Sunday, January 30, 2011

แนะนำอาชีพ 'ขนมดอกกระโดน'

อาหารการกินประเภทพื้นบ้าน-โบราณ ยุคนี้กลับมาได้รับความนิยมทั่วไป รวมถึงขนมที่เป็นที่นิยมของชาวใต้ อย่าง “ขนมดอกกระโดน” ซึ่งควรค่าแห่งการอนุรักษ์ และก็ยังเป็นอีกตัวอย่างที่บ่งชี้ว่าขนมพื้นบ้าน-ขนมโบราณ ยังเป็น “ช่องทางทำกิน” ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว อย่างเช่นรายที่ทางทีมงานมีข้อมูลมานำเสนอวันนี้...

@@@@@

นาริสา สุระคำแหง เจ้าของสูตรขนมลูกโดนหรือดอกกระโดน บอกว่า ขนมชนิดนี้เป็นขนมพื้นบ้านชาวปักษ์ใต้ เป็นขนมทานเล่นกับน้ำชากาแฟ มีกลิ่นหอม เนื้อนุ่ม มีสีสันที่เห็นแล้วใครก็อยากรับประทาน และก่อนหน้าที่เธอจะหันมาจับอาชีพขายขนมดอกกระโดนนี้ ก็เคยทำมาหลายอาชีพ ทั้งอาชีพแม่บ้าน รับจ้าง ขายผลไม้ และขายสับปะรดสวนผึ้ง

“พอลูกเริ่มโต ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เรากับแฟนมานั่งปรึกษาว่าควรจะหาอาชีพเพื่อเป็นหลักสำหรับครอบครัว ก็ช่วยกันสำรวจและมองหาสินค้าใหม่ จะเล็งพวกของกินเป็นหลัก ของที่อยากทำก็มีคนขายกันเยอะ อยากจะทำของที่ไม่เหมือนคนอื่น คิดว่าขายได้แน่นอน พอดีนึกถึงสมัยเด็กก็เห็นภาพขนมดอกกระโดนทันที จึงโทรฯไปขอสูตรจากน้าสาวซึ่งทำขายอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ มาลองฝึกทำอยู่นานเป็นเดือน แจกจ่ายให้คนรอบตัวชิม ตอนออกขายใหม่ ๆ สูตรยังไม่เป๊ะ ทำตั้งไว้ให้คนซื้อชิมด้วย ปรับปรุงมาเรื่อย ๆ จดสูตรเอาไว้ตลอด พอทุกอย่างลงตัว ผลตอบรับก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ”

วัสดุอุปกรณ์ในการขายขนมชนิดนี้ หลัก ๆ ก็มี...พิมพ์เหล็กลายดอกกระโดนที่มีฝาปิด, เตาถ่าน, ไม้แซะขนม, ถังสเตนเลส, กาน้ำขนาดเหมาะมือ, ถาด, ทัพพี, ที่ร่อนแป้ง และเครื่องใช้อื่น ๆ ที่สามารถหยิบฉวยเอาได้จากในครัว

ส่วนผสมหลักที่ต้องใช้ในการทำตัวขนมก็มี... แป้งข้าวเจ้า, ไข่ไก่, น้ำตาลทราย, น้ำมะพร้าว, ผงฟู และเกลือ สำหรับไส้ขนมก็จะใช้มะพร้าวทึนทึกขูดเป็นเส้น

มาดูสูตร-วิธีการทำ “ขนมดอกกระโดน” กัน เริ่มจาก... นำแป้งข้าวเจ้ามาผสมกับผงฟู แล้วทำการร่อนแป้งที่ผสมกับผงฟู 1 ครั้ง เพื่อให้อากาศผสมในแป้ง และทำให้ขนมเบาขึ้น จากนั้นจึงใส่น้ำตาลทราย คนให้เข้ากัน แล้วจึงบรรจงตอกไข่ไก่ใส่ลงไปทีละฟอง นวดเบา ๆ ให้น้ำตาลทรายละลาย จึงใส่น้ำกะทิ น้ำมะพร้าว คนให้เข้ากัน เสร็จแล้วเอาผ้าขาวบางกรองแป้งส่วนผสมทั้งหมด แป้งที่ผสมจะได้ละเอียด ไม่เป็นเม็ด แล้วพักไว้ 2 ชั่วโมง ให้แป้งคลายตัว ผงฟูทำงานเต็มที่

นำรางหรือพิมพ์ขนมดอกกระโดนมาตั้งไฟพอร้อน ทาน้ำมันพืชหรือเนยให้ทั่ว เพื่อช่วยให้ขนมร่อนไม่ติดพิมพ์ (ถ้าใช้พิมพ์ขนมใหม่ขนมมักจะติดพิมพ์ วิธีแก้ไขให้ใช้กากมะพร้าวขูดใส่แล้วตั้งไฟอ่อน ๆ สักพัก พิมพ์จะได้ลื่น ไม่ติด) จากนั้นตักแป้งใส่กาน้ำ แล้วหยอดแป้งผสมเสร็จให้เต็มเลยหลุมขนม ใช้ผ้าจับหูพิมพ์ขนมกลิ้งละเลงไปมาให้ทั่ว ปิดฝาจนขนมสุก ใช้ไฟอ่อน ถ้าไฟแรงจะไหม้ พอขนมสุกก็แซะออกจากพิมพ์มาแผ่ไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้ รอให้ขนมพออุ่น ๆ

ระหว่างรอให้ขนมพออุ่น ๆ ก็นำมะพร้าวทึนทึกที่เตรียมไว้มาขูดเป็นเส้น โรยด้วยเกลือป่นนิดหน่อย คลุกเคล้าให้เข้ากัน เสร็จแล้วจึงนำมะพร้าวขูดที่ได้ไปโรยในขนมให้ทั่ว แล้วพับครึ่งเป็นรูปวงกลม เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย

นาริสายังบอกอีกว่า การหยอดแป้งยังมีวิธีอื่นคือ การหยอดแป้งใส่พอดีหลุม ให้ขนมออกมาเป็นรูปพิมพ์ดอกกระโดนสวยงาม เวลารับประทานจิ้มกับมะพร้าวขูดที่คลุกเกลือ

เอกลักษณ์ของ “ขนมลูกโดน” หรือ “ขนมดอกกระโดน” อยู่ที่รสชาติกลมกล่อม หอม นุ่มน่ารับประทาน สำหรับราคาขาย เจ้านี้ขายชุดละ 20 บาท มีขนม 16 ลูก ส่วนชนิดที่เป็นแผ่นมี 12 ลูก ราคา 15 บาท

@@@@@@

ใครอยากชิมความอร่อยของ “ขนมดอกกระโดน” เจ้านี้ทุกวันพุธจะขายอยู่ที่กรมป่าไม้ (ถนนพหลโยธิน) วันศุกร์ขายที่กรมประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันอาทิตย์ขายที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด และวันอื่น ๆ ขายที่ตลาดนัดพระนั่งเกล้าฯ โดยรับออกร้าน ออกงานต่าง ๆ ตามเทศกาลด้วย ซึ่งติดต่อได้ที่ โทร. 08-6324-9304 ส่วนใครสนใจอยากมีอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักด้วยขนมชนิดนี้ ก็ลองฝึกฝนทำกันดู

ขนมพื้นบ้าน-ขนมโบราณ...ยุคนี้หลายชนิดยังขายดี.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=516&contentID=115641

แนะนำอาชีพ ' มันบดใส่ไส้ และ ซุปเห็ดแชมปิญอง '

าหารฝรั่ง อาจจะดูไกลตัวคนไทยโดยทั่วไป แต่กับอาหารฝรั่งที่มีความแปลกใหม่ รสชาติถูกปากคนไทย อย่าง “มันบดใส่ไส้” และ “ซุปเห็ดแชมปิญอง” นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ เมื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอาหารได้อย่างเข้าใจ ซึ่งวันนี้เราลองมาดูข้อมูล 2 เมนูนี้...

@@@@@@

ถนอมศรี งามณรงค์กิจ หรือ จู เล่าว่า เดิมทีเธอเป็นพนักงานบริษัท รายได้จากการทำงานไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เธอจึงคิดหาอาชีพเสริมด้วยการรับขนมเค้กมาขาย แต่เจอปัญหาขนมเค้กที่รับมาขายไม่ได้คุณภาพ เสียเร็วกว่ากำหนด เลยคิดว่าตัวเองน่าจะออกมาทำขายเองดีกว่า เพราะโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบทานอาหารประเภทนี้อยู่แล้ว จึงลาออกจากบริษัทแล้วหันมาทำอาชีพนี้อย่างจริงจัง

“เริ่มขายท่องโก๋ก่อน ซึ่งก็ขายดีตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ต่อมาจึงมาคิดว่ามีอะไรอีกบ้างที่ทำแล้วจะแหวกแนวไม่ซ้ำกับคนอื่น ซึ่งตัวเองก็เป็นคนที่ชอบกินอาหารฝรั่งอยู่แล้ว พอมีความรู้ในเรื่องของวัตถุดิบ และขั้นตอนการทำอยู่บ้าง จึงคิดว่าน่าจะทำอาหารประเภทนี้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะทำให้ถูกกว่าตามร้านอาหารฝรั่ง แต่ก็ใช้วัตถุดิบที่ดี และได้คิดดัดแปลงสูตรให้ถูกปากคนไทย” ถนอมศรีเล่า

สำหรับอุปกรณ์ในการทำ มันบดใส่ไส้ และซุปเห็ดแชมปิ ญอง หลัก ๆ คือ เตาอบ ไม้พายปาดมัน พิมพ์ถ้วยฟอยล์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว กระทะ ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ เบเกอรี่ทั่วไป

ส่วนวัตถุดิบ โดยคร่าว ๆ ก็มี หัวมันฝรั่ง ชีสแผ่น แฮมหมู หรือแฮมไก่ วิปครีม เนย นมสด เห็ดแชมปิญองในน้ำเกลือ พริกไทยดำ เกลือ สามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เกตใหญ่ ๆ ทั่วไป และที่ต้องมีอีกอย่างคือน้ำสต๊อกตามสูตรของแต่ละคน ซึ่งมีทั้งน้ำสต๊อกผัก และน้ำสต๊อกไก่

ขั้นตอนการทำ “มันบดใส่ไส้” เริ่มแรกด้วยการนำหัวมันฝรั่ง 1 กก. มาต้มให้สุก เสร็จแล้วบดให้ละเอียด พักมันบดที่ได้ไว้ก่อน แล้วมาตั้งกระทะผัดไส้ โดยนำแฮม (หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ) 500 กรัม ลงผัดพร้อมกับเนย และชีสพอประมาณ จากนั้นค่อย ๆ เทนมสด 200 กรัมลงไป ตามด้วยเกลือ พริกไทยดำ แครอทสับตามปริมาณที่ชอบ แล้วผัดทุกอย่างให้เข้ากัน

เมื่อผัดเข้ากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ตักไส้ที่ได้ใส่ลงไปในพิมพ์ถ้วยฟอยล์ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วตักมันบดที่ได้บดเตรียมไว้ วางทับไว้ด้านบน 100 กรัม จากนั้น ใช้ไม้พายปาดให้สวยงาม แล้วนำเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 250 องศาเซลเซียส ประมาณ 20 นาที เท่านี้เป็นอันเสร็จเรียบร้อย โดยต้นทุนในการทำมันบดใส่ไส้ต่อถ้วยจะตกอยู่ที่ประมาณ 14 บาท สามารถขายได้ในราคา 20 บาท

ต่อไปมาดูการทำ “ซุปเห็ดแชมปิญอง” เริ่มต้นด้วยการหั่นเห็ดแชมปิญองในน้ำเกลือ 120 กรัม ให้เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำเห็ดที่หั่นแล้วลงต้มพร้อมกับน้ำสต๊อกผัก 2 ถ้วย ในกระทะ แล้วใส่วิปครีม และนมสดอย่างละ 150 กรัม รอจนน้ำสต๊อกเดือด พอเดือดก็ปรุงรสชาติด้วยเนย 20 กรัม ส่วนเกลือ และพริกไทยดำ ให้ปรุงรสตามใจชอบ จากนั้นปล่อยทิ้งไว้จนน้ำสต๊อกในกระทะเดือด

ขั้นตอนต่อไป ตักซุปเห็ดแชมปิญองที่ต้มเสร็จเรียบร้อยแล้วใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ในปริมาณ 250 กรัม โดยต้นทุนในการทำซุปเห็ดแชมปิญองอยู่ที่ 25 บาทต่อถ้วย ขายในราคา 35 บาท และสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับตลาด และทำเล

นอกจากซุปเห็ดแชมปิญองแล้ว ยังมี ซุปข้าวโพดหวาน ซุปผักโขม ซุปไส้กรอก-เบคอน โดยวิธีการทำจะคล้ายกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากเห็ดแชมปิญองเป็นข้าวโพดหวาน ผักโขม ไส้กรอก-เบคอน และในกรณีซุปไส้กรอก-เบคอน จะใช้น้ำสต๊อกไก่แทนน้ำสต๊อกผัก ส่วนผสมอื่น ๆ เนย นมสด และวิปครีม ใช้เหมือนเดิม

@@@@@@

สำหรับถนอมศรี นอกจากมันบดใส่ไส้ และซุปต่าง ๆ แล้ว ยังมีมินิปังไส้ต่าง ๆ และช็อกโกแลตลาวาขายเพิ่มอีกด้วย โดยขายตามตลาดนัดต่าง ๆ อาทิ ตลาดนัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ตลาดนัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อาคารซันทาวเวอร์ ตลาดนัดการบินไทย ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง ตลาดนัดที่ธนาคารกรุงศรีฯ (สำนักงานใหญ่) และที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง ตลาดบางหัวเสือ พระประแดง โดยใครที่ต้องการติดต่อ จู-ถนอมศรี งามณรงค์กิจ ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1315-3215 และ 08-1256-2998.

....................

คู่มือลงทุน...มันบด-ซุปเห็ด

คู่มือลงทุน...มันบด-ซุปเห็ด

ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป

ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 14 และ 25 บาท/ชุด

รายได้ ราคาขาย 20 และ 35 บาท/ชุด

แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป

ตลาด ย่านอาหาร, ตลาดนัดคนทำงาน

จุดน่าสนใจ มีจุดขายคือความแปลกใหม่

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=116884&categoryID=525

แนะนำอาชีพ 'กุยช่ายแป้งสด'

ค้าขายแบบง่าย ๆ แต่มีสไตล์ที่แตกต่างจากร้านอื่น ๆ หรือแบบเดิม ๆ ก็เป็นจุดขายอีกจุดที่ทำให้อาหารหรือขนมธรรมดา ๆ มีจุดเด่นขึ้นมาทันที ดูอย่าง “กุยช่ายแป้งสด” ร้านริมทางร้านนี้ เป็นตัวอย่าง...

นงค์ศรี-สุนทร พุ่มพิน สองสามีภรรยา ขาย “กุย ช่ายแป้งสด” แถวริมถนนพระราม 4 มานานกว่า 20 ปี โดยนงค์ศรีบอกว่า เมื่อก่อนขายกุยช่ายแบบนี้แต่เป็นกุยช่ายแบบกลม ๆ ที่ทำสำเร็จแล้ว ไปรับมาขาย ซึ่งรายได้ไม่ค่อยคุ้มเหนื่อย เพราะนอกเหนือจากตัวขนมกุยช่าย ทุกอย่างต้องลงทุนเอง อย่างพริกน้ำส้ม หรือซีอิ๊วดำ ซึ่งร้านที่ขายส่งกุยช่ายก็จะมีกุยช่ายให้อย่างเดียว อย่างอื่นไม่เกี่ยว เพราะฉะนั้นถ้าเหลือต้องแบกรับภาระเอง

จากจุดนี้จึงลองมองดูลู่ทางใหม่ ดูว่าหากทำเองในรูปแบบอื่น ๆ จะขายได้ไหม ก็ลองแบบข้าวเกรียบปากหม้อ ใช้เป็นแบบแป้งสด แต่ใช้ไส้ของกุยช่าย ก็ปรากฏว่าขายดี เพราะไม่มีใครทำ จึงขายมาจนถึงปัจจุบัน

การขายกุยช่ายแป้งสด นงค์ศรีบอกว่า สิ่งที่ต้องลงทุนหลัก ๆ คือ หม้อแขกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 นิ้ว สำหรับทำกุยช่ายแป้งสด ใช้ 2 ใบ พร้อมฝาครอบ, เตาแก๊ส, ที่ปาดแป้ง และอุปกรณ์กระจุก กระจิกอย่างอื่นที่จำเป็นสำหรับค้าขาย

ไส้ขนมกุยช่าย มีหลายไส้ เช่น ไส้ใบกุยช่าย ไส้หน่อไม้ ไส้กะหล่ำปลี

นงค์ศรีบอกถึงการทำตัวแป้งว่า ถ้าใช้แป้งข้าวเจ้า 1 กก. จะใช้แป้งมัน 500 กรัม แป้งหมี่ 500 กรัม น้ำ 2 ขวด (3 ลิตร) ผสมแป้งและน้ำ คนให้เข้ากัน ก็ใช้ได้ ระหว่างที่ขายต้องคอยคนเรื่อย ๆ ไม่ให้แป้งนอนก้น

ต้มน้ำให้เดือด แล้วเทใส่ในหม้อแขกประมาณค่อนหม้อ ขึงปากหม้อด้วยผ้าขาวบาง และตัดผ้าขาวบางส่วนด้านข้างออก ไป เพื่อให้ไอน้ำออกมา ยกหม้อแขกขึ้น ตั้งไฟบนเตาแก๊ส เปิดไฟร้อนตลอดเพื่อ ให้น้ำเดือดระหว่างที่ขายนั้นหากน้ำในหม้อลดลง ต้องหมั่นเติมน้ำให้อยู่ระดับเดิมเรื่อย ๆ

วิธีขาย ตักแป้ง 1 ทัพพี ใส่ลงบนผ้าขาวบางที่ขึงไว้ ละเลงแป้งเป็นรูปวงกลมให้ทั่ว ปิดฝาครอบ แล้วทำแบบนี้อีกด้านหนึ่งของปากหม้อ จากนั้นย้ายมาเปิดฝาที่ครอบแป้งชุดแรกออก แป้งจะสุกพอดี ตักไส้กุยช่ายใส่ลงบนแป้งพอประมาณ ใช้ที่ปาดแป้งหรือไม้พายปาดแป้งปิดไส้ขนม โดยปิดทั้งสี่ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จากนั้นตักวางพักลงบนถาดที่ทาน้ำมันเพื่อกันไม่ให้แป้งติดกับถาด

การทำไส้ขนม ถ้าเป็นไส้ใบกุยช่าย ก็ผัดใบกุยช่ายสด กับเนื้อหมู กุ้งแห้ง ซึ่งเป็นการผัดน้ำมันธรรมดา ๆ ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว น้ำตาล น้ำปลา สำหรับไส้กะหล่ำปลี และไส้หน่อไม้ ทำวิธีเดียวกับไส้กุยช่าย แต่จะทำ 2 ส่วนคือส่วนกะหล่ำปลีหรือหน่อไม้หั่นที่ผัดกับหมูและ กุ้งแห้ง และอีกส่วนใช้เห็ดหอมหั่นผัดน้ำมัน ซึ่งไส้กะหล่ำปลีและไส้หน่อไม้นั้น นอกจากใส่กะหล่ำปลีและหน่อไม้แล้วก็ ต้องใส่เห็ดหอมลงไปเพิ่มด้วยประมาณ 2-3 ชิ้น

เวลาจะขาย ก็ตักกุยช่ายใส่กล่อง ๆ ละ 4 ชิ้น พร้อมด้วยกระเทียมเจียว และต้องมีซีอิ๊วดำกับพริกน้ำส้มแนบไปด้วย ขายในราคากล่องละ 30 บาท มีกำไรประมาณ 30% จากราคาขาย

นอกจากนี้ ที่ร้านนี้ยังขายก๋วยเตี๋ยวหลอดด้วย โดยใช้ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ที่หั่นเป็นแผ่น ๆ สำหรับทำก๋วยเตี๋ยวหลอดโดยเฉพาะ นำมาห่อถั่วงอกต้ม โรยหน้าด้วยกุ้งแห้ง หัวไชโป๊หั่น ต้นหอม ผักชี และกระเทียมเจียว ใส่ถุงขายถุงละ 3 ชิ้น พร้อมซีอิ๊วดำและพริกน้ำส้ม ขายราคา 10 บาท

ร้านกุยช่ายของนงค์ศรี-สุนทร อยู่แถวสี่แยกคลองเตย ริมถนนพระราม 4 หน้าธนาคารกสิกรไทย ถนนพระราม 4 ขายเวลา 06.00-14.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์ เบอร์โทรศัพท์คือ 08-1939-4149 และ 08-9017-0928 ทั้งนี้ “กุยช่ายแป้งสด” เป็นอีกตัวอย่างการพลิกแพลงให้แตกต่าง จนเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดี.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=114338&categoryID=525

แนะนำอาชีพ 'ห่อหมก(จิ๋ว)'

“ห่อหมก” อาหารไทยที่ไม่เหมือนใครในโลก มีรสชาติ เอกลักษณ์ เป็นตัวของตัวเอง วิธีการทำต้องพิถีพิถัน ผู้ที่มีอาชีพทำห่อหมกขายจะต้องมีความมุ่งมั่น เพราะกว่าจะได้ห่อหมกแสนอร่อยสักห่อไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหลังขดหลังแข็งหลายชั่วโมง อย่างไรก็ดี ยุคนี้มีการปรับเปลี่ยนภาชนะห่อหมกให้ดูทันสมัย สร้างจุดขายน่าสนใจ ขายได้ทุกทำเล ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการทำ-การขาย “ห่อหมกจิ๋ว” มานำเสนอ...

................

ตุ๊ก-สุทธิดา โหตรภวานนท์ อดีตเจ้าของร้านอาหาร “ต้นไม้” เป็นเจ้าของสูตร “ห่อหมกปลากราย (จิ๋ว) ใบเตย” เจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า ทำธุรกิจร้านอาหารมานานถึง 15 ปี แม้จะขายดิบขายดี แต่จำต้องเลิกกิจการไปเพราะไม่มีคนช่วย ประกอบกับต้องไปอยู่ดูแลพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดด้วย แต่ชีวิตเธอก็ยังวนเวียนเกี่ยวกับอาหารอยู่ พอกลับมาอยู่กรุงเทพฯกับครอบครัว ด้วยความที่เป็นคนชอบทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจและไม่ชอบอยู่ว่าง ก็รับทำอาหารเดลิเวอรี่ส่งตามบ้านและบริษัทต่าง ๆ

“ใช้วิธีโทรฯ แจ้งบอกลูกค้าเก่า ผลตอบรับดีมาก มีลูกค้าโทรฯสั่งอาหารเกินความคาดหมาย พูดปากต่อปาก มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำคนเดียวส่งลูกค้าทันบ้างไม่ทันบ้าง ทำเอาลูกค้าเสียความรู้สึก แล้วลูกค้าก็เริ่มน้อยลง บวกกับการสต๊อกของต้องซื้อทุกวัน ก็เกิดการสูญเสีย สุดท้ายก็ต้องเลิกอีก แต่ด้วยใจรักการทำอาหารจึงย้ายไปลงทุนเปิดร้านอาหารที่อื่นรวมทั้งขายตาม ศูนย์อาหาร สุดท้ายปัจจุบันนี้ก็ต้องกลับมารับสั่งทำอาหารอยู่กับบ้าน โดยเฉพาะข้าวกล่องและอาหารว่างในงานอีเวนต์ หรือสั่งเป็นกับข้าวเป็นอย่าง ๆ รวมทั้งห่อหมกปลากรายใบเตย ซึ่งเป็นอะไรที่เป็นไทย ๆ เน้นรสชาติดั้งเดิม”

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำห่อหมกนั้น เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำครัวทั่วไป อาทิ เขียง, หม้อ, มีด, เตาแก๊ส, กระทงใบเตย และเครื่องครัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ส่วนที่ต้องมีพิเศษคือเครื่องปั่นพริก และลังถึงสำหรับนึ่งห่อหมก

ส่วนผสมและวัตถุดิบที่ใช้ ก็มีผักต่าง ๆ ใช้สำหรับรองพื้นกระทง เช่น ใบยอ, โหระพา, กะหล่ำปลี ส่วนของสดก็มี เนื้อปลากรายขูด, ไข่เป็ด, น้ำกะทิ, พริกแกงเผ็ด (เจ้าประจำ), น้ำตาลทราย, น้ำปลา, แป้งข้าวเจ้า และผักโรยหน้า คือใบมะกรูดหั่นฝอย, พริกชี้ฟ้าหั่น

ขั้นตอนการทำ “ห่อหมกปลากราย (จิ๋ว) ใบเตย”

เริ่มจากการทำผักรองพื้น โดยนำผักมาล้างให้สะอาดแล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำใบยอมาหั่นเป็นชิ้น ๆ กะหล่ำปลีลวกพอนิ่ม หั่นเป็นชิ้นเล็กตามต้องการ ส่วนใบโหระพาเด็ดเป็นใบ ๆ ตั้งเตรียมไว้ในภาชนะที่สะอาด

นำน้ำกะทิใส่อ่างหรือหม้อสำหรับกวนพอประมาณ ตามด้วยพริกแกงเผ็ดห่อหมก ใช้ไม้พายคนส่วนผสมน้ำกะทิกับพริกแกงให้ละลายเข้ากันดี จากนั้นนำเนื้อปลากรายขูดและไข่เป็ดใส่ตามลงไป ทำการกวนส่วนผสมห่อหมกให้เข้ากัน (ต้องกวนวนไปทางเดียวกัน ถ้ากวนกลับไปกลับมาส่วนผสมจะไม่เหนียวข้น) ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย น้ำปลา ค่อย ๆ เติมน้ำกะทิทีละน้อยจนหมด กวนส่วนผสมไปเรื่อย ๆ จนฟูและเหนียว ตั้งพักไว้

ระหว่างนั้นให้ทำน้ำกะทิสำหรับหยอดหน้าห่อหมก ด้วยการเอาหัวกะทิผสมกับแป้งข้าวเจ้าและเกลือเล็กน้อย คนให้ละลาย ก่อนจะนำขึ้นตั้งไฟอ่อน ๆ กวนจนให้กะทิข้นหนืด ยกลงตั้งพักไว้ให้เย็น

จากนั้นให้นำ กระทง “ใบเตยหอม” กระทงเล็ก ๆ เหมือนกระทงขนมตะโก้ มารองด้วยผักที่เตรียมไว้ แล้วเรียงกระทงในลังถึง ใช้ช้อนตักส่วนผสมห่อหมกมาหยอดใส่ลงในกระทงใบเตยจนหมด เสร็จแล้วยกขึ้นนึ่งด้วยน้ำเดือด แล้วค่อย ๆ หรี่ไฟประมาณ 10 นาที (การนึ่งถ้าใช้ไฟแรงเกินไปพอสุกแล้วหน้าห่อหมกจะระเบิดเป็นแฉกไม่สวย) เสร็จแล้วแต่งหน้าด้วยกะทิ ใบมะกรูดหั่นฝอย และพริกชี้ฟ้าสีแดงหั่น เพื่อเพิ่มสีสันและภาพลักษณ์ให้กับห่อหมก

ราคาขายห่อหมก (จิ๋ว) ปลากรายใบเตย กล่องเล็กมี 6 กระทง ขายราคา 35 บาท, กล่องกลางมี 9 กระทง ขายราคา 50 บาท และกล่องใหญ่มี 12 กระทง ขายราคา 65 บาท

ทั้งนี้ คุณตุ๊กบอกว่า อาหารไทย ๆ นั้นเธอทำได้หมด รวมถึงอาหารฝรั่งก็ทำได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่คิดจะเปิดร้านอาหาร การจะเปิดร้านขายอาหารนั้นไม่ใช่ว่าอยู่ที่ฝีมือและรสชาติเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นจังหวะและทำเลก็มีส่วนเสริม จำเป็นต้องพิจารณาให้ดี

.................

ใครสนใจ “ห่อหมกปลากราย (จิ๋ว) ใบเตย” ต้องการติดต่อคุณตุ๊ก-สุทธิดา ติดต่อได้โดยตรงที่ โทร. 08-9130-3107 ทุกวัน ซึ่งหากต้องการสั่ง ก็ต้องออร์เดอร์ล่วงหน้า 1 วัน เพื่อที่จะได้เตรียมวัตถุดิบ ทั้งนี้ การทำห่อหมกขายนั้น แม้ไม่มีร้าน ไม่มีหน้าร้าน ก็สามารถทำได้ ด้วยวิธี “รับสั่งทำ” ซึ่งก็น่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=118230

Saturday, January 29, 2011

แนะนำอาชีพ 'งานโบ-ริบบิ้น'

อาชีพเกี่ยวกับงานประดิษฐ์บางชนิดก็แยกไม่ออกจากงานบริการ โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับของขวัญ-ของที่ระลึก ที่ผูกรวมไว้ด้วยไอเดียการคิดประดิษฐ์จนเกิดเป็นชิ้นงาน และนำเรื่องการบริการมาเป็นจุดขายรองรับกลุ่มลูกค้า อย่างเช่นอาชีพ “ประดิษฐ์โบและริบบิ้น” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้...

********************

“กาญจนา ไพบูลย์ธนศาล” เจ้าของงานบริการรับผลิตออกแบบโบและริบบิ้น เล่าว่า เดิมทำเป็นงานอดิเรก โดยอาศัยเวลาว่างจากงานประจำรับงานผลิตโบและริบบิ้น ต่อมาคิดว่าน่าจะทำเป็นอาชีพหลักได้ เพราะสินค้าประเภทนี้สามารถทำขายได้ตลอดทั้งปี และตลาดมีความต้องการสินค้าอย่างสม่ำเสมอ จึงตัดสินใจลงมาจับธุรกิจดังกล่าวนี้อย่างเต็มตัว โดยนอกเหนือจากการวิ่งออกไปหาลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์ สำหรับจัดของขวัญแล้ว ก็ยังใช้ช่องทางการขายผ่านอินเทอร์เน็ต โดยจัดทำเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นในชื่อ www.missribbin.com ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะลูกค้าจะสามารถเห็นสินค้า และเป็นการลงทุนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายมากเท่ากับการเปิดร้าน-มีหน้าร้าน โดยที่ร้านจะทั้งขายปลีกและขายส่ง

รวมถึงรับผลิตตามคำสั่งซื้อพิเศษของลูกค้า

“ตรงช่องทางการจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ ก็จะมีทั้งลูกค้าที่เป็นบริษัท องค์กรห้างร้าน และยังมีลูกค้าทั่วไปที่สั่งทำในจำนวนไม่มากชิ้น ถือว่าเป็นช่องทางการขายที่ดีช่องทางหนึ่งในปัจจุบัน” เจ้าของงานระบุ

เจ้าของงานบอกอีกว่า อาชีพประดิษฐ์โบและริบบิ้นนี้ สามารถทำขายได้ตลอดทั้งปี แต่ลูกค้า ยอดสั่งทำ ความต้องการสินค้า จะเพิ่มมากเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลปีใหม่และวันวาเลนไทน์ สำหรับรูปแบบสามารถพลิกแพลงต่อยอดได้เรื่อย ๆ แต่โดยส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะนิยมแบบโบและริบบิ้นที่ดูเรียบแต่หรูหรา เป็นหลัก

แต่ทั้งนี้ ก็จำเป็นต้องติดตามความนิยมและความต้องการของตลาดด้วย เนื่องจากความต้องการของลูกค้าจะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดย
ปัจจุบันงานที่ผลิตออกจำหน่ายก็มี อาทิ โบกระเช้า, โบกล่องของขวัญ, โบประดับหน้าอก, โบติดถ้วยรางวัล, โบกรรมการ, โบติดกรอบรูป, โบของตกแต่งอื่น ๆ, ริบบิ้นห่อเหรียญโปรยทาน, ริบบิ้นช่อดอกไม้ เป็นต้น

“ส่วนใหญ่รูปแบบของโบและริบบิ้นจะไม่หนีกันมากนัก ที่นิยมก็จะเป็นแบบโบกระเช้าและโบตะกร้อ จะแตกต่างก็ในเรื่องสีสัน ลวดลาย และของตกแต่งมากกว่า” กาญจนากล่าวถึงเทคนิคการทำตลาด

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานประเภทนี้ หลัก ๆ ประกอบด้วย ริบบิ้น, ไม้บรรทัด, กรรไกร, คัตเตอร์, กระดาษแข็งสำหรับทำแบบ, เข็มกับด้าย และวัสดุตกแต่งใช้ประดับชิ้นงาน อาทิ กระดิ่ง, ลูกบอลติดกากเพชร, ลูกไม้ที่ใช้ในงานประดิษฐ์ดอกไม้, ลวดสี, ดิ้นเงิน-ดิ้นทอง และอื่น ๆ ตามต้องการ โดยวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้หาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ทำงานฝีมือทั่วไป

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ถือว่าใช้ไม่มาก ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 บาทขึ้นไป ส่วนทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณ 40% จากราคาขาย ที่เริ่มตั้งแต่ชิ้นละ 1 บาทไปจนถึง 120 บาท ขึ้นกับขนาด ความยากง่ายของงาน

ขั้นตอนการทำ ในที่นี้จะยกมา 2 ตัวอย่าง แบบแรก “การทำโบตะกร้อ” เริ่มจากนำกระดาษแข็ง หรืออาจใช้กระดาษกล่องแทนก็ได้ นำมาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความยาว 5 นิ้ว (ความยาวของกระดาษแบบขึ้นกับขนาดของโบตะกร้อ) จากนั้นนำริบบิ้นมาพันทบกันไปมาให้ครบจำนวน 9 รอบ ซึ่งจำนวนรอบที่พันนี้จะเป็นตัวกำหนดความหนาของโบที่ทำ โดยทำแบบนี้ให้ได้ 2 ชิ้น เมื่อพันครบแล้วดึงริบบิ้นออกมา แล้วใช้กรรไกรตัดปลายทั้ง 2 ด้านให้เป็นปลายแหลมทั้ง 2 ชิ้น จากนั้นนำมาผูกไขว้เข้าด้วยกัน ให้เป็นรูปกากบาท ใช้ด้ายหรือริบบิ้นเล็กพันตรงกลางให้แน่น เมื่อแน่นดีแล้วก็ทำการคลี่ริบบิ้นที่พับทบกันอยู่ออกมา จากนั้นจึงนำริบบิ้นอีกสีหรือสีเดียวกันมาผูกเพื่อให้เป็นหางของโบตะกร้อ ตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่งตามชอบ เป็นอันเสร็จ

ส่วนอีกแบบ “การทำโบกระเช้า” เริ่มจากนำริบบิ้นผ้าต่วนขนาดความกว้าง 5 เซนติเมตร มาตัดออกให้ได้ความยาวประมาณ 130 เซนติเมตร จากนั้นนำริบบิ้นที่ตัดไว้มาทำการพันโดยให้หูโบมีขนาดเท่า ๆ กัน แล้วจึงทำการจับจีบและมัดด้วยด้าย เป็นอันเสร็จ ทั้งนี้ความสวยงามของการทำโบกระเช้าขึ้นอยู่กับการเลือกใช้สีริบบิ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนโบหรือที่เรียกว่าการทำเลเยอร์ (Layer) ยิ่งมีเลเยอร์มาก ก็จะยิ่งเพิ่มความสวยงามให้กับโบกระเช้า

“สำหรับคนที่สนใจอาชีพนี้ คุณสมบัติแรกคือต้องเป็นคนใจเย็น อดทน ค่อย ๆ ฝึกฝนจนชำนาญ ก็จะทำชิ้นงานดี ที่สำคัญอย่าลืมเรื่องการ
สต๊อกวัตถุดิบไว้ด้วย เพราะบางครั้งอาจจะมีงานสั่งทำพิเศษที่เป็นงานด่วนจากลูกค้าเข้ามา ซึ่งหากคิดจะทำเป็นธุรกิจก็ไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้” เจ้าของงานกล่าวแนะนำ

*******************

สนใจติดต่อเจ้าของอาชีพ “ประดิษฐ์โบและริบบิ้น” รายนี้ ติดต่อได้ที่ เลขที่ 102/436 หมู่ 3 ต.กระแชง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โทร. 0-2979-1226, 08-9414-9198 ใครที่สนใจอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถสอบถามกันได้โดยตรง.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=498&contentId=118052

Saturday, January 22, 2011

แนะนำอาชีพ 'หมอนหน้าคน'

งานแฮนด์เมด งานฝีมือ เป็นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ หากผลิตงานออกมาในรูปแบบที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง และมีจุดเด่นที่ดึงดูดลูกค้าได้ดี ก็จะเป็นสินค้าที่ทำเงินได้ดี อย่างงาน “หมอนหน้าคน” ที่นำใบหน้าคนมาออกแบบให้เป็นแนวการ์ตูนแล้วใช้ทำเป็นหมอน นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ...

ชัย ยุทธ์ ประจันทา เจ้าของผลงาน “หมอนหน้าคน” ภายใต้แบรนด์ “hug me” เล่าว่า เดิมทีเดียวตนและภรรยาทำงานเป็นพนักงานบริษัท หลังจากที่ทำงานรับเงินเดือนประจำอยู่นานก็เริ่มรู้สึกเบื่องานประจำ อยากทำอาชีพอิสระเป็นของตัวเอง จึงตัดสินใจลาออกจากงานทั้ง 2 คน พร้อมกัน หลังจากนั้นก็ลงทุนซื้อเสื้อผ้าไปขายตามตลาดนัดตามที่ต่าง ๆ แต่เริ่มอาชีพพ่อค้าขายเสื้อผ้าได้ไม่นานก็ต้องเลิกทำ เพราะรายได้จากการขายของนั้นไม่คุ้มกับค่ารถที่ต้องใช้เดินทางไปขายตามตลาด นัดในแต่ละวัน

“พอไม่ได้ทำอาชีพพ่อค้าแล้ว ก็เริ่มมองหาอาชีพอื่น ซึ่งต้องเป็นอาชีพที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ” ชัยยุทธ์เล่า พร้อมทั้งบอกต่อไปว่า ในที่สุดเขาก็เลือกการเย็บตุ๊กตาหมีขาย หลังจากได้ไปเห็นเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเสื้อผ้าที่มีสีสันสวยงาม จึงลองนำมาทำเป็นตุ๊กตาหมี ซึ่งก็ไม่เคยเย็บตุ๊กตามาก่อน อาศัยศึกษาวิธีการเย็บ การทำแพต เทิร์นจากอินเทอร์เน็ต ฝึกหัดอยู่ระยะหนึ่งก็ทำได้สำเร็จ และเย็บตุ๊กตาหมีจำหน่ายอยู่ระยะหนึ่ง

สำหรับ งาน “หมอนหน้าคน” นั้น เริ่มมาจากเพื่อนของภรรยาที่ไม่อยากได้ตุ๊กตาหมี แต่อยากได้ภาพของตนเองที่ออกเป็นแนวการ์ตูนมากกว่า จึงมาทดลองทำโดยการวาดรูปหน้าคนให้ออกเป็นแนวการ์ตูนล้อเลียน แล้วนำมาเย็บทำเป็นหมอน จนกลายมาเป็นหมอนรูปหน้าคน ที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง

“พอเพื่อนของภรรยาเอาไปไว้ในรถ คนที่ได้เห็นก็ชื่นชอบ ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น แต่แรก ๆ ก็ยังเพิ่มไม่มาก จนหลังจากได้เข้าไปประกวดงานแฮนด์เมดและได้รางวัลติด 1 ใน 10 งานแฮนด์เมด ได้เงินรางวัลมา 10,000 บาท จึงมีคนรู้จักมากขึ้น เริ่มมีออร์เดอร์เข้ามามากขึ้น จึงยึดเป็นอาชีพหลักจริงจังมาจนถึงปัจจุบัน”

อุปกรณ์ ที่ใช้ทำ “หมอนหน้าคน” หลัก ๆ มีดังนี้คือ... ผ้าขนนุ่ม, ผ้าสักหลาด, เข็มเย็บผ้า, ด้าย, ใยสังเคราะห์, กระดาษสำหรับทำแพตเทิร์น, ดินสอ, คอมพิวเตอร์, เครื่องพรินเตอร์, จักรเย็บผ้า

“ผ้าขนนุ่มที่ใช้มี 3 สี คือ สีขาว สำหรับทำส่วนใบหน้า สีดำ สีน้ำตาล จะใช้ทำเป็นผม ส่วนผ้าสักหลาดนั้นไว้ทำ ตา คิ้ว ปาก ใยสังเคราะห์ที่ใช้ยัดหมอนนั้นก็จะใช้เกรดดี เพื่อที่หมอนจะนิ่ม สำหรับจักรเย็บผ้า ถ้ายังไม่มีทุนก็สามารถใช้การเย็บมือแทนได้ โดยหมอนหน้าคนนั้นจะมีความยากตรงการทำแบบให้ลูกค้าชอบ”

ขั้นตอน การทำ...เริ่มจากนำรูปของลูกค้าที่ส่งมาให้ไปทำการวาดออกแบบใบหน้า ให้ออกเป็นแนวการ์ตูนล้อเลียน แต่ยังคงเค้าโครงหน้าลูกค้าไว้ ขนาดให้ใหญ่ไม่เกินกระดาษ A2 หลังจากที่ออกแบบเรียบร้อยแล้วก็ส่งไปให้ลูกค้าดูว่าถูกใจหรือไม่ ถ้าไม่ถูกใจก็ให้ลูกค้าปรับแก้ได้ แต่จะไม่ให้แก้ไขเกินกว่า 3 ครั้ง

หลัง จากได้รูปแบบที่ต้องการแล้ว จากนั้นก็พรินต์รูปออกมาบนกระดาษที่เป็นแพตเทิร์น แล้วนำแบบไปทาบลงบนผ้าสีดำหรือสีน้ำตาล ใช้ชอล์กขีดผ้าวาดตามแบบแพตเทิร์น ใช้กรรไกรตัดตามแบบที่วาดไว้ แต่ต้องตัดห่างจากเส้นที่ขีดไว้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ไว้สำหรับเย็บ ก็จะได้เป็นส่วนด้านหลัง ส่วนด้านหน้าที่เป็นส่วนผมก็ใช้ผ้าดำหรือน้ำตาลตัดตามแบบ ตรงส่วนหน้าคนก็ใช้ผ้าขาว จากนั้นก็นำมาเย็บต่อกัน

เมื่อได้แบบ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ก็นำผ้าส่วนที่เป็นขนนุ่มมาประกบกันให้แนวขนของผ้าลงด้านล่าง และทำการเย็บตามรอยชอล์กที่ขีดไว้ เย็บให้เหลือช่องไว้ กะประมาณให้สามารถเอามือล้วงเพื่อยัดใยสังเคราะห์ได้ เย็บเสร็จก็กลับให้ด้านในออกมาด้านนอก แล้วทำการยัดใยสังเคราะห์จนแน่นพอประมาณ ทำการเย็บปิดช่องด้วยมือให้เรียบร้อย ซึ่งหมอนที่ยัดใยสังเคราะห์ออกมาจะมีน้ำหนักประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม

ขั้น ตอนต่อไปก็วาดแบบของคิ้ว ตา ปาก ลงบนผ้าสักหลาด ตัดตามแบบแล้วนำมาเย็บติดลงบนใบหน้าด้วยมือ เวลาเย็บให้เย็บแบบเก็บซ่อนด้ายให้เรียบร้อย เย็บคิ้ว ตา ปาก เสร็จแล้วก็ใช้แปรงและกระดาษกาวทำความสะอาดเอาฝุ่นผ้าออกให้เรียบร้อย ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมขาย

ราคา “หมอนหน้าคน” ของชัยยุทธ์ คือ 550 บาท ถ้าสั่งส่งทางไปรษณีย์ก็บวกค่าส่งอีก 100 บาท

ชัย ยุทธ์นั้นไม่ต้องมีหน้าร้านแต่ก็สามารถขายสินค้าได้โดยผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งใครที่สนใจสินค้าชนิดนี้สามารถเข้าไปดูแบบงานได้ที่เว็บไซต์ www. hugme4U.com หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-9453-7870 ทั้งนี้ งานรูปแบบนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่น่าพิจารณา.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=497&contentID=106562

แนะนำอาชีพ 'ต้มยำหัวปลา'

"ต้มยำหัวปลา” เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารที่คนไทยให้ความนิยมกันไม่น้อย และก็มีผู้ที่ทำขายเป็นอาชีพ ซึ่งขั้นตอนการทำต้มยำหัวปลานั้นไม่ยาก แต่การทำขายโดยให้มีรสชาติเป็นที่ถูกใจลูกค้าก็ต้องมีเทคนิคกันหน่อย โดยวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำต้มยำหัวปลามาให้ลองพิจารณากัน ใครสนใจจะนำไปทดลองทำ ปรับปรุงเป็นสูตรของตัวเอง จะทำกินเอง หรือทำขายสร้างรายได้ ก็สุดแท้แต่...

*************

สุชาติ แซ่ตั้น เจ้าของร้าน “ลุง ช. หัวปลา” ทำต้มยำหัวปลาขายมากว่า 8 ปี เล่าว่า เมื่อก่อนสมัยวัยรุ่นนั้นเคยทำงานเป็นผู้ช่วยเชฟอยู่ร้านอาหาร แต่พอโตขึ้นมาก็ไปทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการแปรรูปไม้อยู่ทางใต้ หลังจากที่เลิกทำธุรกิจเกี่ยวกับการแปรรูปไม้ ก็เริ่มมองหาอาชีพอื่นทำแทน จนมายึดอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวต้มยำทะเล ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ กับพี่ชาย อยู่ย่านพุทธมณฑล สาย 4 ซึ่งการที่หันมายึดอาชีพขายอาหารเพราะมองเป็นอาชีพที่อยู่ได้ ยังไงก็ขายได้เรื่อย ๆ และการขายก๋วยเตี๋ยวนั้นก็เป็นอาหารที่ทำไม่ยากและขายง่ายอีกด้วย

หลังจากที่ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่กับพี่ได้ประมาณ 6 ปี สุชาติก็แยกออกมาเปิดร้านขายอาหารตามสั่งเป็นของตัวเอง ซึ่งสุชาติบอกว่า การที่แยกมาเปิดร้านอาหารตามสั่งก็เพราะเห็นว่าย่านที่ขายอาหารอยู่ตอนนั้น ยังไม่มีร้านอาหารตามสั่ง จึงตัดสินใจเปิดร้าน และคิดว่าร้านอาหารตามสั่งนั้นมีอาหารให้ลูกค้าได้เลือกซื้อมากกว่าที่จะขาย ก๋วยเตี๋ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งหลังจากเปิดร้านอาหารตามสั่งก็หยิบเอาสูตรการทำก๋วยเตี๋ยวต้มยำจากที่ ร้านเก่ามาดัดแปลงทำเป็น “ต้มยำหัวปลา” ขายเป็นเมนูเด็ดของที่ร้านด้วย ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในย่านที่ขาย

ต้มยำหัวปลาของสุชาตินั้นจะใช้ปลาทะเลอย่างปลาเก๋า และปลากะพงแดง ส่วนเคล็ดลับความอร่อยนั้น เจ้าของสูตรบอกว่า อยู่ที่น้ำซุป และขั้นตอนการทำต้มยำหัวปลาไม่ให้มีกลิ่นคาว

สูตรการทำน้ำซุปนั้น เริ่มจากการนำน้ำสะอาดใส่ลงในหม้อ จากนั้นก็ตั้งไฟ ทุบต้นตะไคร้ให้พอแตกใส่ลงไปในน้ำ ถ้าเป็นน้ำ 100 ลิตร ก็ใช้ต้นตะไคร้ 1 มัดใหญ่ ใส่เกลืออีก 10 ถุงเล็กลงไป ตามด้วยน้ำตาลเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ไปตัดรสเค็ม ใช้ไฟแรงต้มจนน้ำเดือด ใส่ผงปรุงรสลงไปคนให้ทั่ว จากนั้นก็ลดไฟให้เป็นไฟอ่อน ตั้งอุ่นไว้ตลอดเวลา เท่านี้ก็จะได้น้ำซุปไว้สำหรับทำต้มยำหัวปลาแล้ว

เคล็ดลับการล้างทำความสะอาดกลิ่นคาวจากหัวปลา เริ่มจากการนำหัวปลาที่ได้มาสับให้เป็นชิ้นพอดี ๆ สำหรับทำต้มยำ จากนั้นก็นำหัวปลาที่สับเรียบร้อยแล้วไปทำการล้างด้วยน้ำเกลือเพื่อดับกลิ่น คาว ใช้เวลาล้างประมาณ 5 นาที แล้วก็นำหัวปลาขึ้นมา นำไปทำการล้างด้วยน้ำเปล่าอีกรอบ แล้วก็นำไปลวกในน้ำร้อนประมาณ 1 นาที ให้แค่พอสุก เนื้อปลาจะแข็ง และเป็นการล้างน้ำคาวของหัวปลาอีกรอบหนึ่งด้วย

เมื่อทำการล้างหัวปลาเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบในการทำต้มยำ ซึ่งก็มี ข่า, ตะไคร้, ใบมะกรูด, พริกขี้หนูสด, น้ำมะนาว, เกลือ, พริกแห้ง, ผักชีฝรั่ง, ใบกะเพรา, เห็ดฟาง และนมสดกับน้ำพริกเผา สำหรับทำต้มยำแบบน้ำข้น

ขั้นตอนการทำต้มยำหัวปลา เริ่มจากตักน้ำซุปที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในหม้อต้ม นำไปตั้งไฟ พอน้ำเดือดแล้วให้ใส่ข่าที่หั่นเป็นแว่น ตะไคร้หั่นเป็นท่อนแล้วทุบพอแตก และใบมะกรูด ลงไปในหม้อต้ม

ตั้งไฟให้น้ำเดือดอีกครั้ง จากนั้นก็ใส่หัวปลาที่ล้างและลวกเตรียมไว้แล้วลงไป ต้มไปเรื่อย ๆ จนน้ำเดือดอีกรอบ ก็ใส่พริกขี้หนูสดทุบละเอียดลงไป มากน้อยแล้วแต่ความชอบของลูกค้า แล้วก็ใส่เห็ดฟาง จากนั้นก็ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำมะนาว ถ้าต้องการจะทำเป็นต้มยำน้ำข้นก็ให้ใส่นมสดและน้ำพริกเผาลงไปด้วย

ต้มจนน้ำเดือดอีกครั้ง จึงเทใส่ชามหรือหม้อไฟที่เตรียมไว้ โดยในชามหรือหม้อไฟนั้นให้ใส่ผักชีฝรั่งหั่นและพริกแห้งทุบพอหยาบไว้ด้วย หลังจากเทต้มยำลงไปแล้วก็โรยหน้าด้วยใบกะเพรา เท่านี้ก็พร้อมเสิร์ฟ

ต้มยำหัวปลาที่ร้านของสุชาตินั้น ถ้า ขายเป็นชาม ราคาชามละ 80 บาท ถ้าเป็นหม้อไฟ ราคาหม้อละ 200 บาท ซึ่งนอกจากต้มยำหัวปลาแล้ว ทางร้านยังมีเมนูเด็ดอื่น ๆ ให้ลูกค้าได้เลือกอีกหลายเมนู อาทิ ปลากะพงนึ่งมะนาว, กุ้ง 3 รส, ปูผัดผงกะหรี่ ฯลฯ
**************

ร้าน “ลุง ช. หัวปลา” ตั้งอยู่ข้างทาง ถนนพุทธมณฑลสาย 4 อยู่ฝั่งตรงข้ามองค์พระ เลยแยกไฟแดงหน้าองค์พระประมาณ 500 เมตร ร้านเปิดเวลา 15.00-24.00 น. ทุกวัน เบอร์โทรศัพท์คือ 08-1748-2924 ทั้งนี้ “ต้มยำหัวปลา” แม้จะมิใช่เมนูแปลกใหม่ แต่ก็น่าสนใจตรงที่หลาย ๆ ย่านยังไม่มีใครทำขาย.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=114217&categoryID=498

แนะนำอาชีพ 'ตุ๊กตายางพารา'

อาชีพงานประดิษฐ์ ผลิตงานฝีมือ ทักษะและความรู้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งประกอบเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ก็ยิ่งทำให้เกิดการต่อยอดสินค้าออกไปได้ เรื่อย ๆ อย่างเช่นงานประดิษฐ์ “ตุ๊กตา” จากน้ำยางพารา ของ “ภัคจิรา ถนอมเงิน” ที่ต่อยอดจากความรู้ที่มีอยู่ มาเป็นอาชีพ ที่อาจจะเป็นตัวอย่าง “ช่องทางทำกิน” ให้ใครอีกหลายคน...

...............

ภัคจิรา ถนอมเงิน เจ้าของผลงาน เล่าว่า อดีตทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จึงมีความรู้เรื่องของวัตถุดิบชนิดนี้ ต่อมามองว่าอยากจะออกมาทำธุรกิจเล็ก ๆ ที่เป็นของตัวเอง จึงมองว่ายางพาราสามารถที่จะนำมาประดิษฐ์เป็นสินค้าชนิดต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับของตกแต่ง ของขวัญ ของที่ระลึก โดยสามารถนำทักษะและความรู้ทางด้านศิลปะที่ร่ำเรียนมา มาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ จึงตัดสินใจออกมาเปิดธุรกิจนี้ขึ้น

“ลองผิดลองถูกอยู่ 1 ปี กว่าจะลงตัวจนสามารถต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างที่เห็น ปัจจุบันนอกจากผลิตขายเองแล้ว ยังผลิตตามคำสั่งซื้อลูกค้าด้วย มีตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ อย่างพวงกุญแจ ที่ติดตู้เย็น ไปจนถึงชิ้นใหญ่ ๆ เช่น ที่ครอบห้องเครื่องจักรยานยนต์ เพื่อป้องกันการกระแทกระหว่างขนส่ง รวมถึงหุ่นปลอมตัวใหญ่ ๆ” เจ้าของชิ้นงานระบุ

ทุนเบื้องต้น ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์และเครื่องมือหลัก ๆ ที่ จำเป็นต้องใช้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 40,000 บาท ทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ 50% จากราคาขาย รายได้ อยู่ที่ชิ้นละ 15 บาทขึ้นไป ขึ้นกับขนาดและความยากง่ายของสินค้า

อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ประกอบด้วย เครื่องพ่นสี (แอร์บรัช), เครื่องตีส่วนผสม (แบบเดียวกับที่ใช้ในการทำเบเกอรี่), ช้อนสำหรับ ตวง, กล่องพลาสติกใส สำหรับผสมปูนและน้ำยาง, ภาชนะสำหรับเก็บส่วนผสมพร้อมใช้, ถังสำหรับอบแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์, เตาแก๊สหุงต้ม สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง, กรรไกร, สีสำหรับระบายยางพารา, สีอะคริลิก, พู่กันขนาดต่าง ๆ, ปืนยิงกาว และ กาวร้อน

ส่วนผสมและวัตถุดิบ สูตรนี้ใช้ทำ “ตุ๊กตายางพารา” ได้ประมาณ 30 ชิ้น ประกอบด้วย น้ำยางพาราข้น 167 กรัม, โพแตสเซียมโอลิเอต 15 กรัม, กำมะถัน 4 กรัม, แซดดีอีซี 2 กรัม, แซดเอ็มบีที 2 กรัม, วิงสเตย์แอล 2 กรัม, ซิงค์ออกไซด์ 10 กรัม, ดีพีจี 2 กรัม และเอสเอสเอฟ 8 กรัม โดยสารเคมีส่วนประกอบเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์การทำเร ซิ่น ส่วนน้ำยางสามารถสอบถามได้จากสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการทำแม่พิมพ์ ใส่น้ำลงกล่องพลาสติกใสครึ่งหนึ่ง จากนั้นนำปูนปลาสเตอร์เทลงไปจนปูนและระดับน้ำอยู่ระดับเดียวกัน คนให้ผสมกัน นำปูนปลาสเตอร์ที่ได้มาทาบนตุ๊กตาที่จะนำมาทำเป็นแม่แบบ สาเหตุที่ต้องทาบนตุ๊กตาเพื่อเวลาที่กดตุ๊กตาลงไปในน้ำปูนปลาสเตอร์จะได้ไม่ เกิดฟองอากาศ

จากนั้นนำตุ๊กตากดลงในกล่องพลาสติก ไม่ต้องกดให้มิด แต่ให้เหลือเนื้อที่ด้านหลังตุ๊กตาไว้สำหรับการติดแม่เหล็ก เมื่อปูนปลาสเตอร์แห้งจึงแกะออกจากแม่พิมพ์ ใช้พู่กันปัดไล่ฟองอากาศ แล้วนำแม่พิมพ์ไปตากแดดทิ้งไว้ 1-2 วัน เพื่อไล่ความชื้น จึงจะใช้งานได้

ลำดับต่อไป ผสมยางพาราและสารเคมีที่เตรียมไว้ตามสัดส่วน ตีให้เข้ากันด้วยเครื่องตีจนเกิดฟอง นำไปหยอดลงแม่พิมพ์ที่ทำไว้ โดยหยอดได้ครั้งละ 30 ตัว มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดตุ๊กตา นำแม่พิมพ์ที่หยอดไปอบในถังอบ หากเป็นตุ๊กตาตัวเล็ก ใช้เวลาอบราว 45 นาที ส่วนตัวใหญ่ใช้เวลาอบประมาณ 2 ชั่วโมง เสร็จแล้วจึงแกะออกจากแม่พิมพ์ ใช้กรรไกรตัดตกแต่งเอาขี้ยางออก นำไปผึ่งลมหรือแดดให้แห้ง อย่าตากแดดนาน เพราะตุ๊กตาจะเป็นสีเหลือง ทำให้ลงสียาก

จากนั้นนำมาลงสีโดยใช้เครื่องพ่นแอร์บรัช ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้ทำอาจต้องมีทักษะการใช้เครื่องพ่นสีแอร์บรัชบ้าง ลงสีตามต้องการเสร็จแล้ว ถ้าทำเป็นที่ติดตู้เย็นก็นำมาติดแม่เหล็กที่หลังตัวตุ๊กตา และบรรจุใส่หีบห่อตามต้องการ

“เหตุที่ไม่ใช้พู่กันลงสี เพราะจะได้สีผิวที่ไม่เนียน ซึ่งงานประดิษฐ์จากยางพาราสามารถนำไปประดิษฐ์งานอื่น ๆ ต่อยอดได้อีกมากมาย ขึ้นกับไอเดียและจินตนาการเป็นสำคัญ” เจ้าของผลงานตุ๊กตายางพาราระบุ

.....................
ใครสนใจติดต่อ ภัคจิรา ถนอมเงิน ติดต่อได้ที่ 19/53 หมู่ 2 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โทร. 08-1776-1705 ส่วนถ้าใครสนใจอยากจะรู้ข้อมูลลึก ๆ มากกว่านี้ ก็ลองติดต่อสอบถามจากเจ้าของงานโดยตรง.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=115483&categoryID=498

แนะนำอาชีพ 'น้ำผัดหมี่ปรุงสำเร็จ'

ด้วยคุณภาพของเส้นที่ผัดแล้วเหนียวนุ่ม ไม่เละง่าย ไม่ต้องแช่น้ำก่อนผัด มีรสชาติอร่อย “หมี่โคราช” จึงเป็นอาหารพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมทั้งในท้องถิ่นและคนทั่วไป การผัดหมี่โคราชนั้นต้องผัดแบบต้นฉบับของคนท้องถิ่นถึงจะได้รสชาติที่ดี จึงเป็นเรื่องที่ดูจะยุ่งยากสำหรับคนที่ไม่เคยทำ ต้องเสียเวลาในการจัดหาเครื่องปรุง จึงมีคนคิดทำ ’น้ำปรุงผัดหมี่โคราชสำเร็จรูป“ ซึ่งก็เป็นกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” อีกกรณีหนึ่ง...

@@@@@@

“แดง-สมชาย พฤกษา” ผลิต “น้ำปรุงผัดหมี่โคราชสำเร็จรูป” แพ็กขายพร้อมเส้นหมี่ สามารถนำไปผัดรับประทานได้สะดวกสบายขึ้นสำหรับผู้บริโภค เป็นสินค้าที่ทำเงินได้เป็นอย่างดี เจ้าของผลิตภัณฑ์เล่าว่า หมี่โคราชมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หมี่ตะคุ เป็นอาหารที่อยู่คู่กับท้องถิ่นมานาน ทำกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษที่ได้เรียนรู้วิธีการทำหมี่มาจากคนจีนที่อพยพ มาอยู่ที่นี่ ตากับยายตนเองก็ยึดอาชีพทำหมี่ขาย จนตกทอดมาถึงรุ่นตน

ตากับยายจะทำเส้นหมี่ขายอย่างเดียว ไม่ได้ผัดขาย การผัดหมี่จะเป็นการผัดรับประทานกันเอง โดยมีสูตรดั้งเดิมของยายด้วย ผัดหมี่โคราชมีรสชาติแตกต่างจากผัดหมี่ทั่วไป คนที่ซื้อไปผัดเองก็ผัดอร่อยบ้างไม่อร่อยบ้าง เส้นแฉะบ้าง แข็งบ้าง บางคนก็ชอบบางคนก็ไม่ชอบ ก็เป็นผลให้ระยะหลังยอดการขายเส้นหมี่โคราชเริ่มตก

จนเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ทางสาธารณสุข และพัฒนาชุมชน เข้ามาสอนวิธีการถนอมอาหาร ทำน้ำปรุงผัดหมี่ให้อยู่ได้นาน จึงมีความคิดที่จะทำน้ำปรุงผัดเส้นหมี่โคราชสำเร็จรูปขาย เพราะมีสูตรดั้งเดิมของยายอยู่แล้ว เป็นการสร้างสินค้าใหม่และเพิ่มมูลค่าของสินค้าอีกด้วย ที่สำคัญลูกค้าที่ซื้อไปก็สามารถนำไปผัดรับประทานได้ทันทีโดยมีรสชาติที่ เป็นแบบดั้งเดิม รสชาติอร่อยคงที่ ตามแบบฉบับผัดหมี่โคราชแท้

แดงนำสูตรน้ำปรุงผัดหมี่ของยายมาทำการปรับปรุง ลองผิดลองถูกอยู่นาน ทำแจกให้เพื่อนบ้านลองรับประทานดู จนได้รสชาติที่ลงตัวก็เริ่มทำขายอย่างจริงจัง จนปัจจุบันก็ขายมาได้ 1 ปีแล้ว เป็นสูตรน้ำปรุงที่คงรสชาติดั้งเดิมแบบโบราณไว้อย่างลงตัว

สำหรับวัตถุดิบในการทำน้ำปรุงผัดหมี่โคราชนั้น หลัก ๆ ก็มี หอมแดง, กระเทียม, เต้าเจี้ยว, ซีอิ๊วขาว, น้ำมันหอย, พริกคั่วบดละเอียด, น้ำมะขามเปียก, น้ำตาลมะพร้าว (น้ำตาลปี๊บ), น้ำมันปาล์ม (น้ำมันถั่วเหลือง)

วิธีการทำน้ำปรุง เริ่มจากนำกระทะตั้งไฟโดยใช้ไฟปานกลาง ใส่น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันถั่วเหลืองก็ได้ ลงไป ตั้งไว้พอน้ำมันร้อนก็ใส่น้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลปี๊บ ทำการเคี่ยวให้น้ำมันและน้ำตาลเข้ากันเป็นเนื้อเดียว จากนั้นก็นำหอมแดงและกระเทียมลงเคี่ยวไปเรื่อย ๆ พอมีกลิ่นหอมก็ใส่พริกคั่วบดละเอียดลงไป แล้วก็คนจนได้กลิ่นหอมของพริก

จากนั้นก็นำเครื่องปรุงที่เหลือ พวกเต้าเจี้ยว น้ำมันหอย ซีอิ๊วขาว น้ำมะขามเปียก ใส่ตามลงไป แล้วก็ทำการเคี่ยวน้ำปรุงไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. จนน้ำปรุงเดือดก็ดับไฟ ตั้งพักไว้ให้เย็น ก่อนจะบรรจุถุง

รสชาติของน้ำปรุงผัดหมี่โคราชนั้น จะต้องมีความกลมกล่อม มีครบทุกรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นเปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ด ที่ลงตัวพอดี โดยน้ำปรุงผัดหมี่สูตรของแดงจะไม่ใส่ทั้งผงชูรสและวัตถุกันเสีย ซึ่งน้ำปรุงผัดหมี่ที่ทำนั้นสามารถเก็บไว้ได้นานถึงประมาณ 6 เดือน

น้ำปรุงผัดหมี่สำเร็จรูปของแดง จะขายโดยบรรจุถุง ถุงละ 1 ขีด แพ็กขายพร้อมเส้นหมี่โคราช 1 ขีด สามารถนำไปผัดได้ 2 จาน

วิธีการนำไปผัดก็ไม่ยาก เริ่มจากนำกระทะตั้งไฟโดยใช้ไฟปานกลาง จากนั้นก็แกะน้ำปรุงผัดหมี่ในห่อใส่ลงไปในกระทะ พอน้ำปรุงร้อนก็ใส่เนื้อหมูลงไปผัดให้หมูสุก จากนั้นก็ใส่น้ำสะอาดลงไปประมาณ 1 แก้วหรือประมาณ 450 กรัม พักทิ้งไว้ พอน้ำเดือดก็นำเส้นหมี่ทั้งหมดใส่ลงไป ใช้ตะหลิวกดเส้นหมี่ลงไปให้น้ำท่วมเส้นหมี่เพื่อให้เส้นหมี่นุ่ม

พอเส้นหมี่นุ่มแล้วก็ทำการผัดไปเรื่อย ๆ จนน้ำเริ่มจะแห้ง ก็ใส่ถั่วงอก ต้นหอม หรืออยากจะใส่ผักอะไรก็ได้ตามแต่ผู้ผัดต้องการ แล้วก็ใส่ไข่ลงไป ทำการผัดต่อจนน้ำแห้ง ตักขึ้นใส่จานพร้อมเสิร์ฟ พร้อมรับประทาน

น้ำปรุงผัดหมี่สำเร็จรูปของแดง มีให้เลือก 2 สูตรคือ สูตรเผ็ดธรรมดา กับเผ็ดจัดจ้าน โดยขายราคาส่งจำนวนมากห่อละ 17 บาท ถ้าขายปลีกหน้าร้านก็ห่อละ 20 บาท

@@@@@@

สำหรับผู้ที่สนใจ ’น้ำปรุงผัดหมี่โคราชสำเร็จรูป“ ของแดง-สมชาย พฤกษา ต้องการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่อ ก็สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-6806-4931, 08-4942-6513 นี่ก็เป็นอีกกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” ที่พิจารณา และอาจนำไปพลิกแพลงทำขายกับเมนูอาหารอื่น ๆ ได้.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=498&contentId=116709