Friday, August 26, 2011

แนะนำอาชีพ ‘บ้านสุนัข’

ตลาดสินค้าของกลุ่มคนรักสุนัข รัก “น้องหมา” ยังถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีการเติบโตสวนกระแสตลาดสินค้าประเภทอื่น ๆ หลายประเภท ยิ่งถ้ารู้จักเติมไอเดีย ออกแบบสินค้าได้ลงตัวสวยงาม โอกาสที่จะทำเงินดีก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน อย่างเช่นงาน “บ้านสุนัข” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอกันอีกครั้ง ในอีกรูปแบบ...

“หนึ่งฤทัย คชไกร” ซึ่งผลิต “บ้านสุนัข” จำหน่าย เล่าว่า สืบเนื่องมาจากการทำธุรกิจรับฝากเลี้ยงสุนัข โดยบริการของที่ร้านจะรับฝากเฉพาะสุนัขพันธุ์เล็กและกลางที่มีน้ำหนักไม่ เกิน 15 กิโลกรัม จากนั้นจึงคิดต่อยอดโดยผลิตบ้านสุนัขเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ต้องการหา ที่อยู่อาศัยให้กับสุนัขตัวโปรด โดยใช้ชื่อว่า “โฮมสวีทโฮม” จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของตัวเองคือ www.homesweethomebkk.com สำหรับบ้านสุนัขที่ออกแบบนั้นจะจำลองแบบบ้านของคนมาทำ โดยเน้นที่ความสบายและไม่มีการติดกรงให้สุนัขอึดอัด ซึ่งแรก ๆ ทดลองทำเพื่อใช้เอง ต่อมามีลูกค้าเห็นเข้าและชอบจึงขอให้ช่วยออกแบบให้ จนต่อมาได้กลายเป็นอีกธุรกิจที่แตกยอดออกมาจากงานบริการ กลายเป็นงานบ้านสุนัขอย่างที่เห็น...

“บ้านสำหรับสุนัขที่ทำนี้ถอดแบบมาจากบ้านคน ทั้งในเรื่องรูปทรง สี และประโยชน์ใช้สอยซึ่งสามารถตอบโจทย์ในเรื่องกันแดด กันฝน กันยุง เป็นหลัก โดยพยายามดัดแปลงให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของสุนัข เช่น ประตูเปิด-ปิดแบบสวิง ล้อเลื่อน รั้ว ระเบียง โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของสุนัขเป็นหลัก” หนึ่งฤทัยกล่าว

รูปแบบบ้านสุนัขที่เธอออกแบบ ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 20 แบบ โดยแบ่งออกเป็น 4 ขนาด ประกอบด้วย ไซส์ S (ขนาดกว้าง 80 ลึก 60 สูง 90 เซนติเมตร) ไซส์ M (ขนาดกว้าง 100 ลึก 80 สูง 110 เซนติเมตร) ไซส์ L (ขนาดกว้าง 120 ลึก 100 สูง 120 เซนติเมตร) และไซส์ XL (ขนาดกว้าง 150 ลึก 100 สูง 140 เซนติเมตร) โดยลูกค้าจะพิจารณาเลือกจากขนาดพื้นที่ที่ใช้วางบ้านสุนัขกับงบประมาณของตัว เอง

กลุ่มลูกค้าหลัก ก็แน่นอนว่าเป็นกลุ่มคนรักสุนัข นอกจากนี้ก็ยังมีลูกค้าที่เลี้ยงแมวและกระต่ายเป็นลูกค้าเพิ่มเข้ามาด้วย จุดเด่นของบ้านสุนัข เธอบอกว่า จะเน้นที่วัสดุคุณภาพสูง และเน้นให้ตรงตามกับความต้องการสุนัข โดยนำผลวิจัยต่าง ๆ มาประกอบ ซึ่งตอบโจทย์ของลูกค้าด้วย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ในเรื่องของวัสดุก็จะคำนึงถึงความปลอดภัยของสุนัข ซึ่งวัสดุบางอย่างแม้จะลดต้นทุนแต่อาจไม่เหมาะกับชีวิตประจำวันของสุนัข จนอาจส่งผลหรือทำให้สุนัขเกิดอันตรายได้

“ความต้องการของสุนัขกับคนนั้นต่างกันในบางเรื่อง การออกแบบของเราจึงต้องเน้นที่ความสะดวกและความชอบของคนเลี้ยง แต่ต้องสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของสุนัขด้วย” หนึ่งฤทัยกล่าว

ทุนเบื้องต้น อยู่ที่ประมาณ 250,000-300,000 บาท ทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณ 75% จากราคาขาย รายได้นั้น ราคาของบ้านสุนัข เริ่มตั้งแต่ 8,500 ถึง 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับแบบ ขนาด และอุปกรณ์เสริมที่เลือก เช่น ถ้าบ้านสุนัขมีรั้ว ราคาก็จะแพงกว่าแบบบ้านที่ไม่มีรั้ว เป็นต้น

วัสดุอุปกรณ์ ที่จำเป็นต้องใช้ประกอบด้วย แผ่นไม้สังเคราะห์, วู้ดซีเมนต์บอร์ด, สีน้ำอะคริลิค, มุ้งลวด, โต๊ะเลื่อยและใบเลื่อยวงเดือน, ปืนลม, แท่นเลื่อยฉลุ, เครื่องตัดไฟเบอร์สำหรับตัดไม้, กาวยาแนว และปืนยิงกาว

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการวางโครงร่างของแบบบ้านสุนัขที่จะผลิต โดยเริ่มจากการคำนวณว่าบ้านสุนัขหลังนั้นจะประกอบด้วยประตูกับหน้าต่างกี่ บาน จะประกอบหลังคาแบบจั่วหรือแบบกล่อง จากนั้นเมื่อวางโครงเสร็จก็เริ่มทำในส่วนของผนัง โดยติดตั้งแผ่นไม้วัสดุผสมซ้อนเกล็ดเข้ามุม 45 องศา เหตุที่ต้องวางแผ่นไม้ที่ทำเป็นผนังแบบนี้ ก็เพื่อป้องกันน้ำฝนไหลตีย้อนเข้าบ้านขณะที่ฝนตกแรง ๆ เสร็จจากการทำฝาผนังก็เริ่มทำบานประตูและหน้าต่างของบ้านสุนัข โดยจุดเด่นของบ้านสุนัขรูปแบบนี้จะมีเทคนิคเฉพาะที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ ให้สุนัขข่วนมุ้งลวดขาด เมื่อประกอบส่วนประกอบเสร็จแล้ว จากนั้นก็ทำการลงสีน้ำอะคริลิค ทำการตรวจความเรียบร้อย เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

“วิธีการและขั้นตอนมีไม่มาก แต่ต้องใช้ความละเอียดในทุกขั้นตอน” หนึ่งฤทัยกล่าว

หนึ่งฤทัยผลิตงาน “บ้านสุนัข” นี้อยู่ที่ เลขที่ 81/11 ซ.ชัยพฤกษ์ 16 แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โทร.08-1926-2818 และมีเว็บไซต์ดังที่ว่ามาข้างต้นเป็นช่องทางจำหน่าย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ด้วยสินค้าที่เจาะตลาดสัตว์เลี้ยง กลุ่มคนรักสุนัข ที่น่าสนใจ

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง-ภาพ
------------------------------------------------

คู่มือลงทุน...บ้านสุนัข


ทุนเบื้องต้น 250,000-300,000 บาท

ทุนวัสดุ ประมาณ 75% ของราคา

รายได้ ราคา 8,500-20,000 บาท

แรงงาน ตั้งแต่ 1-2 คนขึ้นไป

ตลาด กลุ่มคนเลี้ยงสุนัข

จุดน่าสนใจ ตลาดยังเติบโตเรื่อย ๆ

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=498&contentId=159569

Sunday, August 21, 2011

แนะนำอาชีพ 'เปาะเปี๊ยะ-น้ำยาขนมจีน' 'สูตรเห็ด' ทำเงินเด็ดๆได้

อาหารทั่วไปหากสามารถประยุกต์เป็นอาหารมังสวิรัติ ก็สามารถทำตลาดได้กว้างขึ้น อย่าง “เปาะเปี๊ยะทอดไส้เห็ด” และ “ขนมจีน-น้ำยาเห็ด” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้ นี่ก็น่าพิจารณาเช่นกัน...

• • • • •

อรนุช ทวีศักดิ์ หรือ ปู เจ้าของร้านคุณปู เปาะเปี๊ยะเห็ด ย่านซอยละลายทรัพย์ ถนนสีลม ซึ่งทำเปาะเปี๊ยะทอดไส้เห็ดและขนมจีนน้ำยาเห็ดขายมาเกือบ 10 ปี เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีตนทำปลาซาบะส่งห้าง และมีช่วงหนึ่งได้ไปต่างประเทศ ได้ไปทานอาหารที่ภัตตาคารจีนแห่งหนึ่ง ได้ทานเปาะเปี๊ยะแบบนี้ จึงกลับมาลองทำดูด้วยวิธีของตัวเอง ทดลองให้เพื่อน ๆ และคนรู้จักชิม ซึ่งก็บอกว่าอร่อย จึงได้ทำขายมาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับอุปกรณ์ทำเปาะเปี๊ยะเห็ด หลัก ๆ ก็มี กระทะ เตาแก๊ส มีด เขียง หม้อ กะละมัง และอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวทั่วไป ส่วนประกอบของเปาะเปี๊ยะทอดไส้เห็ด ตามสูตรก็มี แป้งเปาะเปี๊ยะขนาดกลาง 20-30 กก., แครอทหั่นฝอย 20 กก., วุ้นเส้นหั่นแช่น้ำ 4 กก., เห็ดออริจิหั่นเป็นท่อน ๆ 5 กก., เห็ดหอมแห้งแช่น้ำ 2 กก., เห็ดหูหนูหั่นฝอย 6-7 กก., ข้าวโพดสุกแกะเม็ด 10 กก., ซอสถั่วเหลือง 500 ซีซี., น้ำตาลทรายแดง 1 ถ้วย, น้ำมันถั่วเหลืองสำหรับผัด 1 ถ้วย, น้ำมันปาล์มสำหรับทอด
2 แกลลอน (แกล ลอนละ 18 กก.)

วิธีทำไส้เปาะเปี๊ยะ เตรียมส่วนผสมทั้งหมด (ยก เว้นแผ่นเปาะเปี๊ยะและวุ้นเส้น) ผัดรวมกันพอสุก ตามด้วยวุ้นเส้นที่แช่น้ำไว้แล้ว ผัดรวมกัน ปรุงรสด้วยซอสถั่วเหลือง, น้ำตาลทราย, เกลือ, ซอสเห็ดหอม ชิมรสชาติให้กลมกล่อม เสร็จแล้วตักใส่ถาดพักให้เย็น เน้นว่าไส้ที่ผัดต้องแห้ง เพื่อจะทำให้การห่อนั้นง่ายขึ้น

การห่อเปาะเปี๊ยะ ตักไส้ใส่ลงแผ่นแป้งเปาะเปี๊ยะประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ม้วนแล้วพับหัวท้ายให้แน่น ทาริมด้วยแป้งเปียก เสร็จแล้วนำลงทอดในกระทะที่น้ำมันร้อน ใช้ไฟปานกลาง ทอดจนเป็นสีเหลืองกรอบจึงตักขึ้นซับน้ำมัน เสิร์ฟพร้อมใบโหระพา ผักกาดหอม และน้ำจิ้ม

ส่วนผสมน้ำจิ้ม ตามสูตรก็มี น้ำตาลมะพร้าว 20 กก., น้ำตาลทรายแดง 8 กก., น้ำส้มสายชู 2.5 ลิตร, พริกขี้หนูแดง 2 กก., เกลือ 500 กรัม และกระเทียม 3 กก.

วิธีทำน้ำจิ้ม นำพริกแดงปั่นรวมกับกระเทียมและน้ำส้มสายชู จากนั้นใส่ลงในหม้อที่ต้มน้ำตาลมะพร้าวไว้แล้ว หลังจากนั้นก็ใส่เกลือ ชิมรสชาติให้กลมกล่อม

“เปาะเปี๊ยะทอดไส้เห็ด” ขายราคาชิ้นละ 7 บาท หรือ 3 ชิ้น 20 บาท พร้อมน้ำจิ้ม และผักข้างเคียง

ต่อด้วย “น้ำยาเห็ด” ที่รับประทานกับขนมจีน น้ำยาก็ใช้เห็ด 3 อย่าง ส่วนประกอบน้ำยาเห็ด ได้แก่ เห็ดนางฟ้าปั่นละเอียด 500 กรัม, เห็ดฟางปั่นละเอียด 500 กรัม, เห็ดหอมสดปั่นละเอียด 200 กรัม, กะทิสด 3 กก., เครื่องแกง 1/2 ถ้วย (ประกอบด้วย ข่า 2 แง่ง, ตะไคร้ 10 ต้น, ใบมะกรูด 5 ใบ, พริกแห้งสีแดงเม็ดใหญ่ 10 เม็ด และกระเทียม 10 กลีบ โขลกรวมกันให้ละเอียด), กระชายหั่นหยาบ 1 กก., น้ำตาลทรายแดง 2 ช้อนโต๊ะ, เกลือ 3 ช้อนโต๊ะ และผักเคียง
ต่าง ๆ เช่น มะระลวก, ถั่วงอกลวก, ผักกาดดองหั่นบาง ๆ, ใบแมงลัก, กะหล่ำปลี และถั่วฝักยาว

วิธีทำน้ำยาเห็ด ปั่นเครื่องแกงให้ละเอียด ใส่กระชายที่ปั่นไว้ลงปั่นรวมให้เข้ากัน แล้วจึงนำส่วนผสมมาลงละลายในหัวกะทิ จากนั้นนำกะทิที่ได้ตั้งไฟปานกลาง พอเดือดก็ใส่เห็ดที่ปั่นไว้แล้วคนให้เข้ากัน ใช้ไฟอ่อนต้มต่อจนเดือด ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาล และต้มต่ออีกสักพัก ชิมรสให้ได้ที่ ก็เป็นอันเสร็จ

น้ำยาเห็ดรับประทานกับขนมจีน และผักเคียงต่าง ๆ ขายเป็นชุด ราคาชุดละ 30 บาท

• • • • •

ปู-อรนุช ทวีศักดิ์ ทำ “เปาะเปี๊ยะทอดไส้เห็ด” และ “ขนมจีนน้ำยาเห็ด” ขายเป็น “ช่องทางทำกิน” ตามสถานที่ต่าง ๆ อาทิ ตลาดสีเขียว โรงพยาบาลธรรมศาสตร์-รังสิตเฉลิมพระเกียรติ, กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลปทุมธานี และซอยละลายทรัพย์ สีลม หมายเลขโทรศัพท์ คือ โทร. 08-1818-1605 และ 08-6600-7719 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพค้าขายอาหารที่นำ “เห็ด” มาทำเป็นสูตรเด็ด และก็ทำเงินได้เด็ด ๆ น่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=158389

Friday, August 19, 2011

แนะนำอาชีพ 'กระเป๋าหนังสังเคราะห์'

กระเป๋า“ ที่เป็นงานแฮนด์เมด ที่ใช้ ’หนังสังเคราะห์“ เป็นวัสดุแทนหนังจริง โดยมีการออกแบบดีไซน์ตามแฟชั่น ใช้ประโยชน์ได้เยอะ เป็นอีกหนึ่งงานที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า ด้วยดีไซน์ทันสมัย ราคาไม่สูง ดังนั้น สินค้าประเภทนี้ก็สร้างรายได้ให้กับผู้ทำได้อย่างดี เป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจ ซึ่งทีม ’ช่องทางทำกิน“ ก็มีกรณีศึกษามานำเสนอ...
• • • •
ชาคริต พงษ์สุพจน์ ซึ่งออกแบบตัดเย็บกระเป๋าขายมาได้ประมาณ 1 ปี เล่าว่า เรียนจบมาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า หลังจากที่เรียนจบก็เข้าทำงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ แต่ช่วงนั้นมีคนรู้จักขายของพวกกิฟต์ช็อปตามตลาดนัด ซึ่งในช่วงนั้นขายดีมาก รายได้ต่อวันเยอะ ซึ่งตนเห็นแล้วก็คิดว่าน่าจะไปได้ดีในการค้าขายประกอบกับเริ่มเบื่อ ๆ กับการทำงานประจำอยู่แล้ว จึงออกจากงานประจำมาขายของตามตลาดนัด

ช่วงแรก ๆ ก็ขายดี แต่มาระยะหลังเศรษฐกิจเริ่มไม่ดี ของขายยากขึ้น จึงต้องมองหางานอื่นมาขายเพิ่ม ซึ่งก็ได้รับกระเป๋าแฟชั่นผู้หญิงมาขายเพิ่มเติม และตอนหลังย้ายเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯก็ยังวิ่งขายกระเป๋าตามตลาดนัดอยู่ โดยรับกระเป๋าจากสำเพ็งมาขาย แต่พอเจอวิกฤติช่วงที่มีม็อบ ทำให้ของขายยาก ตอนนั้นก็มานั่งคิดว่าจะทำยังไงที่จะขายให้ได้กำไรเยอะขึ้น ก็คิดว่าถ้าตัดเย็บเองน่าจะลดต้นทุนและได้กำไรเยอะขึ้น จึงตัดสินใจทดลองหัดเย็บกระเป๋าขายเองเสียเลย

“เริ่มแรกจำได้ว่ามีเงินทุนอยู่ประมาณ 7,000 บาท ก็ไปขอซื้อจักรอุตสาหกรรมราคา 7,500 บาท แต่ซื้อแบบผ่อน ก็หัดเย็บเองทั้งที่ไม่มีความรู้มาก่อน เริ่มจากแกะแบบกระเป๋าทีละชิ้นเพื่อดูแบบ ก็ทำให้พอจะรู้ว่าชิ้นไหนที่แกะออกได้ก่อนก็จะเป็นชิ้นที่เย็บหลัง ก็หัดเย็บอยู่ประมาณ 3-4 วัน จนพอทำได้ดี จากนั้นก็เริ่มออกแบบแล้วเย็บออกจำหน่าย”

หนังที่ใช้จะใช้เป็น หนังพียู เป็น หนังสังเคราะห์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าหนังแท้ เหมาะแก่การเริ่มลงทุนเพราะมีต้นทุนที่ไม่สูงมาก เพียงแต่ต้องออกแบบดีไซน์ให้กระเป๋าดูสวย และก็เน้นตัดออกมาให้เป็นไซซ์ใหญ่ มีประโยชน์ใช้สอยเยอะ จะทำให้ขายได้ง่าย ที่สำคัญเมื่อทุนการทำต่ำก็ต้องขายในราคาที่ไม่สูงมาก จึงจะขายง่าย ลูกค้าตลาดล่างมีกำลังซื้อ

การออกแบบนั้น ชาคริตบอกว่า ก็จะดูจากอินเทอร์เน็ต แล้วก็ดัดแปลง การตัดนั้นก็ต้องดูด้วยว่าแบบไหนโดนใจลูกค้า โดยทดลองตัดออกมาขายดูก่อนจำนวนน้อย ๆ ถ้าของออกเร็วขายได้ง่ายก็เพิ่มจำนวน แต่ถ้าแบบไหนขายยากก็จะไม่ตัดเพิ่ม ซึ่งสำหรับตนเองนั้นในช่วงแรกเนื่องจากเป็นงานที่ตัดเย็บเอง ก็สามารถตัดได้ประมาณ 40 ใบต่อสัปดาห์ แต่ช่วงหลัง ๆ ซึ่งเริ่มได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากขึ้น ก็เริ่มขยายโดยจะตัดแพตเทิร์นแล้วนำไปจ้างช่างเย็บ ก็จะได้ 100 ใบต่อสัปดาห์ โดยค่าจ้างช่างก็จะอยู่ที่ประมาณ 40-50 บาทต่อใบ

อุปกรณ์ที่ต้องมีในการทำกระเป๋าหนังสังเคราะห์ หลัก ๆ ก็มี จักรอุตสาหกรรม, ด้าย, กระดาษแข็ง, ดินสอ, กรรไกร วัสดุที่ใช้ทำก็จะเป็นหนังพียู เป็นหนังสังเคราะห์ ส่วนผ้าที่ใช้ทำซับในจะมีทั้งที่เป็น ผ้ากำมะหยี่ และ ผ้าสบันบอน

วัสดุอย่างหนังสังเคราะห์ส่วนใหญ่จะใช้เป็นสีดำหรือสีน้ำตาล เพราะเวลาทำกระเป๋าออกมาแล้วจะขายง่ายกว่าสีอื่น ๆ ซึ่งหนังสังเคราะห์นี้สามารถหาซื้อได้ที่ย่านวงเวียนใหญ่

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบรูปทรงกระเป๋าตามที่ต้องการ จากนั้นก็วาดเป็นแพตเทิร์นลงกระดาษแข็ง แล้วก็ตัดแพตเทิร์นเป็นชิ้น ๆ ออกมา จากนั้นก็นำแพตเทิร์นไปวางทาบบนแผ่นหนังสังเคราะห์ ใช้ดินสอขีดตามแพตเทิร์น เมื่อวาดแพตเทิร์นลงบนหนังสังเคราะห์ที่จะใช้เรียบร้อยทุกชิ้นแล้ว ก็ทำการตัดออกมาเป็นชิ้น ๆ ตามแบบ

หลังจากที่ตัดแพตเทิร์นจากหนังสังเคราะห์เสร็จแล้ว ก็มาทำการวาดแบบแพตเทิร์นลงบนผ้าที่จะใช้ทำซับในของกระเป๋า จะใช้ผ้ากำมะหยี่หรือผ้าสบันบอนก็แล้วแต่จะเลือกใช้ วาดเสร็จก็ตัดตามแบบ

เมื่อได้แพตเทิร์นครบทุกชิ้นแล้ว ก็นำแพตเทิร์นที่เป็นหนังสังเคราะห์มาประกอบเข้าด้วยกัน จากนั้นก็ทำการเย็บด้วยจักรให้เป็นรูปทรงกระเป๋าตามแบบที่เราออกแบบไว้ เย็บเรียบร้อยก็มาทำการเย็บผ้าซับในให้เป็นทรงรูปกระเป๋า เมื่อได้ทั้งกระเป๋าและผ้าซับในแล้ว ก็นำผ้าซับในมาใส่ลงในกระเป๋าหนัง แล้วทำการเย็บด้านบนขอบกระเป๋าให้ผ้าซับในและกระเป๋าติดกัน โดยเก็บขอบให้เรียบร้อย จากนั้นก็มาเย็บหูกระเป๋า ติดซิป และก็ตกแต่งภายนอกตามแบบที่เราต้องการ ก็จะได้เป็นกระเป๋าที่พร้อมนำออกจำหน่ายกระเป๋าหนังสังเคราะห์ของชาคริต มีประมาณ 6-7 แบบ ราคาขายอยู่ที่ 250-300 บาท ทุนวัสดุตกประมาณ 130-170 บาทต่อใบ ซึ่งก็แล้วแต่ขนาดและแบบกระเป๋า ถ้าใครซื้อตั้งแต่ 3 ใบขึ้นไปก็จะได้ราคาที่ถูกลง เป็นราคาส่ง

“ร้านที่ขายนั้น นอกจากจะมีกระเป๋าที่เย็บเองแล้ว ก็ยังรับกระเป๋าจากที่อื่นมาขายเสริมอีกด้วย แต่เราจะเลือกเอามาวางขายเฉพาะงานที่เป็นแนวเดียวกับที่เราทำอยู่” ชาคริตกล่าว
• • • •
สำหรับผู้ที่สนใจ ’กระเป๋าหนังสังเคราะห์“ ที่เป็นงานแฮนด์เมดของชาคริต ก็แวะไปดูกันได้ โดยเขาขายอยู่ที่ตลาดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในวันเสาร์และอาทิตย์ และที่สวนจตุจักร เบอร์โทรศัพท์ของชาคริตคือ 08-6580-5826 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ เกี่ยวกับกระเป๋า ที่แม้จะไม่ได้ใช้หนังแท้ ๆ แต่ก็ทำเงินแท้ ๆ ได้น่าสนใจ!!.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=158172

Saturday, August 13, 2011

แนะนำอาชีพ 'ขนมจีบแป้งสด'

“ขนมจีบ” เป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งที่สามารถทานได้ทุกเวลา ซึ่งขนมจีบที่เราพบเห็นกันโดยทั่วไป ตามท้องตลาดจะเป็นขนมจีบที่ใช้แผ่นเกี๊ยวห่อไส้ แต่วันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการทำ-การขายขนมจีบอีกรูปแบบมานำเสนอให้ได้ลองพิจารณากัน กับ “ขนมจีบแป้งสด” อีกหนึ่งรูปแบบอาชีพด้านการขายอาหารที่น่าสนใจ...

บุษกร ล้านมา หรือ “เมย์” ซึ่งทำขนมจีบแป้งสดขาย เล่าให้ฟังว่า เดิมนั้นเธอเป็นพนักงานประจำเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ มานานหลายปี ก็รู้สึกเครียดและเบื่อ ที่สำคัญไม่ค่อยมีเวลาเป็นส่วนตัว ประกอบกับแฟนเป็นนักดนตรียิ่งทำให้ไม่ค่อยได้เจอกัน เพราะเวลาทำงานจะสวนทางกัน จึงทำให้เธอกับแฟนปรึกษากันว่าจะออกจากงานแล้วมาทำธุรกิจส่วนตัว

“เราสองคนก็ไปขอสูตรและฝึกทำขนมจีบแป้งสดจาก เจ๊ละม่อม ซึ่งเป็นคุณแม่แฟน ทำขายมากว่า 20 ปี ต้นตำรับดั้งเดิมในนครสวรรค์ ขายดิบขายดีมีลูกค้าขาประจำมากมาย จนสามารถส่งลูก ๆ เรียนจบมาแล้วหลายคน พอเอามาให้เพื่อนชิมก็ตื่นเต้นกันใหญ่บอกว่าอร่อย และไม่เคยเห็นมาก่อน ระหว่างนั้นยังไม่กล้าตัดสินใจ จึงลองทำขายเล่น ๆ ในวันหยุดควบคู่กับการทำงานประจำ เสียงตอบรับดีมาก ทำมาเท่าที่ทำได้ก็ขายหมดเกลี้ยงทุกวัน จากนั้นก็ลาออกจากงานมาช่วยกันทำขายเป็นอาชีพหลัก ทำมาได้นานประมาณ 2 ปีแล้ว”

อุปกรณ์ในการทำหลัก ๆ ก็มี...กระทะใบบัว, ไม้พาย, เครื่องรีดแป้ง, เครื่องตีแป้ง, เครื่องตัด, หม้อนึ่ง, เตาแก๊ส ถ้วยตวง และอุปกรณ์ทั่วไปที่ใช้กันในครัวเรือน วัตถุดิบและส่วนผสมจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ... ส่วนผสมในการทำตัวแป้ง และส่วนผสมในการทำไส้ ซึ่งส่วนผสมในการทำแป้ง ประกอบด้วย แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง และน้ำสะอาด

สำหรับส่วนผสมในการทำไส้ ตามสูตรประกอบด้วย เนื้อหมูปนมันสับ 10 กิโลกรัม, หอมแดง 1 กิโลกรัม มันแกวสับ 1 กิโลกรัม กระเทียมสับ 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ก็ใช้รากผักชี หอมใหญ่สับ น้ำตาล พริกไทยป่น ต้นหอม-ผักชีสับหยาบ น้ำตาลทราย ซีอิ๊วขาว น้ำมันงา น้ำมันหอย และเกลือป่น

ขั้นตอนการทำ “ขนมจีบแป้งสด” เริ่มจากนำแป้งสาลีผสมกับแป้งมันสำปะหลัง ผสมรวมกันแล้วร่อน ใส่น้ำสะอาดตามลงไป คนให้เข้ากัน จากนั้นนำไปตั้งไฟกวนในกระทะให้ส่วนผสมแป้งสุก ล่อนจับตัวเป็นก้อน ยกลงตั้งพักไว้ให้อุ่น แล้วนำแป้งที่ได้มานวดจนแป้งนุ่มและเนียนไม่ติดมือ จากนั้นก็แบ่งแป้งออกเป็นก้อน ๆ

นำก้อนแป้งที่ได้มารีดและโรยด้วยแป้งมัน รีดให้เป็นแผ่นบางยาว นำแผ่นแป้งที่ได้มาทับซ้อน ๆ กัน แล้วตัดโดยให้ขนาดของแผ่นแป้งอยู่ที่ประมาณ 2x2 นิ้ว ตั้งพักไว้ รอห่อไส้

ส่วนตัวไส้นั้น การทำเริ่มจากนำรากผักชี พริกไทยป่น และกระเทียม โขลกรวมกันให้ละเอียด เสร็จแล้วนำไปใส่ในเนื้อหมูปนมันสับ ปรุงรสชาติด้วยน้ำตาล เกลือ ซอสปรุงรส น้ำมันหอย น้ำมันงา และต้นหอม-ผักชีสับ คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดี หมักทิ้งไว้ในตู้เย็นประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก่อนจะนำออกไปห่อ

ต่อไปเป็นขั้นตอนการห่อ ให้นำแป้งที่เตรียมไว้มาแผ่ลงบนมือ ตักไส้มาวางบนแผ่นแป้งแล้วขึ้นรูปห่อ ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จีบจนรอบ วนขวา แล้วล้มจีบไปทางเดียวกัน รวบหัวขนมจีบให้ยาวแล้วหักลงมาเป็นหัวนกกระทุง (จะห่อรูปแบบอื่นก็ได้) เรียงลงในซึ้ง โดยระหว่างรอห่อเสร็จก็ให้ตั้งซึ้งนึ่งให้น้ำเดือดรอไว้ กะน้ำให้พอดี เมื่อน้ำเดือดแล้วจึงนำขนมจีบลงนึ่งโดยใช้เวลา 15-20 นาที ตัวขนมจีบที่ได้จะแววใสน่ารับประทาน ระหว่างการนึ่งต้องคอยตรวจดูอย่าให้น้ำแห้ง เพราะหากน้ำแห้งแล้วขนมจีบจะแข็งกระด้าง ในการขายก็ต้องมีซอสเปรี้ยว “จิ๊กโฉ่” และทานคู่กับผักกาดหอมและพริกขี้หนูสดสีเขียวแก้เลี่ยน ซึ่งซอสเปรี้ยวเจ้านี้จะทำเองโดยใช้ซีอิ๊วดำหวาน น้ำตาลทราย เกลือ น้ำส้มสายชูกลั่น ผสมกันแล้วต้มให้เดือด ชิมรสตามชอบ

ปกติขนมจีบแป้งสดนี้จะอยู่ได้นานประมาณ 2 วัน ทั้งนี้เพราะเป็นแป้งสด จะทำวันต่อวัน จึงสามารถอยู่ได้นานกว่าขนมจีบทั่วไป แต่หากเก็บไว้ในตู้เย็นจะอยู่ได้ 3-4 วัน และเก็บในช่องแช่แข็งได้ประมาณ 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ เมย์ยังมีซาลาเปาขายควบคู่ไปด้วย ซึ่งซาลาเปาจะมี 2 ไส้คือ ไส้หมูสับและไส้ถั่วดำ

ส่วนขนมจีบ ราคาขายชุดเล็ก 12 ลูก 30 บาท และชุดใหญ่ 20 ลูก 50 บาท

เรื่องจุดขาย เมย์บอกว่า ไม่ต้องอะไรมาก แค่ปั้นโชว์กันสด ๆ แล้วนึ่งกันเห็น ๆ หน้าร้านเท่านั้น ซึ่งวันจันทร์, พุธ, พฤหัสฯ จะขายที่ตลาดนัดตอนเย็นหน้าองค์การโทรศัพท์ จ.พระนครศรีอยุธยา วันอังคาร, วันศุกร์ ตลาดนัดเย็นที่ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต และวันศุกร์เช้ายังขายที่กรมประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วย

ใครสนใจ “ขนมจีบแป้งสด” เจ้านี้ ต้องการติดต่อคุณเมย์ ติดต่อได้โดยตรงที่ โทร. 08-5223-9988 ซึ่งการใช้ขนมจีบแป้งสดเป็น “ช่องทางทำกิน” นี้ ก็เป็นอีกกรณีศึกษาการทำอาชีพค้าขายอาหารที่มีจุดต่าง ที่ดึงลูกค้าได้เป็นอย่างดี.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=516&contentId=156962

Friday, August 12, 2011

แนะนำอาชีพ 'นาฬิกาแฮนด์เมด'

การนำความรู้ด้านศิลปะมาสร้างสรรค์ทำเป็นชิ้นงาน ทำให้สินค้าทั่ว ๆ ไปดูมีคุณค่ามากขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างจุดเด่นให้สินค้าดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี อย่างการทำ ’นาฬิกาแฮนด์เมด“ ที่นำรูปรถเก่าคลาสสิก รูปต่าง ๆ มาสร้างชิ้นงาน นี่ก็ทำให้งานดูเด่น มีจุดขาย เป็นอีกกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าพิจารณา...

กอล์ฟ-จักรกฤษณ์ อิสรา ซึ่งทำชิ้นงานดังกล่าวนี้ เล่าว่า ตนนั้นเรียนมาทางด้านประติมากรรม หลังเรียนจบก็ทำงานด้านที่เรียนมาโดยตรงก็คือรับปั้นขึ้นรูป ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำอยู่ แต่รับเป็นฟรีแลนซ์ และก็ทำงานแฮนด์เมดขายด้วยโดยทำมาได้ราว 2 ปีแล้ว ซึ่งช่วงแรกนั้นทำเป็นพวกกล่องใส่จดหมายที่เป็นรูปรถเก่าคลาสสิก ก่อนที่จะมาทำ นาฬิกา

การที่หันมาทำงานแฮนด์เมด เริ่มมาจากการที่ได้มาขายของอยู่กับเพื่อน โดยเริ่มทำเป็นกล่องใส่จดหมายรูปรถเก่า เป็น งานไม้ เพราะเนื่องจากเป็นคนที่ชอบพวกรถเก่าคลาสสิกอยู่แล้ว และจากการที่เรียนมาทางด้านประติมากรรม ทำให้มองเห็นรูปทรงได้ง่าย จึงคิดว่าถ้านำ รูปรถเก่าคลาสสิก มาประยุกต์ทำเป็นกล่องใส่จดหมาย น่าจะทำได้

หลังจากได้ไอเดียก็เริ่มทดลองออกแบบ แรก ๆ ก็จะมีปัญหาในเรื่องของการลงสี เพราะไม่ถนัด เนื่องจากเรียนมาทางด้านปั้นมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินฝึกฝน ก็ทดลองทำบ่อย ๆ ฝึกฝีมือเยอะ ๆ จนเริ่มชำนาญและทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และการที่เลือกใช้ไม้ทำก็เพราะว่าเป็นงานที่ทำง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทุนต่ำกว่าทำงานปั้น

จากที่ทำกล่องจดหมายขายอยู่ประมาณ 1 ปี ก็เริ่มทำงานนาฬิกา ซึ่งทำรูปแบบได้หลากหลาย โดยใช้ภาพรถเก่าคลาสสิก และก็จะมีรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น รูปอาหารต่าง ๆ รูปสัตว์ รูปผลไม้ และอีกหลากหลาย

“ส่วนใหญ่งานที่ทำออกมาจะเป็นงานชิ้นเดียว อันเดียว”

วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานนี้ หลัก ๆ ก็มี... ไม้เอ็มดีเอฟ หนาประมาณ 10 มิลลิเมตร, เลื่อยฉลุไฟฟ้า, สีอะคริลิก, เครื่องนาฬิกา, สว่าน, กระดาษทราย, พู่กัน, ดินสอ เป็นต้น

ไม้เอ็มดีเอฟก็จะเป็นลักษณะไม้อัด กอล์ฟบอกว่าที่เลือกใช้ก็เพราะเป็นไม้ที่มีคุณสมบัติที่เบา นำมาทำเป็นชิ้นงานง่าย ที่สำคัญมีราคาที่ไม่สูง แต่ถ้าทำเป็นกล่องใส่จดหมายจะใช้เป็นไม้ประเภทอื่นที่เหมาะสมกว่า

ขั้นตอนการทำ…เริ่มจากการเลือกแบบที่ต้องการจะทำเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ตัดไม้เอ็มดีเอฟให้ได้ขนาดประมาณที่จะทำตามแบบที่เลือกไว้ แล้วก็ใช้ดินสอทำการวาดแบบที่ต้องการลงบนแผ่นไม้ที่เตรียมไว้ได้เลย หลังจากที่วาดแบบลงบนไม้เรียบร้อยก็นำไปตัดตามแบบที่วาดไว้ด้วยเลื่อยฉลุ ไฟฟ้า

หลังจากตัดเสร็จแล้วก็จะได้รูปทรงตามที่ต้องการ จากนั้นก็ใช้สว่านเจาะรูสำหรับใส่เครื่องนาฬิกา ตรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ เสร็จแล้วก็ใช้กระดาษทรายทำการขัดตามขอบเพื่อลบคมของแบบให้เรียบร้อย ขัดเสร็จก็ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดเอาผงฝุ่นออกให้หมด

ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการลงสี เริ่มจากการลงสีพื้นก่อนเป็นอันดับแรก โดยสีพื้นจะใช้สีขาวใช้เป็นสีน้ำพลาสติก (ที่ต้องลงสีพื้นก่อนก็เพราะว่าไม้จะดูดสี ถ้าไม่ลงสีพื้นก่อนเวลาลงสีจริงจะทำให้ต้องใช้สีเยอะ ทำให้เปลืองสี) เมื่อลงสีพื้นเรียบร้อยก็รอจนสีแห้งสนิท จากนั้นก็เริ่มลงสีตามแบบที่จะทำโดยใช้เป็นสีอะคริลิก การลงสีนั้นก็ต้องใช้ความชำนาญมากหน่อย เพราะต้องให้งานออกมาสวยงามที่สุด

เมื่อลงสีเสร็จเรียบ ร้อยก็รอให้สีแห้ง จากนั้นจะลงแล็กเกอร์หรือไม่ลงก็ได้ สุดแท้แต่จุดสำคัญคือนำเครื่องนาฬิกามาประกอบเข้าไป ติดเข็มให้เรียบร้อย ซึ่งเข็มนาฬิกานั้นถ้าจะให้สวยและเข้ากับแบบที่ออกแบบไว้ก็ให้หาวัสดุอื่น ๆ มาทำขึ้นเอง เพื่อให้ได้ความสวยงามที่เข้ากัน สุดท้ายก็ติดตัวแขวนสำหรับแขวนนาฬิกาที่ทำขึ้น ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

นาฬิกาแฮนด์เมดของกอล์ฟมีหลายแบบ ทั้งรูปรถเก่าคลาสสิก อาหาร ขนม ฯลฯ โดยมีราคาขายตั้งแต่ 199-350 บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบ ขนาด ความยากง่ายของชิ้นงาน และกอล์ฟก็ยังคงทำกล่องใส่จดหมายรูปรถคลาสสิกขายด้วย

กอล์ฟทำ “นาฬิกาแฮนด์เมด” ขายอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร 2 มีน บุรี ที่ร้าน “ล้านนาฬิกา” อยู่โครงการ 2 ล็อก 136 เปิดเสาร์-อาทิตย์ 10.00-16.00 น. โทร. 08-7096-1256 และก็ยังรับสั่งทำตามออร์เดอร์ด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีตัวอย่าง ’ช่องทางทำกิน“ จากงานกลุ่ม ’แฮนด์เมด“.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=498&contentId=156794

Saturday, August 6, 2011

แนะนำอาชีพ ‘เกสรลำเจียก’

เกสรลำเจียก ขนมไทยแท้ ๆ อีกอย่างที่ปัจจุบันหาทานยาก ไม่ค่อยเห็นตามท้องตลาดทั่วไป คือ “ขนมเกสรลำเจียก” ซึ่งมีลักษณะเป็นกลีบ ๆ หลากสี ประกอบไปด้วยมะพร้าว น้ำตาล แป้ง ซึ่งขนมไทย ๆ ที่ปัจจุบันหาทานได้ไม่ง่าย มีแหล่งที่ทำขายไม่กี่แหล่งนั้น ในยุคนี้บางทีอาจจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดี สำหรับคนที่พอจะมีฝีมือทางด้านการทำขนม...

.....................................

ผศ.อภิญญา มานะโรจน์ อาจารย์สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้ให้ข้อมูลในงานนิทรรศการ “๗๔ ปีโชติเวชสร้างสรรค์ไทย คหกรรมศาสตร์ก้าวไกลสู่สากล” เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า “ขนมเกสรลำเจียก” เป็นขนมไทยอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งตนได้เรียนรู้มาจากคุณยายของเพื่อนที่เป็นคนอ่างทอง และคนอ่างทองก็จะบอกเสมอว่า ขนมนี้เกิดในอ่างทอง เท็จจริงประการใดไม่ทราบแน่ชัด แต่เท่าที่ตัวเองได้เรียนรู้มา และมีโอกาสได้เห็น คือ ขนมชนิดนี้จะเห็นในอ่างทอง แต่ในท้องตลาดทั่วไปจะไม่เห็น

ที่ไม่ค่อยมีทั่วไป สาเหตุอาจเพราะเป็นขนมที่ทำยาก และถ้าเก็บไม่ดีก็จะเจอปัญหาคือขนมมันแข็ง ดังนั้นจึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่ค่อยมีคนทำขาย แต่ถ้ามีคนทำขาย ก็มีคนซื้อ เพราะไม่หวานเกินไป และไม่กรอบเกินไป

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำขนมเกสรลำเจียก ได้แก่ กระทะทองเหลือง ไม้พาย ช้อน เตาไฟ ถ่าน แต่ในการทำเกสรลำเจียกประเภทร่อน ก็จะมีอุปกรณ์เพิ่มขึ้นอีก 2 ชิ้น คือ กระทะเหล็ก และแร่งร่อนแป้ง

สำหรับสูตรขนมเกสรลำเจียกที่จะดูกันวันนี้ สูตรแรกเป็นสูตรของ อาจารย์วไลภรณ์ สุทธา อาจารย์สาขาเดียวกัน โดย ผศ.อภิญญาเป็นผู้เล่าแทน ซึ่งที่ต้องใช้ก็มี มะพร้าวขูดขาว 500 กรัม, น้ำตาลทราย 250 กรัม, น้ำเปล่า พ ถ้วย

ในส่วนของมะพร้าวที่ใช้ในการทำขนม จะใช้มะพร้าวทึนทึกที่ไม่แก่มาก ซึ่งจะมีความนุ่ม การทำก็นำน้ำตาลทรายมาบีบขยำกับมะพร้าวให้เข้ากัน เพื่อต้องการให้มะพร้าวมีความนุ่มนวล เมื่อน้ำตาลละลายแล้วจะทำให้สองส่วนนี้เข้ากัน ถ้าไม่บีบมะพร้าวให้มะพร้าวนุ่มพร้อมน้ำตาล ปัญหาที่ตามมาคือ เวลาทานจะรู้สึกว่ามะพร้าวแข็งกระด้าง

จากนั้นก็เอาผงวุ้น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ พ ถ้วย นำไปใส่กระทะทองตั้งไฟ โดยวิธีการคือ เอาผงวุ้นโรยลงไปในน้ำ ทิ้งไว้สักครู่ให้ผงวุ้นจับน้ำ รอให้ผงวุ้นอิ่มตัวเลยน้ำขึ้นมานิดหน่อย จึงค่อยเอาไปตั้งไฟอ่อน ๆ และคนให้วุ้นละลาย พอวุ้นละลายแล้วให้ใส่ส่วนของมะพร้าวที่คลุกน้ำตาลเตรียมไว้ คนให้เข้ากันจนรู้สึกว่าสามารถปั้นเป็นก้อนได้ คือไม่แห้งและไม่แฉะเกินไป แล้วเติมสีผสมอาหารตามใจชอบ แต่ลักษณะของขนมไทยต้องเป็นสีอ่อน ๆ หวาน ๆ ไม่เข้มเกินไป ให้สีดูน่าทาน แล้วจะทำให้มีความรู้สึกหวานหอม ถ้าสีสวย กลิ่นดี รสชาติหวานหน่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกหอมหวาน ส่วนเวลาปั้นขนม จะใช้ช้อน 2 คัน โดยคันหนึ่งตักเนื้อขนมพอประมาณ แล้วจากนั้นจะใช้มุมช้อน 2 คัน โดยเอาส่วนด้านข้างของช้อนมาตักไปตักมาจนเกิดเป็นเหลี่ยม ส่วนขนาดขนมที่ตักขึ้นมาก็แล้วแต่ว่าเราจะต้องการขนาดใด แล้วก็กรองออก การตักไปตักมาด้วยปลายช้อนเราเรียกว่ากรอง ทำจนได้ขนมที่มีลักษณะรี ๆ คล้ายลูกรักบี้ เกิดสันมุม 3 สัน

ต่อไปเป็นสูตร “ขนมเกสรลำเจียกแบบร่อนแป้ง” ซึ่ง ผศ.อภิญญาเป็นผู้ให้สูตร ส่วนผสมตัวแป้ง มีแป้งข้าวเหนียว 1 ถ้วย, หัวกะทิ ผ ถ้วย และเกลือไทยป่น ผ ถ้วย ส่วนไส้ขนมมีมะพร้าวทึนทึกขูดด้วยกระต่ายจีน 1 ถ้วย, น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วย, แป้งข้าวเหนียว 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำเปล่า 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ ผสมน้ำตาล มะพร้าว บีบนวดให้มะพร้าวนุ่ม ใส่ลงกระทะทองกวนจนแห้ง จากนั้นให้ละลายแป้งข้าวเหนียวและน้ำเปล่าเทลงในส่วนผสมไส้ กวนต่อไปจนไส้จับตัวกัน ยกลงพักไว้ให้เย็น เมื่อเย็นแล้วปั้นส่วนไส้ขนมเป็นก้อนยาวประมาณ 3 นิ้ว อบด้วยควันเทียนดอกมะลิให้หอม

ส่วนตัวแป้ง นวดแป้งข้าวเหนียวด้วยหัวกะทิให้นุ่ม แล้วนำแป้งที่ผสมแล้วใส่แร่งร่อนแป้ง ร่อนในกระทะก้นแบน โดยใช้ไฟอ่อน ๆ ใส่ไส้บนแผ่นแป้ง และใช้เหล็กแซะขนมพับแป้งให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม หรือกลมก็ได้ ตามใจชอบ ส่วนผงแป้งที่เหลือก็สามารถนำไปทำ ขนมขี้มอด ได้

ขนม เกสรลำเจียก” นี้ จะขายอยู่ที่ราคา 25-30 บาท ต่อ 6-8 ชิ้น เมื่อก่อนต้นทุนไม่มาก แต่ปัจจุบันมะพร้าวแพง ต้นทุนจึงสูงขึ้น ซึ่งจากราคาขาย 25-30 บาท จะมีต้นทุนประมาณ 15-20 บาท แล้ววัตถุดิบ

.............................

สนใจเรื่อง “ขนมเกสรลำเจียก” ต้องการติดต่อ ผศ.อภิญญา มานะโรจน์ ติดต่อไปได้ที่คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โทร.0-2281-2854 ต่อ 5201-3 ในวันและเวลาราชการ

----------------------

คู่มือลงทุน...ขนมเกสรลำเจียก

ทุนอุปกรณ์ 5,000 บาทขึ้นไป

ทุนวัตถุดิบ 15-20 บาท ต่อ 6-8 ชิ้น

รายได้ 25-30 บาท ต่อ 6-8 ชิ้น

แรงงาน 1 คนขึ้นไป

ตลาด ย่านอาหาร, ร้านขนมไทย

จุดน่าสนใจ ปัจจุบันมีคนทำขายไม่มาก

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=155546
เกสรลำเจียก

Friday, August 5, 2011

แนะนำอาชีพ 'พวงมาลัยโครเชต์สื่อรัก'

แนะนำอาชีพ 'พวงมาลัยโครเชต์สื่อรัก'
จากกรณีที่คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสังคมไทย ส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนไทย โดยมิได้มีการคิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ได้นำเสนออาชีพ “พวงมาลัยโครเชต์” ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายหลังจึงทราบว่าชิ้นงานลักษณะนี้ ’มีลิขสิทธิ์“ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์คือ “คุณสุภารัตน์ ซื่อตรง” ซึ่งทางทีมงานคอลัมน์ฯก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้อีกครั้งที่นำเสนอเรื่องนี้ไปโดยมิได้เป็นการสัมภาษณ์คุณสุภารัตน์ เนื่องจากไม่ทราบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ โดยจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชนเมื่อทราบข้อเท็จจริงทางทีมงานฯได้รีบติดต่อ คุณสุภารัตน์เพื่อขออภัย และขอข้อมูลเพื่อนำเสนอสู่สาธารณะโดยเร็วที่สุด ซึ่งทาง คุณสุภารัตน์ ซื่อตรง ก็ได้กรุณาให้ข้อมูลกับทางทีมงานฯมานำเสนอ ดังต่อไปนี้...

คุณสุภารัตน์ ซื่อตรง เปิดเผยกับทีม “ช่องทางทำกิน” ว่า เริ่มสร้างสรรค์ชิ้นงานในลักษณะของมาลัยโครเชต์มาตั้งแต่ปี 2545 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ได้ติดตามข่าวพระราชสำนัก และรู้สึกชื่นชมกับรูปแบบพวงมาลัยที่ประชาชนทูลเกล้าฯถวาย ซึ่งในความรู้สึกของตนคิดว่าสวยมาก และเกิดความคิดว่าน่าจะสามารถนำงานถักโครเชต์มาสร้างสรรค์เป็นพวงมาลัยได้ เหมือนกับการทำงานพวงมาลัยดอกไม้สด โดยงานมาลัยโครเชต์นั้นมีข้อดีคือสามารถเก็บไว้ได้นาน โดยไม่เหี่ยวเฉาเหมือนพวงมาลัยดอกไม้สด ซึ่งหลังจากคิดประดิษฐ์ชิ้นงานในรูปแบบเฉพาะของตนขึ้นมา ก็ได้ทำการยื่นขอจดลิขสิทธิ์โดยใช้ชื่อว่า แนะนำอาชีพ 'พวงมาลัยโครเชต์สื่อรัก'

ในเดือน พ.ค. 2549 ตนได้มีโอกาสนำมาลัยถักโครเชต์ที่ประดิษฐ์ขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงรับสั่งว่าอยากให้อนุรักษ์งานนี้ไว้ หลังจากนั้นในเดือน ก.ค.ปีเดียวกัน มีการประกวดโอทอป ตนจึงได้นำมาลัยถักโครเชต์ส่งเข้าประกวดโอทอประดับประเทศ ซึ่งได้รับรางวัลโอทอป 3 ดาว และได้รับรางวัลอื่น ๆ อีกหลายรางวัล อาทิ รางวัลแทนคุณแผ่นดิน รางวัลอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย รางวัลภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

“สำหรับลายที่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายนั้น เราจะไม่มีการผลิตทั่วไป แม้จะมีคนสนใจอยากจะให้เราผลิต แต่เราก็ไม่ทำ เพราะถือว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของเรา และครั้งหนึ่งได้เคยมีความคิดที่จะทูลเกล้าฯถวายลิขสิทธิ์แด่พระองค์ท่าน แต่พระองค์ท่านทรงเห็นว่าเราทำเป็นอาชีพ ทรงมีหนังสือแจ้งกลับมาว่าไม่ขอรับ แต่อยากให้เราอนุรักษ์และช่วยเผยแพร่ให้งานชิ้นนี้ยั่งยืนต่อไปนาน ๆ” คุณสุภารัตน์ เจ้าของลิขสิทธิ์ แนะนำอาชีพ 'พวงมาลัยโครเชต์สื่อรัก' กล่าว

พร้อมทั้งบอกอีกว่า... จุดเด่นของมาลัยถักโครเชต์สื่อรัก อยู่ที่ความคงทน และยังทำให้มีกลิ่นหอมของมะลิได้ ซึ่งงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจะใช้สำลีเป็นองค์ประกอบในการยัดไว้ในตัวมาลัย เพื่อให้เป็นรูปทรงที่สวยงาม จะไม่ใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์เพราะซักไม่กี่ครั้งก็จะเสียรูปทรง โดยสำหรับกลิ่นมะลินั้น จะทำการฉีดไว้ที่สำลี โดยฉีดก่อนจะที่นำสำลียัดในมาลัย

ทั้งนี้ ชิ้นงานที่ทางคุณสุภารัตน์สร้างสรรค์ขึ้นนั้น โดย ทั่วไปจะมีอยู่ 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ และก็จะมีทั้ง มาลัยแบบกลมธรรมดา, มาลัยแขวนหน้ารถ, มาลัยถวายพระ, มาลัยสองชาย, มาลัยช่อดอกกุหลาบ ฯลฯ ซึ่งรูปแบบนั้นก็กล่าวได้ว่ามาลัยดอกไม้สดมีรูปแบบใด มาลัยถักโครเชต์ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยมาลัยถักโครเชต์ที่คุณสุภารัตน์สร้างสรรค์ขึ้นนี้ ปัจจุบันราคาจำหน่ายมีตั้งแต่ชิ้นละ 120 บาท ถึง 3,000 บาท หรือขึ้นอยู่กับขนาด รูปแบบชิ้นงาน

“งานตัวนี้จะไม่เหมือนงานโครเชต์ทั่วไป เพราะสำหรับงานถักโครเชต์นั้นรูปแบบมักจะหมุนย้อนไปมา แต่งานของเราจะมีการพลิกแพลงและคิดลายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะถักยากกว่า” คุณสุภารัตน์กล่าวนอกจากผลิตชิ้นงานเพี่อจำหน่ายแล้ว คุณสุภารัตน์ ซื่อตรง ยังเจียดเวลาเพื่อการสอน เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการถักมาลัยโครเชต์ให้กับผู้ที่สนใจด้วย โดยคุณสุภารัตน์นั้นอยู่ที่ จ.จันทบุรี ผู้ที่สนใจไปขอเรียนรู้ก็จะสอนให้โดยไม่คิดค่าสอน มีเพียงค่าวัสดุอุปกรณ์ และหากผู้ที่สนใจอยู่ไกลก็จะให้มีการรวมกลุ่มกันประมาณ 15-20 คน เมื่อมีเวลาคุณสุภารัตน์ก็จะไปสอนให้โดยไม่คิดค่าสอนเช่นกัน มีเพียงค่าเดินทาง-ค่าที่พักตามความเหมาะสม และค่าวัสดุอุปกรณ์

และหากผู้สนใจได้ฝึกหัดทำแล้วสนใจที่จะนำไปทำเป็นอาชีพ ก็จะต้องมีการติดต่อเพื่อขออนุญาตจาก คุณสุภารัตน์ ซื่อตรง โดยหากคุณสุภารัตน์พิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม ก็จะออกใบคุ้มครองในการจำหน่ายสินค้าให้ โดยผู้ที่จะนำไปทำเป็นอาชีพเสียค่าใช้จ่ายเรื่องใบคุ้มครองฯดังกล่าวนี้ เพียง 1,200 บาทต่อปี“เราจะพิจารณาปีต่อปี เนื่องจากบางคนช่วงแรกก็สนใจอยากทำเป็นอาชีพ แต่ต่อมาเกิดเบื่อหรือไม่อยากทำแล้ว เพราะงานนี้เป็นงานฝีมือที่ค่อนข้างยากและใช้เวลา ซึ่งคนที่จะทำได้ดีต้องรัก และทุ่มเท” คุณสุภารัตน์กล่าว พร้อมทั้งบอกว่า ที่มีการกำหนดเงื่อนไข มีเรื่องใบคุ้มครองนี้ อยากอธิบายว่า ไม่เคยมีความคิดอยากจะฟ้องร้องใคร แต่ต้องดูแลและพยายามรักษางานนี้ไว้ให้ดี เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอย่างดีที่สุด ตามที่ได้เล่าไว้แต่ต้น “ความจริงเราก็เคยมีความคิดอยากจะเลิกทำหลายครั้ง ยิ่งในช่วงที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม สินค้าเสียหายและเป็นหนี้ธนาคารมากมาย แต่ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ดีที่สุด และโชคดีที่มีผู้ใหญ่ที่เคารพเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพราะไม่อยากให้งานของ เราล้ม เราจึงมีกำลังใจสู้ต่อขึ้นมาได้” คุณสุภารัตน์ เจ้าของลิขสิทธิ์ ’มาลัยถักโครเชต์สื่อรัก“ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน คุณสุภารัตน์ ซื่อตรง ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ “มีคุณค่า” นี้อยู่ที่จันทบุรี อยู่เลขที่ 64 หมู่ 4 ต.จันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี 22000 โทร. 08-1004-4921, 08-6109-2827 และเรื่องราวของชิ้นงานของคุณสุภารัตน์นี้ยังมีการจัดทำเป็น หนังสือมาลัยโครเชต์สื่อรัก ซึ่งผู้ที่สนใจในส่วนของหนังสือ ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08-7008-5735.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=155325
แนะนำอาชีพ 'พวงมาลัยโครเชต์สื่อรัก'