Sunday, June 30, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ขนมทองพลุ’

“ขนมทองพลุ” อีกหนึ่งขนมมงคลของไทย มีความหมายถึง “ความเจริญ มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนพลุ” ขนมชนิดนี้จริง ๆ มีต้นตำรับมาจากฝรั่งเศส ดัดแปลงมาจากขนมเอแคลร์ ต่างกันตรงที่วิธีทำ คือขนมเอแคลร์ใช้วิธีอบ ส่วนขนมทองพลุจะใช้วิธีทอด ซึ่งถ้าใครทำเอแคลร์ได้ก็ทำทองพลุได้ และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลมานำเสนอด้วย... ****** ปัจจุบันหาคนทำขนมชนิดนี้แทบไม่เจอ อาจเพราะขั้นตอนการทำค่อนข้างยุ่ง จะมีทำก็เฉพาะบางโอกาสเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทีม “ช่องทางทำกิน” ได้ไปพบขนมชนิดนี้ในการออกร้านของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในงานกาชาดที่สวนอัมพรเมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา และมีคิวนำข้อมูลมาบอกกล่าวกันในวันนี้ ฐิติปรางค์ ธาระรูป หัวหน้าฝ่ายโภชนวิทยา และโภชนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า ขนมทองพลุของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นี้ จะออกขาย 2 ครั้งต่อปีเท่านั้น คือในงานกาชาดสวนอัมพร และงานวันเกิดโรงพยาบาล (30 พ.ค.) ซึ่งสูตรขนมทองพลุนี้ เป็นสูตรของอดีตหัวหน้าฝ่ายโภชนวิทยาฯ โรงพยาบาลจุฬาฯ (ท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ) และมีการทำขายสืบทอดกันมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นประเพณี “ขนมทองพลุ” ที่ทำขายนี้ จะมี 2 ไส้คือ ไส้หวาน กับ ไส้เค็ม อุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็คือเครื่องครัวต่าง ๆ อาทิ กระทะ-เตาแก๊ส, เครื่องตีแป้ง, ถาด, หม้อสเตนเลส ฯลฯ วิธีทำ เริ่มที่ตัวเนื้อขนม ตามสูตรจะมีส่วนผสมของ แป้งสาลี 18 ถ้วย, ไข่ไก่ 40-45 ฟอง, มาการีน 0.5 ถ้วย, เนย 1/2 ก้อน, น้ำตาลทราย 1 ถ้วย, นมสด 2 กระป๋อง, น้ำเปล่า 4 กระป๋อง และเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ วิธีผสมแป้ง ตั้งกระทะ ใส่นมสดและน้ำลงไปต้มให้สุก จากนั้นค่อย ๆ เทแป้งลงไปกวน ใส่มาการีน เนย น้ำตาลทราย และเกลือ ลงไปกวนให้เข้ากัน รอจนแป้งสุก จากนั้นเทแป้งที่กวนเสร็จแล้วลงในหม้อตีแป้ง นำเข้าเครื่องตี ตีด้วยความเร็วพอประมาณ ดูว่าแป้งคลายความร้อนแล้ว ก็ค่อย ๆ ตอกไข่ลงไปตีผสมทีละฟอง ตีผสมจนแป้งและไข่เข้ากัน เนื้อแป้งเนียน ก็เป็นอันใช้ได้ นำไปพักไว้ให้เย็น สำหรับไส้ ถ้าเป็น ไส้เค็ม ตามสูตรจะมีส่วนผสมของ นมสด 1 ถ้วย, น้ำเปล่า 1.5 ถ้วย, แป้งสาลี 1 ถ้วย, น้ำตาลทราย 0.5 ถ้วย, มันเทศหั่นลูกเต๋า, แครอทหั่นลูกเต๋า, ถั่วลันเตา โดยผัก 3 อย่างนี้ให้ต้มหรืออบให้สุกก็ได้ นอกจากนี้ก็ยังใส่เนื้อไก่สับ และพริกไทย อย่างละพอประมาณ วิธีทำไส้เค็ม ตั้งกระทะ ใช้ไฟแรงพอประมาณ เทนมสด น้ำเปล่า แป้งสาลี ลงไปผัดให้เข้ากัน ดูว่าแป้งไม่เป็นเม็ดก็ใช้ได้ จากนั้นใส่เนื้อไก่สับและผักที่ต้มสุกแล้วลงไปผัดด้วย ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย และเกลือ เท่านี้ก็ใช้ได้ ส่วน ไส้หวาน ใช้วิธีผสมน้ำเชื่อมกับน้ำหวานสีแดง วิธีทอดขนม ตั้งกระทะทองเหลือง 2 กระทะ เทน้ำมันท่วมทั้ง 2 กระทะ รอให้น้ำมันร้อน ใช้ช้อนตักแป้งขนมที่พักไว้ประมาณค่อนช้อน ใส่ลงไปในกระทะทีละก้อน ค่อย ๆ ใช้กระชอนทอด เพื่อทำให้ขนมตั้งรูปเป็นก้อนกลม ๆ จากนั้นย้ายขนมไปทอดอีกกระทะหนึ่ง ทอดจนขนมสุก นำขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน เตรียมไว้ วิธีใส่ไส้ หากเป็นไส้เค็ม ใช้กรรไกรตัดขนมที่ทอดเตรียมไว้ ตัดตรงกลาง ให้ลึกพอประมาณ แล้วตักไส้เค็มใส่ลงไป ส่วนไส้หวาน ใช้วิธีนำขนมจิ้มกับน้ำเชื่อมที่ผสมน้ำหวานสีแดง แล้วก็ทานได้เลย ราคาขาย ขนมทองพลุไส้เค็ม ขาย 4 ลูก 40 บาท ส่วนทองพลุหวาน ขาย 8 ลูก 40 บาท โดยมีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบประมาณ 60% ของราคาขาย ****** “ขนมทองพลุ” ถือเป็นอีกหนึ่งขนมที่น่าสนใจ ใครอยากลองรสชาติของทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ต้องรอมีการออกร้านตามช่วงเวลาที่ว่ามาข้างต้น ส่วนใครอยากลองทำเป็น “ช่องทางทำกิน” ก็ลองฝึกฝนฝีมือกันดู. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/215501

Friday, June 28, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ตุ๊กตาไม้แฮนด์เมด’

จากความชอบ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ ก่อเกิดเป็นผลงาน เป็นชิ้นงานแฮนด์เมด ที่สามารถสร้างรายได้เสริมได้ อย่าง “แพท-เพียงใจ เพียรไพฑูรย์” ที่ใช้ความชอบในงานไม้ ประกอบกับไอเดียและความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา สร้างสรรค์ ’ตุ๊กตาไม้แฮนด์เมด“ ที่ลงสีให้ออกมาเป็นตัวการ์ตูนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จำหน่ายสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำได้เป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอ... ****** แพท-เพียงใจ เพียรไพฑูรย์ เจ้าของผลงาน “ตุ๊กตาไม้แฮนด์เมด” เล่าว่า เรียนมาทางด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเจ้าตุ๊กตาไม้นี้ก็เริ่มทำมาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่แล้ว โดยช่วงนั้นทำขายอยู่ที่ตลาดหลังมหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นมาจากการที่เป็นคนที่ชอบงานไม้ และก็เรียนออกแบบเฟอร์นิเจอร์ มีโปรเจคท์หนึ่งที่ใช้ไม้สนยางมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ พอเห็นไม้สนยางก็เกิดความชอบ เพราะเห็นว่าเป็นไม้ที่มีน้ำหนักเบา ลวดลายของไม้ก็สวยงาม ตอนนั้นก็คิดอยู่ว่าจะหาอะไรทำในช่วงเวลาว่าง จึงมีความคิดที่จะนำมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่สามารถขายสร้างรายได้ นอกจากจะเป็นคนที่ชอบงานไม้แล้ว ก็ยังเป็นคนที่ชอบวาดการ์ตูนรูปคนแบบน่ารัก ๆ จึงทดลองนำไม้สนยางมาออกแบบพัฒนาเป็นชิ้นงาน จนได้เป็นตุ๊กตาไม้แฮนด์เมดที่เป็นการ์ตูนรูปคน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในการขายจะใช้วิธีวาดสด ๆ หน้าร้านตามที่ลูกค้าต้องการ ลูกค้าชอบผลงานก็ทำให้เรามีความสุขไปด้วย จึงทำชิ้นงานนี้มาเรื่อย ๆ หลังจากเรียนจบออกมา ก็ทำธุรกิจส่วนตัวที่บ้าน แต่ก็ยังคงทำตุ๊กตาไม้แฮนด์เมดเป็นงานอดิเรกเป็นรายได้เสริมควบคู่ไปด้วย โดยมีการปรับปรุงพัฒนาชิ้นงานให้ดูสวยงาม แข็งแรงทนทานมากขึ้น ถ้านับดูแล้วก็ทำงานนี้อย่างจริงจังมาประมาณ 2-3 ปี แล้ว นอกจากนั้นยังทำพวกงานเพนท์เสื้อ เพนท์เคสมือถือ และรับวาดรูป ตามออร์เดอร์ลูกค้าด้วย “งานวาดการ์ตูนทำเป็นตุ๊กตา จะมีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งรายละเอียด ลวดลาย ลายเส้น ลูกค้าประจำเห็นแล้วก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นงานที่ออกมาจากฝีมือของเรา การวาดรูปการ์ตูนไม่ใช่การวาดภาพล้อ ไม่ใช่วาดภาพเหมือน แต่จะดึงจุดเด่นของคนที่เป็นแบบมาวาดให้ออกมาคล้ายคลึงกับต้นแบบมากที่สุด ให้มองดูแล้ว รู้ว่าเป็นรูปของใคร” แพทกล่าว วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำตุ๊กตาไม้ หลัก ๆ มีดังนี้คือ...สีอะคริลิก, พู่กัน, กาวร้อน, เลื่อย, ดินสอ, กระดาษทราย, เครื่องฉลุไม้, เครื่องตัดไม้ และไม้สนยาง ซึ่งที่ใช้ไม้สนยางเพราะว่ามีเนื้อผิวไม้ที่ขาว น้ำหนักเบา ลายไม้สวยงาม สำหรับอุปกรณ์นี้ ถ้าไม่ลงทุนซื้อเครื่องฉลุไม้ เครื่องตัดไม้ ใช้เลื่อยมือในการตัดและฉลุก็ได้ โดยเงินลงทุนเบื้องต้นไม่รวมค่าเครื่องจักร ก็จะใช้อยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท ขั้นตอนการทำตุ๊กตาไม้...เริ่มจากการนำไม้สนยางมาทำการวาดลายเส้นเป็นโครงร่างตัวตุ๊กตา เมื่อทำการร่างแบบเสร็จแล้วก็นำไปฉลุ ถ้ามีเครื่องก็นำเข้าเครื่องฉลุไม้ ใช้มือค่อย ๆ หมุนตัวไม้ให้เครื่องฉลุตัดให้ตรงตามเส้นที่ร่างไว้ เมื่อตัดเสร็จก็จะได้เป็นตัวตุ๊กตาตามแบบที่วาดไว้ (ถ้าเป็นตัวตุ๊กตาไม้ที่เป็นหัวเหลี่ยม หรือหัวกลม จะต้องทำส่วนหัวและส่วนที่เป็นตัวตุ๊กตาแยกกัน แล้วจึงนำมาต่อยึดด้วยแกนไม้และกาวร้อนให้แน่น จากนั้นถึงจะนำไปลงสีวาดลวดลาย) “ขั้นตอนการฉลุไม้นี้ต้องใช้ความประณีตในการทำ และถ้าใช้เครื่องก็จะต้องมีสมาธิมาก ๆ ด้วย มิฉะนั้นเครื่องอาจจะตัดเข้ามือได้”...แพทกล่าวแนะนำเชิงเตือน ซึ่งสำหรับเธอก็มีคนคอยช่วยคือคุณพ่อ หลังจากที่ได้ตุ๊กตาตามแบบที่วาดไว้แล้ว ก็นำไปขัดด้วยกระดาษทรายเพื่อเอาเศษเสี้ยนไม้ออกให้ตุ๊กตานั้นเรียบ จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการเพนท์สีลงลวดลาย หน้าตา และเสื้อผ้าของตุ๊กตา ตามที่ลูกค้าสั่ง โดยใช้ดินสอวาดเป็นโครงแบบก่อน แล้วก็ทำการลงสี เก็บรายละเอียด ตกแต่งให้เรียบ ร้อย พักทิ้งไว้ให้สีแห้ง จากนั้นถ้าจะทำเป็นตุ๊กตาแบบ พวงกุญแจ ก็เจาะรูใส่ห่วงพวงกุญแจ เท่านี้ก็เรียบร้อย (ไม่ต้องลงแล็กเกอร์เคลือบ เพราะแล็กเกอร์จะทำให้สีของเนื้อไม้ไม่สวย) “ตุ๊กตาไม้แฮนด์เมด” ของแพทนั้น มีทั้งที่เป็นแบบไม้ฉลุเป็นตัว แบบตุ๊กตาไม้หัวสี่เหลี่ยม ตุ๊กตาไม้หัวกลม โดยทำเป็นชิ้นงานทั้งพวงกุญแจ และ จัดเป็นเซตมีฉากประกอบ ซึ่งราคาขายก็จะขึ้นอยู่กับรายละเอียดและความยากง่ายของงาน อย่างการทำเป็นพวงกุญแจ เฉลี่ยแล้วก็จะขายอยู่ที่ชิ้นละ 120 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 70 บาท ****** ใครสนใจชิ้นงาน ’ตุ๊กตาไม้แฮนด์เมด“ ของแพท-เพียงใจ สามารถคลิกเข้าไปดูสินค้าตัวอย่างเพิ่มเติมได้ที่ http://www.facebook.com/pages/shop-design-by-patteeb หรือถ้าต้องการติดต่อกับกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ทางโทรศัพท์ ก็สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 08-6228-5842. http://www.dailynews.co.th/article/384/215238

Saturday, June 22, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ส้มตำ - ตำโขยง’

ปัจจุบันมีร้านอาหารผุดขึ้นมาเพียบ รวมถึงร้านส้มตำที่มีมากมาย แต่ละร้านก็มีความแตกต่างเพื่อเป็นจุดขายในการเรียกลูกค้า ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลส้มตำ “ตำโขยง” ร้าน “ตำโขยง by Cafe TORINO” ที่มีเมนูสารพัดตำมากกว่า 50 รายการ และเด่นที่รสชาติแซบ รสมือแม่นเสมอกันทุกครก มานำเสนอให้ลองพิจารณากัน... ****** ร้านส้มตำร้านนี้บรรยากาศโมเดิร์นในสไตล์ยุโรป มีเมนูทั้งยุโรป ไทย และอีสาน โดยในส่วนของส้มตำนั้นการันตีด้วยถ้วยรางวัลแชมป์ส้มตำ ซึ่ง คุณริน-สิรินรี อริวรรณา และ คุณเสถียร อมรเกษมวงศ์ เจ้าของร้าน ร่วมกันเล่าให้ฟังว่า อาหารที่ขายรวมทุกอย่างแล้วก็มีกว่า 100 ชนิด โดยเปิดร้านอาหารเพราะเป็นอีกอาชีพที่ชอบ ทั้งชอบทานและชอบทำอาหาร โดยเฉพาะส้มตำจะชอบเป็นพิเศษ และอีกเหตุผลคือปกติทำงานบริษัทโฆษณา เมื่อมีงานก็จะสั่งอาหารจากร้านต่าง ๆ แต่ปัญหาที่เจอตลอดคือรสชาติอาหารไม่ค่อยคงที่ จึงตัดสินใจหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านอาหารเป็นอีกงานหนึ่ง “นอกจากการปรุงที่แซบถึงใจแล้ว ที่เน้นเป็นพิเศษคือเรื่องความสะอาด ใส่ใจทุกรายละเอียดเรื่องของวัตถุดิบ หัวใจสำคัญอีกอย่างคือพัฒนาและพลิกแพลงสูตรอาหารอยู่เรื่อย ๆ เมนูเด็ดและชื่อเมนูของที่ร้านจะร่วมกับพ่อครัวช่วยกันคิดและสร้างสรรค์ มีสารพัด เมนูส้มตำ และหลากหลายอาหารรสแซบ ๆ ซึ่งก็โชคดีที่ได้ คุณกี้-สัญญา สาระบุตร มือตำแชมป์โล่พระราชทานจากการประกวดทำส้มตำที่วังสราญรมย์ มาเป็นผู้ปรุงแต่งรสชาติให้ลูกค้าได้ลิ้มลองกัน” คุณรินบอกว่า ที่อยากแนะนำ เป็นเมนูขายดี ลูกค้าต่างการันตีว่าแซบอร่อย คือ ตำโขยง และรวมถึง ตำแสบสนิท ตำข้าวโพดไข่เค็ม หรือถ้าเป็นส้มตำพื้นฐานต้องยกให้ ส้มตำไทย และส้มตำปูปลาร้า ซึ่งปลาร้าไม่มีกลิ่นฉุนรบกวนจมูก เพราะใช้น้ำปลาร้าต้มแล้วนำมากรองน้ำแล้วนำมาทำเป็นน้ำยำส้มตำอีกที รสชาติได้ใจทั้งเผ็ดเปรี้ยวแซบ สำหรับตำข้าวโพดไข่เค็ม ข้าวโพดหวานจะซึมซับรสน้ำยำ ส้มตำ ออกหวานเปรี้ยวและเผ็ด และได้ความมันและความเค็มของไข่เค็ม นอกจากนี้ก็มี ตำกระฉูด ตำลาวสาวเวียงจันทน์ ตำลาวสาวเหนือ ตำลาวสาวใต้ ตำสามภาค ตำซั่ว ตำมั่ว ตำมะม่วงปลากรอบ ตำคอหมูย่างอบโอ่ง ตำอินเตอร์ ตำแตงหมูยอ ตำโลโซ ตำไฮโซ ตำกะเทย ตำโคราช ตำหอยดอง ตำหัวปลี ตำกระท้อน ตำสะบัด ตำสามแต๋ว ตำผักบุ้งกรอบ ตำปูม้ากุ้งสด ฯลฯ และมีเมนูอีกมากมายที่สาธยายกันไม่หมดในที่นี้ เช่น แกงผักหวานไข่มดแดง ต้มไก่ใบมะขาม เมี่ยงคะน้าปลาทู ลาบปลาดุกกรอบ สปาเกตตีทะเล บลูเบอรี่เค้ก ฯลฯ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการทำ สำหรับขายส้มตำและอาหารอื่น ๆ นั้น ก็ต้องเตรียมให้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเขียง, มีด, ช้อน, ส้อม, ทัพพี, หม้อมีด้ามสำหรับใช้ปรุง, กระปุก-โหลสำหรับใส่วัตถุดิบ, กะละมัง, กระทะ, เตาแก๊ส,เตาถ่าน, ซึ้งนึ่งข้าวเหนียว, ตะแกรง, หม้อต้มน้ำซุป, ถาด, คีมคีบ ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้คือครกกับสากไม้ “ตำโขยง” เมนูจานพระเอกของร้านนี้ที่ทุกโต๊ะต้องสั่ง เป็นอาหารอีสานที่มีรสแบบภาคกลาง ส่วนผสมหลัก ๆ ก็มี หมูยอหั่น, หอยแครงลวก, กะหล่ำปลีซอย, ถั่วฝักยาวหั่น, ผักชีฝรั่ง, ขนมจีน, ปลากรอบ, กากหมู, พริกขี้หนู,กระเทียม, น้ำตาลปี๊บ, น้ำปลา,น้ำปลาร้า, น้ำมะนาว, มะละกอสับ, มะเขือเทศสีดา, มะเขือลาย วิธีทำ...เริ่มจากตำพริกขี้หนูและกระเทียมให้เข้ากัน ใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา เคล้าให้เข้ากันก่อน แล้วหั่นมะเขือเทศสีดา มะเขือลาย ใส่ตามลงไปในครก เคล้าพอเข้ากันอีกครั้ง จากนั้นใส่หมูยอหั่น หอยแครงลวก ปลากรอบ กากหมู น้ำปลาร้า กะหล่ำปลีซอย ถั่วฝักยาวหั่น ผักชีฝรั่ง ขนมจีน และมะละกอสับ คลุกเคล้าให้เข้ากันดี ชิมรสให้มีรสเปรี้ยวหวาน และเค็มนำ รับประทานพร้อมผักแกล้มคือ ใบสะระแหน่ และถั่วงอก แถมด้วย ตำข้าวโพดไข่เค็ม ส่วนผสมก็มี พริกขี้หนู, กระเทียม, น้ำปลา, น้ำมะนาว, น้ำตาลปี๊บ, ข้าวโพดต้ม, กุ้งแห้ง, ถั่วลิสงคั่ว, มะเขือเทศสีดา, ไข่เค็ม (ไข่แดง) และแครอทสับฝอย วิธีทำ...ตำกระเทียมกับพริกขี้หนูให้เข้ากัน ใส่น้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลปี๊บ ตำผสมพอเข้ากัน แล้วใส่ข้าวโพดต้ม กุ้งแห้ง มะเขือเทศสีดา ตามด้วยไข่แดงไข่เค็ม ปิดท้ายด้วยแครอทสับฝอย ใช้สากเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน ชิมรสให้เปรี้ยว หวาน และมีความมันของไข่แดง ก็เป็นอันใช้ได้ อีกสูตรคือ ตำมะม่วงปลากรอบ ส่วนผสมก็มี พริกขี้หนูแห้ง, น้ำตาลทราย, หอมแดง, น้ำมะนาว, น้ำปลา, กะปิ, มะเขือเทศสีดา, ปลากรอบ, ปลาเนื้ออ่อน, ตะไคร้ฝอย, เนื้อมะม่วงสับ (มะม่วงโชคอนันต์ เดือน 9) วิธีทำ...ตำพริกขี้หนูแห้ง ใส่น้ำตาลทราย หอมแดง น้ำมะนาว น้ำปลา กะปิ ตำให้เข้ากัน จากนั้นใส่มะเขือเทศสีดา ปลากรอบ ปลาเนื้ออ่อน ตะไคร้ฝอย และเนื้อมะม่วงสับ คลุกเคล้าให้เข้ากัน เป็นอันเสร็จ ทั้งนี้ ราคาอาหารร้านนี้ อยู่ในช่วง 50 บาท ถึง 100 กว่าบาทเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงกับเมนูส้มตำด้วย ****** ร้านตำโขยง by Cafe TORINO อยู่ที่ SCB Park สำนักงานใหญ่ มีร้านสาขาที่ใต้ตึกซันทาวเวอร์ ถนนวิภาวดีรังสิต, เดอะมอลล์บางแค, เดอะมอลล์บางกะปิ ซึ่งกำลังจะเปิดใหม่ที่พระราม 2 ด้วย ร้านเปิดทุกวัน เวลา 11.00-21.30 น. มีบริการรับจัดเลี้ยงและรับออกร้านนอกสถานที่ด้วย เบอร์โทรศัพท์คือ 0-2617-6077 และ 08-9492-5689. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/213866

Friday, June 21, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ต้นข้าวจิ๋ว’

คำว่า “พลิกแพลง-ต่อยอด” ยังคงเป็นคาถาชั้นเลิศที่ยังใช้ได้ดีกับคนในอาชีพผลิตงานประดิษฐ์ อาชีพผลิตงานฝีมือ ยิ่งถ้าหากเก่งในการมองหาตลาด รู้จักสร้างสรรค์จุดเด่นสินค้า ก็ไม่ยากที่จะทำเงินงามจากสินค้าเหล่านั้น อย่างงานประดิษฐ์จากดิน แม้ในตลาดจะมีคนทำอยู่มาก แต่ก็ยังไปได้ดี ยังมีผลงานหลากหลายออกมา อย่างเช่น งาน “ต้นข้าวจิ๋วจากดินไทย” โดย “นลินรัตน์ โชติรัตน์โญธิน” ศูนย์หัตถการพัฒนา จ.ปทุมธานี ที่ “ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอวันนี้... คุณนลินรัตน์ เล่าว่า ตนมีอาชีพทำงานประดิษฐ์มานานหลายปี ทำงานประดิษฐ์มาตั้งแต่ปี 2547 เรื่อยมา โดยพยายามปรับปรุงผลงานและพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะ “งานประดิษฐ์จากดิน” ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะผลิตสินค้า ทำงานฝีมือประเภทของตกแต่ง ของขวัญ ของที่ระลึก เพื่อจำหน่ายทั่วไปแล้วก็ยังรับเป็นวิทยากรเข้าไปสอนให้กับสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างอาชีพให้คนอื่น ๆ ด้วย ในนามศูนย์หัตถการพัฒนา จ.ปทุมธานี งานต้นข้าวจิ๋วจากดินไทยนี้ มาจากความคิดว่าต้นข้าวมีรูปทรงสวยงามและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หากนำมาปรับใช้เข้ากับงานประดิษฐ์จากดินที่ทำอยู่ก็น่าจะเป็นสินค้าที่น่าสนใจ โดยปรับขนาดและรูปแบบออกมาให้เป็นต้นข้าวจิ๋ว ตกแต่งและจัดวางในภาชนะเก๋ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คุณนลินรัตน์กล่าวต่อไปว่า งานประดิษฐ์ต้นข้าวจากดินที่ทำอยู่เป็นงานต่อยอดจากงานประดิษฐ์จากดินที่ทำอยู่ก่อนแล้ว นอกจากต้นข้าวขนาดจิ๋วก็ยังมีขนาดอื่นให้ลูกค้าเลือกตามความเหมาะสม โดยนำเรื่องการเลือกภาชนะและการนำวัสดุตกแต่งมาใส่เข้าไปในชิ้นงาน มาช่วยเพิ่มมูลค่า ทำให้สินค้ามีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ดินที่ใช้ขึ้นรูปงานนั้นก็เป็นดินที่ทางกลุ่มผลิตขึ้นเอง ทำให้ต้นทุนในส่วนของดินที่ใช้ในการปั้นลดลงมา “รูปแบบของต้นข้าวมีความโดดเด่นอยู่ในตัว เราแค่พยายามทำให้เหมือนหรือคล้ายคลึงตามธรรมชาติมากที่สุด สีที่ใช้ก็เป็นการเลียนแบบสีต้นข้าวตามธรรมชาติ เพียงแต่มาเสริมในเรื่องของวัสดุตกแต่งและภาชนะที่ใช้สำหรับจัดวางต้นข้าว ทำให้โดดเด่น ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง” คุณนลินรัตน์กล่าว... ทุนเบื้องต้นการทำงานลักษณะนี้อยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทสำหรับค่าอุปกรณ์ ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 40% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มต้นที่ชิ้นละ 30 บาทขึ้นไป อุปกรณ์การทำ หลัก ๆ ประกอบด้วย กรรไกรก้ามปู, คลัสเตอร์, คีมดัดลวด, กระดาษแก้วหรือแผ่นพลาสติกใส สำหรับใช้รีดดิน และปากคีบสำหรับใช้หนีบจับเพื่อติดส่วนประกอบ ขณะที่วัสดุประกอบด้วย ดินประดิษฐ์, สีน้ำมัน (สีเหลืองและสีขาว), สีผสมอาหาร (สีเขียว), ลวด, ฟลอราเทป, กาวลาเท็กซ์, ภาชนะสำหรับวางต้นข้าว และวัสดุตกแต่ง ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการนวดดินให้มีความนิ่มพอสำหรับการทำงานปั้น จากนั้นนำสีน้ำมันและสีผสมอาหารมาผสมลงในดิน ทำการนวดคลุกเคล้าดินจนสีผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียว สีขาวที่ใช้จะช่วยเพิ่มสีของเนื้อดินให้มีความขุ่นหรือมีเฉดมากขึ้น เพราะดินที่ใช้ก่อนผสมจะมีความใส สำหรับสีเหลือง และสีเขียว ใช้ทำเมล็ด และใบ กับลำต้นของข้าว เมื่อนวดดินที่ผสมสีจนเสร็จและได้สีตามที่ต้องการแล้ว ก็นำมานวดคลึงให้เป็นท่อนกลมยาว แล้วนำดินที่นวดคลึงจนเป็นท่อนกลมยาวนั้นมาทำการตัดเฉียงด้วยกรรไกรก้ามปูเพื่อทำเป็นเมล็ดข้าว ใช้ปากคีบเล็กแหลมจับบีบที่ดินที่ถูกตัดเฉียงนั้นให้เกิดเป็นลวดลายบนเมล็ดข้าว รอให้แห้ง ระหว่างนั้นก็ทำการรีดดินสีเขียวที่ผสมไว้ ตัดด้วยกรรไกรและนำมารีดให้เป็นใบข้าวด้วยกระดาษแก้วหรือแผ่นพลาสติก รอให้แห้ง เมื่อแห้ง ก็นำมาประกอบเข้าด้วยกันด้วยกาว เริ่มจากการประกอบเมล็ดข้าวกับลำต้น จากนั้นประกอบใบข้าวเข้ากับลวดดัด ทำการหุ้มฟลอราเทป จัดวางลงภาชนะที่เตรียมไว้ ตกแต่งด้วยวัสดุตามต้องการ ตรวจความเรียบร้อย ดัดแต่งต้นข้าวให้ดูสวยงาม เป็นอันเสร็จขั้นตอน “มีเคล็ดลับนิดหน่อยเกี่ยวกับขณะที่ทำชิ้นงานคือ ทุกขั้นตอนควรทาครีมหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ดินเหนียวติดมือหรืออุปกรณ์ระหว่างทำ จะช่วยให้การทำงานมีความลื่นไหลยิ่งขึ้น” เป็นเคล็ดลับระหว่างทำงานดินประดิษฐ์ที่ทางกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้แนะนำ... ใครสนใจงาน “ต้นข้าวจิ๋ว“ จากดินไทย ต้องการติดต่อคุณนลินรัตน์ ศูนย์หัตถการพัฒนา จ.ปทุมธานี ติดต่อได้ที่ โทร.08-1854-5495, 08-1935-7002 หรือwww.facebook.com/pages/Magicflowers ซึ่งหากใครสนใจอยากรู้ข้อมูลมากขึ้นอีก หรืออยากลองฝึกหัดทำ คุณนลินรัตน์บอกว่ายินดีถ่ายทอดและให้คำแนะนำแบบไม่หวงวิชา. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/213597

Saturday, June 15, 2013

แนะนำอาชีพ “ขนมเบื้องแฟนตาซี”

ขนมกินเล่นแบบไทยอย่าง “ขนมเบื้อง” นอกจากจะมีหน้าฝอยทอง หน้ากุ้ง ยุคนี้ยังมีการทำเป็น “ขนมเบื้องแฟนตาซี” ใส่ลูกเล่นในการตกแต่งหน้าเพิ่มเติมเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นสายรุ้ง เยลลี่ ช็อกโกแลต เกล็ดน้ำตาล ฯลฯ กลายเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่ และก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่วันนี้ ณ ที่นี้มีข้อมูลมานำเสนอเป็นกรณีศึกษา... ****** คุณนุช-อัญชุลี ปิ่นทองเจริญ เจ้าของร้าน “นะโม-น้ำมนต์ ขนมเบื้องแฟนตาซี” ในตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง เล่าว่า ขายขนมเบื้องมา 6 ปีแล้ว โดยแรกเริ่มนั้นขายเฉพาะขนมเบื้องที่เป็นหน้าฝอยทอง และหน้ากุ้ง เริ่มขายแถวบ้านก่อน เมื่อมีการเปิดตลาดบางน้ำผึ้งก็ได้มาขายที่นี่ เพราะเห็นว่าในตลาดนี้ยังไม่มีใครขายขนมเบื้องเลย ส่วน “ขนมเบื้องแฟนตาซี” นั้นขายเพิ่มมาประมาณ 3 ปี โดยลูกสาวเป็นคนริเริ่มในการทำขายเพิ่มขึ้นมา ซึ่งลองทำแล้วก็ปรากฏว่าขายได้ ตลาดกว้างขึ้น จากเดิมที่ขายได้เฉพาะผู้ใหญ่เป็นหลัก แต่ขนมเบื้องแฟนตาซีจะขายได้ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และชาวต่างชาติที่มาเที่ยวตลาด เพราะเขาเห็นว่าแปลกดี อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำขนมเบื้อง หลัก ๆ ก็มี เตาขนมเบื้อง, เครื่องตีแป้ง, เตาแก๊ส-กระทะ และภาชนะเครื่องครัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ส่วนผสมแป้งขนมเบื้อง ตามสูตรก็มี แป้งข้าวเจ้า 1 กก. ต่อแป้งหมี่ 500 กรัม, น้ำตาลทราย 800 กรัม, น้ำปูนใสพอประมาณ และไข่ไก่ 6 ฟอง วิธีทำ นำแป้งข้าวเจ้า แป้งหมี่ และน้ำตาลทราย มาผสมรวมกัน แล้วใช้ที่ตีแป้งตีให้เข้ากัน หรืออาจจะใช้มือขยำก็ได้ จากนั้นเทน้ำปูนใสลงไปพอประมาณ ตอกไข่ไก่ลงไปผสมด้วย ผสมให้ส่วนผสมเข้ากันดีโดยไม่เหนียวเกินไป และไม่เหลวเกินไป ดูว่าแป้งมีสีน้ำตาลกำลังดี สีไม่เข้มและไม่อ่อนจนเกินไป สำหรับหน้าขนมเบื้อง มีดังนี้คือ 1.หน้าครีม มีส่วนผสมคือ น้ำตาลปี๊บ 2 กก. ต่อไข่ขาว 500 กรัม ตีผสมรวมกันจนเป็นครีมฟู 2.หน้าฝอยทอง ใช้ขนมฝอยทองที่ซื้อสำเร็จรูปมาใช้ได้เลย หรืออาจจะทำเองก็ได้ 3. หน้ากุ้ง มีส่วนผสมของ นมสด 1 กระป๋อง ต่อมะพร้าวขูดฝอย 2 กก. เนื้อกุ้งสับ 300 กรัม กุ้งฝอย 300 กรัม น้ำตาลทราย 1 กก. พริกไทย 300 กรัม เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ รากผักชีตำและกระเทียมตำพอประมาณ วิธีทำหน้ากุ้งคือ ตั้งกระทะ ใช้ไฟร้อนปานกลาง เคี่ยวนมสดและน้ำตาลทรายให้เข้ากัน จากนั้นใส่พริกไทย กระเทียม กุ้งฝอย เนื้อกุ้งสับ รากผักชี มะพร้าวขูดฝอย และสีผสมอาหารสีแสดนิดหน่อย ผัดไปเรื่อย ๆ ให้เข้ากัน จนมะพร้าวสุก เท่านี้ก็เป็นอันใช้ได้ และสำหรับ หน้าแฟนตาซี สิ่งที่ใช้ก็มี ครีมสตรอเบอรี่, ครีมบลูเบอรี่, ครีมช็อกโกแลต, เยลลี่, เฟิร์สช็อก (ช็อกโกแลตก้อน), โอริโอ, ช็อกไรซ์ (เกล็ดช็อกโกแลต), เรนโบว์ (เกล็ดน้ำตาลสี) และลูกเกด วิธีทำเป็นขนมเบื้อง ตั้งเตาขนมเบื้อง ใช้ไฟร้อนพอประมาณ เช็ดน้ำมันพืชให้ทั่วเตา จากนั้นใช้กระจ่าแตะที่แป้งขนมเบื้องที่เตรียมไว้ แล้วค่อย ๆ ละเลงบนกระทะเป็นวงรี ให้มีความกว้างประมาณ 2 นิ้ว จากนั้น เมื่อลูกค้าเลือกว่าจะให้ทำเป็นหน้าอะไร โดยลูกค้าสามารถเลือกหน้าได้ 3 อย่างต่อ 1 ชิ้น ก็ใส่หน้านั้น ๆ เมื่อใส่หน้าเสร็จแล้วก็รอสักพักจนขนมสุก จึงพับครึ่งแล้วแซะใส่ถาด จัดใส่ภาชนะ พร้อมขาย ขนมเบื้องแฟนตาซีเจ้านี้ ขายในราคากล่องละ 25 บาท จะมีขนมเบื้อง 10 ชิ้น หรือขายแยกในราคา 2 ชิ้น 5 บาทก็ได้ แล้วแต่ว่าลูกค้าจะซื้อเท่าไหร่ ****** สนใจ “ขนมเบื้องแฟนตาซี” ของคุณนุช-อัญชุลี ปิ่นทองเจริญ ร้าน “นะโม-น้ำมนต์ ขนมเบื้องแฟนตาซี” ร้านอยู่ในตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ขายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 07.00-16.00 น. โทร. 08-9456-9622 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” จากการขายขนม ที่มีการประยุกต์พลิกแพลง จนมีตลาด มีกลุ่มลูกค้ากว้างมากขึ้น. http://www.dailynews.co.th/article/384/212173

Friday, June 14, 2013

แนะนำอาชีพ “ร้านสินค้าแอนทีค”

จากความที่เป็นคนชอบสะสมของเก่าของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นพวกชุดน้ำชา ตู้ไม้โบราณ ใช้เวลาเก็บสะสมมาเรื่อย ๆ จนมีอยู่มากมาย จนเกิดความคิดที่จะนำออกจำหน่ายแบ่งปันให้กับกลุ่มคนที่ชื่นชอบการสะสมของโบราณบ้าง คุณป้อง-กนกขวัญ พลรักษ์ จึงแจ้งเกิดธุรกิจ ร้านขายของแอนทีค ’Past Perfect“ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา… ****** ร้าน “Past Perfect” ของคุณป้อง-กนกขวัญ เป็นร้านขายของแนวแอนทีค ขายของโบราณ เปิดอยู่ในอาคารพาณิชย์ 2 คูหา 2 ชั้น ตั้งอยู่กลางซอยงามวงศ์วาน 23 นนทบุรี เมื่อเข้าไปในร้านจะได้เห็นตู้ไม้โบราณหลากหลายรูปแบบ หลายทรง รวมทั้งชุดโต๊ะรับแขก ชุดนั่งเล่นแนวร่วมสมัยแบบอังกฤษ วางเรียงกันอยู่เต็มชั้นล่าง พอเดินขึ้นไปบนชั้น 2 ของร้านก็จะพบชุดถ้วยชาโบราณสไตล์ยุโรป จัดวางเรียงราย มีมากมายหลายชุด หลากหลายลวดลาย มีทั้งที่เป็นชิ้นขายแยก แบบชุดเล็ก ไปจนถึงชุดใหญ่ วางเรียงรายรอลูกค้าที่ชื่นชอบในการสะสมงานประเภทนี้รับช่วงไปดูแล ส่วนอีกห้องจะเป็นที่เก็บทั้งหมอนอิงแนววินเทจ ผ้าลูกไม้เก่าโบราณมากมาย ซึ่งจากที่ได้เห็น สินค้าในร้านนี้มีอยู่เยอะมากพอสมควรแล้ว “นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ยังมีที่เก็บไว้ที่ยังไม่ได้เอาออกมาอีกมาก ของที่เห็นอยู่ในร้านส่วนใหญ่จะเป็นของที่ชอบและก็ซื้อมาเก็บสะสมไว้นานกว่า 10 ปี” คุณป้องบอก พร้อมทั้งเล่าอีกว่า เริ่มจากเป็นคนที่ชอบตู้ไม้โบราณ และ ชุดน้ำชา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลายดอกกุหลาบ เพราะชอบกุหลาบ พอได้ไปเห็น ที่ไหนก็จะซื้อมาสะสมไว้ เริ่มซื้อเก็บตั้งแต่สมัยอยู่เมืองไทย จนไปศึกษาต่อปริญญาโทที่อังกฤษ มีโอกาสได้เดินทางไปหลายเมือง โดยเฉพาะในแถบชนบท ของอังกฤษ มีร้านขายของแนวแอนทีคของเก่าโบราณอยู่มาก ด้วยความที่เป็นคนชอบสะสมอยู่แล้ว ตอนอยู่อังกฤษจึงได้ซื้อเก็บสะสมมาเรื่อย ๆ ด้วย พอเรียนจบกลับมาอยู่เมืองไทยก็ไม่ได้เปิดร้านทันที แต่ก็มีความคิดอยู่ แรก ๆ ก็ยังไม่พร้อมเพราะไม่แน่ใจว่าจะมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบแบบเดียวกันอยู่มากแค่ไหน จะขายได้หรือไม่ จนมาวันหนึ่งร้านขายของเก่าที่ไปซื้อตู้โบราณแล้วฝากไว้ที่ร้าน ซึ่งก็มีอยู่หลายร้านและก็มีตู้อยู่หลายหลังที่ซื้อไว้แล้วไม่มีที่จะเก็บจึงฝากร้านไว้ เขาเรียกให้ไปเอาตู้ที่ฝากไว้มาได้แล้ว เมื่อไปเอาของมาแล้วก็ตัดสินใจที่จะเปิดร้าน ก่อนที่จะเปิดก็พยายามเดินสำรวจตามร้านที่ขายของโบราณของเก่าประเภทเดียวกันเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ร้านที่เปิดก็นำของที่สะสมไว้ออกมาจัดวาง ชุดน้ำชาก็นำออกมาจัดให้เข้าชุด บางชิ้นที่ไม่เป็นชุดก็แยกขายเป็นชิ้น สำหรับชุดถ้วยน้ำชานั้นถ้ามีเป็นชุดก็สามารถที่จะขายทำราคาได้ดีกว่าที่ไม่มีเป็นชุด คุณป้องเล่าต่อไปว่า ชุดชาส่วนใหญ่จะสั่งซื้อจากเมืองนอก ต้องการชุดน้ำชาที่ขาดหายไปก็ส่งรูปไปให้เขาช่วยหาให้ หรือที่นั่นก็จะส่งรูปมาให้ดูว่าต้องการจะสั่งหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันของเริ่มจะหายากขึ้น อีกทั้งการสั่งซื้อของประเภทชุดน้ำชาก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายในการขนส่ง ซึ่งถ้าส่งมาแล้วเกิดความเสียหาย บิ่น ร้าว แตกไปนิดเดียว ก็ไม่สามารถขายได้ ทำให้ชุดน้ำชานั้นไม่ครบ ไม่ได้ราคา กว่าจะหาสินค้าแบบเดียวกันได้ก็ต้องใช้เวลารออีกนานกว่าจะเจอ การดูสินค้าว่าเป็นของเก่าโบราณจริงหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ควรจะศึกษาให้ดี ทั้งกับการจะสะสม และการทำธุรกิจ มิฉะนั้นอาจจะโดนย้อมแมวเอาของใหม่ทำเก่ามาหลอกขาย สำหรับชุดน้ำชาก็จะดูจากลวดลาย และเนื้อของถ้วยชา คุณป้องบอกอีกว่า ชุดน้ำชาที่เป็นชุด จะมีกาน้ำชา 1 กา, โถน้ำตาล 1 ใบ, เหยือกน้ำ 1 ใบ, ถ้วยชา 6 ถ้วย, จานรองแก้ว 6 ใบ, จานใส่เค้ก 6 ใบ เรียกว่าเป็น 1 เซต ราคาชุดน้ำชาที่ครบเซตก็จะอยู่ที่ประมาณ 15,000-18,000 บาท แต่ก็จะมีชุดที่ใหญ่กว่านี้ อย่างที่ร้านจะมีชุดใหญ่ที่มี 400 ชิ้นใน 1 ชุด ซึ่งชุดน้ำชาบางชุดต้องใช้เวลาในการเก็บสะสมตามหาให้ครบเซตนานมาก บางชุดอาจจะต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะครบชุด แต่ถ้าลายไหนไม่มีชุดครบจริง ๆ ก็จะแยกขายเป็นชิ้น ราคาชิ้นละประมาณ 700 บาทขึ้นไป ซึ่งราคาขายชุดชานั้นก็ขึ้นอยู่กับลวดลาย ความยากง่ายในการหา และความสมบูรณ์ของชุดน้ำชา ส่วนราคาตู้ไม้โบราณ ก็จะมีตั้งแต่ประมาณ 30,000 บาทขึ้นไป ****** ร้าน “Past Perfect” ของ คุณป้อง-กนกขวัญ พลรักษ์ ตั้งอยู่ที่ 111/25-26 ถนนงาม วงศ์วาน ซอยงามวงศ์วาน 23 (ซอยวัดบัวขวัญ) อ.เมือง จ.นนทบุรี ร้านเปิด 10.00–20.00 น. ทุกวัน เบอร์โทรศัพท์ติดต่อคือ 08-9479-9742 หรือติดต่อทาง www.facebook.com/atpastperfect ซึ่งกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ ในวันนี้ เป็นรูปแบบของธุรกิจ “ร้านแอนทีค” ธุรกิจที่เกิดจากความชอบ นำสิ่งที่ชอบที่มีอยู่มากมาสร้างธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ และก็เป็นธุรกิจที่ผู้ทำดูจะมีความสุขมาก. http://www.dailynews.co.th/article/384/211909

Saturday, June 8, 2013

แนะนำอาชีพ “ห่อหมกปลากราย”

ห่อหมกปลา อาหารพื้นบ้านโบราณที่แสดงถึงตัวตนความเป็นคนไทย กว่าจะปรุงสำเร็จออกมาเป็นห่อหมกแสนอร่อยสักห่อต้องพิถีพิถันและต้องผ่านขั้นตอนการทำที่ต้องอาศัยความอดทนอยู่ไม่น้อย ทั้งการกวน ห่อ และนึ่ง ซึ่งผู้ที่มีอาชีพทำห่อหมกขายจะต้องมีความมุ่งมั่นถึงจะทำห่อหมกออกมาได้ดี แต่ถ้าทำได้ดี ก็สามารถจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดีได้ อย่างการทำ “ห่อหมกปลากราย” ขาย ที่จะนำเสนอให้ได้พิจารณากันในวันนี้... “ห่อหมกปลากราย” ที่จะนำเสนอวันนี้ เป็นสูตรโบราณบางคล้า มีการปรับเปลี่ยนภาชนะห่อหมกจากห่อเป็นกระทง ซึ่งก็สร้างจุดขายที่น่าสนใจได้อีกแบบ โดยผู้ที่จะมาบอกเล่าการทำห่อหมกปลากรายขายคือ คุณชุติพร กิตติโมรากุล หรือ เจ๊ณี อายุ 56 ปี เจ้าของร้านอาหารครัวบ้านไทยปลาเผาซึ่งทำห่อหมกปลากรายขายด้วย ซึ่งเจ๊ณีเล่าว่า เริ่มทำห่อหมกปลากรายขายพร้อม ๆ กับการเปิดตลาดน้ำบางคล้า มาประมาณ 5-6 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นช่วยธุรกิจครอบครัวคือทำโรงงานก๋วยเตี๋ยว ต่อมาก็แยกตัวมาทำธุรกิจส่วนตัว เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ และมีฝีมือในการทำอาหาร จึงเปิดร้านอาหารที่เน้นเรื่องปลาเป็นหลัก โดยปัจจุบันคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ หันบริโภคปลากันเยอะ จึงนับว่ามีจุดขายที่ดี “ช่วงที่ตลาดน้ำบางคล้าเปิดใหม่ ๆ ไม่รู้จะขายอะไรที่นี่ ก็เลยรับหมูยอของพี่ชายมาพายเรือขายตั้งแต่ตลาดเริ่มบุกเบิก ก็ขายดิบขายดี แต่จำต้องเลิกไป เพราะอยู่ไกล กำไรไม่คุ้มกับค่าขนส่ง ช่วงแรก ๆ ที่นี่มีอาหารขายไม่เยอะ จึงไม่ซ้ำกัน ก็นึกถึงห่อหมกปลากรายที่เคยช่วยคุณแม่ทำและขายมาตั้งแต่เด็ก ๆ ปรากฏว่าขายดีมาก ไม่กี่ชั่วโมงก็หมดจนต้องเพิ่มของ และเพื่อเป็นการเอาใจนักท่องเที่ยวที่ต้องการกินไปเดินชมทิวทัศน์ไปด้วย จึงเพิ่มสินค้าอีกตัวคือทอดมันปลากราย ที่ใช้ส่วนผสมเดียวกันกับห่อหมก เพียงแต่เพิ่มส่วนผสมอื่นอีกเล็กน้อย คือถั่วฝักยาวและไข่” เจ๊ณีบอก อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำห่อหมกปลากรายนั้น เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำครัวทั่วไป อาทิ เขียง, หม้อ, มีด, เตาแก๊ส, กระทงใบตอง และเครื่องครัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ส่วนที่ต้องมีพิเศษคือเครื่องปั่นพริก และลังถึงสำหรับนึ่งห่อหมกปลากราย ส่วนผสมและวัตถุดิบที่ใช้ ก็มีผักต่าง ๆ สำหรับรองพื้นกระทง เช่น ใบยอ, โหระพา, กะหล่ำปลี (ผักหวาน, เห็ดนางฟ้า) ส่วนของสดก็มี เนื้อปลากรายขูด, ไข่เป็ด, น้ำกะทิ, พริกแกงเผ็ด (เจ้าประจำ), น้ำตาลทราย, น้ำปลา, แป้งข้าวเจ้า และผักที่ใช้โรยหน้า คือใบมะกรูดหั่นฝอย พริกชี้ฟ้าหั่น ขั้นตอนการทำ “ห่อหมกปลากราย” เริ่มจากการทำผักรองพื้นก่อน โดยนำผักที่จะใช้รองพื้นมาล้างให้สะอาดแล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำใบยอมาหั่นเป็นชิ้น ๆ กะหล่ำปลีลวกพอนิ่มหั่นเป็นชิ้นเล็กตามต้องการ ส่วนใบโหระพาเด็ดเป็นใบ ๆ เตรียมไว้ในภาชนะที่สะอาด นำน้ำกะทิใส่อ่างหรือหม้อสเตนเลสที่มีขนาดกว้างพอประมาณสำหรับใช้กวน ตามด้วยพริกแกงเผ็ดห่อหมก ใช้ไม้พายคนส่วนผสมน้ำกะทิกับพริกแกงให้ละลายเข้ากันดี จากนั้นนำเนื้อปลากรายขูดใส่ลงไปผสม ตามด้วยไข่เป็ด ทำการกวนส่วนผสมห่อหมกให้เข้ากัน (เทคนิคการกวนคือจะต้องกวนไปทางเดียวกัน ถ้ากวนกลับไปกลับมาส่วนผสมจะคลายตัว ไม่เหนียวข้น) ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย น้ำปลา ค่อย ๆ เติมน้ำกะทิทีละน้อยจนหมด กวนส่วนผสมไปเรื่อย ๆ จนฟูและเหนียว ตั้งพักไว้สักครู่ ระหว่างนั้นให้เตรียมทำน้ำกะทิสำหรับหยอดหน้าห่อหมก ด้วยการเอาหัวกะทิผสมกับแป้งข้าวเจ้าและเกลือเล็กน้อย คนให้ละลายเข้ากัน แล้วยกขึ้นตั้งไฟอ่อน ๆ กวนจนกะทิสุก จะข้นหนืดนิด ๆ ยกลงตั้งพักไว้ให้เย็น จากนั้นใช้ช้อนตักส่วนผสมห่อหมกมาหยอดใส่ลงในกระทงที่รองด้วยผักรองพื้นแต่ละชนิดประมาณ 1/2 กระทง ใส่ส่วนผสมห่อหมกลงในกระทงจนเต็ม ปาดเก็บส่วนผสมให้สวยงาม เสร็จแล้วจัดเรียงวางกระทงลงในรังถึงจนเต็ม ยกขึ้นนึ่งด้วยน้ำเดือด แล้วค่อย ๆ หรี่ไฟประมาณ 15 นาที (การนึ่งถ้าใช้ไฟแรงเกินไปพอสุกแล้วหน้าห่อหมกจะระเบิดเป็นแฉก ไม่สวย) แล้วยกลง แต่งหน้ากระทงห่อหมกด้วยกะทิ ใบมะกรูดหั่นฝอย และพริกชี้ฟ้าสีแดงหั่น เพื่อเพิ่มสีสันให้กับห่อหมก ราคาห่อหมกปลากรายเจ๊ณี ขายกระทงละ 10 บาท สนใจ “ห่อหมกปลากราย” รวมถึงทอดมันปลากราย ของร้านเจ๊ณี ก็ไปกันได้ที่ตลาดน้ำบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เปิดให้บริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือสนใจสั่งไปใช้ในเทศกาลงานต่าง ๆ ติดต่อเจ๊ณีได้ที่ โทร.08-5357-6242 ทั้งนี้ การทำห่อหมกขายนั้นเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่แม้จะไม่มีหน้าร้านก็ทำแบบรับสั่งทำได้ ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบอาชีพที่น่าสนใจ!!!!. http://www.dailynews.co.th/article/384/210381

Friday, June 7, 2013

แนะนำอาชีพ ‘วุ้นแฟนซี’

ขนมหวานประเภท “วุ้น” นั้นทำเมื่อไหร่ก็ขายได้ จึงเป็นที่สนใจของหลายคนมาตลอด เหตุเพราะวิธีทำไม่ยุ่งยาก และใช้เงินลงทุนไม่สูงจนเกินไปนัก สามารถทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ยิ่งรู้จักดัดแปลงเพิ่ม “ลูกเล่น” ใหม่ ๆ เช่นทำให้มีสีสันแปลกตา ก็สามารถทำขายเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ได้ไม่ยากนัก อย่างเช่น ’วุ้นแฟนซี“ ที่จะนำเสนอในวันนี้... “ประสงค์-นลินญา ดิษฐาพรเศรษฐ์” ทำ “วุ้นแฟนซี” จำหน่ายมาได้ 7 ปีแล้ว โดยยึดเป็นอาชีพหลักหลังลาออกจากงานประจำในบริษัทเอกชน ซึ่งประสงค์เล่าว่า ความรู้ในการทำวุ้นแฟนซีนี้ อาศัยการเปิดหนังสือทำขนม และได้ไปฝึกอบรมการทำจากที่ต่าง ๆ โดยนำมาปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง จนกลายเป็นวุ้นแฟนซีอย่างที่เห็น และถึงแม้จะไม่มีหน้าร้าน แต่อาศัยทำตลาดโดยเริ่มจากการทำแจกให้เพื่อนฝูงคนรู้จักทดลองชิม นอกจากนี้ยังเปิดช่องทางนำเสนอสินค้าผ่านเฟซบุ๊กโดยใช้ชื่อว่า www.facebook.com/WunFancyLoveU เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ารู้จัก ซึ่งรูปแบบของวุ้นนั้น เขาบอกว่า แบ่งออกเป็น วุ้นจิ๋ว, วุ้นกระปุก, วุ้นเค้ก โดยราคาก็จะแตกต่างกันไป และสามารถเพิ่มมูลค่าได้จาก “บรรจุภัณฑ์” ที่เลือกใช้ ขณะที่รายละเอียดของวุ้นแฟนซีที่สามารถตกแต่งได้หลากหลาย และสามารถทำได้หลายรสชาติ ก็เป็นอีกจุดเด่นที่ทำให้คนนิยม ทำให้มีลูกค้าหันมาสนใจวุ้นแฟนซีมากขึ้น “วุ้นแฟนซีทำขายได้ทั้งปี และจะดีในช่วงใกล้เทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ วาเลนไทน์ นอกจากนี้ ตามงานเลี้ยงหรืองานต่าง ๆ อาทิ ทำบุญ เลี้ยงพระ ก็นิยมหันมาใช้วุ้นแฟนซีแทนขนมอื่น ๆ กันมากขึ้น” ประสงค์กล่าว ทุนเบื้องต้นอาชีพ ลงทุนประมาณ 3,000 บาท แต่ถ้าใครมีอุปกรณ์ครัวอยู่บ้างต้นทุนส่วนนี้ก็จะลดลงไปอีก ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ซึ่งมีตั้งแต่ชิ้นละ 2.50 บาท ไปจนถึง 500 บาท ขึ้นกับขนาดและชนิดของวุ้นแฟนซีที่ทำ เครื่องมืออุปกรณ์ หลัก ๆ ประกอบด้วย หม้อส่วนผสม, แม่พิมพ์วุ้นแบบและขนาดต่าง ๆ, ถ้วยตวง, ไม้พาย สำหรับกวน, บรรจุภัณฑ์, กระติกเก็บความร้อน, ภาชนะพลาสติก, ถาด, ผ้าขาวบาง และกล่องโฟม สำหรับบรรจุวุ้นเพื่อส่งให้ลูกค้า ส่วนผสม “วุ้นใส” ประกอบด้วย ผงวุ้น 3 ช้อนโต๊ะ, น้ำตาลทรายขาว 2 ถ้วยตวง, ใบเตยสด 6 ใบ, กลิ่นใบเตย 5-10 หยด, น้ำเปล่า 8 ถ้วยตวง สำหรับ “วุ้นกะทิ” ประกอบด้วย ผงวุ้น 3 ช้อนโต๊ะ, หัวกะทิ 4 ถ้วยตวง, น้ำตาลทรายขาว 1 ถ้วยตวง, เกลือป่น 2 ช้อนโต๊ะ, น้ำเปล่า 4 ถ้วยตวง, ใบเตย 6 ใบ โดยสูตรนี้จะทำวุ้นจิ๋วได้ 300 ชิ้น หรือทำวุ้นเค้กได้ 1 ปอนด์ ขั้นตอนการทำ เริ่มที่การทำวุ้นใส นำผงวุ้นที่ตวงแล้วผสมกับน้ำเปล่า 2 ถ้วยตวง ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อครบเวลาให้นำน้ำเปล่าอีก 6 ถ้วยตวงมาผสม จากนั้นนำใบเตยสดที่ล้างสะอาดมาตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 4-5 นิ้ว นำมาตั้งไฟเคี่ยวจนกระทั่งได้กลิ่นหอมใบเตยจึงตักออกจากหม้อ นำวุ้นที่แช่น้ำไว้ใส่ลงไป ใช้ไม้พายคนจนวุ้นละลายทั่ว หรือจนมีลักษณะหนึบ ๆ นำน้ำตาลทรายขาวและกลิ่นใบเตยใส่ลงไป คนจนส่วนผสมเข้ากันหรือจนน้ำตาลละลายจึงยกลง เทลงบนผ้าขาวบางที่ปูไว้เหนือกระติกเก็บความร้อน เทเสร็จ ปิดฝา พักไว้ก่อนเพื่อไปทำวุ้นกะทิต่อ การทำวุ้นกะทิ เริ่มจากนำน้ำเปล่า 1 ถ้วยตวงผสมกับผงวุ้นที่ตวงไว้ แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดนำน้ำเปล่าอีก 3 ถ้วยตวงผสมลงไป จากนั้นทำขั้นตอนต่อไปเหมือนกับการทำวุ้นใส คือนำใบเตยสดที่ล้างสะอาดมาตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 4-5 นิ้ว นำมาตั้งไฟเคี่ยวจนกระทั่งได้กลิ่นหอมใบเตยจึงตักออกจากหม้อ นำวุ้นที่แช่น้ำใส่ลงไปคนจนวุ้นละลายหรือมีลักษณะหนึบ ๆ เติมน้ำตาลทรายขาว ใส่เกลือ แป้งข้าวเจ้า และหัวกะทิ จากนั้นคนแค่พอให้สุก อย่าให้กะทิแตกมัน ยกลงจากเตา แล้วเทวุ้นกะทิลงไปในกระติกเก็บความร้อน “วิธีการหยอดแม่พิมพ์เพื่อตกแต่งนั้น ให้ตักแบ่งวุ้นกะทิจากกระติกเก็บความร้อนใส่ถ้วยตักแบ่งให้พอกับส่วนที่จะหยอด เมื่อหยอดวุ้นกะทิแล้วก็ให้ทำการหยอดวุ้นใสลงแม่พิมพ์ที่ต้องการขึ้นรูปของวุ้น พอส่วนที่เป็นวุ้นใสแข็งตัวก็ให้ตักวุ้นใสสีอื่นหรือวุ้นกะทิลงไปตกแต่งตามต้องการ ทำสลับกันจนเต็มแม่พิมพ์ ทิ้งไว้สักครู่ให้เย็นตัวลงนิดหน่อย จึงนำไปแช่เย็น” ประสงค์กล่าว ใครสนใจ ’วุ้นแฟนซี“ อยากติดต่อเจ้าของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-1806-8769, 08-1854-6811 และหากใครสนใจอยากจะหัดทำเป็นเรื่องเป็นราวก็สามารถสอบถามข้อมูลแบบเจาะลึกได้โดยตรงที่เจ้าตัวเลย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกช่องทางทำกินจาก “วุ้น” ที่พลิกแพลง “ใส่ลูกเล่น” ได้อย่างน่าสนใจ. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/210060

Saturday, June 1, 2013

แนะนำอาชีพ ‘หมี่กรอบผลไม้’

“หมี่กรอบ” ของว่างไทย ๆ ที่มีมานาน ยุคนี้ก็ยังขายได้ ไม่ว่าจะวางขายที่ใด ร้านของฝาก ร้านอาหาร ตลาด หรือแม้กระทั่งตามริมถนนหนทางก็ยังมีคนซื้อ และหากทำให้มีความแปลกแตกต่าง มีการประยุกต์ไปตามยุคสมัย ตามกระแสสังคม อาทิ หมี่กรอบสมุนไพร หรือ “หมี่กรอบผลไม้” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้ ก็ยิ่งมีจุดขายที่ดี... อุมารินทร์ นาคบรรพตกุล หรือ คุณไก่ เจ้าของร้านขาย “หมี่กรอบผลไม้” ชื่อ “บ้านไก่” ที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง และตลาดน้ำคลองลัดมะยม เล่าว่า ขายหมี่กรอบผลไม้นี้มานานกว่า 9 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ตอนหลังเกิดอาการเบื่องานประจำ คิดอยากจะค้าขาย เมื่อมีคนชวนจึงออกมาค้าขายเลย “แรก ๆ ออกมาก็ขายเสื้อผ้าที่ต่างจังหวัด และรับหมี่กรอบที่ทำสำเร็จรูปมาขายด้วย ซึ่งก็ขายได้ แต่ด้วยความที่อยากจะพึ่งตนเอง จึงพยายามลองหัดทำหมี่กรอบดู อาศัยหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตบ้าง ให้แม่สอนบ้าง แม้ว่าจะมีทิ้งบ้าง ท้อบ้าง แต่ก็สู้มาเรื่อย ๆ จนประสบความสำเร็จ จนทำออกมาได้ดี” คุณไก่บอกต่อไปว่า แรกเริ่มทำหมี่กรอบรสดั้งเดิม และเพิ่มหมี่กรอบสมุนไพรในเวลาต่อมา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก จนเมื่อขายไปเรื่อย ๆ ก็มีลูกค้าแนะนำให้ทำรสผลไม้ดู จึงเริ่มทดลองที่สับปะรด ต่อมาเป็นชาเขียว สตรอเบอรี่ ตามด้วยลิ้นจี่ และเสาวรส ซึ่งเป็นรสชาติที่ขายในปัจจุบัน และตอนนี้ก็มีความพยายามจะทดลองทำรสมะม่วง และบลูเบอรี่ด้วย อุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มี เตาแก๊ส กระทะ หม้ออะลูมิเนียม ถังน้ำสเตนเลส รวมไปถึงเครื่องครัวอื่น ๆ วิธีทำ เริ่มที่ตั้งกระทะใหญ่ เทน้ำมันลงไป กะดูให้ท่วมหมี่ที่จะทอด รอจนน้ำมันเดือด ค่อย ๆ นำเส้นหมี่อบแห้งลงทอดให้สุก ซึ่งคุณไก่บอกว่าจะทอดเส้นหมี่คราวละ 10 กก. เส้นหมี่อบแห้งที่ทอดสุกแล้วจะฟูขึ้น ได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 เท่าตัว เสร็จแล้วก็นำไปผึ่งให้แห้งและเก็บใส่ถุงพลาสติกไว้ ต่อไปก็ทำ “น้ำหมี่กรอบ” คุณไก่บอกว่า จะเคี่ยวไว้ให้เหนียวประมาณ 20% โดยส่วนประกอบหลักของน้ำหมี่กรอบก็มี น้ำมะขามเปียก 1 กก. (เนื้อและน้ำ), น้ำตาลปี๊บ 6 กก. และน้ำตาลทราย 3 กก. วิธีเคี่ยวน้ำหมี่กรอบ นั้น จะเคี่ยวน้ำตาลทรายกับน้ำเปล่า 1 ลิตร ให้น้ำตาลทรายละลายก่อน รอให้น้ำตาลทรายละลายแล้วจึงค่อยใส่ส่วนผสมอื่น ๆ ลงไป เคี่ยวให้เข้ากัน ก็พร้อมจะใช้ทำน้ำหมี่กรอบรสต่าง ๆ เรื่องรสชาติต่าง ๆ ของหมี่กรอบนั้น ถ้าเป็น รสดั้งเดิม จะใส่หอมแดงเจียวลงไป 5 กก. ใส่สีผสมอาหารสีส้มลงไปพอประมาณ หากเป็น รสสตรอเบอรี่ ใส่ผลสตรอเบอรี่สด 4 กก. ผ่าครึ่งแล้วใส่ลงไป ใส่สีผสมอาหารสีแดง และใส่กลิ่นสตรอเบอรี่ลงไปพอประมาณ เช่นเดียวกับ รสชาเขียว ใช้ใบชาเขียว 500 กรัม ปั่นละเอียดแล้วใส่ลงไป ตามด้วยสีผสมอาหารสีเขียว สำหรับ รสสับปะรด ใช้เนื้อสับปะรด 10 ลูก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปเคี่ยว ตามด้วยสีผสมอาหารสีเหลือง และใส่กลิ่นสับปะรดลงไปพอประมาณ ส่วน รสลิ้นจี่ ใช้เนื้อลิ้นจี่หั่นชิ้นเล็ก ๆ 4 กก. ใส่สีผสมอาหารสีชมพูอ่อน ๆ เช่นเดียวกับ รสเสาวรส ใช้เนื้อเสาวรสหั่นชิ้นเล็ก ๆ 4 กก. ใส่สีผสมอาหารให้ออกสีเหลืองส้ม การทำ เริ่มจากตั้งกระทะ ใช้ไฟแรงพอประมาณ ตักน้ำหมี่กรอบที่เตรียมไว้ใส่ลงไปประมาณ 1 ลิตร รอให้น้ำหมี่กรอบเดือด จากนั้นเทเส้นหมี่กรอบลงไปพอประมาณ แล้วรีบคลุกด้วยตะหลิวคู่ให้เข้ากัน เท่านี้ก็เรียบร้อย นำไปพักให้เย็น เมื่อหมี่กรอบเย็นแล้วก็ค่อย ๆ บรรจุลงในกล่องพลาสติกขนาด 4.5 x 6 x 2 นิ้ว โดยที่หมี่กรอบ 1 กล่อง อาจจะบรรจุ 2 รส หรือรสเดียวก็ได้ ราคาขายคือกล่องละ 35 บาท ถ้าซื้อ 3 กล่อง ขายราคา 100 บาท โดยมีต้นทุนต่อกล่องอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาขาย คุณไก่บอกว่า แม้ว่าต้นทุนจะค่อนข้างสูงหน่อย แต่ก็พออยู่ได้ จึงทำขายเป็น “ช่องทางทำกิน” มาจนถึงปัจจุบัน สนใจ “หมี่กรอบผลไม้” ของ คุณไก่-อุมารินทร์ นาคบรรพตกุล ก็ไปพบกับเธอได้ที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง และตลาดน้ำคลองลัดมะยม ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น. หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1206-5932. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/208649