Sunday, December 18, 2011

แนะนำอาชีพ‘ขนมไดฟูกุ’

แนะนำอาชีพ‘ขนมไดฟูกุ’
“ไดฟูกุ” เป็นหนึ่งในขนมหวานยอดฮิตของประเทศญี่ปุ่น ลักษณะเป็นก้อนแป้งนิ่ม ๆ มีไส้อยู่ข้างใน สีสันน่ารับประทาน ชื่อไดฟูกุแปลว่ามีความสุขมาก ๆ จึงถือว่าเป็นขนมมงคลของญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยเราก็มีการนำขนมชนิดนี้มาพลิกแพลงดัดแปลง เกิดเป็น “ช่องทางทำกิน” จากขนมญี่ปุ่น “ไดฟูกุ” ในเมืองไทย ซึ่งวันนี้เรามีข้อมูลมานำเสนอ...

.......................................

กล้า-วิทยา ศานต์ฤทัย ทำขนม “ไดฟูกุ” จำหน่าย โดยเขาบอกว่า ขนมไดฟูกุนี้เป็นขนมมงคลของญี่ปุ่น โดยปกติที่ญี่ปุ่นจะไม่ได้ทำขายเพื่อทานกันตลอดทั้งปี แต่มักจะทำทานกันเฉพาะเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น เทศกาลปีใหม่

สำหรับแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากจะนำขนมชนิดนี้มาผลิตเพื่อขายนั้น เขาบอกว่า เนื่องจากติดใจในรสชาติ และคิดว่าตลาดคนไทยน่าจะยอมรับขนมชนิดนี้ได้ไม่ยาก จึงลองค้นหาสูตรและได้รับคำแนะนำจากเพื่อนชาวญี่ปุ่น จนออกมาเป็นขนมไดฟูกุญี่ปุ่น รสชาติสไตล์ไทย โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “คาชิ ฮิเมะ” ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี มีทั้งลูกค้าที่ซื้อไปทานเอง กับลูกค้าที่มารับเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ นอกจากนี้ก็ยังมีรายได้จากการรับจัดเลี้ยงของว่างอีกทางหนึ่งด้วย

ขนมไดฟูกุที่ทำอยู่นั้น มีไส้ต่าง ๆ อาทิ ชาเขียว, ถั่วแดง, ถั่วเหลือง, เผือก, งาดำ, กาแฟ, วิปปิ้งครีม นอกจากนี้ยังพยายามดัดแปลงโดยนำผลไม้ประจำฤดูกาลต่าง ๆ เข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มทางเลือกและสร้างโอกาสในการขายให้มากขึ้น เช่น พุทราจีน, เกาลัด, กาแฟ, ทุเรียน , สตรอเบอรี่ หมุนเวียนไปตามฤดูกาล หรือตามแต่ลูกค้าสั่งซื้อ

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 30,000 บาท ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ที่เริ่มตั้งแต่ลูกละ 12 บาท จนถึง 30 บาท แล้วแต่ไส้

อุปกรณ์การทำ หลัก ๆ ประกอบด้วย เครื่องนวด, กระทะทองเหลือง, ไม้พาย, เครื่องปั่น, หม้อสแตนเลส, เตาแก๊ส, ถาด, กะละมัง, รังถึง, แม่พิมพ์กดลาย เป็นต้นส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการทำตัวแป้ง ก็มี แป้งข้าวเหนียว, แป้งข้าวญี่ปุ่น, แบะแซ, เนยขาว, แป้งนวลหรือแป้งโรย, สีผสมอาหาร, กลิ่นสงเคราะห์ และน้ำสะอาด

ส่วนผสมของไส้ ได้แก่ ถั่วเขียว, ถั่วแดง, เผือก , งาดำ, พุทราจีน, น้ำตาลทราย, ผงชาเขียว และน้ำมันพืช หรือจะใช้หัวกะทิแทนก็ได้

ขั้นตอนการทำ แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนการเตรียมไส้ และขั้นตอนการเตรียมแป้ง
ขั้นตอนการทำไส้ สำหรับชาเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง เผือก วิธีทำเหมือนกัน ต่างตรงที่ไส้ชาเขียวจะเพิ่มผงชาเขียวลงไปในถั่วเหลือง การทำไส้เริ่มจากนำถั่วเขียวเลาะเปลือกมาแช่น้ำทิ้งไว้ 5 ชั่วโมง นำมานึ่งหรือต้มให้สุกและปั่นให้ละเอียด เทใส่ลงในกระทะทองเหลือง ผสมน้ำตาลทรายและน้ำมันพืช จากนั้นกวนด้วยไฟอ่อน ๆ จนหอม

เมื่อได้ที่แล้วก็ยกลงพักไว้ให้เย็น แล้วทำการปั้นเป็นลูก ๆ เตรียมไว้ ไส้พุทราจีนกับไส้งาดำ วิธีทำคล้ายกัน เพียงแต่ไส้พุทราจีนต้องนำพุทราแห้งไปต้มจนพุทรานุ่มก่อน จากนั้นแกะเม็ดออก นำเนื้อพุทรามาปั่นให้ละเอียด นำไปกวน ส่วนไส้งาดำให้นำงาดำไปคั่วให้หอมก่อนจะนำมาปั่น และนำมากวน

ขั้นตอนการทำตัวแป้ง นำแป้งข้าวเหนียวและแป้งข้าวญี่ปุ่นมาร่อนผสมกัน พักไว้ นำแบะแซผสมกับน้ำสะอาด กวนด้วยไฟกลางจนละลาย เติมเนยขาว สีสังเคราะห์ และกลิ่นผสมอาหาร ลงไปกวนให้เข้ากัน พอน้ำแบะแซร้อนจัดจึงยกลงและตักใส่ลงไปในแป้งที่ผสมไว้ ทิ้งไว้ให้อุ่นพอจับได้ จึงนำมานวดจนได้แป้งที่มีลักษณะเหนียวเนียน

สำหรับการปั้น ให้เอามือแตะแป้งนวลหรือแป้งโรย ใช้ช้อนตักแป้งที่ผสมเสร็จออกมาปั้นให้เป็นก้อนกลม ใช้มือรีดแผ่แป้งให้บาง จากนั้นนำไส้ที่เตรียมไว้ใส่ลงตรงกลาง ทำการปั้นห่อไส้ให้มิด คลุกแป้งนวลอีกครั้ง จึงบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

“จุดเด่นอร่อยลิ้นของขนมชนิดนี้ คือความเหนียวนุ่มของแป้ง โดยหากไม่แช่ตู้เย็นก็จะเก็บไว้ได้ประมาณ 3 วัน แต่ถ้าแช่ตู้เย็นก็จะสามารถเก็บไว้ทานได้นานเป็นอาทิตย์” วิทยา ซึ่งทำ “ไดฟูกุ” สไตล์ไทย ขาย กล่าว

.......................................

ใครสนใจขนมชนิดนี้ ต้องการติดต่อวิทยา ติดต่อได้ที่ เลขที่ 88/15 ถนนเลียบทางด่วนวงแหวนประชาอุทิศ ทุ่งครุ กรุงเทพฯ โทร.08-7455-3351, 08-1557-2421 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเมนูขนมต่างชาติที่ปรับรสชาติจนถูกปากคนไทย กลายเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ในเมืองไทย ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย!!

เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง
จามิกร ศรีคำ – กมลภัทร ทองกริต : ภาพ

.......................................

คู่มือลงทุน...ขนมไดฟูกุ

ทุนเบื้องต้น ประมาณ 30,000 บาท

ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 50% จากราคา

รายได้ ราคาลูกละ 12-30 บาท

แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป

ตลาด ขายทั่วไป, รับจัดเลี้ยง

จุดน่าสนใจ แปลกใหม่เป็นจุดขาย

http://www.dailynews.co.th/article/384/3555

Friday, December 16, 2011

แนะนำอาชีพ 'กระเป๋าผ้าปัก'

แนะนำอาชีพ 'กระเป๋าผ้าปัก' มหาอุทกภัยที่เกิดในปีนี้ หนักหน่วงและยาวนานมาก หลายพื้นที่สามารถกลับมาดำเนินชีวิตการงานกันได้ปกติแล้ว ขณะที่บางพื้นที่ก็ยังต้องเผชิญกับภัยน้ำอยู่ ทีมคอลัมน์ ’ช่องทางทำกิน“ ก็ขอส่งใจช่วยให้ทุกคนเข้มแข็ง มีแรง มีพลังในการฟื้นฟูชีวิตและการทำมาหากินให้กลับคืนมาได้เร็ววัน ซึ่งวันนี้ทางทีมฯก็มีข้อมูลงานประดิษฐ์ประเภทงานปัก ที่สามารถจะหยิบจับเป็นอาชีพหลัก หรือทำเป็นอาชีพเสริมก็ได้ นั่นคืองาน “กระเป๋าผ้าปัก” มาให้ลองพิจารณากัน...

“วราภรณ์ ลูกศร” เล่าว่า เดิมทีทำงานเป็นพนักงานบริษัทผลิตสินค้าเกี่ยวกับงานผ้าอยู่แล้ว อีกทั้งตนเองเรียนจบมาทางด้านศิลปะ จึงคิดว่างานผ้าโดยเฉพาะงานปักนั้น ถ้าออกแบบดี ๆ มีลูกเล่น ก็สามารถที่จะพัฒนาและสามารถทำเป็นธุรกิจของตนเองได้ จึงตัดสินใจลาออกมาเพื่อมาลงทุนทำงานผ้าและงานปักที่ตนเองรักเป็นธุรกิจของ ตนเอง โดยสินค้าที่ผลิตนั้นจะเน้นงานผ้าเกือบทั้งหมด และมีจุดเด่นอยู่ที่ลวดลายการ์ตูนที่ปักอยู่บนสินค้า ซึ่งทุกชิ้นเป็นงานปักมือทั้งหมด

“จุดเด่นที่ลูกค้าชอบและเป็นจุดขายของเราคือ ลายปักที่จะเป็นคนออกแบบเองทั้งหมด เน้นลายการ์ตูนน่ารัก เน้นเรื่องราวความรักของครอบครัว ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบเพราะเป็นงานปักด้วยมือทั้งหมด การเดินเส้นด้ายก็จะอ่อนไหวไม่แข็งเหมือนงานที่ปักด้วยคอมพิวเตอร์ หรืองานปักที่ผลิตในแบบอุตสาหกรรม” วราภรณ์กล่าว

ก่อนจะบอกต่อไปว่า แรก ๆ ที่ผลิตสินค้าจำหน่าย จะใช้การเดินสายนำสินค้าไปขายตามตลาดนัด เน้นกลุ่มพนักงานออฟฟิศ แต่เมื่อมาคำนวณต้นทุนค่าเช่าพื้นที่และค่าเดินทางแล้ว คิดว่าไม่คุ้มทุนเท่ากับการเปิดหน้าร้านเพื่อจำหน่าย ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถคำนวณต้นทุนคงที่ได้แล้ว ยังทำให้เกิดกลุ่มลูกค้าประจำมากกว่าการขายเร่ จึงตัดสินใจเปิดร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าที่บริเวณชั้น 2 ภายในห้างซีคอนสแควร์ และเพิ่มทางเลือกในการจำหน่ายอีกทางด้วยการเปิดร้านสินค้าออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ www.aehobbycraft.com ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มีตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดย ใช้เทคนิคการตั้ง “ราคาขาย” เป็นตัวกำหนด “กลุ่มลูกค้า” ที่เข้ามาซื้อสินค้า

สำหรับสินค้าที่ผลิตขึ้น มีตั้งแต่กระเป๋าใส่เศษสตางค์, ซองโทรศัพท์มือถือ, ถุงผ้า, กระเป๋าถือ, กระเป๋าสะพาย, ซองใส่ไอแพด-โน้ตบุ๊ก, เสื้อยืดปัก, ตุ๊กตาปัก ซึ่งชิ้นงานทุกประเภทสามารถนำงานปักเข้าไปใช้ประกอบตกแต่งได้ทั้งสิ้น

“ระดับราคาจะเป็นตัวกำหนดกลุ่มลูกค้าให้ในตัว อย่างเช่น ถ้าหากเป็นลูกค้าเด็ก ๆ นักเรียน วัยรุ่น สินค้าที่ลูกค้ามักจะซื้อจะเป็นของกระจุกกระจิก กระเป๋าใบเล็ก ๆ กับซองโทรศัพท์ ที่ราคาไม่แพงนัก ถ้าหากเป็น กลุ่มพนักงานออฟฟิศหรือกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ มักจะนิยมสินค้าประเภทกระเป๋าสะพาย ซองใส่ไอแพด ที่มีขนาดและราคาสูงกว่า ลูกค้าเด็ก ๆ จะเน้นของไม่แพง ซื้อได้บ่อย ส่วนกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่จะซื้อไม่บ่อย แต่จะขายได้ราคาสูงกว่า เพราะกลุ่มนี้จะเน้นที่วัสดุคุณภาพสูง ขนาด และประโยชน์ใช้สอย มากกว่ากลุ่มแรก” เจ้าของงานฝีมือระบุ

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 20,000 บาท ส่วนทุนวัสดุทำชิ้นงานอยู่ที่ประมาณ 60% จากราคาขาย ซึ่งสินค้ามีราคาขายเริ่มตั้งแต่ชิ้นละ 200 บาท ไปจนถึง 1,200 บาท โดยเครื่องมืออุปกรณ์ วัสดุ ที่ต้องลงทุนคือ จักรเย็บผ้า และอุปกรณ์งานเย็บผ้า วัสดุก็มีผ้าสำหรับทำกระเป๋า (ใช้ผ้าที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์), ผ้าสักหลาด สำหรับใช้ในการเป็นชิ้นปักลวดลาย, สายหนัง สำหรับทำหูกระเป๋า, ซิป, กระดุม, ใยสังเคราะห์ สำหรับบุกระเป๋า และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ ตามต้องการ

ขั้นตอนการทำ “กระเป๋าผ้าปัก” ชิ้นงานรูปแบบนี้ มีขั้นตอนไม่มาก แต่จะต้องใช้ทักษะในงานปักและงานเย็บขึ้นรูปกระเป๋าพอสมควร เริ่มจากการออกแบบลวดลายที่จะใช้ในการปัก ลายที่ใช้ปักส่วนใหญ่จะเน้นที่ตัวการ์ตูนน่ารัก โดยมักจะทำการปักไว้หลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ชิ้นล่วงหน้า หากต้องการชิ้นไหนก็สามารถหยิบมาใช้ประกอบกับสินค้าได้เลย

เมื่อได้ลายปักแล้ว ก็ทำการเย็บประกอบกับตัวกระเป๋า ทำการขึ้นตัวกระเป๋า ตรวจสอบรอยตะเข็บต่าง ๆ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำหลัก ๆ

“ขั้นตอนไม่มาก แต่ใช้เวลาในขั้นตอนปัก ส่วนใหญ่จะปักไว้พร้อมกันหลาย ๆ ชิ้น เมื่อจะใช้ก็หยิบใช้ได้เลย ลูกค้าส่วนใหญ่มีทั้งที่มาซื้อแบบสำเร็จรูปที่หน้าร้าน และมีทั้ง
ลูกค้าที่สั่งออร์เดอร์ที่ให้ช่วยคิดลายใหม่ให้” วราภรณ์กล่าว

ใครสนใจงาน ’กระเป๋าผ้าปัก“ และชิ้นงานอื่น ๆ ในรูปแบบนี้ ต้องการติดต่อวราภรณ์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9155-3709 หรือทางอีเมลที่ ae4wara@hotmail.com ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่ง ’ช่องทางทำกิน“ อีกงานไอเดียน่าสนใจ ที่นำมาเสนอให้พิจารณากันส่งท้ายปลายปี 2554 นี้.


แนะนำอาชีพ 'กระเป๋าผ้าปัก' ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/3362

Sunday, December 11, 2011

แนะนำอาชีพ ‘ซาลาเปาสมุนไพร’

แนะนำอาชีพ ‘ซาลาเปาสมุนไพร’
“ซาลาเปา” เป็นหนึ่งในอาหารทานเล่นที่ซื้อง่ายขายคล่อง ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีเรื่องราวการทำการขายซาลาเปาแบบไม่ธรรมดา แปลกแหวกแนวดึงดูดลูกค้า เป็นซาลาเปาหลากหลายสีสันโดยผสมสีที่ได้จาก “สมุนไพร” ที่มีประโยชน์มีคุณค่าทางอาหาร รวมทั้งไส้ซาลาเปาก็มีมากมายเลือกได้หลายอย่าง เป็นอีกช่องทางทำกินที่น่าพิจารณา...

................................
วัลย์ฤดี เรืองเดชสุวรรณ อายุ 47 ปี เจ้าของ “ดาราณีซาลาเปาสมุนไพร” ที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เล่าว่า เดิมทำซาลาเปาธรรมดาขาย เมื่อมีการประกวดโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ปี 2552 ได้ทำ “ซาลาเปาสมุนไพร” เข้าไปประกวด และได้รับรางวัลโอทอป 4 ดาว หลังจากนั้นก็ได้ทำขายมาเรื่อย ๆ และได้รับการตอบรับที่ดี

ก่อนจะมาขายซาลาเปา วัลย์ฤดีเล่าว่ามีอาชีพทำสวนมาก่อน และเป็นลูกจ้างในร้านเบเกอรี่ จึงมีพื้นฐานในการทำเบเกอรี่อยู่บ้าง ส่วนสูตรซาลาเปานั้นไปหาอ่านจากหนังสือเอง และนำมาพลิกแพลงดัดแปลง ซึ่งซาลาเปาสมุนไพรที่ทำนั้น ก็อ่านจากหนังสือที่ได้บอกไว้ว่าสมุนไพรไทยมีประโยชน์ สามารถนำมาประยุกต์ใส่ในอาหารและขนมได้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งที่บ้านมีพื้นที่ มีสวน มีดอกไม้ที่สามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ จึงค่อย ๆ ลองหัดทำดู

ซาลาเปาสมุนไพรที่ขายมี 9 ไส้ หลายสี สีขาว เป็นซาลาเปาหมูสับ สีเขียว ไส้ผักรวม สีขาว/เขียว ไส้สังขยา สีชมพู ไส้หมูแดง สีน้ำเงิน ไส้ถั่วดำ สีขาว/น้ำเงิน ไส้เผือก สีเหลือง ไส้ถั่วเหลือง สีขาว/เหลือง ไส้ครีม สีน้ำตาล ไส้โกโก้

วัลย์ฤดีกล่าวว่า เหตุที่แบ่งออกเป็นสี ๆ เพื่อให้ลูกน้องขายได้ง่าย ๆ เพราะไม่ต้องจำอะไรยาก ๆ และการทำสีซาลาเปานั้น สีต่าง ๆ ที่ผสมลงไปในแป้งซาลาเปาเป็นสีที่ได้จากสมุนไพรล้วน ๆ และมีประโยชน์กับร่างกาย อาทิ สีชมพู มาจากดอกเฟื่องฟ้า สีเขียวมาจากใบเตย สีน้ำเงินมาจากดอกอัญชัน สีเหลืองมาจากขมิ้นสด

อุปกรณ์ทำซาลาเปา หลัก ๆ ก็มีเตาแก๊ส กะละมัง ที่ร่อนแป้ง เครื่องนวดแป้ง รังถึง ไม้นวดแป้ง และอุปกรณ์ทำเบเกอรี่อื่น ๆ ทุนอุปกรณ์ก็ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป ส่วนวิธีทำแป้งซาลาเปา ใช้แป้งสาลีตราบัวแดง 2 กก. ผสมร่อนกับแป้งสาลี 200 กรัม ใส่น้ำเปล่า 1.4 กก. ผงฟู 20 กรัม ตีรวมกันด้วยเครื่องตีแป้งจนแป้งเนียน ดูว่าแป้งยืดได้ก็ใช้ได้ (ถ้าตีไม่เนียน แป้งจะไม่นุ่ม) พักแป้งไว้โดยคลุมด้วยผ้าขาวบางประมาณ 30 นาที สังเกตดูว่าแป้งพองตัวขึ้นเป็น 2 เท่า ก็พร้อมใช้

การทำสีสมุนไพร สีชมพู ใช้ดอกเฟื่องฟ้า ล้างให้สะอาด ปั่นสด ๆ กรองด้วยผ้าขาวบาง หรืออาจใช้แครอทก็ได้, สีเขียว ใช้ใบเตยแก่สด ๆ ล้างให้สะอาด หั่นละเอียด ปั่นน้ำสด ๆ กรองด้วยผ้าขาวบาง, สีน้ำเงิน ใช้ดอกอัญชันสด ล้างให้สะอาด ปั่นสด ๆ กรองด้วยผ้าขาวบาง, สีเหลือง ใช้ขมิ้นสดปั่นน้ำออกมา กรองด้วยผ้าขาวบาง ส่วนสีน้ำตาล ใช้ผงโกโก้ทำ

แป้งซาลาเปาที่นวดแล้ว 1 กก. จะปั้นซาลาเปาได้ 50-60 ลูก โดย ถ้าจะทำเป็นแป้งสีต่าง ๆ จะใช้แป้ง 1 กก. นวดผสมสีสมุนไพรที่ต้องการ 1 ช้อนแกง ส่วนแป้งสีน้ำตาลใช้ผงโกโก้ 1 ช้อนชา ร่อนลงไปนวดกับแป้ง 1 กก.

สำหรับไส้ซาลาเปา วัลย์ฤดีบอกว่า ไส้ที่ขายดี มีอาทิ ไส้หมูแดง ไส้ผักรวม ไส้สังขยา ไส้ครีม ไส้เผือก โดยไส้หมูแดง ใช้หมูเนื้อแดง 1.5 กก. ต้มให้นุ่ม ทุบให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ ผัดกับซอสพริก 1 ถ้วยตวง ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายแดง กระเทียม พริกไทย, ไส้ผักรวม ใช้กะหล่ำปลี กะหล่ำปลีม่วง แครอท ข้าวโพดอ่อน อย่างละ 500 กรัม ล้างน้ำ หั่นซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผสมด้วยเห็ดหอมพอประมาณ โดยนำเห็ดไปแช่น้ำให้นุ่ม ต้มให้สุก และหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ การทำเป็นไส้ผักรวมก็นำผักทั้งหมดไปผัดน้ำมันพืช ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย ซอสปรุงรสเจ ซีอิ้ว ให้ได้รสชาติที่ต้องการ

ไส้ครีม ใช้ไข่แดง 10 ฟอง แป้งสาลี 300 กรัม ยีให้เข้ากัน และใส่นมสด 1 กระป๋อง น้ำตาลทราย 400 กรัม คนให้เข้ากัน นำไปกวนในเตาให้ข้นเข้ากัน, ไส้สังขยาใบเตย ใช้แป้งสาลี 500 กรัม นมข้น ฝ กระป๋อง นมสด 1 กระป๋อง น้ำตาลทราย 400 กรัม น้ำใบเตย 2 ช้อนโต๊ะ, ไส้โกโก้ ใช้แป้งสาลี 300 กรัม นมข้น ฝ กระป๋อง นมสด 1 กระป๋อง น้ำตาลทราย 400 กรัม และผงโกโก้ 1 ช้อนชา, ไส้เผือก ใช้เผือกนึ่ง 1 กก. กวนกับน้ำตาลทราย 500 กรัม กวนจนเข้ากัน (ไม่ใส่กะทิ)

วิธีปั้นเป็นซาลาเปา แบ่งแป้งออกเป็นลูก ๆ ละ 50 กรัม แผ่แป้งออกเป็นวงกลม ตักไส้ใส่ลงบนแป้งพอประมาณ จับแป้งคลุมปิดให้เรียบร้อย จีบรอบให้สวยงาม ส่วนเทคนิคทำแป้งที่มี 2 สี จะแบ่งแป้งขาวกับแป้งที่ผสมสีออกมาอย่างละ 25 กรัม วางติดกัน แผ่แป้งออกเป็นวงกลม ตักไส้ใส่ลงไปพอประมาณ จีบปิดให้เรียบร้อยสวยงาม

ปั้นหุ้มไส้เสร็จก็คลุมผ้าขาวบาง ประมาณ 15 นาที ถ้าอากาศร้อน ถ้าอากาศเย็นจะนานกว่านี้ เมื่อแป้งพองแล้วก็นำไปใส่รังถึงนึ่งให้สุก ใช้เวลาราว 15 นาที โดยราคาขายซาลาเปาคือใบละ 12 บาท ต้นทุนใบละประมาณ 7 บาทขึ้นไป

................................

สนใจ “ซาลาเปาสมุนไพร” ต้องการติดต่อ วัลย์ฤดี เรืองเดชสุวรรณ ติดต่อได้ที่ 92/1 หมู่ 10 ต.หนองยาง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โทร.08-5275-0468 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่ยังไปได้ดี.

................................

คู่มือลงทุน...ซาลาเปาสมุนไพร

ทุนอุปกรณ์ 5,000 บาทขึ้นไป

ทุนวัตถุดิบ 7 บาทขึ้นไป / ลูก

รายได้ ราคาลูกละ 12 บาท

แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป

ตลาด ตลาดนัด, แหล่งค้าขายทั่วไป

จุดน่าสนใจ สีสันจากสมุนไพรเป็นจุดขาย

http://www.dailynews.co.th/article/384/2542

Friday, December 9, 2011

แนะนำอาชีพ 'รับเพนท์ผนังบ้าน'

แนะนำอาชีพ 'รับเพนท์ผนังบ้าน'การตกแต่งผนังบ้านให้สวยงามมีอยู่หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทาสีสันตามที่ชอบ หรือใช้วิธีติดวอลเปเปอร์ที่มีลวดลายให้เลือกมากมายสร้างความสวยงามให้กับ ผนังบ้านได้เป็นอย่างดี แต่บางคนอยากได้ลวดลายผนังบ้านตามที่อยากได้ เป็นลายที่ไม่เหมือนใคร การ ’เพนท์ผนังบ้าน“ การเพนท์ลวดลายลงผนังบ้าน ก็เป็นอีกทางเลือกที่หลาย ๆ คนนิยมทำกัน อาชีพรับเพนท์ฝาผนังบ้านจึงเป็นอีกหนึ่ง ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ ซึ่งวันนี้ก็มีข้อมูลมานำเสนอ...

ศราวุธ แซ่ฉั่ว เป็นช่างเพนท์ภาพบนผนัง มีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้มายาวนาน เขาเป็นคนที่ชอบการวาดรูป ชอบออกแบบ และก็เรียนจบมาทางด้านตกแต่งภายใน จบจากเพาะช่าง หลังจากที่จบออกมาก็เข้าทำงานบริษัทรับออกแบบตกแต่งแห่งหนึ่งซึ่งตรงกับสาย งานที่เรียนมา โดยเจ้าตัวเล่าว่า ได้เข้าทำงานที่บริษัทออกแบบตกแต่ง แต่ทำอยู่ได้ประมาณ 2 เดือนก็เจอช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 บริษัทที่ทำงานอยู่ได้รับผลกระทบด้วย ทำให้ตัดสินใจลาออก

จากนั้นพยายามมองหางานใหม่ ก็ได้งานที่ท้าทายมาทำ คือการรับงานเพนท์เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่โรงงานแห่งหนึ่ง ที่เป็นของบริษัทต่างชาติ ส่งสินค้าพวกเฟอร์นิเจอร์เข้ามาเพนท์ในประเทศไทยโดยนำเข้ามาผ่านบริษัทของคน ไทย

“ช่วงนั้นยอมรับว่าได้รายได้ดีมาก แต่ก็ทำอยู่ได้ประมาณ 3 ปี บริษัทที่ผมทำอยู่ก็เริ่มมีปัญหากันภายใน จนในที่สุดก็ต้องปิดตัวลง ตอนนั้นผมว่าจะเรียนต่อ แต่ที่สุดก็ได้กลับไปทำงานบริษัทออกแบบตกแต่งอีกครั้ง”

เขาเล่าอีกว่า งานเพนท์เฟอร์นิเจอร์ ทำให้ได้ประสบการณ์การทำงานด้านเพนท์มาก เหมือนเป็นงานที่ทำให้เปลี่ยนวิถีเส้นทาง จากการที่เป็นคนชอบวาดภาพ ชอบออกแบบ และมีความรู้ในเรื่องการออกแบบในคอมพิวเตอร์ ซึ่งในช่วงที่ว่างจากงานประจำก็จะออกแบบลวดลายเฟอร์นิเจอร์แล้วเอาไปเสนอขาย ให้กับบริษัทที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ จากนั้นก็ต่อยอดจากการเพนท์เฟอร์นิเจอร์มาเป็นการ รับเพนท์ผนังบ้าน ซึ่งก็ไปได้ เพราะคนที่ทำทางด้านนี้ยังมีไม่มาก

ทำงานประจำไปด้วย ออกแบบลวดลายและรับเพนท์เฟอร์นิเจอร์ไปด้วย อยู่ประมาณ 3 ปี ก็ตัดสินใจออกจากงานประจำมารับเพนท์ผนังบ้าน ออกแบบลวดลายอย่างจริงจัง ซึ่งศราวุธบอกว่า ตอนแรกก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีคนจ้างไปเพนท์ทุกวันหรือเปล่า แต่ก็ตัดสินใจออกมาทำงานนี้ เพราะคิดว่าน่าจะไปได้ด้วยดี เพราะมีลูกค้าหันมาให้ความสนใจกันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ตัดสินใจทำงานเพนท์ผนังบ้านอย่างจริงจัง ก็เริ่มจากการทำเว็บไซต์เพื่อใช้เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และเป็นหน้าร้านสำหรับโชว์ผลงานเพนท์เฟอร์นิเจอร์และผลงานเพนท์ผนังของตัว เอง

’การทำเว็บไซต์ถือว่าเป็นช่องทางที่ค่อนข้างได้ผลดี ทำให้ลูกค้ารู้จักเรามากขึ้น“ ศราวุธกล่าว

ปัจจุบันงานเพนท์ผนังได้กลายเป็นงานหลักที่มีลูกค้าให้ความสนใจติดต่อสอบถาม ทุกวัน มีลูกค้าว่าจ้างใช้บริการมากขึ้น ซึ่งศราวุธบอกถึงการเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเพนท์ผนังว่า การเพนท์สีผนังนั้นสีที่ใช้จะใช้เป็นสีอะคริลิกที่มีคุณภาพเพราะหลังจากที่ ทำการเพนท์แล้วสีจะออกมาดูสวยสดใส และทำความสะอาดได้ง่ายเพียงใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดทำความสะอาดเท่านั้น หรือใครจะใช้สีทาบ้านทั่วไปทำการเพนท์ก็ได้ แต่ต้องเลือกเกรดที่ใกล้เคียงกับสีอะคริลิก และเรื่องความสดใสของสีก็จะสดลงมา ส่วนสีรองพื้นจะใช้เป็นสีทาบ้านเกรดใกล้เคียงกับสีอะคริลิกทารองพื้น

พู่กันและแปรงสำหรับลงสีหรือวาด ก็จะต้องมีหลากหลายเบอร์ ตั้งแต่เบอร์เล็กไปจนถึงเบอร์ใหญ่ นอกจากนั้นอาจจะต้องมีเครื่องปั๊มลมไว้สำหรับทำแอร์บรัชพ่นสีสำหรับพื้นที่ ที่กว้าง เพื่อช่วยเรื่องความสะดวกและรวดเร็วในการทำงานมากขึ้น เรื่องของกระดาษกาวที่ใช้ติดผนังบังส่วนที่ไม่ได้ทำงาน ป้องกันสีไปเปื้อนส่วนอื่น ก็จำเป็นต้องมี ก่อนติดกระดาษกาวจะต้องดูพื้นผนังก่อนว่าเป็นพื้นแบบไหน ถ้าเป็นพื้นที่ใช้กระดาษกาวติดแล้วเวลาดึงสีผนังไม่ลอกติดมาด้วยก็ใช้กระดาษ กาวทั่วไปติดได้ แต่ถ้าเป็นพื้นผนังที่ติดแล้วสีลอกตามมาด้วย จะต้องใช้กระดาษกาวอย่างดีและก่อนติดควรนำกระดาษกาวมาติดที่กางเกงเพื่อให้ ขนของกางเกงติดไปที่กระดาษกาวก่อน เป็นการลดความเหนียวของกระดาษกาว

สำหรับทุนในการซื้ออุปกรณ์เบื้องต้นก็อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 10,000 บาท

การเพนท์ เมื่อได้รับว่าจ้างให้ไปเพนท์ผนัง อย่างแรกก็จะต้องไปดูสถานที่ ถ่ายรูปไว้ ถ้าเป็นพื้นที่ไม่เรียบก็จะบอกเจ้าของบ้านให้ปรับพื้นให้เรียบก่อน จากนั้นก็กลับมาออกแบบลวดลายหรือภาพลงในคอมพิวเตอร์ อาจจะออกแบบหลายแบบเพื่อให้ลูกค้าเลือก การออกแบบให้เข้ากับบรรยากาศหรือสไตล์ของบ้านเป็นสิ่งจำเป็น ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

เมื่อลูกค้าเลือกแบบแล้ว ก็พรินต์แบบเป็นภาพสีออกมาแล้วก็ไปเริ่มการเพนท์ โดยเริ่มจากทำความสะอาดผนังที่จะเพนท์ให้สะอาดโดยใช้ผ้าเช็ดฝุ่นละอองก่อน จากนั้นติดกระดาษป้องกันสีเปื้อนพื้นที่ที่ไม่ได้เพนท์ แล้วก็ทำการวาดเพนท์ตามแบบได้ทันที หลังจากที่วาดเพนท์ภาพเสร็จแล้วก็ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบพื้นที่การทำงาน ให้เรียบร้อย

“การเพนท์ภาพนี้จำเป็นต้องใช้ความชำนาญและประสบการณ์ในการทำ หรือจะใช้วิธีการตัดทำแบบมาทาบแล้วลงสีก็ได้สำหรับผู้ที่ยังไม่ชำนาญในการ เพนท์แบบฟรีแฮนด์” ศราวุธกล่าว ซึ่งอัตราค่าจ้างในการเพนท์ผนังบ้านนั้นก็มีตั้งแต่ 4,000 บาทขึ้นไป โดยขึ้นอยู่กับรายละเอียดของภาพ รวมถึงรูปแบบของภาพ และพื้นที่ในการทำการเพนท์ด้วย

ศราวุธใช้เว็บไซต์ www.baanchangpaint.com เป็นหน้าร้านและเป็นช่องทางสื่อสารกับลูกค้า ส่วนเบอร์โทรศัพท์คือ 08-9446-1633 ซึ่งอาชีพรับ’เพนท์ผนังบ้าน“ นี่ก็เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ กลุ่มงานศิลป์ผนวกงานบริการที่น่าสนใจ โดยหลังผ่านยุคน้ำท่วมใหญ่ คนไทยมีการปรับปรุงบ้านกันมาก อาชีพนี้อาจจะยิ่งมีอนาคตสดใส.

http://www.dailynews.co.th/article/384/2401

Saturday, December 3, 2011

แนะนำอาชีพ 'หมี่กรอบสมุนไพร'

แนะนำอาชีพ 'หมี่กรอบสมุนไพร' การนำพืชผักสมุนไพรมาผสมผสานพลิกแพลงกับสูตรอาหาร ทำให้อาหารเกิดคุณค่าที่มีประโยชน์กับร่างกายมากขึ้น ทำให้เกิดสูตรอาหารใหม่ ๆ ที่อร่อยได้อย่างลงตัว และในปัจจุบันในยุคที่อาชีพขายอาหารมีคู่แข่งมาก อาหารประเภทที่มีสมุนไพรก็ถือเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่สามารถดึงเงินลูกค้าได้ดี อย่าง “หมี่กรอบสูตรสมุนไพร” นี่ก็ใช่...

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรปากน้ำโจ้โล้ ที่มีประธานกลุ่มคือ ทองพูล ศรีวรนันท์ เล่าให้ฟังว่า ได้จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านมาตั้งแต่ปี 2545 วัตถุประสงค์เพื่อให้แม่บ้านหารายได้เสริมมาช่วยเหลือครอบครัว โดยเริ่มแรกก็ช่วยกันมองหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงในท้องถิ่น มาผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดมา เพื่อการผลิตสินค้า

“วัตถุดิบที่มีคุณภาพของท้องถิ่นเราก็จะมี มะขาม มะม่วง และสมุนไพรต่าง ๆ ก็นำมาแปรรูปทำเป็นมะขามคลุก มะขามแก้ว มะม่วงกวน ส่งออกขายในท้องถิ่นเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่ปัญหาอยู่ที่มะม่วงกวนจะมีเป็นบางฤดู ไม่ได้มีตลอดปี ทางกลุ่มจึงคิดว่าควรหาผลิตภัณฑ์หรือช่องทางอื่นมาช่วย แล้วก็มาเลือก หมี่กรอบสูตรสมุนไพร ที่เป็นของทานเล่น ทานกันได้ทั้งเด็กผู้ใหญ่ มีอายุการเก็บได้นาน และที่สำคัญคือในพื้นที่มีโรงงานผลิตเส้นหมี่ ประกอบกับมีการผลิตน้ำตาลโตนดที่มีคุณภาพดี กลิ่นหอม มีรสชาติอร่อย จึงนำมาเป็นส่วนผสมในการปรุงรสด้วย”

ทองพูลบอกอีกว่า เพราะความอร่อยของหมี่กรอบสูตรสมุนไพร จึงมีการพูดกันปากต่อปาก ซึ่งทางกลุ่มได้มีการพัฒนารสชาติเพื่อความแปลกใหม่ เช่น สูตรมันกุ้ง จนได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอทอประดับ 5 ดาว

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำหมี่กรอบสูตรสมุนไพร หลัก ๆ ก็มี... เตาแก๊ส, กระทะขนาดใหญ่, ตะแกรง, ตะหลิว, กะละมังขนาดใหญ่, ทัพพีไม้, เครื่องปั่น, ผ้าขาวบาง, หม้อสเตนเลส และอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบฉวยได้จากในครัว

วัตถุดิบหลัก ๆ ในการทำหมี่กรอบสมุนไพร ก็มี... เส้นหมี่ขาว, เม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอด, ใบมะกรูดทอด, พริกแห้งทอด และส่วนผสมของน้ำปรุงรสหรือน้ำคลุกเส้นหมี่ ก็มี... น้ำมะนาว, น้ำมะขามเปียก, ซอสปรุงรส, น้ำตาลโตนด, น้ำปลา, เกลือ และกระเทียมเจียว ขั้นตอนการทำ “หมี่กรอบสูตรสมุนไพร” เริ่มจากการทำน้ำคลุกหรือน้ำปรุงรสเส้นหมี่กรอบ ซึ่งต้องทำเตรียมเอาไว้เป็นอันดับแรก สามารถทำเตรียมได้คราวละมาก ๆ เพราะเก็บไว้ได้หลายวัน โดยนำน้ำตาลโตนดและน้ำมะขามเปียกใส่ลงไปในกระทะ แล้วยกขึ้นตั้งไฟ ใช้ความร้อนปานกลาง คนส่วนผสมให้เข้ากัน

พอเดือดปรุงรสด้วยน้ำปลา ซอสปรุงรส เกลืออีกเล็กน้อย น้ำมะนาว และใส่กระเทียมเจียวตามลงไป ชิมให้ได้ 3 รสตามชอบ ทำการเคี่ยวต่อไปเรื่อย ๆ จังหวะนี้ต้องหมั่นคนไปเรื่อย ๆ อย่าหยุดมือเพราะอาจไหม้ได้ เมื่อน้ำคลุกเส้นหมี่เหนียวเป็นตังเมก็เป็นอันใช้ได้ ยกลงตั้งพักไว้

ต่อไปเป็นขั้นตอนการทำหมี่กรอบ โดยการตั้งกระทะ เทน้ำมันให้ท่วม ใช้ไฟแรง พอน้ำมันร้อนจัด ๆ ค่อย ๆ ใส่เส้นหมี่ลงไปทอด ให้ทอดทีละพับ ไม่ต้องทอดนาน พลิกหน้าพลิกหลัง พอเส้นหมี่เหลืองกรอบก็ตักขึ้นพักไว้ในตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน

ลำดับถัดมาก็เป็นการคลุกเส้นหมี่กรอบ โดยนำเส้นหมี่ที่ทอดเตรียมไว้ใส่ลงในภาชนะขนาดใหญ่ แล้วค่อย ๆ เทน้ำคลุกเส้นหมี่ราดลงบนเส้นหมี่ ช่วงการคลุกเคล้าต้องใช้ความรวดเร็ว คลุกไปเรื่อย ๆ จนกว่าเส้นหมี่และน้ำคลุกจะเข้ากันดี และต้องคลุกตอนที่ยังร้อนอยู่ เพราะถ้าเย็น หรือคลุกไม่เร็ว เส้นหมี่จะจับตัวเป็นก้อนทันที

เสร็จแล้วก็นำหมี่กรอบบรรจุใส่กล่องพลาสติก โรยหน้าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทอด ใบมะกรูดทอด และพริกแห้งทอด โดยทางกลุ่มแม่บ้านตั้งราคาขายกล่องละ 35 บาท

“หมี่กรอบสูตรสมุนไพร” ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรปากน้ำโจ้โล้นี้ ใครสนใจสั่งซื้อติดต่อคุณทองพูลได้ที่ โทร.0-3859-5662, 08-1862-8455 และมีขายที่ตลาดน้ำบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และที่ร้านบุญมี ถนนฉะเชิงเทรา-บางปะกง ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ติดต่อคุณบุญมี โทร.0-3813-3174, 08-1928-8216.

http://www.dailynews.co.th/article/384/1530

แนะนำอาชีพ 'หูฟังถัก'

แนะนำอาชีพ 'หูฟังถัก'มหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่ แต่ถ้าใครยังเผชิญความลำบากอยู่ ทีม ’ช่องทางทำกิน“ ขอส่งใจช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคครั้งนี้ไปได้เร็ว ๆ ส่วนวันนี้ ณ ที่นี้ก็มีข้อมูลงานไอเดียงานฝีมือมานำเสนอ เป็นงานไม่ยาก รายละเอียดไม่ซ้ำซ้อน แต่ทำขายสร้างรายได้อย่างไม่น่าเชื่อ กับงาน “หูฟังถัก” ที่ก็น่าสนใจ...

“นิภาพรรณ อันสุวรรณ์ชัย” ซึ่งทำงานประดิษฐ์ “หูฟังถัก” เล่าว่า ตนเองชอบและหลงใหลงานประดิษฐ์ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับถักและประดิษฐ์จากผ้า ทำให้มีความชำนาญเกี่ยวกับงานประเภทนี้เป็นพิเศษ สำหรับไอเดียงานหูฟังถักนี้เริ่มจากตัวเองเป็นคนชอบฟังเพลง ซึ่งหูฟังที่ใช้ประจำมีราคาแพง และมักมีปัญหาจากการใช้งาน เช่น ข้อต่อขาดจากการพับหรือม้วน, สายสกปรกง่าย จึงลองนำงานถักมาปรับใช้ โดยเริ่มทำจากหูฟังของตนเองที่มีอยู่ โดยมีทั้งการถักที่สายหูฟัง และการถักในส่วนที่เป็นที่ครอบหูฟัง หลังทำเสร็จปรากฏว่ามีคนรู้จักเห็นเข้าและสอบถามว่าซื้อมาจากที่ไหน ตนจึงคิดว่าน่าจะสามารถผลิตและต่อยอดเพื่อผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายได้ จึงทำออกมา โดยอาศัยจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์ http://i-ears.tarad.com และในเฟซบุ๊ก www.facebook.com/iears2011 ก็ปรากฏว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี

ข้อดีของหูฟังถัก นิภาพรรณบอกว่า จะช่วยทำให้สายหูฟังดูใหม่เสมอ การถักหุ้มสายหูฟังทำให้สายหูฟังไม่โดนความสกปรกจากคราบมือ หรือมีสิ่งสกปรกต่าง ๆ มาติด ยิ่งสายหูฟังสีขาวด้วยแล้ว ยิ่งเห็นชัดได้ง่ายว่าสีหม่น เมื่อเก่าหรือสกปรก นอกจากนี้งานถักยังช่วยป้องกันและเพิ่มความแข็งแรงสายขั้วต่อต่าง ๆ ช่วยให้แข็งแรงมากขึ้นและใช้งานได้นานขึ้น เนื่องจากเมื่อใช้งานไปนาน ๆ บริเวณข้อต่อของหูฟัง เช่น บริเวณที่สวมหู และบริเวณแจ๊กเสียบ มักจะหลุดหักและขาดบ่อยจากการใช้งาน กับการพับงอขณะเก็บหูฟัง ซึ่งการถักหุ้มหูฟังจะช่วยคลุมสายส่วนขั้วต่อ ทำให้ลดความเสี่ยงความเสียหายที่เกิดจากการถูกทับ หรือใส่กระเป๋าโดยไม่ระมัดระวัง

“สินค้าจะเน้นที่ประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ขณะเดียวกันเราก็เพิ่มลูกเล่นและสีสันเข้าไปเพื่อให้สินค้าดูแปลกตา สร้างความน่าสนใจให้หูฟังมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันชิ้นงานมีทั้งที่ทำสำเร็จรูป โดยเราซื้อหูฟังนำมาถักเอง กับอีกแบบคือลูกค้าจะส่งหูฟังของลูกค้ามาให้เราถัก หรือในอนาคตที่คิดไว้คือลูกค้าสามารถสั่งรุ่นและยี่ห้อของหูฟังที่ต้องการ โดยทางเราจะเป็นฝ่ายจัดซื้อให้และนำมาถักแบบสำเร็จรูป” นิภาพรรณกล่าว

สำหรับทุนเบื้องต้นการทำชิ้นงานรูปแบบนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 30% ของราคา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 150-300 บาทต่อการถักหูฟัง 1 ชุด หรือขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของชิ้นงาน

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ก็มีไม่มากชิ้น หลัก ๆ ประกอบด้วย ด้ายซัมเมอร์ (คุณสมบัติคือ เส้นเล็ก เหนียว ไม่มีขนเหมือนไหมพรม), กรรไกร, เข็มถักโครเชต์หลายขนาด, เข็มปลายทู่ (ห้ามใช้เข็มปลายแหลมเพราะอาจทำอันตรายและสร้างความเสียหายกับสายหูฟังได้) และอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ตามต้องการ

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบและวางรูปแบบลวดลายที่จะถัก และเลือกสีด้ายที่ต้องการใช้ จากนั้นเริ่มทำการถัก โดยอาจจะเริ่มถักจากหูฟังก่อน หรือถักจากส่วนที่เป็นข้อต่อก่อนก็ได้ รูปแบบการถักเรียกว่า ถักแบบเก็บปลายด้าย โดยจะไม่มีการมัดด้ายเป็นปม เพราะปมของด้ายอาจจะไปเบียดสายหูฟังทำให้เกิดความเสียหายได้

เมื่อขึ้นรูปแบบได้แล้ว ก็ให้ถักต่อไปเรื่อย ๆ จนครบความยาวของสายหูฟัง หากเป็นการถักแบบสีเดียวก็จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นการถักสลับสี ระยะเวลาที่ใช้ก็อาจจะเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับจำนวนของสีที่ใช้นั่นเอง

“งานหูฟังถักมีขั้นตอนการทำไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลาและต้องใช้ความระมัดระวังในการขึ้นชิ้นงาน เพราะหูฟังที่ลูกค้าส่วนใหญ่นำมาให้ถักมักจะเป็นหูฟังที่มีราคาแพง ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งจำเป็นมากว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเชื่อใจว่าหูฟัง ของเขาจะไม่เกิดความเสียหายในขั้นตอนการถัก” นิภาพรรณระบุ

ใครสนใจ ’หูฟังถัก“ ต้องการติดต่อนิภาพรรณ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-0552-2759 หรือตามเว็บไซต์ข้างต้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกงานไอเดียชิ้นเล็ก ๆ ที่รายได้ไม่เล็ก เป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่ใช้เวลาในการทำไม่มาก ขั้นตอนการทำไม่ยากเกิน ไม่มีอุปกรณ์มากมายซับซ้อน ที่นำมาบอกเล่าไว้ให้ลองพิจารณากัน.
http://www.dailynews.co.th/article/384/1442