Sunday, February 27, 2011

แนะนำอาชึพ 'ขาหมูยัดไส้'

ธุรกิจร้านอาหารถือเป็น “ช่องทางทำกิน” ยอดฮิตของใครหลาย ๆ คน ตั้งแต่ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง ร้านขนม ร้านกาแฟ ไปจนถึงร้านหรู ๆ ซึ่งการทำธุรกิจร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกิน โดยผู้ที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจด้านนี้ต้องมีปัจจัยและองค์ประกอบหลาย อย่างเป็นตัวช่วย อาทิ เมนูหลากหลาย อาหารต้องอร่อย บริการเยี่ยม ราคาถูก บรรยากาศดี ทำเลตั้งร้านสะดวก เหล่านี้สามารถทำให้ธุรกิจร้านอาหารอยู่รอดปลอดภัย และบางร้านก็ใช้เมนูแปลกใหม่ดึงดูดลูกค้า อย่างเช่น “ขาหมูยัดไส้” หรือ “ขาหมูเวียดนาม”

กัญจนรัตน์ หิรัญพริษฐ์ หรือ เกต เจ้าของร้าน “นานา ไก่ย่าง” เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการทำร้านอาหารว่า ที่บ้านทำธุรกิจด้านอาหารกันอยู่แล้ว และด้วยความที่ครอบครัวเป็นคนอีสานดั้งเดิมจาก จ.หนองคาย บวกกับคุณแม่เป็นคนชอบทำอาหารและทำอาหารเก่ง ทั้งเธอและน้องสาวได้รับการถ่ายทอดวิชาการทำอาหารสารพัดชนิดมาตั้งแต่เล็กจน โต และคิดว่าถ้าจะขยายธุรกิจเพื่อต่อยอดธุรกิจของครอบครัว เปิดร้านอาหารสไตล์อีสาน น่าจะทำได้ดี เพราะคุ้นเคยและมีฝีมือในการทำอาหารอีสานอยู่แล้ว

“การทำธุรกิจร้านอาหาร ที่สำคัญเจ้าของร้านควรทำอาหารเป็นเองด้วย จะดีมากค่ะ เพราะพนักงานจะหาเรื่องหยุดได้ตลอดช่วงเทศกาลต่าง ๆ ช่วงเทศกาลคุณจะยิ่งขายดี ถ้าเราทำโดยต้องอาศัยคนอื่นตลอดจะลำบาก เราต้องสามารถกำหนดสูตร กำหนดรสชาติให้พ่อครัว เพราะถ้าเกิดเปลี่ยนพ่อครัวด้วยกรณีใด ๆ สูตรและรสชาติเดิมก็จะยังคงอยู่กับร้านตลอด จะไม่กระทบกับลูกค้า ส่วนเคล็ดในการครองใจคออาหารอีสานน่าจะเป็นรสชาติของอาหารที่จัดจ้านแต่กลม กล่อม ทางร้านจะเน้นให้เป็นรสชาติแบบอีสานแท้ ๆ รสแซบถึงใจ มีเมนูอาหารหลากหลายให้ลูกค้าได้เลือกสรร วัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารของที่ร้านเน้นสดและใหม่จริง ๆ เพราะร้านอยู่ตรงข้ามกับตลาดสะพานใหม่ สามารถซื้อของสดใหม่ได้ตลอดเวลา” เกตแจกแจง

พร้อมทั้งบอกว่า นอกจากฝีมือในการปรุงอาหารแล้ว หัวใจสำคัญที่ต้องเน้นเป็นพิเศษสำหรับอาหารคือเรื่อง “ความสะอาด” ซึ่งไม่ใช่แค่จัดใส่จานให้ดูสะอาดน่ารับประทานเท่านั้น อย่างผักสดก็ต้องล้างน้ำหลายครั้งจนมั่นใจว่าสะอาดจริง เวลาประกอบอาหารก็ต้องระวัง ที่สำคัญอีกอย่างคือการทำอาหารขายต้องรู้จัก “พลิกแพลงสูตร” ตามความชอบของลูกค้า ซึ่งที่ร้านจะอยู่ใกล้กับกองทัพอากาศ ก็จะมีทหารเป็นลูกค้าประจำเยอะ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำอาหารอีสานนั้น ต้องเตรียมให้ครบครัน ที่ขาดไม่ได้คือครกกับสากไม้สำหรับตำส้มตำ รวมถึงเขียง, มีด, ช้อน, ส้อม, ทัพพี, หม้อมีด้ามสำหรับใช้ปรุง, กระปุกหรือโหลสำหรับใส่วัตถุดิบ, กะละมัง, กระทะ, เตาแก๊ส, เตาถ่าน, ซึ้งนึ่งข้าวเหนียว, ลังถึงนึ่งปลา, ตะแกรง, หม้อต้มน้ำซุป, ถาด,
คีมคีบฯลฯ

วัตถุดิบที่ใช้ในครัว ต้องใหม่สดทุกวัน พระเอกต้องยกให้มะละกอดิบที่ต้องสดกรอบ ที่เหลือก็เป็นพวกถั่วลิสงคั่ว, กุ้งแห้ง, น้ำตาลปี๊บ, น้ำปลาอย่างดี, น้ำมะนาว, น้ำมะขามเปียก, พริกขี้หนูสด, พริกขี้หนูแห้ง, พริกป่น, ข้าวคั่ว, ปูเค็ม, ปลาร้า, ซอสปรุงรส, เกลือ, น้ำตาลทราย, เนื้อหมู, เนื้อไก่, เนื้อปลา, ชูรส, ผักชี, ฝรั่ง, แครอท, ต้นหอม, ใบสะระแหน่, ถั่วฝักยาว, มะเขือเทศ, ผักสดนานาชนิด เช่น กะหล่ำปลี, ผักบุ้งนา, แตงกวา, ผักแว่น, ผักแผ้ว, ผักกาดหอม ฯลฯ ตามแต่ผักชนิดใดจะเหมาะกับอาหารชนิดใด เหล่านี้เป็นต้น

สำหรับเมนูของร้านนี้ อาทิ ไก่ย่างนานา, ปากเป็ดทอด, ต้มแซบกระดูกอ่อน, แกงอ่อมหมู, ปลาร้าทรงเครื่อง, ยำเอ็นแก้ว, ปลาเก๋าลวกจิ้ม, เนื้อลายลวก, ไส้ตันทอด, ไก่บ้านต้มใบมะขาม, จิ้มจุ่มอีสาน, ปลาช่อนเผาเกลือ, ปลาทับทิมเผาเกลือ, ปลาดุกย่าง, ปลานึ่ง, ปลาทับทิมราดพริก, ปลามะนาว, เนื้อย่าง, คอหมูย่าง, หอยเผา, ต้มยำต่าง ๆ, ตำลาว, ตำป่า, ตำหอยดอง, ตำปูม้า, ตำไข่เค็ม, ตำซั่ว, น้ำตก, ลาบ ฯลฯ

รวมถึง “ขาหมูยัดไส้” หรือ “ขาหมูเวียดนาม” เมนูนี้เป็นอีกจานเด็ดที่ลูกค้าเกือบทุกโต๊ะต้องสั่ง โดย “ขาหมูยัดไส้” หรือ “ขาหมูเวียดนาม” นี้ วัตถุดิบที่ใช้ทำก็มี ขาหมู, หมูเนื้อสันติดมัน, หนังหมู, เห็ดหอม, เห็ดหูหนู, เครื่องเทศ, น้ำตาล, น้ำปลา, ซอสปรุงรส

ขั้นตอนการทำ “ขาหมูยัดไส้” หรือ “ขาหมูเวียดนาม” เริ่มจากเลือกขาหมูคุณภาพดีมาใช้ เมื่อได้มาแล้วก็เอาขาหมูมาขูดหนังและล้างให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ใช้มีดปลายแหลมคว้านเนื้อและเลาะเอากระดูกออกให้เหลือแต่หนังและส่วนของปลาย เท้าเพื่อให้คงรูปเดิม ตั้งพักไว้

ระหว่างนั้นให้นำหนังหมูมาขูดล้างสะอาด แล้วนำไปต้มให้สุก ตักขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำ หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เตรียมไว้ นำเห็ดหอมไปแช่น้ำทิ้งไว้สักครู่ พอนิ่มให้หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่นเดียวกับเห็ดหูหนูก็หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เตรียมไว้ จากนั้นนำหมูเนื้อสันติดมันมาบดหรือสับให้ละเอียด แล้วผสมกับเครื่องเทศ เห็ดหอมหั่น เห็ดหูหนูหั่น หนังหมูหั่น ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา ซอสปรุงรส ทำการคลุกเคล้าให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน

เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ก็นำไปยัดใส่ลงในขาหมูที่เตรียมไว้ ใช้ด้ายเย็บหนังให้ปิดสนิท ก่อนจะนำไปนึ่งนานประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อสุกแล้วยกลงทิ้งไว้ให้เย็น ก่อนจะนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น เมื่อจะเสิร์ฟให้ลูกค้ารับประทานก็นำขาหมูออกมาหั่นสไลด์ตามขวางเป็นชิ้นบาง ๆ รับประทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ด และ
ผักสด

อาหารของร้านนี้มีราคาตั้งแต่ 40 จนถึง 180 บาท ขึ้นอยู่กับเมนู ส่วน “ขาหมูยัดไส้” ขายจานละ 60 บาท โดยทุนเฉพาะวัตถุดิบของอาหารต่าง ๆ แต่ละจาน (ไม่รวมทุนเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ) ไม่เกิน 50%

ร้านของเกตตั้งอยู่ปากซอยพหลโยธิน 54 ต้องการติดต่อเกต ก็โทร. 08-6407-5909, 08-6608-2829 ต้องการจองโต๊ะ โทร. 08-1864-6532 ร้านเปิดให้บริการตั้งแต่ 17.00-24.00 น. ทุกวัน นอกจากจะขายที่ร้านแล้วยังมีบริการส่งฟรีในละแวกร้าน เมื่อสั่งอาหารตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป และรับจัดเลี้ยงตามงาน
ต่าง ๆ ด้วย

โดยมี “ขาหมูยัดไส้” เป็นหนึ่งในเมนูเด่น!!.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=123689

Saturday, February 26, 2011

แนะนำอาชีพ 'น้ำดอกไม้พร้อมดื่ม'

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีม ’ช่องทางทำกิน” มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือไอแทป (iTAP) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จนต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นได้ อย่างเช่น ’น้ำดอกไม้พร้อมดื่ม” รายนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อย...


“สำเนียง ดีสวาสดิ์” เล่าว่า ผลิต “น้ำดอกไม้” เพื่อสุขภาพ จำหน่ายมาได้ 4 ปีแล้ว โดยเริ่มจากการทำน้ำลูกสำรองและน้ำสมุนไพรพร้อมดื่มจำหน่ายที่ตลาดน้ำอัมพวา ต่อมามีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามาสอบถามว่าสนใจ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากดอกไม้หรือไม่ ซึ่งได้ตอบว่าสนใจ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ โดยจัดทำเป็นสูตรของตนเองขึ้น สำหรับดอกไม้ที่นำมาทำเป็นน้ำดอกไม้เพื่อสุขภาพนั้น ประกอบไปด้วยดอกไม้ 5 ชนิด ได้แก่ ดอกดาหลา, ดอกบัว, ดอกกุหลาบ, ดอกเข็มแดง, ดอกอัญชัน โดยดอกไม้ทั้ง 5 ชนิดนี้สามารถหาได้ในท้องถิ่น และจากการวิจัยพบว่ามีประโยชน์และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก

“เริ่มจากทำน้ำดอกดาหลาก่อนเป็นอันดับแรก แต่แรก ๆ ตลาดไม่ตอบรับนัก เพราะรสชาติของดาหลาเมื่อทำเป็นน้ำ รสชาติค่อนข้างจะเผ็ด จึงทำการปรับปรุงสูตรโดยเพิ่มส่วนผสมอื่น ๆ เข้าไปเพื่อให้ได้รสชาติที่ลูกค้าทานได้ง่ายขึ้น”

เจ้าของผลิตภัณฑ์กล่าวก่อนระบุว่า แต่ปัญหาต่อมาคือ เมื่อทำเสร็จแล้วน้ำดอกไม้มีอายุการเก็บรักษาสั้นมาก คือเดิมอยู่ที่ประมาณ 3 วัน ทำให้ลูกค้าไม่กล้าซื้อในจำนวนมาก ๆ ต่อมาเมื่อได้รับการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไอแทป ทำให้สามารถผลิตน้ำดอกไม้ชนิดเข้มข้น ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 1 ปี อีกทั้งยังนำกระบวนการสเตอริไลส์และกระบวนการพาสเจอไรซ์เข้ามาช่วยในการผลิต น้ำดอกไม้พร้อมดื่ม ทำให้มีอายุการเก็บรักษาได้นานตั้งแต่ 7 วันถึง 1 เดือน ทำให้กระจายและขายผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้เริ่มต้นที่ประมาณ 10,000 บาท ส่วนทุนวัตถุดิบประมาณ 50% จากราคาขาย โดยน้ำดอกไม้พร้อมดื่มจำหน่ายขวดละ 10 บาท เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ได้แก่ เครื่องปั่น, ภาชนะสเตนเลส, เตาสำหรับต้ม, ซึ้งนึ่ง, เครื่องวัดความหวาน หรือบริกซ์มิเตอร์ (Brix Meter) เครื่องอัดฝาจีบ (สำหรับผู้ที่ต้องการทำบรรจุขวดแก้ว) ส่วนผสมกับวัตถุดิบ แบ่งตามชนิดของน้ำดอกไม้ ได้แก่

น้ำดอกดาหลา ประกอบด้วย ดอกดาหลา 1 กิโลกรัม, ตะลิงปลิง 1 กิโลกรัม, น้ำตาลทรายขาว กิโลกรัม, เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำสะอาด 5 ลิตร

น้ำดอกเข็มแดง ประกอบด้วย ดอกเข็มแดงตากแห้ง ขีด, น้ำสะอาด 4 ลิตร, น้ำตะลิงปลิงสด กิโลกรัม, เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ, โซดา 4 ลิตร, น้ำตาลทราย ตามชอบ

น้ำดอกอัญชัน ประกอบด้วย ดอกอัญชันแห้ง ขีด, น้ำมะพร้าว 10 ลิตร, น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม, เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำสะอาด 2 ลิตร

น้ำดอกบัว ประกอบด้วย เกสรดอกบัวตากแห้ง 1 ขีด, น้ำสะอาด 4 ลิตร, น้ำตาลทราย 7 ขีด, เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ

น้ำดอกกุหลาบ ประกอบด้วย ดอกกุหลาบแห้ง 1 ขีด, วุ้นมะพร้าว 1 กิโลกรัม, น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม, น้ำสะอาด 8 ลิตร

“ส่วนผสมสูตรนี้สามารถทำได้ประมาณ 35 ขวด สำหรับขวดบรรจุขนาด 220 ซีซี” เจ้าของสูตรกล่าว

ขั้นตอนการทำ เริ่มจาก น้ำดอกดาหลา นำดอกดาหลามาปั่นจากนั้นนำมาต้มให้สุก ส่วนตะลิงปลิงนั้นให้นำมาหมัก โดยตอนหมักให้ใส่น้ำตาลทรายประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนโต๊ะลงไปด้วย จากนั้นหมักทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จะได้น้ำหมักตะลิงปลิงมาใส่แทนน้ำโซดาและให้รสเปรี้ยวธรรมชาติ น้ำตาลทรายที่เตรียมไว้นำมาทำน้ำเชื่อม จากนั้นเมื่อได้ส่วนผสมทั้งหมดก็นำมาผสมรวมกัน ต้มให้สุก ชิมรสตามต้องการ ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด

น้ำดอกเข็มแดง นำดอกเข็มแดงมาต้ม จากนั้นกรองให้เหลือแต่น้ำ นำตะลิงปลิงสดมาคั้นน้ำ นำน้ำตะลิงปลิงผสมกับน้ำดอกเข็ม โดยน้ำตะลิงปลิงจะทำปฏิกิริยาทำให้น้ำดอกเข็มมีสีแดงมากขึ้น เติมส่วนผสมที่เตรียมไว้รวมกัน ต้มพอเดือด จากนั้นยกลงทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด

น้ำดอกอัญชัน เริ่มจากเติมน้ำตาลทรายลงไปในน้ำสะอาดที่ตั้งรอไว้ ต้มให้สุก จากนั้นนำดอกอัญชันแห้งที่เตรียมไว้ใส่ลงไป ต้มต่อไปให้เดือด เติมรสตามชอบ จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด

น้ำดอกบัว ตั้งน้ำสะอาดให้เดือด จากนั้นนำเกสรบัวใส่ลงไป คนให้ทั่วสักพัก จากนั้นยกลงเลย เติมน้ำตาล เติมเกลือตามส่วนผสม ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด

น้ำดอกกุหลาบ นำกุหลาบแห้งมาต้ม เสร็จแล้วเติมกลิ่นและสีผสมอาหารเพื่อช่วยให้มีกลิ่นและสีกุหลาบเพิ่มขึ้น เล็กน้อย นำวุ้นมะพร้าวที่กรองสะอาดเตรียมไว้มาปั่น นำส่วนผสมที่ได้ใส่ลงไปต้มให้สุก ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด


ใครสนใจติดต่อผู้ผลิต ’น้ำดอกไม้เพื่อสุขภาพ” รายนี้ ติดต่อได้ที่ เลขที่ 79/10 หมู่ 11 ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โทร. 08-1640-4367, 0-3475-2997 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ที่พลิกแพลงเพิ่มมูลค่าด้วยงานวิจัย เป็นอีกตัวอย่างของการไม่กลัวที่จะเรียนรู้และเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา...

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=123522&categoryID=498

Thursday, February 24, 2011

แนะนำอาชีพ 'การปลูกสตรอเบอรี่'

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งโครงการหลวงซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า มูลนิธิ โครงการหลวง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารของพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ หยุดยั้งการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา โดยหาพืชอื่นทดแทนให้ปลูกและช่วยยกระดับการครองชีพ ตลอดจนความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น โดยมีโครงการวิจัยสตรอเบอรี่เป็นหนึ่งในโครงการนี้ มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการได้มีการนำสตรอ เบอรี่พันธุ์ต่าง ๆ เข้ามามากมาย เพื่อทดลองปลูกตามสถานีทดลองเกษตรที่มีระดับความสูงที่ต่างกัน รวมทั้งศึกษาเรื่องของโรคแมลง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการตลาด

ผลของความสำเร็จและข้อมูลที่ได้มาจากโครงการวิจัยสตรอเบอรี่นี้ได้นำไปใช้ใน งานส่งเสริมให้แก่ชาวไทยภูเขา รวมทั้งเกษตรกรพื้นราบในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตสตรอเบอรี่และต้นไหลด้วย ปัจจุบันสตรอเบอรี่จึงถูกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจพืชหนึ่งที่ทำรายได้ค่อนข้างดี และให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วแก่เกษตรกรผู้ปลูกของทั้งสองจังหวัดนี้

และจากการศึกษาพบว่า ระบบการปลูกสตรอเบอรี่ ต้นไหลจะถูกบังคับให้เกิดการพัฒนาของตาดอกและเพื่อความแข็งแรงก่อนปลูก โดยการปล่อยให้ได้รับอุณหภูมิเย็นในเวลากลางคืนบนที่สูง ซึ่งจะทำให้ออกดอกได้เร็วกว่าต้นไหลที่ผลิตบนพื้นราบ

สำหรับการปลูกบนพื้นราบนั้น หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้ว ตอนปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ต้นไหลทั้งหมดที่ออกมาจะถูกปลูกลงในถุงพลาสติกเล็กที่บรรจุดินแล้วขนาด 3x5 ซม. และปล่อยให้เจริญเติบโตในแปลงจนกระทั่งเดือนมิถุนายน จึงขนขึ้นไปปลูกบนที่สูงประมาณ 1,200-1,400 เมตร เพื่อผลิตต้นไหลต่อไปซึ่งจะตรงกับช่วงฤดูฝน เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม หลังจากที่ปล่อยให้ต้นไหลที่เจริญอยู่ในถุงพลาสติก และได้รับความหนาวเย็นบนที่สูงจนเพียงพอแล้วจะนำลงไปปลูกในแปลงพื้นราบ ประมาณ ต้นเดือนตุลาคม หากปลูกช้าเกินไปจะทำให้ผลผลิตออกช้าตามไปด้วย

ต้นไหลที่ผลิตได้จากบนที่สูงนี้จะสามารถตั้งตัว และออกดอกได้เร็วกว่า คือประมาณเดือนธันวาคม ปกติเกษตรกรจะใช้ระยะปลูก 30 x 40 ซม. สำหรับการปลูกแบบสองแถว และระยะปลูก 25 x 30 ซม. สำหรับการปลูกแบบสี่แถว จะใช้จำนวนต้นไหลทั้งหมดประมาณ 8,000-10,000 ต้นต่อไร่ การคลุมแปลงจะใช้ ฟางข้าว ใบตองเหียง หรือใบตองตึง อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือร่วมกันก็ได้คลุมระหว่างแถวในแปลงยกร่อง ดอกแรกจะบานได้ในราวต้นเดือนพฤศจิกายน และสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึงเดือนมีนาคมในพื้นที่ปลูกของจังหวัดเชียงใหม่

ส่วนจังหวัดเชียงรายซึ่งมีสภาพอากาศที่เย็นกว่าจะเก็บเกี่ยวต่อไปได้อีกจน ถึงเดือนเมษายน เมื่อถึงปลายฤดูการเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้น ต้นไหลที่เจริญออกมาก็จะถูกบังคับให้เจริญในถุงพลาสติกขนาดเล็กใส่ดิน เหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และเตรียมไว้ใช้เป็นต้นแม่สำหรับการขนขึ้นไปขยายบนที่สูงต่อไปเป็นวงจร เหมือนกันทุก ๆ ปี

สำหรับผลผลิตโดยรวมทั้งประเทศนั้นส่วนใหญ่ประมาณ 40% จะถูกขนส่งเข้าสู่ตลาดกรุงเทพมหานครเพื่อจำหน่ายเป็นผลสดอีก 40% จะส่งเข้าโรงงานเพื่อทำการแปรรูปจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายต่าง ประเทศ ส่วนที่เหลือ 20% จำหน่ายเป็นผลสด และแปรรูปในอุตสาหกรรมแบบครัวเรือนให้กับนักท่องเที่ยว ภายในท้องถิ่นนั้น ๆ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=673&contentID=123015

Saturday, February 19, 2011

แนะนำอาชีพ 'เพาะเห็ดฟางในตะกร้า'

แม้ “ช่องทางทำกิน” จะเคยนำเสนอเรื่องการเพาะเห็ดฟางไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังมีผู้สนใจรุ่นใหม่ ๆ สอบถามเข้ามาอยู่เนือง ๆ วันนี้ก็ลองมาดูวิธีการเพาะเห็ดฟางอีกสักครั้งกับการเพาะที่ต้นทุนการผลิต ต่ำ ให้ผลตอบแทนเร็ว เพาะได้ทุกพื้นที่ การ “เพาะเห็ดฟางในตะกร้า” ที่กำลังได้รับความนิยม...

ศตนันท์ พรรณอภัยพงศ์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายว่า การเพาะเห็ดฟางในตะกร้าเป็นการเพาะเห็ดฟางอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความ นิยม เพราะสามารถเพาะในพื้นที่ซ้ำเดิมได้ วัสดุเพาะไม่สัมผัสพื้นดิน ต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะแบบโรงเรือน โดยเห็ดฟางได้รับความนิยมบริโภคสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ

วัสดุและอุปกรณ์ในการเพาะเห็ดฟาง หลัก ๆ ก็มี หัวเชื้อเห็ดฟาง มีอายุ 7 วัน สังเกตได้จากมีเส้นใยสีขาวขึ้นบนก้อนเชื้อ, ตะกร้าเพาะเห็ดฟาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูง 11 นิ้ว มีช่องขนาด 1 ตารางนิ้ว ด้านล่างมีช่องระบายน้ำ ส่วนวัสดุเพาะก็มี ก้อนเชื้อเห็ดเก่า ฟางข้าว ต้นกล้วย ชานอ้อย อาหารเสริม เช่น ผักตบชวา มูลวัว ไส้นุ่น รำละเอียด และอาหารกระตุ้นหัวเชื้อ ได้แก่ แป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว และพลาสติกคลุม นอกจากนี้ก็ต้องใช้ สุ่มไก่ หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ทำเป็นโครง และน้ำสะอาด

กรรมวิธี เริ่มตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ ควรเป็นพื้นที่ราบเรียบ สม่ำเสมอ และน้ำท่วมไม่ถึง ป้องกันลม และแสงแดดได้ และควรเป็นพื้นที่ที่ป้องกันการรบกวนจากสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ

วิธีการเพาะ เริ่มที่นำเชื้อเห็ดฟาง ขนาด 1 ปอนด์ แกะใส่ภาชนะ และฉีกหัวเชื้อเป็นชิ้นเล็ก แล้วโรยแป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว แบ่งหัวเชื้อเห็ดออกเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน (หัวเชื้อ 1 ถุง ทำได้ 2 ตะกร้า) จากนั้นนำวัสดุเพาะ (ฟางข้าว) มารองก้นตะกร้าให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว (กดให้แน่น ๆ) หรือสูงถึง 2 ช่องล่างของตะกร้า แล้วโรยอาหารเสริม (ผักตบชวา) ให้ชิดขอบตะกร้า หนาประมาณ 1 นิ้ว หรือสูงประมาณ 1 ช่องตะกร้า และนำเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้ 1 ส่วน วางรอบตะกร้าให้ชิดขอบตะกร้าเป็นจุด ๆ เป็นอันเสร็จชั้นที่ 1

ชั้นที่ 2 ให้ทำแบบเดิม ในส่วนชั้นที่ 3 ให้ทำเหมือนชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 แต่เพิ่มการโรยอาหารเสริมให้เต็มพื้นที่ด้านบนให้หนา 1 นิ้ว แล้ว โรยเชื้อเห็ดฟางให้เต็มที่ โดยกระจายเป็นจุด ๆ ด้านบนตะกร้า โดยให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน จากนั้นโรยวัสดุเพาะ อาทิ ฟางข้าว ด้านบนอีกครั้ง หนาประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา นำตะกร้าเพาะไปวางบนพื้นโรงเรือน หรือชั้นโครงเหล็กที่เตรียมไว้ หรือจะยกพื้นวางอิฐบล็อก หรือไม้ท่อนก็ได้ เตรียมสุ่ม 1 สุ่ม สำหรับตะกร้า 4 ใบ โดยตะกร้า 3 ใบวางด้านล่างชิดกัน และวางด้านบนอีก 1 ใบ ให้ตะกร้าห่างจากสุ่มไก่ประมาณ 1 คืบ จากนั้นนำพลาสติกมาคลุมสุ่มไก่จากด้านบนถึงพื้น แล้วนำอิฐ หรือไม้ทับขอบพลาสติก เพื่อไม่ให้พลาสติกเปิดออก

ศตนันท์อธิบายว่า ช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 4 หลังเพาะ ในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน และวันที่ 1 ถึง 7 วันแรกในช่วงฤดูหนาว ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ ในกระโจม หรือโรงเรือน ให้อยู่ในช่วงระหว่าง 37-40 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 38 องศาเซลเซียส ในระหว่างวันที่ 5 ถึง 8 ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส เพราะในระหว่างวันที่ 5-7 จะมีการรวมตัวกันของเส้นใย เป็นดอกเล็ก ๆ จำนวนมาก ระหว่างนี้ห้ามเปิดพลาสติก หรือโรงเรือนบ่อย เพราะจะทำให้ดอกเห็ดฝ่อ

ประมาณวันที่ 7-8 ในฤดูร้อน หรือวันที่ 9-10 ในฤดูหนาว เห็ดฟางจะเริ่มให้ดอกขนาดโต จึงจะเก็บเกี่ยวได้ โดยการเก็บควรทำตอนเช้ามืด เพื่อดอกเห็ดจะได้ไม่บาน ดอกเห็ดที่เก็บควรมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลอกยังไม่แตก ดอกยังไม่บาน ถ้าปล่อยให้ปลอกแตก และดอกบานแล้วค่อยเก็บ จะขายได้ราคาต่ำ การเก็บควรใช้มีดสะอาดตัดโคนเห็ด ถ้ามีดอกเห็ดขึ้นอยู่ติดกันหลายดอกควรเก็บขึ้นมาพร้อมกันทีเดียว ถ้าเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่โตออกมาดอกที่เหลือจะไม่โต และฝ่อตายไป

ผลผลิตเห็ดฟางสามารถเก็บได้ 2-3 ครั้ง เก็บเห็ดได้เฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อตะกร้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เพาะ การดูแลรักษา ฤดูกาล และวิธีการปฏิบัติ สำหรับต้นทุน และผลตอบแทน ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยครั้งที่ 1 60-80 บาท ต่อตะกร้า หากเป็นการเพาะครั้งที่ 2-6 ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่ 20-40 บาทต่อตะกร้า (ไม่มีค่าตะกร้า) ราคาขายผลผลิตเห็ดโดยเฉลี่ย 70 บาทต่อกิโลกรัม ผลกำไรเฉลี่ย 10-50 บาทต่อกิโลกรัม

สนใจการ “เพาะเห็ดฟางในตะกร้า” ติดต่อได้ที่กลุ่มส่งเสริมการผลิตผัก ส่วนส่งเสริมการผลิตผัก ไม้ดอกไม้ประดับและพืชสมุนไพร สำนักส่งเสริมและการจัดการสินค้า กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 0-2940-6106, 0-2579-3572, 0-2579-1501.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=122141

แนะนำอาชีพ 'เพาะจิ้งหรีดขาย'

ปัจจุบัน “จิ้งหรีด” กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เป็น อย่างดี เพราะจิ้งหรีดกลายเป็นเมนูอาหารโปรตีน เมนูคั่วหรือทอด ที่มีผู้นิยมบริโภคกันแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ตลาดมีความต้องการสูง ในขณะที่การหาจิ้งหรีดตามธรรมชาติทำได้ยาก จึงมีการ ’เพาะจิ้งหรีดขาย“ กลายเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน”


“สมชาย แซ่ฉั่ว” เกษตรกร อ.เมือง จ.สระแก้ว หนึ่งในลูกค้า ธ.ก.ส.-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นอีกคนหนึ่งที่เลี้ยงจิ้งหรีดขายและสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวจาก อาชีพนี้ได้เป็นอย่างดี โดยสมชายเล่าว่า เดิมเพาะกล้ายูคาฯขาย แต่หลังจากปี 2550 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ ทำให้สูญเสียเงินที่ลงทุนเพาะกล้ายูคาฯไป ล้านกว่าบาท จึงพยายามมองหาช่องทางทำกินใหม่ จนแฟนได้ดูทีวีเห็นเรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีดขาย เห็นว่าเลี้ยงง่าย จำหน่ายได้เร็ว เพราะการเลี้ยงจิ้งหรีดตั้งแต่เป็นไข่จนเป็นตัวใช้เวลาราว 45 วันก็ขายได้แล้ว จึงเกิดความสนใจที่จะเลี้ยงจิ้งหรีดขาย

หลังจากสนใจที่จะเลี้ยงจิ้งหรีดขายเป็นอาชีพ ก็เริ่มศึกษาวิธีการเลี้ยงและปัญหาที่อาจจะเจอในการเลี้ยงจากเกษตรกรใน พื้นที่ที่เลี้ยงอยู่ก่อน อีกทั้งยังศึกษาจากแหล่งอื่น ๆ และขอข้อมูลจากเกษตรอำเภอ เมื่อได้ความรู้และเห็นว่ามีความเป็นไปได้ จึงได้ลงทุน เริ่มจากซื้อไข่จิ้งหรีดมา 300 ขัน เมื่อเลี้ยงครบกำหนดและนำไปขายรุ่นแรกก็พบว่าตลาดยังมีความต้องการอีกมาก จึงได้ขยายพื้นที่ในการเลี้ยงเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังต่อยอดโดยการขยายพันธุ์เองอีกด้วย

การเลี้ยงจิ้งหรีดเริ่มจากการสร้างโรงเรือนก่อนเป็นอันดับแรก โรงเรือนนั้นใช้เป็นที่กันแดดกันฝน โดยการตั้งเสาขึ้นมา 4 เสา จากนั้นก็มุงหลังคา ซึ่งจะใช้วัสดุอะไรมุงก็ได้ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการสร้างบ่อเลี้ยง โดยใช้อิฐบล็อกก่อให้สูงจากพื้นประมาณ 60-80 ซม. หรือให้มีความสูงเท่ากับอิฐบล็อกประมาณ 3-4 ก้อน ส่วนความกว้างก็อยู่ที่ประมาณ 1-1.2 ม. ความยาวประมาณ 3.6-4.5 ม. พื้นบ่อนั้นทำการเทปูนให้เรียบร้อย เพราะถ้าเป็นพื้นดินจะมีปัญหาเรื่องมดเข้ากัดกินจิ้งหรีด และพื้นปูนยังเป็นการกันไม่ให้จิ้งหรีดขุดดินหนีได้อีกด้วย

ปากบ่อเลี้ยงให้ใช้ตาข่ายตาถี่มาคลุมบ่อให้มิดชิด เพื่อป้องกันจิ้งหรีดตัวอ่อนลอดออกไป และป้องกันมด จิ้งจก ตุ๊กแก มากินตัวอ่อนของจิ้งหรีดด้วย ส่วนขอบบ่อด้านในก็ต้องใช้เทปกาวติดให้รอบ เพราะเทปกาวจะมีผิวที่ลื่น จิ้งหรีดในบ่อปีนขึ้นมาก็จะลื่น ไม่สามารถปีนหนีออกจากบ่อเลี้ยงไปได้

ขนาดบ่อดังกล่าวนี้การดูแลนั้นใช้คนเพียงคนเดียวก็ดูแลได้ทั่วถึง และสามารถใส่ขันที่มีไข่จิ้งหรีดได้ประมาณ 80-100 ขัน ซึ่งต้นทุนการสร้างบ่อ 1 บ่อ ก็อยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท...

เตรียมบ่อแล้ว หลังจากนั้นก็นำรังไข่ที่เป็นกระดาษมาทำการปูลงบนพื้นบ่อเลี้ยง สำหรับไว้เป็นที่หลบพักของจิ้งหรีด โดยปูให้เป็นแถว 2 แถว ด้านข้างของบ่อ เหลือพื้นที่ตรงส่วนกลางบ่อไว้สำหรับให้อาหาร

เมื่อทำการเตรียมบ่อเลี้ยงเรียบร้อยแล้วก็นำไข่จิ้งหรีดที่อยู่ในขันมาใส่ ถุงพลาสติก มัดปากถุง เป็นการคงอุณหภูมิให้คงที่ เป็นการอบไข่ จากนั้นนำไปใส่ไว้ในบ่อ ประมาณ 7-8 วัน ไข่จะเริ่มฟัก โดยช่วงวันที่ 7 ต้องเปิดถุงดูว่าไข่ดิ้นหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไข่ดิ้น จิ้งหรีดเริ่มจะฟักตัว ก็นำออกจากถุงพลาสติก แล้วจับขันให้ตั้งเอียงประมาณ 45 องศา เพราะเวลาจิ้งหรีดฟักตัวออกมาจะได้ดีดออกจากขันได้ พอจิ้งหรีดฟักเป็นตัวก็เริ่มให้อาหารได้

อาหารที่ให้นั้นจะให้เป็นอาหารไก่ที่เป็นเม็ด นำไปบดให้ละเอียดก่อนแล้วนำไปโรยไว้กลางบ่อ โดยจิ้งหรีดตัวอ่อนนั้นจะให้อาหารวันละครั้งหรือให้วันเว้นวัน ต้องดูว่าจิ้งหรีดนั้นกินอาหารหมดก่อนถึงจะให้ใหม่ เพราะถ้าจิ้งหรีดยังกินอาหารเก่าไม่หมด ให้อาหารใหม่ไป จิ้งหรีดจะไม่กินอาหารเก่า แล้วจะทำให้อาหารนั้นขึ้นรา ทำให้บ่อเลี้ยงสกปรก

ส่วนการให้น้ำ จะใช้ฟองน้ำซับน้ำแล้วนำไปวางในบ่อ หรือจะใช้ขวดพลาสติกใส่น้ำแล้วปิดด้วยผ้าให้แค่น้ำซึมออกมาผ่านผ้าก็ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เป็นหยดน้ำตรงปากขวด เพราะจิ้งหรีดจะไปติดอยู่ในหยดน้ำออกไม่ได้ ทำให้ตาย

พอจิ้งหรีดอายุประมาณ 20 วัน อาหารที่ให้ก็ไม่ต้องบด แต่ให้ผสมรำเข้าไปในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เพื่อลดต้นทุน ในช่วงนี้ถ้ามีอาหารเสริมพวกฟักทอง ใบมัน ใบกล้วย ก็สามารถให้จิ้งหรีดกินได้ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร

เลี้ยงไปได้ประมาณ 45-60 วัน ก็สามารถจับขายได้

สำหรับสมชายนั้นมีการต่อยอดการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยการเพาะไข่เอง โดยการเพาะไข่นั้นพอจิ้งหรีดอายุได้ประมาณ 38-42 วัน จิ้งหรีดจะเริ่มมีการผสมพันธุ์ ให้สังเกตจิ้งหรีดจะร้อง 4 ครั้ง พอร้องครั้งที่ 4 ก็ให้เตรียมขันที่ใส่ดินพรมน้ำให้พอชื้น ๆ หมาด ๆ บ่อที่เคยนำไข่ใส่ไป 100 ขัน ก็ให้ใส่ตามจำนวนเดิม หลังจากตั้งทิ้งไว้ 1 คืน ก็เก็บขันใส่ถุงพลาสติกมัดปาก แล้วนำไปใส่ไว้ในบ่อเลี้ยงใหม่ พักทิ้งไว้ 1 วัน ก็สามารถทำไข่ได้อีก 1 รอบ เท่านี้ก็จะได้จิ้งหรีดรุ่นใหม่อีก 2 รุ่น โดยไม่ต้องซื้อไข่มาเลี้ยงใหม่…

จิ้งหรีด 1 บ่อ จะได้จิ้งหรีดประมาณ 15-28 กก. ขายได้ กก.ละ 60-100 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณจิ้งหรีดที่ออกสู่ตลาดในช่วงนั้น ซึ่งสมชายบอกต่อว่า ในรอบ 45 วันถ้าสามารถขายจิ้งหรีดได้เงินรวมประมาณ 1,400 บาท จะเป็นค่าอาหารประมาณ 500 บาท หักแล้วก็จะมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ประมาณ 900 บาทต่อบ่อ


สำหรับผู้ที่สนใจการ ’เพาะจิ้งหรีดขาย“ ของสมชาย พ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการจะสั่งซื้อจิ้งหรีดจากสมชาย ติดต่อได้ที่ เลขที่ 26 หมู่ 7 บ้านด่าน ต.โคกปี่ฆ้อง อ.เมือง จ.สระเเก้ว เบอร์โทรศัพท์ 08-7562-5279.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=498&contentId=121940

Wednesday, February 16, 2011

แนะนำอาชีพ 'ปลูกมะเขือเทศฤดูแล้ง'

มะเขือเทศอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 18-28 องศาเซลเซียสซึ่งต้นจะแข็งแรงและติดผลมาก พื้นที่ปลูกที่สูงมีการระบายน้ำดีเป็นพิเศษ ดินมีสภาพเป็นกลาง คือมีค่าความเป็น กรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 6.5-6.8 มีการระบายน้ำดี เตรียมดินให้ลึก 30-40 เซนติเมตร ตากดินให้แห้ง 3-4 อาทิตย์ แล้วย่อยดินให้ละเอียดพอควร หากดินเป็นกรดให้ใช้ปูนขาวหว่านในอัตราตามที่ได้รับคำแนะนำจากการวิเคราะห์ ดินหรือหากไม่ได้ส่งดินไปวิเคราะห์จะหว่านปูนประมาณ 100-300 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใช้ปูนขาวหว่านและคลุกเคล้ากับดินหรืออาจจะหว่านก่อนการเตรียมดินครั้ง สุดท้าย แต่อย่างไรก็ตามควรใส่ปูนขาวก่อนปลูก 2-3 อาทิตย์

ยกแปลงให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 100 เซนติเมตร นำพลาสติกมาคลุม เจาะรูเพื่อนำกล้ามาปลูก ปลูกเป็นแถวคู่ระยะระหว่างแถว 70 เซนติเมตร ระหว่างต้น 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอกหนึ่งกระป๋องนมต่อหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงย้ายกล้าลงหลุมปลูกหลุมละ 1-2 ต้น กลบดินให้เสมอระดับผิวดินอย่าให้เป็นแอ่งหรือเป็นหลุม เพราะจะทำให้น้ำขังและต้นกล้าเน่าตายได้

การปลูกในฤดูแล้งควรจะกลบดินให้ต่ำกว่าระดับหลุมเล็กน้อย การย้ายกล้าลงแปลงปลูก ควรย้ายปลูกในเวลาที่อากาศไม่ร้อนคือในตอนบ่ายหรือตอนเย็น เมื่อย้ายเสร็จให้รีบรดน้ำตามทันทีจะทำให้กล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น และเปอร์เซ็นต์การตายน้อยลง แต่ถ้าเป็นการย้ายกล้าที่ชำในถุงพลาสติก สามารถย้ายลงแปลงได้ทุกเวลา กล้าจะตั้งตัวได้เร็วและรอดตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

จากนั้นรดน้ำกล้าให้ชุ่มทุกเช้า-เย็น เมื่อกล้าตั้งตัวดีแล้ว จึงรดน้ำเพียงวันละครั้งในบางพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพออาจจะให้น้ำแบบปล่อยให้ ไหลไปตามร่องแปลงจนชุ่มแล้วปล่อยน้ำออก วิธีนี้สามารถทำให้มะเขือเทศได้รับน้ำอย่างเต็มที่และอยู่ได้นาน 7-10 วัน ต่อการปล่อยน้ำ 1 ครั้ง

สำหรับพันธุ์ที่ทอดยอดหรือพันธุ์เลื้อยจำเป็นต้องมีการปักค้างโดยใช้ไม้หลัก ปักค้างต้นก่อนระยะออกดอก โดยใช้เชือกผูกกับลำต้นให้ไขว้กันเป็นเลข 8 และผูกเงื่อนกระตุกกับค้างเพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี สะดวกต่อการดูแลรักษา

สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะปลูกมะเขือเทศแบบเกษตรอินทรีย์สามารถเข้าไปดูงานและ ศึกษาวิธีการปลูกได้ที่ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระ ราชดำริ จังหวัดชลบุรี

ศูนย์แห่งนี้มีการศึกษาวิจัยด้านการปรับ ปรุงดินเพื่อแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรมโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีตลอดจนการป้องกันและ กำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี รวมทั้งเทคนิคการเพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ ด้วยวิธีเกษตรธรรมชาติโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีโอกาสแวะเข้าไปดูได้.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=120255&categoryID=673

แนะนำอาชีพ 'ปลูกขจร เก็บดอกขาย'

"ต้นขจร” หรือ “ต้นสลิด” จัดเป็นไม้เถาเลื้อย เป็นไม้ชอบแดดจัด จะออกดอกมากช่วงฤดูฝน ดอกมีกลิ่นหอมเมื่อบาน ทนต่อสภาพแล้งได้ดี ดอกเป็นช่อสั้น ๆ ห้อยเป็นกระจุกคล้ายพวงอุบะ ตามโคนก้านใบช่อดอกหนึ่ง ๆ จะมีดอกประมาณ 20-30 ดอก

ต้นขจรที่พบจะมี 2 สายพันธุ์ คือ “ขจรพันธุ์พื้นบ้าน” ซึ่งดอกจะมีขนาดเล็ก ออกดอกเฉพาะช่วงหน้าฝน อีกพันธุ์คือ “ขจรพันธุ์ดอก” ซึ่งได้มาจากการคัดเลือกสายพันธุ์พื้นบ้านจนได้ขจรพันธุ์ที่มีดอกใหญ่ ออกดอกดก

คุณคำตา โสนะชัย เกษตรกรอำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปลูกต้นขจรว่า ดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนปนทรายจะดีที่สุด ก่อนปลูกควรไถตากดินไว้ก่อนเพื่อฆ่าเชื้อโรคและวัชพืช ประมาณ 1 อาทิตย์ ขุดหลุมประมาณ 30 30 30 ซม. ระยะห่างระหว่างต้นและแถวประมาณ 2 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า ประมาณครึ่งกิโลกรัม ประมาณหนึ่งเดือนต้นกล้าขจรดอกก็จะเริ่มแทงยอดอ่อน เกษตรกรทำค้างให้ต้นขจรได้เลื้อยสามารถใช้ไม้ไผ่หรือไม้ยูคาลิปตัสมาทำค้าง ให้ค้างมีความสูงประมาณ 1 เมตร และกว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนความยาวของค้างแล้วแต่แปลงที่ปลูก

ประมาณ 3 เดือนหลังจากปลูก ต้นขจรก็จะเริ่มออกดอกและจะให้ดอกเต็มที่เมื่ออายุต้น 6 เดือนขึ้นไป สามารถเก็บดอกขจรได้ทุกวัน ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เช่น ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในสวนก็เพียงพอ ขจรเป็นพืชผักพื้นบ้านจึงดูแลรักษาง่าย เมื่อลงทุนปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บดอกได้เป็นนานนับสิบปี แต่เกษตรกรควรมีการตัดแต่งเถาให้บ้าง มีการตัดแต่งเถาหนักให้ทุก 2 ปี

ต้นขจรเป็นพืชที่ชำติดง่าย ชำโดยการนำเถาที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไปมาตัดเป็นท่อน ชำในถุงดำที่ผสมดิน 1 ส่วน กับขุยมะพร้าว 1 ส่วน ปักท่อนพันธุ์ลงในดินลึกประมาณ 2 นิ้ว นำไปอนุบาลต่อในเรือนเพาะชำที่มีแสงผ่านประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ รดน้ำทุกวันประมาณ 1 เดือนก็สามารถนำมาปลูกได้หรือแบ่งจำหน่ายต้นพันธุ์ได้

ทุกวันนี้เนื่องจากความต้องการบริโภคดอกขจรมีมากขึ้น ราคารับซื้อดอกขจรขณะนี้สูงถึงกิโลกรัมละ 80–90 บาท แต่หากออกไปขายเองที่ตลาดใกล้บ้านจะได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 100–120 บาท.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=120648&categoryID=663

แนะนำอาชีพ 'ผงไหม'

คุณค่าของ “ไหมไทย” ไม่ได้มีเพียงเฉพาะในยามที่ถูกนำมาถักทอเป็นผืนผ้าเท่านั้น แต่ความก้าวหน้าของการวิจัยโดยผนวกกับการนำ “เทคโนโลยีนิวเคลียร์” มาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถแปรค่าให้กับเศษ “รังไหม” เหลือทิ้ง กลายมาเป็น “ผงไหม” ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง

นายอรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า ในแต่ละปีประเทศไทย มีการผลิตเส้นไหมได้ประมาณ 1,300-1,400 ตัน โดยจะมีเศษรังไหมเหลือทิ้งไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 300 ตัน ซึ่งหากนำไปจำหน่ายเป็นวัตถุดิบจะมีมูลค่าเพียง 41-95 ล้านบาท สทน.จึงเริ่มการวิจัยคิดกรรมวิธีสกัดโปรตีนจากเศษไหม ทำเป็นผงโปรตีนไหมเพื่อเพิ่มมูลค่า กระทั่งประสบความสำเร็จได้ “ผงไหม” ที่มีอนุภาคเล็กและอุดมไปด้วยสารโปรตีน เมื่อนำไปจำหน่ายจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 720-1,800 ล้านบาท และหากนำไปต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทำวัสดุทางการแพทย์ หรือวัสดุทางการเกษตร ก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นอีกถึง 5-10 เท่า

โดยนักวิจัยของ สทน.ค้นพบว่ารังไหมไทยอุดมไปด้วยโปรตีน 18 ชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติและคุณประโยชน์แตกต่างกัน โดยเมื่อนำเศษไหมมาสกัดด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะได้ “สารละลายไหม” นำมาทำเป็นผงไหม ซึ่งมี 2 ชนิด คือ 1. ผงไหม “ซิริซิน” (Siricin) ซึ่งได้จาก “กาวไหม” นิยมนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางมากที่สุด มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 40,000 บาท และ 2. ผงไหม “ไฟโบรอิน” (Fibroin) นิยมนำไปผสมในอาหาร เนื่องจากไม่ทำให้สีและกลิ่นเปลี่ยนไปจากเดิม

การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาผลิตผงไหมจะ ได้ผลที่แตกต่างจากการผลิตผงไหมด้วยวิธีอื่น ๆ คือ กระบวนการนิวเคลียร์เป็นการฉายรังสีแกมมา ซึ่งเป็นเพียงพลังงานรูปหนึ่งเข้าไปที่เส้นใยไหม ก่อนนำไหมมาสกัดเป็นผงไหม ซึ่งทำให้มีการย่อยสลายโมเลกุลของโปรตีนให้หลุดออกมาได้ง่ายขึ้น ทำให้ได้ปริมาณผงไหมที่มากขึ้น ผงไหมที่ได้จากการใช้รังสีนี้จะมีอนุภาคขนาดเล็ก ละลายน้ำได้มากขึ้น ทำให้แทรกซึมเข้าผิวหนังได้ง่ายกว่า และเป็นเนื้อเดียวกันเมื่อนำไปใช้กับวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขณะที่คุณค่าของโปรตีนที่อยู่ในเส้นไหมก็ไม่ได้หายไปเลย

จากความโดดเด่นในเรื่องความละเอียดของเนื้อผงไหม ที่มีคุณสมบัติช่วยให้การดูดซับเข้าสู่ร่างกายได้ดีนี้เอง เมื่อนำมาผนวกรวมกับคุณประโยชน์ของโปรตีนคุณภาพสูงที่มีอยู่ในไหมไทย ซึ่งจากการวิจัยของ สทน. และหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิชาการเกษตร ล้วนชี้ตรงกันว่า โปรตีนคุณภาพสูงเหล่านี้มีส่วนช่วยเพิ่มสารอาหารให้เซลล์ที่สร้าง “คอลลาเจน” และ “อีลาสติน” ซึ่งมีบทบาทสำคัญทำให้ผิวพรรณเต่งตึง ยืดหยุ่นและมีความชุ่มชื้น โดยเฉพาะผงไหมซิริซินที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดรอยกระบนใบหน้า หรือเกิดจุดที่ผิวหนัง ป้องกันแสง ยูวี และช่วยคงสภาพความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังได้ จึงทำให้ สทน.พยายามต่อยอดงานวิจัย ด้วยการนำไปทดสอบผลิตเครื่องสำอางหลายรูปแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคต

“ปัจจุบันเราใช้ผงไหมผลจากงานวิจัยในห้องปฏิบัติการมาผลิตเครื่องสำอางหลาย รูปแบบ เช่น สบู่ แชมพู คอนดิชั่นเนอร์ โลชั่น ครีมอาบน้ำ และลิปบาล์ม ออกวางจำหน่าย แต่เป็นไปเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยเป็นหลักไม่ใช่ในเชิงธุรกิจ เนื่องจากเป็นข้อจำกัดขององค์กรที่ไม่สามารถดำเนินการได้” นายอรรถวิท กล่าว

อย่างไรก็ตาม สทน.พร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้ภาคเอกชนที่สนใจนำไปผลงานวิจัยไปต่อยอด เชิงพาณิชย์ โดยมีสทน.เป็นที่ปรึกษา ซึ่งอาจเป็นในลักษณะที่เอกชนนำรังไหมมารับการฉายแสงจากสทน. ขณะที่สทน.ก็จะถ่ายทอดขั้นตอนวิธีการพร้อมคำแนะนำต่าง ๆ ให้ไปดำเนินการได้อย่างเต็มที่

…เพราะผลลัพธ์ที่ตามมา ไม่ได้ตกอยู่แต่เฉพาะเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศโดย เฉพาะภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับไหมไทยเท่านั้น แต่ยังเท่ากับเป็นการทำให้งานวิจัยด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของไทยสร้าง ประโยชน์ให้กับคนไทยได้อย่างคุ้มค่าอีกทางหนึ่งด้วย.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=663&contentID=121318

เพิ่มเติม

เมื่อวันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา...ได้กล่าวถึง ข้อมูลจาก สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ระบุว่าผงไหมซึ่งเป็นผลผลิตหนึ่งจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สามารถนำไปใส่อาหารให้มีคุณภาพดีขึ้น มีประโยชน์มากขึ้น และนำไปใช้ในเครื่องสำอาง อย่างสบู่ ครีมบำรุง โดย สนท.วิจัยร่วมกับกรมวิชาการเกษตร พบว่าผงไหมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีกรดอะมิโนอยู่มากถึง 16-18 ชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยรักษาแผลให้หายเร็วขึ้น สามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง ทั้งยังช่วยรักษาปริมาณน้ำในผิวหนังกำจัดสิ่งสกปรกในเซลล์และยืดอายุเซลล์ ได้ ผงไหมมีสารที่ช่วยควบคุมคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด สลายแอลกอฮอล์ในร่างกาย ช่วยความจำอีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ฯลฯ ดังนั้น หากนำมาผสมในอาหาร นอกจากจะเพิ่มคุณค่าสารอาหารยังมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน

ข้อมูลจาก สนท.ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำผงไหมไปเป็นส่วนผสมได้ เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น ไอศกรีม บะหมี่ หมูยอ กุนเชียงที่ใส่ผงไหม ลักษณะจะนุ่มเหมือนกับของซึ่งทำออกใหม่ ลักษณะเนื้อเหมือนกับว่าผสมหมูเนื้อแดงในอัตราส่วนที่มากและสีสันยังสด เนื้อนุ่ม ชวนกิน ส่วนโยเกิร์ต หรือไอศกรีม จะทำให้มีเนื้อผลิตภัณฑ์ที่เนียนไม่ละลายง่าย บะหมี่ ทำให้มีคุณสมบัติเหนียวนุ่ม ไม่ยุ่ย

อันนี้น่าสนใจ เมื่อ สทน. ทดลองฉีดสารละลายโปรตีนไหมกับข้าวหอมปทุมธานี เนื้อที่ 2 ไร่ เปรียบเทียบกับข้าวหอมปทุมธานีที่ไม่ได้ฉีดสารละลายโปรตีนไหม ซึ่งเป็นข้าวที่ปลูกในแปลงติดกัน มีคันนาติดกัน เริ่มปลูกในวันเดียวกัน และปฏิบัติเช่นเดียวกันทุกขั้นตอน แตกต่างกันที่การฉีดพ่นสารละลายไหมเท่านั้นผลปรากฏว่า ข้าวหอมปทุมธานี แปลงที่ฉีดสารละลายโปรตีนไหม ให้สภาพต้นข้าวที่ดูแข็งแรง ใบเขียว ตั้งตรงกว่าต้นข้าวที่ไม่ได้ฉีด ออกรวงและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าประมาณ 7 วัน และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่ละ 38.75% …ยังไม่ได้สอบถามเพิ่มเติมว่างานวิจัยชิ้นนี้ไปถึงไหน อย่างไรแล้ว เร็ว ๆ นี้จะสอบถามข้อมูลมาให้ครับ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ นี้เป็นผลวิจัยจาก โครงการเพิ่มมูลค่าให้ไหมที่เป็นวัสดุเหลือใช้ เพิ่มโปรตีนในอาหาร และได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและสามารถเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรด้วย โดย คุณบุญญา สุดาทิศ

ข้อมูลจากกรมหม่อนไหม ระบุว่าผงไหมไทยประกอบด้วยกรดอะมิโน 18 ชนิด ขอยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้ Aspartic acid ช่วยขับไล่อาการบาดเจ็บและพิษแอมโมเนียออกจากร่างกาย ช่วยเพิ่มความต้านทานต่อการเหนื่อยอ่อน ช่วยระบบกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว, Threonine ป้องกันการเกิดไขมันในตับ ช่วยย่อยและช่วยระบบการทำงานของร่างกาย, Serine เป็นแหล่งสะสมน้ำตาลกลูโคส ในตับและกล้ามเนื้อ จึงช่วยส่งเสริมระบบการทำงานของอินซูลิน เป็นการลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งช่วยเผาผลาญไขมันสะสมในร่างกาย ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น, Glutamic acid ช่วยลดแอมโมเนียในเลือด ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับโปรตีนในสมองและระบบการทำงานของน้ำตาล ช่วยควบคุมโรคสุรา (alcoholism) รักษาปริมาณน้ำของผิวหนังและป้องกันผิวแห้ง, Proline รักษาความดันโลหิตสูง มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของข้อและเอ็น ช่วยบำรุงรักษากล้ามเนื้อหัวใจ, Glycine ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันและรักษาความดันโลหิตสูง ช่วยเสริมสร้างการทำงานของตับ, Cystine ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) และเพิ่มความแข็งแกร่งให้ร่างกายในการต่อต้านรังสีและมลพิษ ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน มีความจำเป็นต่อการสร้างผิวหนัง ซึ่งจะช่วยให้แผลไฟไหม้และแผลผ่าตัดหายเร็วขึ้น,Valine ช่วยให้จิตใจกระปรี้กระเปร่า ประสานการทำงานของกล้ามเนื้อ, Methionine เป็นแหล่งที่ให้สารกำมะถัน ซึ่งป้องกันการเกิดโรคเกี่ยวกับผม ผิวหนังและเล็บ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยการผลิตเลซิตินในตับ ลดไขมันในตับและป้องกันไต ป้องกันผมร่วงและส่งเสริมการเจริญเติบโตของเส้นผม...เป็นต้น

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=120032&categoryID=663

Sunday, February 13, 2011

แนะนำอาชีพ 'ข้าวตังเสวยธัญพืช'

ข้าวตัง” เป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ มีการสืบสานเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมทางอาหารของไทย จนถึงปัจจุบันข้าวตังก็ยังเป็นของกินที่ได้รับความนิยมไม่เปลี่ยนแปลง เรียกว่าตำรับความอร่อยยังไม่สูญหายไปตามกาลเวลา อาหารว่างชนิดนี้สามารถพลิกแพลงให้อร่อยได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ ข้าวตังหน้าตั้ง ข้าวตังเมี่ยงลาว ข้าวตังหมูหยอง ยุคคนรักสุขภาพข้าวตังก็สามารถปรับหน้าและรสชาติที่กลมกล่อมเข้ากับกระแสรัก สุขภาพได้ลงตัว อย่าง “ข้าวตังหน้าธัญพืช” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้...

วิภาพร คณะหมื่นไวย ทายาทเจ้าของสูตรต้นตำรับดั้งเดิม “ข้าวตังเสวยแม่จู” เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่ตนเองจะมารับช่วงทำขนมขาย เคยทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน แต่ต้องออกจากงานช่วงเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ก็ประจวบเหมาะ ระหว่างนั้นคุณแม่ซึ่งเป็นเจ้าของสูตรต้องการจะเลิกทำขาย เพราะไม่สบายและเหนื่อย “คุณแม่ทำขนมขายเลี้ยงลูก ๆ มานานหลายสิบปี พอลูกทำงานและแยกไปมีครอบครัว ท่านต้องการเกษียณอายุ คือท่านต้องการพักผ่อน เพราะไม่มีภาระอะไรแล้ว ลูกน้องที่เคยทำงานกับคุณแม่ก็ออกไปทำขายเอง แต่คุณภาพและรสชาติยังสู้ของคุณแม่ที่เป็นต้นตำรับไม่ได้ ลูกค้าขาประจำโทรฯมาสอบถามกันมาก ช่วงนั้นตกงานพอดี ไม่รู้จะทำอะไร งานช่วงนั้นหายากมาก ก็เลยขอให้คุณแม่สอน พอทำออกขายการตอบรับจากลูกค้าดีมาก ก็เลยยึดเป็นอาชีพหลักตั้งแต่นั้นมา จะมีข้าวตังเสวยสูตรโบราณคือหน้ากุ้งแห้ง และเพิ่มหน้าธัญพืช (เจ)”

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำหลัก ๆ ก็มี... เตาไฟฟ้า (จะใช้เตาถ่านหรือเตาแก๊สก็ได้), แม่พิมพ์ข้าวตังแบบดั้งเดิมชุดหนึ่งจะมี 5 พิมพ์ ลักษณะคล้ายกับพิมพ์ขนมทองม้วน แต่จะใหญ่กว่า แม่พิมพ์ข้าวตังจะมีขนาด 8x8 นิ้ว สามารถหาซื้อได้จากร้านขายอุปกรณ์ทำขนม, ผ้าขาวบาง, ทัพพี, กะละมัง, ถาด, ไม้พาย และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่สามารถหยิบฉวยเอาจากในครัว
วัตถุดิบ/ส่วนผสม หลัก ๆ ได้แก่... ข้าวหอมมะลิอย่างดี (ต้องเป็นข้าวใหม่), งาขาว-งาดำ, ข้าวกล้อง, ข้าวบาร์เลย์, เมล็ดทานตะวัน, เมล็ดฟักทอง, เมล็ดอัลมอนด์, น้ำตาลทรายขาว, น้ำตาลทรายแดง และน้ำมันพืช

ขั้นตอนการทำ “ข้าวตังเสวยหน้าธัญพืช (เจ)” เริ่มจากนำข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง และข้าวบาร์เลย์ มาซาวล้างผสมรวมกัน แล้วนำไปหุงแบบเช็ดน้ำ แต่ไม่ใช้ไฟแรงมาก โดยปล่อยให้ข้าวค่อย ๆ สุกไปเรื่อย ๆ เมื่อข้าวอืดเมล็ดข้าวจะบานออก แล้วก็ให้เพิ่มไฟแรงขึ้นอีกหน่อย ใส่เกลือลงไปนิดหน่อยเพื่อเพิ่มรสชาติ ใช้ไม้พายกวนข้าวไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะเหนียวคล้ายแป้งเปียก จึงใช้ได้ ตั้งพักไว้สักครู่

ระหว่างรอให้ทำการคั่วงาดำ-งาขาวให้หอม ใส่ภาชนะตั้งพักไว้ ต่อไปเป็นการทำน้ำเชื่อม เพื่อเป็นการเพิ่มความหวาน และเป็นการเคลือบให้ข้าวตังดูแวววาวน่ารับประทาน โดยนำน้ำตาลทรายขาวมาผสมกับน้ำตาลทรายแดง ใส่เกลือนิดหน่อยให้รสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น ทำการเคี่ยว พอน้ำเชื่อมข้นยกลงวางไว้ให้เย็น

เตรียมแม่พิมพ์ข้าวตังขึ้นเตา เปิดไฟให้พิมพ์ร้อน เปิดแม่พิมพ์ทาน้ำมันพืชพอหมาด ๆ ตักข้าวที่กวนเตรียมไว้ 1 ทัพพีใส่ลงบนแม่พิมพ์ ปิดแม่พิมพ์อีกด้านลงทับข้าวให้แบน ข้าวตังจะสุกทันที จากนั้นให้นำหน้างาขาว-งาดำ, หน้าเมล็ดฟักทอง, หน้าเมล็ดทานตะวันและเมล็ดอัลมอนด์ (จะแยกหน้าเป็น
อย่าง ๆ หรือผสมรวมกันก็ได้) วางใส่ลงบนแผ่นข้าวตัง ทาน้ำเชื่อมข้าวตังทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แล้วทำการอบข้าวตังบนเตาทีละแผ่น คอยพลิกกลับไปกลับมา เพื่อให้ข้าวตังสุกทั่ว เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

สำหรับเคล็ดลับการทำข้าวตังเสวยหน้าธัญพืช วิภาพรบอกว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การอบ อบบนเตาทีละแผ่นจะดีกว่าการอบข้าวตังกับตู้อบ เพราะการอบบนเตาจะทำให้ข้าวตังกรอบอร่อย ไม่เหนียว ที่สำคัญจะมีกลิ่นหอมและสีสันก็น่ารับประทานกว่า แต่ต้องอาศัยฝีมือ ประสบการณ์ และความชำนาญพอสมควร

ทั้งนี้ การใส่หน้าข้าวตัง สามารถปรับ เปลี่ยนแปลง ลดหรือเพิ่มหน้าได้ตามใจชอบ

ส่วนการขายนั้น จะบรรจุข้าวตังใส่ถุงเป็นแพ็ก แพ็กละ 3 แผ่น ขายในราคาแพ็กละ 40 บาท และแบบเป็นกล่องจะมี 2 ขนาด กล่องใหญ่มีข้าวตัง 4 แพ็ก ราคา 175 บาท กล่องเล็กมี 2 แพ็ก ราคา 85 บาท ต้นทุนเฉพาะวัตถุดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60% ของราคาขาย

ใครสนใจจะทำอาหารว่าง “ข้าวตังเสวย” หน้าต่าง ๆ ขายเป็นอาชีพ ก็ลองนำสูตรไปพลิกแพลงฝึกฝนทำกันดู ส่วนใครต้องการคำแนะนำ สนใจผลิตภัณฑ์ ต้องการสั่งสินค้าไปจำหน่าย ต้องการติดต่อ วิภาพร คณะหมื่นไวย ก็ติดต่อไปที่ โทร. 08-1409-4956 และ 08-6612-0053 ได้ทุกวัน.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=120856

Sunday, February 6, 2011

แนะนำอาชีพ 'ลูกประคบสมุนไพรสด'

ปกติการทำลูกประคบ สมุนไพรทั่วไปจะใช้วัสดุสมุนไพรที่แห้ง เพราะสามารถเก็บรักษาได้นานเป็นเดือนใช้ได้หลายครั้ง แต่ลูกประคบสมุนไพรที่ผลิตโดยฝีมือนักเรียนชั้นมัธยม 2 และมัธยม 3 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนเด็กด้อยโอกาส เป็น "ลูกประคบสมุนไพรสด" ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี แม้จะเก็บได้เพียง 1 อาทิตย์แต่สรรพคุณดีกว่า

สุภาวดี ชุมสวัสดิ์ อาจารย์ผู้ฝึกสอนวิชาชีพกลุ่มเด็กดอยสปา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ เล่าว่า โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมปลาย (ม.6) นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส ที่เป็นชาวไทยภูเขา 9 เผ่า อาทิ กะเหรี่ยง ลัวะ อาข่า มูเซอ ลีซอ จีนฮ่อ ไทยใหญ่ เย้า และเด็กพื้นที่ราบ มีทั้งหมดกว่า 900 คน ซึ่งนอกเหนือไปจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรทั่วไปของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังมีวิชาชีพด้วย โดยเริ่มจากเด็กชั้นประถมปลายคือ ป.5 จนถึงมัธยมปลาย มีสอนอาชีพหลายอย่าง อาทิ การแปรรูปสินค้าเกษตร อาทิ กล้วยตาก กล้วยอบน้ำผึ้ง และอีกส่วนเป็นแปรรูปสมุนไพร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแปรรูปในลักษณะคล้ายๆ กับที่อื่น ที่แตกต่างไปจากที่อื่นคือ "ลูกประคบสมุนไพรสด" ซึ่งทำมาแล้วราว 2-3 ปีที่ผ่านมา

"คนอื่นจะไม่ทำลูกประคบสมุนไพรสด เพราะเก็บได้ไม่นาน ที่โรงเรียนผลิตออกมาเน้นลูกค้าที่นอนพักแรมภายในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนของเราได้ทำที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบของโฮมสเตย์ มีอยู่ 3 ห้อง พักได้ราว 15-20 คน คนที่มานอนพักมักจะใช้บริการนวดสปาด้วย เราจึงเอาลูกประคบสมุนไพรสด เพราะมีสรรพคุณดีกว่า กลิ่นไอของสดนั้นจะหอมอย่างธรรมชาติ แต่อาจยุ่งยากที่ต้องนึ่งในหม้อนึ่งความร้อนก่อนจะนำไปนวดตัว" สุภาวดี กล่าว

อาจารย์ผู้ฝึกสอนวิชาชีพกลุ่มเด็กดอยสปา บอกอีกว่า สำหรับลูกประคบสมุนไพรสด ทำมาจากพืชสมุนไพรที่ปลูกในโรงเรียนเองหลายชนิด อาทิ ไพล แก้ปวดเมื่อย ลดอาการอักเสบ ผิวมะกรูด น้ำมันหอมระเหยเป็นลมวิงเวียนศีรษะ ตะไคร้บ้าน ใช้แต่งกลิ่น ใบมะขาม แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยบำรุงผิว ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง เกลือ ช่วยดูดความร้อนและช่วยนำตัวยาซึมผ่านผิวหนัง การบูร ช่วยแต่งกลิ่นและบำรุงหัวใจ ใบส้มป่อย ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน เป็นต้น

ส่วนอุปกรณ์การทำลูกประคบสมุนไพรสดนั้น ประกอบด้วย ผ้าดิบสำหรับห่อลูกประคบ เชือกหรือหนังยาง ตัวยาที่นำมาใช้ทำลูกประคบ เตาและหม้อสำหรับนึ่งลูกประคบ จานหรือชามอะลูมิเนียมเจาะรู เพื่อให้ไอน้ำพ่นผ่านได้ ตัวยาที่นำมาผสมเป็นลูกประคบ หลังจากเตรียมวัสดุอุปกรณ์พร้อมแล้ว เริ่มต้นด้วยการหั่นหัวไพล ขมิ้นชัน ต้นตะไคร้ ผิวมะกรูด ตำให้หยาบๆ พอประมาณ นำใบมะขามและใบส้มป่อยผสมกับสมุนไพร จากนั้นใส่เกลือ การบูร คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อย่าให้แฉะเป็นน้ำ แบ่งสมุนไพรที่ผสมคลุกเคล้ากันแล้วใส่ในผ้าดิบให้พอสมควรขนาดประมาณผลส้มโอ ขนาดเล็ก รัดให้แน่นด้วยเชือกหรือยางรัด นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งในหม้อนึ่งประมาณ 15-20 นาที จึงนำลูกประคบไปใช้กับคนป่วยได้

วิธีการประคบที่ถูกต้อง ควรจัดท่าคนไข้ให้เหมาะสม เช่น นอนหงาย นั่ง นอน ตะแคง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะทำการประคบ จากนั้นนำลูกประคบที่ร้อนจนได้ที่แล้วมาประคบบริเวณที่ต้องการ ไม่ควรวางแช่ลูกประคบไว้ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป เพราะคนไข้จะทนไอร้อนจากลูกประคบได้ไม่นาน ข้อควรระวังคือ อย่าใช้ลูกประคบในบริเวณที่ผิวหนังอ่อนหรือบริเวณที่เคยเป็นแผลมาก่อน ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน อัมพาต เด็ก และผู้สูงอายุ ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หลังจากประคบสมุนไพรแล้วไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะชะล้างน้ำยาออกจากผิวหนังและอุณหภูมิร่างกายปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้เป็นไข้ได้

"เราขายเฉพาะที่โรงเรียนเท่านั้น เพราะกำลังผลิตและวัตถุดิบเราน้อย ทั้งๆ ลูกค้ามีความต้องการเยอะพอสมควร เพราะผลิตภัณฑ์ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับภาคเหนือ ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ ทำให้ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานให้เราผลิตเพื่อไปวางขาย แต่เราทำไม่ได้เพราะเด็กเรียนอย่างอื่นด้วย อย่างดีหากงานใหญ่ๆ ภายใน จ.เชียงใหม่ อย่างของโครงการหลวงหรือผลิตภัณฑ์พื้นเมืองก็จะนำไปขายบ้างเป็นครั้งเป็น คราวเท่านั้น เราขายถูกเพียงลูกละ 30 บาทเท่านั้น" สุภาวดี กล่าว

หากสนใจติดต่อสอบถามกลุ่มเด็กดอยสปา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5312-1130 หรือ 08-7185-3173


http://www.komchadluek.net/detail/20110115/85735/%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%9D%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%87..%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99.html

แนะนำอาชีพ 'ปลูกพริกพิโรธ'

ก่อนหน้านี้ราวกลางปี 2546 มีบริษัทเอกชน "อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด" ได้เปิดตัวพริกขี้หนูพันธุ์ใหม่เผ็ดที่สุดในโลก "ซูเปอร์ฮอต" จนได้รับรางวัล ชนะเลิศนวัตกรรมเกียรติยศยอดเยี่ยม โครงการประกวดนวัตกรรมแห่งประเทศปี 2546 แต่ล่าสุด "วิพัฒน์ ดวงโภชน์" หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงปางดะ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ยืนยันว่าประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิจัยการปลูก "พริกพิโรธ" ถือเป็นพริกที่มีความเผ็ดมากที่สุดในโลก

วิพัฒน์บอกว่า สถานีเกษตรหลวงปางดะ เป็น 1 ใน 4 ของสถานีวิจัยที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ศึกษาวิจัยทั้งพืชและสัตว์ใหม่ๆ ที่มีอยู่ในประเทศและต่างประเทศ ศึกษาวิจัยปรับปรุงเพื่อให้มีความเหมาะสมต่อพื้นที่ สภาพอากาศ สภาพแวดล้อม และการปฏิบัติที่เหมาะสมในการขยายผลไปสู่เกษตรกรชาวไทยภูเขาและเกษตรกรทั่ว ไป และล่าสุดได้วิจัยในการปลูกพริกพิโรธ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ชอบอากาศค่อนข้างเย็นและมีความชื้นเหมาะสมสำหรับการปลูกพริก

ดังนั้นสถานีเกษตรหลวงปางดะ เป็นสถานที่หนึ่งที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพริก เนื่องจากมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 720 เมตร อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุด 21-33 องศาเซียลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,310 มิลลิเมตรต่อปี เจ้าหน้าที่จึงนำพริกพิโรธมาทดลองปลูกจนประสบผลสำเร็จ โดยงบประมาณสนับสุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.) และมหาวิทยาลัยมหิดล

ส่วนขั้นตอนการปลูกพริกพิโรธนั้น ควรเตรียมแปลงด้วยการไถพรวนแล้วตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน ขึ้นแปลงปลูกและปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยหมัก 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 30 กิโลกนัมต่อไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน คลุมแปลงด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันวัชพืชและควบคุมความชื้นในดิน การเตรียมเมล็ดพันธุ์ จะต้องแช่เมล็ดพริกพิโรธในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 50-55 องศาเซียลเซียส นาน 15 นาที

จากนั้นจึงผึ่งเมล็ดให้แห้ง แล้วคลุกด้วยยาป้องกันเชื้อราที่อาจจะติดมากับเมล็ดพันธุ์ ห่อเมล็ดพันธุ์ด้วยผ้าขนหนูที่ชุบน้ำพอหมาดๆ นำไปบ่มในกล่องพลาสติกที่ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง 1 คืน เมล็ดพริกจะเกิดรากงอกออกมาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร นำไปเพาะในตะกร้าพลาสติกที่มีวัสดุเพาะ รดน้ำให้ชุ่มวันละ 2 ครั้ง นาน 10 วัน หลังจากเมล็ดงอกจนเป็นต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 35 วัน หรือมีใบจริง 2 ใบ จึงย้ายไปอนุบาลในถุงชำต่ออีก 30 วัน ก่อนย้ายลงปลูกในแปลง หลังจากปลูกพริกพิโรธที่ปลูกในเรือนโรง จะเริ่มออกดอกประมาณ 82 วัน หากปลูกกลางแจ้ง จะออกดอกประมาณ 64 วัน

การปลูกในแปลงสามารถปลูกได้ทั้งแบบแถวเดี่ยวและแถวคู่ ปลูกในเรือนโรงหรือกลางแจ้งก็ได้ หลังจากย้ายต้นกล้าลงปลูก 7 วัน ควรให้ปุ๋ยทางระบบน้ำ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-0-0 อัตรา 500 กรัมต่อน้ำ 500 ลิตร จากนั้นใส่ปุ๋ยสูตรอื่นตามระยะของการเจริญเติบโตและความต้องการของต้นพริก สนใจสอบถามได้ที่สถานีเกษตรหลวงปางดะโทร.0-5337-8046


http://www.komchadluek.net/detail/20110121/86373/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%98%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81.html

แนะนำอาชีพ 'ก๋วยเตี๋ยวน้ำปลาหมึก'

อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้ชื่อว่าเป็นอีกแหล่งอาหารขึ้นชื่อ และก็มีร้านก๋วยเตี๋ยวที่น่าสนใจร้านหนึ่ง ซึ่งมีขาประจำแวะเวียนอุดหนุนกันแบบไม่ขาดสาย นั่นคือร้านก๋วยเตี๋ยวหมู ซอย 12 สาขา 1 ที่มี “ก๋วยเตี๋ยวน้ำปลาหมึก” เป็นตัวชูโรง วันนี้ลองมาดูข้อมูล “ช่องทางทำกิน” ของร้านขายก๋วยเตี๋ยวร้านนี้...

คุณหนุ่ย-ณรงค์ศักดิ์ ถนอมชาติ และ คุณหลิม-พรทิพย์ ไทยธีระเสถียร สองสามีภรรยา เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งนี้มากว่า 15 ปี โดยได้สูตรมาจากร้านก๋วยเตี๋ยวหมูซอย 12 อ.เมือง ชลบุรี เป็นที่มาของคำว่า ก๋วยเตี๋ยวหมู ซอย 12 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายสาขาในจังหวัดชลบุรีและใกล้เคียง คุณหนุ่ยเล่าว่า เมื่อก่อนทำงานธนาคาร ส่วนคุณหลิมเปิดกิจการห่านพะโล้กับคุณพ่อในตลาดบ้านบึง หลังจากแต่งงานกันแล้วก็เลยแยกครอบครัวมาค้าขายเอง โดยมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว โดยเริ่มจากภรรยาขายคนเดียวก่อน ต่อมาลูกค้าเยอะ คุณหนุ่ยต้องลาออกจากงานมาช่วยขายอีกแรงจนกระทั่งปัจจุบัน

“ที่เลือกอาชีพนี้เพราะว่าง่ายต่อการประกอบกิจการ และลงทุนไม่สูงมาก ผู้คนทั่วไปนิยมรับประทานเนื่องจากเป็นอาหารจานด่วน สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน ที่สำคัญได้คุณค่าอาหารครบด้วย” คุณหนุ่ยเล่าก๋วยเตี๋ยวน้ำปลาหมึก ดังกล่าว มีความแปลกและแตกต่างจากก๋วยเตี๋ยวทั่ว ๆ ไปตรงที่มีส่วนของ น้ำต้มปลาหมึกแห้ง เป็นส่วนผสมเพิ่มเติมด้วย วิธีทำตามสูตรคือ ใช้ปลาหมึกแห้งหั่นฝอยต้ม (ปลาหมึกไซซ์เล็ก) 7 กก. (ราคา กก.ละประมาณ 360 บาท) และกุ้งแห้งตัวเล็ก 3 กก. ตุ๋นกับน้ำเปล่า 10 ลิตร ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลทรายตามใจชอบ และที่สำคัญให้ใช้เตาถ่านต้มเคี่ยว เพื่อเพิ่มความหอม

ส่วนน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ใช้น้ำเปล่า 30 ลิตร ต้มกับกระดูกหมู กระดูกคาตั๊ง และกระดูกข้อต่อ ทั้งหมดรวมกัน 2 กก. รวมทั้งเครื่องเทศ รากผักชีทุบ 1 กำมือ กระเทียมทุบ 1 กำมือ พริกไทย 3 ช้อนโต๊ะ ต้มผสมกัน

สำหรับอุปกรณ์ในการขาย คุณหนุ่ยบอกว่าก็ใช้อุปกรณ์สำหรับร้านก๋วยเตี๋ยวทั่ว ๆ ไป อาทิ เตาแก๊ส หม้อก๋วยเตี๋ยว ตู้ก๋วยเตี๋ยว ชาม-ตะเกียบ- ช้อน ฯลฯ ลงทุนก็ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป แล้วแต่คุณภาพ

วัตถุดิบที่ใช้ ก็มีเส้นก๋วยเตี๋ยวต่าง ๆ อาทิ เส้นเล็ก–ใหญ่ บะหมี่ เส้นหมี่ และเกี้ยมอี๋ เกี๊ยวกุ้ง เกี๊ยวปลา เส้นปลา โดยร้านนี้ขายทั้งก๋วยเตี๋ยวหมู ก๋วยเตี๋ยวทะเล เย็นตาโฟ นอกจากนี้ วัตถุดิบอื่น ๆ ก็มี ถั่วงอก ผักบุ้ง ลูกชิ้นปลา ฮื่อก้วย หมูสับ ต้นหอมซอย ปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้ง เครื่องเย็นตาโฟ ของทะเล ฯลฯ

วิธีขาย ถ้าเป็นก๋วยเตี๋ยวหมู ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก ใส่น้ำมันเจียวพร้อมกากหมู ฮื่อก้วย หมูสับ หัวไชโป๊หั่น ต้นหอมซอย ที่สำคัญใส่ปลาหมึกฝอย กุ้งแห้ง และราดน้ำซุปลงไป

ส่วนก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟทะเล ลวกผักบุ้ง ลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว ใส่น้ำมันเจียวกากหมู น้ำเย็นตาโฟ เต้าหู้แผ่นทอด (หั่นเป็นชิ้น) ปลาหมึกกรอบ ปลาหมึกสด ลูกชิ้นปลา ปลาหมึกฝอย กุ้งแห้ง เลือดหมู และแผ่นเกี๊ยวทอด ราดน้ำซุปให้เรียบร้อย

ก๋วยเตี๋ยวร้านนี้ขายในราคาชามละ 25-35 บาท ซึ่งคุณหนุ่ยบอกว่า ลูกค้าสามารถปรุงรสชาติให้เด็ดด้วยน้ำปลาแท้ พร้อมด้วยพริกน้ำส้ม และพริกป่นแท้

แต่เทคนิคในการขายที่สำคัญคือ น้ำซุปที่ใส่ก๋วยเตี๋ยวนั้น จะใช้น้ำซุปทั้งสองอย่าง คือน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว และน้ำปลาหมึก เพื่อให้ก๋วยเตี๋ยวมีรสชาติดียิ่งขึ้น หอมกลิ่นพริกไทย และกลิ่นปลาหมึก

ในการขาย เมื่อน้ำปลาหมึกที่เตรียมไว้พร่องลง ให้ตักน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวเติมลงไป ซึ่งจะต้องมีหม้อน้ำซุปสำรองไว้อีกหม้อหนึ่งเพื่อคอยเติม คุณหนุ่ยบอกว่า การหมุนเวียนน้ำก๋วยเตี๋ยวแบบนี้จะทำให้การขายก๋วยเตี๋ยวมีชีวิตชีวา และน้ำก๋วยเตี๋ยวมีรสชาติอร่อย ที่สำคัญต้องคอยอุ่นให้น้ำซุปทั้งสองอย่างร้อนตลอดเวลา

คุณหนุ่ยบอกว่า การลงทุนขายก๋วยเตี๋ยวของทางร้านนั้น ถ้าใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 บาท และขายหมด จะมีรายได้ก่อนหักทุนประมาณ 6,000 บาท

ร้านก๋วยเตี๋ยวของคุณหนุ่ยและคุณหลิม เปิดขายทุกวัน ตั้งแต่ 07.00-16.00 น. ตั้งอยู่ถนนสายบ้านบึง–แกลง ขาไป อ.แกลง ข้ามสะพานลอยสี่แยกเอ็ม 16 (สี่แยกบ้านบึงพัฒนา) ประมาณ 1 กม. อยู่ซ้ายมือ เลขที่ 76 หมู่ 1 ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 08-4137-7319 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง “ช่องทางทำกิน” จาก “ก๋วยเตี๋ยวน้ำปลาหมึก”.

คู่มือลงทุน...ก๋วยเตี๋ยวน้ำปลาหมึก

ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 15,000 บาทขึ้นไป

ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคาขาย

รายได้ ราคาชามละ 25-35 บาท

แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป

ตลาด แหล่งชุมชน, ย่านขายอาหาร

จุดน่าสนใจ มีจุดเด่นที่ความหอมของน้ำซุป

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=516&contentId=119595

Saturday, February 5, 2011

แนะนำอาชีพ 'เลี้ยงชะมดเพื่อเอา ไข'

“ชะมดเช็ด“ เป็นสัตว์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้ เพราะ ’ไข“ ของชะมดนั้นมีสรรพคุณเป็นยา นำไปทำยาต่าง ๆ ทำเครื่องหอม น้ำมันหอมระเหยได้ ซึ่งชาวบ้านแถบ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี มีการเลี้ยงชะมดกันมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งสัตว์ป่าชนิดนี้ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน ผู้ที่มีไว้ครอบครองจะต้องแจ้งให้ทางกรมป่าไม้ทราบ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงชะมดเช็ดเชิงพาณิชย์ ซึ่งสร้าง ’ช่องทางทำกิน“ ให้กับชาวบ้านได้อย่างน่าสนใจ

ฟาร์มป้าน้อย ที่ ต.ทับคาง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี สืบทอดการ “เลี้ยงชะมด” มาหลายรุ่น เรียกว่ามีประสบการณ์ในการเลี้ยงชะมดอย่างเชี่ยวชาญ โดย พจนีย์ น้อยปิ่น เป็นทายาทรุ่นใหม่ล่าสุดที่ได้รับโอนให้เข้ามาดูแลฟาร์มเลี้ยงชะมดเช็ดแห่ง นี้ ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่า การเลี้ยงชะมดนั้น เลี้ยงกันมานานแล้ว เดิมเป็นการเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา ส่วนตนเองนั้นหลังจากที่เรียนจบปริญญาตรีก็ยังไม่ได้มารับช่วงเลี้ยง เพราะหลังจากเรียนจบก็ไปทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง แต่ทำงานได้อยู่เพียง 1 ปี ตาก็เรียกให้กลับมาช่วยดูแลเลี้ยงชะมดในฟาร์มของที่บ้าน จึงออกจากงานประจำและมาดูแลทำฟาร์มชะมดอย่างจริงจัง

ในสมัยก่อนนั้นจะเลี้ยงกันอยู่ประมาณ 10-20 ตัว เพราะชะมดนั้นหายาก และที่สำคัญการที่จะเลี้ยงชะมดที่เป็นสัตว์ป่าสงวนได้นั้นจะต้องมีใบอนุญาต จากกรมป่าไม้ และชะมดที่นำมาเลี้ยงนั้นจะต้องมีแหล่งที่มาอย่างถูกต้อง นั่นก็คือ การรับซื้อมาจากคนที่เลี้ยงอยู่เดิม

ที่ฟาร์มแห่งนี้ ปัจจุบันมีชะมดอยู่ทั้งหมด 250 ตัว โดยรับซื้อมาจากคนที่เลี้ยงอยู่แล้ว รับซื้อมาในราคาตัวละประมาณ 2,000-3,000 บาท แต่ถ้าเป็นคู่ที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็อยู่ที่คู่ละประมาณ 10,000 บาท

สำหรับกรงที่จะใช้เลี้ยงชะมดเช็ดนั้น จะใช้ไม้ไผ่ตีเป็นกรงรูปสี่เหลี่ยม ขนาดความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ยกลอยให้สูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร ด้านหน้าของกรงจะทำเป็นประตูเลื่อนขึ้นสำหรับเปิดให้อาหารและน้ำ ส่วนบนจะใช้ไม้ขนาด 1x1 นิ้ว ที่มีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ใส่ลงตรงกลางของกรง เพื่อให้ชะมดเช็ดได้เช็ดไขน้ำมันที่ไม้ และภายในกรงจะต้องมีภาชนะใส่อาหารใช้กะลามะพร้าว และก็มีกระบอกใส่น้ำติดอยู่ด้วย โดยจะเลี้ยงชะมดเช็ด 1 ตัวต่อ 1 กรง

ไม้ที่เสียบด้านบนให้ชะมดไว้เช็ดไขนั้น จะใช้ “ไม้โมก” เพราะเวลาที่ขูดเอาไขออกจากไม้ เนื้อไม้จะไม่หลุดออกมาด้วย

ชะมดนั้นจะเช็ดไขในเวลากลางคืน เวลาเก็บไข ก็จะเก็บในช่วงเช้า โดยยกไม้ขึ้นมาแล้วใช้มีดขูดไขของชะมดที่ติดอยู่กับไม้ออกมา แล้วใส่ไม้ลงไว้ที่เดิม การเก็บไขของชะมดนั้นสามารถเก็บได้ทุกวัน ซึ่งในช่วงฤดูหนาวชะมดเช็ดจะเช็ดไขออกมาได้ปริมาณมากกว่าในฤดูอื่น

อาหารที่ใช้เลี้ยงนั้น จะใช้อาหารสุก จะให้ปลากับซี่โครงไก่และข้าว โดยปลาและซี่โครงไก่นั้นจะต้องนำไปนึ่งให้สุก แล้วนำมาบดให้ละเอียดก่อนที่จะนำไปรวนอีกครั้ง เพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอมและดับคาว การให้อาหารก็นำไปคลุกกับข้าว ให้ในมื้อเย็น ที่ต้องทำให้สุก เพราะข้าวที่ทิ้งไว้ทั้งคืนจะไม่บูด แต่ถ้าชะมดตัวไหนไม่กินข้าวก็ต้องหาจิ้งจกหรือเขียดเป็น ๆ มาให้ชะมดกิน แล้วชะมดที่เลี้ยงก็จะกินข้าวได้

ส่วนมื้อเช้านั้น จะให้เป็นกล้วยน้ำว้ากับนมผงชง เพื่อเป็นการบำรุงให้ชะมดเช็ดมีไขมากขึ้น

ชะมดเช็ดเป็นสัตว์ที่ขี้ตกใจ ไม่ชอบให้คนแปลกหน้าเดินเข้าไปใกล้กรง ถ้าตื่นตกใจแล้วจะไม่เช็ดไข เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องระวังเป็นพิเศษสำหรับการเลี้ยงชะมดเช็ดเพื่อเอาไข

สำหรับไขของชะมดที่เช็ดออกมานั้น ตอนนี้มีราคาขายกันอยู่ที่ กรัมละประมาณ 200 บาท หรือกิโลกรัมละประมาณ 180,000-200,000 บาท แต่ชะมดเช็ด 1 ตัวจะเช็ดไขหรือของเหลวที่ออกมาจากต่อมกลิ่นตรงก้น ได้ประมาณ 3-4 กรัมต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งที่ฟาร์มป้าน้อยสามารถทำเงินจากการขายไขชะมดได้เดือนละประมาณ 100,000 บาท โดยเป็นรายได้สุทธิที่หักค่าดูแลและค่าอาหารอีกเดือนละประมาณ 50,000 บาทแล้ว

ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีทีเดียว

ผู้ที่ต้องการติดต่อ ฟาร์มป้าน้อย ต้องการสั่งซื้อไขของชะมด ฟาร์มแห่งนี้อยู่ที่ ต.ทับคาง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เบอร์โทรศัพท์สอบถามคือ 08-9030-4823 (คุณพจนีย์) ทั้งนี้ นอกจากเลี้ยงเพื่อเอา ’ไขชะมด“ แล้ว ปัจจุบันยังมีการเลี้ยงชะมดเพื่อผลิต ’กาแฟขี้ชะมด“ ที่กำลังเป็นที่นิยมด้วย อาชีพนี้จึงน่าศึกษาไม่น้อยเลย.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=119393

Friday, February 4, 2011

แนะนำอาชีพ 'เลี้ยงไส้เดือนดิน'

"ไส้เดือนแอฟริกา” จัดเป็นไส้เดือนดินตัวใหญ่และขยายพันธุ์ได้เร็ว จึงเหมาะที่จะเลี้ยงไว้สำหรับเป็นอาหารสัตว์ต่าง ๆ เช่น ปลา,ไก่,เป็ดและนก เป็นต้น โดยเลี้ยงเป็นโปรตีนเสริม

ไส้เดือนแอฟริกายังเป็นที่นิยมของหมู่นักตกปลาเพราะไม่มีกลิ่นคาว ไส้เดือนแอฟริกายังมีความสามารถในการย่อยสลายขยะปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นไส้เดือนที่มีขนาดลำตัวใหญ่ ทำให้ในปัจจุบันจึงมีเกษตรกรและผู้สนใจเลี้ยงไส้เดือนแอฟริกาเพื่อผลิตเป็น มูลไส้เดือนมากขึ้นเป็นลำดับ

คุณดุลเดช เผดิมชิต ชาวสมุทรสาคร ศึกษาและได้มีประสบการณ์ในการเลี้ยงไส้เดือนแอฟริกาได้ให้ความคิดเห็นในการ เพาะเลี้ยงไส้เดือนดินให้ประสบผลสำเร็จเริ่มแรกจะต้องมีการจัดเตรียมที่อยู่ สำหรับเพาะเลี้ยงไส้เดือนให้เหมาะสม ที่อยู่สำหรับไส้เดือนดินนั้นควรจะมีสภาพความชื้นอยู่ที่ 70-80% มีค่าความเป็นกรด-ด่างเฉลี่ย 6-7 (ค่า pH= 6-7) อุณหภูมิเฉลี่ย 20-29 องศาเซลเซียส (ไม่ร้อนและเย็นจนเกินไป)

สำหรับวัสดุที่จะใช้เลี้ยงไส้เดือนดินควรจะเป็นอินทรียวัตถุที่มีอนุภาคเล็ก ,โปร่งและย่อยสลายง่ายเพื่อที่ไส้เดือนดินจะดูดกินได้เร็วขึ้น คุณดุลเดชยังได้บอกว่าอาหารที่เหมาะสมในการเลี้ยงไส้เดือนดินได้แก่มูลสัตว์ ชนิดต่าง ๆ หรือเศษผักและผลไม้ที่เหลือจากครัวเรือน คุณดุลเดชได้ทดลองใช้วัสดุหลากหลายชนิดในการเลี้ยงไส้เดือนดิน สุดท้ายเลือกใช้มูลวัวนมล้วน ๆ เพียงอย่างเดียว โดยให้เหตุผลว่าหาได้ง่ายซึ่งสะดวกในการเตรียมอาหารและประหยัดเวลา

ขั้นตอนในการเตรียมบ่อเลี้ยงและวิธีการเลี้ยงไส้เดือนแอฟริกา เริ่มจากการนำมูลวัวมาทุบหรือบดให้ละเอียดแล้วจึงเทลงในบ่อเลี้ยงโดยให้มูล วัวนมมีความหนาประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นจึงใช้น้ำรดมูลวัวให้ชุ่มทั้งด้านบนและด้านล่าง หลังจากนั้น 2 วัน ภายในกองมูลวัวจะเกิดความร้อนขึ้น ปล่อยให้กองมูลวัวหมักทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์เพื่อให้เย็นตัวลงเสียก่อน ปล่อยไส้เดือนแอฟริกาอัตรา 500 กรัม (ครึ่งกิโลกรัม) ต่อพื้นที่บ่อเลี้ยง 1 ตารางเมตร

เลี้ยงไส้เดือนดินไปประมาณ 45 วัน มูลวัวทั้งหมดจะถูกไส้เดือนกินจนกลายเป็นมูลไส้เดือนดินทั้งบ่อ นำมูลไส้เดือนในบ่อเลี้ยงไปคัดแยกตัวไส้เดือนออกและนำมูลไส้เดือนมาผึ่งใน ร่มสัก 2 วันเพื่อให้ความชื้นลดลง นำมูลไส้เดือนมาร่อนผ่านตะแกรงขนาดความถี่ 2 มิลลิเมตรและนำมูลไส้เดือนบรรจุลงถุงเพื่อจำหน่ายหรือใส่เป็นปุ๋ยให้กับ ต้นไม้ต่อไป

คุณดุลเดชยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามูลไส้เดือนยังสามารถนำมาทำน้ำสกัดชีวภาพ โดยใช้อัตราส่วนมูลไส้เดือน 1 ส่วนต่อน้ำ 10 ส่วน ทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน นำน้ำมารดให้ต้นไม้จะช่วยให้เจริญเติบโตเร็ว.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=673&contentID=119174

Thursday, February 3, 2011

แนะนำอาชีพ 'ปลูกพริกเหลือง '

ในบรรดากลุ่มพริกใหญ่หรือพริกชี้ฟ้าทั้งหลาย เมื่อแบ่งตามสีของผลจะมีอยู่หลายสี และที่รู้จักกันดีคือกลุ่มสีเขียวซึ่งมีตั้งแต่ เขียวอ่อน,เขียวเหลืองและเขียวเข้ม เป็นต้น ในขณะที่พริกใหญ่ที่มีสีเหลืองจะเป็นกลุ่มที่หายากและมีราคาแพงที่สุด

ในขณะที่ความต้องการบริโภคพริกเหลืองของคนไทยยังมีความต้องการอย่างต่อ เนื่อง เพราะได้ สีและรสชาติที่มีความหอมเฉพาะตัว ในบางช่วงราคาของพริกเหลืองจะสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท

การเตรียมพื้นที่ปลูกพริกเหลือง สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นปลูกพริกในที่ดินใหม่ ค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ควรมีค่าพีเอช = 6.0-6.8 ถ้าสภาพดินเป็นกรดจะต้องมีการปรับสภาพของดิน ก่อนที่จะทำการไถดินให้ใส่ปุ๋ยคอกอย่างน้อยไร่ละ 1,000 กิโลกรัมหรือ 1 ตัน เมื่อไถดินเสร็จให้ทำการตากดินทิ้งไว้นาน 3-7 วัน

ยกแปลงปลูกสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ยาวไม่ควรเกิน 50 เมตร ในการขึ้นแปลงจะใช้รถไถติดผาล 7 ขึ้นแปลงไป-กลับ 4 รอบ เมื่อขึ้นรอบที่ 5 ให้ใช้เกรดรถไถปรับหลังแปลงให้เรียบเป็นแปลงพริก จากนั้นอาจจะปูพลาสติกและวางสายน้ำหยดหรือจัดระบบการให้น้ำตามความเหมาะสมใน แต่ละพื้นที่

การเพาะเมล็ดพริกที่เกษตรกรไทยนิยมปฏิบัติกันจะแบ่งออกได้ 3 วิธีคือ หยอดเมล็ดลงในถาดเพาะโดยตรง, หว่านในตะกร้าพลาสติกที่ใช้ทรายเป็นวัสดุปลูก กลบด้วยปุ๋ยหมักอินทรีย์หรือขุยมะพร้าว รดน้ำอย่าให้แฉะจนเกินไปเพราะจะทำให้เมล็ดพริกเน่าได้ หลังจากเพาะไปได้ 7-10 วัน ย้ายต้นกล้าลงถาดหลุม ขนาดแปลงเพาะมีความกว้าง 2 เมตร ความยาว 5-10 เมตร โรยเมล็ดให้ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร เป็นแถวตามความกว้างของแปลง แต่ละแถวห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้ฟางข้าวคลุมแปลงเพาะบาง ๆ ต้นกล้าพริกที่มีอายุเฉลี่ย 25-30 วัน มีความสมบูรณ์และต้นแข็งแรงไม่มีโรครบกวนให้ย้ายลงปลูกในแปลงได้

ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่มีความจำเป็นในการปลูกพริกใส่เพื่อปรับปรุงโครง สร้างของดินช่วยให้ร่วนซุย หมั่นสังเกตต้นพริกอย่าให้ผลผลิตดกเกินไป อาจจะพบอาการขั้วนิ่ม ปลายผลเหลืองและร่วงหรือที่หลายคนเรียกกันว่าอาการ “กุ้งแห้งเทียม” ก็เป็นได้.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=673&contentID=118963