไมโครเวฟได้ เพราะต้องการเน้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการทำ “ขนมเปี๊ยะ” จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ทั่วไป

ส่วนผสมที่ใช้การทำตัวแป้งขนมเปี๊ยะ หลัก ๆ ก็มี... แป้งสาลีอเนกประสงค์, น้ำมันพืช, เกลือ, น้ำสะอาด

สำหรับส่วนผสมของไส้ ก็มี... ถั่วเขียวซีก, น้ำตาลทราย, น้ำกะทิ, ไข่เค็ม และไข่แดง

ขั้นตอนการทำก็เหมือนกับการทำขนมเปี๊ยะทั่ว ๆ ไป ก่อนอื่นจะต้องมี “แป้งใน” กับ “แป้งนอก” เริ่มจากต้องนวด “แป้งใน” ก่อน ซึ่งเป็นการนวดผสมระหว่างแป้งสาลี 1 กก. และน้ำมันพืช หรือเนย 400 กรัม เมื่อนวดจนเข้ากันแล้ว ให้แบ่งแป้งออกมาเป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาดหัวแม่มือ เตรียมไว้

ในส่วนของ “แป้งนอก” เป็นการผสมระหว่างแป้งสาลี 1.5 กก., น้ำมันพืช 800 กรัม, น้ำตาลทราย 300-400 กรัม, เกลือนิดหน่อย และน้ำเปล่า 1,100 กรัม นวดด้วยเครื่องให้เข้ากันจนแป้งเนียน แล้วปั้นออกมาเป็นก้อน ๆ ขนาดเท่ากับหัวแม่มือ เช่นเดียวกับแป้งใน

“ไส้ถั่วกวน” ใช้ถั่วเขียวผ่าซีก 1 กก. แช่น้ำ 2-3 ชั่วโมง (ถ้าแช่น้ำร้อนได้จะดีมากเพราะถั่วจะนิ่ม) แล้วนำไปนึ่งให้สุก จากนั้นบดให้ละเอียด และกวนกับน้ำตาลทราย 700-800 กรัม และกะทิอีก 400 กรัม จนเข้ากัน ส่วน “ไข่เค็ม”
นั้น ใช้ไข่แดงจากไข่เป็ดเค็มนำไปนึ่งให้สุกอีกที

การทำเป็นขนมเปี๊ยะ นำแป้งในและแป้งนอกที่ปั้นเป็นก้อนกลมมารีดออกเป็นแผ่น ๆ วางทับซ้อนกัน โดยแป้งนอกห่อแป้งใน รีดแล้วพับ พับแล้วรีด เพื่อให้เกิดชั้นขึ้นมา เมื่อได้ชั้นตามสมควรแล้วก็ใส่ไส้ถั่วและไข่เค็ม

ใส่ไส้แล้วก็ห่อแป้งปิดให้เรียบร้อย นำเข้าเตาอบ ที่ความร้อน 250 องศาฯ ราว 10 นาที นำออกมาทาไข่แดง แล้วนำเข้าอบต่ออีก 20 นาที ขนมจะสุกได้ที่ จะออกมาเป็นสีเหลืองนวล น่ารับประทาน

ผึ่งให้เย็นด้วยการเป่าพัดลม ก่อนจะแพ็กใส่กล่อง

จากสูตรแป้งขนมเปี๊ยะข้างต้น เป็นสูตรคร่าว ๆ ของการผสมแป้ง ซึ่งในการทำขายนั้น เมื่อนวดแป้งออกมาแล้ว แบ่งสูตรแป้งออกเป็นส่วนละ 550 กรัม จะปั้นเป็นขนมเปี๊ยะได้ประมาณ 120 ชิ้น

ราคาขายนั้น กล่องใหญ่ 22 ชิ้น 140 บาท กล่องเล็ก 13 ชิ้น 80 บาท และกล่องจิ๋ว 4 ชิ้น 25 บาท โดยต้นทุนเฉพาะในส่วนวัตถุดิบจะประมาณ 60% ของราคาขาย

ใครสนใจขนมเปี๊ยะ “เปี๊ยะ by ปิ่งปิ่ง” ต้องการติดต่อกับกบ หรือคุณติ๋ม ซึ่งครอบครัวยังมีการทำ “เค้กกล้วยหอม” ส่งขายด้วย ก็ติดต่อได้ที่ โทร.08-6615-9775 หรือ 08-1777-4266 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” เกี่ยวกับการทำขนมขาย โดยไม่ต้องลงทุนเปิดร้านเอง ฝึกฝีมือดี ๆ ทำ “ขนมเปี๊ยะ” ขาย ไม่ต้องมีหน้าร้านก็ขายได้!!.

http://www.dailynews.co.th/article/384/16532

Friday, March 9, 2012

แนะนำอาชีพ ‘นาฬิกากล่อง’

อาชีพผลิตสินค้าประเภทของตกแต่ง ของใช้ที่เป็นของประดับด้วยนั้น แม้รายละเอียดบางอย่าง เช่น วัสดุที่ใช้ตกแต่งผลงาน ผู้ผลิตอาจไม่มีความชำนาญ แต่ก็สามารถที่จะใช้วิธีการนำสินค้าที่มีในตลาดอยู่แล้วมาใช้ตกแต่งหรือต่อเติมผลงานของตนได้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดเวลา และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการที่จะต้องลงทุนทำทุกอย่างเองได้อีกด้วย อย่างเช่นงานประดิษฐ์ “นาฬิกากล่อง” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้...

“เอกอนันต์ พินัยทรัพย์” ผู้ประดิษฐ์นาฬิกากล่อง เล่าว่า เดิมเป็นพนักงานบริษัททำงานวางระบบคอมพิวเตอร์ให้ภาคเอกชน ต่อมาได้ย้ายไปทำงานเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ก่อนจะลาออกเพื่อมาทำธุรกิจของตนเองเนื่องจากรู้สึกอิ่มตัวกับงานประจำ จึงมาลงทุนเปิดร้านเพื่อจำหน่ายของใช้ของตกแต่งโดยเน้นที่สินค้างานฝีมือและสินค้าโอทอป ต่อมาเกิดความคิดว่าน่าจะลงทุนผลิตสินค้าของตนเองขึ้น โดยส่วนตัวติดใจและชอบเรื่องเวลาในขวดแก้วซึ่งเป็นนิยายชื่อดัง จึงคิดว่าน่าจะผลิตนาฬิกากล่อง เพราะในตลาดยังไม่มีคู่แข่ง อีกทั้งยังเป็นชิ้นงานที่สามารถต่อยอดออกไปได้อีกมาก

เริ่มผลิตงานเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2554 แต่พอดีติดกับเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำให้ต้องหยุดผลิตสินค้าไปชั่วคราว และเพิ่งกลับมาผลิตใหม่ในช่วงต้นปี 2555 ที่ผ่านมา
สำหรับสินค้านั้น เอกอนันต์บอกว่า วัสดุที่นำมาใช้ตกแต่งเป็น “นาฬิกากล่อง” ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเองทุกชิ้น แต่ใช้วิธีซื้อวัสดุตกแต่งจากกลุ่มงานฝีมือต่าง ๆ ที่มีผลิตอยู่แล้วทั่วประเทศ นำมาประกอบกันขึ้นเป็นสินค้า ซึ่งหากจะต้องลงทุนกับสินค้าประเภทนี้เองทั้งหมด ต้นทุนก็อาจจะต้องเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งสินค้าลักษณะนี้ก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้มีความทันสมัย แตกต่าง หลากหลายอยู่ตลอดเวลาด้วย จึงเลือกใช้วิธีการจ้างผลิตและเลือกซื้อวัสดุตกแต่งที่คิดว่าเหมาะสมกับการนำมาใช้ในการผลิตชิ้นงาน ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้มาก และปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ

“ผมได้ไอเดียนี้มาจากตอนที่เปิดร้านจำหน่ายสินค้างานฝีมือและโอทอป ทำให้ทราบว่ามีกลุ่มผลิตงานฝีมืออยู่มากมายทั่วประเทศ และมีหลายเกรดหลายระดับให้เลือกซื้อเลือกใช้ วิธีนี้ดีที่เราไม่ต้องลงทุนทำเองทั้งหมด ทำให้ประหยัดเวลาในการผลิตชิ้นงานได้อีกทางหนึ่งด้วย” ผู้ผลิตนาฬิกากล่องกล่าว

นาฬิกากล่องที่ผลิตขึ้นนั้น รูปแบบสามารถพลิกแพลงต่อยอดออกไปได้เรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ทำ สำหรับนาฬิกากล่องที่เอกอนันต์ผลิตขึ้นมานั้น ปัจจุบันมีอยู่หลากหลายแบบ โดยอาศัยการจำหน่ายผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ ใน www.facebook.com/BPTimeBox69 ซึ่งสินค้าที่ผลิตขึ้นนั้นเอกอนันต์บอกว่า ตอนนี้ลูกค้าสามารถกำหนดหรือเลือกวัสดุสำหรับตกแต่งเองได้บางส่วน โดยอนาคตอาจจะเพิ่มจุดขายโดยการให้ลูกค้าสามารถเลือกหรือกำหนดชิ้นส่วนและวัสดุตกแต่งได้ตามต้องการทุกอย่าง

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาขาย ที่เริ่มตั้งแต่ราคา 199 บาทขึ้นไป ขึ้นกับขนาดและวัสดุตกแต่ง โดยวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ประกอบด้วย สว่าน (สว่านมือหรือไฟฟ้าก็ได้), ไขควง, กาวลาเท็กซ์, กาวยางน้ำใส, ไม้สำเร็จรูป, พลาสติกใส, ชุดนาฬิกาสำเร็จรูป และวัสดุตกแต่งตามต้องการ

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการคิดแบบรูปทรงของนาฬิกาและการเลือกวัสดุที่จะใช้ โดยอาจใช้วิธีวาดแบบร่างคร่าว ๆ ลงบนกระดาษ จากนั้นนำไม้สำเร็จรูปมาตัดขึ้นรูปโครงงานตามที่ได้ออกแบบไว้ ในขั้นตอนนี้จะต้องระมัดระวังในเรื่องของสัดส่วนที่จะประกอบขึ้นเป็นกล่อง เพราะหากสัดส่วนไม่ได้ ก็อาจจะทำให้การประกอบขึ้นรูปเป็นตัวกล่องนาฬิกาไม่ได้รูปทรงและไม่พอดี หรือหากจะเป็นการใช้กล่องจักสานแทนการใช้ไม้สำเร็จรูป ก็ได้

เมื่อได้รูปทรงของกล่องแล้ว ก็เริ่มทำการติดตัวนาฬิกาลงไปตามตำแหน่งที่ต้องการ ขันยึดติดนาฬิกาให้แน่น ตรวจสอบความเรียบร้อยว่านาฬิกาเดินหรือใช้งานได้ปกติหรือไม่ ตรวจสอบเสร็จแล้วจึงทำการตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่งที่เตรียมไว้ หรือตกแต่งตามจินตนาการที่ออกแบบไว้ เป็นอันเสร็จขึ้นตอนการทำนาฬิกากล่อง

“ขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยากซับซ้อน จุดสำคัญเริ่มต้นอยู่ที่การออกแบบมากกว่า ว่าจะดัดแปลงให้นาฬิกากล่องมีหน้าตาออกมาอย่างไร” เอกอนันต์ ผู้ผลิต “นาฬิกากล่อง” กล่าวแนะนำ

ใครสนใจติดต่อเอกอนันต์ ติดต่อได้ที่ โทร.09-0648-4868 หรือที่อีเมล์ bptimebox69@gmail.com ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดของการพลิกแพลงงานประดิษฐ์ ที่ไม่ต้องผลิตหรือทำสินค้าทุกชิ้นส่วนเองทั้งหมด แต่ก็สร้างรายได้ได้น่าสนใจ เป็นอีกกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” ที่น่าพิจารณา.

........................................................................................

คู่มือลงทุน...นาฬิกากล่อง

ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป

ทุนวัสดุ ประมาณ 70% ของราคา

รายได้ ราคาชิ้นละ 199 บาทขึ้นไป

แรงงาน 1 คนขึ้นไป

ตลาด กลุ่มของใช้-ของตกแต่ง

จุดน่าสนใจ ขั้นตอนการทำไม่ซับซ้อน

http://www.dailynews.co.th/article/384/16414

Sunday, March 4, 2012

แนะนำอาชีพ "ข้าวแช่ชาววัง"

คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” วันนี้ ทางทีมงานมีสูตร “ข้าวแช่ชาววัง” จากงานวัฒนธรรมสัญจร “สืบสาน ตำนานข้าวแช่ (ชาววัง) เมืองเพชร วัฒนธรรมผสมไทย-มอญ ที่ลงตัว” ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 24-25 ก.พ. ที่ จ.เพชรบุรี มาฝากกัน โดยข้าวแช่นี้เป็นอีกหนึ่งอาหารยอดนิยมในช่วงฤดูร้อน ใครฝึกฝนฝีมือจนทำได้อร่อย ก็อาจสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ...

คุณยายพันธ์ทิพ ศุภจิต วัย 84 ปี ซึ่งสันทัดกรณีเรื่อง “ข้าวแช่ชาววัง” ให้ความรู้ว่า การทำข้าวแช่นั้นต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ หม้อ กระทะ ซึ้ง กระชอน ผ้าขาวบาง ฯลฯ หากซื้อเต็มชุดก็น่าจะใช้งบราว 5,000 บาทขึ้นไป

วิธีทำข้าวแช่ เริ่มที่ทำ “ข้าวสุกที่ใช้ทำข้าวแช่” โดยหุงข้าวด้วยน้ำมาก ๆ (ปัจจุบันใช้ข้าวหอมมะลิ) พอข้าวสุกเป็น “ตากบ” คือยังเป็นไตแข็งข้างในเมล็ด ก็นำมาเทลงกระชอน ทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นก็นำไปแช่ในน้ำเย็น แล้ว “ขัดข้าว” โดยใช้มือสองข้างกอบข้าวขึ้นมาสีกันไปมา หรือใช้นิ้วมือถูข้าวไปมาบนตะแกรง ขัดเมล็ดข้าวอย่างเบามือ ให้เมล็ดข้าวเกลี้ยงเกลา ล้างน้ำหลาย ๆ ครั้งจนเห็นว่าน้ำที่ล้างใสดีแล้ว จึงเทข้าวเกลี่ยลงบนผ้าขาว แล้วนำไปนึ่งให้สุกอีกทีหนึ่ง

ต่อไปเป็นการทำ “น้ำข้าวแช่” นำน้ำเปล่ามาอบด้วยเทียนควั่น, ดอกกระดังงา, ดอกมะลิ, ดอกชมนาด และดอกกุหลาบมอญ อย่างน้อย 1 คืน โดยน้ำที่อบจนหอมนี้ให้เก็บในโถกระเบื้องหรือหม้อดินที่มีฝาปิดสนิท เพื่อเก็บกลิ่นหอมไว้

“กับข้าวแช่” จะมีหลายอย่างคือ ลูกกะปิทอด เป็นหัวใจสำคัญของข้าวแช่ชาววัง ข้าวแช่ของใครมีฝีมือก็พิจารณากันที่ลูกกะปิทอดนี่เอง นอกจากนี้ก็มี พริกหยวกสอดไส้, ปลายี่สกผัดหวาน, หมูสับกับปลากุเลา (หรือปลาเค็ม) และที่ลืมไม่ได้เลยสำหรับการทำข้าวแช่คือ ผักสดแกะสลัก ซึ่งกับข้าวแช่ส่วนใหญ่เป็นของทอด ก็จะต้องมีผักที่ให้กลิ่นหอม และออกรสเปรี้ยวและขื่นนิด ๆ ไว้ตัดรส อาทิ แตงกวา, กระชาย, ต้นหอม และพริกชี้ฟ้าสด

สำหรับการทำ ลูกกะปิทอด ส่วนประกอบหลัก ๆ ตามสูตรนี้ก็มี กระชาย 7 ราก, ตะไคร้ 2 ต้น, ข่า 5 แว่น, ผิวมะกรูด 1 ช้อนชา, รากผักชี 1 ช้อนชา, หอมแดง 9 หัว, กระเทียม 10 กลีบ, กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ, เนื้อปลาดุกย่าง 1 ตัว, ปลาฉลาดย่าง 2 ตัว, น้ำปลา และน้ำตาล อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ, ไข่ไก่ 3 ฟอง, แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ วิธีทำก็โขลกกระชาย ตะไคร้ ข่า ผิวมะกรูด รากผักชี หอมแดง กระเทียม ให้ละเอียด ใส่กะปิ เนื้อปลา โขลกให้เข้ากัน ผัดกับหัวกะทิในกระทะใบใหญ่ด้วยไฟอ่อน ๆ ให้หอม ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ผัดจนแห้ง ยกลง ทิ้งไว้ให้เย็น ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เล็ก ๆ ให้เท่ากัน พักไว้ ตอกไข่ใส่ภาชนะ ตีไข่ให้แตก ใส่แป้ง คนให้เข้ากัน นำกะปิที่ปั้นไว้มาชุบ แล้วนำไปทอดให้เหลือง เป็นอันเสร็จ

พริกหยวกสอดไส้ ตามสูตร ใช้หมูสับ 500 กรัม, กุ้งสับ 10 ตัว, กระเทียมพริกไทยโขลกรวมกัน 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำปลา 1.5 ช้อนชา, ไข่ไก่ 5 ฟอง และพริกหยวกกับหมูสับพอประมาณ วิธีทำเริ่มจากเคล้าหมู กุ้ง กระเทียม พริกไทย ให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ตอกไข่ 1 ฟองลงไปผสม ปั้นเป็นแท่งยาว ทอดจนสุก แล้วนำไปใส่ในพริกหยวกที่คว้านไส้ออก นึ่งในลังถึงที่น้ำเดือด 5 นาที ทิ้งไว้ให้เย็น บีบน้ำออกให้หมด พักไว้ ตอกไข่ที่เหลือ ตีพอแตก ใช้มือชุบไข่แล้วโรยไปมาในกระทะที่ตั้งไฟอ่อน ใส่น้ำมันพอลื่น พอไข่สุกก็ลอกเป็นชิ้น ๆ ใช้ห่อพริกให้รอบ ทำจนครบจำนวนพริกหยวกที่เตรียมไว้

ปลายี่สกผัดหวาน ส่วนประกอบคือเนื้อปลายี่สก และน้ำตาลทราย วิธีทำนำเนื้อปลายี่สกผัดกับน้ำตาลจนเหนียวหนึบ แล้วใช้ปลายส้อมตะกุยแบ่งเป็นคำ จะได้เนื้อปลาเป็นปุย หอมกลิ่นน้ำตาล เคี้ยวสนุกปาก หรือมีอีกเทคนิคหนึ่งคือ ย่างปลายี่สกให้สุกเสียก่อน แล้วยีให้เนื้อเป็นปุย จากนั้นจึงนำไปผัด ต้องผัดให้เหนียวจนปั้นเป็นก้อนได้ถึงจะอร่อย แต่อย่าผัดนานเกินไป จะแข็ง ซึ่งกับข้าวแช่ชนิดนี้เป็นต้นตำรับแบบฉบับข้าวแช่เมืองเพชรบุรี

หมูสับกับปลาเค็ม ส่วนประกอบมี เนื้อหมูติดมัน, ปลาเค็ม, กระเทียม และไข่ไก่ วิธีทำใช้เนื้อหมูติดมันสับละเอียดมาคลุกผสมกับเนื้อปลาเค็มทอดสุกที่ยีเตรียมไว้ ใส่กระเทียมสับปรุงรสให้มีรสเค็มนำ แล้วจึงปั้นเป็นก้อน เล็ก ๆ ก่อน จากนั้นก็นำไปชุบไข่แล้วทอด กับข้าวแช่ชนิดนี้ให้รสเค็มตัดรสกับข้าวแช่อื่น ๆ ที่ให้รสหวานนำ

นอกจากนี้ก็อาจจะมี เนื้อเค็มฝอย ด้วย วิธีทำคือใช้เนื้อเค็มปิ้งให้สุก ฉีกเป็นเส้นฝอย ๆ แล้วนำไปผัดกับน้ำตาลจนแห้ง โรยหน้าด้วยหอมแดงเจียว ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ทานเนื้อวัว ก็เปลี่ยนเป็น “หมูฝอย” แทน

สำหรับวิธีรับประทานข้าวแช่ เริ่มจากนำข้าวใส่น้ำลอยดอกไม้ให้สัดส่วนน้ำมากกว่าข้าว ใส่น้ำแข็งเล็กน้อยพอชื่นใจ เวลาตักกับข้าวใส่ปากแล้วตักข้าวแช่ตามก็จะได้รสชาติทั้งเย็นฉ่ำ และอร่อยกลมกล่อม

ราคาขายข้าวแช่นั้น ในท้องตลาดขายชุดละประมาณ 35 บาทขึ้นไป ซึ่งในแต่ละชุดจะมีข้าวสุก, น้ำข้าวแช่ และกับข้าว 4-5 อย่างประกอบกัน ซึ่งคุณยายพันธ์ทิพบอกว่า หากจัดชุดข้าวแช่แบบเต็มเครื่องราคาจะอยู่ที่ชุดละประมาณ 150-170 บาท โดยมีต้นทุนวัตถุดิบ (ไม่รวมทุนอื่น ๆ) ชุดละประมาณ 50-70 บาท โดยต้นทุนวัตถุดิบข้าวแช่นั้นไม่สูง แต่การทำให้อร่อยก็ต้องใช้ฝีมือ ใช้ความพิถีพิถัน และใช้เวลาในการทำนาน จึงสามารถตั้งราคาขายได้สูงพอสมควร

ที่ว่ามาก็เป็นสูตรการทำ “ข้าวแช่ชาววัง” จากการให้ข้อมูลของ คุณยายพันธ์ทิพ ศุภจิต ใครสนใจก็ลองนำไปฝึกฝนฝีมือกันดู ซึ่งอาจจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดีก็ได้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนอย่างตอนนี้.

http://www.dailynews.co.th/article/384/15437

Friday, March 2, 2012

แนะนำอาชีพ "ตุ๊กตาหน้าล้อเลียน"

อาชีพงานประดิษฐ์ ผลิตงานฝีมือ ทักษะและความรู้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ และยิ่งประกอบเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ ก็ยิ่งทำให้เกิดการต่อยอดสินค้าออกไปได้เรื่อย ๆ อย่างการนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทั้งในเรื่องการทำตุ๊กตา และด้านศิลปะ มาพัฒนาชิ้นงานจนได้ออกมาเป็น ’ตุ๊กตาหน้าล้อเลียน“ เป็นการนำความรู้ที่มีอยู่ มาสร้างสรรค์งานตัวใหม่ ๆ นี่ก็อาจจะเป็นตัวอย่าง ’ช่องทางทำกิน“ ให้ใครอีกหลายคนได้ลองนำหลักการไปประยุกต์ใช้...

ปิ๋ม-วรรณลักษณ์ วิลาวรรณ มีประสบการณ์ในการทำงานศิลปะ การทำตุ๊กตาผ้า และทำออกจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “pimartshop” มานานหลายปีแล้ว โดยเจ้าตัวเล่าว่า เรื่องของงานประดิษฐ์นั้นเป็นงานที่ชื่นชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว และเรียนทางด้านศิลปะมาโดยตรง ซึ่งในช่วงที่ยังเรียนอยู่นั้นก็ทำงานฝีมือออกขายเป็นรายได้เสริม ตอนนั้นทำนาฬิกาแฮนด์เมดที่ทำจากงานไม้ ตัดเป็นรูปแบบต่าง ๆ แต่หลังจากที่เรียนจบก็ไม่ได้ทำงานนาฬิกาต่อ

พอเรียนจบก็หันมาจับทำงานประดิษฐ์พวกดอกไม้ที่เย็บจากผ้า และทำการตกแต่งใส่เป็นกระถางน่ารัก ๆ นอกจากนั้นก็ยังทำสินค้าอย่างการเย็บตุ๊กตาคันทรีดอลล์ เป็น ตุ๊กตาผ้า ที่ตกแต่งใส่เสื้อผ้าสวยงามต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ยังใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เป็นประโยชน์ โดยรับวาด การ์ตูนล้อเลียน ความคู่กับการทำสินค้าขาย

การที่ทำตุ๊กตาคันทรีดอลล์นั้น ได้แรงบันดาลใจมาจากญี่ปุ่น เป็นคนที่ชอบงานประดิษฐ์ของญี่ปุ่น เพราะดูแล้วเป็นงานที่สร้างสรรค์และน่ารักอีกด้วย ก็อาศัยดูตามหนังสือ เว็บไซต์ แล้วก็ศึกษาทดลองทำด้วยตัวเอง จนสามารถทำได้สำเร็จ และก็ทำขายมาเรื่อย ๆ

ส่วนการทำ “ตุ๊กตาหน้าล้อเลียน” สร้างสรรค์ขึ้นมาจากการนำศิลปะการทำตุ๊กตาผ้ามาผสมผสานกับงานฝีมือในการวาดภาพล้อเลียน เกิดขึ้นมาจากการที่มีลูกค้ามาสั่งทำตุ๊กตา แต่อยากได้หน้าของตุ๊กตาที่เป็นหน้าของเขาเอง ก็รับทำ ซึ่งครั้งแรกที่ทำให้ลูกค้าก็ยังดูว่างานนั้นยังไม่ลงตัว ยังไม่ดีพอ แต่ก็ได้จุดประกายคิดว่าเป็นงานที่น่าสนใจ จึงเริ่มปรับปรุงแพทเทิร์นของตุ๊กตาให้ลงตัวและได้สัดส่วน ก็ใช้เวลาปรับปรุงพัฒนาอยู่ 2-3 แพทเทิร์น จนได้รูปแบบที่ลงตัว หลังจากนั้นก็รับทำตุ๊กตาหน้าล้อเลียนมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันก็ทำมากว่า 5-6 ปีแล้ว

“การทำตุ๊กตาหน้าล้อเลียนนั้นเป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญ ความสามารถในการวาดภาพอยู่บ้าง จึงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับมือใหม่ ถ้าเริ่มหัดทำ ทำเป็นงานตุ๊กตาคันทรี
ดอลล์จะง่ายกว่า เพราะไม่ต้องใช้ฝีมือในการวาดภาพ แค่มีใจรัก ตั้งใจ เย็บตุ๊กตาได้ มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเสื้อผ้าให้ออกมาดูสวยงามน่ารัก ก็สามารถทำได้” ปิ๋มกล่าว

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำตุ๊กตาหน้าล้อเลียนนั้น หลัก ๆ มีดังนี้คือ... ผ้าดิบฟอก, ใยสังเคราะห์ (โพลีเอสเตอร์), ไหมพรม, สีอะคริลิก, พู่กัน, อุปกรณ์เย็บผ้า เข็ม ด้าย

การเย็บตุ๊กตานั้น ถ้ามีจักรเย็บผ้าก็ใช้จักรเย็บ จะทำงานได้รวดเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่มีจักรก็สามารถใช้มือเย็บได้ โดยใช้วิธีการเย็บแบบด้นถอยหลัง แต่ก็จะใช้เวลาในการทำนานหน่อย

ขั้นตอนการทำเริ่มจาก...วาดแพทเทิร์นของตุ๊กตาก่อนเป็นอันดับแรก แพทเทิร์นนั้นจะแยกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นส่วนหัวติดกับส่วนตัว ส่วนที่เป็นแขนทั้งสองข้าง และส่วนขาทั้งสองข้าง ที่ต้องทำเป็น 3 ส่วนก็เพราะว่าจะทำให้ตุ๊กตาที่ทำออกมาสามารถขยับแขนและขาได้เป็นอิสระ ดูเป็นธรรมชาติ ไม่แข็ง ดีกว่าที่จะทำเป็นแพทเทิร์นชิ้นเดียวกันทั้งตัว

เมื่อได้แพทเทิร์นตามที่ต้องการแล้ว ก็นำแพทเทิร์นไปทาบลงบนผ้าดิบ ใช้ดินสอร่างตามแพทเทิร์น ร่างเสร็จก็ใช้กรรไกรตัดตามแบบที่ร่างไว้ ตัดแบบละ 2 ชิ้น โดยการตัดนั้นให้ตัดเผื่อเกินเส้นที่ร่างไว้ เพื่อที่เวลาเย็บจะได้เย็บตามเส้นที่ร่างไว้โดยด้ายไม่หลุด หลังจากตัดแพทเทิร์นเรียบร้อยแล้วก็นำแพทเทิร์นทั้ง 2 ชิ้นที่เป็นส่วนหัวติดกับตัวตุ๊กตามาประกบกัน เย็บให้ติดกันด้วยจักรหรือเย็บมือ เว้นช่องไว้สำหรับยัดใยสังเคราะห์เล็กน้อย จากนั้นก็เย็บส่วนแขน และขาตุ๊กตา

หลังจากเย็บแต่ละแบบเสร็จแล้ว กลับด้านที่เย็บให้เข้าไปไว้ข้างใน ก่อนจะทำการยัดใยสังเคราะห์ การยัดใยสังเคราะห์นั้นให้ยัดพอประมาณ อย่าให้แน่นจนแข็งเกินไปหรือน้อยจนนิ่มเกินไป เพราะจะทำให้ตุ๊กตาไม่สวยงาม เมื่อยัดใยสังเคราะห์เสร็จแล้วก็เย็บปิดรูให้เรียบร้อย จากนั้นก็นำแบบทั้ง 3 ส่วนมาทำการประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้ด้ายเย็บติดให้แน่นหนา

ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการเพนท์หน้าลงไปบนหน้าตุ๊กตาตามแบบที่ลูกค้านำรูปมาให้ทำ เมื่อเพนท์เสร็จก็ทำการตัดชุดให้ตุ๊กตาตามแบบที่ลูกค้าสั่งทำ ใส่ชุดให้ตุ๊กตาเสร็จก็เริ่มทำผมของตุ๊กตา โดยใช้ไหมพรมมาทำตามทรงตามแบบที่ลูกค้าต้องการ แล้วนำไปใส่ตุ๊กตา ทำการเย็บติดให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมจำหน่ายให้ลูกค้า

“ตุ๊กตาหน้าล้อเลียน” ของปิ๋ม-วรรณลักษณ์ มีหลายขนาดหลายไซซ์มีตั้งแต่ไซซ์ S สูง 11 นิ้ว ราคา 450 บาท, ไซซ์M สูง 14 นิ้ว ราคา 550 บาท, ไซซ์ L สูง 18 นิ้ว ราคา 650 บาท, ไซซ์ EXTRA สูง 21 นิ้ว ราคา 850 บาท นอกจากนั้นยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่เป็นงานแฮนด์เมด อีกหลากหลาย ทั้งตุ๊กตาคันทรีดอลล์ กระเป๋า ฯลฯ

ใครสนใจ ’ตุ๊กตาหน้าล้อเลียน“ ที่ว่ามา สามารถเข้าไปดูตัวอย่างงานได้ที่ www.wix.com/pimartshop/pim#! และ www.facebook.com/pim artshop หรือต้องการสั่งทำ ต้องการพูดคุยสอบถามกับเจ้าของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ก็ติดต่อไปได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-1644-7822 หรือทางอีเมล pimartshop@hotmail.com

http://www.dailynews.co.th/article/384/15250