Saturday, September 28, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ผ้าย้อมคราม’

“ผ้าย้อมคราม” เป็นผ้าพื้นเมือง จ.สกลนคร ที่มีมาแต่โบราณ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักและยอมรับถึงคุณภาพ สวยงาม สวมใส่สบาย แต่สำหรับชาวบ้านผู้ผลิตกลับไม่ค่อยได้มีผลประโยชน์เรื่องรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากขาดความรู้ด้านการแปรรูป ทำให้เสียโอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้าไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ สพภ. เห็นความสำคัญ จึงเข้าช่วยต่อยอดผ้าย้อมคราม ทั้งพัฒนาการผลิต เติมดีไซน์สมัยใหม่ และการตลาดเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้ให้ชุมชน ที่สำคัญยังเชื่อมโยงเป็นสินค้ารักษ์โลก ผู้สวมใส่ภูมิใจได้ว่านอกจากจะได้ใส่เสื้อผ้าสวยงามแล้ว ยังมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลผ้าย้อมครามมานำเสนอ… นางเกยูร ไชยะวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมคราม ผ้าไหม บ้านกุดแฮด ต.กุดบาก จ.สกลนคร เล่าให้ฟังถึงที่มาของ “ผ้าย้อมคราม” ว่า บ้านกุดแฮดเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาว “ไทยกะเลิง” มีฝีมือในเรื่องการทำผ้าย้อมครามที่ได้รับถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากรุ่นสู่รุ่น ในอดีตจะทอเป็นผ้านุ่ง สวมใส่ในชีวิตประจำวัน ภายหลังความนิยมผ้าทอย้อมครามมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่มีบุคคลภายนอกสนใจ ทั้งนักท่องเที่ยว รวมถึงมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อผ้าย้อมครามถึงในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามขาย หารายได้เสริมจากอาชีพหลักคือการทำนา ชาวไทยกะเลิงเชื่อว่า “คราม” เป็นต้นไม้ที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของธรรมชาติ เปรียบเท่ากับเทพยดา เมื่อนำมาย้อมผ้าย้อมครามสวมใส่ก็จะเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้อง ทำให้ผู้สวมใส่สุขกายสบายใจ แต่ก่อนหน้านี้เริ่มหาคนที่ทำสวย สมบูรณ์แบบ น้อยลง จนภายหลังจึงมีการผลิตเพื่อจำหน่ายได้มากขึ้น หลังได้รับการสนับสนุนการผลิต และการตลาด จาก สพภ. และ ม.เกษตรศาสตร์ สกลนคร ทำให้มองเห็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น “จากที่ขายเป็นผ้าผืน ก็นำมาดัดแปลง แปรรูป จนได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป็นที่ต้องการ จนทุกวันนี้ผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด ตอนนี้ในกลุ่มก็มีความตื่นตัวค่อนข้างสูงในเรื่องนี้ สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกันก็คือ ภูมิปัญญา ความรู้เก่าก่อนของบรรพบุรุษจะถูกรวบรวมไว้เพื่อถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน ให้ได้เรียนรู้รากเหง้าที่มา วัฒนธรรมของเรา และเชื่อว่าสิ่งที่คนรุ่นเราได้เริ่มไว้จะต่อยอดสร้างรายได้ให้ลูกหลานในชุมชน ไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานไกลบ้านอีกต่อไป” วัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมสีผ้าด้วยน้ำคราม ได้แก่... ใบคราม ต้นคราม (เป็นไม้พุ่มล้มลุก ปลูกด้วยเมล็ด เมื่อต้นครามอายุได้ 3-4 เดือน ใบและกิ่งจะให้สีน้ำเงิน), ปูนขาว (สำหรับกินหมาก), น้ำขี้เถ้า, มะขามเปียก และน้ำสะอาด อุปกรณ์ที่ใช้ ก็มี... ถังที่มีฝาปิด (โอ่ง), เส้นฝ้าย, ขัน, ส้อมกวนคราม, ตะแกรงกรองคราม และพลาสติก ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการเตรียมใบคราม นำทั้งกิ่งและใบมามัดรวมกันเป็นฟ่อน 10 กิโลกรัม ใส่ลงไปในถัง 200 ลิตร ใช้มือกดให้แน่น เติมน้ำให้ท่วมหลังมือ แช่ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วทำการกลับด้านครามแช่ไว้อีก 12 ชั่วโมง จากนั้นแยกกากใบออกทิ้ง จะได้น้ำครามสีเหลืองปนเขียวประมาณ 100 ลิตร เสร็จแล้วเติมปูนขาว 500 กรัมลงไป ทำการตีน้ำคราม หรือเรียกว่าซ้อมคราม 30-40 นาที จนฟองยุบ พักทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้เนื้อครามตกตะกอนที่ก้นถัง แล้วรินน้ำใสสีน้ำตาลเหลือง ๆ ชั้นบนทิ้ง เหลือไว้แต่ชั้นล่างที่จะเป็นเนื้อครามเนื้อเนียนละเอียด ต่อไปเป็นการเตรียมน้ำย้อม ผสมเนื้อครามเปียก 1 กิโลกรัม ต่อน้ำขี้เถ้า 3 ลิตร แช่ไว้ 3 วัน จากนั้นค่อยเติมน้ำมะขามเปียกต้ม 3 ลิตรลงไป ทำการโจกคราม (ตักสูง ๆ เทลง) ทุกเช้า-เย็น สังเกตดูเมื่อเห็นน้ำครามให้สีเขียวอมเหลือง ฟองสีน้ำเงินเข้ม ไม่แตกยุบ แสดงว่าน้ำครามสมบูรณ์ พร้อมต่อการใช้ย้อมผ้าแล้ว สำหรับขั้นตอนการย้อม ให้นำเส้นใยผ้าฝ้ายที่ต้องการย้อมมาล้างไขมัน สะอาดแล้วก็บิดให้หมาด ๆ จับเป็นวง จุ่มลงหม้อน้ำย้อม กำให้แน่นแล้วไล่เรียงไปเรื่อย ๆ รอบวงของฝ้าย สังเกตสีน้ำย้อมจะใสขึ้นจึงหยุดย้อม บิดฝ้ายที่ย้อมให้หมาด ๆ กระตุกให้เรียงเส้น เก็บไว้ในภาชนะมิดชิดหรือห่อด้วยถุงพลาสติก ละลายครามกับน้ำด่างพอประมาณให้เนื้อครามเหลว โจกคราม 2-3 ครั้ง พักไว้ 4-5 ชั่วโมง จากนั้นนำฝ้ายที่ย้อมไว้ในรอบแรกมาย้อมอีกครั้งและทำเช่นเดิมอีก ย้อมซ้ำจนได้สีเข้มตามที่ต้องการ จึงนำเส้นใยฝ้ายที่ย้อมนั้นมาล้างในน้ำให้สะอาด จนไม่เหลือสีครามออกมาในน้ำล้าง บิดให้หมาด ผึ่งในที่ร่มให้แห้ง ก่อนนำไปสู่กระบวนการทอ ป้าเกยูรบอกถึงจุดเด่นของผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮดว่า ทำมาจากฝ้ายแท้ ย้อมครามแบบธรรมชาติ โดยเส้นใยธรรมชาติจะมีความหนา เมื่อนำมาทอผ้าจะทำให้เนื้อนุ่ม ระบายอากาศได้ดี โดยส่วนใหญ่จะทอขายเป็นผืน ๆ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เมตรละ 200-300 บาท แต่ละคนจะทอผ้าได้สูงสุด 2-3 เมตรต่อวัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างจากการทำนา ปัจจุบันโดยเฉลี่ยชาวบ้านที่นี่จะมีรายได้จากการทำผ้าย้อมครามประมาณ 15,000 บาทต่อคนต่อปี ใครสนใจ “ผ้าย้อมคราม” ของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามฯ บ้านกุดแฮด ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร ติดต่อได้ที่ โทร.08-7946-6861, 08-7234-7212 หรือร้านฟ้าใสแกเลอรี่ โทร.0-2141-7828 ซึ่งอาชีพทำเงินของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” จากภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย. เชาวลี ชุมขำ :เรื่อง / สันติ มฤธนนท์ :ภาพ ......................................................................................................................... คู่มือลงทุน...ผ้าย้อมคราม ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 40% ของราคา รายได้ ราคา 200-300 บาท/เมตร แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด ร้านของฝาก-ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ชูภูมิปัญญาเป็นจุดขายที่ดี http://www.dailynews.co.th/article/384/235939

แนะนำอาชีพ 'สมุดทำมือ’

สมุดทำมือนั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพ อีก “ช่องทางทำกิน” ที่คนรุ่นใหม่สนใจ จึงมีการต่อยอดพลิกแพลงค่อนข้างหลากหลาย ตอบคำถามได้ว่าตลาดงานฝีมือประเภทนี้ยังไม่ถึงทางตัน ยิ่งหากนำเรื่องของการออกแบบผนวกเข้ากับรายละเอียดของงานที่ประณีต การจะเปิดโอกาส-ทำตลาดให้กับสมุดทำมือก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อย่างเช่น “สมุดทำมือ” ที่มีลูกเล่น ไอเดียเด่น ของ “วศินี เชยกลิ่นเทศ” รายนี้.... วศินี เจ้าของชิ้นงานสมุดทำมือที่ใช้ชื่อว่า classic note book เล่าว่า งานสมุดโน้ตทำมือนี้เริ่มทำจำหน่ายมาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว โดยเปิดร้านค้าออนไลน์และจำหน่ายผ่านทาง http://classic-notebook.exteen.com และ www.facebook.com/ClassicNotebook นัยหนึ่งเพื่อเอามาใช้ในการเรียน เพราะเรียนด้านการออกแบบ อีกนัยหนึ่งเพื่อทำเป็นงานอดิเรกเพราะส่วนตัวเป็นคนชอบงานกระดาษอยู่แล้ว โดยปัจจุบันยึดการทำสมุดทำมือนี้เป็นอาชีพเสริม สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำเป็นอาชีพ ทำสมุดทำมือเพื่อจำหน่าย เธอเล่าว่า เกิดขึ้นเมื่อเริ่มฝึกทำจนชำนาญ จึงทำเป็นของขวัญเพื่อมอบให้เพื่อนคุณแม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ปรากฏว่าเพื่อนคุณแม่ชอบ และขอให้ทำเพิ่มหลาย ๆ แบบ เพื่อนำกลับไปเป็นของฝาก จากจุดนั้นจึงคิดว่างานฝีมือตรงนี้ทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในยามว่างได้ “ที่ทำมา 2 ปี ถือว่าตลาดไปได้เรื่อย ๆ และจะดีมากในช่วงใกล้เทศกาลสำคัญ ๆ นอกจากนั้นยังมีลูกค้าที่สั่งทำเพื่อนำไปทำเป็นของขวัญ ของที่ระลึก ของชำร่วย รวมถึงนำไปดัดแปลงเองตามต้องการอีกด้วย” วศินีกล่าว จุดเด่นของชิ้นงาน เธอบอกว่า วิธีการเย็บสมุด-วิธีการทำสมุดทำมือที่เธอได้ไปเรียนมานั้น เป็นเทคนิควิธีการทำเหมือนหนังสือหรือคัมภีร์โบราณแบบยุโรป ซึ่งวิธีนี้ทำให้หนังสือหรือสมุดมีความแข็งแรงคงทน และแปลกที่ลวดลายของสันสมุดที่ถูกถักและเย็บขึ้น โดยแต่ละเล่มจะมีรูปแบบวิธีการแตกต่างกันไป ปัจจุบันสมุดที่ทำจะมี 2 แบบ คือ เป็นแบบที่เรียกว่า “บุ๊คไบนด์ดิ้ง” คือสมุดที่สามารถนำไปทำเป็นไดอารี่,สมุดอวยพรคู่แต่งงาน, สมุดภาพ กับอีกแบบเรียกว่า “บุ๊คอาร์ต” ซึ่งแบบนี้จะออกไปในแนวสมุดศิลปะ จะใช้เขียนบันทึกได้น้อย โดยสมุดแบบนี้จะเน้นให้เป็นของขวัญของที่ระลึกมากกว่า “จุดเด่นของสมุดร้านเราจะอยู่ที่ลายเย็บบนสันสมุด ที่เป็นการเย็บสมุดแบบเปิดสันสมุด ซึ่งเป็นวิชาเก่าแก่จากทางประเทศโปแลนด์ และจะสามารถเปิดสมุดกางออกมาได้กว้างถึง 180 องศา โดยไม่กินเนื้อกระดาษ เมื่อแปะภาพจะไม่บวมหรือโป่งพองออกมาจนดูไม่สวย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบมาก” เจ้าของชิ้นงานกล่าว ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 บาท ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 20% ของราคาขาย รายได้หรือราคาขายตั้งแต่เล่มละ 120 ไปจนถึง 6,000 บาท ขึ้นกับขนาดและความยากง่ายของแต่ละชิ้นงาน วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย อุปกรณ์รีดกระดาษหรือโบนโฟลเดอร์ (Bone Folder), เหล็กแหลม สำหรับใช้เจาะกระดาษ, เข็ม, เชือกหรือด้าย, กรรไกร, กาวพีวีเอ(ชนิดหนึ่งของกาวลาเท็กซ์แต่แห้งเร็วกว่าและมีความข้นหนืดน้อยกว่า),แปรงทากาว และกระดาษสำหรับทำเนื้อในสมุดกับกระดาษสำหรับใช้ทำปกสมุดโน้ต ขั้นตอนการทำ เริ่มจากเลือกกระดาษที่จะใช้เป็นปกด้านนอกและด้านในสมุด ทำการตัดกระดาษจั่วปัง(กระดาษที่ช่วยเพิ่มความแข็งให้กับปกสมุด) ตามขนาดสมุดที่ต้องการ 2 แผ่น จากนั้นทากาวพีวีเอที่กระดาษจั่วปังแล้วแปะกระดาษจั่วปังลงบนข้างหลังกระดาษปก โดยให้เหลือขอบทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร พับมุมของกระดาษปกที่ใช้ห่อให้เป็นรอยแล้วคลี่ออก ใช้กรรไกรตัดห่างจากมุมของกระดาษจั่วปังประมาณ 2 มิลลิเมตรทั้ง 4 ด้าน ขั้นตอนต่อมาให้ทากาวลงบนกระดาษด้านยาวทีละด้านแล้วใช้อุปกรณ์รีดกระดาษหรือโบนโฟลเดอร์รีดกระดาษให้พับเข้ามาโดยทำทั้ง 2 ด้าน พับมุมเก็บทั้ง 4 มุม แล้วนำกาวมาทาด้านแคบ ใช้อุปกรณ์รีดกระดาษ รีดกระดาษพับเข้ามาเช่นกันทั้ง 2 ด้าน ตัดกระดาษปกในให้เล็กกว่าขนาดปกเล็กน้อย แล้วนำกาวพีวีเอมาทาที่กระดาษปกใน จากนั้นนำไปแปะที่ปกด้านในให้อยู่กึ่งกลาง ให้ทำแบบนี้ 2 แผ่น ทั้งปกหน้าและปกหลัง เริ่มขั้นตอนการพับกระดาษสำหรับทำไส้ในสมุด ตามจำนวนชั้นที่เราต้องการ โดยทำแม่แบบเพื่อเจาะรูสมุด จากนั้นเริ่มเย็บสมุด และเก็บลายละเอียดที่เหลือ “วิธีการทำสมุดทำมือจะมีวิธีการคล้าย ๆ กับขั้นตอนการทำหนังสือแบบสมัยก่อน ข้อดีคือ สมุดทำมือแบบนี้จะมีความคงทน มีอายุการเก็บรักษาไว้ได้นาน ไม่ค่อยหลุดร่อนออกมาเป็นแผ่นๆ เหมือนสมุดที่ทากาวที่สันเพียงอย่างเดียว ยิ่งใช้เชือกหรือด้ายที่มีคุณภาพสูง เกรดดีหน่อย ก็จะยิ่งทำให้สมุดทำมือเก็บรักษาไว้ได้นานยิ่งขึ้น” วศินีกล่าว สนใจผลงาน “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร.08-5955-7757 อีเมล์ za_nall@hotmail.com หรืออยากจะดูรูปแบบ “สมุดทำมือ” ก็สามารถเปิดเข้าไปดูตามเว็บไซต์กับเฟซบุ๊คข้างต้น หรือใครอยากจะลองฝึกหัดทำก็สามารถสอบถามได้โดยตรงที่เจ้าตัวเลย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งงานทำมือจากกระดาษที่ถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยึดเป็นช่องทางทำกินได้อย่างน่าสนใจ. ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ :เรื่อง / จุมพล นพทิพย์ :ภาพ ............................................................................................................... คู่มือลงทุน...สมุดทำมือ ทุนเบื้องต้น ประมาณ 2,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 20% ของราคา รายได้ ราคา 120-6,000 บาท/เล่ม แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด กลุ่มของใช้ ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ทุนต่ำ ทำเป็นอาชีพเสริมได้ http://www.dailynews.co.th/article/384/235873

Saturday, September 21, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เครื่องประดับแฮนด์เมด’

สินค้าประเภทเครื่องประดับ ต่างหู สร้อย กำไร แหวน ฯลฯ เป็นสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่มากมายในท้องตลาด จึงเป็นสินค้าที่มีคู่แข่งทางการตลาดสูง ซึ่งการจะทำให้สินค้ายืนหยัดอยู่ในตลาดได้ก็จะต้องเน้นสร้างสรรค์สินค้าให้มีความโดดเด่น มีจุดขาย อย่างการสร้างสรรค์ “เครื่องประดับแฮนด์เมด” เป็นรูปผีเสื้อ นกฮูก โดยผสมผสานศิลปะการเพ้นท์สีเข้าไปในตัวชิ้นงาน ที่ผู้ทำเรียกผลงานของตัวว่า “จิวเวลรี่อาร์ท แฮนด์เมด” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ... **************** สายน้ำผึ้ง พวงดอกไม้ เจ้าของผลงานทำเครื่องประดับแฮนด์เมด หรืองานจิวเวลรี่อาร์ท แฮนด์เมด เล่าว่า หลังจากที่เรียนจบทางด้านศิลปะก็เข้าทำงานที่บ้านจิม ทอมป์สัน ทำหน้าที่ซ่อมรูปภาพโบราณ และเขียนรูปด้วย ซึ่งก็ทำงานประจำอยู่ 8 ปี จนเริ่มอิ่มกับงานที่ทำ อยากทำงานที่เป็นอิสระของตัวเอง จึงออกจากงานประจำ และด้วยความที่ชอบใส่เครื่องประดับ งานจิวเวลรี่ จึงศึกษาต่อปริญญาโทด้านจิวเวลรี่ที่ศิลปากร ยังเรียนไม่จบ แต่ก็มาทำธุรกิจของตัวเอง “มองหาค้นหาตัวเองว่าจะทำงานอะไรที่ยังมีกลิ่นอายของศิลปะงานอาร์ทที่ตนเองถนัด จะเขียนรูปขายก็ขายยาก เป็นงานเฉพาะกลุ่ม งานขายยาก จึงพยายามมองหางานที่ชอบและยังอยู่ในไลน์ศิลปะ จึงได้มาจับงานทำเครื่องประดับเพราะชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เริ่มจากใช้ผ้ามาทำ ก็ไม่ลงตัว ทดลองหาวัสดุหลาย ๆ อย่างมาทดลองทำ จนลงตัวในที่สุด” สายน้ำผึ้งค้นหาวัสดุจนได้วัสดุธรรมชาติ พวกใยบวบ มะกรูด นำมาสร้างสรรค์ทำเป็นเครื่องประดับออกมาจำหน่าย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี แต่ด้วยความที่ใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติมาทำ เรื่องการหาวัตถุดิบและการควบคุมคุณภาพของงานจึงยากพอสมควร จึงเริ่มมองหาวัสดุใหม่ จนมาสรุปที่การนำดินไทยมาทำเป็นรูปผีเสื้อและนกฮูก แล้วเพ้นท์สี เกิดเป็นชิ้นงานใหม่ขึ้นมา “เราก็เริ่มพัฒนางานไปเรื่อย ๆ และได้เห็นงานดินปั้นจากรายการโทรทัศน์ จึงเกิดไอเดียว่าน่าจะนำมาทำเป็นชิ้นงานได้ จึงเริ่มทดลองทำ พัฒนางานมาเรื่อย ๆ จนลงตัว จนได้เป็นงานเครื่องประดับจากดินและเพ้นท์สี เป็นทั้งรูปผีเสื้อและนกฮูก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก” งานเครื่องประดับของสายน้ำผึ้งนั้น จะเป็นงานที่ทำมือขึ้นมาทีละชิ้น เน้นให้เป็นงานศิลปะ สีสันสดใส เน้นความละเอียดทุกชิ้นงาน ทำให้เครื่องประดับที่ทำออกมามีคุณค่ามีราคาในตัวของมันเอง... วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มี... ดินไทย, สีอะคริลิค, พู่กัน, แล็คเกอร์, คริสตัล, ลวดทองเหลือง, ลวดทองแดง, ตะขอต่างหู, คีมตัดลวด, กรรไกร ฯลฯ ขั้นตอนการทำเริ่มจาก... ทำบล็อกรูปผีเสื้อขึ้นมาก่อน โดยการแกะแบบแล้วนำไปหล่อทำเป็นพิมพ์ (ทำพิมพ์ไว้สำหรับปั้มขึ้นรูปลงบนดิน ทำให้สามารถผลิตชิ้นงานได้เร็วขึ้น) หลังจากมีแม่พิมพ์แล้วก็นำดินไทยในปริมาณที่พอเหมาะ ทำให้เป็นแผ่นบางกำลังดี ไม่บางหรือหนาไป ใช้พิมพ์รูปผีเสื้อปั้มลงบนแผ่นดินที่เตรียมไว้ ดินก็จะเป็นรูปผีเสื้อตามแบบ หลังจากนั้นก็รอจนดินนั้นแห้งสนิท แล้วใช้กรรไกรตัดตามแบบพิมพ์ ก็จะได้เป็นรูปผีเสื้อ (ต้องตัดตอนที่ดินนั้นแห้งสนิท เพราะถ้าตัดตอนที่ดินยังไม่แห้งชิ้นงานจะย้วยไม่สวยงาม) เมื่อได้ดินที่เป็นรูปผีเสื้อแล้วก็ทำการเพ้นท์สีลงลวดลายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อทำการเพ้นท์ลงสีเสร็จแล้ว ก็ทิ้งไว้รอจนสีแห้งสนิท จากนั้นก็ทำการพ่นแล็คเกอร์เคลือบเพื่อความแข็งแรงทดทานและเป็นเงาสวยงามมากขึ้น รอจนแล็คเกอร์ที่พ่นไว้แห้งสนิทดีแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการตกแต่ง โดยนำเอาลวดทองเหลืองมาทำการดัดม้วนติดใส่ลงไปบนผีเสื้อที่ทำไว้ เพิ่มความสวยงามด้วยการติดคริสตัลเข้าไปอีกหน่อย ซึ่งขั้นตอนการตกแต่งนี้ก็ตามแต่จะดีไซน์ ตกแต่งเรียบร้อยก็นำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ถ้าทำเป็นต่างหูก็นำตะขอต่างหูมาติด ถ้าทำเป็นสร้อยก็นำตัวผีเสื้อที่ทำนั้นไปติดลงบนสร้อย “งานเพ้นท์เครื่องประดับของเราจะเอางานมานั่งเพ้นท์ที่ร้าน เพื่อให้ลูกค้าเห็น เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ว่างานเราเป็นงานแฮนด์เมดทำมือจริง ๆ ซึ่งวิธีนี้ก็สามารถดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี” เจ้าของงานบอก และว่า งานทำเครื่องประดับแฮนด์เมดนี้เป็นงานที่ต้องใช้ความประณีตและความละเอียดสูง ต้องมีความตั้งใจ และที่สำคัญควรจะมีทักษะในเรื่องของศิลปะอยู่บ้างจึงจะทำออกมาได้สวยงาม สำหรับชิ้นงานของสายน้ำผึ้งนั้น มีทั้งที่เป็นรูปผีเสื้อและนกฮูก และหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ ต่างหู, สร้อย, แหวน, กำไร เป็นต้น ซึ่งก็มีราคาขายอยู่ที่ 280-2,000 บาท โดยราคานั้นขึ้นอยู่กับความละเอียดของชิ้นงาน ***************** สนใจ “เครื่องประดับแฮนด์เมด” ที่ใส่ศิลปะเข้าไปใช้ชิ้นงาน ของสายน้ำผึ้ง ก็สามารถแวะไปดูไปชมไปเลือกซื้อกันได้ ร้านตั้งอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โครงการ 7 (โซนศิลปะ) ซอย 5 หรือต้องการสั่งออเดอร์ก็สามารถโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.08-1711-4173 ซึ่งนี่ก็เป็น “ช่องทางทำกิน” จากเครื่องประดับอีกรูปแบบ ที่ตลาดยังไม่ตัน. บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : เรื่อง / วรพรรณ เลอสิทธิศักดิ์ : ภาพ คู่มือลงทุน...เครื่องประดับแฮนด์เมด ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาท ขึ้นไป ทุนวัสดุ ประมาณ 50% ของราคาขาย รายได้ ราคา 280-2,000 บาท / ชิ้น แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด แหล่งช็อปปิ้ง, ตามตลาดนัด จุดน่าสนใจ แฮนด์เมดผสมศิลปะคือจุดขาย ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/234415

Sunday, September 15, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เครปข้าวหอม’

คนไทยเราผูกพันกับ “ข้าวหอมมะลิ” มาช้านาน ซึ่งข้าวหอมมะลิไทยมีรสชาติอร่อย เหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม จนได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ต่างชาติก็ยอมรับในความเป็นเลิศนี้ ซึ่งข้าวหอมมะลินี่แปรรูปเป็นขนมก็อร่อย และวันนี้ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการแปรรูปข้าวไทย ทำเป็น “เครปข้าวหอมซอสมะม่วง” มานำเสนอ... ผศ.มาริน สาลี อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เจ้าของสูตรและไอเดีย “เครปข้าวหอมซอสมะม่วง” เล่าให้ฟังว่า ได้มีการประยุกต์โดยนำข้าว 5 อย่าง ประกอบด้วย ข้าวซ้อมมือหอมมะลิ, ข้าวซ้อมมือมะลิแดง, ข้าวซ้อมมือมะลินิล, ข้าวกล้องเหนียว และจมูกข้าว มาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำแผ่นเครป โดยในข้าวสายพันธ์ที่กล่าวมามีโปรตีนสูง มีธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม โพแทสเซียม ซึ่งต้านอนุมูลอิสระได้ดี จากคุณประโยชน์นี้จึงได้นำมาเป็นส่วนผสมในการทำแป้งเครป ส่วนซอสมะม่วงก็ช่วยให้เครปอร่อยหอมหวาน ประกอบกับไทยมีมะม่วงทุกฤดูกาล โดยมะม่วงที่ใช้คือ มะม่วงมหาชนก ซึ่งราคาไม่แพง “พอเราเสริมข้าวหอมเข้าไป ก็ทำให้แป้งเครปมีคุณค่าโภชนาการเพิ่มมากขึ้น โดยจะได้วิตามินบี 12 ป้องกันโรคเหน็บชาและโรคปากนกกระจอก เราผสมในส่วนของแป้งเครป ทำให้แป้งมีลักษณะพิเศษตรงที่มีส่วนผสมของข้าวหอม ขนมจะมีความนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมมาก และมีความหวานในตัว เครปชนิดนี้รับประทานกับซอสผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวได้ทุกชนิด เช่น มังคุด สตรอเบอรี่ ฯลฯ สามารถปรับได้ตามความชอบ ใครสนใจสามารถนำไปต่อยอดไอเดียเป็นอาชีพก็ได้” อุปกรณ์ที่ใช้ทำ “เครปข้าวหอมซอสมะม่วง” หลัก ๆ ก็มี... กระทะเทฟล่อน (ขนาดกลาง), เตาแก๊ส, ไม้พายขนาดเล็ก, ตะกร้อมือ และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบยืมเอาจากในครัวได้ วัตถุดิบหรือส่วนผสมหลัก ๆ ที่ใช้ในการทำ “ตัวแป้ง” ตามสูตรก็มี... แป้งเอนกประสงค์ ½ ถ้วยตวง, แป้งข้าวโพด ½ ถ้วยตวง, ข้าวหอมมะลินึ่งสุก 1 ถ้วยตวง, นมข้นจืด 1½ ถ้วยตวง, ไขไก่ 4 ฟอง, ไข่แดง 2 ฟอง, วานิลา 1 ช้อนโต๊ะ, เกลือ 1 ช้อนชา, น้ำตาลทราย ¼ ถ้วยตวง, เนยละลาย 85 กรัม และน้ำเย็น 1½ ถ้วยตวง สำหรับส่วนผสมของ “ซอสมะม่วง” ประกอบด้วย... เนื้อมะม่วงสุก 250 กรัม, น้ำมะม่วง 1 ถ้วยตวง, น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ, นมสดรสจืด ½ ถ้วยตวง, น้ำเชื่อม 3 ช้อนโต๊ะ และเกลือ 1 ช้อนชา ขั้นตอนการทำ “เครปข้าวหอมซอลมะม่วง” เริ่มจากทำแป้งเครป สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือนำข้าว 5 อย่างคือ ข้าวซ้อมมือหอมมะลิ, ข้าวซ้อมมือมะลิแดง, ข้าวซ้อมมือมะลินิล, ข้าวกล้องเหนียว และจมูกข้าว มาผสมรวมกัน แล้วหุง เมื่อข้าวสุกแล้วก็นำมาผึ่งไว้ให้เย็นสนิท จากนั้นนำไปปั่นรวมกับนมสดและน้ำเย็น ปั่นจนละเอียดแล้วเทใส่อ่างผสมพักไว้ นำแป้งเอนกประสงค์ แป้งข้าวโพด น้ำตาลทราย และเกลือ ผสมรวมกัน ใส่ตามลงไปในอ่างผสม คนให้เข้ากัน ใส่ไข่ไก่ ไข่แดง วานิลา นมข้นจืด และเนยละลาย ตามลงไป ใช้ตะกร้อมือคนส่วนผสมให้เข้ากันและเนียนดี จากนั้นก็นำส่วนผสมแป้งไปทำการกรองด้วยกระชอนละเอียด เสร็จแล้วนำส่วนผสมแป้งที่ได้ไปพักไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาประมาณ 1 คืน เพื่อให้แป้งเซ็ตตัว (เมื่อต้องการนำออกมาใช้ก็จะได้ส่วนผสมที่ข้นขึ้น) ต่อไปเป็นวิธีทำซอสมะม่วง นำเนื้อมะม่วงสุกที่เตรียมไว้หั่นใส่ในเครื่องปั่น ตามด้วยน้ำมะม่วง นมสด น้ำเชื่อม เกลือ ปั่นจนส่วนผสมละเอียด เทใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟให้เดือด ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว ชิมรสตามชอบ แล้วนำลงพักไว้ให้เย็น ได้แป้งเครปและซอสมะม่วงเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการทำแผ่นเครป โดยนำแป้งออกมาจากตู้เย็น คนให้เข้ากันอีกรอบ ตั้งกระทะเทฟล่อนบนเตา ใช้ไฟอ่อน ๆ ทาเนยบาง ๆ ให้ทั่ว พอกระทะร้อนตักแป้งที่เตรียมไว้หยอดลงตรงกลางกระทะ กรอกแป้งให้กระจายทั่ว คอยดูแป้งไม่ให้หนาหรือบางเกินไป สังเกตเมื่อเห็นขอบแป้งเครปเริ่มร่อน ใช้ไม้พายแซะแล้วพลิกแป้ง อย่าให้ขาด แล้วทอดต่อไปอีกเล็กน้อย จนแป้งสุกเป็นสีเหลืองอ่อน จึงนำขึ้นมาพักไว้ เมื่อต้องการจะทำเครป ให้พับแผ่นแป้งตามรูปแบบที่ต้องการ ราดด้วยซอสมะม่วง ตักรับประทานพร้อม ๆ กัน ก็จะได้รับความอร่อยหวานนุ่มฉ่ำลิ้น ซึ่งจากส่วนผสมที่ว่ามาข้างต้นสามารถทำแผ่นแป้งเครปได้ประมาณ 80 แผ่น “เครปข้าวหอมซอสมะม่วง” พลิกแพลงจากเครปแผ่นใหญ่มาเป็นเครปขนาดย่อม แป้งเหนียวนุ่มอร่อย ใครสนใจจะนำไปต่อยอดเป็นสูตรสร้าง “ช่องทางทำกิน” ก็เชิญได้ และหากต้องการสอบถามเพิ่มเติมจาก ผศ.มาริน สาลี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็ติดต่อได้ที่ภาควิชาอาหารและโภชนาการ โทร.0-2549-3160-61 หรือ 08-4094-8222 ซึ่งทางอาจารย์ก็ยังมีสูตรอาหารเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจอีกหลายชนิด. เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง / สุนิสา ธนพันธสกุล : ภาพ ---------------------------------------------- คู่มือลงทุน...เครปข้าวหอมซอสมะม่วง ทุนเบื้องต้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำขาย ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 50% ของราคา รายได้ ตั้งราคาขายให้มีกำไร 50% แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด ย่านอาหาร, ย่านชุมชนทั่วไป จุดน่าสนใจ ดีต่อสุขภาพเป็นจุดขายที่ดี ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/232853

Saturday, September 14, 2013

แนะนำอาชีพ ‘กระเป๋าผ้า’

งานประดิษฐ์จากผ้ายังคงมีโอกาส-มีช่องทาง ตลาดยังไม่ตันอย่างที่หลายคนคิด ยิ่งพัฒนาชิ้นงานให้มีลูกเล่น สร้างจุดเด่นด้วยการออกแบบ และวัสดุ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำเงินจากชิ้นงานกลุ่มนี้ อย่างเช่นงาน “กระเป๋าผ้า” ของ “ทิฆัมพร พรายแก้ว-อิศรา ปิ่นถาวรรักษ์” สองหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอ... ทิฆัมพร เล่าว่า เธอกับอิศรามีอาชีพเป็นสถาปนิก ซึ่งเป็นงานประจำที่ทำอยู่ แต่ด้วยความที่ชอบการออกแบบและคิดอยากที่จะทำธุรกิจหรือผลิตสินค้าที่เป็นงานจากไอเดีย จึงมองไปที่งานผ้าประดิษฐ์รูปแบบกระเป๋า ด้วยมองว่าเป็นสินค้าที่ทำตลาดได้ และมีต้นทุนไม่สูงนัก ประกอบกับมีความสนใจในวัสดุชนิดนี้อยู่เป็นทุนเดิม จึงตัดสินใจทำงานกระเป๋าผ้านี้ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Cottonplay ด้วยเหตุที่มีวัสดุหลักคือ ผ้าคอตตอน เป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในการทำ เธอบอกว่า ไม่มีหน้าร้าน แต่อาศัยการขายตามตลาดนัดงานฝีมือทั่วไป และจำหน่ายออนไลน์เป็นหลัก โดยมีทั้งเว็บไซต์ และเปิดขายในเฟซบุ๊กคือ www.cottonplaythai.com และ www.facebook.com/Cottonplaythai โดยขายผ่านทางช่องทางนี้มาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว ซึ่งการตอบรับก็ค่อนข้างดีมาก ปัจจุบันกระเป๋าผ้าที่ผลิตขึ้นมีหลากหลาย โดยจะคิดแบบใหม่ออกมาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อ แต่ละแบบก็จะผลิตจำนวนไม่มาก และมักจะทำเป็นคอลเลก ชั่น เพื่อไม่ให้ชิ้นงานซ้ำกันจนเกินไป โดยรูปแบบหลัก ๆ ที่ทำก็มีตั้งแต่ กระเป๋าพับ, กระเป๋าสำหรับใส่ของ, กระเป๋าถือ, กระเป๋าหิ้ว, ซองผ้าใส่แท็บเล็ต เป็นต้น “เหตุที่เลือกผ้าชนิดนี้เพราะมีเสน่ห์ ลวดลายเยอะ แต่ละประเทศจะมีเนื้อผ้าแตกต่างกัน ทำให้ใส่ลูกเล่น หรือสร้างความแตกต่างด้วยตัววัสดุได้ง่าย” ทิฆัมพรกล่าว ขณะที่ อิศรา บอกว่า นอกจากผ้าคอตตอนก็ยังมีผ้าชนิดอื่น เช่น ผ้าแคนวาส และวัสดุ เช่น หนังเทียม หนังพียู เข้ามาประกอบชิ้นงานด้วย เพื่อเพิ่มลูกเล่น ลูกค้าปัจจุบันมีทั้งคนทำงาน วัยรุ่น นักศึกษา จนถึงต่างชาติ สำหรับการขายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเปิดร้านออนไลน์แบบนี้ เขาบอกว่า เหมาะสำหรับคนที่คิดจะทำงานฝีมือเป็นอาชีพเสริม สามารถเปิดร้านหรือสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องราคา เพราะการค้นหาสินค้าจนมาเจอร้านนั้น แสดงว่าลูกค้ามีความสนใจ และมีความต้องการสินค้ามาแล้วระดับหนึ่ง แต่ก็มีข้อที่ต้องระวังคือ จะต้องมีการติดตาม สร้างกิจกรรมเคลื่อนไหวบนหน้าร้านตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ลูกค้าลืม และช่วยทำให้ร้านออนไลน์มีความน่าสนใจมากขึ้น นี่เป็นเคล็ดลับอีกส่วนที่เขาแนะนำ ทุนเบื้องต้น ลงทุนประมาณ 30,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ คือ จักรเย็บผ้า และผ้าที่ต้องสต๊อกไว้ ส่วนทุนวัสดุประมาณ 50% จากราคาขาย ซึ่งสินค้าจะขายที่ราคา 120-400 บาท ขึ้นกับผ้าที่ใช้ทำกระเป๋า วัสดุ-อุปกรณ์ หลัก ๆ อาทิ จักรเย็บผ้า, เข็มกับด้าย, กรรไกร, เข็มหมุด, กระดาษแข็ง (ใช้ทำแพทเทิร์น), ผ้าคอตตอน, ผ้าแคนวาส, หนังพียูหรือหนังเทียม, หนังแท้, สายหิ้ว (หูกระเป๋า) และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ เช่น ซิป, กระดุม, ริบบิ้น, แม่เหล็กติดกระเป๋า เป็นต้น ซึ่งวัสดุเหล่านี้ซื้อได้ตามแหล่งงานผ้าทั่วไป เช่น สำเพ็ง, พาหุรัด, วงเวียนใหญ่ ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบกระเป๋า และเลือกวัสดุ เช่น เนื้อผ้า ลวดลาย สีสันก่อน จากนั้นเมื่อได้แบบที่ต้องการก็ให้ทำการลอกลายหรือทำแพทเทิร์นโดยวาดลงบนกระดาษแข็ง โดยแบบกระเป๋านั้น สามารถหาข้อมูลได้ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีให้เลือกมากมาย เมื่อลอกลายลงกระดาษแข็งแล้ว ก็ทำการพับผ้าสองชิ้น นำแบบกระเป๋าที่วาดไว้มาทาบ ใช้กรรไกรตัดตามแบบ จากนั้นทำการเย็บขึ้นทรงกระเป๋า โดยเย็บจากด้านใน และเหลือช่องไว้ประมาณ 1 นิ้ว สำหรับกลับด้านกระเป๋า ทำการตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่ง เย็บประกอบสายกระเป๋าหรือหูหิ้ว ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนหลัก ๆ ในการทำ “กระเป๋าผ้า” “ขั้นตอนหลักเหมือนกับงานผ้าทั่วไป ที่แตกต่างคงเป็นการออกแบบมากกว่า จากที่ทำมา พูดได้เลยว่าตลาดตรงนี้ยังไม่ตัน เพราะต่อยอดแตกแขนงออกไปได้เรื่อย ๆ ในส่วนของวัสดุ ควรที่จะศึกษาเรื่องแหล่งวัสดุ เพราะจะทำให้ได้วัสดุที่ถูกต้อง เพราะแต่ละแห่ง ผ้าก็จะแตกต่างกัน” ทิฆัมพรกล่าว สนใจงาน ’กระเป๋าผ้า“ ของทิฆัมพรและอิศรา ต้องการติดต่อเจ้าของงานกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-7719-2112, 08-2188-0598 ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นอีกธุรกิจเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดมองหาอาชีพเสริม เป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้. ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง/ วรพรรณ เลอสิทธิศักดิ์ : ภาพ ............................................................................................................... คู่มือลงทุน...งานกระเป๋าผ้า ทุนเบื้องต้น ประมาณ 30,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 50% จากราคา รายได้ ราคาใบละ 120-400 บาท แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป ตลาด ย่านชอปปิง, ขายออนไลน์ จุดน่าสนใจ ทำขายเป็นอาชีพเสริมก็ได้ ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/232791

Sunday, September 8, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ลูกชุบหลากไส้’

“ลูกชุบ” เป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง วัตถุดิบคือถั่วเขียวบดกวนปั้นเป็นรูปต่าง ๆ ระบายสี แล้วชุบวุ้นให้สวยงาม อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการค้าขายนั้น ปัจจุบันนอกจากทำจากถั่วเขียวบดกวนแล้ว ก็ยังมีการทำลูกชุบจากวัตถุดิบอื่น ๆ อย่างลูกชุบทุเรียน, ลูกชุบเผือก, ลูกชุบแปะก๊วย, ลูกชุบเกาลัด ซึ่ง “ลูกชุบหลากไส้” ก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่ดี… *********************** ชลาลัย พึ่งเขื่อนขันธ์ เจ้าของร้าน “ลูกชุบเพชรทองคำ” ในตลาดน้ำคลองลัดมะยม บอกว่า ทำลูกชุบขายมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่เมื่อราว 4-5 เดือนที่ผ่านมาเห็นว่า ยอดขายลูกชุบถั่วอย่างเดียวเริ่มอืด จึงได้คิดที่จะทำลูกชุบแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นสีสัน กระตุ้นยอดขาย และเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการกินลูกชุบถั่วอย่างเดียว “จึงพยายามหาไส้ลูกชุบใหม่ ๆ และทดลองทำดู เริ่มจากทุเรียนก่อน เพราะวัตถุดิบหาง่าย แล้วค่อย ๆ ขยับเพิ่มไส้ต่าง ๆ ขึ้นมาอีก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าแค่ทดลองทำครั้งแรกก็ใช้ได้เลย มาขายปุ๊บ ก็หมดปั๊บ มีลูกค้ารอซื้อตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด” อุปกรณ์ที่ใช้ทำลูกชุบ หลัก ๆ ก็มี เครื่องปั่น, กระทะทองเหลือง รวมถึงภาชนะเครื่องครัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ การทำลูกชุบด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ นั้น ชลาลัยบอกว่า เอาสูตร ลูกชุบถั่ว เป็นหลัก หากเป็นลูกชุบอื่น ๆ ก็ใช้ส่วนผสมไส้นั้น ๆ แทน ส่วนวิธีทำนั้นทำคล้าย ๆ กัน โดย ลูกชุบทุเรียน ใช้ทุเรียนกวนผสมกับถั่ว, ลูกชุบเผือก ใช้เผือกสด ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนึ่งให้สุก, ลูกชุบเกาลัด ใช้เกาลัดดิบ ต้มให้สุก แล้วเอาเนื้อเกาลัดไปนึ่งอีกที, ลูกชุบแปะก๊วย นำเม็ดแปะก๊วยมาต้มให้สุก เมื่อต้มสุกแล้วก็กะเทาะเปลือก เอาเกสรข้างในแยกออกมา ลูกชุบถั่ว มีส่วนผสมของถั่วเขียวซีกนึ่งสุก 150 กรัม, น้ำตาลทราย ประมาณ 130-140 กรัม และกะทิอีกประมาณ 250 มิลลิลิตร ซึ่งหากจะทำเป็นลูกชุบอื่น ๆ ก็ยึดตามสูตร และวิธีทำเดียวกันนี้ วิธีทำ นำถั่วเขียวซีกที่เลาะเปลือก และล้างน้ำทำความสะอาดแล้ว ไปแช่น้ำไว้ 1 คืน จากนั้นนำถั่วไปนึ่งจนสุก และนิ่ม นำถั่วที่นึ่งสุกแล้วใส่ลงในเครื่องปั่น เทกะทิและน้ำตาลทรายลงไป ปั่นรวมกันจนละเอียด เสร็จแล้วนำไปกวนในกระทะทองเหลืองด้วยไฟอ่อน ๆ จนส่วนผสมแห้งจนปั้นได้ นำส่วนผสมที่แห้งจนปั้นได้มาปั้นให้เป็นรูปทรงผลไม้ต่าง ๆ อาทิ มังคุด พริก กล้วย มะม่วง ชมพู่ มะละกอ ฯลฯ เสร็จแล้วทาสีผสมอาหารให้เหมือนธรรมชาติของผัก ผลไม้นั้น ๆ ทาเสร็จแล้วพักทิ้งไว้ให้สีแห้ง ก่อนจะนำไปชุบวุ้น การชุบวุ้น ก็ตั้งหม้อ ใช้ไฟอ่อน ผสมผงวุ้นกับน้ำเปล่า คนให้ผงวุ้นละลายเข้ากัน เมื่อผงวุ้นกับน้ำละลายเข้ากันดีแล้ว ปิดไฟ นำลูกชุบที่ระบายสีเสร็จแล้วลงชุบในน้ำวุ้น นำขึ้น รอให้ผิววุ้นตึง แล้วลงชุบต่ออีก 2 ครั้ง เพื่อให้เงาสวยงาม และขั้นตอนสุดท้ายคือ ตกแต่งขนมลูกชุบด้วยใบแก้วใบเล็ก ๆ ปักลงบนขนม แล้วเรียงใส่ภาชนะรอขาย ซึ่งชลาลัยใช้โตก ภาชนะสำหรับวางสำรับอาหารที่มีรูปทรงกลม เป็นภาชนะใส่ลูกชุบขาย โดยจัดวางให้สวยงาม ลูกชุบที่ปั้นเป็นผักและผลไม้ของร้านนี้ ปัจจุบันมีราว 30-40 ชนิด ใช้สีผสมอาหารประมาณ 7 สี อาทิ สีเหลือง, สีเขียว, สีแดง, สีชมพู, สีแสด ส่วนการขาย-ราคาขายนั้น ชลาลัยบอกว่า จะบรรจุลูกชุบไส้ต่าง ๆ คละอย่างละเท่า ๆ กัน ใส่กล่องพลาสติกใส ขนาดกลม บรรจุกล่องละ 10 ชิ้น ขายกล่องละ 20 บาท ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 70% จากราคาขาย *************************** ใครสนใจ “ลูกชุบหลากไส้” ของ ชลาลัย พึ่งเขื่อนขันธ์ ร้าน “ลูกชุบเพชรทองคำ” อยู่ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม (โซน 4) ขายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ โทร.08-4319-6693 ซึ่งการทำลูกชุบขายนั้น ปัจจุบันก็ยังสามารถที่จะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดีได้ ด้วยทำเล ฝีมือ และไอเดียที่ดี. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/231450

Saturday, September 7, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ปลาคาร์ปดินปั้น’

งานปั้นดินให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ รูปแบบชิ้นงานมีอยู่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ละเจ้าของงาน ว่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงานออกมาในรูปแบบใด ซึ่งถ้ามีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ผลงานก็จะน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้าได้มาก อย่างงาน ’ปลาคาร์ปจากดินเกาหลี“ ที่ทางทีม ’ช่องทางทำกิน“ นำมาเสนอเป็นกรณีศึกษาในวันนี้... ****** เฮง-ธีรชาติ ลี้ไวโรจน์ เจ้าของร้าน “Art Mania” ปั้นปลาคาร์ปจากดินเกาหลีจำหน่าย เจ้าตัวบอกว่า ธุรกิจที่ทำทุกธุรกิจ เป็นงานที่ชอบ และเมื่อชอบแล้วทำมัน ก็จะทำให้ธุรกิจที่ทำประสบความสำเร็จได้ โดยธุรกิจแรกที่ทำก็เป็นการเปิดบริษัทรับออกแบบเสื้อผ้าและของตก แต่งบ้าน และด้วยความที่เป็นคนชอบเสื้อเชิ้ต จึงมีความคิดที่จะสร้างแบรนด์เสื้อเชิ้ตออกจำหน่าย ก็เริ่มศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ออกแบบเสื้อ หาโรงงานตัดเย็บ เมื่อทุกอย่างลงตัวก็ทำเสื้อเชิ้ตขายเอง โดยสร้างแบรนด์ “TF-7” เป็นแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งทำเสื้อเชิ้ตอยู่ประมาณ 6 ปี ธุรกิจก็เริ่มจะอยู่ตัว มีลูกค้าสั่งซื้อไปจำหน่ายมาก “ถือว่าธุรกิจเสื้อเชิ้ตที่ทำอยู่นั้นอยู่ตัวแล้ว ก็เลยเริ่มมองหาธุรกิจตัวใหม่ทำเพิ่มขึ้นมา ก็มาลงตัวกับงานปั้นปลาคาร์ปจากดินเกาหลี เพราะเป็นงานที่ทำขึ้นมาเพราะเริ่มจากความชอบ เป็นคนที่ชอบปลาคาร์ปอยู่แล้ว ชอบเรื่องฮวงจุ้ยและปลาคาร์ปก็ถือว่าเป็นปลามงคล หลายคนมักเลี้ยงไว้ในบ้าน เรานั้นก็คิดจะเลี้ยง แต่ไม่มีเวลาดูแล ก็มานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้มีปลาคาร์ปอยู่ในบ้านไว้เสริมความเป็นมงคล แต่ไม่ต้องเลี้ยง เพราะไม่มีเวลา งานปั้นปลาคาร์ปจึงเกิดขึ้นมา” หลังจากจากที่คิดจะปั้นปลาคาร์ป ก็เริ่มศึกษาเรื่องปลาคาร์ปจากอินเทอร์เน็ต ดูเรื่องสายพันธุ์ว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้างที่คนนิยม และแต่ละสายพันธุ์นั้นมีสีอะไรบ้าง จากนั้นก็เริ่มทดลองลงมือปั้นดู ซึ่งก็ใช้เวลาในการลองผิดลองถูกอยู่เป็นเดือนกว่าที่จะได้สัดส่วนรูปแบบที่ลงตัว จากนั้นก็เริ่มปั้นแล้วนำไปให้เพื่อน ๆ ดู พวกเพื่อน ๆ ก็บอกว่าสวยใช้ได้ จึงเริ่มต้นทำเป็นธุรกิจ ปั้นออกจำหน่าย ซึ่งก็ได้ผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย และกลุ่มคนที่เลี้ยงปลาคาร์ป “งานปั้นปลาคาร์ปของเรานั้นจะเน้นให้ปลาออกมาเป็นแนวการ์ตูนดูแล้วน่ารัก และปลาทุกตัวเป็นงานแฮนด์เมดปั้นมือทีละตัว เพราะฉะนั้นปลาทุกตัวจะมีความคลายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันทุกตัว” วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั้นปลาคาร์ป หลัก ๆ ก็มีอาทิ...ดินเกาหลี, โหลแก้ว, กรอบอะคริลิก, ฐานไม้สักรูปทรงกลมแบน, สีอะคริลิก, พู่กัน เป็นต้น “ที่ใช้ดินเกาหลีเพราะว่าเนื้อดินนั้นมีความละเอียดดี และมีความยืดหยุ่นดี ปั้นเข้ารูปได้ดี อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบากว่าดินประเภทอื่น ๆ ด้วย ซึ่งดินเกาหลีนั้นก็มีหลากหลายสีให้เลือกนำมาปั้น ส่วนโหลแก้วและ กรอบอะคริลิกนั้นไว้สำหรับตกแต่งใส่ปลาคาร์ปที่ปั้นเข้าไปให้ดูเหมือนว่าปลาว่ายอยู่ในโหลแก้วหรือในกรอบ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับปลาคาร์ปที่ปั้นอีกด้วย” ขั้นตอนการทำ เริ่มจาก... นำดินเกาหลีตามสีที่ต้องการจะปั้นเป็นปลาคาร์ปออกมาให้ได้ขนาดตามไซซ์ที่ต้องการจะปั้น (โดยมีไซซ์ตั้งแต่ 3-51/2 นิ้ว) อย่างเช่นถ้าต้องการจะปั้นปลาคาร์ปขนาด 3 นิ้ว ก็หยิบดินเกาหลีออกมาก้อนหนึ่งให้ได้ขนาดความยาวประมาณ 3 นิ้วจากหัวถึงหางปลา ส่วนขนาดของลำตัวปลาแล้วแต่ความต้องการ เมื่อได้ดินมาแล้วก็ทำการนวดดินให้ดินนั้นเซตตัว นวดได้ที่แล้วก็เริ่มทำการปั้นให้ได้ทรงปลาที่ต้องการ จากนั้นก็ทำการตกแต่งเติมครีบ ใส่หาง ติดตา ปาก ใส่หนวด ติดลวดลายสีสันของปลาตามสายพันธุ์ปลาคาร์ปที่ต้องการจะทำ จัดตกแต่งให้ดูสวยงาม แล้วปล่อยทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นพอปลาที่ปั้นไว้แห้งสนิทก็นำมาจัดใส่โหลแก้วหรือกรอบอะคริลิก โดยถ้าใส่โหลแก้วก็นำฐานไม้สักมาลงสีลงลวด ลายให้ดูสวยงามมากขึ้น นำปลาคาร์ปที่ปั้นไว้วางลงบนฐานไม้ แล้งจึงนำไปใส่ในโหลแก้ว หรือจะนำปลาคาร์ปที่ปั้นไปตกแต่งทำเป็นกรอบรูปขนาดใหญ่ติดฝาผนังก็ได้ ราคาขาย “ปลาคาร์ปจากดินเกาหลี” ที่ตกแต่งใส่โหลแก้ว ใส่กรอบอะคริลิก หรือทำเป็นกรอบรูปขนาดใหญ่ติดผนัง มีตั้งแต่ 1,500-35,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด และจำนวนปลาคาร์ป นอกจากนี้ก็ยังมีงานที่ปั้นเป็นรูปช้างอีกด้วย... ****** ใครสนใจ ’ปลาคาร์ปจากดินเกาหลี“ ร้าน Art Mania กรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ เปิดอยู่ที่สวนจตุจักร ตรง JJ พลาซ่า โซน C ซอย 6 ห้องที่ 10 เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ และสามารถเข้าไปดูผลงานตัวอย่างได้ที่ www.artsmania.net หรือติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-9201-7576, 08-1357-3585. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/231181

Sunday, September 1, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ซูชิข้าวไรซ์เบอรี่’

“ซูชิ” หรือ “ข้าวปั้น” หนึ่งในเมนูอาหารญี่ปุ่นที่คนไทยนิยม ปัจจุบันเป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ของคนไทย ตั้งแต่ระดับร้านอาหารใหญ่ จนถึงร้านซูชิแผงลอยตามตลาดนัด และวันนี้ทีมช่องทางทำกินก็มีข้อมูลการทำการขายซูชิมานำเสนออีกครั้ง โดยเป็นรูปแบบที่สร้างสรรค์เพื่อเอาใจคนรักสุขภาพ กับ “ซูชิข้าวกล้องไรซ์เบอรี่” … ********************** ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่เป็นข้าวที่ถูกพัฒนาพันธ์ุขึ้นโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลักษณะเด่นคือมีสีม่วงเกือบดำ เมล็ดเรียวยาว เมื่อหุงสุกจะได้ข้าวที่นุ่ม มีกลิ่นหอม มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีสารที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ขัดขวางการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ของคอเลสเตอรอลชนิดเหลว จึงช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน รวมถึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพผิวและเส้นผม ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่จึงถูกใจผู้ที่รักสุขภาพ “ศุภชัย ไชยกาล” หรือ “ไชย” หนุ่มเมืองอุบลราชธานี เล่าให้ฟังว่า เดิมเคยทำงานในร้านอาหารชั้นนำและร้านอาหารญี่ปุ่นนานนับสิบปี ไต่เต้าจนกระทั่งได้เป็นเชฟ รวมถึงเคยไปทำงานเป็นเชฟร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ จึงมีประสบการณ์ในการทำอาหารญี่ปุ่นสูง สามารถปรุงประกอบได้ทุกเมนู ทั้งต้นตำรับและฟิวชั่น แต่ต่อมารู้สึกอิ่มตัวกับการเป็นลูกจ้าง จึงเดินทางกลับบ้านเกิด แต่งงานกับ เดือน-เบญจวรรณ และเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นของตัวเอง “ช่วงแรก ๆ กระแสตอบรับดีมาก แต่ก็เกิดจุดพลิกผัน มีร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ต่าง ๆ ทยอยเข้ามาเปิดในเมืองอุบลฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ และดึงลูกค้าไปจากร้าน จนยอดตก ผมจึงไปปรึกษากับพาณิชย์จังหวัด ท่านให้ข้อคิดว่าทำไมถึงไม่ดัดแปลงทำซูชิแบบไทย ๆ ขาย ผมจึงคิดหาเมนูแปลกใหม่ เพื่อจะสร้างจุดขายให้แตกต่างจากร้านอื่น ๆ ทดลองทำอยู่นานก็มาลงตัวที่การใช้ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ที่ปลูกในอุบลฯ เมื่อเอาไปให้พาณิชย์จังหวัดชิม ทุกคนพากันชมว่าไอเดียดี ใช้ภูมิปัญญาข้าวไทย จากนั้นก็พาผมไปออกบูธที่ประเทศลาวและกัมพูชาด้วย คนที่ได้ชิมซูชิข้าวกล้องไรซ์เบอรี่จะบอกว่าเหมือนกับข้าวญี่ปุ่น หรืออร่อยกว่า เพราะมีความเหนียว นุ่ม แล้วยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว” ไชยบอกต่อไปว่า ซูชิที่ทำขายนี้ กลุ่มสุภาพสตรีจะนิยมมากเป็นพิเศษ โดยหน้าซูชินั้นมีให้เลือกกว่า 30 หน้า ทั้งแบบต้นตำรับและประยุกต์ เช่น กุ้ง, ปูอัด, ไข่ม้วน, ยำสาหร่าย, ไข่กุ้งส้ม, ไข่กุ้งเขียว, ไข่กุ้งแดง, ไข่กุ้งดำ, ปลาหมึกสไลด์, ทาโกะจังปรุงรส, ครีมหอยเชลล์, ปลาแซลมอน, ปลาไหล, สลัด ฯลฯ ซึ่งจะขายชิ้นละ 10 บาทเท่ากันเกือบทั้งหมด อาชีพนี้ ที่ต้องลงทุนเป็นหลักคือเรื่องวัตถุดิบ ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือมีน้อยมาก อาทิ เสื่อไม้ไผ่สำหรับม้วนข้าว, หม้อหุงข้าวไฟฟ้า, กระทะทำไข่ม้วน, อ่างไม้หรือสเตนเลส, มีดหั่นซูชิ, เขียง, กะละมัง, ตะหลิวปลายตัด, พายพลาสติก เป็นต้น โดยการทำซูชิจะเน้นใช้มือ ซึ่งหากมีฝีมือดี-รสชาติถึงขั้น ประกอบกับมีทำเลเหมาะในการขาย จะคืนทุนเร็วมาก วัตถุดิบในการห่อและทำหน้าข้าว หลัก ๆ จะมีอาทิ... แผ่นสาหร่าย, ผงวาซาบิ, แตงกวา, มายองเนส, งาขาวคั่ว และสำหรับซูชิบางแบบที่ราคาพิเศษ จะมีการใส่อะโวคาโดด้วย หน้าสลัด จะมี 3 หน้าคือ สลัดทูน่า สลัดกุ้ง สลัดปูอัด ส่วนผสมก็จะมีแตงกวา แครอท ผสมกับน้ำสลัด กับทูน่า กุ้งต้ม และปูอัด, หน้าไข่หวาน จะใช้ไข่ไก่ ผสมกับสาเก และน้ำตาลทราย ตั้งกระทะแบบสี่เหลี่ยมบนเตา ใส่น้ำมันและเนยลงไปเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติความหอมให้กับไข่หวาน การทอดต้องใช้ไฟระดับอ่อนสุดเพื่อให้ไข่สุกทั่ว ส่วนผสมที่เป็นหน้าต่าง ๆ ของซูชินั้น หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าที่มีการขายเครื่องปรุงอาหาร เทคนิคการหุงข้าวทำซูชิ จะใช้ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิ ในอัตราส่วน 2-1-5 โดยนำข้าว 3 ชนิดมาผสมกัน ซาวล้างให้สะอาด ก่อนจะนำไปหุงในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ใส่น้ำในปริมาณปกติเหมือนหุงข้าวทั่วไป ระหว่างรอข้าวสุกก็หันมาทำน้ำปรุงรสซูชิ ก็จะมีน้ำส้มสายชูหมัก น้ำตาลทราย เหล้าสาเก และเกลือนิดหน่อย นำส่วนผสมทั้งหมดใส่หม้อ ตั้งไฟให้เดือด ยกลงตั้งพักไว้ให้เย็น เมื่อข้าวที่หุงสุกแล้ว ก็ตักใส่อ่างไม้ ปล่อยทิ้งไว้ 15 นาทีให้ระอุ แล้วจึงพรมด้วยน้ำปรุงรสซูชิที่เตรียมไว้ให้ทั่ว เคล้าเบา ๆ ให้เข้ากัน ทิ้งไว้ให้เย็น ก่อนจะนำมาใช้ปั้นทำซูชิ การห่อหรือปั้นซูชิสามารถทำได้หลายแบบ ถ้าเป็นแบบกลม ๆ และแบบรี ๆ จะใช้สาหร่ายพันข้าว โดยการตักข้าวกะปริมาณพอดี ๆ ทำการม้วนให้ได้ขนาดที่ต้องการ กดให้แน่น เสร็จแล้วตัดให้ได้พอดีคำ หน้าซูชิที่ใช้ข้าวปั้นแบบกลม ๆ คือหน้าปลาไหล ไข่กุ้งส้ม ปลาหมึก สลัดต่าง ๆ และหน้าสาหร่ายที่โรยงาคั่วด้านบน ส่วนการทำอุระมากิซูชิ ซึ่งเป็นการห่อด้วยการนำสาหร่ายไว้ด้านใน เอาข้าวไว้ด้านนอก เมื่อหั่นออกมาแล้วนำไปคลุกงานั้น งาที่ใช้ต้องคั่วใหม่วันต่อวัน ซูชิที่พันออกมาเป็นแบบรี ๆ คือหน้าปลาหมึก ปลาแซลมอน ซาบะดอง ส่วนซูชิมากิจะบิดออกมาให้เป็นแบบสามเหลี่ยม ต้องจัดเรียงซูชิให้เป็นรูปดอกไม้ โดยจะต้องวางไส้ด้านใน จะมีแตงกวา แครอท และใส่มายองเนสเพิ่มรสชาติ ส่วนหน้าไข่หวาน ปูอัด กุ้งต้ม ต้องปั้นข้าวเป็นชิ้น ๆ ลักษณะออกรี ๆ วางหน้าต่าง ๆ ด้านบน แล้วพันด้วยสาหร่ายด้านบน ************************ “ซูชิข้าวกล้องไรซ์เบอรี่” เจ้านี้ การขายในปัจจุบันเน้นออกขายตามงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ในฐานะสินค้าโอทอป 4 ดาวของ จ.อุบลราชธานี รวมถึงมี “ช่องทางทำกิน” ในรูปแบบรับทำตามออร์เดอร์ รับออกงานและจัดเลี้ยงต่าง ๆ ซึ่งลูกค้าขาประจำจะคุ้นเคยกันดีในชื่อ “ซูชิข้าวกล้องอุบลฯ” ใครสนใจ ต้องการติดต่อ ไชย-ศุภชัย ติดต่อได้ที่ โทร. 08-5631-9789. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/229914