Saturday, June 30, 2012

แนะนำอาชีพ ‘ขนมต้มใบกะพ้อ’

“ขนมต้มใบกะพ้อ” หรือที่ชาวใต้เรียกสั้น ๆ ว่า “ต้ม” เป็นขนมนิยมของชาวปักษ์ใต้ มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมคล้ายกระจับ นิยมทำกันในช่วงงานบุญต่าง ๆ ถ้าเป็นชาวพุทธก็จะทำกันช่วงงานเทศกาลทำบุญเดือนสิบ งานบุญชักพระ งานบวช ชาวบ้านจะทำขนมไปใส่บาตร ถวายพระ ส่วนชาวมุสลิมจะเรียกขนมชนิดนี้ว่า “ตูป๊ะ” หรือ “ตูปัต” ทำกันในวันออกอีด หรือวันฮารีรายอ ที่มีการรวมญาติ ทุกคนจะล้อมวงช่วยกันทำเพื่อนำไปมัสยิด และฝากเพื่อนบ้าน แล้วเพื่อนบ้านก็จะนำของตัวเองใส่คืนกลับมาให้ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการทำขนมโบราณชนิดนี้ขาย มาให้ลองพิจารณา...

ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลคือ อดุลย์ หมัดบู หนุ่มมุสลิมไฟแรงจากแดนสะตอ จ.สงขลา เจ้าของธุรกิจปาท่องโก๋สเปนและโรตี-ชาชัก โดยเขาบอกว่า ที่มาของธุรกิจนี้เกิดจากแนวความคิดที่ต้องการสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาว บ้านการทำขนมโบราณที่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็กในพิธีต่าง ๆ คิดว่าขนมโบราณเหล่านี้มีคุณค่าจึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารขนม มาลายูขึ้น เพื่อปลุกกระแส รื้อฟื้นขนมโบราณที่กำลังจะสูญหายไปให้กลับมาเป็นที่รู้จักและคงอยู่อย่างมี คุณค่า
มีการนำคนรุ่นเก่า ๆ ที่มีความรู้ความชำนาญในการทำขนมโบราณที่หารับประทานยาก มาถ่ายทอดกรรมวิธีการทำสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านให้ได้เรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์ขนมโบราณที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ไว้ ที่สำคัญคือเด็ก ๆ เหล่านี้จะได้ฝึกสมาธิด้วย ซึ่งดูได้จากการทำขนม บางคนสมาธิไม่ดีก็จะทำลูกใหญ่ เพราะจะห่อง่ายกว่าลูกเล็กที่ต้องใช้สมาธิ พร้อมทั้งเผยแพร่วิถีชีวิตของคนปักษ์ใต้ด้วยว่านิยมรับประทานขนมต้มกับน้ำชา กาแฟ
“เริ่มแรกนั้นผมจะเป็นผู้ทำการตลาดให้ ด้วยการนำขนมโบราณอย่าง ขนมต้มใบกะพ้อ และขนมอื่น ๆ เช่น ขนมเจาะหู  ขนมจูจุน และขนมมาลายู ไปออกขายตามงานเทศกาล งานโอท็อป  งานอีเวนต์ต่าง ๆ” อดุลย์กล่าว     
“ขนมต้มใบกะพ้อ” นั้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ หลัก ๆ ก็มี เตาแก๊ส, หม้อสำหนับนึ่ง, กระทะ, กะละมัง, กระชอน, ไม้พาย ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการทำ ตามสูตรนั้นส่วนผสมก็มี ข้าวเหนียวเขี้ยวงูคัดพิเศษ (จะเป็นข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำก็ได้) 1 กก., มะพร้าวขูด1 กก., น้ำตาลทราย 2 ถ้วยตวง, เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ และใบกะพ้อ สำหรับห่อขนม 
ขั้นตอนการทำ “ขนมต้มใบกะพ้อ” หรือ “ต้ม”  เริ่มจากนำข้าวเหนียวเขี้ยวงูขาวมาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้ข้าวเหนียวดำต้องแช่ไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ระหว่างรอข้าวเหนียว ก็หันมาคั้นกะทิโดยใช้มะพร้าวขูดน้ำหนักเท่ากับข้าวเหนียว คั้นด้วยน้ำอุ่นให้ได้น้ำกะทิหนักเท่าข้าวเหนียว ซึ่งจากสูตรนี้เมื่อเรานำมาผัดกับกะทิ จะได้ข้าวเหนียวผัดที่พอดี ๆ ไม่แฉะหรือดิบเกินไป
ล้างข้าวเหนียวที่แช่น้ำตามเวลาแล้วให้สะอาด สงขึ้นพักในกระชอนให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นก็ทำการผัดข้าวเหนียวด้วยน้ำกะทิ โดยการเทข้าวเหนียงลงในกระทะ ใส่น้ำกะทิตามลงไป ปรับไฟใช้ความร้อนปานกลาง ผัดข้าวเหนียวกับน้ำกะทิสักครู่ จึงเติมเกลือลงไปด้วย ผัดไปเรื่อย ๆ ให้ทั่ว จนน้ำงวดก็เติมน้ำตาลให้ออกรสหวาน มัน เค็ม
ผัดให้แห้งพอหยิบข้าวเหนียวได้ ยกลงพักให้เย็น     
ต่อไปเป็นขั้นตอนการห่อ นำใบกะพ้อออกมาคลี่และเช็ดให้สะอาด แบ่งส่วนใบกะพ้อให้มีความกว้างของแต่ละใบเท่ากัน เพื่อที่เวลาห่อจะได้ขนมขนาดเท่า ๆ กัน พับส่วนปลายใบกะพ้อเป็นรูปกรวย ตักข้าวเหนียวใส่ ใช้มือกดลงให้แน่นจนสุดกรวย แล้วพับเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว แล้วสอดส่วนโคนของใบกะพ้อออกมาทางยอดแหลมของกรวย ดึงให้แน่น หรือจะขมวดปมตรงปลายกรวยเพื่อกันหลุดก็ได้ จากนั้นก็นำไปต้มหรือนึ่งให้สุก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อขนมสุกตัวขนมจะเป็นรูปสามเหลี่ยม เนื้อแน่น ร่อนออกจากใบกะพ้อ รสชาติหวานมันกำลังดี       
ทั้งนี้ อดุลย์บอกถึงเคล็ดลับในการทำขนมให้อร่อยว่า ต้องไม่ขี้เหนียวส่วนผสม 
สำหรับราคาขาย “ขนมต้มใบกะพ้อ” จะขายในราคาขายขีดละ 20 บาท (มีประมาณ 3-4 ลูก ขึ้นอยู่กับขนาดของขนม) มีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบประมาณ 60% ของราคาขาย

“ขนมต้มใบกะพ้อ” ขนมโบราณพื้นถิ่น ก็สามารถจะเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่ดีได้ ใครสนใจก็ลองฝึกฝนการทำกันดู ซึ่งขนมพื้นบ้านโบราณนั้น ในยุคนี้หลาย ๆ ชนิดยังขายดี ส่วนใครต้องการติดต่ออดุลย์เพื่อให้นำขนมไปออกงาน หรือสั่งไปใช้ในงานประเพณีและงานเทศกาลต่าง ๆ ติดต่อได้ที่ โทร.08-9896-6457 และ 08-5474-6393
(ชมคลิปวิดีโอ “ช่องทางทำกิน” ได้ที่ www.dailynews.co.th)
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง / พิชญวัฒน์  ปรุงศักดิ์ : ภาพ
........................................................
คู่มือลงทุน...ขนมต้มใบกะพ้อ
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 8,000  บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคาขาย
รายได้   ขายราคาขีดละ 20 บาท
แรงงาน   ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
ตลาด   ย่านอาหาร, ออกร้าน, ชุมชน
จุดน่าสนใจ  พื้นบ้านโบราณก็เป็นจุดขายที่ดี

http://www.dailynews.co.th/article/384/133595

Friday, June 29, 2012

แนะนำอาชีพ "ต้นไม้ของชำร่วย"

สินค้างานประดิษฐ์ประเภท “ของที่ระลึก-ของชำร่วย” มีการต่อยอดพัฒนาออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง อาจเพราะตลาดสินค้าประเภทนี้เป็นตลาดที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงดัดแปลง สินค้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับยุคสมัยและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดของลูกค้า แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสินค้าประเภทนี้ก็ยังจัดว่าเป็นสินค้าที่มีผู้สนใจมาก และวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ ก็มีอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างมานำเสนอ วันนี้มาดูการทำ-การขาย ’ต้นไม้ของชำร่วย“
“สุภาภรณ์ วิทโยภาส” ทำงานไอเดียแนวอีโคสีเขียว “ต้นไม้ของชำร่วย” จำหน่าย เจ้าตัวเล่าว่า เดิมทีมีอาชีพรับผลิตถุงผ้า, ถุงหูกระต่าย, ผ้ากันเปื้อน, ผ้าปิดตา, กระเป๋าเหรียญ และต้นไม้ของชำร่วยเล็ก ๆ ในกระถางรูปแบบต่าง ๆให้กับลูกค้า ต่อมาจึงคิดว่าถ้าสามารถนำสินค้ามาดัดแปลงประยุกต์ปรับให้เข้ากัน ก็น่าจะช่วยเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าภายในร้านได้มากขึ้น ประกอบกับมองว่าปัจจุบันกระแสอีโคหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติกำลัง เป็นที่สนใจ จึงทดลองประดิษฐ์และดัดแปลง จนออกมาเป็นสินค้าในรูปแบบอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้ยี่ห้อสินค้าที่ลูกค้ารู้จักดีในชื่อ “ร้านพอใจคุณ” หรือ “Porjaikhun Shop”

“เรามองว่าเรามีวัสดุหรือสินค้าที่เป็นของเดิมอยู่แล้ว หากนำมาพัฒนาดัดแปลงให้มีลักษณะเป็นของชำร่วยในรูปแบบของเรา และสามารถที่จะนำวัสดุเดิมที่เรามีอยู่มาต่อยอดได้ ก็น่าจะช่วยทำให้สินค้ามีรูปแบบที่หลากหลายเพิ่มขึ้น” สุภาภรณ์กล่าว

สินค้าที่ผลิตขึ้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับภาชนะ และลักษณะของต้นไม้ที่ใช้ในชิ้นงาน ภาชนะก็มีอาทิ ตะกร้า, ถุงผ้า, ถุงกระสอบ, ขวดพลาสติก ฯลฯ ซึ่งสามารถที่จะนำวัสดุเหลือใช้มาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นชิ้นงานต่อยอด ออกไปได้ตลอด ส่วนต้นไม้นั้น ที่ลูกค้านิยมสั่งทำเป็นของชำร่วยมีอยู่ 3 ประเภทคือ ผักสวนครัว ไม้มงคล และต้นข้าว

สุภาภรณ์บอกว่า ลูกค้าที่มาสั่งทำชิ้นงานส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าคู่รัก-คู่แต่งงาน โดยต้นไม้ส่วนใหญ่ที่กลุ่มนี้เลือกมักจะเป็นผักสวนครัวกับต้นข้าว โดยผักสวนครัวที่ลูกค้านิยมนั้นมักจะเป็นผักที่มีชื่อที่ฟังแล้วเป็นมงคล หรือไม่ก็เป็นผักสวนครัวที่มีทรงหรือรูปแบบของใบที่สวยงาม อาทิ ต้นสะระแหน่, ต้นแมงลัก, โหระพา รวมถึงต้นข้าว ส่วนลูกค้าอีกกลุ่มคือลูกค้ากลุ่มบริษัทห้างร้าน ซึ่งก็จะนิยมชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา และมักจะเลือกใช้เฉพาะไม้มงคล

ช่องทางการจำหน่ายนั้น สุภาภรณ์กล่าวว่า ขณะนี้ใช้ช่องทางการขายผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊กเป็นหลัก โดยจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.porjaikhun.lnwshop.com และ www.facebook.com/porjaikhun ซึ่งการจำหน่ายผ่านช่องทางนี้ ข้อดีคือต้นทุนน้อย และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด แต่มีหลักสำคัญคือ ต้องพยายามทำให้ชื่อสินค้าหรือประเภทของสินค้าเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้า โดยอาจใช้วิธีการสร้างคำหรือชื่อสินค้าที่สะดุดตา เพื่อที่เวลาลูกค้าค้นหาจากอินเทอร์เน็ตก็จะทำให้ชื่อสินค้าปรากฏอยู่ใน ลำดับต้น ซึ่งมีผลต่อการเปิดเข้าชมหน้าร้านออนไลน์

นอกจากนี้ ก็ควรจะทราบด้วยว่าลูกค้าในกลุ่มสินค้าของเรานั้นมีพฤติ กรรมหรือมีลักษณะการใช้งานอย่างไร เพื่อที่จะทำให้การจำหน่ายหรือโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์มีประสิทธิภาพ ตรงจุดตรงใจกับความต้องการของลูกค้าเร็วขึ้น

ทุนเบื้องต้นอาชีพลักษณะนี้ ใช้ประมาณ 20,000 บาท ขณะที่ทุนวัสดุต่าง ๆ อยู่ที่ประมาณ 60% จากราคาขาย โดยราคาสินค้าของสุภาภรณ์มีตั้งแต่ชิ้นละ 10 บาท ไปจนถึง 40 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด ภาชนะ และต้นไม้ที่ใช้

วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ได้แก่ ถุงผ้า, ผ้ากระสอบ, ริบบิ้น, ดินพร้อมปลูก, หินสีสำหรับประดับตกแต่ง, กาบมะพร้าวฉีกฝอย, กระถางพลาสติกหรือขวดนมใช้แล้ว, กรรไกร, เข็มกับด้าย, ต้นไม้สำหรับปลูก และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ ตามต้องการ

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการเตรียมต้นไม้ที่จะปลูก ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นคนกำหนดหรือเลือกต้นไม้ที่ต้องการมาให้ เมื่อเลือกต้นไม้ได้แล้วก็นำต้นไม้มาดัดตกแต่งให้ได้พุ่ม หรือตัดใบที่ไม่สวยออก จากนั้นทำการเตรียมดินสำหรับปลูกใส่ลงกระถางพลาสติกหรือภาชนะที่เตรียมไว้ ทำการจัดวางต้นไม้ใส่ลงไปในภาชนะ ปรับหน้าดินในกระถาง

จากนั้นก็นำมาจัดเรียงลงถุงผ้า หรืออาจใช้ผ้ากระสอบรัดรอบภาชนะปลูก แล้วจึงใช้ริบบิ้นพันโดยรอบ นำหินสีมาโรยใส่เพื่อเพิ่มความสวยงาม เป็นอันเสร็จขั้นตอนหลัก ๆ ในการทำ

“สำหรับต้นไม้ที่ใช้ปลูกนั้น ระยะเวลาการปลูกไม่เท่ากัน ก่อนที่จะส่งให้ลูกค้าจะต้องทำการปลูกไว้ก่อน โดยหากเป็นต้นข้าว ให้เพาะเมล็ดข้าวไว้ล่วงหน้าก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ จะได้ต้นข้าวที่มีความสูงขนาดพอดี ไม่สูงหรือเตี้ยเกินไป หากเป็นผักสวนครัวก็ใช้ระยะเวลาเตรียมปลูกไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่หากเป็นไม้ประดับก็จะใช้เวลานานมากกว่านั้น ซึ่งหากต้องการเพิ่มความรวดเร็วก็อาจใช้วิธีไปเลือกซื้อไม้ประดับสำเร็จรูป มาใช้ก็ได้ แต่ก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเล็กน้อย” สุภาภรณ์อธิบายแนะนำถึงการเตรียมต้นไม้สำหรับนำมาใช้จัดลงชิ้นงาน ’ต้นไม้ของชำร่วย“

ใครสนใจชิ้นงานลักษณะนี้ ต้องการติดต่อกับกรณีตัวอย่าง ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-6335-3541 หรือทางอีเมล porjaikhun@gmail.com หรือหากอยากจะชมสินค้าก็สามารถเปิดเข้าไปดูได้ตามเว็บไซต์ที่ระบุไว้แต่ต้น ทั้งนี้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่เกี่ยวกับของชำร่วย ที่ตอกย้ำว่าตลาดตรงนี้ยังไม่ตัน...

http://www.dailynews.co.th/article/384/133351

Saturday, June 23, 2012

แนะนำอาชีพ "น้ำสลัดหลากสี"

การขายอาหารตามตลาดนัด ต้องสร้างจุดดึงดูดลูกค้า ซึ่งกับการขาย “สลัด” ที่ยุคนี้มีการขายกันทั่วไปนั้น ก็ต้องพลิกแพลงสร้างจุดเด่น เน้นให้มีจุดขาย เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงลูกค้า วันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีกรณีศึกษามานำเสนอ...
 
โนรา ศรีรูญ เจ้าของร้าน “สลัดผักโนรา” ย่านบางใหญ่-บางบัวทอง ขายสลัดแบบสำเร็จรูปมาประมาณ 5 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นทำงานบริษัท แต่รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีภาระมาก จึงหาทางค้าขายเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น

“แรก ๆ เริ่มจากขายลูกชิ้นทอดก่อน แต่แฟนไม่ชอบน้ำมัน จึงคิดเปลี่ยนหาทางค้าขายอย่างอื่น บังเอิญทางบ้านชอบกินสลัดกัน และแม่แฟนก็ทำน้ำสลัดเป็นด้วย ก็เลยสอนให้ในรสชาติดั้งเดิม เป็นน้ำสลัดครีมธรรมดา และตระเวนขายตามตลาดนัด
ต่าง ๆ ในย่านบางใหญ่ บางบัวทอง ซึ่งก็ได้ผลตอบรับดีมาก เพราะคนชอบทานผัก และเราขายไม่แพงด้วย จึงได้ขายจริงจังตั้งแต่นั้นมา ซึ่งแยกกันขายกับแฟน” โนราเล่าจุดเริ่มต้น ก่อนจะขยายถึงจุด “พลิกแพลง”

“น้ำสลัดหลากสี-หลายรส” คือจุดพลิกแพลงที่ว่า โดยโนราบอกว่า เพราะคิดว่าน้ำสลัดครีมอย่างเดียวไม่หลากหลาย อยากจะเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า และเป็นเอกลักษณ์ของร้าน ซึ่งก็พยายามคิดค้นทดลองอยู่นานทีเดียวกว่าจะลงตัว ซึ่งทุกวันนี้น้ำสลัดที่ขายมี 6 แบบคือ โยเกิร์ต บลูเบอรี่, โยเกิร์ต สตรอเบอรี่, กีวี, พริกไทยดำ, งาดำ, ดั้งเดิม

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ หลัก ๆ ก็มี เครื่องตีน้ำสลัด มีด-เขียง เครื่องตวง และภาชนะต่าง ๆ ซึ่งมีใช้ตามครัวเรือนทั่วไป โดยในแต่ละวันจะเตรียมผักสลัดคือ แตงกวาหั่น, ถั่วแดงเม็ดใหญ่ต้มสุก, ข้าวบาร์เลย์ต้มสุก, มะเขือเทศหั่นเป็นแว่น ๆ, ข้าวโพดต้ม (แกะเม็ด), แครอทขูดฝอย, กะหล่ำปลีม่วงหั่นฝอย, กะหล่ำปลีขาวหั่นฝอย และผักกาดหอมหั่นเป็นชิ้น ๆ ซึ่งวัตถุดิบดังกล่าวนี้หาซื้อได้ตามตลาดสดทั่วไป และโนราบอกว่า ที่ร้านจะเน้นผักหลากหลาย ให้คนซื้อได้มีผักหลาย ๆ แบบให้เลือก และยังช่วยทำให้หน้าร้านดูมีสีสันสดใส น่าเข้ามาซื้อ

สำหรับน้ำสลัด 6 แบบ 6 รสชาตินั้น น้ำสลัดดั้งเดิม การทำตามสูตรก็จะใช้น้ำตาลทราย 10 ช้อนโต๊ะ ต่อนมข้น 5 ช้อนโต๊ะ, ไข่แดง 1 ฟอง, เกลือ 0.5 ช้อนชา, น้ำส้มสายชู 5 ช้อนโต๊ะ และน้ำมันถั่วเหลือง 1 ถ้วย วิธีทำก็ใส่ส่วนผสมทุกอย่างลงไปในเครื่องตี ยกเว้นน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งจะใส่ในภายหลัง ตีไปเรื่อย ๆ สังเกตว่าน้ำตาลทรายละลายเข้ากันหมด แล้วจึงค่อย ๆ ใส่น้ำมันถั่วเหลืองลงไปตี ตีไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งน้ำสลัดเข้ากันดี สีเหลืองนวล เท่านี้ก็ใช้ได้

น้ำสลัดโยเกิร์ต บลูเบอรี่ ก็มีสูตรคล้ายกัน โดยวิธีทำคือใส่ส่วนผสมทุกอย่างลงไปในเครื่องตี ยกเว้นน้ำมันถั่วเหลือง ตีไปจนน้ำตาลทรายละลายเข้ากันหมด จึงค่อย ๆ ใส่โยเกิร์ตรสบลูเบอรี่ลงไป 1 ถ้วย ตีให้เข้ากัน จากนั้นก็ค่อย ๆ ใส่น้ำมันถั่วเหลืองลงไปตี ตีไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งน้ำสลัดเข้ากันดี เป็นอันเสร็จ

น้ำสลัดโยเกิร์ต สตรอเบอรี่ ก็เช่นกัน ใส่ส่วนผสมทุกอย่างลงไปในเครื่องตี ยกเว้นน้ำมันถั่วเหลือง ตีไปจนน้ำตาลทรายละลายเข้ากันหมด ค่อย ๆ ใส่โยเกิร์ตรสสตรอเบอรี่ลงไป 1 ถ้วย ตีให้เข้ากัน จากนั้นค่อย ๆ ใส่น้ำมันถั่วเหลืองลงไปตี ตีไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งน้ำสลัดเข้ากันดี เป็นอันเสร็จ

สำหรับ น้ำสลัดกีวี ก็ใส่ส่วนผสมทุกอย่างเหมือนแบบดั้งเดิมลงไปในเครื่องตี ยกเว้นน้ำมันถั่วเหลือง ตีไปจนน้ำตาลทรายละลายเข้ากันหมด จากนั้น ใส่ผลกีวี 1 ผล (ปอกเปลือก แกะเมล็ดออก หั่นเป็นชิ้น ๆ) และน้ำเชื่อม 5 ช้อนโต๊ะ เพื่อเพิ่มความหวาน ตีให้เข้ากัน จากนั้นค่อย ๆ ใส่น้ำมันถั่วเหลืองลงไปตี พอเข้ากันดี ก็ใช้ได้

น้ำสลัดพริกไทยดำ ก็ตีส่วนผสมทุกอย่าง ยกเว้นน้ำมันถั่วเหลืองตีจนน้ำตาลทรายละลายเข้ากันหมดแล้วก็ ใส่เม็ดพริกไทยดำคั่ว 3 ช้อนชา ตีให้เข้ากัน แล้วค่อย ๆ ใส่น้ำมันถั่วเหลืองลงไปตีจนกระทั่งเข้ากันดี เป็นอันเสร็จ

น้ำสลัดงาดำ ก็ตีส่วนผสมทุกอย่าง ยกเว้นน้ำมันถั่วเหลือง ตีจนน้ำตาลทรายละลายเข้ากันหมดแล้วก็ ใส่งาดำคั่ว 3 ช้อนชา ตีให้เข้ากัน จากนั้นค่อย ๆ ใส่น้ำมันถั่วเหลืองลงไปตีจนกระทั่งเข้ากันดี เป็นอันเสร็จขั้นตอน

ในการขาย จะแบ่งน้ำสลัดรสต่าง ๆ ใส่ถุง ถุงละ 70 กรัม ซึ่งตามสูตรที่ว่ามาข้างต้น จะแบ่งได้ประมาณ 6 ถุง

พอลูกค้ามาซื้อก็ตักผักสลัดที่ลูกค้าเลือก (หรือจัดเป็นชุดใส่ผักทุกอย่าง) ใส่ถุงพลาสติกใบใหญ่ กะปริมาณให้ดูพอดี จัดแต่งให้ดูสวยงาม จากนั้นใส่ถุงน้ำสลัดลงไปในถุงผักสลัด รัดด้วยหนังยางให้ถุงพองโป่ง ดูสวยงาม ขายในราคาชุดละ 20 บาท โดยต้นทุนอยู่ที่ถุงละประมาณ 15 บาท
 
“น้ำสลัดหลากสี-หลายรส” เจ้านี้ ขายอยู่ตามตลาดนัดต่าง ๆ อาทิ ตลาดนัดหงส์ประยูร, ตลาดนัดบางใหญ่, ตลาดนัดสมบัติบุรี, ตลาดนัดบางคูรัต ขายทุกวัน (ยกเว้นวันพฤหัสบดี) ช่วงเวลา 16.00-20.00 น. ใครต้องการติดต่อกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ก็ติดต่อได้ที่ โทร.08-1611-6158.

http://www.dailynews.co.th/article/384/121219

Friday, June 22, 2012

แนะนำอาชีพ “เสื้อผ้าบิ๊กไซซ์”

ปัจจุบันธุรกิจ ’ร้านค้าออนไลน์“  อีคอมเมิร์ซโซไซตี้ การขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ มีคนทำมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสามารถทำตลาดกว้างทั้งในและต่างประเทศ โดยจะมีหรือไม่มีหน้าร้านก็ได้ และยิ่งเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้นก็ยิ่งสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ แบบออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ประสบความสำเร็จ ก็จำเป็นต้องมีการดำเนินการที่ดี และที่สำคัญคือ “สินค้า” ที่โดดเด่นน่าสนใจก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลกรณีศึกษามานำเสนอ ซึ่งน่าสนใจ ทั้งการดำเนินการ ทั้งคนที่ทำ-ที่คิดจะทำ และลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ’เสื้อผ้าบิ๊กไซซ์“
“เจมส์-อภิณุ วิริยกอบกุล” เป็นอีกหนึ่งคนที่เลือกทำ “ธุรกิจการค้าออนไลน์” โดยเลือก “เสื้อผ้าบิ๊กไซซ์” เป็นสินค้าหลัก เปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้าสตรีไซซ์ใหญ่ในอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ www.fattyshop.com โดยใช้ชื่อร้าน-ชื่อแบรนด์ว่า ’แฟตตี้ช็อป (fattyshop)“  ซึ่งเขาเล่าว่า หลังเรียนจบทางด้านวิศวกรรมก็ออกมาทำงานตรงตามสายที่เรียน และต่อมาก็สนใจทำธุรกิจค้าขายออนไลน์ ซึ่งมีจุดเริ่มจากการที่เป็นลูกค้าธุรกิจรูปแบบนี้มาก่อน คือเป็นคนที่ชอบสั่งซื้อสินค้าต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว เพราะของที่ต้องการจะซื้อนั้นหาง่าย และจะถูกกว่าของที่วางขายตามหน้าร้านทั่วไปด้วย

“แรก ๆ ก็ยังไม่กล้าสั่งซื้อของบนอินเทอร์เน็ต เพราะยังกลัวว่าจะถูกโกง ก็เริ่มจากซื้อของที่มีราคาไม่แพงก่อน และเลือกซื้อบนเว็บไซต์ที่ดูน่าเชื่อถือ โดยการดูจากหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ ว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่ และดูจากกระทู้โต้ตอบบนเว็บไซต์นั้น ๆ ว่ามีกระทู้ที่ลูกค้าเข้ามาโพสต์ในเรื่องการซื้อขายอย่างไรบ้าง” เจมส์เล่า

ก่อนจะบอกต่อไปว่า หลังจากที่เริ่มซื้อสินค้า ซื้อของต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตมาเรื่อย ๆ ต่อมาก็เริ่มมองว่าการค้าขาย การขายของบนอินเทอร์เน็ตนั้น เป็นช่องทางขายของที่ดี เพราะซื้อง่ายขายคล่องมาก คิดได้ดังนั้นก็เลยลองนำของที่มีอยู่มาลงขายบนอินเทอร์เน็ตดูบ้าง ซึ่งปรากฏว่าขายได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำการค้าบนอินเทอร์เน็ตเรื่อยมาจนปัจจุบัน

หลังจากที่เอาของมือสองของตนเองและคนใกล้ตัวมาลงขายเรื่อย ๆ พอถึงจุดหนึ่งก็เริ่มไม่มีของที่จะมาลงขาย เจมส์จึงเริ่มมองหาสินค้าอื่น ๆ มาขาย ก็มองที่เสื้อผ้า ซึ่งช่วงแรก ๆ ไปรับเสื้อผ้าทั่วไปไซซ์ปกติมาลงขาย ก็พอไปได้ จนระยะหนึ่งก็เห็นว่าธุรกิจที่ทำอยู่ยังมีจุดอ่อนที่ตัวสินค้า เพราะสินค้าเสื้อผ้าไซซ์ปกตินั้นมีคู่แข่งทางการค้าเยอะ และหลายช่องทาง ทำให้มีการตัดราคากัน ทำให้ขายได้กำไรในระดับที่ไม่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจ จึงเริ่มมองหาสินค้าตัวอื่นมาขาย

เมื่อมองเห็นว่าเสื้อผ้าไซซ์ปกติมีอยู่มากในตลาด ก็เลยลองไปมองตลาด ’เสื้อผ้าไซซ์ใหญ่“ ซึ่งจากการลองสำรวจตลาดก็เห็นว่าร้านเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่นั้นมีอยู่น้อย ก็เริ่มเห็นช่องทางใหม่ และเริ่มศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่ามีคนที่มีร่างกายแบบ ’บิ๊กไซซ์’ อยู่เยอะ แต่คนกลุ่มนี้มีช่องทางการซื้อเสื้อผ้าน้อย และไม่ค่อยมีเสื้อผ้าที่เป็น ’แฟชั่น“ มาก

ร้านขายเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่มีน้อย และคนไซซ์ใหญ่มักจะไม่ชอบเดินซื้อเสื้อผ้าด้วยตัวเอง จึงเริ่มต้นนำเสื้อผ้าผู้หญิงไซซ์ใหญ่มาลงขายบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และทำมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้ทำมาได้ 5 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นแหล่งที่นำสินค้ามาจำหน่ายก็เป็นแหล่งเดียวกับเสื้อผ้าไซซ์ปกติ เช่น โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ แต่สิ่งที่จะเน้นมากคือเสื้อผ้าที่จะนำมาจำหน่ายนั้นจะต้องดูในเรื่อง คุณภาพการตัดเย็บดี คุณภาพผ้าดี และรูปแบบเสื้อผ้าก็จะต้องดูดี ด้วยเช่นกัน

’เราขายเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่บนอินเทอร์เน็ตอยู่ได้ระยะหนึ่งก็เริ่มมีคู่แข่งมาก ขึ้น ทำให้มีปัญหาตามมาในเรื่องของสินค้าที่มักจะไม่แตกต่าง เราจึงมาคิดเพิ่มเติมเพื่อให้สินค้าของเราแตกต่างไปจากรายอื่น เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นในแบบฉบับของเราเอง เราจึงออกแบบและผลิตเอง ซึ่งแบบเสื้อผ้าที่ลงขายก็จะต้องมีหลากหลาย และของเราก็จะมีการเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัยนิยม ตามแฟชั่น ซึ่งรวมแล้วตอนนี้เรามีอยู่กว่า 7,000 แบบ“

เจ้าของธุรกิจการค้าออนไลน์ “เสื้อผ้าบิ๊กไซซ์” แบรนด์ “แฟตตี้ช็อป (fattyshop)” บอกอีกว่า คนที่จะทำธุรกิจขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ตนั้นต้องเป็นคนที่ชอบและตั้งใจที่จะ ทำจริง ๆ ซึ่งสำหรับเขาเองนั้นการทำการค้าแบบนี้ก็จะคอยเฝ้าเช็กหน้าเว็บไซต์อยู่ตลอด และสินค้าที่นำมาลงขายก็จะหาสินค้าที่ดูแตกต่างไปจากรายอื่น ๆ อยู่เสมอ
            
ในส่วนของมือใหม่ที่สนใจจะทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต แรกเริ่มก็อาจจะลองเริ่มลงขายบนเว็บที่ฝากขายของไปก่อน เมื่อเริ่มมีลูกค้าและมีความพร้อมที่จะทำมากขึ้นแล้วจึงค่อยขยับขยาย ซึ่งการค้าขายบนอินเทอร์เน็ตนั้นแนะนำว่าการเช่าพื้นที่ขายบนเว็บไซต์สำเร็จ รูปจะดีกว่ามาเขียนเว็บของตัวเอง ดีกว่าตรงที่ถ้าเป็นเว็บสำเร็จรูปเราไม่ต้องไปกังวลเรื่องระบบการทำงานของ เว็บ เราก็แค่เข้าไปดู คอยเช็กและอัพเดทสินค้าของเราเท่านั้น ซึ่งค่าเช่าเว็บสำเร็จรูปเพื่อเปิดหน้าร้านขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ต ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน โดยราคาจะขึ้นอยู่กับแต่ละเว็บไซต์ว่าจะมีอัตราเท่าใด

และจุดหนึ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจแบบนี้คือ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการเสียภาษีถูกต้อง ซึ่งก็ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้ด้วย เพราะร้านมีตัวตนจริง ตรวจสอบได้

’การขายเสื้อผ้าผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น เราจะบอกไซซ์ และวิธีดูไซซ์ ให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจน เมื่อลูกค้าสั่งซื้อไปแล้วต้องใส่ได้ไม่มีปัญหา สำหรับเสื้อไซซ์ใหญ่ของ fattyshop มีไซซ์ตั้งแต่ขนาดรอบอก 36 นิ้ว จนถึง 60 นิ้ว ราคามีตั้งแต่ประมาณ 300 บาท ไปจนถึงประมาณ 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับแบบ นอกจากนี้ก็ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่เป็นไซซ์ใหญ่อีก เช่น กระโปรง ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ถุงน่อง เครื่องประดับต่าง ๆ“ เจมส์กล่าว
                                 
ใครสนใจ “เสื้อผ้าบิ๊กไซซ์” คลิกเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ www.fattyshop.com หรือโทรฯสอบถามได้ที่ โทร. 0-2152-0867-8 และแบรนด์ ’แฟตตี้ช็อป (fattyshop)“ ของเจมส์-อภิณุ ยังมีหน้าร้านอยู่ที่ตลาดบองมาร์เช่ (เบอร์ร้าน โทร.08-9440-2930) และที่เชียงใหม่ (เบอร์ร้าน โทร. 08-9104-9030) ด้วย ซึ่งก็เสริม “ช่องทางการเข้าถึงของลูกค้า”

’เสื้อผ้าบิ๊กไซซ์“...นี่น่าสนใจมากทีเดียว!!.

http://www.dailynews.co.th/article/384/121000

Saturday, June 16, 2012

แนะนำอาชีพ"กระถางปั้นหนังสือพิมพ์เก่า"

การทำ “กระถางสร้างสรรค์” สร้างชิ้นงานทำเงิน-เพิ่มกำไรด้วยไอเดีย ซึ่งโครงการ “เดลินิวส์ฝึกอาชีพ” ได้จัดฝึกไปนั้น วิทยากรผู้สันทัดกรณีที่มาให้ข้อมูลการทำคือ อ.เกรียงศักดิ์ เจริญไตรรัตน์ โดยการทำชิ้นงานศิลปะประดิษฐ์ประเภทนี้ อุปกรณ์หลัก ๆ ประกอบด้วย... กระดาษทรายเบอร์ 1, กาวร้อน หรือนอตและแหวนรอง, กระถางพลาสติกใบเล็ก, สีอะคริลิก 12 สี , จานสี (หรือรังไข่พลาสติก), แก้วพลาสติกใส่น้ำ, ปากกาเมจิกกันน้ำหัวเล็ก, พู่กันเบอร์ 10, พู่กันเบอร์ 6, พู่กันเบอร์ 4,  สีพลาสติกทาบ้าน (ขาว และดำ),  ต้นไม้สำหรับจัดใส่กระถาง และหินสี

สำหรับวัสดุที่ใช้ หลัก ๆ ประกอบด้วย... แป้งข้าวโพด, กาวลาเท็กซ์, ดินสอพอง, น้ำมันมะกอกสำหรับใส่ผมหรือทาผิว และที่เป็น “พระเอก” ที่ขาดไม่ได้เลยคือ “กระดาษหนังสือพิมพ์” ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในการทำ “ดินกระดาษ” เพื่อปั้นเป็นชิ้นงาน โดยกระดาษหนังสือพิมพ์ที่เหมาะจะนำมาใช้งานนั้น ก็คือกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าที่เรา ๆ ท่าน ๆ อ่านข้อมูลข่าวสารกันเรียบร้อยแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ ๆ แต่อย่างใด คือทั้งได้อ่าน และได้ใช้ คุ้ม!!

มาถึงขั้นตอนการทำ เริ่มจากขั้นตอนการเตรียมกระดาษ นำกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าที่เตรียมไว้มาทำการฉีกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนำลงแช่ในภาชนะที่ใส่น้ำสะอาดเตรียมไว้ ใส่น้ำพอให้ท่วมกระดาษ แช่ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน โดยการตรวจสอบว่ากระดาษที่แช่น้ำสามารถใช้งานได้หรือยังคือให้ใช้มือจับดู หากกระดาษมีความนิ่มตัวเปื่อยยุ่ย แสดงว่าพร้อมใช้งานแล้ว ก็นำกระดาษมาปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ หรือหากทำจำนวนน้อย ไม่ต้องการจะลงทุนค่าเครื่อง ก็อาจใช้วิธีฉีกกระดาษให้เป็นชิ้นจิ๋ว ๆ และก็ตำในครกแทนก็ได้ แต่ก็เป็นวิธีที่ต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นอีกหน่อย

ถ้าใส่เครื่องปั่น ข้อแนะนำขณะปั่นคือควรใช้อัตราส่วน “กระดาษ 2 ส่วน : น้ำ 1 ส่วน” ซึ่งจะช่วยยืดอายุเครื่องปั่นที่ใช้ให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ไม่สึกหรอง่าย เมื่อปั่นกระดาษจนละเอียดแล้ว ก็นำเนื้อกระดาษที่ได้มาทำการกรองด้วยผ้าขาวบางหรือผ้ามุ้ง คล้ายกับการคั้นน้ำกะทิ นำเนื้อกระดาษที่ปั่นแล้วมาใส่ลงในผ้ากรองจากนั้นก็บิดม้วนเพื่อคั้นให้น้ำ ที่ผสมอยู่ออกไปจนเหลือแต่เพียงเนื้อกระดาษ นำมาคลี่ออกและทำการบี้ด้วยมือให้เนื้อกระดาษละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ขั้นตอนต่อมาเป็นการเตรียมส่วนผสม เริ่มจากนำแป้งข้าวโพด และดินสอพอง ปริมาณพอเหมาะสมกับเนื้อกระดาษ มาใส่ในภาชนะเพื่อละลายน้ำ เทคนิคคือให้ค่อย ๆ รินน้ำใส่ทีละน้อย ๆ และค่อย ๆ นวดหรือบี้แป้งข้าวโพดกับดินสอพองให้ค่อย ๆ ละลาย โดยตรวจสอบดูว่า ถ้าแป้งข้าวโพดและดินสอพองมีลักษณะเหนียวหนืดคล้ายกับลักษณะของนมข้นหวาน ก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้ ให้นำส่วนผสมที่ได้นี้ผสมรวมลงไปในเนื้อกระดาษที่ปั่นและกรองแล้ว

ลำดับถัดมาคือเติมกาวลาเท็กซ์ลงไปผสม ซึ่งถ้าจะให้ดีควรใช้ อัตราส่วน “กระดาษ 1 ส่วน : กาวลาเท็กซ์ 1 ส่วน” จากนั้นทำการนวดให้ส่วนผสมเข้ากัน คล้ายการนวดแป้งในการทำอาหาร หากไม่ทราบว่าดินกระดาษที่นวดนั้นใช้งานได้หรือยัง ก็ให้ใช้ความรู้สึก คือหากรู้สึกว่าเหนียวติดมือแล้ว ก็ถือว่าใช้งานได้แล้ว และหากไม่ต้องการให้เลอะเปรอะเปื้อนมือมาก ก็แนะนำให้เติมน้ำมันมะกอกลงไปในดินกระดาษเล็กน้อยในขณะที่นวด ซึ่งต้องใช้น้ำมันมะกอกสำหรับใส่ผมหรือทาผิวเท่านั้น ห้ามใช้น้ำมันมะกอกสำหรับทำอาหาร เพราะจะมีกลิ่นเหม็นหืน

เมื่อได้ดินกระดาษที่มีความเหนียวพอดีแล้ว ก็นำมาปั้นให้เป็นก้อนกลม ๆ จากนั้นนำใส่ถุงพลาสติกรัดปิดปากถุงทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ซึ่งถ้าต้องการให้ดินกระดาษมีประสิทธิภาพที่สุด ควรนำดินกระดาษที่ปั้นเป็นก้อนไปแช่ในตู้เย็นคล้ายกับการหมักลูกแป้งในการทำ อาหารและขนม เพื่อให้กระบวนการหมักตัวมีประสิทธิภาพ จุดสังเกตที่จะทราบว่าดินกระดาษที่หมักไว้ใช้งานได้หรือยัง ให้สังเกตเวลาที่จับดินกระดาษ หากมีผิวที่เนียนและมีน้ำหนักที่เบาขึ้นกว่าตอนก่อนแช่ ก็แสดงว่าพร้อมสำหรับการปั้นขึ้นรูปแล้ว

การปั้นขึ้นรูป ก็นำดินกระดาษที่ปั้นเป็นก้อนและทิ้งไว้ประมาณ 1 คืนแล้ว  มาปั้นเป็นชิ้นงานตามแบบที่ออกแบบไว้ เช่น นกเพนกวิน จากนั้นนำไปตากแดดประมาณ 1 วัน ถ้าหากพบว่าดินกระดาษมีรอยแยกหรือรอยแตกปรากฏให้เห็น ก็ไม่ต้องตกใจ สามารถใช้วิธีการลงสีทับลงไปให้พื้นผิวหนาขึ้น เพื่อปกปิดรอยแตกนั้น คล้าย ๆ กับการโป๊วสีรถยนต์

ขั้นตอนการลงสี และการประกอบกระถาง นำชิ้นงานดินกระดาษที่เซตตัวดีแล้วมาขัดผิวให้เรียบด้วยกระดาษทราย จากนั้นลงสีพื้นด้วยสีพลาสติกสีขาว ทาทับหลาย ๆ ชั้น เพื่อให้ผิวของดินกระดาษเนียนเรียบและเพื่อปกปิดรอยแตกที่อาจเกิดขึ้นขณะนำ ดินกระดาษไปตากแดด ทิ้งไว้ให้สีขาวแห้ง แล้วจึงนำสีอะคริลิกมาลงเป็นลวดลายตามต้องการ ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ซึ่งถ้าทำเป็นตัวนกเพนกวิน จะมีส่วนที่ต้องเป็นสีดำ ส่วนนี้ให้ใช้สีพลาสติกสีดำทำการลงสี และใช้ปากกาเมจิกกันน้ำเขียนรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ เช่น ส่วนที่เป็นตา คิ้ว ปาก เป็นต้น 

เมื่อทิ้งชิ้นงานไว้จนสีแห้งดีแล้ว ก็นำกระถางพลาสติกมายึดติดกับตัวชิ้นงานดินกระดาษ ยึดติดด้วยกาวร้อนหรือนอตและแหวนรอง ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำกระถาง สุดท้ายก็เป็นการนำต้นไม้ เช่นต้นตะบองเพชรต้นเล็ก ๆ มาใส่ลงในกระถาง โรยหน้าด้วยหินสีเพื่อตกแต่ง เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมจำหน่าย โดย กระถางสร้างสรรค์พร้อมต้นไม้ ตั้งราคาจำหน่ายได้ชิ้นละประมาณ 299 บาท มีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัสดุประมาณ 30% จากราคาขาย
 
“ใช้วัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่าย อย่างเช่นกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ใช้เป็นวัสดุหลักในการผลิต” ...ทาง อ.เกรียงศักดิ์ เจริญไตรรัตน์ ระบุถึงจุดน่าสนใจจุดหนึ่งของชิ้นงานรูปแบบนี้ ซึ่งนี่ก็หมายถึงการใช้ต้นทุนต่ำ แต่สามารถจะทำรายได้ได้ดีด้วยไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งหากใครต้องการติดต่อกับ อ.เกรียงศักดิ์ ก็ติดต่อได้ที่ เลขที่ 580/13 ซอยเศรษฐกิจ 5 หมู่บ้านเศรษฐกิจ แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ และที่ตลาดนัดสนามหลวง 2 โทร.08-9667-3541
http://www.dailynews.co.th/article/384/120042

Saturday, June 9, 2012

แนะนำอาชีพ ‘สุกี้แห้งทะเล’

ยุคปัจจุบัน เพราะคนต้องทำงานแข่งกับเวลา ทำอะไรจึงต้องการความสะดวกและรวดเร็ว เรื่องอาหารการกินก็พึ่งอาหารจานเดียวหรืออาหารจานด่วนมากเพราะไม่ยุ่งยากใน การจัดเตรียมทำ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการเลือกรับประทานเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนกัน มากขึ้น ซึ่ง “สุกี้” ก็กำลังเป็นอาหารจานด่วนที่หลายคนชื่นชอบ เพราะเป็นเมนูเพื่อสุขภาพที่มีผักเป็นส่วนประกอบมาก และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูล “สุกี้แห้งทะเล” มานำเสนอให้พิจารณากัน...
 
“พิมพร รอดคำแหง” หรือ “คุณหมู” เจ้าของร้านข้าวผัดปูเมืองทอง สาขา 2 เล่าว่า ต้นตำรับข้าวผัดปูเมืองทองคือ คุณสมบูรณ์ ปิยะทับทิม ที่เกิดแนวคิดนำอาหารภัตตาคารมาลงข้างทางให้คนทั่วไปมีโอกาสกินอาหารเหลา บ้าง จึงคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดี สะอาด มาทำข้าวผัดที่มีมาตรฐานรสชาติอาหารขาย และคุณสมบูรณ์ต้องการให้มีอาหารในร้านเพิ่มอีกสักอย่างสองอย่างเพื่อเป็นตัว เลือกให้ลูกค้า จึงชักชวนตนเองซึ่งมีฝีมือในการทำอาหารหลายอย่างมาทำร่วมกัน

“เปิดตัวที่ข้าวผัดปูและกระเพาะปลา ได้รับการตอบรับดีมาก ๆ ก็มานั่งคิดกันว่าน่าจะขยายสาขาเพื่อรองรับลูกค้า และที่สำคัญคือต้องเพิ่มเมนูอาหารทานเล่นและเมนูเพื่อสุขภาพให้กับลูกค้า บ้าง สรุปกันได้ที่เมนูหมูสะเต๊ะ กุ้งอบวุ้นเส้น และ สุกี้แห้งทะเล สูตรโบราณดั้งเดิมของอาม่า ผัดสไตล์จีนโบราณ จะแห้ง มีกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อมเข้ากันพอดีกับน้ำจิ้มเต้าหู้ยี้สูตรเด็ดที่ปรุงขึ้นมาเองตาม สูตรโบราณ รสชาติจัดจ้านด้วยกระเทียม พริก และหอมเต้าหู้ยี้”

คุณหมูบอกว่า ที่ร้านมีนโยบายปรุงอาหารแบบโชว์ให้เห็น ปรุงเสร็จก็เสิร์ฟทันทีจานต่อจานไม่มีการทำไว้ก่อน เพื่อให้สดใหม่ทั้งวัตถุดิบและการปรุง และแม้ราคาข้าวของจะแพงขึ้น แต่อาหารที่ร้านยังราคาปกติ คุณภาพเหมือนเดิม เช่น เนื้อปูเป็นก้อน คุณภาพดี กุ้งตัวโต ปลาหมึกสด ซึ่งจากจุดนี้ทำให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้นจนขยายร้านเป็น 4 สาขา โดยสาขา 1 อยู่ที่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 (08-1646-3296), สาขา 2 เกษตร-นวมินทร์ (08-2972-0880), สาขา 3 อยู่ที่ถนนลาดพร้าว (08-1344-2862) และสาขา 4 อยู่ที่พหลโยธิน-เกษตร (08-1348-7080) เปิดบริการตั้งแต่เวลา 15.00-22.00 น. ทุกวัน

สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ทำ “สุกี้แห้งทะเล” สูตรโบราณ ก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในครัวทั่วไปคือ เตาแก๊ส, กระทะบาง, ตะหลิว, กะละมัง, มีด, เขียง เป็นต้น ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการทำก็มี กุ้งสด, ปลาหมึกสด, ปลาหมึกแห้ง, ผักกาดขาว, ผักบุ้งจีน, ขึ้นฉ่าย, วุ้นเส้น, ไข่ไก่สด, น้ำมันหอย, ซีอิ๊วขาว, น้ำตาลทราย, กระเทียม และน้ำมันพืช

ขั้นตอนการทำสุกี้แห้งสูตรโบราณ ก่อนอื่นต้องทำน้ำจิ้มสุกี้ก่อน ส่วนผสมก็มี...เต้าหู้ยี้สีแดง, พริกขี้หนูสด, พริกแห้งคั่ว, กระเทียมสด, กระเทียมดอง, น้ำมะนาว, น้ำกระเทียมดอง, เกลือ, น้ำตาลทราย, น้ำต้มสุก, น้ำมันงา และงาขาว

หลังเตรียมเครื่องปรุงเสร็จแล้วให้นำพริกขี้หนูสด พริกแห้งคั่ว กระเทียมสด มาโขลกรวมกันหรือจะปั่นก็ได้ เสร็จแล้วใส่ในโถปั่นใบใหญ่ ใส่ส่วนผสมที่เหลืออย่างเต้าหู้ยี้ เกลือ น้ำมะนาว น้ำตาลทรายลงไป ยกเว้นน้ำมันงากับงาขาว ปั่นส่วนผสมให้ละเอียด แล้วเทใส่หม้อตั้งไฟให้เดือด ชิมรสตามชอบ ยกลงมาเติมน้ำมันงากับงาขาว ก็เป็นอันเสร็จ

การทำสุกี้แห้ง นำผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ต้นหอม และขึ้นฉ่าย มาล้างให้สะอาด นำขึ้นให้สะเด็ดน้ำ หั่นเป็นท่อนขนาดยาวประมาณ 2 นิ้ว ตั้งพักไว้ก่อน ปลาหมึกแห้งนำมาล้างแล้วหั่นขนาดตามต้องการ ส่วนปลาหมึกสดดึงหัวและขี้ออกแล้วลอกหนังออกให้หมด ล้างให้สะอาดอีกครั้งแล้วบั้งที่ตัวหมึกให้เป็นลาย หั่นเป็นชิ้นตามชอบ กุ้งตัวโต ๆ นำมาแกะเปลือกผ่าหลังเอาไส้ดำออก ส่วนวุ้นเส้นแช่น้ำให้นิ่มเตรียมไว้

ต่อไปเป็นขั้นตอนการผัด ตั้งกระทะใบใหญ่ ใส่น้ำมันพืช พอกระทะร้อนใส่กุ้งสด ปลาหมึกสด ปลาหมึกแห้ง ลงไปผัดรวมกัน ต่อยไข่ใส่ลงไป ใช้ตะหลิวเขี่ยไข่แดงให้แตก ตามด้วยใส่วุ้นเส้นและน้ำซุปลงไปเล็กน้อย ผัดไปมาด้วยไฟแรง 4-5 ครั้ง จึงใส่ผักกาดขาว ผัดพอผักกาดขาวสลดสักนิด ก็ใส่ผักบุ้งจีน ต้นหอม และขึ้นฉ่ายตามลงไป ปรุงรสด้วยน้ำมันหอยและซีอิ๊วขาวนิดหน่อย ผัดไปมาจนผักสลดพอแห้ง ก็ตักขึ้นใส่จาน พร้อมเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มรสจัดจ้านแต่กลมกล่อม

ราคาขาย “สุกี้แห้งทะเล” สูตรโบราณ ร้านนี้อยู่ที่จานละ 40 บาท มีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 50% จากราคา
 
ใครสนใจอยากจะไปลองชิมความอร่อยของอาหารร้านนี้ ก็ไปกันได้ตามสาขาที่ระบุไว้แต่ตอนต้น ซึ่งนอกจากขายที่ร้านแล้ว ร้านนี้ยังมี “ช่องทางทำกิน” เพิ่มเติมในรูปแบบรับสั่งทำไปใช้ในงานต่าง ๆ หรือจะสั่งไปส่งตามสำนักงานก็มีบริการ โดยคิดค่าส่งตามระยะทาง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีศึกษาการประกอบอาชีพที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่ธรรมดา ใครที่ได้ไอเดียทำกินก็ลองฝึกฝนเพื่อทำขาย...อย่ารอช้า!!

http://www.dailynews.co.th/article/384/118838

แนะนำอาชีพ ''ซองผ้าใส่เอกสาร''

ชิ้นงานจากผ้ายังเป็นงานประดิษฐ์ที่มีคนนิยมนำมาพัฒนาต่อยอด ผลิตทำเป็นสินค้าประเภทงานฝีมืออย่างต่อเนื่อง อาจเพราะเป็นวัสดุที่สามารถหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพงมาก อีกทั้งลวดลายของผ้าก็ยังมีอย่างหลากหลาย สามารถนำมาปรับแต่งปรับใช้งานได้อย่างมากมาย วันนี้คอลัมน์ ’ช่องทางทำกิน“ ก็มีข้อมูลชิ้นงานจากผ้ามาเสนออีกครั้ง กับงานประดิษฐ์ ’ซองผ้าใส่เอกสาร“
                            
“น้ำ-สุนิดา ตรีวานิช” คนรุ่นใหม่ที่หันมาใช้เวลาว่างประดิษฐ์งานจากผ้าจนกลายเป็นชิ้นงานที่หลาก หลายและขายดี อย่างเช่นซองเอกสารผ้า เล่าว่า ขณะนี้ยังศึกษาอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อาศัยเวลาว่างจากการเรียนและในช่วงปิดเทอมประดิษฐ์งานเพื่อหารายได้เสริม โดยมองจากสิ่งใกล้ตัว

เช่นแฟ้มเอกสาร ซึ่งนักเรียน นักศึกษา รวมถึงตนเอง ต้องใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งแฟ้มนั้นมักจะทำจากพลาสติก เมื่อใช้ไปนาน ๆ ซองเอกสารพลาสติกเหล่านี้จะมีรอยขูดขีดหรือมีคราบเปื้อน เมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็จะเกิดอาการกรอบแตกดูไม่สวย อีกทั้งมักจะมีความจุไม่เพียงพอต่อจำนวนเอกสารที่ต้องหอบหิ้ว ทำให้ต้องซื้อซองเอกสารหลายชิ้น จึงคิดว่าถ้านำงานถุงผ้ามาปรับใช้ให้เป็นรูปแบบของซองเอกสารก็น่าจะเพิ่ม ความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น อีกทั้งอายุการใช้งานก็ยังคงทน แถมสามารถนำไปซักล้างเพื่อทำความสะอาดได้ จึงลองออกแบบและประดิษฐ์ซองเอกสารจากผ้านี้ขึ้นมา

“เริ่มจากความต้องการของตัวเองก่อนที่ต้องการซองเอกสารที่จุได้มากขึ้น และใช้งานได้นาน รวมถึงทำความสะอาดได้ จึงนำไอเดียจากถุงผ้ามาปรับใช้ให้เป็นรูปแบบแฟ้มเอกสารผ้า ต่อมาจึงต่อยอดออกไปเป็นซองใส่ไอแพด” สุนิดากล่าว ก่อนจะบอกว่า ตอนแรกที่ทำออกมาก็อาศัยจำหน่ายผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเช่น เฟซบุ๊กเป็นหลัก โดยใช้ชื่อว่า craftbypanida ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี มีทั้งลูกค้าที่สั่งสินค้าโดยตรง และมีทั้งลูกค้าที่ต้องการให้ออกแบบสินค้าเป็นการพิเศษให้ ซึ่งก็เรียกว่าพอไปได้กับงานเสริมที่ทำอยู่ตอนนี้...

สินค้าที่ทำอยู่นั้น มีอยู่  3 ขนาดคือ ขนาดเท่ากับกระดาษ เอ 4, ขนาดใส่ไอแพดหรือแท็บเล็ต และขนาดใหญ่สุดเท่ากับโฉนดที่ดิน โดยลูกค้าก็จะแตกต่างกันออกไปตามกลุ่มของประเภทการใช้งานซองเอกสาร ส่วนแบบจะมีหลากหลายและเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ขึ้นกับลวดลายของผ้า

ทุนเบื้องต้นในการทำชิ้นงานแบบนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าเครื่องมือ คือจักรเย็บผ้า ซึ่งถ้าใครมีอยู่แล้วทุนตรงนี้ก็จะลดลงไปอีกมาก ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ที่เริ่มตั้งแต่ชิ้นละ 200 บาท ไปจนถึง 300 บาท

สำหรับอุปกรณ์ ก็เป็นพวกอุปกรณ์งานเย็บผ้า จักรเย็บผ้าไฟฟ้า, กรรไกร, เข็ม-ด้าย ส่วนวัสดุนั้นหลัก ๆ ประกอบด้วย ผ้าลวดลายต่าง ๆ (ความยาว 1 เมตร ทำชิ้นงานได้ 2 ชิ้น โดยประมาณ), ผ้าอัดกาว, กระดุม และเชือกป่าน

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบขนาดของชิ้นงานซองเอกสารที่ต้องการทำ โดยวัดขนาดที่ต้องการลงบนกระดาษแข็ง จากนั้นตัดกระดาษขึ้นรูป เมื่อได้แล้วก็ใช้กระดาษชิ้นนั้นเป็นแบบหรือแพตเทิร์นสำหรับวัดเพื่อตัดผ้า ให้ตรงกับขนาดซองเอกสารที่ต้องการ จากนั้นตัดผ้าออกเป็นชิ้น ๆ โดยอาจจะใช้การตัดผ้าที่เป็นส่วนประกอบในการขึ้นชิ้นงานไว้คราวละหลาย ๆ ชิ้น แล้วค่อยนำมาเย็บประกอบด้วยจักรทีหลัง

เมื่อได้ชิ้นผ้าและขนาดผ้าที่ต้องการ ก็นำผ้าอัดกาวมาสอดไว้ด้านในเพื่อทำให้เกิดเป็นทรงซองเอกสารขึ้น

จากนั้นเมื่อหุ้มจนครบแล้วก็นำไปเย็บเข้ามุมเพื่อขึ้นชิ้นงานด้วยจักรไฟฟ้า ตรวจสอบตะเข็บรอยต่อว่าสมบูรณ์หรือไม่ มีรอยปริขาดหรือไม่ เมื่อสมบูรณ์ดีแล้วจึงนำกระดุมที่เตรียมไว้มาเย็บติดทั้งในส่วนที่เป็นฝา เปิดและตัวซองเอกสาร จากนั้นเย็บเชือกป่านที่จะใช้สำหรับการมัดซองเอกสาร เข้าไว้ด้วยกัน เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำในส่วนปกติ

หากใครมีไอเดียตกแต่ง ก็สามารถใส่จินตนาการหรือเพิ่มวัสดุตกแต่งตามชอบ

“จุดเด่นของงานอยู่ที่ความคงทน และสามารถถอดซักล้างทำความสะอาดได้ตลอด ส่วนเสน่ห์ของงานฝีมือนั้นคงขึ้นอยู่กับรายละเอียดและความประณีตของชิ้นงาน” สุนิดากล่าวทิ้งท้าย
   
ใครสนใจชิ้นงาน ’ซองผ้าใส่เอกสาร“ คลิกดูสินค้าได้ในเฟซบุ๊กดังที่ระบุข้างต้น หรือหากต้องการติดต่อสุนิดา ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9525-1625 หรือที่อีเมล craftbypanida@gmail.com ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างงานฝีมือของคนรุ่นใหม่ ที่รู้จักมองหาและปรับจากสิ่งรอบ ๆ ตัว จนกลายเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ได้.

http://www.dailynews.co.th/article/384/118610

Saturday, June 2, 2012

แนะนำอาชีพ ‘เครื่องประดับเศษผ้าไหม’

เศษผ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว โดยเฉพาะเศษผ้าไหม สามารถนำมาตกแต่งเครื่องประดับต่าง ๆ ได้หลาย ๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ ตุ้มหู กำไล แหวน ฯลฯ และก็สามารถสร้างสรรค์เป็นอาชีพได้ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูล “เครื่องประดับตกแต่งด้วยเศษผ้าไหม” มานำเสนอให้ลองพิจารณากัน...
 
วิชยา เตชะโกมล หรือ จูน ตัวแทนนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกเล่าภายในงานนิทรรศการ “การถ่ายทอดนวัตกรรมการออกแบบเครื่องประดับสู่ชุมชน” เมื่อวันที่ 2-3 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ทางกลุ่มนักศึกษาสาขาวิชานี้ ได้ลงพื้นที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อนำความรู้การออกแบบเครื่องประดับไปให้กลุ่มแม่บ้านไทยพัฒนา จ.สระแก้ว ซึ่งทอผ้าไหมขาย โดยนำเศษผ้าไหมที่ไม่ได้ใช้แล้วไปตกแต่งเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น สร้อยคอ ตุ้มหู กำไล แหวน ฯลฯ ซึ่งทางกลุ่มแม่บ้านก็ได้ประโยชน์เป็นอย่างดี

งานตกแต่งเครื่องประดับจากเศษผ้าไหมของนักศึกษากลุ่มนี้ ทาง “ช่องทางทำกิน” ได้นำวิธีทำมานำเสนอเป็นตัวอย่างหลายแบบ เริ่มที่ “ตุ้มหูแบบกระดุม” วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้คือ เศษผ้าไหม, โครงอะลูมิเนียมลักษณะรูปทรงกลมโค้งเป็นโดม เรียกว่า จานฝักบัว, แป้น และก้านตุ้มหูแบบเสียบ, กาวร้อน, ปืนกาว, กรรไกร วิธีทำ เลือกผ้าที่มีสีและลวดลายที่ต้องการ ตัดผ้าเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยกะขนาดให้ทุกด้านห่างจากโครงอะลูมิเนียมแบบโค้งประมาณ 1 ซม. วางจานฝักบัวให้ด้านที่นูนหันเข้าด้านในผ้า พับผ้าปิดจานฝักบัวอีกด้านหนึ่ง พับตามลำดับความโค้ง ก็จะได้กลีบผ้าที่เรียงกันสวยงาม จากนั้นหยอดกาวให้ผ้าติดกัน ทิ้งให้แห้ง นำก้านตุ้มหูติดเข้ากับโครงที่ติดผ้าเสร็จแล้ว ก็จะได้ตุ้มหูที่คล้ายกระดุม

“ตุ้มหูแบบระย้า” วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้คือ เศษผ้าไหม, ขอเกี่ยวตุ้มหูแบบระย้า, บานพับแบบที่ใช้เก็บชายผ้า, กรรไกร, คีม วิธีทำ ตัดผ้าเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 5x5 ซม. จากนั้นพับครึ่งผ้าแบบเฉียง เสร็จแล้วหาอุปกรณ์อะไรก็ได้ที่มีขนาดเล็กและมีน้ำหนัก เช่น เหรียญสลึง มาใส่ไว้ด้านในผ้า เพื่อให้ตุ้มหูคงรูป มีน้ำหนัก ทิ้งตัวสวยงาม ตกแต่งตุ้มหูกับเศษผ้าไหม โดยค่อย ๆ จับมุมผ้าทั้งสองข้างมารวมกัน แล้วค่อย ๆ จับจีบผ้าให้สวยงาม ใช้บานพับสำหรับเก็บชายผ้าตามขนาดที่เหมาะสม งับ บีบด้วยคีมให้แน่น แล้วนำขอเกี่ยวตุ้มหูแบบระย้าคล้องด้านบนบานพับ เป็นอันเสร็จ

“กำไลข้อมือจากเศษผ้าไหม” วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้คือ เศษผ้าไหม, โครงกำไลพลาสติก, วัสดุตกแต่งตามต้องการ เช่น ริบบิ้น ลูกไม้ ลูกปัด เป็นต้น, ปืนกาว-กาวร้อน วิธีทำ เริ่มที่ตัดผ้าไหมเป็นเส้นยาว ขนาดความกว้างประมาณ 1 นิ้ว ส่วนความยาวไม่จำกัด จากนั้นให้พันผ้าไหมกับโครงของกำไล โดยวิธีการพันมี 2 แบบคือ แบบตรง และแบบเฉียง (เลือกพันแบบใดแบบหนึ่ง) พันให้ผ้าซ้อนทับกันต่อไปเรื่อย ๆ จนครบวง เสร็จแล้วติดกาวบริเวณปลายผ้า โดยให้ปลายผ้าเก็บอยู่ด้านในเพื่อความเรียบร้อย ติดอุปกรณ์ตกแต่ง เช่น ริบบิ้น ลูกไม้ ลูกปัด ตามต้องการ ก็จะได้กำไลที่สวยงาม

ปิดท้ายที่ “กิ๊บติดผม และที่รัดผมจากผ้าไหม” วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้คือ เศษผ้าไหม, กิ๊บ และที่รัดผม, วัสดุตกแต่งตามต้องการ เช่น ริบบิ้น ลูกไม้ ลูกปัด เป็นต้น, ปืนกาว-กาวร้อน, เข็ม และด้ายเย็บผ้า วิธีทำ ตัดผ้าเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 12x5 ซม. จะใช้สีเดียวหรือหลายสีก็ได้ เสร็จแล้วจับผ้าพับเป็นชั้น ๆ เพื่อทำเกสรดอกไม้ด้านใน ทำเหมือนกัน 2-3 อัน แล้วเย็บเข้าด้วยกัน ทำกลีบด้านนอกโดยตัดผ้าเป็นวงกลม แล้วนำมาเย็บติดซ้อนกันไปเรื่อย ๆ ให้เป็นกลีบ ๆ เสร็จแล้วจับเกสรกับกลีบด้านนอกมารวมกันให้เป็นรูปดอกไม้ แล้วเย็บให้ทั้งหมดติดกัน ตัดเศษผ้าให้เป็นวงกลมขนาดใหญ่ กะขนาดให้เท่ากับฐานของดอกไม้ เตรียมไว้ ใส่ยางรัด หรือกิ๊บ ไว้ด้านในระหว่างตัวดอกไม้และผ้าวงกลมใหญ่ที่ตัดไว้ เสร็จแล้วติดทั้งหมดไว้ด้วยกันด้วยกาว ก็จะได้กิ๊บและที่รัดผมรูปดอกไม้ที่สวยงาม

สำหรับต้นทุนชิ้นงาน “เครื่องประดับตกแต่งด้วยเศษผ้าไหม” ลักษณะที่ว่ามานี้ จูน-วิชยาบอกว่าไม่มากเลย ประมาณ 10-20 บาทต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบของเครื่องประดับ ขณะที่ราคาขายนั้นสามารถจะตั้งได้ในราคาชิ้นละ 25-50 บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบของเครื่องประดับ ซึ่งหากมีฝีมือการทำดี มีทำเลขายดี นี่ก็น่าจะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดีได้
 
สนใจ “เครื่องประดับตกแต่งด้วยเศษผ้าไหม” ของกลุ่มนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบทัศนศิลป์ ติดต่อได้ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2649-5000 ต่อ 5666 ในวันและเวลาราชการ.

http://www.dailynews.co.th/article/384/117723

Friday, June 1, 2012

แนะนำอาชีพ "เส้นจันท์ผัดปู"

เส้นจันท์ผัดปู เป็นอาหารพื้นบ้านโบราณของจังหวัดจันทบุรี รับประทานกับผักสดนานาชนิด ซึ่งตัวเส้นจันท์นั้นจะมีลักษณะเหนียวและนุ่ม รสชาติเป็นเอกลักษณ์อร่อยไม่เหมือนใคร จะมีหวานนำนิด ๆ เปรี้ยว และเค็มตาม หน้าตาคล้าย ๆ กับผัดไทย จะแตกต่างกันตรงเครื่องปรุง ซึ่งนี่ก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ ที่วันนี้มีข้อมูลมาเล่าสู่กัน...
  
สุชาดา ธรรมเสน หรือ เจ๊สั้น ซึ่งทำ เส้นจันท์ผัดปู สูตรโบราณ (ผัดไทยภาคตะวันออก) จำหน่าย เล่าให้ฟังว่า เธอเป็นคนจันทบุรีมาแต่กำเนิด อีกทั้งครอบครัวก็ประกอบอาชีพขายของกินสลับกันไปเรื่อย ๆ ดังนั้นเธอและพี่น้องจึงใกล้ชิดกับอาหารทั้งหวานและคาวมาตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะเส้นจันท์ผัดปูนี่เรียกว่ากินกันแทบทุกวันก็ว่าได้

“ก่อนที่จะมายึดการทำเส้นจันท์ผัดปูขายเป็นอาชีพ เคยทำงานเป็นพนักงานเย็บผ้ามาก่อน แต่พอมีลูกรายได้ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงมองหาช่องทางหารายได้เสริมในช่วงเวลาว่าง ก็คิดถึงสิ่งที่หลายคนบอกว่าเราทำได้ดีและอร่อย คือเส้นจันท์ผัดปู เสียงตอบรับดีมาก ตอนออกขายแรก ๆ ไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็หมดเกลี้ยง”

เจ๊สั้นบอกว่า ขายแรก ๆ ก็เรียกว่าผัดกันไม่ทัน แต่ก็ยังไม่มั่นใจ จึงยังทำงานเย็บผ้าควบคู่ไปด้วย ซึ่งเหนื่อยมาก ตอนหลังเลยไม่ไหว ตัดสินใจออกจากงานมาขายเป็นหลัก อยู่ที่ ม.บูรพา ก็ขายดีมาก ถ้าไม่ใช่ช่วงปิดเทอม

และด้วยรสชาติที่หลาย ๆ คนบอกว่าถูกปาก จึงมักมีคนมาสั่งไปออกงานโน้นงานนี้อยู่เรื่อย ๆ จึงยึดอาชีพขายเส้นจันท์ผัดปูเป็นอาชีพหลักได้มาจนถึงเดี๋ยวนี้ รวมเวลาก็นานกว่า 30 ปีแล้ว

อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำอาหารชนิดนี้ ก็เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้อยู่ในครัวเรือนทั่วไป

ส่วนผสม-วัตถุดิบในการทำ หลัก ๆ ก็มี เส้นจันท์, น้ำมันพืช, ปูม้านิ่มตัวขนาดย่อม, พริกแห้งเม็ดใหญ่ (แกะเมล็ดข้างในออก), หอมแดง, กระเทียม, น้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลปี๊บ, น้ำมะขามเปียก, น้ำปลา, เกลือ และกะปิ

ขั้นตอนการทำ “เส้นจันท์ผัดปู” เริ่มจากการทำในส่วนของน้ำพริกก่อน โดยนำเอาพริกแห้งเม็ดใหญ่ที่แกะเมล็ดออกแล้วมาแช่น้ำ นำหอมแดงและกระเทียมที่เตรียมไว้มาแกะเปลือก พอพริกนิ่มก็นำมาโขลกหรือปั่นรวมกับหอมแดงและกระเทียมให้ละเอียดแล้วตั้งพัก ไว้

นำปูม้านิ่มมาแกะกระดองและแกะนมที่คล้ายฟองน้ำออก ตัดขาปูบางส่วนออก แล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นผ่าปูเป็น 2 ซีก นำไปทอดในน้ำมันให้ปูพอเหลืองกรอบ แล้วตักขึ้นมาพักไว้

ตั้งกระทะใส่น้ำมันให้ร้อน แล้วนำน้ำพริกที่โขลกไว้ใส่ลงผัดให้หอม ตามด้วยใส่ปูลงไปผัดคลุกเคล้ากับพริกแกง ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะขามเปียก เกลือ และกะปิเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความกลมกล่อม เคี่ยวทิ้งไว้สักครู่ ถ้าข้นไปต้องใส่น้ำสะอาดลงไปนิดหน่อย ชิมรสดู ต้องมีรสหวาน-เปรี้ยวนำ ได้ที่ดีแล้วก็ตักใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ก็จะได้น้ำปรุงปูสำหรับผัด

ระหว่างเคี่ยวน้ำปรุงปู ให้นำเส้นจันท์ที่เตรียมไว้มาแช่น้ำให้นิ่ม สงให้สะเด็ดน้ำเตรียมไว้ก่อนจะนำไปผัด

ขั้นตอนการผัด “เส้นจันท์ผัดปู” นำกระทะตั้งไฟ ตักน้ำเครื่องปรุงปูที่เตรียมไว้ใส่ลงไปพอประมาณ จากนั้นนำเส้นจันท์ที่แช่น้ำเตรียมไว้ใส่ตามลงไป ผัดคลุกเคล้ากันให้ทั่ว ถ้าดูแล้วแห้งไปก็เติมน้ำปรุงอีกเล็กน้อย ผัดคลุกเคล้ากันให้ทั่ว ใช้ตะหลิวเกลี่ยเส้นไม่ให้ติดกัน เมื่อผัดคลุกเคล้าจนสังเกตเห็นว่าน้ำปรุงปูซึมเข้าไปในเส้นจันท์ทั่ว แล้วก็เป็นอันใช้ได้

ตักใส่จาน หรือกล่อง หรือห่อ นำตัวปูที่เคี่ยวในน้ำปรุงวางบนเส้นจันท์เพื่อความสวยงาม พร้อมเสิร์ฟ-พร้อมขาย โดยมีผักเคียง เช่น ถั่วงอกดิบ, หัวปลี, แตงกวา, ต้นกุยช่าย, มะนาวฝานเป็นชิ้น, ใบบัวบก และพริกป่น

ราคาขาย “เส้นจันท์ผัดปู” เจ้านี้ อยู่ที่กล่องละ 35 บาท โดยมีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบ ไม่รวมทุนเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ประมาณ 60% ของราคาขาย
  
“เส้นจันท์ผัดปู” สูตรโบราณ (ผัดไทยตะวันออก) เจ้านี้ มีขายประจำอยู่ที่จตุจักร ชลบุรี ในวันพุธและวันอาทิตย์ ที่ถนนคนเดินบางแสน ในวันศุกร์และวันเสาร์ นอกจากนั้นกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ก็ยังรับงานออกบูธ-ออกร้านงานต่าง ๆ งานโอทอป งานธงฟ้า งานประจำจังหวัด ฯลฯ ซึ่งใครสนใจติดต่อ เจ๊สั้น ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9784-0584.

http://www.dailynews.co.th/article/384/116570