Saturday, November 28, 2009

แนะนำอาชีพ'จานด่วนมังสวิรัติ'

“อาหารมังสวิรัติ” เป็นอาหารอีกประเภทที่เริ่มแพร่หลายในชีวิตประจำวันของคนไทยที่ไม่อยากรับ ประทานเนื้อสัตว์ ต้องการรักษาสุขภาพหรือดูแลรูปร่างให้ดูดีไม่มีไขมันส่วนเกิน ซึ่งก็กลายเป็นอีกช่องทางสร้างอาชีพ-สร้างรายได้ที่น่าสนใจ และวันนี้ทางทีมงาน “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลมานำเสนอ..

ประภา อภิพัฒนา หรือ คุณเจี๊ยบ เจ้าของร้านอาหาร “รวมมิตร” ซึ่งขายอาหารหลายประเภท อาทิ อาหารตามสั่ง, ก๋วยเตี๋ยวหลอด, บะหมี่กวางเจา, หมูสะเต๊ะ รวมถึง “อาหารมังสวิรัติ” อยู่ที่ย่านถนนพุทธบูชา กรุงเทพฯ เจ้าตัวบอกว่า สืบทอดกิจการร้านอาหารจากรุ่นคุณยายซึ่งขายอาหารมานานกว่า 30 ปี ซึ่งร้านอาหารของตนนั้นจะเน้นวัตถุดิบที่ปลอดภัย ไม่ใช้ผงชูรส

สำหรับเมนูอาหารมังสวิรัตินั้น คุณเจี๊ยบแนะนำ “จานด่วน” 3 เมนู ได้แก่ สปาเก๊ตตี้ผัดเห็ด/ ผักโขม, ข้าวกระเพราเห็ด 3 อย่าง, หมี่กระเฉดมังสวิรัติ โดยเป็นเมนูที่ทำขึ้นสำหรับออกงานให้กับโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งลูก ๆ คุณเจี๊ยบเรียนอยู่ แต่วันนี้เธอได้บอกเล่าวิธีทำผ่านทีมงานคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน”

เริ่มที่ “สปาเก๊ตตี้ผัดเห็ด/ ผักโขม” มีส่วนประกอบของ เส้นสปาเก๊ตตี้, เห็ดออรินจิ, ผักโขมจีน, แครอท, โหระพา, หอมใหญ่, กระเทียม, พริกขี้หนูแห้งทอด, น้ำมันมะกอก, เนยกระเทียม

เน้นวัตถุดิบคุณภาพดี และวิธีทำถูกต้อง โดยเริ่มที่เส้นสปาเก๊ตตี้ ก่อนใช้ต้องลวกไม่ให้สุกจนเกินไป หมายความว่าแกนข้างในต้องไม่สุก เพราะถ้าลวกสุกทั้งเส้น จะทำให้เส้นเละมากหลังผัด, เห็ดออรินจิ ซึ่งเป็นเห็ดญี่ปุ่น หรือเห็ดเกาหลี เนื้อจะแน่นมาก เพียงแต่ราคาค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยราคา กก.ละกว่า 200 บาท เห็ดนี่ต้องล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ, ผักโขมจีน ต้องลวกก่อน และเพื่อความสดกรอบต้องนำไปแช่น้ำแข็งเอาไว้ก่อนใช้ ส่วนน้ำมันมะกอก ต้องเลือกใช้ประเภทสำหรับผัดหรือทอดเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละประเภทกับที่ใช้ทำน้ำสลัด

วิธีทำ “สปาเก๊ตตี้ผัดเห็ด/ ผักโขม” ตั้งกระทำใส่น้ำมันมะกอก ใส่เห็ดลงไปผัด จากนั้นใส่เนยและกระเทียมสับพอประมาณลงไปผัดด้วย ผัดให้เข้ากันและมีกลิ่นหอมของเนยและกระเทียม ก็ตักขึ้นมาพักไว้

ขั้นต่อไปคือ ตั้งกระทะเจียวหอมหัวใหญ่และกระเทียมให้สุกดี ที่ต้องเน้นให้สุกเพราะถ้าเจียวไม่สุกหอมใหญ่จะเผ็ด กระเทียมก็จะเผ็ดและมีรสระคาย เมื่อเจียวทั้งกระเทียมและหอมใหญ่สุกแล้ว ใส่เส้นสปาเก๊ตตี้ลงไป ตามด้วยแครอทหั่นฝอย จากนั้นตามด้วยเห็ดที่ทำเตรียมไว้ และผักโขมจีนลวก ผัดให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยซอสปรุงรส และเกลือทะเลที่มีแร่ธาตุอื่น ๆ นอกเหนือจากโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
เมื่อผัดเข้ากันจนสุก ปรุงรสจนมั่นใจว่าใช้ได้แล้ว ก็ตักขึ้นได้เลย เวลาเสิร์ฟนั้นโรยหน้าด้วยใบโหระพาใบใหญ่ และพริกขี้หนูแห้งทอด เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย เมนูนี้มีต้นทุนอยู่ที่จานละประมาณ 50 บาท

ต่อด้วย “ผัดกระเพราเห็ด 3 อย่าง” ซึ่งมีส่วนประกอบของ เห็ดฟาง, เห็ดหูหนู และเห็ดนางรม, แครอทหั่นฝอย, ใบกระเพรา, กระเทียมสับ และพริกขี้หนู

วิธีทำ ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันรำข้าว เจียวกระเทียมให้สุก จากนั้นใส่พริกขี้หนูสับลงผัดให้สุก (ถ้าผัดไม่สุก พริกขี้หนูจะเหม็นเขียว) ใส่เห็ด 3 ชนิดที่เตรียมไว้ลงไปผัดด้วย โดยใส่เห็ดนางรมลงไปก่อน เพราะสุกยากกว่าเพื่อน ตามด้วยเห็ดฟาง เห็ดหูหนู และแครอทหั่นฝอย ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายแดง (ให้รสชาติหวานกลมกล่อม-ส่วนน้ำตาลทรายขาวรสชาติจะหวานแหลม), น้ำมันหอย และซอสปรุงรส ผัดจนเข้ากัน เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย

เมนู “ผัดกระเพราเห็ด 3 อย่าง” นี้มีต้นทุนอยู่ที่จานละประมาณ 30 บาท

อีกเมนู “หมี่กะเฉดมังสวิรัติ” ส่วนประกอบก็มี เส้นหมี่อบแห้ง, ผักกระเฉด, โปรตีนถั่วเหลืองเกษตรชนิดเล็ก, พริกขี้หนูสับ, กระเทียมสับ, เห็ด (ตามฤดูกาล)

วิธีทำ แช่เส้นหมี่อบแห้งไว้นาน 3 นาทีเพื่อให้เส้นนุ่ม จากนั้นตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน เจียวกระเทียมและพริกให้สุก เหมือนกับวิธีทำกระเพราเห็ด 3 อย่าง จากนั้นใส่เห็ดลงไปผัดจนสุก ใส่เส้นหมี่ และผัดกระเฉดตามลงไป ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว, ผงซุปเห็ดหอม และน้ำตาลทรายแดง ผัดให้เข้ากันจนสุก เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีต้นทุนจานละประมาณ 40 บาท

ในการขายทุกเมนู ก็บวกส่วนกำไรเข้าไปอีกจานละ 10-15 บาท

ร้านรวมมิตรของคุณเจี๊ยบ ตั้งอยู่ที่ 9/266-267 หมู่บ้านสวนริมคลอง (บางมด) ถนนพุทธบูชา กรุงเทพฯ เปิดขายเวลา 07.00-19.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์กลางเดือน หมายเลขโทรศัพท์คือ 0-2869-3944-5 ใครจะลองชิมก็เชิญได้ ส่วนใครที่ได้ไอเดีย “ช่องทางทำกิน” จาก “อาหารมังสวิรัติ” แล้ว...ก็อย่ารอช้า !!

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=34622&categoryID=525

แนะนำอาชีพ'วุ้นสายรุ้ง'

พูดถึงขนมนิ่ม ๆ ใส ๆ อย่างวุ้น หลายคนอาจนึกถึงแต่วุ้นกะทิ หรือหากเป็นสมัยก่อนที่ผู้เฒ่าผู้แก่รู้จักกันดีก็จะเป็นวุ้นไข่หรือวุ้น สังขยา แต่ไม่ว่าจะเป็นวุ้นอะไร ก็เป็นขนมที่ทำได้ไม่ยาก หาวัสดุอุปกรณ์ในการทำก็ง่าย ราคาไม่แพง อีกทั้งเป็นขนมที่นิยมบริโภคกันทั่วไป ซึ่งเป็นข้อยืนยันว่าขนมชนิดนี้ทำเมื่อไรก็ขายได้ และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลเรื่องวุ้นมานำเสนอ เป็น “วุ้นสายรุ้ง” หลากสี...

ในปัจจุบันเราจะพบการทำวุ้นที่ดัดแปลงรูปแบบหลากหลาย อย่างเช่นวุ้นเค้ก ซึ่งก็เป็นวุ้นกะทิ นิยมทำสลับชั้นแล้วใช้พิมพ์รูปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปสัตว์ ระฆัง โบว์ ใบไม้ หัวใจ ตัวอักษร และผลไม้ ดูแล้วสวยงาม

มาโนชญ์ อินทวงษ์ อายุ 46 ปี เป็นเจ้าของร้านขนมไทย-วุ้นสายรุ้งหลากสี ก็ทำวุ้นแบบดัดแปลงรูปแบบเช่นกัน โดยเจ้าตัวเล่าให้ฟังถึงที่มาของอาชีพนี้ว่า ทำอาชีพค้าขายของกินทั้งคาว-หวานมาหลายอย่างแล้ว อาทิ เค้กกระป๋อง แต่จำต้องเลิกเพราะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ คนตกงาน วัตถุดิบที่ใช้ในการทำขนมขึ้นราคา

ขนมที่ทำจะขายราคาเดิมก็ไม่มีกำไร ขายราคาสูงขึ้นคนก็ซื้อยาก ก็หันไปทำขนมกุยช่ายขายตลาดนัดอยู่พักหนึ่ง

ภายหลังก็เริ่มทำวุ้นขาย โดยจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ได้เรียนรู้ว่าแม้ผลิตภัณฑ์สินค้าชนิดเดียว กัน แต่ถ้าเราทำรูปแบบให้น่าสนใจ ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างคือการบรรจุหีบห่อ เพื่อให้ได้วุ้นที่

น่ารับประทาน เป็นที่สะดุดตา ก็จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งวุ้นสามารถแบ่งตลาดจากเค้กได้ อาจเพราะพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยส่วนใหญ่ไม่เหมาะกับนม-เนย

การทำวุ้นสายรุ้งหลากสี มี 2 ชั้นสลับกัน คือตัววุ้น กับหน้ากะทิ

ส่วนผสมหลักของการทำวุ้นเจ้านี้ ตามสูตรประกอบด้วย... ผงวุ้นอย่างดี ตรานางเงือก (1 ซอง บรรจุ 50กรัม), น้ำลอยดอกมะลิ, น้ำตาลทราย, สีผสมอาหาร, กาแฟ, ใบเตยหอม และกลิ่นมะลิ

วัสดุ-อุปกรณ์... ใช้หม้อต้มสแตนเลส (เบอร์ 28), ทัพพีทรงกลมลึก, ช้อนตวง, ถ้วยตวงน้ำ, ถ้วยตวงแห้ง, ช้อนกาแฟ, ไม้พาย, เตาแก๊ส, ถ้วยแบ่ง, แม่พิมพ์วุ้นรูปแบบต่าง ๆ, ผ้าขาวบาง, ที่ปาดส่วนผสม, กระติกเก็บความร้อน, ขวดที่มีฝาบีบได้, ถ้วยหรือกระบอกสำหรับแบ่งวุ้นเพื่อหยอดพิมพ์

ขั้นตอนการทำ “วุ้นสายรุ้ง”

เริ่มจากทำวุ้นสี นำผงวุ้นที่เตรียมไว้ โรยลงไปในน้ำสะอาด ตามสัดส่วน คือวุ้น 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 2? ถ้วยตวง (ถ้าไม่ใช้น้ำ แต่เป็นกะทิ ก็สัดส่วนเหมือนกัน) ถ้าใช้น้ำ (หรือกะทิ) มากกว่านี้ตัววุ้นจะนุ่ม ไม่ค่อยอร่อย

ใส่ผงวุ้นลงไปในน้ำสะอาดประมาณ 1 นาที เพื่อให้วุ้นได้ดูดน้ำให้เต็มที่ ก่อนจะนำขึ้นตั้งไฟ ควรใช้ความร้อนปานกลางค่อนข้างอ่อนในการเคี่ยว เมื่อวุ้นละลายดีแล้ว จังหวะนี้หากต้องการเติมรส-สีสัน กลิ่น ตามที่ต้องการ เช่น รสกาแฟ ก็ให้ใช้กาแฟชงกับน้ำร้อนในปริมาณเข้มข้น เพื่อหยอดใส่ลงในหม้อวุ้น

เช่นเดียวกับใบเตย นำใบเตยมาปั่นแล้วคั้นน้ำเข้มข้นเติมใส่ลงไปในหม้อเคี่ยววุ้น หากเป็นสีสันอื่น ๆ ก็ให้ใช้สีผสมอาหารละลายกับน้ำสะอาด และใส่กลิ่นต่าง ๆ ตามต้องการ ใส่น้ำตาลทราย เมื่อวุ้นเดือดเคี่ยวต่อประมาณ 5 นาที ก็จะได้วุ้นสีใส เตรียมไว้หยอดลงพิมพ์รูปต่าง ๆ ที่เตรียมไว้
ควบคู่กับการทำวุ้นสี คือการทำส่วนผสมวุ้นกะทิ... ใช้ผงวุ้น, น้ำลอยดอกมะลิ, หัวกะทิ, น้ำตาลทราย และ เกลือ

เริ่มจากผสมผงวุ้นกับน้ำลอยดอกมะลิ ตั้งไฟเคี่ยวจนวุ้นละลายจนหมด จึงใส่น้ำตาลทราย เคี่ยวต่อไปอีกสักครู่จึงใส่หัวกะทิ เกลือ คนให้ส่วนผสมเข้ากัน ตั้งไฟ พอเดือดทั่วใส่กลิ่นมะลิลงไป แล้วยกลง

ตักหยอดวุ้นกะทิสลับกับวุ้นสีที่ทำเตรียมไว้ลงในพิมพ์ เสร็จแล้วปิดท้ายด้วยวุ้นกะทิชั้นบนสุด ก็จะได้วุ้นสายรุ้ง โดยใส่ถ้วยพลาสติกใส ขนาด 180 กรัม จะได้จำนวนประมาณ 20 ถ้วย ขายราคาถ้วยละ 20 บาท

เทคนิคการทำ “วุ้นสายรุ้ง” ให้ออกมาเป็นชั้น ๆ สวยงาม คืออย่าทิ้งผิววุ้นให้แห้ง มิฉะนั้นจะหยอดชั้นต่อไปไม่ติดกัน และทำให้แต่ละชั้นหลุดออกจากกัน

มาโนชญ์บอกว่า ลักษณะวุ้นสายรุ้งของที่ร้านจะมีกลิ่นหอม สีสันสวยงาม เนื้อนิ่ม รับประทานง่าย รสชาติกำลังดี สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณ 4 - 5วัน

ผู้ที่สนใจอยากมีอาชีพเสริมหรือจะยึดเป็นอาชีพหลัก ด้วย “วุ้น” ก็ลองฝึกทำกันดู แต่หากคิดอยากจะทำขาย เริ่มต้นควรหาตลาดก่อน ว่าจะขายยังไง ตรงไหน ดูกลุ่มลูกค้าว่าชอบวุ้นแนวไหน ทั้งนี้ วุ้น-วุ้นสายรุ้งนี้ยังเหมาะที่จะใช้ในงานประชุมสัมมนา ทำบุญเลี้ยงพระ เป็นของฝากของขวัญในเทศกาลงานปีใหม่ โดยใครต้องการจะติดต่อกับเจ้าของ “วุ้นสายรุ้ง” ที่ว่ามา ติดต่อได้ที่ โทร.08-5481-1152, 08-1939-9019

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=33334&categoryID=525

แนะนำอาชีพ‘ซูชิข้าวกล้อง’

อาหารว่างประเภท “ซูชิ” ปัจจุบันมีการทำขายทั้งตามข้างทาง ตลาดนัด หรือในห้างสรรพสินค้า มีตั้งแต่ราคาย่อมเยาไปจนกระทั่งราคาภัตตาคาร ซึ่งใครคิดจะทำขายบ้างก็คงต้องฉีกแนวเพื่อหา กลุ่มลูกค้าของตนเอง และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ นั่นก็คือ “ซูชิข้าวกล้อง”

“ชูซิข้าวกล้อง” เกิดขึ้นจากแนวคิด ความสุขในการทำ ไม่เครียดในการขาย ของผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชนคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า “ชูชื่น พลอยเกษม” หรือ คุณต๋อย เจ้าของซูชิข้าวกล้อง “มิโดริ” ซึ่งเจ้าตัวเล่าว่า ซูชิข้าวกล้องนี้เกิดขึ้นจากการทำแจกในหมู่เพื่อน ๆ จนมีการเชียร์ให้ทำขาย และมีการคิดให้เป็นซูชิเพื่อสุขภาพ โดยใช้ข้าวกล้องที่มีประโยชน์ โดยเมื่อทำออกมาแล้วมีรสชาติไม่แตกต่างไปจากของต้นตำรับ

การทำ “ซูชิข้าวกล้อง” ขาย คุณต๋อยจะทำวันต่อวัน โดยวางขายในโรงเรียนที่ลูกเรียนอยู่ ปกติจะมี 12-13 หน้า อาทิ สลัดทูน่า, สลัดกุ้ง, สลัดปู, สาหร่ายปู, ไข่กุ้งส้ม, ปลาไหล, กุ้งต้ม, ปูอัด, ครีบหอยเชลล์, ปลาหมึก ฯลฯ โดยส่วนผสมที่เป็นหน้าต่าง ๆ ของซูชินั้น หาซื้อได้ในห้างสรรพสินค้าที่มีการขายเครื่องปรุงอาหาร

ราคาขายส่วนใหญ่ชิ้นละ 10 บาท ยกเว้นหน้าไข่หวาน มากิหมู-มากิปู ขายชิ้นละแค่ 5 บาท

การหุงข้าวทำซูชิ หรือข้าวปั้น ถ้าใช้ข้าวประมาณ 16 กระป๋องตวงข้าวเล็ก ๆ จะทำได้ประมาณ 300 ชิ้น โดยสัดส่วนหรือส่วนผสมตัวข้าวโดยประมาณคือ ข้าวญี่ปุ่น 60% ข้าวกล้อง 20% และข้าวหอมมะลิอีก 20%

เทคนิคการหุงข้าว นั้น คุณต๋อยบอกว่า ข้าวไทยจะมีปัญหามากกว่าข้าวญี่ปุ่น เพราะมีทั้งข้าวใหม่และข้าวเก่าที่ใช้ปริมาณน้ำในการหุงไม่เท่ากัน แต่โดยพื้นฐานของสูตรแล้ว จะทยอยหุงคราวละ 4 กระป๋อง โดยจะใช้น้ำ 5 กระป๋อง โดยถ้าหุงออกมาแล้วข้าวแฉะเกินไป ก็ต้องลดปริมาณน้ำในคราวต่อไป ถ้าแข็งก็ต้องเพิ่มน้ำมากขึ้น ทดลองทำอย่างนี้ก่อนจนกว่าจะได้มาตรฐานการใส่น้ำสำหรับข้าวที่ซื้อมาแต่ละ ลอต

หน้าสลัด จะมี 3 หน้าคือ สลัดทูน่า สลัดกุ้ง และสลัดปู ส่วนผสมของสลัดคือ แตงกวา แครอท ผสมน้ำสลัด และทูน่า หรือกุ้ง หรือปูอัด

ซูชิมากิหมู หมูต้องหมักกับซีอิ๊ว และกระเทียม แล้วนำไปทอด ซึ่งเวลาห่อกับข้าวจะใส่ซอสมายองเนสด้วย เพื่อความอร่อย อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการห่อนั้นขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน

หน้าไข่หวาน สัดส่วนคือไข่ไก่ 3 ฟอง ผสมกับสาเก 1.5 ช้อนตวง และน้ำตาลทราย 1.5 ช้อนตวง นำไปทอดในกระทะซึ่งใส่เนยลงไปในน้ำมันเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติความหอมให้ กับไข่หวาน การทอดไข่หวานนั้นต้องใช้ไฟในระดับอ่อนสุด เพื่อให้สุกทั่ว

การห่อซูชิ ห่อได้หลายแบบ ถ้าเป็นแบบกลม ๆ และ รี ๆ โดยเป็นแบบสาหร่ายพันข้าวนั้น ใช้เสื่อญี่ปุ่น และแผ่นสาหร่ายสำหรับทำซูชิเป็นอุปกรณ์และวัสดุสำคัญ โดยตักข้าวกะในปริมาณที่พอดี ๆ ม้วนออกมาแล้ว สามารถตัดออกเป็นชิ้น ๆ โดยกะให้ตัดออกมาได้ประมาณ 8 ชิ้น

หน้าซูชิที่ใช้ข้าวปั้นแบบกลม ๆ คือ หน้าปลาไหล, ไข่กุ้งส้ม, ปลาหมึก, สลัดหน้าต่าง ๆ และหน้าสาหร่ายที่โรยงาขาวคั่วไว้ด้านบน ซึ่งงาขาวคั่วสำหรับโรยหน้าสาหร่าย และสำหรับการทำอุระมากิซูชิ ซึ่งเป็นการห่อด้วยการนำสาหร่ายไว้ด้านในเอาข้าวไว้ด้านนอก เมื่อหั่นออกมาแล้วนำไปคลุกงานั้น งาที่ใช้ต้องคั่ววันต่อวัน

ส่วนซูชิที่พันออกมาเป็นแบบรี ๆ คือ หน้าปลาหมึก

ซูชิที่เป็นมากิหมู–ปูอัด จะบิดออกมาให้เป็นแบบสามเหลี่ยม เพราะต้องการจัดเรียงซูชิให้เป็นรูปดอกไม้ โดยจะต้องวางไส้ด้านใน มีแตงกวา และแครอท และเพิ่มมายองเนสลงไปเพื่อรสชาติที่กลมกล่อมขึ้น

หน้าไข่หวาน ปูอัด และกุ้งต้มนั้น จะต้องปั้นข้าวออกเป็นชิ้น ๆ ลักษณะออกรี ๆ วางหน้าต่าง ๆ ไว้ด้านบน แล้วพันด้วยสาหร่ายด้านบน
การทำ “ซูชิข้าวกล้อง” ของคุณต๋อยนั้น จะทำวันต่อวัน เน้นใช้วัสดุ-วัตถุดิบที่ต้องสดและสะอาดเป็นหัวใจสำคัญของการขาย ขณะที่การตั้งราคาขายนั้นก็ตั้งในระดับที่ซื้อง่าย-ขายคล่อง เอากำไรแบบพอประมาณ พอดี ๆ ไม่เน้นทำกำไรมาก เพราะคุณภาพอาจจะลดลง

ใครสนใจ “ซูชิข้าวกล้อง” ต้องการติดต่อ คุณต๋อย-ชูชื่น พลอยเกษม ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1257-9820 และ 08-9815-4711 ส่วนใครที่คิดจะทำซูชิขาย นอกจากสูตรการทำที่เป็นสแตนดาร์ดโดยทั่วไปแล้ว ก็อย่าลืมคิดหา “จุดเด่น-จุดแปลกใหม่” เพื่อเป็น “จุดขาย” ด้วย !!.
ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=32003&categoryID=525

แนะนำอาชีพ'สาคูแคนตาลูปนมสด'

“สาคูแคนตาลูปนมสด” เป็นขนมหวานที่ประยุกต์จากสาคูน้ำกะทิ ขนมบ้าน ๆ ที่แสนจะธรรมดา พัฒนาปรับปรุงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขนม ทั้งรสชาติและตัวขนม ผสมผสานเข้ากันจนลงตัวพอดี แถมยังเติมแต่งด้วยผลไม้ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ จนเป็นที่ถูกอกถูกใจลูกค้า ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมาเล่าสู่...

ดวงใจ จิระวัฒนานันท์ เจ้าของธุรกิจขนมผลไม้นมสด “ซอฟท์ฟรุท” (Soft – Fruit) เล่าให้ฟังว่า สูตรขนมเพื่อสุขภาพนี้พี่สาวเป็นคนคิด เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ รวมถึงแบ่งปันให้กับญาติ ๆ เพื่อน ๆ และผู้ที่มาร่วมทำบุญ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดว่าสูตรขนมดังกล่าวนี้จะกลายเป็นอาชีพหลัก เพราะก็มีงานประจำที่มั่นคงทำอยู่แล้ว แต่หลังจากทำขายเป็นอาชีพเสริมอยู่ระยะหนึ่งก็เล็งเห็นว่าธุรกิจตัวนี้น่าจะ ไปได้สวย จึงลาออกจากงานประจำ เพื่อมาสร้างธุรกิจนี้อย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อเดือน ส.ค. 2552 ที่ผ่านมา

“คนที่ได้ชิมขนมของเราเขาชอบ มีร้านค้ามาขอให้ทำไปวางขายที่ร้านของเขา จึงทำแบบสมัครเล่นเป็นอาชีพเสริมอยู่ 5 ปี จนมีลูกค้าประจำ ทำให้มั่นใจถ้าทำเต็มตัวน่าจะไปรอด จึงลาออกจากงานมาลุยเต็มตัว”

จุดเด่นของขนมชนิดนี้คือความสด หอมหวาน จากส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มาจากธรรมชาติ ที่ผสมกัน
แล้วเกิดเป็นรสชาติแปลกใหม่ที่ลงตัว กินแล้วชื่นใจ และยังให้คุณค่าอาหารครบหมู่ โดยรสชาติไม่หวานเกินไป

สำหรับส่วนผสมหลัก ๆ ที่ใช้ในการทำ “สาคูแคนตาลูปนมสด” ก็ได้แก่ นมสดพาสเจอร์ไรส์, แคนตาลูป, สาคูเม็ด, มะพร้าวอ่อน, ลูกตาลอ่อน, น้ำสะอาด และน้ำตาลทราย

ส่วนอุปกรณ์ก็เป็นพวกหม้อสแตนเลสหลายขนาด, ทัพพี, ไม้พาย, เตาแก๊ส, ผ้าขาวบาง, ตะแกรง, กระชอน, ที่ตักผลไม้หรือพิมพ์กดวุ้น และอุปกรณ์เครื่องครัวเบ็ดเตล็ด

ขั้นตอนการทำ “สาคูแคนตาลูปนมสด” เริ่มจากการทำน้ำเชื่อมเข้มข้นเตรียมเอาไว้ก่อน ใช้น้ำสะอาด ผสมกับน้ำตาลทราย อันตราส่วน 1 : 1 ใส่หม้อแล้วนำขึ้นตั้งไฟให้เดือดจัดสักครู่ จึงยกลงทิ้งไว้ให้เย็น

ขั้นต่อไปนำน้ำสะอาดใส่หม้อพอประมาณ ยกขึ้นตั้งไฟปานกลาง ระหว่างรอน้ำเดือด ให้เทสาคูเม็ดใส่กระชอนตาห่าง ร่อนเอาฝุ่นผงออก แล้วทำการล้างสาคู โดยการเปิดน้ำก๊อกให้ไหลผ่านตะแกรง

ห้ามใช้มือลูบ เพราะจะทำให้เม็ดสาคูเสียหาย !!

พอน้ำเดือด เทสาคูใส่ลงไปในหม้อ ใช้ทัพพีคนให้สาคูกระจายอย่างรวดเร็ว ทำการคนไปเรื่อย ๆ จะได้โดนความร้อนทั่วถึง เวลาสาคูพองจะได้พองเสมอกัน และเป็นการกันสาคูติดหม้อด้วย พอสาคูพองขึ้น น้ำจะค่อย ๆ ลดลงไป หากสาคูเม็ดยังไม่ใสให้เติมน้ำต้มต่อ ให้สังเกตดูจุดขาวตรงกลางในเม็ดสาคูจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเม็ดสาคูใส จึงใส่น้ำตาลตามลงไปในหม้อสาคูเล็กน้อย เพื่อให้ตัวสาคูมีความหวานในตัวบ้าง

ระหว่างที่รอสาคูสุก นำแคนตาลูปที่เตรียมไว้มาผ่าครึ่ง ทำการคว้านเอาเม็ดกับไส้ออกให้หมด ใช้ที่ตักผลไม้ตักเป็นลูกกลม ๆ ถ้าไม่มีที่ตักก็ใช้มีดหั่นเป็นชิ้น ๆ หรือจะใช้พิมพ์กดวุ้นกดเป็นรูปแบบที่สวยงามก็ได้

ส่วนมะพร้าว ใช้ช้อนหรือที่ตักทำการตักเป็นชิ้นพอคำ และลูกตาลก็ใช้ที่กำลังดี ไม่อ่อน-ไม่แก่เกินไป ปอกเปลือกแล้วนำไปล้าง หั่นเป็นชิ้นยาวขนาดตามต้องการ แล้วเก็บไว้ในตู้เย็น เตรียมไว้

พอสาคูเม็ดใสดีแล้ว ยกลงจากเตา เทใส่กระชอนอีกครั้งแล้วล้างเอาเมือกแป้งออกด้วยน้ำเย็น สาคูจะร่วนไม่เกาะติดกัน ตักสาคูใส่ภาชนะที่สะอาด ค่อย ๆ เทนมสดใส่ตามลงไป คนให้สาคูกับนมสดเข้ากัน ตามด้วยลูกตาล และมะพร้าวอ่อน ถ้านมสดน้อยไปก็สามารถเติมได้ตามชอบ ลองชิมดู หากหวานไม่พอให้เติมน้ำเชื่อมที่ทำเตรียมไว้ลงไป มาก-น้อยก็ตามชอบ แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็น

เวลาเสิร์ฟ ตักสาคูใส่ถ้วย ตามด้วยแคนตาลูป ลูกตาล และมะพร้าว ก็จะได้ขนมที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน กินแล้วชื่นใจ และไม่อ้วน ซึ่งดวงใจบอกว่าขนมผลไม้นมสดของเธอเป็นสูตรเฉพาะ จะพิเศษตรงรสชาติขนมที่มีความหอมหวานโดยไม่ต้องพึ่งกะทิ เพราะใช้น้ำนมสด และไม่ใส่สารกันบูด สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 3 วัน อย่างไรก็ตาม ทางร้านจะเน้นมากที่ความสด ผลิตวันต่อวัน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ราคาขาย “สาคูแคนตาลูปนมสด” หรือขนมผลไม้นมสดนี้ เมื่อบรรจุถ้วยพลาสติกขนาด 100 กรัม ขายปลีกถ้วยละ 30-35 บาท ขึ้นอยู่กับสถานที่นำไปขาย

“สาคูแคนตาลูปนมสด” นี้ นอกจากขายทั่วไปแล้วยังสามารถนำไปใช้ในงานจัดเลี้ยงต่าง ๆ หรืองานสัมมนา และปกติแล้วดวงใจก็จะนำสินค้าออกขายตามงานแฟร์ ออกบูทตามงานต่าง ๆ ส่วนถ้าใครต้องการสั่งไปใช้หรือนำไปขายต่อ ก็ติดต่อสอบถามกับดวงใจที่ โทร.08-1558-0028, 08-6572-5959 ได้ทุกวัน

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=30650&categoryID=525

แนะนำอาชีพ‘ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัว’

“ช่องทางทำกิน” วันนี้ทางทีมงานมีเมนูอาหารที่ทำทานก็ได้-ทำขายก็ดี 2 เมนูมาบอกกล่าวกัน นั่นก็คือ “ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” และ “ยำส้มโอ” สูตรของผู้ที่มีดีกรีเวทีประกวดอาหาร...

ปรเมศน์ วงษ์ศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 แผนกอุตสาหกรรมการบริการอาหาร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นเจ้าของตำแหน่งรองชนะเลิศจากการแข่งขันทักษะการทำอาหารจานเดียวจากข้าว และบัว ในงาน “เทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สืบสานตำนานบัวหลวง รวงข้าวไทย” เจ้าของเมนูข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ได้โจทย์อาหารเป็นอาหารจานเดียวทำจากข้าวและบัว และให้คงแนวคิดแบบไทย ๆ ไว้ด้วย จึงเป็นที่มาของเมนูอาหารดังกล่าว

“บัว” นั้น นอกจากดอกที่นิยมใช้บูชาพระแล้ว ส่วนประกอบอื่น ๆ ของบัวก็นำมาใช้ทำอาหารได้หมด โดย “ไหลบัว” คือส่วน “หน่อ” ที่ยื่นจากบัวหลวงต้นแม่ออกไปด้านข้าง เพื่อเกิดเป็นบัวต้นใหม่นั่นเอง

รสชาติของไหลบัวก็คล้าย ๆ กับสายบัว แต่กรอบแน่น และกรอบได้ทนกว่าสายบัว เมื่อซื้อมาแล้วก็ล้างให้สะอาด แล้วหั่นเฉียง ๆ แช่น้ำเกลืออ่อน ๆ เอาไว้ ไหลบัวนี้ทานได้เลยไม่ต้องลอกเปลือก ไม่เหมือนกับสายบัวที่ต้องลอกเปลือกก่อน ซึ่งในการทำข้าวผัดนั้น ถ้าใช้ปริมาณข้าวสวย (ข้าวหอมมะลิ) จำนวน 3 กก. จะใช้ไหลบัวประมาณ 600 กรัม โดยไหลบัวนี้มักจะแบ่งขายเป็นมัดละ ๆ 300 กรัม ราคามัดละประมาณ 25 บาท

น้ำพริกกะปิ ที่ใช้ทำ “ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” ส่วนประกอบตามสูตรจะใช้กะปิอย่างดี 750 กรัม ห่อใบตองนำไปเผาไฟหรือนาบกับกระทะร้อน ๆ ให้พอสุกและมีกลิ่นหอมของกะปิออกมา จากนั้นนำไปตำกับพริกขี้หนู 100 กรัม, กระเทียม 200 กรัม ปรุงรสด้วยน้ำปลา 250 กรัม, น้ำมะนาว 500 กรัม และน้ำตาลปี๊บ 200 กรัม ตำให้เข้ากัน ตักขึ้นพักไว้ แต่งหน้าน้ำพริกด้วยเม็ดบัวต้ม 250 กรัม และมะเขือพวง 200 กรัม การผัดข้าวกับน้ำพริกนั้น เคล็ดลับอยู่ที่การผัดน้ำมันกับ มันกุ้ง ก่อน จากนั้นค่อย ๆ ทยอยใส่ข้าวสวยลงผัดเพื่อให้ออกสีสัน และค่อย ๆ เทน้ำพริกลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยกะปริมาณข้าว มันกุ้ง และน้ำพริกกะปิในแต่ละกระทะให้พอดีกัน เมื่อผัดเสร็จก็อุ่นไว้ในหม้อหุงข้าว เมื่อจะทาน-จะขายก็อุ่นด้วยการผัดอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนเครื่องเคียงของ “ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” ใช้กลีบ ดอกบัวชุบแป้งทอด รากบัวต้มชุบแป้งทอด (หรือสายบัวต้ม) และไหลบัวสด รวมทั้งกุ้งลวก และไข่เค็ม

ปรเมศน์บอกว่า จากปริมาณข้าวสวย 3 กก. และวัตถุดิบอื่น ๆ ตามปริมาณที่ว่ามาข้างต้นนั้น จะสามารถจัดชุด “ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” ได้ประมาณ 50 ชุด ขายได้ในราคาชุดละ 40-50 บาท ซึ่งถ้าขายหมดก็จะมีรายได้ประมาณ 2,000-2,500 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,500 บาท หรือราว 50-60%

ต่อกันด้วยสูตร “ยำส้มโอ” เป็นสูตรของ อานนท์ พงษ์ จิวานิช นักศึกษาชั้นปี 3 แผนกอาหารและโภชนาการ สถาบันเดียวกันกับรายแรก รายนี้เป็นเจ้าของรางวัลชนะเลิศระดับภาคจากการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติ ครั้งที่ 23 สาขาประกอบอาหารไทย ซึ่งเจ้าตัวก็ได้เปิดเผยสูตรการทำยำส้มโอ

ส่วนประกอบของยำส้มโอ ตามสูตรนี้ก็มี เนื้อส้มโอแกะ 150-200 กรัม (ใช้ส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง หรือขาวแตงกวา ไม่นิยมพันธุ์ทองดี เพราะมีน้ำมาก เมื่อยำแล้วเนื้อจะแฉะและเละง่าย), กะทิ 1 ช้อนโต๊ะ, กุ้งลวก 2-3 ตัว, หอมเจียว 1 ช้อนโต๊ะ, เนื้อมะพร้าวขูดคั่ว 1.5 ช้อนโต๊ะ, หอมแดงคั่ว (ตำ) 1 หัว, กระเทียม (ตำ) 1 หัว, ปลาแห้งป่น 1 ช้อนโต๊ะ, พริกแห้งป่น 1 เม็ด
นำส่วนผสมมายำรวมกัน แล้วปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก (เคี่ยวให้งวด) 3 ช้อนโต๊ะ และน้ำตาลปี๊บ กับน้ำปลา อย่างละพอประมาณ เมื่อปรุงรสได้ที่แล้วก็โรยหน้าด้วยใบมะกรูดและพริกชี้ฟ้าแดงหั่นฝอย

อานนท์บอกว่า ส้มโอ 1 ผล จะทำเป็น “ยำส้มโอ” ได้ประมาณ 7-8 ชุด ขายได้ในราคาชุดละ 30 บาทขึ้นไป โดยที่ต้นทุนวัตถุดิบต่อชุดจะประมาณ 20 บาท หรือประมาณ 60-70% จากราคาขาย

“ข้าวผัดน้ำพริกไหลบัวกุ้งสด” และ “ยำส้มโอ” เป็นอีก 2 เมนูอาหารที่น่าลองทำขาย ซึ่งจะขายคู่กันทั้ง 2 เมนูก็เข้าที ซึ่งถ้าใครต้องการพูดคุยกับเจ้าของสูตรก็ติดต่อสอบถามไปได้ที่คณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โทร. 0-2282-8531-2 ในวัน และเวลาราชการ.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=29300&categoryID=525

แนะนำอาชีพ‘บัวลอยแฟนซี-มีไส้’

การนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าติดตลาดได้ง่ายขึ้น อย่างกรณีการนำเอาขนมหัวล้านของชาวใต้ มาประยุกต์กับขนมบัวลอย-ไข่หวาน ภายใต้ชื่อ “ขนมบัวลอยบ้านยะลา (มีไส้)” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอวันนี้ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีภายในเวลาอันรวดเร็ว

อานนท์ ยะมานนท์ หนุ่มใหญ่วัย 41 ปี อพยพครอบครัวจากใต้สุดแดนสยาม เข้ามาทำกินในเมืองกรุงด้วยขนมบัวลอย หลายคนที่เคยชิมฝีมือขนมหวานของอานนท์ อาจจะนึกว่าต้องเป็นสูตรเด็ดเคล็ดลับการทำขนมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษแน่ ๆ เพราะทั้งหอม ทั้งหวานพอดี ทั้งมัน รวมแล้วอร่อยจังหู แต่พอถามไถ่ได้ความ ก็ทราบว่าเพิ่งทำ “บัวลอยแฟนซี-มีไส้” ขายหลังจากคุณแม่เสียไป เมื่อ 2 ปีมานี้เอง

“ผมฝันถึงแม่ ท่านมาบอกว่าชั่วโมงนี้ทำขนม ขายของกิน จะดีที่สุด ผมก็มานั่งคิดว่าของกินที่ว่าคืออะไร ที่นึกได้ในตอนนั้นคือ ขนมหัวล้านปักษ์ใต้ ขนมชนิดนี้จะเป็นที่นิยมกันในละแวกบ้านจังหวัดยะลาและปักษ์ใต้เท่านั้น คนกรุงเทพฯ ไม่รู้จัก แล้วจะขายได้ยังไง จากนั้นผมก็มาคิดต่อยอดสูตรการทำและดัดแปลงทดลองทำ เสียของไปไม่น้อย กว่าจะได้มาเป็นขนมบัวลอยมีไส้แฟนซีอย่างทุกวันนี้”

คุณแม่ของอานนท์เป็นคนทำขนมเก่ง ขนมหวานทุกชนิดทำขายหมด เป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว จากการที่คลุกคลีอยู่กับขนมหวาน อานนท์จึงซึมซับการทำขนมมาตั้งแต่เล็ก และจากขนมหัวล้านสูตรดั้งเดิมที่เป็นข้าวเหนียวสีขาวล้วน ๆ ก็ถูกเขาแต่งแต้มด้วยสีสดใสจากพืชพรรณธรรมชาติ กลายเป็นขนมแฟนซีสีสันสะดุดตาสวยงามน่ารับประทานยิ่งขึ้น อาทิ สีส้มจากแครอท สีเหลืองจากฟักทอง สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน สีขาวนวลจากเผือก และสีดำจากข้าวเหนียวดำ

วัสดุอุปกรณ์ในการทำอาชีพนี้ หลัก ๆ ก็มีเตาแก๊ส, รังถึง, หม้อ, ทัพพีกลม, กะละมังสเตนเลสหลายขนาด, กระทะทองเหลือง, ไม้พาย, ถาดสเตนเลส, หม้อหุงข้าวไฟฟ้า, ถุงพลาสติก และอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

สำหรับวัตถุดิบและส่วนผสมที่ใช้ในการทำขนมบัวลอยแฟนซี-มีไส้ ตัวไส้ขนม ก็ใช้... ถั่วเหลือง, หัวกะทิ, น้ำตาลทราย และเกลือ และ ตัวแป้งห่อไส้ จะใช้... แป้งข้าวเหนียวอย่างดี, น้ำสีธรรมชาติที่คั้นจากพืช เช่น สีส้มจากแครอท สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน สีขาวนวลจากเผือก สีเหลืองจากฝักทอง สีดำจากข้าวเหนียวดำ

การทำ “บัวลอยแฟนซี-มีไส้” ต้องเริ่มจากทำตัวไส้ขนมก่อน โดยนำถั่วเหลืองมาเลาะเปลือกล้างให้สะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง เสร็จแล้วนำถั่วที่แช่แล้วไปนึ่งในรังถึงให้สุก นำขึ้นมาทิ้งไว้สักพัก ก่อนจะนำถั่วไปบดให้ละเอียด เสร็จแล้วก็นำไปกวนเป็นไส้ โดยนำถั่วที่บดละเอียดใส่ลงกระทะ ตามด้วยหัวกะทิ น้ำตาลทราย เกลือ ทำการกวนส่วนผสมให้เข้ากัน ใช้ไฟอ่อน กวนไปเรื่อย ๆ จนผสมเหนียวขนาดปั้นได้ จึงยกลงจากเตาพักไว้ให้เย็น ก่อนจะปั้นเป็นก้อนกลมเล็ก ๆ ตามขนาดที่ต้องการ พักไว้สำหรับทำเป็นไส้ขนม

ต่อไปทำตัวแป้งห่อไส้ เริ่มจากการทำน้ำผสมสีธรรมชาติที่คั้นจากพืชผักเตรียมเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงนำแป้งข้าวเหนียวในปริมาณพอเหมาะเทใส่กะละมัง ใส่น้ำร้อนลงไปเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ใส่น้ำสีผสมธรรมชาติที่ต้องการลงไปพอสมควร แล้วทำการนวดแป้งผสมสีให้เข้ากัน นวดไป เรื่อย ๆ สังเกตดูลักษณะตัวแป้งว่าจับกันเป็นก้อน มีน้ำหนัก ทั้งนุ่มและเนียนดี ก็เป็นอันใช้ได้ ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำบิดพอหมาด ๆ คลุมปิดไว้ไม่ให้แป้งแห้ง

จากนั้น เป็นการทำ น้ำเชื่อมและน้ำกะทิสด น้ำเชื่อมส่วนนี้เอาไว้หล่อขนม โดยนำน้ำตาลทรายต้มกับน้ำสะอาดให้เดือด และสัดส่วนพอเข้มข้น พอเดือดยกลงตั้งไว้ให้เย็น ก่อนเทใส่ในถาดเตรียมไว้ ส่วนน้ำกะทิสด เอาหัวกะทิล้วน ๆ ผสมน้ำตาลและเกลือนิดหน่อยเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม ทำการต้มและอุ่นกะทิด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าตลอดเวลา เพื่อป้องกันการเสียง่าย น้ำกะทิสดนี้สามารถเก็บไว้ได้นาน 4 วัน

ต้มน้ำในหม้อให้ร้อนจัด แล้วจึงค่อย ๆ ปั้นแป้งห่อไส้ถั่วกวนที่เตรียมไว้ทีละลูก วางลงในภาชนะ พอได้ปริมาณพอสมควร ค่อย ๆ หย่อนใส่ลงหม้อต้มน้ำ เมื่อตัวแป้งสุกจะลอยขึ้นมา ใช้กระชอนตักขึ้นมาใส่ในถาดซึ่งมีน้ำเชื่อมหล่อเตรียมไว้ เพื่อช่วยไม่ให้เม็ดแป้งที่ต้มสุกแล้วคืนตัวเร็ว ก่อนจะไปผสมกับน้ำกะทิสด

ส่วนการทำ ไข่หวาน ก็ตอกไข่ใส่ลงไปต้มในน้ำเชื่อม โดยเจ้านี้จะทำแบบให้ไข่แดงเป็นยางมะตูม และมีความเหนียวนุ่ม เตรียมไว้สำหรับลูกค้าที่ชอบรับประทานบัวลอยโดยใส่ไข่หวานด้วย

การเสิร์ฟ-การขาย ให้ตักบัวลอยใส่ถ้วย แล้วตักน้ำกะทิสดราดตามลงไป โดย “บัวลอยแฟนซี-มีไส้” นี้ 8 ลูก ขาย 25 บาท ถ้าใส่ไข่หวาน 1 ฟองด้วย ก็ 35 บาท ซึ่งด้วยการเน้นคุณภาพ ความสะอาด และความเป็นธรรมชาติ ราคานี้ลูกค้าก็ไม่เกี่ยงงอน

“บัวลอยแฟนซี-มีไส้” ขายอยู่ที่เสรีเซ็นเตอร์ ชั้น G โซนอาหาร และที่กรมส่งเสริมการส่งออก รัชดาฯ รวมถึงมีการไปออกบูธ-ออกร้านตามงานต่าง ๆ ด้วย ใครต้องการติดต่ออานนท์ ก็ โทร. 08-7590-9883.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=27984&categoryID=525