Wednesday, February 24, 2010

แนะนำอาชีพ'ปลูกฝรั่งไต้หวันแบบประณีตในไทย'

มีเกษตรกรไทยเป็นจำนวนมากยังไม่ทราบว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2513 ทางไต้หวันได้มีการ นำฝรั่งจากประเทศไทยซึ่งมีขนาดผลใหญ่ เนื้อแน่นและกรอบไปปลูกได้ผลผลิตเป็นที่ชื่นชอบของคนไต้หวันในขณะนั้น เวลาผ่าน ไปไต้หวันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ฝรั่งเรื่อยมาโดยเน้นความกรอบอร่อยของเนื้อ , มีเมล็ด น้อยและนิ่ม ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีเกษตรกรไทยนำพันธุ์ฝรั่งจากไต้หวันมา ปลูกจนประสบผลสำเร็จในบ้านเราและที่รู้จักกันดีคือ พันธุ์เจินจู ซึ่งมีเมล็ดนิ่มและรสชาติอร่อย เริ่มมีเกษตรกรไทยขหยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นในขณะนี้

ความจริงแล้ว “ฝรั่ง” จัดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมากชนิดหนึ่งและจัดเป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย และสร้างรายได้เร็ว ปลูกไปเพียงไม่กี่เดือนก็เริ่มให้ผลผลิตนับเป็นไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนเร็วมาก ชนิดหนึ่ง อีกทั้งผู้บริโภคหาซื้อบริโภคได้ในราคาที่ไม่สูงนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรไทยที่ปลูกฝรั่งไม่ได้สนใจในเรื่องของความประณีต ในการจัดการสวน เช่น การห่อผลฝรั่งมีหลายสวนใช้เพียงถุงหิ้วพลาสติกธรรมดา, บางรายอาจจะใช้ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์และห่อทับด้วยถุงหิ้วพลาสติกอีก ชั้นหนึ่ง ฯลฯ

แต่ที่ไต้หวันไม่ว่าจะเป็นสวนเล็กหรือสวนใหญ่จะมีความประณีตในการห่อผลฝรั่ง มาก เริ่มแรกจากการปลิดผลทิ้งบ้างให้เหลือกิ่งละไม่กี่ผล เมื่อผลมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับส้มเขียวหวานจะใช้ตาข่ายโฟมห่อที่ผลก่อนเป็น ลำดับแรกและห่อตามด้วยถุงพลาสติกบางใสและเหนียว สังเกตได้ว่าถุงพลาสติกที่เกษตรกรไต้หวันใช้จะบางมาก และสามารถมอง ทะลุเห็นผลภายในอย่างชัดเจนเพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว

นอกจากฝรั่งพันธุ์เจินจู ที่ได้กล่าวมา แล้วในข้างต้น ปัจจุบันได้มีฝรั่งไต้หวันอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการ เกษตร จ.พิจิตร ได้กิ่งพันธุ์จากไต้หวันมาปลูกที่ จ.พิจิตร เป็นกิ่งประเภทเสียบยอดมีรากแก้วจำนวน 2 ต้น (การขยายพันธุ์ฝรั่งในบ้านเราเกือบทั้งหมดจะใช้วิธีการตอนกิ่ง) และมีชื่อพันธุ์ที่ติดมากับต้นว่า “ฮ่องเต้” เริ่มปลูกฝรั่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 มาจนถึงขณะนี้เริ่มเห็นผลผลิตแล้วซึ่งได้พบความแตกต่างจากฝรั่งไต้หวันสาย พันธุ์อื่น ๆ ที่ปลูกในบ้านเรา ตรงที่รูปทรงผลจะเป็นทรงกระบอกสี่เหลี่ยม เมื่อผลเจริญเติบโตเต็มที่มีน้ำหนักผลไม่ต่ำกว่า 500 กรัม เนื้อมีรสชาติหวาน กรอบ, เมล็ดน้อยมากและนิ่ม ที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลง่ายให้ผลผลิตดี

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการพัฒนาสายพันธุ์ฝรั่งของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะมุ่ง เน้นในเรื่องของสายพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ด ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าการปลูกฝรั่งไร้เมล็ดมักจะพบปัญหาในเรื่องของการติด ผลซึ่งส่วนใหญ่ติดผลน้อยมากและรสชาติไม่อร่อยเท่าที่ควร ทำให้การพัฒนาการปลูกฝรั่งในประเทศไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=568&contentID=46706

Friday, February 19, 2010

แนะนำอาชีพ'ซาลาเปาไส้แกง'

“ซาลาเปา” ยุคนี้มีการพัฒนาพลิกแพลงให้แปลกใหม่หลากหลาย ทั้งรูปร่างหน้าตา รวมถึง “ไส้แปลก ๆ” ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็จะเสนอข้อมูลการทำอาชีพขายซาลาเปาที่มีไส้ใหม่ ๆ น่าสนใจ...

ศิริพรรณ อตัญธี อายุ 43 ปี เจ้าของร้าน “บ้านซาลาเปา” ย่านรังสิต ซึ่งทำซาลาเปาขายมากว่า 10 ปี เล่าว่า อาชีพเดิมคือพนักงานออฟฟิศ เมื่อช่วง พ.ศ. 2543 ต้องตกงาน เพราะพิษเศรษฐกิจ ต้อง ออกจากงาน แต่โชคดีที่สามีมีอาชีพเป็นกุ๊กที่ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา จึงได้ออกมาทำซาลาเปาขายแบบเล็ก ๆ ที่บ้าน

ระยะแรกเริ่มต้นจาก 3 ไส้ก่อนคือ ซาลาเปาไส้หมูแดง, ซาลาเปาไส้หมูสับ, ซาลาเปาไส้ครีม ทำแล้วนำไปฝากขายตามสถานที่ต่าง ๆ จากนั้นก็พัฒนาอาชีพให้เติบโตมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันซาลาเปาที่ทำขายมีมากกว่า 10 ไส้ ประยุกต์ พัฒนา พลิกแพลงมาเรื่อย ๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ซาลาเปาไส้เขียวหวานไก่ไข่เค็ม, ซาลาเปาไส้กะเพราไก่ไข่เค็ม, ซาลาเปาไส้พะแนงหมูไข่เค็ม เป็น 3 ในกว่า 10 ไส้ที่ศิริพรรณทำขายอยู่ และได้รับความนิยมเป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เพราะคนไทยกินข้าวแกงประจำ จึงคิดทำ ซาลาเปาที่มีรสแกงออกมาขาย ทดลองทำอยู่ไม่นานก็ทำได้ และขายดีด้วย

วิธีทำซาลาเปาไส้แกงต่าง ๆ ศิริพรรณอธิบายว่า ก่อนอื่นก็ต้องเริ่มที่แป้ง ตามสูตรก็เตรียมแป้งสาลี 12 กก., เชื้อ 1 กก. (เชื้อนี้ต้องเริ่มต้นด้วยการหมักแป้งสาลีประมาณ 2 กำมือกับน้ำพอประมาณ นวดแล้ว ทิ้งไว้ 2-3 วัน เมื่อจะนำมาขึ้นเชื้อใหม่ ให้นวดแป้งสาลีกับน้ำในปริมาณที่ต้องการใช้ แล้วนำมาผสมกับปริมาณแป้งที่จะใช้ในแต่ละวัน เชื้อแป้งนี้อย่าใช้จนหมด ต้องแบ่งบางส่วนไว้ใช้ในคราวต่อไปด้วย เพราะถ้าใช้หมดต้องเสียเวลาหมักแป้งใหม่ ซึ่งอาจทำได้ไม่เหมือนครั้งแรก หรือจะแก้ปัญหาด้วยการไปขอเชื้อจากภัตตาคารที่ขายซาลาเปาก็ได้), น้ำตาลทราย 12 กก., แอมโมเนีย 1 ช้อนชา., ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ., น้ำมัน 3 ช้อนโต๊ะ, นมสด 12 กระป๋อง

ในส่วนของแป้งนี้ วิธีทำคือนวดส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันให้เนียน โดยที่แป้งไม่ติดมือ จากนั้นใส่น้ำประมาณ 12 ถ้วย แล้วนวดจนเนียนอีก 20 นาที จากนั้นค่อย ๆ แบ่งแป้งออกเป็นก้อน ก้อนละ 40 กรัม เตรียมไว้

สำหรับสูตรแป้งที่ว่ามานี้จะทำซาลาเปาได้ประมาณ 30-32 ลูก

ต่อด้วยวิธีการทำ ไส้เริ่มที่ “ซาลาเปาเขียวหวานไก่ไข่เค็ม” มีส่วนผสมของไส้คือ เนื้อไก่สับ 1 กก., พริกแกงเผ็ดเขียวหวาน 2 ช้อนโต๊ะ, กะทิ 1 กล่อง, น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ คลุกให้เข้ากัน ใส่แป้งข้าวโพดลงไปพอประมาณ นวดให้เข้ากันจนเหนียว จากนั้นใส่ใบโหระพาลงไป แล้วค่อยนำไปแบ่งใส่แป้งซาลาเปาที่แผ่เตรียมไว้ ใส่ไข่เค็มสุก (ไข่แดง) ลงไปประมาณ 12 ฟอง

ถัดมา “ซาลาเปาพะแนงหมูไข่เค็ม” มีส่วนผสมคือ เนื้อหมู 1 กก., เครื่องแกงพะแนง 2 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ, น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ, ใบมะกรูดหั่นฝอย ผสมส่วนผสมให้เข้ากัน จากนั้นจึงค่อยนำไปแบ่งใส่แป้งซาลาเปาที่แผ่เตรียมไว้ ใส่ไข่เค็มสุก (ไข่แดง) ลงไปประมาณ 12 ฟอง

ส่วน “ซาลาเปากระเพราหมูไข่เค็ม” ใช้หมูสับ 1 กก., กระเทียมสับ และพริกขี้หนูบด 2 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ และใบกะเพราพอประมาณ วิธีทำก็นำส่วนผสมมาคลุกผสมให้ เข้ากัน จากนั้นจึงนำไปแบ่งใส่แป้งซาลาเปาที่แผ่เตรียมไว้ ใส่ไข่เค็มสุก (ไข่แดง) ลงไปประมาณ 12 ฟอง การห่อแป้งหุ้มไส้ต่าง ๆ นั้น เวลาจะห่อไส้ก็ให้แผ่แป้งออกขนาดประมาณฝ่ามือ ใส่ไส้ลงไปพอประมาณ แล้วจึงห่อแป้งหุ้มให้แน่น จับจีบด้านบนให้สวยงาม แล้ววางบนกระดาษ จากนั้นนำไปนึ่งประมาณ 12-15 นาที

ซาลาเปาทั้ง 3 ไส้นี้ขายได้ในราคาลูกละ 15 บาท โดยมีต้นทุนประมาณ 60-70% ของราคา

สนใจ “ซาลาเปาไส้แกง” ต้องการติดต่อ ศิริพรรณ อตัญธี ร้านของเธออยู่ที่ 35 ซอยบงกช 30 หมู่ 2 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทร.0-2901-8369, 08-9925-6312 หรือดูใน www.bansalapao.com ซึ่งเจ้าของอาชีพขายซาลาเปารายนี้ต้องถือว่าพลิกแพลงได้น่าสนใจไม่น้อย.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=47145&categoryID=525

แนะนำอาชีพ'ข้าวหมาก'

"ข้าวหมาก” อาหารพื้นเมือง อาหารทานเล่นของคนไทยในอดีต ปัจจุบันแม้จะเลือนหายไปบ้าง แต่ก็ยังพอจะมีผู้ที่อนุรักษ์การทำอาหารภูมิปัญญาชาวบ้านชนิดนี้เอาไว้ ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้ให้กับคนทำขายได้อย่างน่าทึ่ง แม้ยุคนี้จะมีสารพัดอาหารต่างชาติมาตีตลาดไทย ซึ่งทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลมาเล่าสู่...

กุลิสรา ติณวัฒนานนท์ หรือ หนึ่ง เจ้าของสูตร “ข้าวหมากใบกล้วย” เล่าให้ฟังว่า เริ่มขายข้าวหมากมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว เดิมขายผักปลอดสารพิษ แต่ต้องเลิกขายเพราะมีคนขายเยอะขึ้น พอพี่สะใภ้คือ กฤษดา รุ่งหนองกะดี่ มาชวนให้ไปช่วยขาย ก็ตกลง เพราะกำลังมองหาอาชีพใหม่พอดี พี่สะใภ้ได้รับการถ่ายทอดสูตรข้าวหมากมาจากป้าซึ่งทำขายมานานหลายสิบปี ต่อมาเลิกทำไปเพราะคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักและกินไม่เป็น อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการโปรโมต ตลาดน้ำลัดมะยม ก็ได้ตัดสินใจทำข้าวหมาก รวมถึงข้าวเหนียวตัด ทอดมันหน่อกะลา ใส่เรือพายขาย เพื่อให้เข้าคอนเซปต์ตลาดน้ำ คือการอนุรักษ์และมีของโบราณ ซึ่งก็ขายได้ดี

“จุดประสงค์ที่ทำข้าวหมากขาย ก็มาจากความต้องการที่จะอนุรักษ์อาหารไทยโบราณให้ยังคงอยู่คู่คนไทยและ ประเทศไทย ผลพวงจากการที่ตั้งใจอนุรักษ์อาหารไทย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์มรดกไทย เห็นถึงความสำคัญตรงจุดนี้ จึงได้คัดเลือกให้ข้าวหมากใบกล้วยได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกไทยในหมวดอาหาร โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

หนึ่งเล่าต่อไปว่า จากการที่ได้เข้าไปขายในมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้รู้ว่าปัจจุบันลูกค้าในกลุ่มนักศึกษาวัยรุ่นมีความรู้ในเรื่องคุณ ประโยชน์ของข้าวหมากมากขึ้น คือ ช่วยบำรุงผิว บำรุงเลือด และสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย และเมื่อความรู้ตรงนี้ถูกเผยแพร่ออกไปก็มีกลุ่มวัยรุ่นที่รักและใส่ใจสุขภาพ หันมากินข้าวหมากกัน

ที่ตลาดน้ำยอดขายข้าวหมากก็ดี โดยขายเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันศุกร์จะเข้าไปขายในมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ก็จะเป็นลักษณะของการขายส่ง โดยจะมีออร์เดอร์เข้ามาทุกวันเพราะมีลูกค้าที่บอกต่อ ๆ กันไป อีกทั้งก็จะมีการนำข้าวหมากไปขายแบบออกงานตามเทศกาลต่าง ๆ ด้วย

สำหรับการทำข้าวหมากนั้น วัสดุที่ใช้หลัก ๆ ก็มี... หม้อนึ่งข้าวเหนียว, ถาด, กระด้ง, กะละมัง, เตาแก๊ส, ไม้พาย, กล่องพลาสติก หรือโหลแก้วที่มีฝาปิด, ผ้าขาวบาง ขณะที่ส่วนผสม-วัตถุดิบ ประกอบด้วย... ข้าวเหนียวอย่างดี, น้ำสะอาด อาจเป็นน้ำฝนหรือน้ำบาดาลก็ได้, เชื้อลูกแป้งข้าวหมาก (นำไปบดให้ละเอียด)

เชื้อลูกแป้งนี้หาซื้อได้ตามตลาดสดทั่ว ๆ ไป ถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการทำข้าวหมาก ลักษณะเป็นก้อนแป้งครึ่งวงกลม สีขาวนวล น้ำหนักเบา เห็นเส้นใยเชื้อเกาะที่แป้ง ส่วนประกอบสำคัญของลูกแป้งมีเครื่องเทศ น้ำ และแป้ง เชื้อลูกแป้งแต่ละเจ้าจะมีสูตรการทำลูกแป้งแตกต่างกันออกไป แต่ ควรเลือกซื้อลูกแป้งที่เพิ่งทำใหม่ ๆ เพราะถ้าเก่าลูกแป้งจะมีเชื้ออื่นที่ไม่ต้องการปะปน ทำให้ข้าวหมากไม่มีคุณภาพ วิธีสังเกตลูกแป้งเก่าคือดูจากสีลูกแป้งจะเริ่มเป็นสีเหลืองออกน้ำตาล บางครั้งอาจเป็นราดำขึ้นเป็นจุด ๆ

ขั้นตอนการทำ “ข้าวหมาก” เริ่มจากนำข้าวเหนียวมาล้าง แล้วแช่น้ำค้างคืน หรือแช่อย่างน้อย ๆ 3 ชั่วโมง เมื่อแช่ข้าวเหนียวได้ที่ดีแล้วก็นำขึ้นให้สะเด็ดน้ำ นำไปนึ่งให้สุกพอดี ตรงนี้สำคัญคืออย่าให้เม็ดข้าวบาน เพราะเมื่อนำไปทำข้าวหมากจะเละ ไม่สวย พอนึ่งข้าวเหนียวได้ที่ดีแล้ว ยกลงจากเตา

เทข้าวเหนียวลงในภาชนะที่แห้งและสะอาด แล้วเกลี่ยให้ทั่ว สักครู่พลิกกลับเพี่อไม่ให้ข้าวแห้งและแข็งเกินไป ผึ่งข้าวเหนียวไว้ให้เย็นสนิท แล้วจึงค่อยนำข้าวเหนียวไปล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำปูนใสหลาย ๆ ครั้งจนกว่าจะหมดยาง เมล็ดข้าวจะร่วนไม่ติดกัน สงขึ้นให้สะเด็ดน้ำ ก่อนจะนำมาเกลี่ยผึ่งให้แห้งอีกครั้ง

ขั้นต่อไป โรยแป้งข้าวหมากที่บดละเอียดแล้วบนข้าวเหนียวให้สม่ำเสมอ โดยใช้อัตราส่วน ลูกแป้ง 1 ลูก ต่อข้าวเหนียว 1 กก. คลุกเคล้าให้เข้ากันเบา ๆ เสร็จแล้วนำไปใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ อย่ากดข้าวให้แน่น เพราะเชื้อจะขึ้นไม่ดี ปิดฝาให้มิดชิด ทิ้งไว้ในที่เย็น ไม่ควรโดนแดด ใช้เวลา 2-3 วัน เพียงเท่านี้ก็จะได้ข้าวหมากที่เมล็ดข้าวนุ่ม หอมหวาน มีน้ำซึมออกมา น่ารับประทาน ห่อด้วยใบกล้วยหรือใบตอง พร้อมขาย

จุดเด่นข้าวหมากสูตรโบราณห่อใบกล้วยคือจะไม่ใส่น้ำตาล แต่ก็จะมีรสชาติหวานกลมกล่อมอร่อยตามธรรมชาติ สำหรับราคาขายเป็นห่อเล็ก ๆ ก็อยู่ที่ห่อละ 5 บาท มีต้นทุนประมาณไม่เกิน 60%

“ข้าวหมาก” ห่อด้วยใบกล้วยเจ้านี้ ถ้าใครสนใจก็ไปหาซื้อ-หาชิมกันได้ตามวันและสถานที่ที่ระบุมาข้างต้น หรือใครต้องการสั่งไปจำหน่ายต่อ ก็ติดต่อกับคุณหนึ่งที่ โทร.08-4671-9275, 08-5551-2935 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งกับการขายข้าวหมาก ในยุคนี้ก็ยังสร้างรายได้น่าสนใจ ถ้ามีทำเลที่เหมาะสม.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=45764&categoryID=525

Thursday, February 4, 2010

แนะนำอาชีพ'เพาะเลี้ยงสาหร่ายไก'

สาหร่ายน้ำจืดที่ เป็นอาหารพื้นบ้านของคนแถบริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายใหญ่ทางเหนือของไทยที่ รู้จักกันดีก็คือสาหร่ายที่เรียกกันว่า ไก ซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวเป็นเส้นเหมือนเส้นผม และที่สำคัญคือสาหร่ายชนิดนี้เป็นอาหารชั้นดีของปลาบึก

ปกติแล้วไกจะพบได้มากในช่วงฤดูหนาวและร้อน ซึ่งจะเจริญได้ดีในสภาพน้ำสะอาดใสและตื้น พอมีฝนตกลงมามาก ไกก็จะหายไป ดังนั้นในแต่ละปีจะมีไกให้เราหามาปรุงอาหารได้เพียง 3-5 เดือนเท่านั้น แต่ความที่ไกเป็นที่ต้องการของตลาดได้ทั้งปี รวมทั้งตอนนี้ก็มีกิจการเลี้ยงปลาบึก ซึ่งต้องการใช้ไกเป็นอาหารจำนวนมาก จึงเกิดการเพาะเลี้ยงไกขึ้นมา

กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งนำโดย รศ.ดร.ศิริเพ็ญ ตรัยไชยาพร เป็นหัวหน้าทีม ได้ร่วมกันศึกษาหาวิธีเพาะเลี้ยงไก โดยใช้น้ำทิ้งจากโรงอาหาร ซึ่งยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุอาหารต่างๆ อยู่มาก มาเป็นเครื่องมือสำหรับเลี้ยงสาหร่าย โดยนำน้ำดังกล่าวมาผสมน้ำในอัตราส่วนต่างๆ กัน แล้วก็ไปเก็บสาหร่ายไก มาจากแม่น้ำน่าน ซึ่งปกติไกเหล่านี้จะเกาะอยู่บนก้อนหิน ก็เก็บมาทั้งก้อนหินแล้วมาลองเลี้ยงในอ่างแก้วเหมือนตู้ปลาขนาดใหญ่แล้วให้ อากาศเหมือนการเลี้ยงปลาทั่วไป

เลี้ยงไว้อย่างนั้น 1 เดือน ก็พบว่าการใช้น้ำทิ้งที่ได้มาจากโรงอาหารโดยไม่ต้องนำมาผสมน้ำให้เจือจางเลย หรือผสมน้ำเพียง 20% ทำให้สาหร่ายไกเติบโตได้ดีที่สุด เพราะสาหร่ายได้ อาหารจากน้ำทิ้งดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ในการเติบโต ผลผลิตที่ได้ก็มากเกือบครึ่งกิโลกรัมต่อตารางเมตร สรุปก็คือน้ำทิ้งที่ปกติจะต้องปล่อยลงท่อระบายน้ำ เมื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้ถูกทาง ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เช่นกัน

อย่างในกรณีนี้ เมื่อนำน้ำทิ้งมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่าย ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างรายได้ และสร้างแหล่งอาหารสำหรับการเลี้ยงปลาบึก เหตุที่ไม่ได้แนะนำให้นำมาใช้เป็นอาหารของคนก็คงเป็นเพราะว่าวัตถุดิบที่ใช้ ในการเพาะเลี้ยงนั้น ดูแล้วคงไม่เหมาะที่จะผลิตอาหารบริโภค แต่แนวคิดเรื่องการเพาะเลี้ยงไกจนได้ผลเช่นนี้ ก็หมายความว่าถ้ามีการจัดระบบการเลี้ยงที่ได้สุขลักษณะ รวมทั้งใช้สารอาหารที่เหมาะสมเหมือนกับการปลูกผักแบบใช้สารละลายหรือไฮโดรโป นิกส์ ก็น่าจะได้ไกที่มีคุณภาพสูงและถูกสุขลักษณะที่สามารถนำมาใช้เป็นอาหารคนได้ ทั้งปี แทนที่จะต้องรอเก็บจากธรรมชาติในบางฤดูเท่านั้น

และที่สำคัญคือตอนนี้ความนิยมในการบริโภคไกก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ไม่เฉพาะในหมู่คนพื้นบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำเท่านั้น แต่บรรดานักท่องเที่ยวที่ได้ไปเยือนเมืองน่านหรือเชียงราย เมื่อได้ลองชิมไกในรูปแบบต่างๆ แล้ว รู้สึกพอใจในรสชาติ และอีกอย่างหนึ่งคือคุณค่าทางอาหารของไกก็สูงมากด้วยเช่นกัน กลายเป็นอาหารสุขภาพอย่างดีอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของพื้นเมืองไทยเรา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเพาะเลี้ยงสาหร่ายไก โดยการใช้น้ำทิ้งจากโรงอาหารได้แล้ว เรื่องการพัฒนาต่อโดยใช้ความรู้ดังกล่าวต่อยอดต่อไปถึงการผสมสูตรอาหารที่ เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก ก็หวังว่าคณะนักวิจัยกลุ่มนี้คงจะช่วยกันพัฒนาต่อไป เพราะมีโอกาสสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรหรือคนที่อยู่ใกล้แม่น้ำได้สร้างรายได้ เสริม หรือยิ่งไปกว่านั้นคือกลายเป็นอาชีพหลักก็เป็นได้ โดยสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือความสะอาดและถูกสุขลักษณะ เพราะไกเมื่อเก็บจากธรรมชาตินั้น บางครั้งก็ยังมีทรายติดมาด้วย แต่หากเพาะเลี้ยงในสภาพที่เหมาะสมก็คงจะหมดปัญหาเรื่องนี้ไป และน่าจะเป็นการขยายตลาดไกให้กว้างขวางมากขึ้นได้ครับ


รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20100131/46656/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%81.html