Saturday, July 27, 2013

แนะนำอาชีพ ‘กระเป๋าผ้าขาวม้า’

“ผ้าขาวม้า” ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และด้วยลวดลายก็มีหลากหลาย บวกกับสีสันที่สวยสดใส ปัจจุบันจึงมีการนำผ้าขาวม้ามาประยุกต์ดัดแปลงทำเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย ซึ่ง “กระเป๋าผ้าขาวม้า” นี่ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผ้าขาวม้าทำออกมาได้อย่างสวยงาม เป็นสินค้าประเภทงานแฮนด์เมดที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้สร้างสรรค์ได้ดีไม่แพ้ผลิตภัณฑ์อื่น และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำมานำเสนอ… ****** เก็บตกจากการที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดงาน “37 ปี เทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ราชมงคลธัญบุรี สร้างคุณค่าสู่สังคมไทย” เมื่อวันที่ 17-18 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา ภายในงานมีการสาธิต อบรม สอนอาชีพหลากหลายอาชีพ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีการสอนการทำ “กระเป๋าผ้าขาวม้า” กระเป๋าผ้าที่ทำจากผ้าขาวม้า อ.ศรุต สุขสวัสดิ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีคหกรรม ศาสตร์ ภาควิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้า บอกว่า สำหรับผ้าขาวม้านั้น โดยส่วนตัวมองว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ผู้ทำก็อาจจะทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ ใช้เวลาว่างมาทำเพื่อเสริมรายได้ อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ผ้าขาวม้าและส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย ด้วยคุณสมบัติของผ้าขาวม้าที่มีเนื้อผ้าที่หลากหลาย มีลวดลายและสีสันที่สวยสดใส ผ้าขาวม้าจึงสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เนื้อผ้า อย่างการนำผ้าขาวม้ามาดัดแปลงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋า การออกแบบก็สามารถทำได้หลายแบบหลายทรง อาทิ กระเป๋าถุงผ้า, กระเป๋าย่าม, กระเป๋าอเนกประสงค์, กระเป๋าใส่โทรศัพท์ เป็นต้น หรือจะนำผ้าขาวม้ามาทำเป็นเสื้อ หรือใช้ผ้าขาวม้ากับงานห่อปกก็ได้ “สำหรับการทำกระเป๋าผ้าขาวม้า เป็นงานแฮนด์เมด ทำด้วยมือ สามารถเพิ่มรูปแบบ แตกรายสินค้าได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับไอเดีย และความสามารถของแต่ละบุคคล” อ.ศรุต กล่าว ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็ได้หยิบยกการทำกระเป๋าผ้าขาวม้าแบบ “กระเป๋าถุงผ้า” ที่สามารถเปลี่ยนทรงกระเป๋าได้ถึง 4 รูปแบบ มานำเสนอ... “การทำกระเป๋าถุงผ้าจากผ้าขาวม้า ก็ทำได้หลายขนาด แล้วแต่ต้องการ แต่ไม่ควรทำไซซ์ที่เล็กกว่า 20 เซนติเมตร เพราะกระเป๋าที่ทำออกมาจะเล็กเกินไป” อ.ศรุต กล่าวแนะนำ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มีดังนี้คือ...ผ้าขาวม้า, ผ้าคอตตอน, ชอล์กเขียนผ้า, เชือก (สำหรับทำเป็นสายรูดปิดปากกระเป๋า), อุปกรณ์ตัดเย็บ พวก เข็ม ด้าย กรรไกร เป็นต้น ขั้นตอนการทำ...เริ่มจากการตัดกระดาษเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตามขนาดที่ต้องการทำเป็นแพตเทิร์น จากนั้นก็เลือกผ้าขาวม้าตามลายและสีที่ต้องการ ใช้แพตเทิร์นวางลงบนผ้าขาวม้า ใช้ชอล์กขีดเส้นตามแพตเทิร์น ใช้กรรไกรตัดตามแพตเทิร์นให้ห่างจากเส้นที่ขีดไว้ประมาณ 1 เซนติเมตร ก็จะได้ผืนผ้าขาวม้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เตรียมไว้ แล้วก็ทำการตัดผ้าคอตตอนให้ได้ขนาดเท่ากับผ้าขาวม้าอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งสีผ้าคอตตอนที่เลือกจะต้องเข้ากับสีของผ้าขาวม้าที่ใช้ด้วย เมื่อได้ผ้าแบบ เป็นผ้าขาวม้า 1 ชิ้น ผ้าคอตตอน 1 ชิ้น ก็นำผ้าทั้ง 2 มาประกบกัน จากนั้นทำการเย็บผ้าทั้ง 2 ชิ้นให้ติดกัน โดยเย็บตามเส้นที่ใช้ชอล์กขีดไว้ จะใช้มือเย็บหรือจะใช้จักรเย็บก็ได้ แต่จะต้องเย็บให้แน่นหนา เย็บให้รอบจนเกือบครบรอบ โดยให้เหลือช่องไว้เล็กน้อย จากนั้นก็กลับด้านเอาด้านนอกออกมา ทำการเย็บปิดช่องให้เรียบร้อย (เหมือนการเย็บทำหมอน เพียงแต่ไม่ต้องยัดนุ่นหรือใยสังเคราะห์เข้าไป) เมื่อเย็บเสร็จ ก็จะได้เป็นผ้าทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จากนั้นก็ทำการพับผ้าให้เป็นรูปสามเหลี่ยม โดยเอาด้านที่เป็นผ้าขาวม้าออกด้านนอก แบ่งผ้าที่พับเป็นสามเหลี่ยมออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยการพับเข้าหากัน หลังจากที่แบ่งส่วนเท่ากันแล้ว ใช้ชอล์กขีดเส้นตรงรอยที่พับแบ่ง แล้วใช้เข็มเย็บตามรอยขีดทั้ง 2 ด้าน เสร็จแล้วก็วัดจากรอยเย็บขึ้นไปด้านบนยอดประมาณ 1 นิ้ว เมื่อวัดได้แล้วก็พับลงมาครึ่งหนึ่ง ทำการเย็บตามแนวเส้นที่ขีดไว้ สำหรับทำเป็นปากถุงใส่เชือกไว้รูดปิด-เปิด ขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นการพับก้นถุงผ้า ซึ่งสามารถพับและปรับได้ 4 แบบ ตามแต่ต้องการ ทั้งนี้ การออกแบบการทำกระเป๋าจากผ้าขาวม้าของ อ.ศรุตนั้น สำหรับเผยแพร่ให้ความรู้กับชุมชนหรือหน่วยงานที่สนใจอยากเรียนรู้ ไม่ได้มุ่งทำขาย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนสำหรับการทำกระเป๋าถุงผ้าขนาด 60 เซนติเมตร จะอยู่ที่ประมาณ 90 บาท ซึ่งการทำเป็น “ช่องทางทำกิน” การตั้งราคาขาย ก็สามารถจะตั้งได้ที่ประมาณ 135 บาท ****** สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการทำ “กระเป๋าผ้าขาวม้า” ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป ชุมชน หรือหน่วยงาน ทาง อ.ศรุต สุขสวัสดิ์ ยินดีให้ความรู้การทำ ซึ่งสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้ที่เบอร์ 0-2549-3161, 08-5675-4415. http://www.dailynews.co.th/article/384/221799

Sunday, July 21, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ปั้นขลิบไส้ปลาทู’

ขนมหรือของว่างทานเล่น ในท้องตลาดทุกวันนี้มีสินค้ามากมายในรูปแบบใกล้เคียงกัน ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นตัวชี้ขาดเพื่อเอาชนะใจลูกค้าให้ยอมตัดสินใจควักกระเป๋าซื้อ นอกจากต้องเป็นของดีและอร่อยแล้วก็ยังต้องมีความแตกต่าง อย่างสินค้าขนม “ปั้นขลิบ” หรือ “ปั้นสิบ” แบรนด์ “หนึ่ง สอง สาม (1 2 3) มาร์เก็ตติ้ง” ของดีเมืองลุงหรือเมืองพัทลุง ที่ขายมานาน 30 ปี เจ้านี้ก็สร้างความต่างได้น่าสนใจ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้ได้พิจารณากัน... ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลคือ กัญญารัตน์ ตู้เซ่ง หรือ ป้าเล็ก ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายขนมปั้นขลิบ แบรนด์ “หนึ่ง สอง สาม (1 2 3 ) มาร์เก็ตติ้ง” ของดีเมืองพัทลุง กรอบนอก นุ่มใน รสชาติกลมกล่อม โดยป้าเล็กเล่าให้ฟังว่า จากความชอบส่วนตัวที่สนใจเรื่องขนมมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับเคยทราบว่าบรรพบุรุษของครอบครัวมีฝีมือในการทำขนมขายได้อร่อยจนเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้าหลายรุ่น จึงมักหาเวลาว่างฝึกทำขนมต่าง ๆ มาตลอด ให้คนในครอบครัว ญาติ ๆ ชิมและติชม “พอเรียนจบก็ทำงานรับราชการครูอยู่ที่โรงเรียนควรขนุน จ.พัทลุง เพราะเป็นคนไม่ชอบอยู่เฉยและพอจะมีฝีมืออยู่บ้างจึงทำขนมแห้งส่งขายสหกรณ์ในโรงเรียน ที่นี้ก็พูดกันปากต่อปากจนของไม่พอขาย จะทำเพิ่มก็ไม่มีเวลาเพราะต้องสอนหนังสือเด็ก ต่อมามีปัญหากล่องเสียงอักเสบ ไม่มีเสียงจะสอนเด็ก จึงเออร์ลี่รีไทร์ออกมา แล้วก็ศึกษาหาสูตรทำขนม ทดลองทำขนมปั้นขลิบอย่างจริงจัง เริ่มจากผลิตไส้ปลาทูก่อน เพราะเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายในพื้นที่ แถมยังสดใหม่เพราะอยู่ใกล้ทะเล ทำออกขายก็มีเสียงตอบรับดีมาก ลูกค้ายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อย ทำให้เป็นกำลังใจสำคัญในการหันมาผลิตเป็นธุรกิจครอบครัว ใช้แรงงานในชุมชนเพื่อเขาจะได้มีงานมีรายได้ จนสินค้าได้เป็นสินค้าโอทอป จ.พัทลุง” ขนมปั้นขลิบที่ผลิตอยู่ ปัจจุบันมี 4 ไส้คือ ไส้ปลาทู ไส้ไก่ ไส้กุ้ง และไส้ธัญพืชข้าวสังข์หยด ซึ่งขายดีทุกไส้ อุปกรณ์การทำ ก็มี กระทะ, เตาแก๊ส, เครื่องนวดแป้ง, มีด, เขียง และภาชนะเบ็ดเตล็ด ส่วนวัตถุดิบหลักตามสูตรก็มี แป้งสาลี 800 กรัม, แป้งข้าวเจ้า 150 กรัม, น้ำมันพืช 300 กรัม, ไข่ไก่ 2 ฟอง, น้ำปูนใส 250 กรัม และเกลือ 2 ช้อนชา การทำปั้นขลิบ จะมี 2 ส่วนคือ ส่วนของแป้ง และไส้ โดยจะเริ่มทำในส่วนไส้ขนมก่อน กรณีเป็น “ปั้นขลิบไส้ปลาทู” ส่วนผสมหลักที่ใช้คือ ปลาทูสด, หอมแดงบดละเอียด, กระเทียมบด, รากผักชีโขลกละเอียด, พริกไทยป่น, น้ำตาลทราย, น้ำมันพืช, เกลือ วิธีทำ... นำปลาทูสดมาควักไส้และล้างให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วนึ่งให้สุก เลาะเอาแต่เนื้อมาบดให้ละเอียดพักไว้ จากนั้นตั้งกระทะใส่น้ำมันพืช พอกระทะร้อนใส่รากผักชีโขลก หอมแดงบด กระเทียมบด ลงไปผัดให้หอม แล้วจึงใส่เนื้อปลาทูบด พริกไทยป่น ผัดให้สุกสักครู่ ถัดมาก็ใส่น้ำตาลทราย และเกลือ ตามลงไป ผัดต่อไปเรื่อย ๆ จนแห้ง ชิมรสปรุงรสให้มีรสหวานนำ เค็มเล็กน้อย เสร็จแล้วยกลงพักให้เย็น แล้วจึงปั้นไส้เป็นลูกกลม ๆ เล็ก ๆ เตรียมไว้ในภาชนะ สำหรับส่วนของแป้ง ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ตามสูตรส่วนผสมก็มี แป้งสาลี 800 กรัม, แป้งข้าวเจ้า150 กรัม, น้ำมันพืช 300 กรัม, ไข่ไก่ 2 ฟอง, น้ำปูนใส 250 กรัม, เกลือ 2 ช้อนชา การทำก็นำส่วนผสมทั้งหมดมานวดให้เข้ากันจนแป้งเนียน หากต้องนวดแป้งในจำนวนมากก็ต้องใช้เครื่องนวดจึงจะประหยัดแรง เมื่อนวดจนแป้งเนียนแล้วให้พักแป้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วจึงค่อยเอาแป้งมานวดอีกครั้งเพื่อให้แป้งคลายตัว จากนั้นแบ่งแป้งเป็นเส้นยาว ๆ หั่นแป้งเป็นชิ้นเล็ก ๆ คล้ายลูกเต๋า ขนาดตามที่ต้องการ (คล้ายการหั่นแป้งทำปาท่องโก๋) เสร็จแล้วก็พักแป้งไว้ ต่อไปเป็นวิธีปั้น เริ่มจากแผ่แป้งที่หั่นเตรียมไว้ให้เป็นแผ่นบาง ๆ นำไส้ขนมที่ปั้นเตรียมไว้ใส่ตรงกลาง ประกบแป้งปิดไส้ให้เป็นครึ่งวงกลม แล้วก็ม้วนเก็บริมแป้งให้เป็นเกลียวให้สวยงาม แล้วจึงนำไปทอดแบบน้ำมันท่วม ใช้ไฟอ่อน สังเกตว่าขนมมีสีทองอ่อน ๆ ดูสวย และกรอบแล้ว ก็ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ราคา “ปั้นขลิบไส้ปลาทู” คือ 160 บาท/กก. ถ้าเป็นแพ็กเกจสวย ๆ ขายแพ็กละ 35 บาท โดยสินค้า “หนึ่ง สอง สาม (1 2 3) มาร์เก็ตติ้ง” ส่วนใหญ่จะขายในเซเว่น-อีเลฟเว่น ครอบคลุมทั่วภาคใต้ รวมถึงตามร้านค้า-ร้านขายของฝาก ใครแวะเวียนไปเที่ยวที่พัทลุง ที่ภาคใต้ ก็เชิญชวนลิ้มลองขนม “ปั้นขลิบ” ของดีพัทลุงเจ้านี้ จะซื้อเป็นของฝากเพื่อนฝูงญาติพี่น้องก็ได้ หรือใช้เป็นของว่างรับประทานกับน้ำชากาแฟในงานสัมมนาต่าง ๆ ก็ดี โดยแหล่งผลิตสินค้าของ ป้าเล็ก ตั้งอยู่ที่เลขที่ 205 หมู่ 12 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งใครสนใจจะรับไปจำหน่ายต่อเป็น “ช่องทางทำกิน” ในอีกแบบ ก็ติดต่อป้าเล็ก หรือ น้องหนึ่ง ได้ที่ โทร. 08-5673-1774, 08-1092-2520 หรือ 0-7468-9049. ......................................................................................... คู่มือลงทุน...ปั้นขลิบไส้ปลาทู ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคาขาย รายได้ แพ็กละ 35 / กก.ละ 160 บาท แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป ตลาด ร้านของฝาก, ร้านค้าทั่วไป จุดน่าสนใจ ทำขายได้ตลอดทุกเทศกาล ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/220454

Saturday, July 20, 2013

แนะนำอาชีพ กล่องผ้าทำมือ’

สินค้าบางประเภทหากมองแค่ตาอาจเหมือนไม่มีอะไร แต่บางครั้งงานฝีมือที่ดูว่าง่ายเมื่อนำความคิดสร้างสรรค์มาดัดแปลงเข้ากับการพัฒนาชิ้นงาน ชิ้นงานที่ดูเรียบง่ายก็สามารถทำราคา เพิ่มมูลค่า สร้างความหลากหลายให้กับสินค้าได้อย่างน่าสนใจ อย่างเช่นงาน ’กล่องผ้าทำมือ“ ไอเดียหลากหลาย ของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้... อัญชลี จิตสวา เจ้าของชิ้นงาน “กล่องผ้าทำมือ” ชื่อสินค้า Fabric Box By An เล่าว่า เริ่มทำงานกล่องผ้าทำมือมาได้ราว 2 ปีแล้ว โดยในช่วงที่ประสบอุทกภัยอยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จึงไปหัดทำงานผ้าและกล่องทำมือนี้ จากนั้นกลับมาทดลองทำ โดยเมื่อทำเสร็จได้นำไปมอบให้คนรู้จัก หลายคนพอเห็นชิ้นงานก็เกิดความสนใจอยากได้บ้าง จึงคิดว่ากล่องผ้าทำมือนี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ จึงผลิตชิ้นงานเรื่อยมา เริ่มจากฝากขายร้านเพื่อนที่รู้จัก จากนั้นจึงเปิดร้านออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก www.facebook.com/FabricBoxByAn ซึ่งได้รับการตอบรับดี โดยสินค้ามีทั้งกล่องสำเร็จรูป และกล่องที่รับผลิตตามคำสั่งซื้อลูกค้า มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ แบ่งเป็นชนิดต่าง ๆ ตามการใช้งาน เช่น กล่องทิซชู, กล่องเครื่องประดับ, กล่องนาฬิกา, กล่องของขวัญ เป็นต้น... “งานกล่องผ้าต่อยอดออกไปได้เรื่อย ๆ บางครั้งได้ไอเดียจากลูกค้าโดยตรงที่กำหนดมาว่าต้องการกล่องผ้าลักษณะไหน เพื่อนำไปใช้งานอะไร บอกได้เลยว่าไอเดียกล่องผ้านี้ไม่มีตันแน่นอน” อัญชลีกล่าว กลุ่มลูกค้ากล่องผ้าทำมือนี้ เธอบอกว่า กลุ่มลูกค้ากว้าง เพราะสินค้านำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความต้องการลูกค้า หากเป็นกลุ่มผู้ใหญ่จะชอบกล่องผ้าที่ดูเรียบหรู มีลวดลายสีสันไม่ฉูดฉาดนัก หากเป็นกลุ่มวัยรุ่นจะเน้นสีสันลวดลายมากขึ้น ลูกค้าที่ซื้อไปมีทั้งซื้อไปเพื่อใช้งานเอง และมีทั้งที่นำไปใช้แทนกล่องของขวัญ “ด้วยความที่มีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ค่อนข้างกว้าง เราจึงต้องสต๊อกผ้าไว้หลายแบบ หลายลวดลาย เพราะลูกค้าแต่ละกลุ่มก็มีความชอบและรสนิยมที่ต่างกัน” เป็นคำแนะนำจากผู้ผลิตกล่องผ้าทำมือรายนี้ ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้เงินประมาณ 5,000 บาท ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 30% จากราคาขาย โดยกล่องผ้าทำมือนี้ราคาเริ่มต้นที่ 100 บาท ไปจนถึง 1,800 บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดของชิ้นงาน วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ หลัก ๆ ประกอบด้วย ผ้าคอตตอนลวดลายต่าง ๆ, กระดาษชานอ้อย สำหรับทำกล่อง, กระดาษขาวเทา ทำผิวกล่อง, กาวลาเท็กซ์, ริบบิ้น, คัตเตอร์, ฟองน้ำ, กรรไกร และวัสดุตกแต่ง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้หาซื้อได้ตามร้านงานผ้า ร้านเครื่องเขียน หรือย่านสำเพ็ง... ขั้นตอนการทำ เริ่มจากวัดและตัดกระดาษชานอ้อยตามขนาดของกล่องที่ต้องการ โดยอาจตัดส่วนประกอบต่าง ๆ เตรียมไว้ แล้วค่อยนำมาประกอบทีเดียวก็ได้ เหตุที่ต้องเลือกใช้กระดาษชานอ้อย เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทาน ตัดได้ง่าย และไม่บวมเมื่อนำมาประกอบทากาวติดกับผ้า โดยกล่อง 1 กล่องจะต้องตัดกระดาษประมาณ 5 ชิ้นขึ้นไป แล้วแต่รูปแบบกล่องที่จะทำ ซึ่งหลัก ๆ ก็ใช้ทำส่วนฝา ส่วนฐาน และด้านข้างกล่อง เมื่อได้จำนวนกระดาษตามที่ต้องการแล้ว ก็ทำการประกอบส่วนโครงด้านนอก ยึดส่วนประกอบให้ติดกันด้วยกาวลาเท็กซ์ ต่อมาทำการทากาวที่ด้านข้างของกล่อง โดยทาบาง ๆ ให้ทั่ว จากนั้นนำผ้าที่เลือกไว้หุ้มเข้ากับกล่องกระดาษที่ประกอบเสร็จแล้ว ทากาว และติดทีละข้างจนครบ สำหรับด้านสุดท้ายให้ทบผ้าส่วนเกินเข้ามาเล็กน้อยพับปิดให้พอดีมุม ทำให้ครบทุกด้าน ทำการติดวัสดุตกแต่ง เช่น ตัวล็อกฝาของกล่อง สำหรับใช้ปิด-เปิด ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ “กล่องผ้าทำมือ” “ขั้นตอนมีไม่มาก แต่บางขั้นตอนต้องอาศัยความละเอียดประณีตพอสมควร ยิ่งหากกล่องนั้นต้องการเพิ่มรายละเอียดการใช้งานมากขึ้น เช่น มีลิ้นชักเปิด-ปิด มีบานพับเข้า-ออก ขั้นตอนก็จะเพิ่มขึ้น” อัญชลีกล่าว... ใครสนใจชิ้นงาน ’กล่องผ้าทำมือ“ ต้องการติดต่อกับอัญชลี กรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-0988-4576 หรืออีเมล fabricboxbyan@gmail.com และเข้าไปดูรูปแบบกล่องผ้าทำมือได้ในเฟซบุ๊กตามที่ระบุไว้ข้างต้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งงานทำมือที่บางคนอาจคิดว่า...ก็แค่งานกล่องผ้าจะมีอะไร? จะทำอะไรได้อีก? แต่เมื่อนำมาผนวกกับความตั้งใจ ผสมกับไอเดียหลากหลาย ก็เห็นได้ชัดว่า...สามารถสร้างเงิน-ทำเป็นอาชีพได้อย่างดี!!. ........................................................................................................ คู่มือลงทุน...กล่องผ้าทำมือ ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 30% จากราคา รายได้ ราคา 100-1,800 บาท แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด กลุ่มของใช้, ของขวัญ จุดน่าสนใจ ต่อยอดได้หลากหลาย ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/220133

Saturday, July 13, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ตะลิงปลิงลอยแก้ว’

การทำ “ลอยแก้ว” คือวิธีการถนอมอาหารประเภทผลไม้อย่างหนึ่ง เพื่อยืดอายุผลไม้ให้ทานได้นาน ๆ แถมยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้นั้น ๆ ได้อีกด้วย ปัจจุบันมีการทำลอยแก้วกับผลไม้ที่หลากหลาย อย่างสละ มะดัน กระท้อน ฯลฯ ซึ่งการทำผลไม้ลอยแก้วขายก็กลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีคนทำอย่างกว้างขวาง ทั้งแบบครัวเรือน รวมถึงในระดับอุตสาหกรรม และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำลอยแก้วด้วยผลไม้พื้นบ้านอย่าง “ตะลิงปลิง” มานำเสนอ... ผลไม้พื้นบ้านอย่าง “ตะลิงปลิง” นั้น มีสรรพคุณมากมายทีเดียว โดย เสาวลักษณ์ สุนทรธรรม เจ้าของธุรกิจผลไม้ลอยแก้ว “ช่องาม” เล่าว่า ทำผลไม้ลอยแก้วมา 8 ปีแล้ว โดยเริ่มจากการทำสละลอยแก้วขายส่งร้านอาหารก่อน ซึ่งก็มียอดขายที่ดีมาก โดยจะใช้ของดี ทำให้ถึงรสชาติ และไม่ใส่สารกันบูด ส่วนการทำ “ตะลิงปลิงลอยแก้ว” นั้น มีที่มาจากการที่ไปเดินตลาด แล้วเห็นมีคนขายผลแบบสด ๆ ก็คิดว่าน่าจะใช้ทำลอยแก้วได้ จึงซื้อมาทดลองทำดู “ผลตะลิงปลิงนี้ไม่ค่อยมีคนนิยมทานกันมาก เพราะมีรสชาติเปรี้ยวมาก ชาวสวนหรือชาวบ้านปลูกไว้เพื่อเอามาจิ้มน้ำพริก หรือเอามาทำกับข้าว แต่ก็ไม่ได้ใช้มาก เพราะเปรี้ยวมาก กินแล้วเข็ดฟัน ดังนั้นผลตะลิงปลิงที่เหลือจะถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ทั้ง ๆ ที่สรรพคุณของตะลิงปลิงนั้นมีมากมาย อาทิ เป็นยาบำรุงกระเพาะ ช่วยให้เจริญอาหาร ลดไข้ แก้ไอ ลดเสมหะ รักษาริดสีดวงทวารได้” เสาวลักษณ์กล่าวและว่า นอกจากนี้ น้ำของตะลิงปลิงยังสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือด และลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ สามารถนำมาปรุงอาหารแทนน้ำมะนาวให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานได้ด้วย เสาวลักษณ์บอกต่อไปว่า ได้ทดลองทำตะลิงปลิงลอยแก้วประมาณ 1 สัปดาห์ก็ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีพื้นฐานเรื่องการทำสละลอยแก้วเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยอุปกรณ์ที่ใช้ทำลอยแก้วนั้นหลัก ๆ ก็มี กะละมัง, ตะกร้า, หม้อ, เตาแก๊ส, ตู้แช่ และอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดที่ใช้ในครัวทั่ว ๆ ไป วิธีทำ “ตะลิงปลิงลอยแก้ว” จะใช้ผลตะลิงปลิงสดนำมาตัดขั้วหัว-ท้าย แล้วล้างให้สะอาดแบบชนิดที่ว่าสะอาดสุด ๆ คือไม่มีเศษฝุ่น เศษดิน หรือยางของตะลิงปลิงเหลืออยู่เลย จากนั้นนำไปใส่ตะกร้า ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วผ่าออกตามแนวตั้งเป็น 2-4 ชิ้นต่อตะลิงปลิง 1 ผล ขั้นต่อไปนำตะลิงปลิงมาคั้นน้ำออกสักประมาณหนึ่ง เพื่อลดความเปรี้ยว (น้ำตะลิงปลิงนั้นสามารถนำไปปรุงรสทำน้ำตะลิงปลิงขายเสริมได้อีกส่วนหนึ่ง) จากนั้นตั้งน้ำ 1 หม้อใหญ่ ต้มน้ำให้สุก แล้วใส่น้ำตาลทราย 6 กิโลกรัม และเกลือ 100 กรัม เคี่ยวให้เข้ากัน จากนั้นจึงใส่ผลตะลิงปลิงลงไปต้มประมาณ 15 กิโลกรัม ต้มแล้วก็ยกลงพักทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้น้ำซึมเข้าเนื้อได้ดี ก่อนจะบรรจุใส่ถ้วยพลาสติกเพื่อจำหน่าย ซึ่งก่อนบรรจุใส่ถ้วยพลาสติกให้ลองชิมรสก่อน รสชาติที่ดีจะต้องเปรี้ยวนำ หวานตาม แต่ไม่เค็ม บรรจุถ้วยละ 180 กรัม (ทั้งน้ำและเนื้อ) ขายได้ในราคาถ้วยละ 35 บาท ในส่วนของ “สละลอยแก้ว” ทางคุณเสาวลักษณ์ก็ได้บอกสูตรด้วย โดยน้ำลอยแก้วนั้นจะเป็นสูตรเดียวกับตะลิงปลิง แต่แตกต่างกันตรงที่เนื้อสละ โดยสละนี้จะกะเทาะหนาม แกะเอาเปลือกและคว้านเม็ดออก แล้วใส่เนื้อลงในน้ำเชื่อมลอยแก้วที่เคี่ยวเสร็จแล้วได้เลย ซึ่งบรรจุใส่ถ้วยพลาสติกถ้วยละ 180 กรัม ก็ขายในราคาถ้วยละ 35 บาทเช่นกัน “ประโยชน์ของสละคือ เนื้อสละมีกรดอินทรีย์ น้ำตาล วิตามินซี และฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเนื้อสละยังเป็นยาขับเสมหะ ป้องกันอาการหวัดอีกด้วย” คุณเสาวลักษณ์กล่าวและว่า นอกจากตะลิงปลิงลอยแก้ว และสละลอยแก้วแล้ว ที่ทำขายประจำก็ยังมีผลไม้อื่น ๆ อีก อาทิ กระท้อนลอยแก้ว, มะดันลอยแก้ว, มะเฟืองลอยแก้ว และรวมถึงเชอรี่ไทยด้วย ซึ่งนี่ก็นับว่าเป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่น่าพิจารณา ทั้งนี้ ผลไม้ลอยแก้วเจ้านี้มีต้นทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาขาย ใครสนใจ “ตะลิงปลิงลอยแก้ว” และผลไม้ลอยแก้วต่าง ๆ ต้องการติดต่อ เสาวลักษณ์ สุนทรธรรม ก็ติดต่อได้ที่ 39/27 หมู่ที่ 5 ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 08-1425-0300 และ 08-1927-0882. ............................................................................ คู่มือลงทุน....ตะลิงปลิงลอยแก้ว ทุนอุปกรณ์ : ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ ทุนวัตถุดิบ : ประมาณ 70% ของราคา รายได้ : ราคา 35 บาท/ถ้วย (180 กรัม) แรงงาน : ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ตลาด : ชุมชน, ตลาดนัด, ร้านอาหาร จุดน่าสนใจ : มีสรรพคุณเป็นจุดขายที่ดีได้ ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/218857

Friday, July 12, 2013

แนะนำอาชีพ ‘กิ๊บโบแฮนด์เมด’

งานฝีมือ-งานประดิษฐ์-งานแฮนด์เมด ต้องสร้างจุดเด่นชูจุดขายให้กับสินค้าที่ผลิตออกสู่ตลาด ยิ่งผลิตชิ้นงานได้ตรงจุดโดนใจลูกค้ามากเท่าไหร่โอกาสจะพบกับความสำเร็จก็มีเพิ่มขึ้นเท่านั้น อย่าง ’กิ๊บโบแฮนด์เมด“ ที่มีจุดเด่นตรงลวดลายผ้าสีสันสดใสน่ารัก มีความหลากหลาย โดนใจลูกค้าทั้งไทยและเทศ นี่ก็ถือเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ... ****** จริญญา สุขใจ และ วีรวุตต์ วิศาล เป็นผู้ที่ผลิตชิ้นงาน “กิ๊บโบติดผมแฮนด์เมด” ออกจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี โดยจริญญาเล่าว่า จริง ๆ แล้วทั้ง 2 คนก็ไม่ได้ยึดอาชีพค้าขายมาตั้งแต่ต้น แต่เริ่มจากการเป็นพนักงานประจำบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทำงานอยู่ประมาณ 5-6 ปี พอมีลูกจริญญาก็ออกจากงานมาเลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน โดยแฟนยังทำงานประจำอยู่ ซึ่งช่วงที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกนั้นก็พยายามมองหาอาชีพเสริมเพื่อเป็นการหารายได้เพิ่ม ก็รับของพวกของกิฟต์ช็อปต่าง ๆ ไปขายตามตลาดนัดมหาวิทยาลัย ตระเวนขายไปเรื่อย ๆ ขายอยู่ได้ประมาณ 4-5 ปี ก็เริ่มมองว่างานที่รับมาขายนั้นจะเหมือนไปซ้ำกับเจ้าอื่น ๆ เยอะมาก เพราะเป็นงานที่รับมาขายเหมือนกัน จึงมองหาสินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำกับใครเพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับตัวเอง จนที่สุดก็มาลงเอยที่การทำ “กิ๊บโบติดผมแฮนด์เมด” งานกิ๊บโบติดผมนี้ เริ่มมาจากการที่มักจะทำให้ลูกใช้ติดอยู่แล้ว เดิมก็ไม่ได้คิดว่าจะมาทำเป็นสินค้าจำหน่าย แต่ลูกใช้ติดผมไปโรงเรียนแล้วมีผู้ปกครองหลายคนเห็นแล้วชอบ มาสั่งซื้อ ก็เลยทำขาย พอเห็นว่าขายได้จึงเริ่มทำออกมาจำหน่ายอย่างจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งแรกเริ่มนั้นทำออกมาเพียงแค่ 10 ลาย และก็ไปขายตามตลาดนัดมหาวิทยาลัยเหมือนเดิม หลังจากที่ทำออกจำหน่ายตามตลาดนัดได้ระยะหนึ่ง ตลาดก็เริ่มตัน กลุ่มลูกค้าไม่หลากหลาย จึงมีความคิดที่จะเริ่มมองหาตลาดใหม่ที่มีกลุ่มลูกค้าที่กว้างมากขึ้น จนได้มาขายอยู่ที่ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งก็เป็นอย่างที่คิด ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ มากขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ชอบงานจะเป็นชาวต่างชาติประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นคนไทย จริญญากล่าวต่อว่า กิ๊บที่ทำออกมาจำหน่ายทุกชิ้นจะทำแบบตั้งใจ งานต้องเรียบร้อย แข็งแรง วัสดุที่นำมาใช้จะต้องใช้ที่มีคุณภาพซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อจะชอบทดลองดึงโบที่ติดดู ถ้าทำไม่แข็งแรงก็จะหลุด ลูกค้าก็ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของสินค้า นอกจากนี้การเลือกลวดลายผ้าและสีผ้าที่นำมาทำก็ต้องให้มีความหลากหลาย พยายามสังเกตว่าลูกค้าชอบสีสันไหน ถ้าลวดลายสีสันนั้น ๆ ขายออกได้เยอะก็ทำออกมาเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่โบที่มีสีสันสดใสจะขายดีกว่าสีที่ดูจืด ซึ่งการขายกิ๊บโบแฮนด์เมดก็จะต้องพยายามนำสินค้ามาเติมหน้าร้านให้เต็มอยู่ตลอด เพื่อให้ดูสะดุดตาลูกค้า นอกเหนือจากนั้น ทางร้านยังสร้างจุดขายให้กับร้านเพิ่มเติมอีกโดยการนำเศษผ้าที่เหลือจากการทำโบมาเย็บติดทำเป็นหูหิ้วบนแพ็กเกจสำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าหลาย ๆ ชิ้น และนอกจากจะมีกิ๊บติดผมเป็นสินค้าแล้วตอนนี้ก็ยังทำเป็นยางรัดผมเพิ่มขึ้นมาเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าอีกชิ้นงานหนึ่ง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำกิ๊บโบติดผมแฮนด์เมด หลัก ๆ มีดังนี้คือ...กิ๊บติดผม, ผ้าคอตตอน 100%, ริบบิ้น (สายก้างปลา), ปืนยิงกาวร้อน, แท่งกาวร้อน, ด้าย, กรรไกร สำหรับกิ๊บติดผมสำเร็จรูปนั้นไปหาซื้อได้ที่ตลาดสำเพ็ง ส่วนผ้านั้นหาซื้อได้ที่ตลาดพาหุรัด โดยต้องเลือกซื้อผ้าหลากหลายสีหลากหลายลวดลาย ซื้อลายละประมาณ 1 เมตร โดยผ้า 1 เมตรสามารถทำโบได้ประมาณ 50 ชิ้น ซึ่งการซื้อผ้านั้นจะต้องไปเลือกซื้อทุกสัปดาห์เพราะผ้านี้มักจะมีแบบมีลวดลายใหม่ ๆ ออกมาเรื่อยอยู่ ๆ... ขั้นตอนการทำเริ่มจาก...นำผ้ามาทำการรีดให้ผ้านั้นเรียบก่อน จากนั้นก็ทำการตัดผ้าตามขนาดที่ต้องการ โดยการตัดผ้าจะตัดครั้งเดียวทั้งหมด ผ้ามีกี่ชิ้นกี่ลายก็ต้องตัดเตรียมไว้ ทีเดียวก่อน ซึ่งจะตัดผ้าให้ได้ขนาดประมาณ กว้าง 12 ซม. ยาว 14 ซม. โดยเวลาพับเป็นโบออกมาแล้วจะได้โบขนาดความยาวประมาณ 7 ซม. หลังจากที่ทำการตัดผ้าเตรียมไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการพับผ้าเป็นโบ จับจีบให้สวยงาม ใช้ด้ายมัดตรงกลางโบให้แน่น แล้วก็ใช้ริบบิ้นพันทับด้ายให้เรียบร้อย ใช้ปืนยิงกาวร้อนยิงยึดติดให้แน่นหนา โดยต้องใช้กาวให้พอดี ต้องไม่มากเกินไปเพราะจะทำให้งานออกมาดูไม่สวย พอทำโบเสร็จแล้วก็นำมายึดติดกับกิ๊บติดผม ยึดติดด้วยกาวให้แน่น เท่านี้ก็พร้อมวางจำหน่าย ตอนนี้กิ๊บโบแฮนด์เมด และยางรัดผมโบแฮนด์เมด ของจริญญาและวีรวุตต์ มีหลากหลายสีสัน และหลากหลายลาย ราคาขายอยู่ที่ชิ้นละ 10 บาท แต่ถ้าใครสั่ง 100 ชิ้นขึ้นไปจะได้ในราคาส่งคือชิ้นละประมาณ 6 บาท ****** ใครสนใจ ’กิ๊บโบแฮนด์เมด“ และยางรัดผมโบที่เป็นงานแฮนด์เมด ซึ่งเป็นกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ ในวันนี้ ร้านของจริญญาและวีรวุตต์ตั้งอยู่ที่ตลาดนัดจตุจักร ขายอยู่โซนทางเท้า จุดสังเกตคือร้านจะอยู่ตรงข้ามกับกรมการขนส่งฯ ขายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ หรือใครต้องการสั่งออร์เดอร์ก็โทรศัพท์ไปพูดคุยสอบถามได้ที่ โทร. 08-7912-5760. http://www.dailynews.co.th/article/384/218574

Sunday, July 7, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ขนมตาล’

“ขนมตาล” ขนมไทยดั้งเดิม นึ่งจนสุก เนื้อขนมสีเหลืองเข้ม นุ่ม ฟู กลิ่นหอมหวาน ทำจากผลตาลที่สุกงอม แป้งข้าวเจ้า น้ำกะทิ และน้ำตาล ผสมกันตามกรรมวิธี ใส่กระทงใบตอง โรยมะพร้าวขูด หลัง ๆ หากินที่อร่อย ๆ ไม่ง่ายนัก เรื่องรูปลักษณ์ก็เปลี่ยนไป ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการทำการขายขนมตาล สูตรตลาดน้ำบางคล้า ที่คงเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของคนไทยดั้งเดิม คงไว้ทั้งรสชาติ และรูปลักษณ์ มานำเสนอให้กับผู้ที่สนใจได้ลองพิจารณา... ****** ผู้ที่จะให้ข้อมูลคือทายาทผู้สืบทอดการทำขนมตาลแถบบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา คุณปู-น้ำค้าง ยอดมณี อายุ 46 ปี เจ้าของร้านขนมไทยดั้งเดิม “ปู ซุ้มขนมไทย” ซึ่งเจ้าตัวเล่าให้ฟังถึงที่มาของขนมตาลที่ลูกค้าติดอกติดใจว่า ใช้เนื้อตาลล้วน ๆ เป็นหลัก ผสมแป้งเล็กน้อย เนื้อขนมจึงนิ่ม หอมหวานเนื้อตาล โดยสืบทอดการทำมาจนถึงรุ่นลูก ซึ่งเธอเป็นลูกมือช่วยแม่ทำขนมไทยขายที่ตลาดเทศบาลบางคล้าตั้งแต่เด็ก ๆ กระทั่งเรียนจบก็ทำงานประจำที่บริษัทอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย แม่เลยบอกให้ออกมาค้าขายโดยจะโอนกิจการร้านขนมให้ เพราะท่านเหนื่อยไม่มีคนช่วย “จริง ๆ แล้วใจก็อยากจะค้าขายอยู่แล้ว แต่ไหน ๆ เราก็อุตส่าห์ไปเล่าไปเรียนมา ก็อยากลองทำงานบริษัทดู ตอนตัวคนเดียวเงินเดือนก็พอใช้ แต่พอมามีครอบครัวรายจ่ายก็เพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า รายรับยังเท่าเดิม มันก็ไม่พอ ตัดสินใจลาออกมารับช่วงทำขนมไทยต่อจากแม่ คือเราทำขนมเป็นอยู่แล้ว มา ทบทวนสูตรกับแม่นิดหน่อยก็ทำได้สบาย ก็ยึดอาชีพทำขนมไทยขายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ขนมที่ทำขายก็เช่น ขนมไข่หงส์ ขนมใส่ไส้ ขนมกล้วย ขนมฟักทอง ขนมถ้วย สาคู และขนมตาล ขนมที่ทำขายสามารถเก็บได้ 24 ชั่วโมง ไม่มีการใส่สารกันบูด และใช้สีธรรมชาติล้วน ๆ” คุณปูยังบอกอีกว่า เพราะขนมของที่ร้านเป็นขนมไทยโบราณสูตรบางคล้า วัสดุที่ใช้ห่อหรือใส่ตัวขนมโดยตรงต้องเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยแต่ดั้งเดิม คือ ใบต้องสด ซึ่งการใช้วัสดุและวัตถุดิบจากธรรมชาติจะทำให้ขนมมีความหอม นุ่มอร่อย มีสีสันสวยงาม และยังสะท้อนภูมิปัญญาของคนไทยที่น่าทึ่งอีกด้วย โดยขนมที่ร้านนี้จะห่อด้วยใบตองทั้งหมด สำหรับวัสดุอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ต้องใช้ในการทำ “ขนมตาล” ก็มี...เตาสำหรับนึ่งขนม, ลังถึงขนาดใหญ่, กะละมัง สเตนเลส, ผ้าขาวบาง, กระชอน, ทัพพี และเครื่องใช้เบ็ด เตล็ดอื่น ๆ นอกจากนี้ก็ต้องเตรียมกระทงใบตองไว้ให้พร้อม ส่วนผสมขนมตาล ประกอบด้วย...เนื้อลูกตาลสุกยีเรียบร้อยแล้ว, แป้งข้าวเจ้า, น้ำตาลทราย, น้ำกะทิสด, มะพร้าวทึนทึกขูดเส้น (ใส่มากก็อร่อยมาก) และเกลือป่น ขั้นตอนการทำขนมตาลสูตรบางคล้า เริ่มจากนำน้ำกะทิมาผสมกับน้ำตาลทราย ทำการคนให้ละลายเข้ากัน แล้ว ตั้งพักไว้ หันมาผสมแป้งข้าวเจ้ากับเนื้อตาล ใช้มือเคล้าให้ส่วนผสมเข้ากัน แล้วค่อย ๆ ใส่น้ำกะทิที่ผสมน้ำตาลลงไปทีละน้อย นวดจนแป้งนุ่มมือและเนียนเข้ากันดี แล้วจึงเติมกะทิส่วนที่เหลือทั้งหมดลงไป คนให้ส่วนผสมเข้ากันดี จากนั้นก็นำแป้งที่นวดผสมเสร็จเทใส่ภาชนะมีฝาปิด ตั้งพักไว้ในที่มีแดดส่องหรือที่อุ่น ๆ ประมาณ 5-6 ชั่วโมง รอให้แป้งขึ้นตัว (ขนมตาลโบราณต้องใจเย็น รอแป้งขึ้นจนเป็น ฟองปุด ๆ แต่ขนมตาลสมัยใหม่ย่นย่อเวลาหมักแป้งด้วยการใส่ผงฟูบ้างยีสต์บ้าง) ระหว่างที่รอแป้งก็เตรียมกระทงใบตอง โดยนำใบตองที่เตรียมไว้มาเช็ดให้สะอาด ตัดหรือเจียนทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างยาวตามขนาดที่ต้องการ นำใบตองสลับหัวท้าย ประกบแบบคว่ำ-หงาย แล้วพับมุมซ้าย พับมุมขวามาทับซ้อนกันตรงกลาง แล้วเย็บด้วยที่เย็บกระดาษหรือไม้กลัดให้ได้ขนาดสวยงาม วางเรียงในัลังถึงที่เตรียมไว้ จากนั้นนำมะพร้าวทึนทึกมาขูด โรยด้วยเกลือป่นเล็กน้อยให้พอมีรสชาติ เตรียมไว้เช่นกัน เมื่อส่วนผสมแป้งได้ที่ดีแล้ว ใช้ทัพพีคนแป้งเบา ๆ ตักหยอดใส่กระทงจนเกือบเต็ม (ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยฝีมือเพราะต้องมีจังหวะในการหยอด) แล้วโรยหน้าด้วยมะพร้าวขูดให้ทั่ว ยกวางบนลังถึงนำไปนึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 15 นาที จากนั้นเปิดฝาออกอย่าให้น้ำเหงื่อจากการนึ่งโดนขนม ขนมตาลที่นึ่งสุกดีแล้วจะขึ้นฟูจนหน้าแตก ยกลงจากเตา ตั้งไว้ให้เย็น คุณปูบอกว่า ความอร่อยของขนมตาลอยู่ที่ความนุ่มนวลของเนื้อขนม และความหวานหอมของลูกตาล อีกทั้งรสชาติจะต้องกลมกล่อม ไม่หวานไป เข้ากันพอดีกับมะพร้าว ถ้าได้อย่างนี้โอเค ความอร่อยก็ไม่หนีไปไหน ขนมที่ร้านนี้ขายตั้งแต่เวลา 08.00 น. ไปจนถึงบ่ายก็หมด โดยวันจันทร์-ศุกร์จะขายอยู่ที่ตลาดเทศบาลบางคล้า ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะขายอยู่ที่ตลาดน้ำบางคล้า ราคาขาย “ขนมตาล” สูตรบางคล้า ชิ้นละ 2 บาท ขายเป็นชุด 10 ชิ้น ก็ชุดละ 20 บาท ****** ใครไป จ.ฉะเชิงเทรา ลองแวะไปซื้อขนมไทย ๆ ที่ตลาดน้ำบางคล้า เขาเปิดขายทุกเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ นอกจากนี้ยังรับสั่งทำด้วยโดยต้องสั่งล่วงหน้า 1 วัน โดยติดต่อคุณปูได้ที่ โทร. 08-7141-6147 ซึ่งสำหรับ “ขนมตาล” นั้น ใครสนใจอยากทำขายเป็นอาชีพ เป็น “ช่องทางทำกิน” ก็ลองไปฝึกฝนฝีมือการทำกันดู. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/217190

Friday, July 5, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เค้กสับปะรด’

“ความคิดสร้างสรรค์” นอกจากความช่างสังเกตแล้ว การรู้จักมองหาวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ก็ยังเป็นอีกเคล็ดลับหนึ่งที่ใช้ได้ดี ยิ่งนำเรื่องราวทางวัฒนธรรมมาสร้างจุดขาย ผสมเข้ากับรสชาติเฉพาะด้านด้วย ก็มีโอกาสที่จะสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้าได้ไม่ยาก อย่างเช่น ’เค้กสับปะรด“ ของ “ธนิดา จตุรพรชัย” ที่เป็นของดีเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้... ธนิดา เจ้าของสูตรเค้กสับปะรดโกลเด้นซู เล่าว่า เค้กสับปะรดที่ทำอยู่นี้เป็นสูตรตกทอดมาจากครอบครัว แต่นำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากจะเป็นขนมทานเล่น หรือเป็นของฝากแล้ว ด้วยชื่อที่เป็นมงคลทั้งคำว่า “โกลเด้น” ที่แปลว่าทองในภาษาอังกฤษ กับคำว่า “ซู” ที่แปลว่ากรอบนุ่มในภาษาจีน รวมถึงในภาษาจีนฮกเกี้ยนก็มีคำเรียกวัตถุดิบหลักที่นำมาใช้อย่างสับปะรดว่า “อ่องหลาย” ที่แปลว่าโชคดีเข้ามา ทำให้เค้กสับปะรดเป็นขนมมงคลที่นิยมใช้ในเทศกาลสำคัญอีกด้วย “เป็นสูตรต้นตำรับของครอบครัว เป็นขนมสูตรฮกเกี้ยน แต่ปรับปรุงสูตรเล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับปัจจุบัน โดยเฉพาะการปรับสูตรให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ” ธนิดา เจ้าของสูตรขนมเค้กสับปะรดกล่าว แม้จะเป็นของทานเล่น แต่ถูกเพิ่มค่าด้วยการชูจุดเด่นเป็น “ขนมสุขภาพ” ด้วยการนำวัตถุดิบอย่าง “แป้งข้าวกล้องงอก” มาทดแทนวัตถุดิบเดิมอย่างแป้งสาลี อีกทั้งส่วนผสมอย่างน้ำตาลก็เปลี่ยนมาใช้น้ำผึ้งออร์แกนิคแทน ทำให้ได้เค้กสับปะรดตามสูตรปรับปรุงในแบบฉบับของเธอ นอกจากอร่อยยังแฝงด้วยคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้นด้วย... ทุนเบื้องต้น ในการทำขายเป็นอาชีพ ใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 บาท ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย โดยราคาขาย 1 กล่องมี 6 ชิ้น ขายราคา 120 บาท อุปกรณ์ในการทำ ประกอบด้วย เครื่องตีส่วนผสม, เตาอบ, แม่พิมพ์ใส่เค้ก, ถาด, กระทะ และอุปกรณ์ครัว อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำขนม อาทิ ไม้พาย, ช้อนตวงส่วนผสม, ถ้วยหรือเหยือกสำหรับปรุงส่วนผสม ส่วนผสม “ตัวเค้ก” ประกอบด้วย แป้งข้าวกล้องงอก 5 ถ้วย, เนยเค็ม 150 กรัม, ไข่ไก่ 3 ฟอง, ผงฟู 1 ช้อนชา และผงไอซิ่ง 1 ถ้วย ขณะที่ในส่วนของ “ไส้สับปะรด” ส่วนผสมประกอบด้วย เนื้อสับปะรด 1 กิโลกรัม และน้ำผึ้ง 1 ถ้วย ส่วนผสมตามสูตรนี้ สามารถทำได้ 50 ชิ้น ขั้นตอนการทำเนื้อเค้ก เริ่มจากนำแป้งข้าวกล้องมาผสมเข้ากับผงฟู ทำการตีผสมให้เข้ากันด้วยเครื่องตี เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วนำมาตั้งทิ้งไว้สักพัก หันมานำเนยเค็มและผงไอซิ่งผสมให้เข้ากัน ตีด้วยเครื่องตีจนส่วนผสมขึ้นเนื้อฟูจึงหยุด ทำการปาดด้วยไม้ปาด เติมไข่ไก่ลงไป ตีด้วยความเร็วต่ำจนส่วนผสมเข้ากันจึงหยุด จากนั้นเติมแป้งข้าวกล้องงอกลงไป ตีส่วนผสมอีกครั้งด้วยความเร็วต่ำจนแป้งเข้ากันดีกับส่วนผสม เติมน้ำสะอาดลงไปเล็กน้อย ตีจนเข้ากันอีกครั้ง ต่อมาเป็นขั้นตอนการทำไส้สับปะรด นำเนื้อสับปะรดมาทำการยีให้ละเอียด เติมน้ำผึ้งลงไปตามสัดส่วนที่ได้ตวงไว้ ทำการกวนเนื้อสับปะรด เมื่อได้ไส้สับปะรดกวนแล้ว นำแป้งที่เตรียมไว้มาทำการห่อกับไส้สับปะรด แล้วนำเค้กที่ได้ใส่ลงแม่พิมพ์เค้กที่เตรียมไว้ นำเข้าเตาอบ ตั้งอุณหภูมิประมาณ 250 องศาเซลเซียส อบประมาณ 15 นาที จึงนำออกจากเตาอบ ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ “เค้กสับปะรด” “ด้วยความที่เป็นขนมสุขภาพ จึงไม่มีการเติมสารกันเสียหรือใส่สารกันบูด แต่ขนมก็มีอายุการเก็บได้นาน โดยสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 3 เดือน” ธนิดา เจ้าของสูตรกล่าว ใครสนใจ ’เค้กสับปะรด“ รูปแบบนี้ ต้องการติดต่อ ธนิดา จตุรพรชัย ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9837-7944 หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/pages/พันตา-Punta-Pineapple-Cake ซึ่งใครที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็สามารถเปิดเข้าไปดูหรือสอบถามกันได้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูขนมทำเงิน เป็นอีก ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ... ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/216945