Friday, August 31, 2012

แนะนำอาชีพ "แปรรูปส้มแขก"

จากอดีต "ส้มแขก" ส่วนใหญ่จะนำมาแปรรูปเป็นส้มแขกตากแห้งที่ใช้สำหรับปรุงอาหารจำพวกแกงส้มใต้ หรือแกงเหลือง ต้มส้มปลา แต่หลังจากที่ผลงานวิจัยพบว่าส้มมีสรรพคุณทางสมุนไพรหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วยลดความอ้วน ทำให้มีการส้มแขกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด อย่างที่ "กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปส้มแขก" หมู่ 3 บ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มแขกจำนวนมาก มีการนำส้มโอทั้งส้มแขกผลสดนำมาทำเป็น "ส้มแขกแช่อิ่ม-ส้มแขกกวน" ส่วนส้มแขกแห้งมาทำเป็น "ส้มแขกหยี" ส่งขายในแต่ละเดือนมีรายได้กว่า 1.2 แสนบาท
     นวลพรรณ พรหมสุข หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปส้มแขกหมู่ 3 บ้านทรายขาว บอกว่า สภาพหมู่บ้านทรายขาวนั้น มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรมชาติ เนื่องจากติดกับชายเทือกเขาสันกาลาคีรี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ควนใหญ่" เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร ส่ง ผลให้มีผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นยางพารา และไม้ผล ที่ถูกส่งขายนอกพื้นที่ทั้งผลสด ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปรูปออกจำหน่าย หลายอย่างในจำนวนนี้มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส้มแขก เนื่องจากในชุมชนทรายขาว ส้มแขกแซมในสวนผลไม้ผลเป็นจำนวนมาก และมีการปลูกส้มแขกแทบทุกบ้านด้วย
          "เดิมที่เราปลูกส้มแขกเพื่อนำมาตากแห้ง ที่ใช้สำหรับในการปรุงอาหารที่จะให้มีรสเปรี้ยว เนื่องจากส้มแขกนั้นมีความเปรี้ยวพอๆกับมะขามเปียก จึงเป็นที่นิยมนำมาปรุงอาหารของบรรดาแม่บ้านทั่วไป ในปี 2546 รัฐบาลมีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เราจึงมอว่า บ้านเรามีส้มแขก ที่สำคัญคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวสวนยางพารา กรีดยางช่วงเช้าพอบ่ายมีเวลาว่าง เราจึงรวมบรรดาสตรีและแม่บ้านในหมู่ 3 บ้านทรายขาว มาตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวนอกเหนือจากการขายยางพาราและผลไม้อื่นๆ“ นวลพรรณ กล่าว
          สำหรับการแปรรูปรูปส้มแขกมาเป็นผลิตภัณฑ์นั้น นวลพรรณ บอกว่า มีส้มแขกแช่อิ่มอบแห้ง คือนำผลส้มแขกสดมาแช่อิ่มในน้ำเชื่อมมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวรับประทานแล้วทำ ให้ชุ่มคอแก้กระหายและช่วยระบายอ่อนๆ ส่วนส้มแขกแห้ง ที่สมาชิกนำมาแปรรูปจากส้มแขกนอกจากนั้นมีส้มแขกหยี ส้มแขกกวน ที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานเช่นกัน แต่จะนุ่มและรู้สึกหนึบหนับเวลาเคี้ยว ซึ่งเด็กๆ จะชอบมาก นอกจากนี้ยังมีส้มแขกผง ที่สามารถนำไปชงพร้อมดื่ม หรือจะเป็นส้มแขกแคปซูล สำหรับคนที่ชอบความสะดวกรวดเร็วในการรับประทาน โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ เนื่องจากคุณสมบัติของส้มแขกเป็นที่รับรู้กันดีว่ามีสรรพคุณในการช่วยบรรเทา อาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์ เป็นยาระบายอ่อนๆ ทั้งยังช่วยลดไขมัน ทำให้ลดความอยากอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยฟอกโลหิต ขับเสมหะและมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะอีกด้วย จึงถูกใจสาวๆ ที่ต้องการลดความอ้วน แต่ปัจจุบันส้มแขกผง และแคปซูล หยุดทำไปก่อน
          ในจำนวนผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากส้มแขกนั้น หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรหมู่ 3 บ้านทรายขาว บอกอีกว่า ส้มแขกแช่อิ่มจะขายดีที่สุดกว่าผลิตภัณฑ์อื่นถึง 70% ที่เหลือเป็นส้มแขกหยี 20% ตามด้วยส้มแขกกวน โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะผลิตใน 2 รูปแบบ คือ บรรจุซอง และชั่งขายเป็นกิโลกรัม โดยส้มแขกแช่อิ่มบรรจุซองมี 2 ขนาด คือ ขนาด 100 กรัม ขายส่งซองละ 20 บาท ขนาด 150 กรัม ซองละ 25 บาท หากชั่งขายราคา กก.ละ 200 บาท ส่วนส้มแขกหยี บรรจุซองขนาดเดี่ยว 120 กรัม ราคา 35 บาท ขายเป็นกิโล ราคา กก.ละ 250 บาท โดยตลาดหลักส่งเข้ากรุงเทพฯ 60% ที่เหลือเป็นตลาดในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งสงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งนำสินค้าออกเดินสายออกงานที่ทางราชการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละเดือนจะผลิตออกสินค้าออกมา รวมแล้วราว 700-1,000 กก. ทำให้มีรายเดือนละไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนบาท
          “การทำงานงานของกลุ่ม เราให้สมาชิกแปรรูปวัตถุดิบอยู่ที่บ้าน เสร็จแล้วนำผลผลิตที่มีการแปรรูปแล้วมาส่งยังที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ บ้านเกษตรกรหมู่ 3 บ้านทรายขาว ก่อนจะคัดแยกสินค้าออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อส่งจำหน่ายให้ลูกค้าตามชุมชน ในตัวเมือง เพื่อกระจายไปยังร้านค้าในพื้นที่อื่น รวมถึงการนำสินค้าออกเดินสายร่วมงานกับทางราชการในการจัดแสดงสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ตรงนี้ทำให้สมาชิกเรามีรายได้เสริมเฉลี่ยคนละ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน" หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปส้มแขกหมู่ 3 บ้านทรายขาว
          เธอบอกด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากส้มแขกนั้น จะมีเอกลักษณ์โดดเด่น สินค้าที่แปรรูปมาจากส้มแขกจากพื้นที่ชุมชนมีความสดใหม่ เนื่องจากสินค้าแต่ละประเภทจะไม่เน้นผลิตในปริมาณมาก เพราะต้องการจำหน่ายให้หมด และมีการผลิตอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้บริโภคหรือลูกค้าจะได้ลิ้มรสของอร่อยที่ผลิตใหม่อยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญจะไม่ปล่อยให้มีสินค้าค้างสต็อกแน่นอน
          ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากส้มแขกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปส้ม แขกหมู่ 3 บ้านทรายขาว นับว่าเป็นผลผลิตที่น่าสนใจ นอกจากจะทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายเสริมจากการทำสวนยางพาราแล้ว ผู้บริโภคก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากส้มแขกมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรหลายอย่าง หากใครสนใจสามารถสอบถามที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปส้มแขก โทร.08-7293-8089

--------------------
สูตรสำเร็จ"ส้มแขกหยี"
          ผู้ที่สนใจอยากทำส้มแขกหยีเพื่อบริโภคเอง มีสูตรง่ายๆ ดังนี้
          1. นำส้มแขกแห้ง 1 กก.
          2. น้ำตาลทราย 1.5 กรัม
          3. เกลือป่น         0.5 กรัม
          4. พริกป่น          0.5 กรัม
วิธีทำ 
          นำส้มแขกแห้ง ผสมกับน้ำตาลทราย เกลือ พริกป่น บดให้ละเอียด แล้วมากวนจนแห้งเหนียว เสร็จยกขึ้นมารอให้เย็น มาปั้นเป็นก้อน แล้วมาคลุกกับน้ำตาลทรายที่ผสมกับเกลือป่น และพริกป่นอีกครั้ง จะได้ส้มแขกหยีที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน และเผ็ดเล็กน้อย และสามารถเก็บได้นานถึง 4 เดือน
          ส่วนวิธีการถนอมส้มแขกให้มีความสด เนื่องจากส้มแขกจะออกผลผลิตปีละ 1 ครั้ง คือ ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ขณะที่การผลิตส้มแขกแช่อิ่มตลอดทั้งปี จะนำส้มแขกสดใส่โอ่งราว 300 กก. ใส่เกลือ 2 กก.ดองไว้ จึงสามารถทำเป็นวัตถุดิบตลอดทั้งปี

--------------------
(แปรรูปส้มแขกทำ "ขนมขบเคี้ยว" ของดี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : คอลัมน์ เกษตรทำกิน : โดย ... สุพิชฌาย์ รัตนะ)

http://www.komchadluek.net/detail/20120901/138971/แปรรูปส้มแขกทำขนมขบเคี้ยว.html#.UEFUzCKwUp4

Saturday, August 25, 2012

แนะนำอาชีพ ‘ขนมครกข้าวกล้อง’ ‘หน้าธัญพืช’ยังขายดี

ขนมไทย ๆ อย่าง “ขนมครก” ที่ให้รสชาติความหอมหวานมันอร่อยจนเป็นที่ถูกปากใครหลาย ๆ คน ที่มีขายกันทุกตลาดทั้งเช้าสายบ่ายค่ำนั้น ก็มีทั้งหน้าเดิม ๆ คือโรยต้นหอม แต่ก็มีบางเจ้าที่ทำหน้าขนมครกให้แตกต่างออกไปอีก อย่างเช่น “ขนมครกข้าวกล้องหน้าธัญพืช” เพื่อสุขภาพ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลมาแนะนำกัน...
                   
อุบลรัตน์ หลักหาญ หรือ คุณหนิง เจ้าของร้านขนมครกเศรษฐี (ขนมครกข้าวกล้อง ๙ หน้าธัญพืช) เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะมามีอาชีพขายขนมครก เดิมเป็นแม่ครัวร้านอาหาร พอทำไปนาน ๆ อายุมากขึ้นก็รู้สึกเหนื่อย และนึกถึงอนาคตว่าแก่ตัวไปคงทำไม่ไหว ครอบครัวต้องลำบาก จึงคิดอยากจะมีอาชีพที่มั่นคงเป็นของตัวเอง แล้วก็มาลงตัวที่ขนมครก
  
จนปัจจุบันนี้ก็ยึดการขายขนมครกเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวมานาน 5 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกก็ทำขนมครกสูตรดั้งเดิมขายอยู่ประมาณ 3 ปี ต่อมาเพื่อให้ทันกับยุคสมัยและเข้ากับกระแสความต้องการของลูกค้าที่หันมา สนใจอาหารแนวสุขภาพมากขึ้น จึงมีการดัดแปลงส่วนผสม ทว่ารสชาติยังคงเดิม และรูปลักษณ์ก็ยังคงเดิม
  
“ยายก็ทำขนมครกขายอยู่ที่ปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นขนมครกจิ้มน้ำตาล ก็เรียนรู้จากยายแล้วทำใส่รถเข็นไปขายที่ปากซอย แต่ขายไม่ค่อยดีเพราะคนกรุงเทพฯไม่รู้จักและกินไม่เป็น จึงเปลี่ยนเป็นขนมครกหน้ากะทิหวาน ๆ แบบกรุงเทพฯ รวมถึงปรับหน้าขนมด้วย เพราะคนกรุงชอบความหลากหลายแปลกใหม่ โดยเฉพาะอาหารแนวสุขภาพยิ่งชอบ”
  
คุณหนิงบอกต่อไปว่า ตัวขนมครกจะแบ่งส่วนผสมออกเป็น 2 อย่าง คือ แป้ง และกะทิ โดยจะใช้แป้ง  2 ส่วน  กะทิ 1 ส่วน ซึ่งขนมครกที่ทำขายนั้นตัวแป้งจะทำจาก “ข้าวกล้อง” และหน้ากะทิที่หอม มัน หวานกลมกล่อมนั้น จะไม่หวานมาก หน้ากะทินี้จะใช้หัวกะทิที่คั้นใหม่ ๆ ผสมน้ำตาลและเกลือ ปรุงรสให้ออกหวานนำเล็กน้อย
  
จุดเด่นของขนมครกข้าวกล้องของร้านนี้คือ ความกรอบ จะกรอบนอกนุ่มใน และมีเทคนิคในการกินเล็กน้อย คือ ถ้าซื้อใส่กล่อง ทางร้านแนะนำให้เดินถือไปก่อนอย่าเพิ่งใส่ถุงหิ้ว มิฉะนั้นไอน้ำจากความร้อนจะทำให้ขนมครกนิ่ม ไม่กรอบ
  
อุปกรณ์ในการทำขนมครก หลัก ๆ ก็มี เครื่องปั่นขนาดใหญ่, เบ้าขนมครก, กาน้ำสำหรับหยอดแป้ง, เตาแก๊ส, ลูกประคบเล็ก ๆ ที่ทำจากกาบมะพร้าวห่อด้วยผ้าขาวบาง หรือฟองน้ำ, ช้อนสำหรับแคะขนม, ตะแกรงพักขนม, ถังน้ำแข็ง และเครื่องใช้อื่น ๆ ที่หยิบฉวยเอาได้จากในครัว
  
สำหรับส่วนผสม วัตถุดิบ หลัก ๆ ก็มี แป้งข้าวกล้องหอมมะลิ, ข้าวกล้องหุงสุกแล้ว, มะพร้าวขูดขาว, น้ำตาลทราย, เกลือ ส่วนหน้าขนมครก ก็มีทั้ง ข้าวโพด, ต้นหอม, ข้าวบาร์เลย์, งาขาวงาดำคั่ว, แปะก๊วย, เผือก, มันต่อเผือก, ฟักทอง, ลูกเกด และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมถึงมีหน้าฝอยทองด้วย
  
ขั้นตอนการทำ “ขนมครกข้าวกล้อง” นำข้าวกล้องหอมมะลิมาแช่น้ำทิ้งไว้ข้ามคืน หรืออย่างน้อย 3  ชั่วโมง  เทน้ำทิ้ง แล้วซาวล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง นำไปปั่นพร้อมกับข้าวกล้องหุงสุกที่เตรียมไว้  ขั้นตอนนี้ต้องใส่น้ำลงไปด้วยพอประมาณ แล้วนำมากรองด้วยผ้าขาวบาง ก่อนจะนำไปผสมกับหัวกะทิ ถ้าแป้งข้นเกินไปให้เติมน้ำอีก ได้ที่แล้วก็พักไว้
   
การทำหน้ากะทิที่ใช้หยอด คั้นมะพร้าวด้วยน้ำอุ่นพอประมาณ แล้วนำมาผสมกับน้ำตาลและเกลือ นำขึ้นตั้งไฟพอร้อน ยกลงตั้งพักเตรียมไว้ใช้หยอดหน้าขนม
  
หน้าธัญพืชที่ใช้หยอดหน้าขนมครก หน้าต้นหอม นำต้นหอมล้างให้สะอาดผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วหั่นฝอย หน้าเผือก หน้ามันต่อเผือก หน้าฟักทอง ปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แล้วนึ่งให้สุก หน้าแปะก๊วย  ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์  นำไปต้มจนสุกใส่ภาชนะเตรียมไว้ หน้างาขาวงาดำ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ก็คั่วให้หอมเตรียมไว้ ส่วนหน้าฝอยทองก็นำฝอยทองมาอบจนกรอบเตรียมไว้
  
ขั้นตอน-วิธีหยอดขนม นำเบ้าขนมหรือพิมพ์ขนมตั้งไฟอ่อน ๆ เช็ดให้สะอาดด้วยน้ำมันพืชเล็กน้อยให้ทั่วทุกหลุม พอเบ้าหรือพิมพ์ร้อนก็ตักตัวแป้งใส่กา หยอดลงหลุมอย่าให้เต็ม แค่ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน โดยหยอดแบบนี้จนครบทุกหลุมแล้วจึงหยอดหน้ากะทิตามลงไปจนเต็ม แล้วปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 5-8 นาที จึงค่อยเปิดฝา  สังเกตขอบขนมเริ่มเป็นสีน้ำตาล ก็เป็นอันใช้ได้ จากนั้นก็นำหน้าธัญพืชที่เตรียมไว้มาหยอดลงไป
  
เสร็จแล้วแคะขนมครกออกมาวางไว้ในตะแกรงให้ไอร้อนระเหย เท่านี้ก็พร้อมรับประทาน และพร้อมขายได้เลย โดยราคาขายขนมครกข้าวกล้องหน้าธัญพืชเจ้านี้  1 กล่อง มี 14 ฝา ขายราคากล่องละ 35 บาท มีต้นทุนประมาณ 60%
                    
“ขนมครกข้าวกล้องหน้าธัญพืช” เจ้านี้ วันจันทร์จะขายอยู่ที่ตลาดนัดการไฟฟ้าฝ่ายผลิต บางกรวย วันอังคารที่ตึกซัน วิภาวดีฯ วันพุธที่ซอยละลายทรัพย์และอาคารเสริมมิตร วันพฤหัสฯที่ รพ.เซนต์หลุยและอาคารวาณิชย์ วันศุกร์ขายที่ตลาดนัดรัชดาฯ และยังมี “ช่องทางทำกิน” อีกรูปแบบคือรับออกร้านงานอีเวนต์ งานเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งใครต้องการติดต่อคุณหนิงก็ติดต่อได้ โทร. 08-6526-7588, 08-2985-3790

เชาวลี  ชุมขำ :เรื่อง / สันติ มฤธนนท์ :ภาพ
..........................................

คู่มือลงทุน...ขนมครกข้าวกล้อง

ทุนอุปกรณ์    ประมาณ 4,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ    ประมาณ 60% ของราคาขาย  
รายได้        ขายราคา 35 บาท / 14 ฝา
แรงงาน        1 คนขึ้นไป
ตลาด        ย่านชุมชน, ตลาด, ตลาดนัด
จุดน่าสนใจ    เพื่อสุขภาพยังเป็นจุดขายที่ดี

http://www.dailynews.co.th/article/384/151497

แนะนำอาชีพ ‘หุ้มปกไดอารี่’

งานประดิษฐ์จากผ้าเป็นงานไอเดียที่คิดทำได้หลากหลาย ผ้าก็เป็นวัสดุที่หาซื้อได้ง่ายจากหลาย ๆ แหล่ง และยังมีลวดลายและคุณภาพแตกต่างกันหลากหลาย จึงทำให้งานประดิษฐ์ประเภทนี้สามารถพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นชิ้นงานใหม่ ๆ ออกมาให้เห็นอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นงาน ’หุ้มปกไดอารี่“ ที่วันนี้ ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอ...

“ชุตินันท์ พูลศิลป์” มีพื้นฐานเป็นคนชอบงานผ้าและชอบงานฝีมือ จึงมักทำของใช้และของประดับเป็นของตัวเอง โดยทำเพื่อใช้เองบ้าง บางครั้งก็ทำขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญแก่คนอื่น ๆ  นอกจากนี้เวลาเดินทางไปไหนมาไหนหากเจอวัสดุเก๋ ๆ หรือลายผ้าสวย ๆ ก็มักจะต้องซื้อเก็บไว้เป็นประจำ เพื่อนำมาเป็นวัสดุสำหรับผลิตงานฝีมือ
  
แต่เดิมนั้นก็ยังไม่คิดทำจริงจัง ก่อนหน้านี้ทำเป็นแค่งานอดิเรก จนเมื่อเรียนจบเมื่อสามปีก่อน และยังไม่ได้ทำงาน มีเวลาว่างมากก็จึงนำผ้าที่เก็บไว้มานั่งประดิษฐ์เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ต่อมามีเพื่อนมาเห็นเข้าและแนะนำว่าให้ลองทำขาย จึงทดลองขายตามตลาดนัดงานฝีมือที่เปิดให้วางขาย ปรากฏว่าได้รับการตอบรับ จึงมองเห็นช่องทางพัฒนามาเป็นอาชีพ จนเกิดเป็นสินค้า “ดอทคิดดิ้ง” โดยขายผ่านทางเว็บไซต์ http://dotkidding.weloveshopping.com กับที่ www.facebook.com/dotkidding นอกจากนี้ สินค้าก็ยังมีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าทั่วไป
  
“เริ่มจากความชอบที่จะประดิษฐ์ของใช้ส่วนตัวของตัวเองขึ้นมาก่อน เช่น สมุดพก, กระเป๋า, ถุงใส่ของ จากนั้นก็ลองออกแบบดูว่าถ้าลายผ้าเป็นแบบนี้ เราควรจะวางยังไงเพื่อให้ลายผ้าดูเด่น และสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นผลงานของเราด้วย จากนั้นก็เริ่มทดลองเย็บเอง ลองปรับลองแก้ไขอยู่นานจึงจะลงตัว โชคดีที่มีคุณแม่คอยแนะนำ” เป็นที่มาที่ไปกว่าจะมาเป็นผลงานจากฝีมือคนรุ่นใหม่อย่างชุตินันท์...
  
ปัจจุบันสินค้ามีอยู่ประมาณ 15 ประเภท ส่วนแบบมีอยู่ประมาณ 20 แบบ แบบที่เป็นเอกลักษณ์จะอยู่ที่ลายผ้าที่ใช้ คือจะเน้นลายผ้าที่เป็น ลายจุด (dot) และลายการ์ตูน (kidding) กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยที่เริ่มต้น ทำงานใหม่ ๆ โดยสินค้าจะมักถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเภทของใช้และของขวัญ
  
สินค้าที่ถือว่าได้รับความนิยมและถือว่าเป็นจุดเด่นก็คือ “หุ้มปกไดอารี่” ซึ่งสำหรับงานตัวนี้นั้น ชุตินันท์เล่าว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากความที่ต้องการอยากให้สมุดไดอารี่หรือสมุดจดบันทึกประจำ วันของตัวเองมีลวดลายสวยงาม มีลูกเล่นเพิ่มขึ้นกว่าสมุดจดบันทึกแบบเรียบ ๆ ที่วางขายอยู่ในท้องตลาด นอกจากนี้ยังอยากได้สมุดที่มีสัมผัสที่นุ่มมือเวลาที่หยิบหรือใช้งาน จึงลองออกแบบและเย็บที่หุ้มปกไดอารี่นี้ขึ้น จนกลายมาเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุดบันทึกแบบเดิม ๆ ได้อย่างดี โดยที่หุ้มปกนี้สามารถถอดซักล้างทำความสะอาด และถอดเปลี่ยนสมุดบันทึกด้านในได้ตลอดเวลา
  
ทุนเบื้องต้นการทำงานตัวนี้ ใช้ประมาณ 8,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ อาทิ จักรเย็บผ้า และการสต๊อกลายผ้า ส่วนทุนวัสดุต่อหนึ่งชิ้นงานอยู่ที่ประมาณ 70% จากราคาขาย ที่เริ่มตั้งแต่ชิ้นละ 75 บาทจนถึง 450 บาท
  
อุปกรณ์และวัสดุในการทำชิ้นงาน ประกอบด้วย จักรเย็บผ้า, ผ้าญี่ปุ่นหรือผ้าชนิดต่าง ๆ, สมุดไดอารี่หรือสมุดบันทึกแบบที่ต้องการทำ, เข็มกับด้าย, กรรไกร และวัสดุตกแต่ง เช่น กระดุม ริบบิ้น โบ ผ้าลูกไม้ เป็นต้น
  
“อุปกรณ์ที่ใช้เป็นอุปกรณ์พื้นฐานงานเย็บผ้าทั่วไป ใช้อุปกรณ์ค่อนข้างน้อย จะเน้นการเย็บการออกแบบมากกว่า ถ้าทำเป็นงานอดิเรกอาจตัดค่าใช้จ่ายจักรเย็บผ้าออกไปได้ โดยใช้การเย็บด้วยมือแทน แต่จะใช้เวลามากหน่อย ผ้าญี่ปุ่นที่ใช้ก็จะเป็นผ้านำเข้าเนื้อคอตตอน แคนวาส และสักหลาด เน้นที่เนื้อหนา ละเอียด โดยเฉพาะผ้าลายการ์ตูนซึ่งจะพิมพ์ลายที่ไม่ซ้ำกับลายผ้าในไทย เพื่อสร้างจุดขายและเอกลักษณ์” ชุตินันท์กล่าว
  
ขั้นตอนการทำ มีขั้นตอนไม่มาก เริ่มจากการวัดขนาดและปกของสมุดไดอารี่หรือสมุดบันทึกที่ต้องการทำ เพื่อตัดแบบหรือแพทเทิร์นของชิ้นงาน สำหรับการวัดต้องเผื่อด้านข้างของทุกด้านไว้ประมาณ 2 เซนติเมตร จากนั้นนำแพทเทิร์นมาทาบและทำการตัดผ้าตามที่ได้ออกแบบไว้ ทำการตัดผ้าให้เป็นส่วนปีกสองชิ้นเอาไว้สอดด้านในปกสมุด จากนั้นตัดผ้าที่ต้องการทำปกอีกครั้ง และนำเอาผ้าส่วนปีกที่ได้นั้นมาทำการเย็บติดกับส่วนปกทั้งสองปีกโดยเหลือมุม ไว้สำหรับกลับด้านออกมา จากนั้นทำการตกแต่งหน้าปกสมุดไดอารี่ด้วยวัสดุตกแต่งที่ต้องการ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ
  
เจ้าของชิ้นงานแนะนำว่า ใครที่สนใจงานประเภทนี้ ให้ค่อย ๆ ศึกษา ลองหัดทำ ฝึกฝนไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จะได้งานที่เราภาคภูมิใจ ที่สำคัญที่สุดอย่าพยายามลอกเลียนแบบ แต่ควรใช้ไอเดียสร้างสรรค์ให้มีแนวทางเป็นของตัวเอง
  
“งานแฮนด์เมดงานฝีมือจะสะท้อนถึงตัวตนของผู้ทำ ถ้าอยากให้งานเป็นที่จดจำ ขายได้ ไม่ซ้ำใคร ต้องหาแนวทางให้ชัดเจน ไม่ซ้ำกับตลาดที่มีอยู่ ทำให้แตกต่างออกมา และเป็นตัวของเราเองมากที่สุด” ชุตินันท์กล่าวแนะนำ

สนใจงานผ้า ชิ้นงาน ’หุ้มปกไดอารี่“ ลองเปิดเข้าไปดูได้ตามเว็บไซต์ที่ระบุไว้ข้างต้น หรือต้องการติดต่อกับชุตินันท์ทางโทรศัพท์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร.08-1920-6027 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ.

ศิริโรจน์  ศิริแพทย์ : เรื่อง-ภาพ

.........................................

คู่มือลงทุน...หุ้มปกไดอารี่

ทุนเบื้องต้น    ประมาณ 8,000 บาท
ทุนวัสดุ        ประมาณ 70% ของราคา
รายได้        ราคาชิ้นละ 75-450 บาท
แรงงาน        1 คนขึ้นไป
ตลาด        กลุ่มของใช้และของขวัญ
จุดน่าสนใจ    งานฝีมือบวกไอเดียราคาดี
 
http://www.dailynews.co.th/article/384/151282

Sunday, August 19, 2012

แนะนำอาชีพ ‘ถักผ้ารองนั่ง’

อดีตนักข่าวนิตยสารรายหนึ่งหันเหชีวิตจากการขีด ๆ เขียน ๆ มาทำงานประดิษฐ์ที่สร้างรายได้โดยที่ไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านให้ต้องเสีย เวลาในการเดินทาง งานถัก “ผ้ารองนั่งจากเศษผ้า” นี่ก็เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้
     
ภัทรพร หงษ์ทอง หรือ ปุ๋ม อดีตคนทำงานนิตยสารเล่มหนึ่ง เล่าว่า หันเหเปลี่ยนแปลงชีวิตจากที่เคยทำงานเดิมมานานเป็น 10 ปี เปลี่ยนมาทำงานประดิษฐ์จากเศษผ้าได้ประมาณ 8 ปีแล้ว ซึ่งเพราะต้องการที่จะทำอะไรเป็นของตนเอง ไม่อยากตะลอน ๆ ออกไปทำงานแบบเดิม ๆ อีก จึงได้เปลี่ยนแปลงชีวิตมาทำงานเศษผ้าดังกล่าวนี้
  
“เหตุที่เลือกงานเศษผ้า เพราะว่าตอนเด็ก ๆ จำได้ว่าใส่เสื้อที่แม่ตัดมาจากเศษผ้า คือแม่จะเอาเศษผ้ามาปะเย็บต่อกันเป็นลวดลายต่าง ๆ พวกเราพี่น้อง 4 คนซึ่งเป็นลูกผู้หญิงหมดก็มีเสื้อจากเศษผ้าปะต่อใส่กันแบบสวย ๆ พอเริ่มโตก็เห็นแม่เย็บเสื้อผ้า ทำกับข้าว งานแม่บ้านแม่เรือน ก็ซึมซับมาเรื่อย ๆ”
  
ภัทรพรเล่าต่อไปว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้วก็เริ่มกลับมาสนใจงานผ้าทำมือแบบจริงจัง ไปขายก็ขายได้ดี ทั้งที่สวนจตุจักร ตลาดนัดเปิดท้ายที่ต่าง ๆ ต่อมาเพิ่มงานถักโครเชท์ งานคัทเวิร์ก ลงไปด้วย รวมถึงงานดอกไม้จากเศษผ้าจับจีบที่เคยทำกับแม่ตอนเด็ก ๆ ก็เอามาผสมผสานกัน ได้เป็นกระเป๋าสะพายข้างที่ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ชอบ บอกว่าสวย และใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกสบาย แถมยังช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย
  
หลังจากที่ทำกระเป๋าเศษผ้าแล้วก็ยังมีเศษผ้าเหลืออีก ก็คิดว่าน่าจะลองทำของใช้ตกแต่งบ้านที่ได้ประโยชน์อย่างอื่น ๆ ดูบ้าง และได้พบว่ามีหนังสือต่างประเทศที่สอนเทคนิควิธีต่าง ๆ ในการทำของใช้จากวัสดุหลายประเภทด้วยตัวเอง ไปสะดุดตาสะดุดใจกับเทคนิคการถักเศษผ้าเป็นเปียแล้วขึ้นรูปทรงเป็นอะไรก็ได้ ตามใจที่ต้องการ จึงคิดว่างานถักเศษผ้าที่นำมาใช้เป็นผ้ารองนั่งยังไม่ค่อยมีใครทำ และน่าจะหัดลองทำดู
  
สำหรับงานถักผ้ารองนั่งจากเศษผ้า ภัทรพรบอกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้งานดูเหมือนเป็นผ้าเช็ดเท้า จะต้องเลือกเนื้อผ้า โทนสีผ้า ให้จับคู่สีเข้าด้วยกัน ให้ดูดีมีรสนิยม ทำให้ได้ชิ้นงานที่ดูสมัยใหม่ มีอารมณ์สนุกสนานอยู่ในลายผ้าที่เลือกใส่ลงไป บวกกับคู่สีที่เรากำหนดให้เป็นคู่สีสมัยใหม่ เช่น สีโทนฟ้า โทนแดงเข้ม หรือจะเป็นขาว-ดำ ซึ่งตรงนี้เป็นเสน่ห์ที่ลูกค้าชอบ เพราะสามารถบอกได้ว่าอยากให้ทำสีอะไรให้เพื่อให้เข้ากับโทนสีการแต่งบ้านของ ลูกค้า
  
อุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มีสายวัด, ชอล์กเขียนผ้า, ด้ายเย็บผ้า, เข็มเย็บผ้า และกรรไกรตัดผ้า ส่วนวัสดุคือเศษผ้าโทนสีต่าง ๆ
  
วิธีทำ เริ่มจากตัดเศษผ้าสีต่าง ๆ ให้เป็นผ้าชิ้นยาว ขนาดกว้าง 3 นิ้ว ตัดปลายผ้าเป็นสามเหลี่ยมเพื่อเอาไว้ต่อปลายกับชิ้นต่อ ๆ ไป โดยความยาวผ้าเท่าไหร่ก็ได้ในแต่ละชิ้น
  
จากนั้นนำเศษผ้า 3 ชิ้นที่เป็นโทนสีเดียวกัน เข้าคู่กัน มาถักเปียจนสุดความยาวของผ้าแต่ละชิ้น หากชิ้นใดเริ่มจะสิ้นสุดปลายผ้าก็นำชิ้นผ้ามาต่อและถักเปียต่อกันไปเรื่อย ๆ โดยการต่อผ้าจะต่อด้วยการเย็บ
  
ข้อสำคัญในการถักผ้า ภัทรพรบอกว่า อย่าให้ผ้าแต่ละชิ้นหมดพร้อมกัน เพราะถ้าผ้าหมดปลายพร้อมกันจะทำให้การต่อผ้ายากขึ้น และเกิดเป็นปมผ้า ควรให้ผ้าถักแต่ละชิ้นหมดปลายไม่พร้อมกัน เพื่อที่จะทำให้การต่อปลายผ้าง่ายขึ้น และดูกลืนหายกันไปในการถัก ซึ่งการต่อปลายผ้าแต่ละชิ้น ในขณะที่ถักไปด้วยนั้นต้องตัดปลายผ้าให้เป็นปลายแหลมสามเหลี่ยมดังที่บอกแต่ ต้น เพื่อจะได้ง่ายต่อการสอดปลายผ้าไปด้วยกัน แต่ต้องสอดปลายผ้าให้เข้าลึก ๆ เพื่อป้องกันการหลุดออกจากกัน
  
ในการถักผ้า ก็จะเป็นการถักไปต่อผ้าไปจนได้เปียผ้าถักที่ยาวประมาณ 6 เมตร จากนั้นนำผ้าถักเปียมาวนเป็นวงกลม โดยสอยแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน เริ่มจากชั้นใน สอยไปจนสุดชั้นสุดท้ายซึ่งเป็นด้านนอกของผ้ารองนั่ง เมื่อถึงปลายผ้าที่เป็นหางของเปียถักนี้ก็ให้สอยเก็บปลายผ้าให้กลืนหายไปใน ชิ้นงาน เสร็จแล้วก็จะได้ผ้ารองนั่งจากเศษผ้าที่สมบูรณ์ที่มีขนาดวงกลม 19 นิ้ว ซึ่งสามารถขายได้ราคาผืนละ 400-490 บาท โดยมีต้นทุนโดยเฉลี่ยผืนละ 150-200 บาท
 
ใครสนใจงานถัก “ผ้ารองนั่งจากเศษผ้า” หนึ่งในรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” จากงานผ้า ของภัทรพร ติดต่อได้ที่ โทร. 08-1296-6411 ทั้งนี้ จากเศษผ้าทั่ว ๆ ไป หากทำให้ดูดีมีรสนิยม ทำให้เป็นชิ้นงานที่ดูสมัยใหม่ได้ ก็ทำเงินได้น่าสนใจ.

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : เรื่อง/ภาพ

...................................................

คู่มือลงทุน...ผ้ารองนั่งจากเศษผ้า 
ทุนอุปกรณ์    ประมาณ 100 กว่าบาทขึ้นไป
ทุนวัสดุ        ประมาณ 150-200 บาท/ชิ้น
รายได้         ราคาขาย 400-499  บาท/ชิ้น
แรงงาน        1 คน
ตลาด        ร้านสินค้าแต่งบ้าน, รับสั่งทำ 
จุดน่าสนใจ    ลงทุนต่ำ, งานขายฝีมือราคาดี

http://www.dailynews.co.th/article/384/150153

Friday, August 17, 2012

แนะนำอาชีพ “สมุดทำมือ”

สมุดทำมือ เป็นงานแฮนด์เมดสร้างสรรค์ใส่ไอเดียออกแบบปกให้มีรูปแบบและลวดลายที่น่ารัก เท่ ๆ เก๋ ๆ หลากหลายรูปแบบ ส่วนการเข้าเล่มนั้นจะใช้วิธีเย็บด้วยด้ายหรือเชือกป่าน ทุกขั้นตอนนั้นทำด้วยมือ ซึ่งเป็นชิ้นงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากคนชอบงานแฮนด์เมด และก็เป็นอีก ’ช่องทางทำกิน“  ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ที่มีไอเดียดี ได้เป็นอย่างดี…

แนน-จีรายุ ตั้นซ้วน เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำ “สมุดทำมือ” ออกมาเป็นสินค้า โดยจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “mama factory” ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าของเธอก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี สำหรับสมุดทำมือนั้นเธอทำเป็นอาชีพเสริมเป็นการหารายได้พิเศษจากงานหลักที่ เป็นพนักงานออฟฟิศ โดยเจ้าตัวเล่าว่า ตอนแรกก็ไม่ได้คิดที่จะมายึดการทำสมุดทำมือเป็นอาชีพเสริม เพราะทำงานประจำอยู่แล้ว มีเวลาว่างก็มักจะไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ แต่ก็เป็นคนที่ชอบงานด้านศิลปะงานแฮนด์เมดอยู่แล้ว โดยเฉพาะงานสมุดทำมือนี่ถ้าไปเจอที่ไหนแล้วเห็นว่าน่ารักก็จะต้องซื้อมาเก็บ ทุกที

จนช่วงประมาณ 6 เดือนที่แล้ว ประสบอุบัติเหตุเอ็นข้อเท้าฉีก หมอให้พักอยู่บ้านประมาณ 1 เดือน ในช่วงนั้นพออยู่เฉย ๆ ไม่ได้ไปไหนก็เริ่มเบื่อ ก็เอาสมุดทำมือที่ซื้อไว้มาเขียนบันทึกของตัวเอง แล้วพอเห็นสมุดก็เริ่มมีความคิดที่จะลองทำเองดูบ้างในเวลาว่างที่ไม่ได้ไป ไหน

เมื่อคิดที่จะทำก็เริ่มศึกษาจริงจัง ตอนแรกมองว่าน่าจะทำไม่ยาก แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่ก็เริ่มที่จะศึกษาอย่างจริงจัง โดยศึกษาเองจากอินเทอร์เน็ต แล้วนำวิธีการนั้น ๆ มาประยุกต์ โดยเริ่มหัดทำจากวิธีการเข้าเล่ม ห่อปก เย็บเล่ม ศึกษาและลองหัดทำ ลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 1 เดือน ก็เริ่มที่จะทำได้ แต่ก็ยังไม่คล่อง เพราะทำสมุด 1 เล่มต้องใช้เวลาทำประมาณ 2 ชั่วโมง ก็พยายามทำมาเรื่อย ๆ จนชำนาญขึ้น จนใช้เวลาในการทำน้อยลง

หลังจากที่ทำได้ชำนาญขึ้น ก็เริ่มทำสมุดออกมาเรื่อย ๆ จากนั้นก็ไปลงขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากเพื่อน ๆ และลูกค้าเป็นอย่างดี จึงทำขายเป็นอาชีพเสริมเรื่อยมาจนปัจจุบัน

“เนื่องจากงานสมุดทำมือจะมีคู่แข่งทางการตลาดอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นการที่เราจะยึดใจลูกค้า เราควรที่จะต้องเน้นในเรื่องคุณภาพ สมุดที่เราทำนั้นจะต้องสวยงามดูดี คงทน มีคุณภาพ รูปแบบลวดลายของปกนั้นก็สำคัญ เราจะพยายามออกแบบใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ให้เป็นหลากหลายคอลเลกชั่น เพื่อให้เป็นที่ดึงดูดลูกค้า ไม่ให้ลูกค้าเบื่อ ลูกค้าจะได้มีแบบเลือกมากขึ้น” แนนกล่าว

วัสดุอุปกรณ์ในการทำ หลัก ๆ ก็มี...ผ้า, กระดาษ, ด้ายหรือเชือก, กรรไกร, เข็ม, กาว, กระดาษแข็ง, ตัวหนีบกระดาษ เป็นต้น

สำหรับผ้าที่ใช้นั้น แนนจะใช้เป็นผ้าญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะมีลวดลายที่น่ารักสวยงามและมีหลากหลายลายให้เลือกแล้ว ผ้าญี่ปุ่นนั้นยังเป็นผ้าที่ง่ายสำหรับการที่จะนำมาใช้ห่อปกสมุดทำมือที่สุด ซึ่งหาซื้อได้ที่ย่านสำเพ็งหรือพาหุรัด ส่วนกระดาษนั้นจะใช้เป็นกระดาษอย่างดี เป็นกระดาษแบบถนอมสายตา ความหนากระดาษใช้ขนาด 80 แกรม หาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องเขียนทั่วไป ขณะที่กระดาษแข็งนั้นก็ใช้ขนาดเบอร์ 0

ขั้นตอนการทำเริ่มจาก...ทำปกของสมุดเตรียมไว้ก่อนเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจากการออกแบบปกที่ต้องการลงบนกระดาษก่อน จากนั้นก็ตัดกระดาษแข็งให้ได้ขนาดเท่าสมุดตามที่จะทำ อย่างเช่นจะทำสมุดขนาด A5 ก็ให้ใช้กระดาษขนาด A4 พับครึ่ง ซึ่งก็จะเท่ากับขนาดกระดาษ A5 นำมาวางเป็นแบบลงบนกระดาษแข็ง ทำการตัดตามแบบออกมา 2 ชิ้นเป็นปกหน้า-ปกหลัง

เมื่อได้กระดาษแข็งแล้วก็ทำการวัดแบบลงผ้าที่จะใช้ แล้วทำการตัด โดยการตัดนั้นให้ตัดห่างจากเส้นที่วาดลงผ้าออกมาประมาณ 2 เซนติเมตร ถ้าหน้าปกจะเป็นลายผ้าที่เลือกใช้ ก็นำไปห่อกระดาษแข็งได้เลย แต่ถ้าหน้าปกนั้นมีลวดลายอื่น ๆ ที่ออกแบบไว้ประกอบอีก อย่างเช่นจะทำหน้าปกเป็นรูปเนกไท ก็นำผ้านั้นไปเย็บติดเนกไทที่ทำเตรียมไว้ก่อน จากนั้นถึงเอาไปห่อกับกระดาษแข็ง

การห่อปกกับกระดาษแข็งนั้นก็ทำการห่อแบบของขวัญ โดยการนำกระดาษแข็งทาด้วยกาวลาเท็กซ์ แล้ววางลงบนผ้า ด้านหลังนั้นก็พับมุมผ้าห่อเข้ามา ใช้กาวลาเท็กซ์ยึดติดให้แน่น เมื่อทำการพับเข้าทุกมุมแล้วก็ตัดกระดาษทากาวมาปิดทับบังผ้าที่พับติดด้าน หลังอีกครั้งหนึ่ง ทำเหมือนกันทั้งปกหน้าและหลัง จากนั้นก็ทำการเจาะรู โดยใช้แบบเจาะรูที่วัดทำแพทเทิร์นไว้แล้ว

จากนั้นก็มาทำกระดาษข้างใน โดยการนำกระดาษ A4 มาทำการพับครึ่งแล้วทำการตัดให้ได้ประมาณ 60 แผ่น ตอกให้กระดาษเท่ากันทุกด้าน แล้วก็ใช้ตัวหนีบกระดาษสีดำหนีบไว้ด้านบน-ล่าง ติดกับส่วนที่จะให้เป็นสันปก จากนั้นก็ใช้กาวลาเท็กซ์ทาลงบนสันปก ปล่อยทิ้งไว้ให้กาวแห้งประมาณ 10 นาที แล้วนำแพทเทิร์นสำหรับเจาะรูมาทาบเจาะรู

เมื่อได้ทั้งปกและกระดาษด้านในแล้วก็ทำการเย็บเข้าด้วยกัน โดยนำปกมาวางทับลงบนกระดาษด้านในแล้วทำการเย็บติดด้วยด้ายหรือเชือกป่าน ดูให้ด้ายหรือเชือกนั้นเป็นสีที่ดูเข้ากับปกด้วย ซึ่งการเย็บก็จะเย็บธรรมดาให้ยึดติดกันให้แน่น (จะมีการเย็บอีกแบบหนึ่งที่ยากกว่าคือการเย็บแบบถัก แต่กระดาษด้านในจะใช้พับครึ่ง ไม่ตัด 1 พับใช้กระดาษ 6 แผ่น ใช้ 5 ชั้น เจาะรูและใช้การเย็บแบบถักทำการเย็บติดปก)

สมุดทำมือของแนนนั้นมี 2 ขนาดคือ สมุดขนาด A5 มีราคาขายอยู่ที่ 89-125-135 บาท ซึ่งราคาขายจะอยู่ที่วิธีการเย็บและรูปแบบลวดลายของปก กับสมุดขนาด A6 ราคาขายคือ 78 บาท

ใครสนใจ ’สมุดทำมือ“ แบรนด์ “mama factory” เข้าไปดูสินค้าได้ที่ www.facebook.com/MamaFactory หรือต้องการสั่งซื้อ ต้องการติดต่อแนน ก็ติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่ โทร. 08-5131-8130 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ จากงานแฮนด์เมด ที่นำข้อมูลมาฝากกันไว้ เพื่อให้ได้ลองพิจารณากันดู...

http://www.dailynews.co.th/article/384/149941

Saturday, August 11, 2012

แนะนำอาชีพ ‘ขนมต้มใบเตย’

ทุกวันนี้เชื่อว่าหลายต่อหลายคนกำลังโหยหาอดีต รวมถึงเรื่องอาหารการกินที่ไม่เจือปนสารเคมีมากเกินไป สินค้าหรืออาหารที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ กรรมวิธีการทำเน้นรูปแบบเก่าหรือสมัยโบราณ จึงหวนกลับมาขายดี ซึ่งขนมโบราณชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในงานพิธี เช่น บวงสรวง แก้บน ไหว้ครู คือ “ขนมต้ม” ที่รื้อฟื้นความโบราณกลับมา ที่ทำขายโดยเน้นคุณภาพ สร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทย ได้สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า จนเป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ และวันนี้ทางทีมงานก็มีกรณีศึกษาจากตลาดสามชุกมานำเสนอให้ลองพิจารณากัน กับ “ขนมต้ม(จิ๋ว)ใบเตย” …
          
ปิ่นศักดิ์ อินประสิทธิ์ หรือ “โอ้” อายุ 30 ปี เจ้าของร้านน้องขนมต้ม ตลาดสามชุก ซอย 4 จ.สุพรรณบุรี ทำ “ขนมต้ม(จิ๋ว)ใบเตย” ขาย เจ้าตัวเล่าให้ฟังถึงที่มาของการทำขนมชนิดนี้ขายว่า เดิมทีทำงานเป็นพนักงานบริษัทเครื่องกรองน้ำแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ทำอยู่หลายปีก็รู้สึกเบื่อ เงินก็ไม่เหลือเก็บ และไม่มีอิสระ จึงคิดลาออกแล้วหางานอื่นทำ อยากทำอะไรที่มีอิสระ หรือไม่ก็ทำธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ต้องใช้เงินทุนเยอะนัก     
“พอดีช่วงกลับบ้านที่ตลาดสามชุกร้อยปี เห็นคนมาเที่ยวที่นี่กันมากมายเพราะอยากดูวิถีการดำรงชีวิตโบราณของคนไทย ก็เกิดปิ๊งไอเดีย อยากทำขนมโบราณขาย ผมชอบทานขนมพวกนี้อยู่แล้วจึงนำสิ่งที่ใกล้ตัวและชื่นชอบมาเป็นโจทย์ มีตัวเลือกอยู่ 2-3 อย่าง แล้วก็มาลงตัวที่ขนมต้ม เพราะขนมอื่นมีคนทำขายมากแล้ว”

เมื่อมีความมุ่งมั่น ก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด ก็เริ่มด้วยการสำรวจตลาดก่อน ศึกษาว่าตัวแป้งต้องเป็นแบบไหน ไส้ขนมแบบไหนที่ลูกค้าชอบ รสชาติต้องเป็นอย่างไร มะพร้าวชอบแบบนึ่งหรือแบบสด เมื่อได้ผลสำรวจแล้วก็เริ่มฝึกทำจากสูตรขนมต้มแดง-ขนมต้มขาว และด้วยความคิดที่ไม่อยากให้เหมือนใคร จึงปรับสูตรให้มีความแตกต่าง โดยตัวแป้งจะเนียนนุ่มแบบที่เรียกว่าละลายในปาก ตัวไส้ทำให้เหนียวนุ่มพอดี ๆ ใช้มะพร้าวน้ำหอมมาผัดทำไส้ และใช้คลุกด้วย

นอกจากนี้ ตัวแป้งจะผสมน้ำใบเตยหอมแท้ ๆ 100% เพื่อเพิ่มความหอมอร่อย และปรับขนาดขนมให้มีขนาดเล็กจิ๋ว ให้ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เมื่อฝึกทำจนสูตรทุกอย่างลงตัว คนชิมบอกว่าอร่อย จึงทำออกมาขาย

อุปกรณ์ในการทำขนม หลัก ๆ ก็มี เตาแก๊ส, หม้อสเตนเลส, กระชอน, กระทะ, ถาด, อ่างผสม, ผ้าขาวบาง, ตะหลิว, กะละมัง, ที่ขูดมะพร้าวเล็บแมว, เครื่องปั่น เป็นต้น

สำหรับส่วนผสมที่ใช้ ประกอบไปด้วย แป้งข้าวเหนียว, แป้งข้าวเจ้า, มะพร้าวน้ำหอม, น้ำตาลมะพร้าว, ใบเตยหอม, หัวกะทิ และน้ำสะอาด

ขั้นตอนการทำ “ขนมต้ม(จิ๋ว)ใบเตย” เริ่มที่ “ตัวขนมต้ม” เริ่มโดยการเตรียมผสมสีสันของแป้ง คือสีเขียว ซึ่งนำเอาใบเตยหอมมาล้างให้สะอาด แล้วปั่นกับน้ำสะอาด กรองเอาแต่น้ำใบเตยข้น ๆ ใส่ภาชนะเตรียมไว้

นำมะพร้าวน้ำหอมมาผ่าซีกแล้วขูดเตรียมไว้ในภาชนะที่สะอาด 
ลำดับถัดมาก็เตรียมผสมแป้งให้ออกมาไม่แข็งเกินไป และไม่นิ่มเกินไปจนเละ โดยใช้แป้งข้าวเหนียวผสมกับแป้งข้าวเจ้านิดหน่อย แล้วจึงใส่สีเขียวของน้ำใบเตย และหัวกะทิลงไปในแป้ง นวดให้ส่วนผสมแป้งเข้ากัน  นวดต่อไปเรื่อย ๆ จนแป้งเนียนได้ที่ แล้วพักไว้ โดยเอาผ้าขาวบางชุบน้ำหมาด ๆ คลุมไว้

ต่อไปเป็นขั้นตอนของการทำ “ไส้ขนมต้ม” สูตรไส้ที่หวานหอมคือการนำมะพร้าวขูดมาคั่วกับน้ำตาลมะพร้าว คั่วไฟอ่อน ๆ จนหอม แล้วทำการเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ ไปเรื่อย ๆ จนไส้เหนียว จนหอมได้ที่ ยกลงพักไว้ให้เย็น แล้วจึงทำการปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ ใส่ถาดเตรียมไว้ และก็ขูดมะพร้าวทึนทึกเป็นเส้น ๆ ใส่ถาดเตรียมไว้ด้วย

เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็นำแป้งที่เตรียมไว้มาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดตามต้องการ แล้วแผ่เป็นแผ่นบาง ใส่ไส้ที่เตรียมไว้ลงไป ปั้นแป้งหุ้มไส้ให้มิด แล้วนำขนมใส่ลงในน้ำเดือด เมื่อขนมสุกจะลอยขึ้นมา ใช้กระชอนตักขึ้นมาให้สะเด็ดน้ำ แล้วนำขนมลงคลุกในมะพร้าวที่ขูดเตรียมไว้ทันที เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย พร้อมขาย

เคล็ดไม่ลับที่ทำให้ขนมต้มและขนมไทยชนิดอื่น ๆ ขายดิบขายดีคือ ความสดใหม่ของวัตถุดิบ ของขนม ที่ทำใหม่ทุกวัน ไม่ค้างคืน รวมถึงสีสันความสวยงามที่ได้จากพืชผักธรรมชาติ

สำหรับเทคนิคการขายเพื่อสร้างจุดขายที่น่าสนใจ นอกเหนือไปจากตัวขนมแล้ว คือภาชนะที่ใส่ โดยเจ้านี้จะใช้กะลามะพร้าวที่ขูดเนื้อออกแล้ว นำมาเป็นภาชนะใส่ขนมขาย ดูเก๋ไก๋ และลูกค้านักท่องเที่ยวก็ถือเดินรับประทานได้สะดวก

ราคาขายขนมต้ม(จิ๋ว)ใบเตย คือ 8 ลูก 10 บาท มีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบประมาณ 60% ของราคา
            
“ขนมต้ม(จิ๋ว)ใบเตย” เจ้านี้ เสาร์-อาทิตย์ขายที่ซอย 4 ตลาดสามชุกร้อยปี จ.สุพรรณบุรี และขายที่ตลาดโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ กรุงเทพฯ เดือนละครั้ง  นอกจากนี้ทางร้านยังมี “ช่องทางทำกิน” เพิ่มเติมจากการรับสั่งทำขนมต้มแดง-ขนมต้มขาว สำหรับใช้ในงานพิธี และรับออกงาน-จัดเลี้ยง ซึ่งหากต้องการติดต่อกับ โอ้-ปิ่นศักดิ์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร.08-1252-6467 ทั้งนี้ ขนมไทยที่ทำได้รสชาติดี ราคาไม่แพง เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจบ้านเรา นี่น่าสนใจในเชิงอาชีพ แต่ที่สำคัญคือควรฝึกฝนการทำให้เชี่ยวชาญ และอย่าคิดแต่ลอกเลียนแบบ ต้องสร้างเอกลักษณ์เป็นของตนเองจึงจะดี
เชาวลี ชุมขำ  :เรื่อง / วรัญญู  เหมือนเดช :ภาพ
.........................................
คู่มือลงทุน...ขนมต้ม(จิ๋ว)ใบเตย
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 4,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคาขาย

รายได้ ขายราคา 8 ลูก 10 บาท
แรงงาน            1 คนขึ้นไป
ตลาด ตลาดนัด, ตามแหล่งท่องเที่ยว
จุดน่าสนใจ ขนมโบราณทานง่ายขายคล่อง

http://www.dailynews.co.th/article/384/148945

แนะนำอาชีพ “ลูกบอลดอกไม้”

งานฝีมือที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ดอกไม้ยังเป็นงานฝีมือที่สามารถพัฒนา ต่อยอดได้อยู่ตลอด ขึ้นกับจินตนาการสร้างสรรค์ของผู้ผลิตแต่ละราย และการปรับใช้ให้เข้ากับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย อย่างงานสร้างสรรค์ ’ฟลาวเวอร์บอล-ลูกบอลดอกไม้“ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอในวันนี้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง...
“เจตน์ โนหล้า” ผู้ผลิตและจำหน่าย “ลูกบอลดอกไม้” เล่าว่า ชิ้นงานนี้ต่อยอดออกมาจากธุรกิจเดิมของครอบครัวซึ่งรับผลิตดอกไม้ประดิษฐ์ ดอกไม้กระดาษสา และอุปกรณ์ตกแต่งเกี่ยวกับดอกไม้ประดิษฐ์ เพื่อจำหน่ายทั้งตลาดขายส่งและขายปลีก สำหรับลูกบอลดอกไม้หรือที่ตลาดส่วนใหญ่มักเรียกว่า “ฟลาวเวอร์บอล” นี้ ตนได้แรงบันดาลใจจากการไปเดินตลาดขายดอกไม้และพบเห็นลูกบอลโฟมที่ใช้ในงาน ประดิษฐ์จำพวกพานพุ่มดอกไม้ จึงเกิดความคิดว่าถ้านำวัตถุดิบที่มีอยู่มาประยุกต์ดัดแปลงเข้ากับลูกบอลโฟม ก็น่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งได้ จึงทดลองทำโดยอาศัยทักษะความชำนาญในการจัดวางตำแหน่งดอกไม้และความรู้ใน เรื่องการใช้คู่สีที่มีอยู่ จนเกิดเป็นชิ้นงานขึ้น

สำหรับลูกบอลดอกไม้นี้ ผลิตและวางจำหน่ายมาได้ 3-4 ปีแล้ว ซึ่งการตอบรับค่อนข้างดี โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มคู่รักคู่แต่งงานกับสตูดิโอเวดดิ้ง นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มลูกค้าที่มารับไปเพื่อนำลูกบอลดอกไม้ไปใช้เป็นส่วน ประกอบเพื่อตกแต่งชิ้นงานเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าต่าง ๆ ด้วย รวมถึงยังมีลูกค้าที่สั่งทำพิเศษเพื่อนำไปใช้ตกแต่งบ้านและงานเลี้ยง

“การตอบรับค่อนข้างดีมาก แรก ๆ ลูกค้าจะถามก่อนว่ามันคือสินค้าอะไร และใช้ทำอะไร ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบเพราะสะดุดตาในเรื่องของสีสันและรูปทรงที่แปลกตาของลูก บอลดอกไม้” เจตน์กล่าว

ช่องทางการขาย เจตน์บอกว่า มีทั้งที่เปิดหน้าร้านจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าเจเจมอลล์ ชั้นล่าง และจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ตและเฟซบุ๊กที่ www.weloveshopping.com/shop/jyflower และ www.facebook.com/makeme frompaper ซึ่งแบบหลังนี่ก็ถือว่าเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่เป็นวัยรุ่น-คนทำงานมากขึ้น ข้อดีของการใช้ช่องทางนี้คือลูกค้าสามารถเลือกสินค้าได้โดยไม่ต้องเดินทาง เข้ามาที่ร้าน ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของลูกค้าได้อย่างดี

ลูกบอลดอกไม้นี้ เจตน์บอกว่า สามารถแตกชิ้นงานออกไปได้เรื่อย ๆ กล่าวคือ นอกจากจะมีลูกบอลดอกไม้สำเร็จรูปแล้วก็ยังสามารถนำลูกบอลดอกไม้ไปดัดแปลงตาม ลักษณะการใช้งาน อาทิ ลูกบอลแขวน, ลูกบอลเข้าช่อใช้แทนช่อดอกไม้ หรือนำไปเสียบคทาก็สามารถใช้เป็นของที่ระลึก เนื่องในโอกาสพิเศษ อาทิ วันเกิด, วาเลนไทน์, รับปริญญา ได้ด้วย นอกจากนี้ ก็ยังสามารถใส่แจกัน, กระถาง หรือประกอบกับปากกา เพื่อใช้แทนของขวัญได้เช่นกัน

“งานลูกบอลดอกไม้นี้สามารถพลิกแพลงต่อยอดออกไปได้ เรื่อย ๆ ขึ้นกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้งาน เรียกได้ว่าไม่ต้องกลัวว่าสินค้าจะตันไอเดีย” ผู้ที่ทำชิ้นงานลูกบอลดอกไม้ระบุ

สำหรับเจตน์ เนื่องจากธุรกิจเป็นลักษณะกึ่งอุตสาหกรรมซึ่งมีการผลิตเป็นจำนวนมาก ต้องผลิตดอกไม้กระดาษจำนวนมากเพื่อขายส่ง จึงต้องลงทุนเรื่องเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องตัดกระดาษ แต่ถ้าหากเป็นคนที่กำลังคิดจะทำเป็นอาชีพเสริมหรืองานอดิเรก เจตน์แนะนำว่าอาจใช้การซื้อวัตถุดิบและวัสดุที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาดมา ใช้ก็ได้

กรณีไม่มีต้นทุนค่าเครื่องจักร ทุนเบื้องต้นที่เป็นค่าเครื่องมือต่าง ๆ ก็ตกประมาณ 500-1,000 บาท ขณะที่ทุนวัตถุดิบทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 60% ของราคาขาย โดยราคาขายอยู่ที่ 50-500 บาท ขึ้นกับขนาด ทั้งนี้ อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ทำ ประกอบด้วย กรรไกร, คัตเตอร์, กาวลาเท็กซ์, ดอกไม้กระดาษพันก้าน, ลูกบอลโฟม, โบ, ริบบิ้น, อุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำลูกบอลโฟมมากำหนดจุดเพื่อจัดวางดอกไม้ เมื่อกำหนดแบบ สีสัน และตำแหน่งดอกไม้ได้แล้ว ให้นำดอกไม้กระดาษพันก้านมาเสียบลงไปในลูกบอลโฟม ก่อนเสียบให้นำก้านไปชุบกาวลาเท็กซ์เพื่อให้ดอกไม้ไม่ขยับหรือหลุดร่วงขณะ ใช้งาน การเสียบอาจเริ่มติดจากดอกใหญ่ก่อน จากนั้นจึงเสียบดอกเล็กแซมลงไปตรงที่ว่างเพื่อเพิ่มรายละเอียด หรือเพื่อสร้างลูกเล่นให้น่าสนใจ

เมื่อเสียบดอกไม้จนครบแล้ว ก็นำลูกบอลดอกไม้มาตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่งต่าง ๆ เช่น โบ ริบบิ้น จากนั้นก็นำไปติดที่แขวน หรือนำไปประกอบกับสินค้าอื่น ๆ ตามต้องการ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

“หลักการสร้างความน่าสนใจ อยู่ที่การเลือกสีและการจัดวางตำแหน่งของดอกไม้ ตรงนี้หากใครที่มีพื้นฐานทางศิลปะหรือมีความรู้เกี่ยวกับงานประดิษฐ์ดอกไม้ มาบ้างก็จะได้เปรียบ” เป็นคำแนะนำที่     เจตน์ทิ้งท้ายไว้
ใครสนใจติดต่อกับเจตน์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2912-3765 หรืออีเมล  jyflowers2001@yahoo.co.th ส่วนตัวสินค้าก็เปิดเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ตามเว็บไซต์ข้างต้น ซึ่ง ’ฟลาวเวอร์บอล-ลูกบอลดอกไม้“ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของงานประดิษฐ์จากดอกไม้ประดิษฐ์ งานต่อยอดที่กลายเป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/article/384/148740

Saturday, August 4, 2012

แนะนำอาชีพ ‘เรไร-รังไร’

เก็บตกจากงานอะเมซิ่ง แกรนด์ เซลล์ ครั้งที่ 11 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อ 26-29 ก.ค. ที่ผ่านมา ในงานมีกิจกรรมมนต์เสน่ห์แห่งขนมไทยและผลไม้ ซึ่ง “ขนมรังไร” หรือ “ขนมเรไร” ขนมชาววังเก่าแก่ มีบรรยายอยู่ในพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานของรัชกาลที่ 2 เป็นขนมที่สวยงามประณีต เหมือนรังนกม้วนสานกันไปมา ก็เป็นหนึ่งในขนมไทยที่โดดเด่นในงานนี้ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับขนมไทยชนิดนี้มานำเสนอ...
 
วรรณภา ป้อมทอง หรือ คุณติ๊ก เจ้าของร้านขนมไทยโบราณแม่ผ่องศรี ซึ่งขายขนมไทยมานานเกือบ 20 ปี เล่าว่า สูตรขนมทั้งหมดของร้านเป็นของแม่ผ่องศรีซึ่งเป็นคุณแม่ ซึ่งตนเองก่อนที่จะมาจับอาชีพขายขนมนั้นทำธุรกิจอื่นมาก่อน ทำมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจอพาร์ตเมนต์ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ในที่สุดคุณแม่จึงแนะนำให้ทำธุรกิจขายขนม ซึ่งคุณแม่จะมาทำและถ่ายทอดให้ จึงได้ลองทำธุรกิจนี้อาชีพนี้กับคุณแม่

“เริ่มต้นด้วยขนมไทย ๆ 4-5 อย่าง เช่น ขนมเหนียว ขนมต้ม ถั่วแปบ วันแรกขายในหมู่บ้านได้เงิน 2,000 บาท แต่ลงทุนด้วยเงินเพียง 500 บาท ตอนนั้นดีใจมาก และคิดว่าใช่ทางของเราแล้ว จึงเริ่มหาที่ขายตามตลาดนัดให้ครบ 7 วัน โดยเพิ่มขนมกล้วย ขนมฟักทอง ขนมใส่ไส้ ซึ่งภายใน 2-3 ปีเท่านั้นก็ฟื้นตัวเลย” วรรณภาเล่า พร้อมบอกว่า ขนมไทยโบราณ ขนมไทยชาววัง หลาย ๆ อย่าง คุณแม่สอนทำเพิ่มให้ในภายหลัง รวมถึง “ขนมรังไร” หรือ “ขนมเรไร”

ขนมชนิดนี้ปัจจุบันมีคนทำขายไม่กี่ราย

อุปกรณ์ในการทำขนมเรไร หลัก ๆ ก็มี กะละมังนวดแป้ง เตาแก๊ส กระทะทองเหลือง รังถึง หม้อต้มกะทิ แม่พิมพ์เรไร และอุปกรณ์ทำขนมเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

วิธีทำ ตามสูตรก็เริ่มจากร่อนแป้งท้าวยายม่อม 400 กรัม ผสมกับแป้งข้าวเหนียว 600 กรัม ผสมแป้ง 2 อย่างให้เข้ากันแล้วพักไว้สักพัก จากนั้นจึงใส่หัวกะทิ 400 กรัมลงนวดกับแป้ง นวดจนเข้ากัน ใช้เวลาประมาณ 20 นาที หรือนวดจนแป้งนุ่ม และมีกลิ่นหอมของกะทิ ก็ใช้ได้

ขั้นต่อไป ตั้งกระทะทองเหลือง ใช้ไฟร้อนปานกลาง ใส่หัวกะทิ 600 กรัมลงไป รอจนหัวกะทิร้อน จึงใส่แป้งที่นวดแล้วลงไปกวน โดยการกวนแป้งนี้ วรรณภาบอกว่า ต้องกวนต่อเนื่องราว 20 นาที กวนด้วยความระมัดระวัง และต้องกวนไปในทิศทางเดียวกัน กวนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแป้งไม่ติดกระทะ และน้ำกะทิซึมเข้าไปในเนื้อแป้งจนหมด จึงนำลงมาพัก โดยคลุมด้วยผ้าขาวบาง พักให้เย็น

ระหว่างนั้นให้ละลายน้ำหวานสีแดง น้ำหวานสีเขียว และน้ำสีฟ้า (ดอกอัญชัน) เตรียมไว้อย่างละ 1 ถ้วย หรือมากกว่านั้นก็ได้ ตามชอบ

แบ่งแป้งเป็น 4 ส่วน ส่วนละเท่า ๆ กัน และนำน้ำหวานสีแดง น้ำหวานสีเขียว และน้ำสีฟ้า ที่เตรียมไว้ ใส่ลงไปในแป้งอย่างละส่วน แล้วนวดให้สีน้ำหวานกับแป้งเข้ากัน ซึ่งถึงตอนนี้จะได้แป้งสีแดง สีเขียว สีฟ้า และอีกส่วนยังเป็นสีขาว

ปั้นแป้งเป็นก้อนกลม ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปกดในพิมพ์ขนมเรไร (ลักษณะคล้ายที่กดกล้วยทับ) ซึ่งโรยแป้งมันไว้ไม่ให้ขนมติดพิมพ์ โดยแป้งที่กดออกมาจากพิมพ์จะมีลักษณะเป็นเส้นกลมเหมือนรังนก

จากนั้น นำเส้นขนมเรไรไปใส่ในรังถึงซึ่งปูรองด้วยใบตองที่ทากะทิไว้ทั่ว นึ่งให้ขนมสุก ใช้เวลานึ่งประมาณ 10 นาที ก็ใช้ได้ พร้อมขาย

“ขนมรังไร” หรือ “ขนมเรไร” นี้ ขายคู่กับ หัวกะทิ ที่เคี่ยวกับใบเตย น้ำตาลทราย เกลือ ให้ได้รสหวาน-มัน-เค็ม และ มะพร้าวทึนทึกขูด น้ำตาลผสมงาขาวคั่ว โดยในการขายขนมเรไรของวรรณภานั้น ต่อ 1 ถุง ที่มีขนมเรไร 8-9 คำ จะขายชุดละ 35-40 บาท โดยมีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบถุงละประมาณ 15-20 บาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
 
ใครสนใจ “ขนมรังไร” หรือ “ขนมเรไร” และขนมไทยอื่น ๆ อาทิ โคกะทิ โคหัวล้าน ขนมไข่ปลา ขนมลืมกลืน ขนมหยกมณี ฯลฯ ต้องการติดต่อ วรรณภา ป้อมทอง ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-1619-2508, 08-6351-3970.
สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : เรื่อง/ภาพ 
..........................................
คู่มือลงทุน...ขนมเรไร-รังไร   
ทุนอุปกรณ์    5,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ 15-20 บาท/ชุด
รายได้  35-40 บาท/ชุด
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ย่านอาหาร, ร้านขนม
จุดน่าสนใจ คู่แข่งที่ทำขายมีน้อย

http://www.dailynews.co.th/article/384/147317

แนะนำอาชีพ “ไม้แขวนเสื้อ”

“พลิกแพลง-เพิิ่มมูลค่า” สำหรับผู้ที่ทำงานแฮนด์เมด งานประดิษฐ์ นี่เป็นหนึ่งคำนิยม เพราะถ้ารู้จักพลิกแพลงนำสินค้าธรรมดาทั่วไปมาสร้างสรรค์ดัดแปลงประดิษฐ์ ตกแต่งใส่ไอเดียเข้าไป จากสินค้าธรรมดาก็สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มราคาขึ้นได้ อย่าง “ไม้แขวนเสื้อ” ที่เพิ่มงานผ้าลายต่าง ๆ เข้าไป จนเกิดเป็น ’ไม้แขวนเสื้อแฮนด์เมด“ ที่ดูสวยงาม มีราคามากขึ้น ที่สำคัญคือสร้างรายได้ให้กับผู้ที่ทำได้เป็นอย่างดี และวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“  ก็มีข้อมูลมาให้พิจารณากัน...
เอก-นภนท์ และ ตาล-วนันท์ญา พิวงศ์ สามีภรรยาซึ่งสร้างสรรค์ “ไม้แขวนเสื้อแฮนด์เมด” จำหน่าย เล่าว่า เป็นคนเพชรบุรี หลังจากที่ไปศึกษาต่อที่พัทยาและได้งานเป็นพนักงานประจำอยู่ที่โรงแรมแห่ง หนึ่งจึงปักหลักอยู่ที่พัทยา ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำงานมาหลายอาชีพ สำหรับงานไม้แขวนเสื้อแฮนด์เมดนี้ เป็นงานที่ทำเป็นอาชีพเสริมรายได้จากงานประจำ ทำตามออร์เดอร์ตามที่ลูกค้าสั่ง โดยจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีความคิดที่จะทำงานเสริมมาก่อน แค่ทำงานเป็นพนักงานกินเงินเดือนอย่างเดียว จนได้เห็นงานไม้แขวนเสื้อที่นำมาตกแต่งด้วยผ้าในเว็บไซต์ต่างประเทศ ก็สะดุดตา

มองว่าเป็นงานที่สวย น่าสนใจ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับไม้แขวนเสื้อธรรมดาให้ดูมีราคามีคุณค่ามากขึ้น และในบ้านเรายังไม่เห็นมีคนทำจำหน่ายมากเท่าไหร่ จึงเกิดความคิดที่จะลองทำงานตัวนี้ออกมาขายเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

หลังจากที่มีความคิดที่จะลองทำงานไม้แขวนเสื้อแฮนด์เมดขาย ก็เริ่มศึกษาวิธีขั้นตอนการทำ ซึ่งจากที่ค้นหาในอินเทอร์เน็ตก็ไม่มีวิธีการทำ จึงตัดสินใจที่จะทดลองศึกษาทำด้วยตนเอง โดยลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ก็เริ่มที่จะรู้วิธีการทำ จนสามารถทำออกมาได้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งก็ยังเป็นรูปแบบที่ไม่สวยมาก แต่ก็สามารถนำไปวางขายได้ โดยเริ่มไปวางขายตามตลาดนัดและก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

เมื่อได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ขายได้ ก็ทำขายเป็นรายได้เสริม และก็พัฒนาสินค้ามาเรื่อย ๆ จนงานออกมาลงตัวมากขึ้น ปัจจุบันทำมาได้ 6 เดือนแล้วกับธุรกิจนี้ จากที่ไปวางขายตามตลาดนัด ก็เปลี่ยนมาเป็นการลงขายผ่านอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้ได้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น มีออร์เดอร์เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นร้านเสื้อผ้า

“งานของเรานั้นเป็นงานแฮนด์เมด ทำขึ้นทีละชิ้นด้วยมือ ไม้แขวนเสื้อจะเป็นทรงแขนตรง ส่วนลวดลายผ้านั้นก็มีหลากหลาย ทั้งลายการ์ตูน ลายดอกไม้ ลายจุด ลายวินเทจ ลูกค้าสามารถสั่งทำตามแบบที่ต้องการได้”

ทั้งคู่ยังร่วมกันบอกต่อไปว่า งานไม้แขวนเสื้อนั้นเป็นงานที่ทำไม่ยาก สามารถฝึกหัดทำได้ เพียงแค่อาศัยความตั้งใจและความพยายาม แต่ที่สำคัญมาก ๆ คือจะต้องมีความประณีตด้วย...

วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำไม้แขวนเสื้อแฮนด์เมด หลัก ๆ ก็มี... ไม้แขวนเสื้อ, ผ้า, ใยสังเคราะห์, เข็ม, ด้าย, กรรไกร, ดินสอ เป็นต้น

ไม้แขวนเสื้อที่จะนำมาทำนั้นจะใช้เป็นแบบที่ทำด้วยลวด ไม่ต้องใช้แบบหนามาก เพื่อที่เวลางอหรือบิดให้ได้รูปทรงตามที่เราต้องการจะทำได้ง่าย ส่วนผ้าที่ใช้นั้นจะใช้เป็นผ้าที่มีเนื้อมัน เพราะเวลาทำออกมางานจะดูดี สวยงามน่าใช้ ซึ่งผ้า 1 เมตร สามารถทำไม้แขวนเสื้อได้ประมาณ 10 อัน และการที่ใช้ใยสังเคราะห์ ก็เพราะจะดีกว่าใช้นุ่น เพราะใยสังเคราะห์จะทำให้ไม้แขวนเสื้อเป็นทรงที่สวยกว่า และไม่เสียรูปง่ายด้วย

ขั้นตอนการทำเริ่มจาก... คัดเลือกลายผ้าที่ต้องการจะนำมาทำ เมื่อเลือกลายผ้าได้แล้วก็นำไม้แขวนเสื้อมาบีบให้แขนนั้นเล็กตามต้องการ และให้มีลักษณะที่แขนของไม้แขวนเสื้อนั้นตรง จากนั้นก็นำไปวางทาบลงบนผ้าที่เตรียมไว้ ใช้ดินสอขีดร่างตามรูปแขนของไม้แขวนเสื้อ ให้ได้ความกว้างประมาณ 1-2 นิ้ว ตามแต่ความต้องการ เมื่อวาดแบบตรงส่วนแขนแล้วก็มาวาดส่วนที่เป็นขอโค้งด้านบนไม้แขวนเสื้อ

เมื่อวาดแบบเรียบร้อยแล้วก็ใช้กรรไกรตัดตามแบบที่วาดไว้ โดยการตัดนั้นให้ตัดเกินเส้นที่วาดไว้เล็กน้อยเพื่อไว้สำหรับเย็บ ตัดแบบแขนไม้แขวนเสื้อมา 2 ชิ้น นำทั้ง 2 ชิ้นมาประกบติดกัน จากนั้นเย็บตามแนวเส้นที่ขีดไว้ เวลาเย็บนั้นจะต้องเย็บให้ถี่ที่สุด เวลากลับด้านต้องไม่เห็นตะเข็บ เย็บไป
เรื่อย ๆ จนเกือบครบรอบ ให้เว้นช่องว่างไว้ด้านบน และกลับผ้าให้ด้านในออกมาด้านนอก

จากนั้นก็นำไม้แขวนเสื้อมาใส่ลงไปในผ้าที่เย็บไว้ ยัดใยสังเคราะห์เข้าไปในผ้า ยัดให้แน่นพอประมาณ นำส่วนผ้าที่ตัดไว้ที่เป็นขอโค้งที่เย็บไว้แล้วมาใส่ลงไปบนขอโค้งด้านบน เย็บติดช่องว่างที่ยัดใยสังเคราะห์ และเย็บติดกับผ้าส่วนขอโค้งให้เรียบร้อย จากนั้นก็นำผ้าที่เป็นลายเดียวกันมาทำเป็นโบหรือดอกไม้ เย็บติดตกแต่งลงไปตรงรอยต่อระหว่างแขนไม้แขวนเสื้อและขอโค้ง เพื่อเป็นการเพิ่มความสวยงามและปิดรอยต่อด้วย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ

ไม้แขวนเสื้อแฮนด์เมดของเอกและตาล มี 2 แบบ ของเด็กและผู้ใหญ่ ราคาขายอยู่ที่อันละ 45 บาท แต่ถ้าสั่งตั้งแต่ 10 ชิ้นขึ้นไปราคาก็จะถูกลง โดยเอกบอกว่า “การลงทุนทำไม้แขวนเสื้อแฮนด์เมดนั้นใช้ทุนเบื้องต้นไม่เกิน 2,000 บาท ก็สามารถทำจำหน่ายได้แล้ว ต้นทุนในการทำไม้แขวนเสื้อนั้นก็จะอยู่ที่ประมาณ 50% ของราคาขาย”
                               
สำหรับผู้ที่สนใจงาน ’ไม้แขวนเสื้อแฮนด์เมด” ของเอกและตาล ต้องการที่จะติดต่อสอบถาม ก็ติดต่อได้ที่ 265/6 หมู่ 6 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี 20150 โทร. 08-9227-2129 หรืออีเมล  naphont@gmail.com

http://www.dailynews.co.th/article/384/147080