Sunday, January 13, 2013

แนะนำอาชีพ 'เสื้อเชิ้ตคู่รัก''

สินค้าแบบ “ขายเป็นคู่” เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจ อย่างเช่น “เสื้อคู่รัก” ซึ่งมีมาระยะหนึ่งแล้ว โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นเสื้อยืด แต่บางร้านก็ผลิต ’เสื้อเชิ้ตคู่รัก“ ออกจำหน่าย โดยนำความเป็นคู่มาชูเป็นจุดขาย ดึงดูดลูกค้ากลุ่มคู่รักทั้งหลาย เป็นสินค้าที่ขายได้ทั้งปี ช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ยิ่งขายดี เป็นอีกกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ ...
ตุ้น-นริชพันธ์ เป็นผลดี และ เดือน-ศิรินทิพย์ บรรจงศิริ เจ้าของธุรกิจเสื้อเชิ้ตคู่รัก ร้าน “อาลิสสา-Alyssa” เล่าว่า เสื้อเชิ้ตคู่รักที่ทำออกมาจะเน้นเรื่องของการแสดงความรักที่มีต่อกัน ไม่ว่าจะกับแฟน หรือกับครอบครัว จึงตั้งชื่อแบรนด์ว่า Alyssa ที่ในภาษากรีกแปลว่า “ผู้เป็นที่รัก”

ความเป็นมาของธุรกิจเสื้อเชิ้ตคู่รักนั้น ทั้งคู่เล่าว่า เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ตอนกำลังจะแต่งงานกัน ก่อนแต่งงานต้องมีการถ่ายรูปแต่งงานเพื่อใช้ในงาน ก็คิดกันว่าจะใส่เสื้อคู่ถ่ายให้เป็นคอนเซปต์แสดงถึงความเป็นคู่รักกัน ซึ่งตอนนั้นเสื้อคู่มีแต่แบบที่เป็นเสื้อยืด เสื้อโปโล แต่อยากจะหาอะไรที่ดูแตกต่างจากเดิม พอดีแม่เป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า จึงออกแบบเสื้อคู่ที่เป็นเสื้อเชิ้ตแล้วให้แม่ตัดเย็บให้ ปรากฏว่าเสื้อเชิ้ตคู่รักที่ทำได้รับความสนใจมาก ทุกคนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่ก็ถามว่าเสื้อคู่นี่ซื้อมาจากที่ไหน ไม่เคยเห็น แปลก น่ารักดี เมื่อเห็นว่าหลายคนสนใจจึงเกิดไอเดียที่จะทำเป็นธุรกิจ

ที่ทำเสื้อเชิ้ตคู่รักออกมาจำหน่าย เพราะมองว่าเสื้อเชิ้ตคู่รักเป็นสินค้าที่ยังไม่ค่อยมีคนทำ เพราะเสื้อคู่รักที่มีอยู่ในตลาดส่วนใหญ่เป็นเสื้อยืดหรือเสื้อโปโล ก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในความเป็นเสื้อเชิ้ต ที่มีความแตกต่างจากตลาดเสื้อคู่แบบเดิม สำหรับลูกค้ากลุ่มที่ไม่ชอบใส่เสื้อยืดหรือเสื้อโปโล หรือลูกค้าที่ต้องการความแปลกใหม่

“เราทำตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ตัดเย็บเอง ทำให้สามารถตอบสนองลูกค้าในเรื่องของขนาด ซึ่งบางคนที่ไซซ์ใหญ่หรือเล็กเป็นพิเศษเราก็สามารถตัดเย็บให้ลูกค้าได้ โดยปกติเสื้อแนวเสื้อคู่จะมีไซซ์เป็นมาตรฐาน เช่น M, L, XL ถ้าลูกค้าตัวใหญ่หรือเล็กกว่าไซซ์มาตรฐาน ก็จะไม่พอดี เราก็ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ เราทำธุรกิจเสื้อเชิ้ตคู่รักมาประมาณ 2 ปี ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้ว่าเสื้อเชิ้ตคู่ของเราสามารถสั่งตัดได้ตามไซซ์ ที่ต้องการ กระแสตอบรับก็ค่อนข้างดี ทั้งแบบเสื้อคู่ และเสื้อครอบครัว มีลูกค้าสั่งตลอดทั้งปี ยิ่งช่วงเทศกาล เช่น วาเลนไทน์ สงกรานต์ ปีใหม่ ออร์เดอร์ก็จะเพิ่มขึ้น”

เจ้าของธุรกิจนี้บอกต่อไปว่า กลุ่มลูกค้า ก็จะเป็นลูกค้าที่ต้องการนำเสื้อคู่ไปใส่ถ่ายรูปงานแต่ง หรือใส่ไปเที่ยว หรือใส่เป็นครอบครัว เน้นตลาดคนทำงานออฟฟิศ แม่บ้าน และลูกค้าอีกกลุ่มคือ กลุ่มลูกค้าที่สั่งตัดเย็บพิเศษตามไซซ์พิเศษ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง การออกแบบก็จะเน้นเทรนด์แฟชั่นใหม่ ๆ สินค้าทุกชิ้นจะออกแบบและตัดเย็บเอง เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้ เวลาออกแบบก็จะคำนึงถึงเรื่องของการสวมใส่กันเป็นคู่ หรือใส่กันเป็นครอบครัว แบบหรือลวดลาย รวมทั้งสีสัน ต้องให้ดูลงตัว ดูดี ใส่แล้วดูน่ารัก สามารถใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่

“การทำธุรกิจนี้ควรมีพื้นฐานเทรนด์แฟชั่น ยิ่งรู้เรื่องการออกแบบตัดเย็บด้วยยิ่งส่งผลดีในการสร้างแบบใหม่ ๆ ข้อควรระวังในการทำธุรกิจเสื้อคู่รักคือสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วไปจะขายได้ เร็วกว่า เพราะเสื้อคู่รักมักจะใส่ในโอกาสพิเศษ เช่น ไปเที่ยว รายได้อาจจะเข้ามาช้า แต่ในทางตรงข้ามเราสามารถสร้างกำไรได้มากกว่าเนื่องจากคู่แข่งขันน้อย”

วัสดุอุปกรณ์ในการทำ หลัก ๆ ก็มี...จักรเย็บผ้า, ผ้าคอตตอน, อุปกรณ์สำหรับออกแบบเสื้อ พวกกระดาษ ดินสอ กรรไกร เป็นต้น ขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก...คัดเลือกสีและลายผ้าตามต้องการ ออกแบบเสื้อ หลังจากที่ออกแบบเสื้อเสร็จแล้วก็นำมาสร้างชิ้นงานตัวอย่างเสื้อ โดยการทำเป็นแพตเทิร์น ขึ้นมา ทำการปรับปรุงแก้ไขให้เรียบร้อย และเมื่อปรับปรุงแก้ไขเสร็จก็การลอกแบบเป็นแพตเทิร์น ออกมา เมื่อได้แพตเทิร์นที่สมบูรณ์มาก็นำไปลอกแบบลงบนผ้าที่ต้องการ ตัดผ้าตามแพตเทิร์น จากนั้นก็ไปถึงกระบวนการขั้นตอนการเย็บประกอบให้เป็นเสื้อ เย็บกระดุม ติดอุปกรณ์ตกแต่งตามแบบ หลังจากที่เย็บเสร็จแล้วก็ทำการตรวจสอบคุณภาพของเสื้อ ก่อนที่จะทำการแพ็กใส่ซองพลาสติก เพื่อจำหน่าย

สำหรับการลงทุนทำธุรกิจเสื้อเชิ้ตคู่รัก เริ่มต้นประมาณ 100,000-150,000 บาท เป็นค่าผ้าที่เป็นวัสดุหลัก ประมาณ 60% ค่าอุปกรณ์การตัดเย็บ เช่น จักรเย็บผ้า โต๊ะตัดผ้า ประมาณ 30% และเป็นค่าใช้จ่ายย่อยประมาณ 10%

ราคา “เสื้อเชิ้ตคู่รัก” อยู่ที่ 598 - 1,018 บาท/คู่ (ชาย-หญิง) ถ้าเป็นราคาเสื้อเชิ้ตครอบครัว (พ่อ-แม่-ลูก) อยู่ที่ 918 – 1,258 บาท/เซต ทั้งนี้ ราคาจะขึ้นกับความยากง่ายในแต่ละแบบ โดยมีต้นทุนวัสดุประมาณ 50% ของราคา

สนใจ ’เสื้อเชิ้ตคู่รัก“ หรือเสื้อครอบครัว ของร้านอาลิสสา (Alyssa Lovercouple) สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.ladysquare.com/sirintip/ หรือ http://www.facebook.com/pages/เสื้อคู่รัก-อาลิสสาต้องการสั่งออร์เดอร์ หรือสอบถาม ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9601-5775, 08-9748-4806, อีเมล Alyssa_lovercouple@hotmail.com

http://www.dailynews.co.th/article/384/177529

แนะนำอาชีพ ‘เต่าเงิน-เต่าทอง’

ทีม “ช่องทางทำกิน” เคยนำเสนอการทำงานประดิษฐ์ ของชำร่วย ของที่ระลึก ไปแล้วหลายแบบ และวันนี้ก็จะนำเสนออีกหนึ่งแบบ คือการทำ “เต่าเงิน-เต่าทอง” จากสบู่ โดย อ.พยุง ทองสุข  ประธานชมรมผู้สูงอายุทองสุข 5 เครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นวิทยากรให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลการทำของชำร่วยจากสบู่รูปแบบนี้...
                             
อ.พยุง บอกว่า เริ่มหัดทำงานประดิษฐ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2546 โดยเริ่มที่งานดอกไม้ก่อน  แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนทำอย่างอื่นด้วย สำหรับ “เต่าเงิน-เต่าทอง” ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ที่เพิ่มค่าให้กับสบู่ ได้ไอเดียจากการออกงานต่างจังหวัดบ้าง รายการโทรทัศน์บ้าง หรืออ่านหนังสือบ้าง ซึ่งก็ใช้เวลาคิดทำนานพอสมควร เมื่อทำออกมาแล้วก็เป็นของชำร่วยที่ได้รับความนิยมอีกชนิดหนึ่ง โดยนิยมมอบให้ผู้ใหญ่ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ อาทิ งานเกษียณอายุ วันเกิด หรือวันปีใหม่

วัสดุ-อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ หลัก ๆ ก็มี สบู่หอม, หมุดเล็ก, กาว, ริบบิ้นเงิน-ทอง ประมาณ 10 เมตร, คัตเตอร์, ลวดเงิน-ลวดทอง
  
วิธีทำ ตัดสบู่เป็นก้อนสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 3 ซม. ยาว  4.5 ซม. หนา 1.5 ซม.  เพื่อทำเป็นรูป “ตัวเต่า”  โดยเกลามุมทั้งสี่ของตัวเต่าให้มน ๆ เสร็จแล้วปักหมุดเล็กบริเวณหัวให้เป็นวงกลม ทั้งหมด 10 ตัว จากนั้นปักหมุดเล็กบริเวณรอบตัวเต่า ประมาณ  42 ตัว กะระยะห่างแต่ละตัวประมาณ 0.5 ซม.

ขั้นต่อไปก็ใช้หมุดเล็กประมาณ 6 ตัว ปักบริเวณตรงกลางหลังเต่าหรือกลางสบู่ ให้เป็นวงกลม สำหรับเป็น “หลัก” ในการโยงริบบิ้นกับหมุดเล็กที่ปักรอบตัวเต่า

วิธีการโยงคือ  ใช้หมุดเล็ก (ที่ปักบริเวณตรงกลางสบู่) อันใดอันหนึ่งปักปลายริบบิ้น แล้วโยงริบบิ้นไปพันกับหมุดเล็กอันใดอันหนึ่งตรงบริเวณหัวเต่า โดยหลัก 1 หลัก จะพันหมุดเล็ก 7 หมุด  ทำไปเรื่อย ๆ จนครบ 6 หลัก เสร็จแล้วก็พลิกสบู่อีกด้านขึ้นมา แล้วทำการโยงเหมือนที่กล่าวมา

ลำดับถัดมาเป็นการทำ “เชิงเต่า” ด้วยการพันริบบิ้นรอบหมุดเล็กที่ปักรอบตัวเต่า  วิธีการคือ ให้พันริบบิ้นรอบหมุดเล็กตัวใดตัวหนึ่ง และค่อย ๆ พันรอบหมุดเล็กตัวต่อไป ทำแบบนี้ 2 รอบ
ขั้นตอนต่อไปคือ การทำ “หลังเต่า” หรือเรียกว่า “กระเบื้อง” ด้วยการปักหมุดเล็กบนหลังเต่า 3 ชั้น ชั้นละ 4 ตัว ชั้นที่ 1 ปักชิดบริเวณเชิงเต่า โดยปักบริเวณตรงกลางด้านหัวเต่า 1 ตัว ตรงกลางด้านท้ายตัวเต่า 1 ตัว และตรงกลางของด้านข้างตัวเต่าแต่ละด้าน ด้านละ 1 ตัว  ชั้นที่ 2 เขยิบขึ้นมาสูงอีกนิด แล้วปักหมุดเล็กลงตรงบริเวณกึ่งกลางของหมุดเล็กของชั้นที่ 1 ส่วน ชั้นที่ 3 ปักหมุดเล็กให้ตรงกับชั้นที่ 2 แต่ขยับพื้นที่ที่จะปักให้ขึ้นมาสูงอีกนิด
วิธีการโยงริบบิ้น  หมุดเล็กชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ให้ริบบิ้นโยงแบบ สลับฟันปลา ไปมา ให้รอบตัวเต่า ส่วนหมุดเล็กชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ให้โยงริบบิ้นให้เป็นรูป สามเหลี่ยม

เมื่อเสร็จขั้นตอนต่าง ๆ ดังที่ว่ามาข้างต้น ก็ทำการตกแต่งตัวเต่าด้วยการใช้อัญมณีมงคลที่เป็นอัญมณีเทียม เช่น เพชร มุก ทับทิม หรือคริสตัล วางตกแต่งบนหลังเต่า
  
เสร็จแล้วจึงทำ “หัวเต่า” ด้วยการใช้ริบบิ้นพันบนเม็ดโฟมกลม ๆ (หรือจะใช้เกสรดอกบัวแทนก็ได้) แล้วติดลูกตา และติดลวดเล็กสำหรับเสียบเข้าไปในเนื้อสบู่ ส่วน “หางเต่า” ใช้กระดาษทิซชูแผ่นเล็ก ๆ ม้วนเป็นเส้นยาวประมาณ 1 ซม. ใช้ริบบิ้นพันทับอีกที แล้วติดลวดเล็ก ขณะที่ “ขาเต่า” ทั้ง 4 ขา  ใช้ลวดเล็กทำ ดัดเป็นฝ่าเท้า พันทับด้วยริบบิ้น เสร็จแล้วนำแต่ละส่วนไปเสียบตามตัวเต่าให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำทั้งหมด
  
“เต่าเงิน-เต่าทอง” งานประดิษฐ์ ของชำร่วย ของที่ระลึก จากสบู่หอม รูปแบบนี้ ขายพร้อมตู้กระจกในราคาคู่ละ 350 บาท โดยมีต้นทุนชุดละประมาณ 200 บาท
                            
ใครสนใจงานประดิษฐ์ “เต่าเงิน-เต่าทอง” ต้องการติดต่อ  อ.พยุง ทองสุข  ประธานชมรมผู้สูงอายุทองสุข 5 เครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี ผู้ให้ข้อมูล “ช่องทางทำกิน” รูปแบบนี้ ก็ติดต่อได้ที่ เลขที่ 48 หมู่ 2 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หมายเลขโทรศัพท์ 08-3037-5189 และ 08-6407-0377.

http://www.dailynews.co.th/article/384/177785