Saturday, November 9, 2013

แนะนำอาชีพ “ข้าวตังข้าวไรซ์เบอรี่"

“ข้าวตัง” เป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมทางอาหารของไทย จนปัจจุบันข้าวตังก็ยังได้รับความนิยม ตำรับความอร่อยยังไม่สูญหาย อาหารว่างชนิดนี้สามารถพลิกแพลงให้อร่อยได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ ข้าวตังหน้าตั้ง ข้าวตังเมี่ยงลาว ข้าวตังหมูหยอง ฯลฯ และสำหรับคนรักสุขภาพข้าวตังก็สามารถปรับเข้ากระแสรักสุขภาพได้ลงตัว อย่าง “ข้าวตังข้าวไรซ์เบอรี่ เสริมนํ้าพริกเผา-เกสรบัว” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้… ผศ.พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม อาจารย์สาขาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผู้คิดค้นเมนูชูสุขภาพเมนูนี้ บอกว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงข้าวกล้องไรซ์เบอรี่กันมากเพราะเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ มีคุณประโยชน์สูง ช่วยป้องกันและรักษาโรคได้หลายโรค จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นข้าวกล้องเกรดดีที่สุด คุณสมบัติเด่นด้านโภชนาการคือ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีเบต้าแคโรทีน แกมมาโอไรซานอล วิตามินอี แทนนิน สังกะสี มีโฟเลตสูง มีดัชนีนํ้าตาลต่ำถึงปานกลาง ซึ่งจากคุณสมบัติ นอกจากจะใช้รับประทานเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง ทางการแพทย์ยังนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารโภชนบำบัดอีกด้วย “ได้คิดพัฒนาโดยนำข้าวกล้องไรซ์เบอรี่มาเป็นส่วนผสมหลักของข้าวตัง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของปู่ย่าตายาย มีมาเป็นร้อย ๆ ปี และเสริมด้วยนํ้าพริกเผาและเกสรบัว ให้มีความหอมหวาน อร่อยไม่เหมือนใคร ที่สำคัญคือดีต่อสุขภาพ และสามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจและอาชีพให้กับผู้ที่สนใจ สามารถปรับเปลี่ยนผสมได้หลากหลายตามความต้องการ” อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำข้าวตัง หลัก ๆ ก็มี... เตาไฟฟ้า (ใช้เตาถ่านหรือเตาแก๊สก็ได้), แม่พิมพ์ข้าวตังแบบดั้งเดิม ชุดหนึ่งจะมี 2 พิมพ์ ลักษณะคล้ายพิมพ์ขนมทองม้วน มีลวดลายสวยงาม หาซื้อได้จากร้านขายอุปกรณ์ทำขนม, เครื่องปั่น, พลาสติกใส, ทัพพี, กะละมัง, ถาด, ไม้พาย, เกรียง และเครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่สามารถหยิบฉวยเอาจากในครัวได้ ส่วนผสมที่ใช้ในการทำ ตามสูตรก็มี...ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ 150 กรัม, ข้าวหอมมะลิอย่างดี (ต้องเป็นข้าวใหม่) 100 กรัม, ข้าวเหนียว 50 กรัม, นํ้าสะอาด 1,440 กรัม, นํ้าพริกเผาสำเร็จรูป 130 กรัม, เกสรบัวหลวง, เกลือและนํ้ามันพืช ขั้นตอนการทำ “ข้าวตังข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ เสริมนํ้าพริกเผา-เกสรบัว” เริ่มจากนำส่วนผสมหลักที่ต้องใช้คือข้าว 3 ชนิดมาชั่งตามอัตราส่วน ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ จากนั้นก็แยกซาวล้างนํ้าให้สะอาด พักไว้ แล้วเตรียมดอกบัวหลวงมาคลี่เอากลีบดอกออกไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่น เพื่อเอาเกสรข้างในมาเป็นส่วนผสมข้าวตัง นำข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ที่ซาวล้างเสร็จแล้ว มาเทผสมลงในหม้อขนาดกลาง ใส่นํ้าลงไปพอประมาณ ยกขึ้นตั้งไฟ ใช้ความร้อนปานกลาง โดยปล่อยให้ข้าวค่อย ๆ สุกไปเรื่อย ๆ เมื่อข้าวอืดเมล็ดข้าวจะบานออก ก็ให้เพิ่มไฟแรงขึ้นอีกหน่อย หมั่นใช้ทัพพีคอยคนอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ข้าวติดก้นหม้อ ใส่เกลือลงไปนิดหน่อยเพื่อเพิ่มรสชาติ หมั่นใช้ไม้พายคอยกวนข้าวไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะเหนียวคล้ายแป้งเปียก ก็เป็นอันใช้ได้ ยกลงตั้งพักไว้ให้เย็นสนิท แล้วจึงนำไปปั่นด้วยเครื่องปั่นให้ละเอียด ขั้นต่อไปนำข้าวที่ปั่นมาใส่นํ้าพริกเผาและเกสรบัวลงไป คนให้ส่วนผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้พลาสติกใสปิดไว้เตรียมใช้ทำเป็นข้าวตัง เตรียมแม่พิมพ์ข้าวตังขึ้นเตา เปิดไฟตั้งอุณหภูมิ 150 องศาเซล เซียส รอประมาณ 10 นาทีให้พิมพ์ร้อน จึงเปิดแม่พิมพ์ทานํ้ามันพืชพอหมาด ๆ ใช้ช้อนตักส่วนผสมข้าวที่เตรียมไว้ 1 ช้อน ใส่ลงบนแม่พิมพ์ ปิดแม่พิมพ์อีกด้านลงทับข้าวให้แบน ไม่ถึง 1 นาที ข้าวตัง จะสุก ก็ใช้เกรียงแซะ ขึ้นจากพิมพ์ได้เลย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย เคล็ดลับการทำข้าวตังข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ เสริมนํ้าพริกเผาและเกสรบัว ผศ.พงศ์ศักดิ์ บอกว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การอบ อบบนเตาเป็นแผ่น ๆ จะดีกว่าการอบข้าวตังด้วยตู้อบ การอบบนเตาจะทำให้ข้าวตังกรอบ อร่อย ไม่เหนียว ที่สำคัญจะมีกลิ่นหอมและสีสันก็น่ารับประทานกว่า แต่ต้องอาศัยฝีมือ ประสบการณ์ และความชำนาญพอสมควร ทั้งนี้ การทำก็สามารถปรับเปลี่ยนดัดแปลงส่วนผสมเสริมได้ตามใจชอบ ส่วนการขายนั้น บรรจุข้าวตังใส่ถุงเป็นแพ็กเก๋ ๆ หรือเป็นกล่องให้ดูหรูสวยงาม ขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ละคน ซึ่งสามารถใช้เป็นของฝากของขวัญให้กับผู้รักสุขภาพและคนทั่วไปได้ ขณะที่การลงทุนทำขายก็ไม่ต้องใช้เงินมาก ใครสนใจทำ “ข้าวตังข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ เสริมนํ้าพริกเผา-เกสรบัว” ขายเป็น “ช่องทางทำกิน” ก็ลองนำสูตรไปฝึกฝนพลิกแพลงกันดู หรือถ้าต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม ต้องการติดต่อ ผศ.พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม อาจารย์สาขาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9600-0993 ซึ่งทาง ผศ.พงษ์ศักดิ์บอกว่ายินดีให้ข้อมูล เพราะอยากให้คนไทยช่วยกันอนุรักษ์อาหารแบบไทย ๆ ไว้นาน ๆ. ............................................... คู่มือลงทุน…ข้าวตังไรซ์เบอรี่ ทุนเบื้องต้น ประมาณ 3,000 บาทขึ้นไป ทุนวัตถุดิบ ไม่เกิน 30-40% ของราคา รายได้ ตั้งราคาให้มีกำไร 60-70% แรงงาน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ตลาด ย่านชุมชน, ย่านอาหารทั่วไป จุดน่าสนใจ เพื่อสุขภาพเป็นจุดขายที่ดี ที่มา http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=193695

Sunday, October 20, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ส้มตำ-น้ำพริกเห็ด’

แม่เสงี่ยมบอกว่า เมื่อก่อนขายขนมหวานอยู่ที่ตลาด อ.ต.ก ขายอยู่หลายปี แต่ตอนหลังมีปัญหาต้นทุนขนมแพง ประกอบกับคนเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ทานหวานกันน้อยลง ทำให้ขายของได้ยาก จึงคิดเปลี่ยนของที่จะขายเป็นอย่างอื่น “ตอนนั้นเรื่องสุขภาพเริ่ม ๆ จะมาแรง เห็ดต่าง ๆ ที่ปลอดสารพิษได้รับความนิยม เพราะไม่มีคอเลสเตอรอล มีแร่ธาตุทางอาหาร มีประโยชน์กับร่างกาย จึงคิดทำอาหารที่เกี่ยวกับเห็ดต่าง ๆ ขาย ด้วยความที่ทำอาหารทุกประเภทเป็นอยู่แล้ว เรื่องเมนูเห็ดต่าง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องยาก” แม่เสงี่ยมกล่าว สำหรับการขาย “ส้มตำเห็ด” แม่เสงี่ยมบอกว่า ส้มตำเป็นอาหารที่ทุกคนชอบ ปัจจุบันมีคนทำส้มตำมากมายหลากหลาย จึงลองนำเห็ดมาเป็นส่วนประกอบในส้มตำ และคิดว่าน่าจะเป็นเมนูส้มตำที่ถูกปากคนไทยได้อีกอย่างหนึ่ง อุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มี ครก-สาก, โถใส่ของต่าง ๆ, กะละมัง, มีด, ที่ขูดเส้น, เตาแก๊ส, หม้ออะลูมิเนียม ฯลฯ อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าลงทุนใหม่หมดก็อยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป เห็ดที่ใช้ในการทำส้มตำ มีหลัก ๆ 5 อย่างคือ เห็ดฮังการี, เห็ดหูหนู, เห็ดฟาง, เห็ดออรินจิ, เห็ดเข็มทอง นอกจากนี้ยังสามารถนำเห็ดพื้นบ้านที่หาได้ตามฤดูกาล อย่างเห็ดระโงก และเห็ดเผาะ มาใส่เพิ่มได้ ซึ่งเห็ดทุกอย่างนี้ต้องนำไปต้ม หรือลวกน้ำร้อนให้สุกก่อน จึงจะนำมาใช้ทำส้มตำ ส้มตำอย่างแรกที่จะแนะนำ คือ “ตำแตงใส่เห็ด” เป็นเมนูชูโรงของร้าน ส่วนผสมก็มี ถั่วฝักยาว, กุ้งแห้ง, พริกขี้หนู, กระเทียม, น้ำตาลปี๊บ, น้ำปลาร้า, น้ำมะนาว, แตงไทยอ่อนขูดฝอย และเห็ด 5 อย่างดังที่ว่ามาข้างต้น วิธีทำ เตรียมครก ตำกระเทียมกับพริกขี้หนูให้เข้ากัน ตามด้วยถั่วฝักยาว ตำให้ส่วนผสมเข้ากัน เติมเครื่องปรุงรสอย่างน้ำตาลปี๊บ น้ำปลาร้า น้ำมะนาว ใส่ลงไป ชิมรสให้ได้ 3 รส คือ หวาน-เปรี้ยว-เค็ม จากนั้นใส่เห็ดที่ลวกสุกแล้วลงไปคลุกเคล้า และตามด้วยแตงไทยอ่อนขูดฝอย เคล้าให้เข้ากันอีกที ตักขึ้นใส่จาน โรยหน้าด้วยพริกขี้หนูสวน และกุ้งแห้ง เท่านี้ก็เรียบร้อย ขายในราคาจานละ 50 บาท มีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 70% ของราคา ส้มตำอีกอย่างที่จะแนะนำคือ “ตำโคราชใส่เห็ด” ส่วนผสมก็มี ถั่วฝักยาว, กุ้งแห้ง, พริกขี้หนู, กระเทียม, มะเขือเหลือง หรือมะเขือเปราะ, มะเขือเทศลูกเล็ก, ถั่วลิสงคั่ว, น้ำตาลปี๊บ, น้ำปลาร้า, น้ำมะนาว และเห็ด 5 อย่าง วิธีทำ ตำกระเทียมกับพริก ขี้หนูให้เข้ากัน ตามด้วยถั่วฝักยาว ถั่วลิสงคั่ว หั่นมะเขือเหลืองหรือมะเขือเปราะ และมะเขือเทศลูกเล็ก ใส่ลงไป ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ, น้ำปลาร้า, น้ำมะนาว ชิมรสให้ได้ 3 รส คือ หวาน-เปรี้ยว-เค็ม จากนั้นใส่เห็ดลวกสุกแล้วลงไปคลุกเคล้า เท่านี้ก็เรียบร้อย ขายในราคาจานละ 50 บาท นอกจากส้มตำเห็ดแล้ว แม่เสงี่ยมยังได้ให้สูตร “น้ำพริกเห็ด” มาอีกอย่างด้วย ซึ่งตามสูตรก็มีส่วนผสมของพริกหนุ่ม 1 กก. เสียบไม้ย่างให้หอม, กระเทียมปอกเปลือก 300 กรัม, หอมแดงปอกเปลือก 100 กรัม คั่วในกระทะให้หอม และใช้เห็ดฟาง 2 กก. โดยนึ่งหรือลวกให้สุกก็ได้ ก่อนจะใช้เป็นส่วนผสมของน้ำพริก พริกหนุ่ม กระเทียม หอมแดง ทั้งหมดนำมาตำโขลกให้เข้ากัน จากนั้นใส่เห็ดฟางลงโขลกด้วย ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลาร้า และน้ำตาลปี๊บ ให้ได้ 3 รส เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อย ตักแบ่งใส่จาน หรือใส่ถุง ขายในราคาชุดละ 50 บาท ทานกับผักเคียงอย่างถั่วฝักยาว และกะหล่ำปลี *************** “ส้มตำเห็ด” รวมถึง “น้ำพริกเห็ด” เป็นเมนูจากเห็ดที่ประยุกต์เป็นเมนูใหม่ ๆ ได้หลายแบบ ซึ่งก็เป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ ส่วนใครสนใจส้มตำเห็ด น้ำพริกเห็ด เมนูเห็ด ของ แม่เสงี่ยม ต้องการจะติดต่อ ก็ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-5146-8771. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/241623

Friday, October 18, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เค้กกล้วยหอม’

’เค้กกล้วยหอม“ ที่มีการทำขายในปัจจุบัน มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบถ้วยกลม ๆ หรือเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม มีทั้งขนาดใหญ่-เล็ก ขนมชนิดนี้ได้รับความนิยมชมชอบจากคนทุกเพศทุกวัย เพราะทานง่าย รสชาติอร่อยนุ่ม-ชุ่มลิ้น มีกลิ่นหอมของกล้วยหอม และสำหรับผู้ที่สนใจ ’ช่องทางทำกิน“ จากขนมชนิดนี้ วันนี้ ณ ที่นี้ก็มีข้อมูลมานำเสนอกัน... ผลิวรรณ บุญมี เจ้าของร้านขนม “ช่อมะเฟือง” ย่านรามคำแหง 150 กรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่า ทำขนมขายมานานกว่า 6 เดือนแล้ว ซึ่งขนมที่ร้านมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้ เค้กหน้านิ่ม รสต่าง ๆ รวมถึง “เค้กกล้วยหอม” และที่ร้านยังมีพายสับปะรด และคุกกี้ช็อกโกแลตชิพอีกด้วย “สำหรับสูตรนั้น คุณน้าเป็นคนสอนให้ แต่ก็ต้องฝึกฝนนานอยู่เหมือนกัน กว่ารสชาติจะลงตัว และสำหรับขนมนี้ เป็นของที่ขายเสริมจากร้านอาหารตามสั่งที่เป็นอาชีพหลัก นอกจากนี้ ยังรับสอนพิเศษอีกด้วย” ผลิวรรณบอก อุปกรณ์ในการทำเค้กกล้วยหอม หลัก ๆ ก็มี เครื่องตีแป้ง, เตาอบ, ถ้วยพิมพ์, ที่ร่อนแป้ง, ที่ตีไข่, ถาด, กะละมัง, ชุดช้อนชา, ชุดถ้วยตวง และอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ สำหรับการทำ “เค้กกล้วยหอมสูตรนุ่ม” วัตถุดิบหลัก ๆ ตามสูตรก็มี แป้งเค้ก 270 กรัม, ผงฟูพอประมาณ, เบกกิ้งโซดา (โซเดียม ไบคาร์บอเนต) พอประมาณ, นํ้าตาลทราย 240 กรัม, เกลือป่นเล็กน้อย, ไข่ไก่ 4 ฟอง, นํ้ามันพืช 2/3 ถ้วย, กล้วยหอมสุกบด 300 กรัม และนํ้ามะนาวพอประมาณ วิธีทำ เริ่มที่ร่อนแป้งเค้ก ผงฟู เบกกิ้งโซดา ให้เข้ากัน แล้วพักเตรียมไว้ บดกล้วยหอมสุกกับ นํ้ามะนาวให้เข้ากันเตรียมไว้ ตีไข่ไก่ นํ้าตาลทราย และเกลือ ให้เข้ากัน ตี ด้วยเครื่องด้วยความเร็วสูงประมาณ 7-8 นาที หรือรอจนกว่าส่วนผสมจะข้นขาว จากนั้นปรับความเร็วของเครื่องตีลงให้เป็นความเร็วต่ำ แล้วใส่ส่วนผสมของแป้งที่เตรียมไว้ลงไป ตีต่อให้เข้ากันอีกประมาณ 1 นาที จากนั้นก็ค่อย ๆ เติมนํ้ามันพืชลงไป แล้วปรับความเร็วเครื่องตีให้เป็นระดับกลาง ตีต่อไปอีก 2 นาที สุดท้ายใส่ส่วนผสมของกล้วยหอมบดลงไป แล้วปรับความเร็วของเครื่องตีให้เป็นระดับต่ำ ตีต่ออีกประมาณ 1 นาที ขั้นต่อไปนำส่วนผสมที่ตีเสร็จแล้วเข้าแช่ในตู้เย็น แช่ไว้ประมาณ 30 นาที เมื่อแช่ตามเวลาแล้วจึงจะนำแป้งขนมออกมาหยอดใส่พิมพ์ โดยระหว่างนั้นให้เปิดเตาอบเพื่ออุ่นให้เตาร้อนที่อุณหภูมิ 400-450 องศาฟาเรนไฮต์ เตรียมไว้ก่อน การหยอดแป้งใส่พิมพ์ เตรียมถ้วยกระดาษวงกลมใส่ในพิมพ์เค้กกล้วยหอมที่เป็นถ้วยวงกลม ขนาดกว้าง 7.5 ซม. สูง 2.5 ซม. แล้วเรียงพิมพ์เค้กกล้วยหอมใส่ถาดอะลูมิเนียมไว้ นำส่วนผสมของเค้กกล้วยหอมที่ตีเสร็จเรียบร้อยแล้วออกมาจากตู้แช่ แล้วค่อย ๆ หยอดใส่ถ้วยจนครบถ้วยที่เตรียมไว้ นำเข้าเตาอบที่อุ่นร้อนรอไว้แล้ว ใช้เวลาอบประมาณ 15 นาที ก็จะได้เค้กกล้วยหอมสูตรนุ่มที่ขึ้นฟู มีสีนํ้าตาลเข้ม ส่งกลิ่นหอมชวนรับประทาน อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อบเค้กกล้วยหอม ต้องหมั่นคอยดู ด้วยว่าเค้กขึ้นฟูหรือยัง ระวังอย่าให้หน้าเค้กไหม้ เมื่อเค้กสุกแล้วให้นำออกมาบรรจุในกล่องให้เรียบร้อย เค้กกล้วยหอมสูตรนี้มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 3 บาท ส่วนราคาขายอาจจะขาย ในราคาชิ้นละ 5 บาท หรือมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับทำเลและต้นทุนส่วนอื่น ๆ สนใจ ’เค้กกล้วยหอมสูตรนุ่ม“ สูตรนี้ ต้องการติดต่อ ผลิ วรรณ บุญมี เจ้าของร้านขนมช่อมะเฟือง ร้านนี้ตั้งอยู่ในซอยรามคำแหง 150 ถนนรามคำแหง กรุงเทพฯ หรือติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2373-5396 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ ที่แม้จะมีคนทำกันไม่น้อยแล้ว แต่ช่องว่างทำเงินในตลาดก็ยังพอมีอยู่อีกมาก. สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล : เรื่อง / สุนิสา ธนพันธสกุล : ภาพ .......................................................................................... คู่มือลงทุน...เค้กกล้วยหอม ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60-70% ของราคา รายได้ ราคาขายชิ้นละ 5 บาทขึ้นไป แรงงาน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ตลาด ร้านขนม, ร้านอาหาร, ชุมชนทั่วไป จุดน่าสนใจ คนไทยยังนิยมรับประทานกันมาก ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/241308

Sunday, October 13, 2013

แนะนำอาชีพ 'นาฬิกาไม้ทำมือ’

งานไม้ใส่ไอเดียยังเป็นชิ้นงานน่าสนใจ เพราะพลิกแพลงต่อยอดทำขายได้ตลอด แม้ไม่มีหน้าร้านแต่ก็ยังสามารถขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมสุดฮิตอย่างเฟซบุ๊กได้ สำคัญอยู่ที่การหาจุดเด่นสินค้า และมองตลาดออกว่าสินค้าของเราน่าจะถูกจุดตรงใจลูกค้ากลุ่มใด อย่างเช่นงาน ’นาฬิกาไม้“ ทำมือ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้... “ชัยยุทธ ดีวรรณ” เจ้าของชิ้นงาน “นาฬิกาไม้” ที่ใช้ชื่อสินค้าว่า “EMIT” ซึ่งเป็นการเล่นคำจากคำว่า “TIME” ที่แปลว่า “เวลา” บอกเล่าว่า ก่อนหน้าจะยึดอาชีพทำงานนาฬิกาไม้นี้ ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์มาก่อน ต่อมารู้สึกเบื่อ คิดอยากจะหาธุรกิจที่เป็นของตนเองขึ้นมาสักธุรกิจหนึ่ง จึงคิดว่างานไม้น่าจะเหมาะ เพราะโดยส่วนตัวชอบงานประเภทนี้อยู่แล้ว และรู้สึกว่างานไม้มีเสน่ห์ในตัว จึงคิดค้นหารูปแบบชิ้นงาน และก็มาลงตัวที่งานทำนาฬิกาจากไม้ ชัยยุทธ บอกว่า เริ่มเปิดร้านแบบออนไลน์เต็มตัวมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว โดยจำหน่ายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊กในชื่อ www.facebook.com/emitclock ซึ่งที่ผ่านมามีผลตอบรับดี นอกจากลูกค้าทั่วไป ก็ยังมีลูกค้าที่รับสินค้าไปจำหน่ายต่อ รวมถึงมีกลุ่มลูกค้าที่สั่งทำชิ้นงานเฉพาะ เพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญ ของที่ระลึก เนื่องในโอกาสพิเศษด้วย ข้อดีของการเปิดร้านออนไลน์แบบนี้ ในฐานะที่คลุกคลีกับงานด้านไอที ชัยยุทธกล่าวว่า การเปิดร้านลักษณะนี้ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจลดลงไปได้มาก อีกทั้งการเปิดร้านออนไลน์ยังเป็นการช่วยทดสอบตลาดของชิ้นงานได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการเปิดร้านออนไลน์แบบนี้ ยังช่วยขยายฐานให้กับสินค้าได้อีกด้วย แต่จุดสำคัญคือ ต้องพยายามอัพเดทกิจกรรมหรือสินค้าของร้านตลอดเวลา เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์ของเรานั้นมีความเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเปิดร้านออนไลน์ “ตอนนี้มีทั้งลูกค้าที่มารับชิ้นงานเพื่อจะไปจำหน่ายต่อ ตามแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งลูกค้าที่สั่งทำชิ้นงานตามที่ลูกค้าต้องการ เพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญ ของที่ระลึก” ชัยยุทธกล่าว สำหรับนาฬิกาไม้ทำมือที่ทำขึ้นนั้น ปัจจุบันมีแบบใหม่ ๆ เพิ่มตลอด ซึ่งนอกเหนือไปจากรูปแบบที่มีทั้งแบบมินิมัลและวินเทจแล้ว จุดเด่นจุดขายของชิ้นงานคือ การเพิ่มประโยชน์ใช้สอยของนาฬิกาเข้าไป เพื่อให้เป็นมากกว่านาฬิกาบอกเวลา เช่น ที่แขวนผ้า, ที่แขวนกุญแจ, ที่แขวนแก้ว, ชั้นวางหนังสือ, กล่องใส่ของ เพื่อสร้างความน่าสนใจ ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น ทุนเบื้องต้น ลงทุนประมาณ 10,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 30% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราคา 400 บาท ไปจนถึง 1,500 บาท ขึ้นกับรูปแบบ ขนาด และรายละเอียดของชิ้นงาน อุปกรณ์ที่ต้องใช้ หลัก ๆ อาทิ เลื่อยวงเดือนไฟฟ้า, เลื่อยฉลุไฟฟ้า, ทิมเมอร์หรือเครื่องแกะสลักไม้ และอุปกรณ์ในงานช่างไม้ อาทิ ค้อน ไขควง ตะปู กระดาษทราย เป็นต้น สำหรับวัสดุ ประกอบด้วย ไม้เนื้ออ่อน (ไม้สน ไม้วีเนียร์), ไม้สังเคราะห์ (พลาสวู้ด), กาวร้อน, กาวยาง, สีชนิดต่าง ๆ และตัวเครื่องนาฬิกา ขั้นตอนการทำ เริ่มจากออกแบบนาฬิกาไม้ที่จะทำ โดยอาจวาดแบบร่างลงในสมุดเก็บแบบงานไว้ก่อน เมื่อได้รูปแบบที่ต้องการแล้วก็มาวางแผนการทำงาน โดยดูว่านาฬิกาที่จะทำนั้นมีส่วนประกอบไม้กี่ชิ้น เมื่อกำหนดได้แล้วก็ทำการเลือกไม้ที่จะนำมาตัด โดยตัดเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ไว้ อาทิ ตัวเรือนนาฬิกา, ชั้นวาง, หมุดที่จะใช้ทำเป็นที่แขวน ซึ่งบางชิ้นอาจจะซื้อสำเร็จรูปมาใช้ได้เลย เช่น หมุดไม้สำหรับทำที่แขวน ซึ่งก็จะช่วยย่นระยะเวลาได้มาก เมื่อทำการตัดส่วนประกอบเสร็จแล้ว นำไม้ที่ตัดได้มาทำการขัดตกแต่งรอยที่ไม่เรียบด้วยกระดาษทรายหรือเครื่องเจียร จากนั้นทาสีไม้ที่จะใช้เป็นส่วนประกอบของนาฬิกา สำหรับส่วนหลังคานั้น ให้นำไม้สังเคราะห์ (พลาสวู้ด) มาลนไฟเล็กน้อย จากนั้นค่อย ๆ ดัดให้เป็นรูปโค้ง ก็จะได้เป็นส่วนหลังคา เมื่อเตรียมส่วนประกอบเสร็จ ก็นำชิ้นงาน อาทิ ตัวนาฬิกา ชั้นวาง ที่แขวนสิ่งของ มายึดติดด้วยกาวร้อน เพื่อให้ได้รูปทรงชิ้นงาน แล้วทิ้งไว้สักพัก จากนั้นนำกาวยางมาทาส่วนประกอบที่จะนำไปทำเป็นหลังคา โดยทากาวยางที่ด้านใต้หลังคา จากนั้นทำการยึดประกอบหลังคาเข้ากับตัวเรือน นำเครื่องนาฬิกาที่เตรียมไว้มาประกอบเข้าที่ตัวเรือน ทำการตกแต่งด้วยสีหรือวัสดุอื่น ๆ ตามที่ได้ออกแบบไว้ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำนาฬิกาไม้ โดยหากเป็นชิ้นงานที่ไม่ใหญ่มาก และมีรายละเอียดไม่มากนัก ในแต่ละวัน ชัยยุทธจะสามารถประกอบนาฬิกาไม้ของเขาได้ไม่ต่ำกว่า 10 เรือน “ผมเองเริ่มต้นจากศูนย์ งานไม้ก็ไม่เคยเรียนที่ไหน อาศัยสังเกตดูจากช่างไม้ที่มาต่อเติมบ้าน ว่ามีหลักอย่างไร ส่วนรูปแบบหรือแนวคิดก็พยายามศึกษาจากข้อมูลที่มีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ลอกเลียน แค่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบของเรา ผมว่าถ้าตั้งใจ อาชีพนี้ก็ไปได้” เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจงานประดิษฐ์เช่นชัยยุทธ สนใจติดต่อเจ้าของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ จาก ’นาฬิกาไม้ทำมือ“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-6722-1454 หรืออีเมล chaiyuth.dee@gmail.com หรือตามเฟซบุ๊กข้างต้น ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นงานประดิษฐ์จากไม้อีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำเป็นชิ้นงานทำเงินได้อย่างน่าสนใจ. ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง/จุมพล นพทิพย์ : ภาพ ............................................................................................................................... คู่มือลงทุน...นาฬิกาไม้ทำมือ ทุนเบื้องต้น ประมาณ 10,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 30% จากราคา รายได้ ราคา 400-1,500 บาท แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด กลุ่มของใช้-ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ใช้ทุนต่ำขายไอเดียราคาดี ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/239534

แนะนำอาชีพ ‘ข้าวเม่าหมี่ข้าวกล้อง’

“ข้าวเม่าหมี่” เป็นอาหารไทยโบราณพื้นบ้านที่เด็กสมัยก่อนชื่นชอบ ลักษณะของข้าวเม่าหมี่จะทอดจนมีสีเหลืองนวล ผสมนํ้าตาลทราย กุ้งแห้ง ถั่วลิสง และเต้าหู้ทอดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่กระเทียมเจียวที่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไม่ใส่สีและสารกันบูด ณ ปัจจุบันหากจะหารับประทาน ยากแสนยาก แต่วันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีสูตรการทำมานำเสนอ... *************** อาจารย์ชมุค พรรณดวงเนตร อาจารย์ประจำภาควิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้ประยุกต์ปรับปรุงเมนูอาหารไทยพื้นบ้านดังกล่าวนี้ให้เป็นเมนูจานใหม่ คิดทำ “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” จากอาหารไทย สร้างให้เป็นสไตล์สากล เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน และเพื่อเผยแพร่ให้เด็กไทยยุคนี้ได้รู้จักและสามารถรับประทานได้ และก็น่าช่วยสร้างอาชีพให้คนไทยได้ด้วย ที่มาของเมนูนี้ อ.ชมุค เล่าให้ฟังว่า มาจากการทำวิจัยในต่างจังหวัด ที่ชาวบ้านต้องการสร้างมูลค่าเพิ่ม “ข้าวกล้องงอก” ซึ่งข้าวกล้องงอกถือว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากสำหรับคนที่รักสุขภาพ เพราะเป็นข้าวที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายหลายชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟิโนลิคที่ช่วยยับยั้งการเกิดฝ้า ชะลอความแก่ และสารออริซานอลที่ช่วยควบคุมระดับ-ลดอาการผิดปกติของวัยทอง ที่สำคัญที่ต้องเน้นเป็นพิเศษคือ สารกาบา (GABA) ซึ่งกาบาเป็นกรดอะมิโนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำหน้าที่สื่อสารประสาท ปัจจุบันวงการแพทย์มี การใช้สารกาบา รักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทหลายโรค เช่น ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้จิตใจสงบ ลดความเครียดวิตกกังวล ลดความดันโลหิต และในข้าวนี้ยังมีเส้นใยอาหาร ช่วยควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือด ช่วยควบคุมนํ้าหนัก ป้องกันมะเร็งลำไส้ และลดอาการท้องผูก นอกจากนี้ยังมีวิตามินอี ช่วยลดการเหี่ยวย่นของผิว “ข้าวชนิดนี้มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย จึงได้รับความนิยมในหมู่คนที่รักสุขภาพ ผู้ที่มีไอเดียจึงนำข้าวกล้องงอกไปแปรรูปเป็นของกินรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า และให้ตรงความต้องการ เช่น นํ้าข้าวกล้องงอก ไอศกรีม ป๊อปไรท์ ข้าวแต๋น เต้าฮวยฟรุตสลัด ข้าวหมาก ข้าวจี่ชุบไข่ ฯลฯ จึงได้คิดค้นโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านโบราณมาดัดแปลงข้าวเม่าหมี่ นำข้าวกล้องงอกมาแทนข้าวเม่าที่หายากและราคาแพง เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปต่อยอดสร้างเป็นอาชีพ” อ.ชมุค แจกแจงว่า ส่วนผสมในการทำ “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนผสมข้าวคลุก ใช้...ข้าวกล้องงอก, นํ้าตาลทราย, นํ้าผึ้ง, เกลือป่น, แบะแซ, เนยสด และส่วนของเครื่องผสม ก็มี...งาดำ, งาขาว, เต้าหู้ขาวชนิดแข็ง, แครอทอบแห้ง, กุ้งสดอบทอด, ต้นหอมอบแห้ง และนํ้ามันพืช อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำก็มี... ตู้อบลมร้อน, เตาแก๊ส, กระทะทอง, ไม้พายเล็ก, ถาด เเละอุปกรณ์เบ็ดเตล็ดที่ใช้ครัวเรือนทั่ว ๆ ไป ขั้นตอนการทำ “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” เริ่มจากนำข้าวกล้องงอกที่หุงสุกแล้วมาเกลี่ยให้กระจายทั่วบนถาด นำเข้าอบในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 ชั่วโมง หั่นเต้าหู้ขาวชนิดแข็งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า นำเข้าอบและใช้เวลาเหมือนกับข้าวกล้องงอก หั่นแครอทสดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็ก ๆ นำไปลวกให้สุก พักให้สะเด็ดนํ้า ก่อนจะอบเหมือนกับข้าวกล้องงอก ส่วนต้นหอมนำมาซอยเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำเข้าอบเป็นเวลา 5 ชั่วโมง กุ้งสดนำมาล้างให้สะอาด แกะเปลือก สับหยาบ ๆ นำเข้าอบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง (ส่วนผสมแต่ละอย่างต้องแยกกันอบ) เสร็จแล้วนำใส่ภาชนะเตรียมไว้ เมื่อเตรียมส่วนผสมข้าวคลุกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำข้าวกล้องงอกอบแห้ง เต้าหู้อบแห้ง และกุ้งอบแห้ง ลงไปทอดในนํ้ามัน ใช้ไฟอ่อน ทอดให้ส่วนผสมมีลักษณะเหลืองกรอบ แล้วตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดนํ้ามัน (การทอดส่วนผสมนั้น ต้องทอดทีละอย่าง อย่ารวมกัน เพราะส่วนผสมแต่ละอย่างจะสุกไม่พร้อมกัน) นำส่วนผสมของนํ้าตาลทราย นํ้าผึ้ง เกลือ แบะแซ เนยสด และนํ้าสะอาด ใส่ลงกระทะทอง ตั้งไฟเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ ไปเรื่อย ๆ จนนํ้าเชื่อมมีลักษณะเหนียวข้นคล้ายคาราเมล แล้วนำส่วนผสมของข้าวกล้องงอกอบแห้งทอด เต้าหู้อบแห้งทอด กุ้งอบแห้งทอด และแครอทอบแห้ง ต้นหอมอบแห้ง งาขาว งาดำ ใส่ลงอ่างผสม ใช้ไม้พายคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน จากนั้นนำส่วนผสมที่คลุกเคล้ากันดีแล้วไป ใส่ลงในกระทะทองที่มีเครื่องผสม คลุกเคล้าให้เข้ากันโดยใช้ไฟอ่อน ๆ ชิมเพื่อปรับ แต่งรสชาติตามใจชอบ เสร็จแล้วปิดไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น เก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิทหรือบรรจุผลิตภัณฑ์ โดย “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” นี้สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นเดือน ๆ โดยไม่ใส่สารกันบูด **************** ใครสนใจทำ “ข้าวเม่าหมี่จากข้าวกล้องงอก” ขายเป็น “ช่องทางทำกิน” ก็ลองฝึกฝนกันดู หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก อ.ชมุค พรรณดวงเนตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็ติดต่อได้ที่ภาควิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ โทร. 0-2549-3160-61 หรือ 08-4094-8222 ซึ่งทางอาจารย์ยังมีสูตรอาหารเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจอีกหลายชนิด. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/239855

Sunday, October 6, 2013

แนะนำอาชีพ ‘คุกกี้คอนเฟล็กซ์’

“คุกกี้คอนเฟล็กซ์” นี้ วิลัย จันโต คือวิทยากรผู้ฝึกสอนให้กับผู้เข้าฝึกอาชีพ โดยวิทยากรบอกว่า คุกกี้คอนเฟล็กซ์ ในตลาดยังมีคนทำไม่มาก ที่สำคัญสูตรที่สอนนี้ผู้ที่ได้เรียนรู้สามารถนำไปดัดแปลงทำคุกกี้ได้หลากหลาย สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ทำคุกกี้คอนเฟล็กซ์ หลัก ๆ ก็มี... อ่างผสม ขนาด 1 และ 2 ลิตร, ที่ร่อนแป้ง, พายยาง, มีดฟันเลื่อย, ถ้วยตวงของแห้ง, ช้อนตวง, ตาชั่งอย่างละเอียด, ตะแกรง, กระดาษไข, ถ้วยตวง, ถาดอบคุกกี้, นาฬิกาจับเวลา, เครื่องตีไข่ (ใช้แบบอัตโนมัติหรือแบบมือตีก็ได้) และเตาอบไฟฟ้าหรือเตาอบแก๊ส ซึ่งราคาเตามีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น แต่ถ้าใครมีเตาอบอยู่แล้ว ก็จะลงทุนอุปกรณ์อื่น ๆ ในวงเงินประมาณ 2,500 บาทเท่านั้น เตาอบนั้นมีความสำคัญในการทำขนม เตาอบที่มีคุณภาพมีผลต่อการอบขนม ซึ่งขนมจะฟูหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่เตาอบด้วย ถ้าเตามีคุณภาพไม่ดี อุณหภูมิเตาจะไม่คงที่ การอบขนมก็จะเป็นเรื่องที่ควบคุมคุณภาพได้ลำบาก.... ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ทำคุกกี้คอนเฟล็กซ์ ตามสูตรมีดังนี้... เนยสด 150 กรัม, น้ำตาลไอซิ่ง 135 กรัม, แป้งเค้ก 150 กรัม, แป้งขนมปัง 100 กรัม, ไข่ไก่ 2 ฟอง, ผงฟู 4 กรัม, โซดาผง 2.5 กรัม, เกลือ 2.5 กรัม, ลูกเกดสับหยาบ 87.5 กรัม, เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบ 125 กรัม, คอน เฟล็กซ์ 200 กรัม ขั้นตอนการทำ... เริ่มจากเปิดเตาอบ เปิดไฟบน-ไฟล่าง ให้อยู่ที่อุณหภูมิ 150 องศา เพื่อเป็นการวอร์มเตาให้ร้อนได้ที่ พร้อมใช้งาน ระหว่างนั้นก็มาเตรียมวัตถุดิบ เริ่มจากการนำแป้งเค้ก, แป้งขนมปัง, ผงฟู, โซดาผง และเกลือ ผสมรวมกันเทใส่ลงบนที่ร่อนแป้ง แล้วร่อนส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในกะละมัง พักไว้ก่อน จากนั้นก็นำเนยสดและน้ำตาลไอซิ่งเทผสมใส่ลงในกะละมังอีกใบ นำเครื่องตีแป้งแบบมือใส่ลงไป เริ่มตีโดยเปิดเครื่องให้เริ่มความเร็วจากเบอร์ 1 ทำการตีผสมไปเรื่อย ๆ ให้ส่วนผสมเนยสดและน้ำตาลไอซิ่งเข้ากัน โดยใช้เวลาในการตีประมาณ 5 นาที หลังจากส่วนผสมเนยสดและน้ำตาลไอซิ่งเข้ากันแล้ว ให้เพิ่มระดับความเร็วเครื่องตีที่เบอร์ 3 ตีส่วนผสมต่อ โดยให้หัวตีของเครื่องยังคงจุ่มอยู่ในส่วนผสม ลักษณะการตีส่วนผสมคือ ไม่ควรยกส่วนหัวตีสูงเกินไป เพราะส่วนผสมจะฟุ้งกระจาย ตีโดยการหมุนส่วนของเครื่องตีแป้งแบบมือให้ถูกส่วนผสมมากที่สุด ตีต่อไปนานประมาณ 10 นาที โดยการตีส่วนผสมนั้น พอตีไปได้ 5 นาที ให้หยุดเครื่อง แล้วปาดส่วนผสมที่ติดอยู่ขอบด้านข้างให้เข้ามาอยู่ตรงกลาง เมื่อเสร็จแล้วเปิดเครื่องไปที่เบอร์ 3 ตีต่ออีก 5 นาที เมื่อครบตามจำนวนเวลาก็ปิดเครื่องตีแป้งพักไว้ก่อน จากนั้นก็นำไข่ไก่ตอกใส่ภาชนะเตรียมไว้ แล้วใช้เครื่องตีแป้งแบบมือโดยใช้ส่วนของหัวตีจุ่มลงในส่วนผสมอีกครั้ง ค่อย ๆ เปิดเครื่องไล่ความเร็วจากเบอร์ 1 ไปจนถึงเบอร์ 3 ตีไปประมาณ 1 นาที แล้วจึงใส่ไข่ฟองแรกผสมลงไปในแป้งขณะที่ยังเปิดเครื่องตีอยู่ ตีต่อไปอีก 1 นาที จึงใส่ไข่ฟองที่สอง และตีต่ออีก 1 นาที แล้วก็ปิดเครื่อง เมื่อส่วนผสมเนยน้ำตาลไข่ไก่เข้ากันดีแล้ว นำส่วนผสมแป้งเค้ก แป้งขนมปัง ผงฟู โซดาผง เกลือ ที่ร่อนเตรียมไว้ มาใส่รวมกัน โดยการเทผสมรวมกันต้องค่อย ๆ เท โดยเปิดเครื่องตีแป้งจุ่มลงในส่วนผสม เปิดความเร็วเบอร์ 1 ค่อย ๆ เทส่วนผสมที่ร่อนไว้ลงไปจนหมด จับเวลาตีต่อ 5 นาที ปิดเครื่อง ปาดส่วนผสมให้เข้ามาอยู่ตรงกลาง แล้วตีต่ออีก 5 นาที หลังจากนั้นก็นำลูกเกดสับหยาบค่อย ๆ เทผสมลงไป โดยที่เครื่องตียังคงทำงานอยู่ที่ความเร็วคงที่ เบอร์ 1 ตีไปประมาณ 1 นาที พอลูกเกดเข้ากับส่วนผสมแล้วก็นำเม็ดมะม่วง หิมพานต์ค่อย ๆ เทลงในส่วนผสม ขณะที่เครื่องตียังทำงานอยู่ที่ความเร็วคงที่ เบอร์ 1 ใช้เวลาตีอีก 2 นาที จึงปิดเครื่อง เมื่อส่วนผสมเข้ากันเป็นอย่างดีแล้วจะมีความเหนียวไม่ติดมือ ปั้นเป็นก้อนได้ ก็ตักส่วนผสมปั้นเป็นก้อน ๆ ให้ได้น้ำหนักก้อนละ 20 กรัม โดยใช้ตาชั่งในการชั่ง จากนั้นเทคอนเฟล็กซ์ลงในถาดเตรียมไว้ นำคุกกี้ที่ปั้นเป็นก้อนลงคลุกกับคอนเฟล็กซ์ เตรียมไว้ นำกระดาษไขวางบนถาด และนำคุกกี้ที่คลุกคอนเฟล็กซ์แล้ววางเรียงลงไป ให้แต่ละชิ้นห่างกันประมาณ 1 นิ้ว วางจนเต็มถาดแล้วนำเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 150 องศา ใช้เวลาอบประมาณ 15-20 นาที จนคุกกี้สุกเหลืองทั่วก็นำออกจากเตาอบ แซะคุกกี้ออกจากถาดพักไว้บนตะแกรงให้เย็น จึงจัดเก็บในภาชนะที่ปิดกั้นอากาศเข้า จากปริมาณวัตถุดิบที่ว่ามา จะสามารถทำคุกกี้คอนเฟล็กซ์ได้ประมาณ 50 ชิ้น มีต้นทุนเฉพาะวัตถุดิบประมาณ 100 บาท หรือเฉลี่ยชิ้นละไม่เกิน 2 บาท สามารถจะตั้งราคาขายได้ที่ชิ้นละประมาณ 4 บาท ......................... ทั้งนี้ นี่ก็เป็นสูตรการทำ “คุกกี้คอนเฟล็กซ์” ที่ทาง ซีพี รีเทลลิงค์ และวิทยากรคือ วิลัย จันโต ฝึกสอนให้ประชาชนตาม โครงการ “เดลินิวส์ฝึกอาชีพ” รุ่น 7 หัวข้อ “คืนกำไรสู่สังคม ฝึกอบรมเบเกอรี่ ชี้ทางรวย” ซึ่งคุกกี้ชิ้นเล็ก ๆ นี้ก็อาจเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ทำให้รวยได้ ถ้าฝีมือดี การตลาดดี โดยในส่วนของ “เทคนิคการตลาด” นั้นในการจัดฝึกก็มีการบรรยายแนะนำ ซึ่งในหน้า “ช่องทางทำกิน” ก็จะสรุปมานำเสนอในวันเสาร์ที่ 12 ต.ค. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/237579

Saturday, October 5, 2013

แนะนำอาชีพ ‘บราวนี่’

“พรพรรณ เจริญมิตร” วิทยากรผู้ฝึกสอน ซึ่งมีประสบการณ์การทำบราวนี่มานานกว่า 7 ปี และทำขายจนส่งตัวเองเรียนจบปริญญาตรี บอกว่า “บราว นี่” ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Sheet Cookies หรือคุกกี้แผ่น มีลักษณะคล้ายเค้กที่ไม่ขึ้นฟูมาก นิยมอบในถาดแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า และตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม วิธีทำเป็นแบบง่าย ๆ โดยคนส่วนผสมของเหลวและของแห้งให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน บางสูตรจะเคลือบหน้าด้วยช็อกโกแลต และโรยด้วยอัลมอนด์สไลด์ หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งทำให้อร่อยและดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์อาหาร สันนิษฐานว่า ขนมชนิดนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 กล่าวกันว่า บราวนี่เกิดจากความบังเอิญในการทำเค้กช็อกโกแลต โดยลืมใส่ผงฟู เมื่ออบออกมาแล้วเค้กจึงไม่ขึ้นฟู แต่ก็กลับได้ขนมสีน้ำตาลเข้มเนื้อแน่น อันเป็นที่มาของชื่อ “Brownie” “บราวนี่ทำง่าย ขายไม่ยาก ใช้เวลาทำเพียง 30 นาที ถือว่าคุ้มค่าต่อเวลาที่เราจะทำขาย” พรพรรณกล่าว และว่า “สูตรบราวนี่ที่สอนนี้เป็นสูตรที่ประยุกต์ดัดแปลงโดยใส่ผงฟูด้วย เพื่อให้บราวนี่ที่ทำออกมามีความนุ่มและอร่อยมากขึ้น” สำหรับอุปกรณ์การทำบราวนี่ หลัก ๆ ก็มี...อ่างผสม ใช้ขนาด 1 และ 2 ลิตร, ที่ร่อนแป้ง, พายยาง, มีดฟันเลื่อย, ถ้วยตวงของแห้ง, ช้อนตวง, ตาชั่งอย่างละเอียด, แปรง, กระดาษไข, ถ้วยตวง, ถาดอบ, นาฬิกาจับเวลา, เครื่องตีไข่ (ใช้แบบอัตโนมัติหรือแบบมือตีก็ได้), เตาอบไฟฟ้าหรือเตาอบแก๊ส ซึ่งราคาเตามีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น แต่ถ้าใครมีเตาอบอยู่แล้ว ก็จะลงทุนอุปกรณ์อื่น ๆ ในวงเงินประมาณ 2,500 บาทเท่านั้น วัตถุดิบที่ใช้ทำบราวนี่ ตามสูตรนี้มีดังนี้คือ... แป้งเค้ก 100 กรัม, ผงโกโก้ 20 กรัม (ควรใช้ผงโกโก้สีเข้มเพราะขนมที่ทำออกมาจะสีสวย), ดาร์ค ช็อกโกแลต (Dark Choco) 200 กรัม, เนย 150 กรัม, น้ำตาลทราย 180 กรัม, ผงฟู 1 ช้อนชา, ไข่ไก่ (เบอร์ 2 ซึ่งเป็นไซซ์มาตรฐานในการทำเบเกอรี่) 3 ฟอง, ช็อกชิพ 50 กรัม, เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 100 กรัม ขั้นตอนการทำ แยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนผสม “ของเหลว” และ “ของแห้ง” โดยเริ่มจากการทำส่วนผสมที่เป็นของเหลว โดยละลายเนยและดาร์คช็อกโกแลตก่อน นำวัตถุดิบทั้ง 2 ตัวนี้ใส่เข้าเตาอบทิ้งไว้ประมาณ 7 นาที จากนั้นก็มาทำขั้นตอนต่อไปโดยนำน้ำตาลทรายใส่ลงในอ่างผสม แล้วก็ตอกไข่ใส่ตามลงไปผสมกับน้ำตาลทราย ใช้เครื่องตีแป้งแบบมือทำการตีให้น้ำตาลทรายกับไข่ผสมเข้ากัน การตีนั้นให้ตั้งเครื่องตี 90 องศา กดให้ติดถึงก้นอ่าง เริ่มใช้ความเร็วที่ระดับ 1 ในการเริ่มตี เพื่อไม่ให้วัตถุดิบนั้นกระเด็น ตีไปเรื่อย ๆ และคอยคนหมุนไปในทางเดียวกันตลอด ไม่ต้องเร่งตีเพราะถ้าเร่งเนื้อเค้กจะเกิดฟองอากาศ ทำออกมาเนื้อเค้กจะยุบ ตีจนน้ำตาลทรายและไข่เข้ากันเป็นเนื้อเดียวจนขึ้นฟูเป็นสีขาวก็ใช้ได้ จากนั้น นำเนยและดาร์คช็อกโกแลตที่ละลายเตรียมไว้ผสมรวมกับน้ำตาลทรายและไข่ไก่ที่ตีผสมไว้แล้ว (เนยและดาร์คช็อกโกแลตที่ละลายเตรียมไว้ควรทิ้งไว้ให้เย็นก่อนที่จะนำมาผสม ไม่เช่นนั้นไข่จะสุก) เมื่อนำวัตถุดิบทั้ง 2 ส่วนผสมกันแล้ว ก็ทำการคนให้เข้ากัน ก็จะได้เป็นส่วนผสมที่เป็นส่วนของ “ของเหลว” พักไว้ ต่อไปก็มาเตรียมส่วนผสมที่จะทำเป็นส่วน “ของแห้ง” โดยนำแป้งเค้ก ผงโกโก้ ผงฟู ผสมรวมกันแล้วทำ การร่อนด้วยเครื่องร่อนแป้ง (เพื่อนำส่วนที่แข็งออก เวลาทำเค้กเนื้อเค้กจะนุ่ม) แล้วก็นำช็อกชิพและเม็ดมะม่วงหิม พานต์มาทำการบดพอหยาบผสมรวมกัน แล้วใส่ผสมในแป้งเค้กที่ร่อนไว้แล้ว ทำการคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก็จะได้เป็นส่วนของแห้ง ถัดมาก็นำส่วนผสมที่เป็นของเหลวและของแห้งมาเทผสมรวมกัน แล้วทำการคนคลุกเคล้าให้วัตถุดิบทั้ง 2 ส่วนผสมเข้ากันเป็นอย่างดี โดยใช้เวลาคนประมาณ 30 วินาที เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วก็นำไปเทลงในถาดอบ ขนาด 10x10 นิ้ว ที่รองด้วยกระดาษไข ใช้ไม้พายเกลี่ยให้หน้าเสมอกัน นำเข้าเตาอบ ใช้อุณหภูมิ 150 องศา (ต้องเปิดวอร์มเตาอบไว้ก่อนประมาณ 30 นาที เพื่อให้เตาอบร้อนได้ที่ ก่อนจะนำบราวนี่เข้าอบ) ใช้เวลาอบประมาณ 25 นาที เท่านี้ก็จะได้เป็น “บราวนี่” หอมกรุ่น ซึ่งจากปริมาณวัตถุดิบ จากสูตรที่ว่ามาข้างต้น จะสามารถทำบราวนี่ได้ 1 ถาดขนาด 10x10 นิ้ว ตัดแบ่งเป็นชิ้น ๆ สี่เหลี่ยมได้ 16 ชิ้น โดยมีต้นทุนเฉพาะในส่วนวัตถุดิบต่อ 1 ถาดอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 100 บาท หรือเฉลี่ยต้นทุนต่อชิ้นอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 6 บาท สามารถตั้งราคาขายได้ชิ้นละประมาณ 20 บาท ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/237524

Saturday, September 28, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ผ้าย้อมคราม’

“ผ้าย้อมคราม” เป็นผ้าพื้นเมือง จ.สกลนคร ที่มีมาแต่โบราณ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักและยอมรับถึงคุณภาพ สวยงาม สวมใส่สบาย แต่สำหรับชาวบ้านผู้ผลิตกลับไม่ค่อยได้มีผลประโยชน์เรื่องรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากขาดความรู้ด้านการแปรรูป ทำให้เสียโอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้าไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ สพภ. เห็นความสำคัญ จึงเข้าช่วยต่อยอดผ้าย้อมคราม ทั้งพัฒนาการผลิต เติมดีไซน์สมัยใหม่ และการตลาดเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้ให้ชุมชน ที่สำคัญยังเชื่อมโยงเป็นสินค้ารักษ์โลก ผู้สวมใส่ภูมิใจได้ว่านอกจากจะได้ใส่เสื้อผ้าสวยงามแล้ว ยังมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลผ้าย้อมครามมานำเสนอ… นางเกยูร ไชยะวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมคราม ผ้าไหม บ้านกุดแฮด ต.กุดบาก จ.สกลนคร เล่าให้ฟังถึงที่มาของ “ผ้าย้อมคราม” ว่า บ้านกุดแฮดเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาว “ไทยกะเลิง” มีฝีมือในเรื่องการทำผ้าย้อมครามที่ได้รับถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากรุ่นสู่รุ่น ในอดีตจะทอเป็นผ้านุ่ง สวมใส่ในชีวิตประจำวัน ภายหลังความนิยมผ้าทอย้อมครามมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่มีบุคคลภายนอกสนใจ ทั้งนักท่องเที่ยว รวมถึงมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อผ้าย้อมครามถึงในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามขาย หารายได้เสริมจากอาชีพหลักคือการทำนา ชาวไทยกะเลิงเชื่อว่า “คราม” เป็นต้นไม้ที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของธรรมชาติ เปรียบเท่ากับเทพยดา เมื่อนำมาย้อมผ้าย้อมครามสวมใส่ก็จะเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้อง ทำให้ผู้สวมใส่สุขกายสบายใจ แต่ก่อนหน้านี้เริ่มหาคนที่ทำสวย สมบูรณ์แบบ น้อยลง จนภายหลังจึงมีการผลิตเพื่อจำหน่ายได้มากขึ้น หลังได้รับการสนับสนุนการผลิต และการตลาด จาก สพภ. และ ม.เกษตรศาสตร์ สกลนคร ทำให้มองเห็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น “จากที่ขายเป็นผ้าผืน ก็นำมาดัดแปลง แปรรูป จนได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป็นที่ต้องการ จนทุกวันนี้ผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด ตอนนี้ในกลุ่มก็มีความตื่นตัวค่อนข้างสูงในเรื่องนี้ สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกันก็คือ ภูมิปัญญา ความรู้เก่าก่อนของบรรพบุรุษจะถูกรวบรวมไว้เพื่อถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน ให้ได้เรียนรู้รากเหง้าที่มา วัฒนธรรมของเรา และเชื่อว่าสิ่งที่คนรุ่นเราได้เริ่มไว้จะต่อยอดสร้างรายได้ให้ลูกหลานในชุมชน ไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานไกลบ้านอีกต่อไป” วัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมสีผ้าด้วยน้ำคราม ได้แก่... ใบคราม ต้นคราม (เป็นไม้พุ่มล้มลุก ปลูกด้วยเมล็ด เมื่อต้นครามอายุได้ 3-4 เดือน ใบและกิ่งจะให้สีน้ำเงิน), ปูนขาว (สำหรับกินหมาก), น้ำขี้เถ้า, มะขามเปียก และน้ำสะอาด อุปกรณ์ที่ใช้ ก็มี... ถังที่มีฝาปิด (โอ่ง), เส้นฝ้าย, ขัน, ส้อมกวนคราม, ตะแกรงกรองคราม และพลาสติก ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการเตรียมใบคราม นำทั้งกิ่งและใบมามัดรวมกันเป็นฟ่อน 10 กิโลกรัม ใส่ลงไปในถัง 200 ลิตร ใช้มือกดให้แน่น เติมน้ำให้ท่วมหลังมือ แช่ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วทำการกลับด้านครามแช่ไว้อีก 12 ชั่วโมง จากนั้นแยกกากใบออกทิ้ง จะได้น้ำครามสีเหลืองปนเขียวประมาณ 100 ลิตร เสร็จแล้วเติมปูนขาว 500 กรัมลงไป ทำการตีน้ำคราม หรือเรียกว่าซ้อมคราม 30-40 นาที จนฟองยุบ พักทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้เนื้อครามตกตะกอนที่ก้นถัง แล้วรินน้ำใสสีน้ำตาลเหลือง ๆ ชั้นบนทิ้ง เหลือไว้แต่ชั้นล่างที่จะเป็นเนื้อครามเนื้อเนียนละเอียด ต่อไปเป็นการเตรียมน้ำย้อม ผสมเนื้อครามเปียก 1 กิโลกรัม ต่อน้ำขี้เถ้า 3 ลิตร แช่ไว้ 3 วัน จากนั้นค่อยเติมน้ำมะขามเปียกต้ม 3 ลิตรลงไป ทำการโจกคราม (ตักสูง ๆ เทลง) ทุกเช้า-เย็น สังเกตดูเมื่อเห็นน้ำครามให้สีเขียวอมเหลือง ฟองสีน้ำเงินเข้ม ไม่แตกยุบ แสดงว่าน้ำครามสมบูรณ์ พร้อมต่อการใช้ย้อมผ้าแล้ว สำหรับขั้นตอนการย้อม ให้นำเส้นใยผ้าฝ้ายที่ต้องการย้อมมาล้างไขมัน สะอาดแล้วก็บิดให้หมาด ๆ จับเป็นวง จุ่มลงหม้อน้ำย้อม กำให้แน่นแล้วไล่เรียงไปเรื่อย ๆ รอบวงของฝ้าย สังเกตสีน้ำย้อมจะใสขึ้นจึงหยุดย้อม บิดฝ้ายที่ย้อมให้หมาด ๆ กระตุกให้เรียงเส้น เก็บไว้ในภาชนะมิดชิดหรือห่อด้วยถุงพลาสติก ละลายครามกับน้ำด่างพอประมาณให้เนื้อครามเหลว โจกคราม 2-3 ครั้ง พักไว้ 4-5 ชั่วโมง จากนั้นนำฝ้ายที่ย้อมไว้ในรอบแรกมาย้อมอีกครั้งและทำเช่นเดิมอีก ย้อมซ้ำจนได้สีเข้มตามที่ต้องการ จึงนำเส้นใยฝ้ายที่ย้อมนั้นมาล้างในน้ำให้สะอาด จนไม่เหลือสีครามออกมาในน้ำล้าง บิดให้หมาด ผึ่งในที่ร่มให้แห้ง ก่อนนำไปสู่กระบวนการทอ ป้าเกยูรบอกถึงจุดเด่นของผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮดว่า ทำมาจากฝ้ายแท้ ย้อมครามแบบธรรมชาติ โดยเส้นใยธรรมชาติจะมีความหนา เมื่อนำมาทอผ้าจะทำให้เนื้อนุ่ม ระบายอากาศได้ดี โดยส่วนใหญ่จะทอขายเป็นผืน ๆ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เมตรละ 200-300 บาท แต่ละคนจะทอผ้าได้สูงสุด 2-3 เมตรต่อวัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างจากการทำนา ปัจจุบันโดยเฉลี่ยชาวบ้านที่นี่จะมีรายได้จากการทำผ้าย้อมครามประมาณ 15,000 บาทต่อคนต่อปี ใครสนใจ “ผ้าย้อมคราม” ของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามฯ บ้านกุดแฮด ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร ติดต่อได้ที่ โทร.08-7946-6861, 08-7234-7212 หรือร้านฟ้าใสแกเลอรี่ โทร.0-2141-7828 ซึ่งอาชีพทำเงินของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” จากภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย. เชาวลี ชุมขำ :เรื่อง / สันติ มฤธนนท์ :ภาพ ......................................................................................................................... คู่มือลงทุน...ผ้าย้อมคราม ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 40% ของราคา รายได้ ราคา 200-300 บาท/เมตร แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด ร้านของฝาก-ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ชูภูมิปัญญาเป็นจุดขายที่ดี http://www.dailynews.co.th/article/384/235939

แนะนำอาชีพ 'สมุดทำมือ’

สมุดทำมือนั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพ อีก “ช่องทางทำกิน” ที่คนรุ่นใหม่สนใจ จึงมีการต่อยอดพลิกแพลงค่อนข้างหลากหลาย ตอบคำถามได้ว่าตลาดงานฝีมือประเภทนี้ยังไม่ถึงทางตัน ยิ่งหากนำเรื่องของการออกแบบผนวกเข้ากับรายละเอียดของงานที่ประณีต การจะเปิดโอกาส-ทำตลาดให้กับสมุดทำมือก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อย่างเช่น “สมุดทำมือ” ที่มีลูกเล่น ไอเดียเด่น ของ “วศินี เชยกลิ่นเทศ” รายนี้.... วศินี เจ้าของชิ้นงานสมุดทำมือที่ใช้ชื่อว่า classic note book เล่าว่า งานสมุดโน้ตทำมือนี้เริ่มทำจำหน่ายมาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว โดยเปิดร้านค้าออนไลน์และจำหน่ายผ่านทาง http://classic-notebook.exteen.com และ www.facebook.com/ClassicNotebook นัยหนึ่งเพื่อเอามาใช้ในการเรียน เพราะเรียนด้านการออกแบบ อีกนัยหนึ่งเพื่อทำเป็นงานอดิเรกเพราะส่วนตัวเป็นคนชอบงานกระดาษอยู่แล้ว โดยปัจจุบันยึดการทำสมุดทำมือนี้เป็นอาชีพเสริม สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำเป็นอาชีพ ทำสมุดทำมือเพื่อจำหน่าย เธอเล่าว่า เกิดขึ้นเมื่อเริ่มฝึกทำจนชำนาญ จึงทำเป็นของขวัญเพื่อมอบให้เพื่อนคุณแม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ปรากฏว่าเพื่อนคุณแม่ชอบ และขอให้ทำเพิ่มหลาย ๆ แบบ เพื่อนำกลับไปเป็นของฝาก จากจุดนั้นจึงคิดว่างานฝีมือตรงนี้ทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในยามว่างได้ “ที่ทำมา 2 ปี ถือว่าตลาดไปได้เรื่อย ๆ และจะดีมากในช่วงใกล้เทศกาลสำคัญ ๆ นอกจากนั้นยังมีลูกค้าที่สั่งทำเพื่อนำไปทำเป็นของขวัญ ของที่ระลึก ของชำร่วย รวมถึงนำไปดัดแปลงเองตามต้องการอีกด้วย” วศินีกล่าว จุดเด่นของชิ้นงาน เธอบอกว่า วิธีการเย็บสมุด-วิธีการทำสมุดทำมือที่เธอได้ไปเรียนมานั้น เป็นเทคนิควิธีการทำเหมือนหนังสือหรือคัมภีร์โบราณแบบยุโรป ซึ่งวิธีนี้ทำให้หนังสือหรือสมุดมีความแข็งแรงคงทน และแปลกที่ลวดลายของสันสมุดที่ถูกถักและเย็บขึ้น โดยแต่ละเล่มจะมีรูปแบบวิธีการแตกต่างกันไป ปัจจุบันสมุดที่ทำจะมี 2 แบบ คือ เป็นแบบที่เรียกว่า “บุ๊คไบนด์ดิ้ง” คือสมุดที่สามารถนำไปทำเป็นไดอารี่,สมุดอวยพรคู่แต่งงาน, สมุดภาพ กับอีกแบบเรียกว่า “บุ๊คอาร์ต” ซึ่งแบบนี้จะออกไปในแนวสมุดศิลปะ จะใช้เขียนบันทึกได้น้อย โดยสมุดแบบนี้จะเน้นให้เป็นของขวัญของที่ระลึกมากกว่า “จุดเด่นของสมุดร้านเราจะอยู่ที่ลายเย็บบนสันสมุด ที่เป็นการเย็บสมุดแบบเปิดสันสมุด ซึ่งเป็นวิชาเก่าแก่จากทางประเทศโปแลนด์ และจะสามารถเปิดสมุดกางออกมาได้กว้างถึง 180 องศา โดยไม่กินเนื้อกระดาษ เมื่อแปะภาพจะไม่บวมหรือโป่งพองออกมาจนดูไม่สวย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบมาก” เจ้าของชิ้นงานกล่าว ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 บาท ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 20% ของราคาขาย รายได้หรือราคาขายตั้งแต่เล่มละ 120 ไปจนถึง 6,000 บาท ขึ้นกับขนาดและความยากง่ายของแต่ละชิ้นงาน วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย อุปกรณ์รีดกระดาษหรือโบนโฟลเดอร์ (Bone Folder), เหล็กแหลม สำหรับใช้เจาะกระดาษ, เข็ม, เชือกหรือด้าย, กรรไกร, กาวพีวีเอ(ชนิดหนึ่งของกาวลาเท็กซ์แต่แห้งเร็วกว่าและมีความข้นหนืดน้อยกว่า),แปรงทากาว และกระดาษสำหรับทำเนื้อในสมุดกับกระดาษสำหรับใช้ทำปกสมุดโน้ต ขั้นตอนการทำ เริ่มจากเลือกกระดาษที่จะใช้เป็นปกด้านนอกและด้านในสมุด ทำการตัดกระดาษจั่วปัง(กระดาษที่ช่วยเพิ่มความแข็งให้กับปกสมุด) ตามขนาดสมุดที่ต้องการ 2 แผ่น จากนั้นทากาวพีวีเอที่กระดาษจั่วปังแล้วแปะกระดาษจั่วปังลงบนข้างหลังกระดาษปก โดยให้เหลือขอบทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร พับมุมของกระดาษปกที่ใช้ห่อให้เป็นรอยแล้วคลี่ออก ใช้กรรไกรตัดห่างจากมุมของกระดาษจั่วปังประมาณ 2 มิลลิเมตรทั้ง 4 ด้าน ขั้นตอนต่อมาให้ทากาวลงบนกระดาษด้านยาวทีละด้านแล้วใช้อุปกรณ์รีดกระดาษหรือโบนโฟลเดอร์รีดกระดาษให้พับเข้ามาโดยทำทั้ง 2 ด้าน พับมุมเก็บทั้ง 4 มุม แล้วนำกาวมาทาด้านแคบ ใช้อุปกรณ์รีดกระดาษ รีดกระดาษพับเข้ามาเช่นกันทั้ง 2 ด้าน ตัดกระดาษปกในให้เล็กกว่าขนาดปกเล็กน้อย แล้วนำกาวพีวีเอมาทาที่กระดาษปกใน จากนั้นนำไปแปะที่ปกด้านในให้อยู่กึ่งกลาง ให้ทำแบบนี้ 2 แผ่น ทั้งปกหน้าและปกหลัง เริ่มขั้นตอนการพับกระดาษสำหรับทำไส้ในสมุด ตามจำนวนชั้นที่เราต้องการ โดยทำแม่แบบเพื่อเจาะรูสมุด จากนั้นเริ่มเย็บสมุด และเก็บลายละเอียดที่เหลือ “วิธีการทำสมุดทำมือจะมีวิธีการคล้าย ๆ กับขั้นตอนการทำหนังสือแบบสมัยก่อน ข้อดีคือ สมุดทำมือแบบนี้จะมีความคงทน มีอายุการเก็บรักษาไว้ได้นาน ไม่ค่อยหลุดร่อนออกมาเป็นแผ่นๆ เหมือนสมุดที่ทากาวที่สันเพียงอย่างเดียว ยิ่งใช้เชือกหรือด้ายที่มีคุณภาพสูง เกรดดีหน่อย ก็จะยิ่งทำให้สมุดทำมือเก็บรักษาไว้ได้นานยิ่งขึ้น” วศินีกล่าว สนใจผลงาน “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร.08-5955-7757 อีเมล์ za_nall@hotmail.com หรืออยากจะดูรูปแบบ “สมุดทำมือ” ก็สามารถเปิดเข้าไปดูตามเว็บไซต์กับเฟซบุ๊คข้างต้น หรือใครอยากจะลองฝึกหัดทำก็สามารถสอบถามได้โดยตรงที่เจ้าตัวเลย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งงานทำมือจากกระดาษที่ถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยึดเป็นช่องทางทำกินได้อย่างน่าสนใจ. ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ :เรื่อง / จุมพล นพทิพย์ :ภาพ ............................................................................................................... คู่มือลงทุน...สมุดทำมือ ทุนเบื้องต้น ประมาณ 2,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 20% ของราคา รายได้ ราคา 120-6,000 บาท/เล่ม แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด กลุ่มของใช้ ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ทุนต่ำ ทำเป็นอาชีพเสริมได้ http://www.dailynews.co.th/article/384/235873

Saturday, September 21, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เครื่องประดับแฮนด์เมด’

สินค้าประเภทเครื่องประดับ ต่างหู สร้อย กำไร แหวน ฯลฯ เป็นสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่มากมายในท้องตลาด จึงเป็นสินค้าที่มีคู่แข่งทางการตลาดสูง ซึ่งการจะทำให้สินค้ายืนหยัดอยู่ในตลาดได้ก็จะต้องเน้นสร้างสรรค์สินค้าให้มีความโดดเด่น มีจุดขาย อย่างการสร้างสรรค์ “เครื่องประดับแฮนด์เมด” เป็นรูปผีเสื้อ นกฮูก โดยผสมผสานศิลปะการเพ้นท์สีเข้าไปในตัวชิ้นงาน ที่ผู้ทำเรียกผลงานของตัวว่า “จิวเวลรี่อาร์ท แฮนด์เมด” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ... **************** สายน้ำผึ้ง พวงดอกไม้ เจ้าของผลงานทำเครื่องประดับแฮนด์เมด หรืองานจิวเวลรี่อาร์ท แฮนด์เมด เล่าว่า หลังจากที่เรียนจบทางด้านศิลปะก็เข้าทำงานที่บ้านจิม ทอมป์สัน ทำหน้าที่ซ่อมรูปภาพโบราณ และเขียนรูปด้วย ซึ่งก็ทำงานประจำอยู่ 8 ปี จนเริ่มอิ่มกับงานที่ทำ อยากทำงานที่เป็นอิสระของตัวเอง จึงออกจากงานประจำ และด้วยความที่ชอบใส่เครื่องประดับ งานจิวเวลรี่ จึงศึกษาต่อปริญญาโทด้านจิวเวลรี่ที่ศิลปากร ยังเรียนไม่จบ แต่ก็มาทำธุรกิจของตัวเอง “มองหาค้นหาตัวเองว่าจะทำงานอะไรที่ยังมีกลิ่นอายของศิลปะงานอาร์ทที่ตนเองถนัด จะเขียนรูปขายก็ขายยาก เป็นงานเฉพาะกลุ่ม งานขายยาก จึงพยายามมองหางานที่ชอบและยังอยู่ในไลน์ศิลปะ จึงได้มาจับงานทำเครื่องประดับเพราะชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เริ่มจากใช้ผ้ามาทำ ก็ไม่ลงตัว ทดลองหาวัสดุหลาย ๆ อย่างมาทดลองทำ จนลงตัวในที่สุด” สายน้ำผึ้งค้นหาวัสดุจนได้วัสดุธรรมชาติ พวกใยบวบ มะกรูด นำมาสร้างสรรค์ทำเป็นเครื่องประดับออกมาจำหน่าย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี แต่ด้วยความที่ใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติมาทำ เรื่องการหาวัตถุดิบและการควบคุมคุณภาพของงานจึงยากพอสมควร จึงเริ่มมองหาวัสดุใหม่ จนมาสรุปที่การนำดินไทยมาทำเป็นรูปผีเสื้อและนกฮูก แล้วเพ้นท์สี เกิดเป็นชิ้นงานใหม่ขึ้นมา “เราก็เริ่มพัฒนางานไปเรื่อย ๆ และได้เห็นงานดินปั้นจากรายการโทรทัศน์ จึงเกิดไอเดียว่าน่าจะนำมาทำเป็นชิ้นงานได้ จึงเริ่มทดลองทำ พัฒนางานมาเรื่อย ๆ จนลงตัว จนได้เป็นงานเครื่องประดับจากดินและเพ้นท์สี เป็นทั้งรูปผีเสื้อและนกฮูก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก” งานเครื่องประดับของสายน้ำผึ้งนั้น จะเป็นงานที่ทำมือขึ้นมาทีละชิ้น เน้นให้เป็นงานศิลปะ สีสันสดใส เน้นความละเอียดทุกชิ้นงาน ทำให้เครื่องประดับที่ทำออกมามีคุณค่ามีราคาในตัวของมันเอง... วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มี... ดินไทย, สีอะคริลิค, พู่กัน, แล็คเกอร์, คริสตัล, ลวดทองเหลือง, ลวดทองแดง, ตะขอต่างหู, คีมตัดลวด, กรรไกร ฯลฯ ขั้นตอนการทำเริ่มจาก... ทำบล็อกรูปผีเสื้อขึ้นมาก่อน โดยการแกะแบบแล้วนำไปหล่อทำเป็นพิมพ์ (ทำพิมพ์ไว้สำหรับปั้มขึ้นรูปลงบนดิน ทำให้สามารถผลิตชิ้นงานได้เร็วขึ้น) หลังจากมีแม่พิมพ์แล้วก็นำดินไทยในปริมาณที่พอเหมาะ ทำให้เป็นแผ่นบางกำลังดี ไม่บางหรือหนาไป ใช้พิมพ์รูปผีเสื้อปั้มลงบนแผ่นดินที่เตรียมไว้ ดินก็จะเป็นรูปผีเสื้อตามแบบ หลังจากนั้นก็รอจนดินนั้นแห้งสนิท แล้วใช้กรรไกรตัดตามแบบพิมพ์ ก็จะได้เป็นรูปผีเสื้อ (ต้องตัดตอนที่ดินนั้นแห้งสนิท เพราะถ้าตัดตอนที่ดินยังไม่แห้งชิ้นงานจะย้วยไม่สวยงาม) เมื่อได้ดินที่เป็นรูปผีเสื้อแล้วก็ทำการเพ้นท์สีลงลวดลายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อทำการเพ้นท์ลงสีเสร็จแล้ว ก็ทิ้งไว้รอจนสีแห้งสนิท จากนั้นก็ทำการพ่นแล็คเกอร์เคลือบเพื่อความแข็งแรงทดทานและเป็นเงาสวยงามมากขึ้น รอจนแล็คเกอร์ที่พ่นไว้แห้งสนิทดีแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการตกแต่ง โดยนำเอาลวดทองเหลืองมาทำการดัดม้วนติดใส่ลงไปบนผีเสื้อที่ทำไว้ เพิ่มความสวยงามด้วยการติดคริสตัลเข้าไปอีกหน่อย ซึ่งขั้นตอนการตกแต่งนี้ก็ตามแต่จะดีไซน์ ตกแต่งเรียบร้อยก็นำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ ถ้าทำเป็นต่างหูก็นำตะขอต่างหูมาติด ถ้าทำเป็นสร้อยก็นำตัวผีเสื้อที่ทำนั้นไปติดลงบนสร้อย “งานเพ้นท์เครื่องประดับของเราจะเอางานมานั่งเพ้นท์ที่ร้าน เพื่อให้ลูกค้าเห็น เป็นการสร้างความเชื่อมั่น ว่างานเราเป็นงานแฮนด์เมดทำมือจริง ๆ ซึ่งวิธีนี้ก็สามารถดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี” เจ้าของงานบอก และว่า งานทำเครื่องประดับแฮนด์เมดนี้เป็นงานที่ต้องใช้ความประณีตและความละเอียดสูง ต้องมีความตั้งใจ และที่สำคัญควรจะมีทักษะในเรื่องของศิลปะอยู่บ้างจึงจะทำออกมาได้สวยงาม สำหรับชิ้นงานของสายน้ำผึ้งนั้น มีทั้งที่เป็นรูปผีเสื้อและนกฮูก และหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ ต่างหู, สร้อย, แหวน, กำไร เป็นต้น ซึ่งก็มีราคาขายอยู่ที่ 280-2,000 บาท โดยราคานั้นขึ้นอยู่กับความละเอียดของชิ้นงาน ***************** สนใจ “เครื่องประดับแฮนด์เมด” ที่ใส่ศิลปะเข้าไปใช้ชิ้นงาน ของสายน้ำผึ้ง ก็สามารถแวะไปดูไปชมไปเลือกซื้อกันได้ ร้านตั้งอยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โครงการ 7 (โซนศิลปะ) ซอย 5 หรือต้องการสั่งออเดอร์ก็สามารถโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.08-1711-4173 ซึ่งนี่ก็เป็น “ช่องทางทำกิน” จากเครื่องประดับอีกรูปแบบ ที่ตลาดยังไม่ตัน. บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : เรื่อง / วรพรรณ เลอสิทธิศักดิ์ : ภาพ คู่มือลงทุน...เครื่องประดับแฮนด์เมด ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาท ขึ้นไป ทุนวัสดุ ประมาณ 50% ของราคาขาย รายได้ ราคา 280-2,000 บาท / ชิ้น แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด แหล่งช็อปปิ้ง, ตามตลาดนัด จุดน่าสนใจ แฮนด์เมดผสมศิลปะคือจุดขาย ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/234415

Sunday, September 15, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เครปข้าวหอม’

คนไทยเราผูกพันกับ “ข้าวหอมมะลิ” มาช้านาน ซึ่งข้าวหอมมะลิไทยมีรสชาติอร่อย เหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม จนได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ต่างชาติก็ยอมรับในความเป็นเลิศนี้ ซึ่งข้าวหอมมะลินี่แปรรูปเป็นขนมก็อร่อย และวันนี้ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการแปรรูปข้าวไทย ทำเป็น “เครปข้าวหอมซอสมะม่วง” มานำเสนอ... ผศ.มาริน สาลี อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เจ้าของสูตรและไอเดีย “เครปข้าวหอมซอสมะม่วง” เล่าให้ฟังว่า ได้มีการประยุกต์โดยนำข้าว 5 อย่าง ประกอบด้วย ข้าวซ้อมมือหอมมะลิ, ข้าวซ้อมมือมะลิแดง, ข้าวซ้อมมือมะลินิล, ข้าวกล้องเหนียว และจมูกข้าว มาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำแผ่นเครป โดยในข้าวสายพันธ์ที่กล่าวมามีโปรตีนสูง มีธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม โพแทสเซียม ซึ่งต้านอนุมูลอิสระได้ดี จากคุณประโยชน์นี้จึงได้นำมาเป็นส่วนผสมในการทำแป้งเครป ส่วนซอสมะม่วงก็ช่วยให้เครปอร่อยหอมหวาน ประกอบกับไทยมีมะม่วงทุกฤดูกาล โดยมะม่วงที่ใช้คือ มะม่วงมหาชนก ซึ่งราคาไม่แพง “พอเราเสริมข้าวหอมเข้าไป ก็ทำให้แป้งเครปมีคุณค่าโภชนาการเพิ่มมากขึ้น โดยจะได้วิตามินบี 12 ป้องกันโรคเหน็บชาและโรคปากนกกระจอก เราผสมในส่วนของแป้งเครป ทำให้แป้งมีลักษณะพิเศษตรงที่มีส่วนผสมของข้าวหอม ขนมจะมีความนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอมมาก และมีความหวานในตัว เครปชนิดนี้รับประทานกับซอสผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวได้ทุกชนิด เช่น มังคุด สตรอเบอรี่ ฯลฯ สามารถปรับได้ตามความชอบ ใครสนใจสามารถนำไปต่อยอดไอเดียเป็นอาชีพก็ได้” อุปกรณ์ที่ใช้ทำ “เครปข้าวหอมซอสมะม่วง” หลัก ๆ ก็มี... กระทะเทฟล่อน (ขนาดกลาง), เตาแก๊ส, ไม้พายขนาดเล็ก, ตะกร้อมือ และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่หยิบยืมเอาจากในครัวได้ วัตถุดิบหรือส่วนผสมหลัก ๆ ที่ใช้ในการทำ “ตัวแป้ง” ตามสูตรก็มี... แป้งเอนกประสงค์ ½ ถ้วยตวง, แป้งข้าวโพด ½ ถ้วยตวง, ข้าวหอมมะลินึ่งสุก 1 ถ้วยตวง, นมข้นจืด 1½ ถ้วยตวง, ไขไก่ 4 ฟอง, ไข่แดง 2 ฟอง, วานิลา 1 ช้อนโต๊ะ, เกลือ 1 ช้อนชา, น้ำตาลทราย ¼ ถ้วยตวง, เนยละลาย 85 กรัม และน้ำเย็น 1½ ถ้วยตวง สำหรับส่วนผสมของ “ซอสมะม่วง” ประกอบด้วย... เนื้อมะม่วงสุก 250 กรัม, น้ำมะม่วง 1 ถ้วยตวง, น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ, นมสดรสจืด ½ ถ้วยตวง, น้ำเชื่อม 3 ช้อนโต๊ะ และเกลือ 1 ช้อนชา ขั้นตอนการทำ “เครปข้าวหอมซอลมะม่วง” เริ่มจากทำแป้งเครป สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือนำข้าว 5 อย่างคือ ข้าวซ้อมมือหอมมะลิ, ข้าวซ้อมมือมะลิแดง, ข้าวซ้อมมือมะลินิล, ข้าวกล้องเหนียว และจมูกข้าว มาผสมรวมกัน แล้วหุง เมื่อข้าวสุกแล้วก็นำมาผึ่งไว้ให้เย็นสนิท จากนั้นนำไปปั่นรวมกับนมสดและน้ำเย็น ปั่นจนละเอียดแล้วเทใส่อ่างผสมพักไว้ นำแป้งเอนกประสงค์ แป้งข้าวโพด น้ำตาลทราย และเกลือ ผสมรวมกัน ใส่ตามลงไปในอ่างผสม คนให้เข้ากัน ใส่ไข่ไก่ ไข่แดง วานิลา นมข้นจืด และเนยละลาย ตามลงไป ใช้ตะกร้อมือคนส่วนผสมให้เข้ากันและเนียนดี จากนั้นก็นำส่วนผสมแป้งไปทำการกรองด้วยกระชอนละเอียด เสร็จแล้วนำส่วนผสมแป้งที่ได้ไปพักไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาประมาณ 1 คืน เพื่อให้แป้งเซ็ตตัว (เมื่อต้องการนำออกมาใช้ก็จะได้ส่วนผสมที่ข้นขึ้น) ต่อไปเป็นวิธีทำซอสมะม่วง นำเนื้อมะม่วงสุกที่เตรียมไว้หั่นใส่ในเครื่องปั่น ตามด้วยน้ำมะม่วง นมสด น้ำเชื่อม เกลือ ปั่นจนส่วนผสมละเอียด เทใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟให้เดือด ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว ชิมรสตามชอบ แล้วนำลงพักไว้ให้เย็น ได้แป้งเครปและซอสมะม่วงเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการทำแผ่นเครป โดยนำแป้งออกมาจากตู้เย็น คนให้เข้ากันอีกรอบ ตั้งกระทะเทฟล่อนบนเตา ใช้ไฟอ่อน ๆ ทาเนยบาง ๆ ให้ทั่ว พอกระทะร้อนตักแป้งที่เตรียมไว้หยอดลงตรงกลางกระทะ กรอกแป้งให้กระจายทั่ว คอยดูแป้งไม่ให้หนาหรือบางเกินไป สังเกตเมื่อเห็นขอบแป้งเครปเริ่มร่อน ใช้ไม้พายแซะแล้วพลิกแป้ง อย่าให้ขาด แล้วทอดต่อไปอีกเล็กน้อย จนแป้งสุกเป็นสีเหลืองอ่อน จึงนำขึ้นมาพักไว้ เมื่อต้องการจะทำเครป ให้พับแผ่นแป้งตามรูปแบบที่ต้องการ ราดด้วยซอสมะม่วง ตักรับประทานพร้อม ๆ กัน ก็จะได้รับความอร่อยหวานนุ่มฉ่ำลิ้น ซึ่งจากส่วนผสมที่ว่ามาข้างต้นสามารถทำแผ่นแป้งเครปได้ประมาณ 80 แผ่น “เครปข้าวหอมซอสมะม่วง” พลิกแพลงจากเครปแผ่นใหญ่มาเป็นเครปขนาดย่อม แป้งเหนียวนุ่มอร่อย ใครสนใจจะนำไปต่อยอดเป็นสูตรสร้าง “ช่องทางทำกิน” ก็เชิญได้ และหากต้องการสอบถามเพิ่มเติมจาก ผศ.มาริน สาลี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็ติดต่อได้ที่ภาควิชาอาหารและโภชนาการ โทร.0-2549-3160-61 หรือ 08-4094-8222 ซึ่งทางอาจารย์ก็ยังมีสูตรอาหารเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจอีกหลายชนิด. เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง / สุนิสา ธนพันธสกุล : ภาพ ---------------------------------------------- คู่มือลงทุน...เครปข้าวหอมซอสมะม่วง ทุนเบื้องต้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำขาย ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 50% ของราคา รายได้ ตั้งราคาขายให้มีกำไร 50% แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด ย่านอาหาร, ย่านชุมชนทั่วไป จุดน่าสนใจ ดีต่อสุขภาพเป็นจุดขายที่ดี ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/232853

Saturday, September 14, 2013

แนะนำอาชีพ ‘กระเป๋าผ้า’

งานประดิษฐ์จากผ้ายังคงมีโอกาส-มีช่องทาง ตลาดยังไม่ตันอย่างที่หลายคนคิด ยิ่งพัฒนาชิ้นงานให้มีลูกเล่น สร้างจุดเด่นด้วยการออกแบบ และวัสดุ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำเงินจากชิ้นงานกลุ่มนี้ อย่างเช่นงาน “กระเป๋าผ้า” ของ “ทิฆัมพร พรายแก้ว-อิศรา ปิ่นถาวรรักษ์” สองหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอ... ทิฆัมพร เล่าว่า เธอกับอิศรามีอาชีพเป็นสถาปนิก ซึ่งเป็นงานประจำที่ทำอยู่ แต่ด้วยความที่ชอบการออกแบบและคิดอยากที่จะทำธุรกิจหรือผลิตสินค้าที่เป็นงานจากไอเดีย จึงมองไปที่งานผ้าประดิษฐ์รูปแบบกระเป๋า ด้วยมองว่าเป็นสินค้าที่ทำตลาดได้ และมีต้นทุนไม่สูงนัก ประกอบกับมีความสนใจในวัสดุชนิดนี้อยู่เป็นทุนเดิม จึงตัดสินใจทำงานกระเป๋าผ้านี้ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Cottonplay ด้วยเหตุที่มีวัสดุหลักคือ ผ้าคอตตอน เป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในการทำ เธอบอกว่า ไม่มีหน้าร้าน แต่อาศัยการขายตามตลาดนัดงานฝีมือทั่วไป และจำหน่ายออนไลน์เป็นหลัก โดยมีทั้งเว็บไซต์ และเปิดขายในเฟซบุ๊กคือ www.cottonplaythai.com และ www.facebook.com/Cottonplaythai โดยขายผ่านทางช่องทางนี้มาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว ซึ่งการตอบรับก็ค่อนข้างดีมาก ปัจจุบันกระเป๋าผ้าที่ผลิตขึ้นมีหลากหลาย โดยจะคิดแบบใหม่ออกมาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อ แต่ละแบบก็จะผลิตจำนวนไม่มาก และมักจะทำเป็นคอลเลก ชั่น เพื่อไม่ให้ชิ้นงานซ้ำกันจนเกินไป โดยรูปแบบหลัก ๆ ที่ทำก็มีตั้งแต่ กระเป๋าพับ, กระเป๋าสำหรับใส่ของ, กระเป๋าถือ, กระเป๋าหิ้ว, ซองผ้าใส่แท็บเล็ต เป็นต้น “เหตุที่เลือกผ้าชนิดนี้เพราะมีเสน่ห์ ลวดลายเยอะ แต่ละประเทศจะมีเนื้อผ้าแตกต่างกัน ทำให้ใส่ลูกเล่น หรือสร้างความแตกต่างด้วยตัววัสดุได้ง่าย” ทิฆัมพรกล่าว ขณะที่ อิศรา บอกว่า นอกจากผ้าคอตตอนก็ยังมีผ้าชนิดอื่น เช่น ผ้าแคนวาส และวัสดุ เช่น หนังเทียม หนังพียู เข้ามาประกอบชิ้นงานด้วย เพื่อเพิ่มลูกเล่น ลูกค้าปัจจุบันมีทั้งคนทำงาน วัยรุ่น นักศึกษา จนถึงต่างชาติ สำหรับการขายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเปิดร้านออนไลน์แบบนี้ เขาบอกว่า เหมาะสำหรับคนที่คิดจะทำงานฝีมือเป็นอาชีพเสริม สามารถเปิดร้านหรือสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องราคา เพราะการค้นหาสินค้าจนมาเจอร้านนั้น แสดงว่าลูกค้ามีความสนใจ และมีความต้องการสินค้ามาแล้วระดับหนึ่ง แต่ก็มีข้อที่ต้องระวังคือ จะต้องมีการติดตาม สร้างกิจกรรมเคลื่อนไหวบนหน้าร้านตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ลูกค้าลืม และช่วยทำให้ร้านออนไลน์มีความน่าสนใจมากขึ้น นี่เป็นเคล็ดลับอีกส่วนที่เขาแนะนำ ทุนเบื้องต้น ลงทุนประมาณ 30,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ คือ จักรเย็บผ้า และผ้าที่ต้องสต๊อกไว้ ส่วนทุนวัสดุประมาณ 50% จากราคาขาย ซึ่งสินค้าจะขายที่ราคา 120-400 บาท ขึ้นกับผ้าที่ใช้ทำกระเป๋า วัสดุ-อุปกรณ์ หลัก ๆ อาทิ จักรเย็บผ้า, เข็มกับด้าย, กรรไกร, เข็มหมุด, กระดาษแข็ง (ใช้ทำแพทเทิร์น), ผ้าคอตตอน, ผ้าแคนวาส, หนังพียูหรือหนังเทียม, หนังแท้, สายหิ้ว (หูกระเป๋า) และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ เช่น ซิป, กระดุม, ริบบิ้น, แม่เหล็กติดกระเป๋า เป็นต้น ซึ่งวัสดุเหล่านี้ซื้อได้ตามแหล่งงานผ้าทั่วไป เช่น สำเพ็ง, พาหุรัด, วงเวียนใหญ่ ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบกระเป๋า และเลือกวัสดุ เช่น เนื้อผ้า ลวดลาย สีสันก่อน จากนั้นเมื่อได้แบบที่ต้องการก็ให้ทำการลอกลายหรือทำแพทเทิร์นโดยวาดลงบนกระดาษแข็ง โดยแบบกระเป๋านั้น สามารถหาข้อมูลได้ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีให้เลือกมากมาย เมื่อลอกลายลงกระดาษแข็งแล้ว ก็ทำการพับผ้าสองชิ้น นำแบบกระเป๋าที่วาดไว้มาทาบ ใช้กรรไกรตัดตามแบบ จากนั้นทำการเย็บขึ้นทรงกระเป๋า โดยเย็บจากด้านใน และเหลือช่องไว้ประมาณ 1 นิ้ว สำหรับกลับด้านกระเป๋า ทำการตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่ง เย็บประกอบสายกระเป๋าหรือหูหิ้ว ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนหลัก ๆ ในการทำ “กระเป๋าผ้า” “ขั้นตอนหลักเหมือนกับงานผ้าทั่วไป ที่แตกต่างคงเป็นการออกแบบมากกว่า จากที่ทำมา พูดได้เลยว่าตลาดตรงนี้ยังไม่ตัน เพราะต่อยอดแตกแขนงออกไปได้เรื่อย ๆ ในส่วนของวัสดุ ควรที่จะศึกษาเรื่องแหล่งวัสดุ เพราะจะทำให้ได้วัสดุที่ถูกต้อง เพราะแต่ละแห่ง ผ้าก็จะแตกต่างกัน” ทิฆัมพรกล่าว สนใจงาน ’กระเป๋าผ้า“ ของทิฆัมพรและอิศรา ต้องการติดต่อเจ้าของงานกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-7719-2112, 08-2188-0598 ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นอีกธุรกิจเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดมองหาอาชีพเสริม เป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้. ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง/ วรพรรณ เลอสิทธิศักดิ์ : ภาพ ............................................................................................................... คู่มือลงทุน...งานกระเป๋าผ้า ทุนเบื้องต้น ประมาณ 30,000 บาท ทุนวัสดุ ประมาณ 50% จากราคา รายได้ ราคาใบละ 120-400 บาท แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป ตลาด ย่านชอปปิง, ขายออนไลน์ จุดน่าสนใจ ทำขายเป็นอาชีพเสริมก็ได้ ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/232791

Sunday, September 8, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ลูกชุบหลากไส้’

“ลูกชุบ” เป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง วัตถุดิบคือถั่วเขียวบดกวนปั้นเป็นรูปต่าง ๆ ระบายสี แล้วชุบวุ้นให้สวยงาม อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการค้าขายนั้น ปัจจุบันนอกจากทำจากถั่วเขียวบดกวนแล้ว ก็ยังมีการทำลูกชุบจากวัตถุดิบอื่น ๆ อย่างลูกชุบทุเรียน, ลูกชุบเผือก, ลูกชุบแปะก๊วย, ลูกชุบเกาลัด ซึ่ง “ลูกชุบหลากไส้” ก็เป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ที่ดี… *********************** ชลาลัย พึ่งเขื่อนขันธ์ เจ้าของร้าน “ลูกชุบเพชรทองคำ” ในตลาดน้ำคลองลัดมะยม บอกว่า ทำลูกชุบขายมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่เมื่อราว 4-5 เดือนที่ผ่านมาเห็นว่า ยอดขายลูกชุบถั่วอย่างเดียวเริ่มอืด จึงได้คิดที่จะทำลูกชุบแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นสีสัน กระตุ้นยอดขาย และเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการกินลูกชุบถั่วอย่างเดียว “จึงพยายามหาไส้ลูกชุบใหม่ ๆ และทดลองทำดู เริ่มจากทุเรียนก่อน เพราะวัตถุดิบหาง่าย แล้วค่อย ๆ ขยับเพิ่มไส้ต่าง ๆ ขึ้นมาอีก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าแค่ทดลองทำครั้งแรกก็ใช้ได้เลย มาขายปุ๊บ ก็หมดปั๊บ มีลูกค้ารอซื้อตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด” อุปกรณ์ที่ใช้ทำลูกชุบ หลัก ๆ ก็มี เครื่องปั่น, กระทะทองเหลือง รวมถึงภาชนะเครื่องครัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ การทำลูกชุบด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ นั้น ชลาลัยบอกว่า เอาสูตร ลูกชุบถั่ว เป็นหลัก หากเป็นลูกชุบอื่น ๆ ก็ใช้ส่วนผสมไส้นั้น ๆ แทน ส่วนวิธีทำนั้นทำคล้าย ๆ กัน โดย ลูกชุบทุเรียน ใช้ทุเรียนกวนผสมกับถั่ว, ลูกชุบเผือก ใช้เผือกสด ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนึ่งให้สุก, ลูกชุบเกาลัด ใช้เกาลัดดิบ ต้มให้สุก แล้วเอาเนื้อเกาลัดไปนึ่งอีกที, ลูกชุบแปะก๊วย นำเม็ดแปะก๊วยมาต้มให้สุก เมื่อต้มสุกแล้วก็กะเทาะเปลือก เอาเกสรข้างในแยกออกมา ลูกชุบถั่ว มีส่วนผสมของถั่วเขียวซีกนึ่งสุก 150 กรัม, น้ำตาลทราย ประมาณ 130-140 กรัม และกะทิอีกประมาณ 250 มิลลิลิตร ซึ่งหากจะทำเป็นลูกชุบอื่น ๆ ก็ยึดตามสูตร และวิธีทำเดียวกันนี้ วิธีทำ นำถั่วเขียวซีกที่เลาะเปลือก และล้างน้ำทำความสะอาดแล้ว ไปแช่น้ำไว้ 1 คืน จากนั้นนำถั่วไปนึ่งจนสุก และนิ่ม นำถั่วที่นึ่งสุกแล้วใส่ลงในเครื่องปั่น เทกะทิและน้ำตาลทรายลงไป ปั่นรวมกันจนละเอียด เสร็จแล้วนำไปกวนในกระทะทองเหลืองด้วยไฟอ่อน ๆ จนส่วนผสมแห้งจนปั้นได้ นำส่วนผสมที่แห้งจนปั้นได้มาปั้นให้เป็นรูปทรงผลไม้ต่าง ๆ อาทิ มังคุด พริก กล้วย มะม่วง ชมพู่ มะละกอ ฯลฯ เสร็จแล้วทาสีผสมอาหารให้เหมือนธรรมชาติของผัก ผลไม้นั้น ๆ ทาเสร็จแล้วพักทิ้งไว้ให้สีแห้ง ก่อนจะนำไปชุบวุ้น การชุบวุ้น ก็ตั้งหม้อ ใช้ไฟอ่อน ผสมผงวุ้นกับน้ำเปล่า คนให้ผงวุ้นละลายเข้ากัน เมื่อผงวุ้นกับน้ำละลายเข้ากันดีแล้ว ปิดไฟ นำลูกชุบที่ระบายสีเสร็จแล้วลงชุบในน้ำวุ้น นำขึ้น รอให้ผิววุ้นตึง แล้วลงชุบต่ออีก 2 ครั้ง เพื่อให้เงาสวยงาม และขั้นตอนสุดท้ายคือ ตกแต่งขนมลูกชุบด้วยใบแก้วใบเล็ก ๆ ปักลงบนขนม แล้วเรียงใส่ภาชนะรอขาย ซึ่งชลาลัยใช้โตก ภาชนะสำหรับวางสำรับอาหารที่มีรูปทรงกลม เป็นภาชนะใส่ลูกชุบขาย โดยจัดวางให้สวยงาม ลูกชุบที่ปั้นเป็นผักและผลไม้ของร้านนี้ ปัจจุบันมีราว 30-40 ชนิด ใช้สีผสมอาหารประมาณ 7 สี อาทิ สีเหลือง, สีเขียว, สีแดง, สีชมพู, สีแสด ส่วนการขาย-ราคาขายนั้น ชลาลัยบอกว่า จะบรรจุลูกชุบไส้ต่าง ๆ คละอย่างละเท่า ๆ กัน ใส่กล่องพลาสติกใส ขนาดกลม บรรจุกล่องละ 10 ชิ้น ขายกล่องละ 20 บาท ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 70% จากราคาขาย *************************** ใครสนใจ “ลูกชุบหลากไส้” ของ ชลาลัย พึ่งเขื่อนขันธ์ ร้าน “ลูกชุบเพชรทองคำ” อยู่ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม (โซน 4) ขายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ โทร.08-4319-6693 ซึ่งการทำลูกชุบขายนั้น ปัจจุบันก็ยังสามารถที่จะเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่ดีได้ ด้วยทำเล ฝีมือ และไอเดียที่ดี. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/231450

Saturday, September 7, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ปลาคาร์ปดินปั้น’

งานปั้นดินให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ รูปแบบชิ้นงานมีอยู่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ละเจ้าของงาน ว่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ สร้างผลงานออกมาในรูปแบบใด ซึ่งถ้ามีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ผลงานก็จะน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้าได้มาก อย่างงาน ’ปลาคาร์ปจากดินเกาหลี“ ที่ทางทีม ’ช่องทางทำกิน“ นำมาเสนอเป็นกรณีศึกษาในวันนี้... ****** เฮง-ธีรชาติ ลี้ไวโรจน์ เจ้าของร้าน “Art Mania” ปั้นปลาคาร์ปจากดินเกาหลีจำหน่าย เจ้าตัวบอกว่า ธุรกิจที่ทำทุกธุรกิจ เป็นงานที่ชอบ และเมื่อชอบแล้วทำมัน ก็จะทำให้ธุรกิจที่ทำประสบความสำเร็จได้ โดยธุรกิจแรกที่ทำก็เป็นการเปิดบริษัทรับออกแบบเสื้อผ้าและของตก แต่งบ้าน และด้วยความที่เป็นคนชอบเสื้อเชิ้ต จึงมีความคิดที่จะสร้างแบรนด์เสื้อเชิ้ตออกจำหน่าย ก็เริ่มศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ออกแบบเสื้อ หาโรงงานตัดเย็บ เมื่อทุกอย่างลงตัวก็ทำเสื้อเชิ้ตขายเอง โดยสร้างแบรนด์ “TF-7” เป็นแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งทำเสื้อเชิ้ตอยู่ประมาณ 6 ปี ธุรกิจก็เริ่มจะอยู่ตัว มีลูกค้าสั่งซื้อไปจำหน่ายมาก “ถือว่าธุรกิจเสื้อเชิ้ตที่ทำอยู่นั้นอยู่ตัวแล้ว ก็เลยเริ่มมองหาธุรกิจตัวใหม่ทำเพิ่มขึ้นมา ก็มาลงตัวกับงานปั้นปลาคาร์ปจากดินเกาหลี เพราะเป็นงานที่ทำขึ้นมาเพราะเริ่มจากความชอบ เป็นคนที่ชอบปลาคาร์ปอยู่แล้ว ชอบเรื่องฮวงจุ้ยและปลาคาร์ปก็ถือว่าเป็นปลามงคล หลายคนมักเลี้ยงไว้ในบ้าน เรานั้นก็คิดจะเลี้ยง แต่ไม่มีเวลาดูแล ก็มานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้มีปลาคาร์ปอยู่ในบ้านไว้เสริมความเป็นมงคล แต่ไม่ต้องเลี้ยง เพราะไม่มีเวลา งานปั้นปลาคาร์ปจึงเกิดขึ้นมา” หลังจากจากที่คิดจะปั้นปลาคาร์ป ก็เริ่มศึกษาเรื่องปลาคาร์ปจากอินเทอร์เน็ต ดูเรื่องสายพันธุ์ว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้างที่คนนิยม และแต่ละสายพันธุ์นั้นมีสีอะไรบ้าง จากนั้นก็เริ่มทดลองลงมือปั้นดู ซึ่งก็ใช้เวลาในการลองผิดลองถูกอยู่เป็นเดือนกว่าที่จะได้สัดส่วนรูปแบบที่ลงตัว จากนั้นก็เริ่มปั้นแล้วนำไปให้เพื่อน ๆ ดู พวกเพื่อน ๆ ก็บอกว่าสวยใช้ได้ จึงเริ่มต้นทำเป็นธุรกิจ ปั้นออกจำหน่าย ซึ่งก็ได้ผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย และกลุ่มคนที่เลี้ยงปลาคาร์ป “งานปั้นปลาคาร์ปของเรานั้นจะเน้นให้ปลาออกมาเป็นแนวการ์ตูนดูแล้วน่ารัก และปลาทุกตัวเป็นงานแฮนด์เมดปั้นมือทีละตัว เพราะฉะนั้นปลาทุกตัวจะมีความคลายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันทุกตัว” วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั้นปลาคาร์ป หลัก ๆ ก็มีอาทิ...ดินเกาหลี, โหลแก้ว, กรอบอะคริลิก, ฐานไม้สักรูปทรงกลมแบน, สีอะคริลิก, พู่กัน เป็นต้น “ที่ใช้ดินเกาหลีเพราะว่าเนื้อดินนั้นมีความละเอียดดี และมีความยืดหยุ่นดี ปั้นเข้ารูปได้ดี อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบากว่าดินประเภทอื่น ๆ ด้วย ซึ่งดินเกาหลีนั้นก็มีหลากหลายสีให้เลือกนำมาปั้น ส่วนโหลแก้วและ กรอบอะคริลิกนั้นไว้สำหรับตกแต่งใส่ปลาคาร์ปที่ปั้นเข้าไปให้ดูเหมือนว่าปลาว่ายอยู่ในโหลแก้วหรือในกรอบ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับปลาคาร์ปที่ปั้นอีกด้วย” ขั้นตอนการทำ เริ่มจาก... นำดินเกาหลีตามสีที่ต้องการจะปั้นเป็นปลาคาร์ปออกมาให้ได้ขนาดตามไซซ์ที่ต้องการจะปั้น (โดยมีไซซ์ตั้งแต่ 3-51/2 นิ้ว) อย่างเช่นถ้าต้องการจะปั้นปลาคาร์ปขนาด 3 นิ้ว ก็หยิบดินเกาหลีออกมาก้อนหนึ่งให้ได้ขนาดความยาวประมาณ 3 นิ้วจากหัวถึงหางปลา ส่วนขนาดของลำตัวปลาแล้วแต่ความต้องการ เมื่อได้ดินมาแล้วก็ทำการนวดดินให้ดินนั้นเซตตัว นวดได้ที่แล้วก็เริ่มทำการปั้นให้ได้ทรงปลาที่ต้องการ จากนั้นก็ทำการตกแต่งเติมครีบ ใส่หาง ติดตา ปาก ใส่หนวด ติดลวดลายสีสันของปลาตามสายพันธุ์ปลาคาร์ปที่ต้องการจะทำ จัดตกแต่งให้ดูสวยงาม แล้วปล่อยทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นพอปลาที่ปั้นไว้แห้งสนิทก็นำมาจัดใส่โหลแก้วหรือกรอบอะคริลิก โดยถ้าใส่โหลแก้วก็นำฐานไม้สักมาลงสีลงลวด ลายให้ดูสวยงามมากขึ้น นำปลาคาร์ปที่ปั้นไว้วางลงบนฐานไม้ แล้งจึงนำไปใส่ในโหลแก้ว หรือจะนำปลาคาร์ปที่ปั้นไปตกแต่งทำเป็นกรอบรูปขนาดใหญ่ติดฝาผนังก็ได้ ราคาขาย “ปลาคาร์ปจากดินเกาหลี” ที่ตกแต่งใส่โหลแก้ว ใส่กรอบอะคริลิก หรือทำเป็นกรอบรูปขนาดใหญ่ติดผนัง มีตั้งแต่ 1,500-35,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด และจำนวนปลาคาร์ป นอกจากนี้ก็ยังมีงานที่ปั้นเป็นรูปช้างอีกด้วย... ****** ใครสนใจ ’ปลาคาร์ปจากดินเกาหลี“ ร้าน Art Mania กรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ เปิดอยู่ที่สวนจตุจักร ตรง JJ พลาซ่า โซน C ซอย 6 ห้องที่ 10 เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ และสามารถเข้าไปดูผลงานตัวอย่างได้ที่ www.artsmania.net หรือติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-9201-7576, 08-1357-3585. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/231181

Sunday, September 1, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ซูชิข้าวไรซ์เบอรี่’

“ซูชิ” หรือ “ข้าวปั้น” หนึ่งในเมนูอาหารญี่ปุ่นที่คนไทยนิยม ปัจจุบันเป็นอีก “ช่องทางทำกิน” ของคนไทย ตั้งแต่ระดับร้านอาหารใหญ่ จนถึงร้านซูชิแผงลอยตามตลาดนัด และวันนี้ทีมช่องทางทำกินก็มีข้อมูลการทำการขายซูชิมานำเสนออีกครั้ง โดยเป็นรูปแบบที่สร้างสรรค์เพื่อเอาใจคนรักสุขภาพ กับ “ซูชิข้าวกล้องไรซ์เบอรี่” … ********************** ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่เป็นข้าวที่ถูกพัฒนาพันธ์ุขึ้นโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลักษณะเด่นคือมีสีม่วงเกือบดำ เมล็ดเรียวยาว เมื่อหุงสุกจะได้ข้าวที่นุ่ม มีกลิ่นหอม มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีสารที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ขัดขวางการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ของคอเลสเตอรอลชนิดเหลว จึงช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน รวมถึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพผิวและเส้นผม ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่จึงถูกใจผู้ที่รักสุขภาพ “ศุภชัย ไชยกาล” หรือ “ไชย” หนุ่มเมืองอุบลราชธานี เล่าให้ฟังว่า เดิมเคยทำงานในร้านอาหารชั้นนำและร้านอาหารญี่ปุ่นนานนับสิบปี ไต่เต้าจนกระทั่งได้เป็นเชฟ รวมถึงเคยไปทำงานเป็นเชฟร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ จึงมีประสบการณ์ในการทำอาหารญี่ปุ่นสูง สามารถปรุงประกอบได้ทุกเมนู ทั้งต้นตำรับและฟิวชั่น แต่ต่อมารู้สึกอิ่มตัวกับการเป็นลูกจ้าง จึงเดินทางกลับบ้านเกิด แต่งงานกับ เดือน-เบญจวรรณ และเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นของตัวเอง “ช่วงแรก ๆ กระแสตอบรับดีมาก แต่ก็เกิดจุดพลิกผัน มีร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์ต่าง ๆ ทยอยเข้ามาเปิดในเมืองอุบลฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ และดึงลูกค้าไปจากร้าน จนยอดตก ผมจึงไปปรึกษากับพาณิชย์จังหวัด ท่านให้ข้อคิดว่าทำไมถึงไม่ดัดแปลงทำซูชิแบบไทย ๆ ขาย ผมจึงคิดหาเมนูแปลกใหม่ เพื่อจะสร้างจุดขายให้แตกต่างจากร้านอื่น ๆ ทดลองทำอยู่นานก็มาลงตัวที่การใช้ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ที่ปลูกในอุบลฯ เมื่อเอาไปให้พาณิชย์จังหวัดชิม ทุกคนพากันชมว่าไอเดียดี ใช้ภูมิปัญญาข้าวไทย จากนั้นก็พาผมไปออกบูธที่ประเทศลาวและกัมพูชาด้วย คนที่ได้ชิมซูชิข้าวกล้องไรซ์เบอรี่จะบอกว่าเหมือนกับข้าวญี่ปุ่น หรืออร่อยกว่า เพราะมีความเหนียว นุ่ม แล้วยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว” ไชยบอกต่อไปว่า ซูชิที่ทำขายนี้ กลุ่มสุภาพสตรีจะนิยมมากเป็นพิเศษ โดยหน้าซูชินั้นมีให้เลือกกว่า 30 หน้า ทั้งแบบต้นตำรับและประยุกต์ เช่น กุ้ง, ปูอัด, ไข่ม้วน, ยำสาหร่าย, ไข่กุ้งส้ม, ไข่กุ้งเขียว, ไข่กุ้งแดง, ไข่กุ้งดำ, ปลาหมึกสไลด์, ทาโกะจังปรุงรส, ครีมหอยเชลล์, ปลาแซลมอน, ปลาไหล, สลัด ฯลฯ ซึ่งจะขายชิ้นละ 10 บาทเท่ากันเกือบทั้งหมด อาชีพนี้ ที่ต้องลงทุนเป็นหลักคือเรื่องวัตถุดิบ ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือมีน้อยมาก อาทิ เสื่อไม้ไผ่สำหรับม้วนข้าว, หม้อหุงข้าวไฟฟ้า, กระทะทำไข่ม้วน, อ่างไม้หรือสเตนเลส, มีดหั่นซูชิ, เขียง, กะละมัง, ตะหลิวปลายตัด, พายพลาสติก เป็นต้น โดยการทำซูชิจะเน้นใช้มือ ซึ่งหากมีฝีมือดี-รสชาติถึงขั้น ประกอบกับมีทำเลเหมาะในการขาย จะคืนทุนเร็วมาก วัตถุดิบในการห่อและทำหน้าข้าว หลัก ๆ จะมีอาทิ... แผ่นสาหร่าย, ผงวาซาบิ, แตงกวา, มายองเนส, งาขาวคั่ว และสำหรับซูชิบางแบบที่ราคาพิเศษ จะมีการใส่อะโวคาโดด้วย หน้าสลัด จะมี 3 หน้าคือ สลัดทูน่า สลัดกุ้ง สลัดปูอัด ส่วนผสมก็จะมีแตงกวา แครอท ผสมกับน้ำสลัด กับทูน่า กุ้งต้ม และปูอัด, หน้าไข่หวาน จะใช้ไข่ไก่ ผสมกับสาเก และน้ำตาลทราย ตั้งกระทะแบบสี่เหลี่ยมบนเตา ใส่น้ำมันและเนยลงไปเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติความหอมให้กับไข่หวาน การทอดต้องใช้ไฟระดับอ่อนสุดเพื่อให้ไข่สุกทั่ว ส่วนผสมที่เป็นหน้าต่าง ๆ ของซูชินั้น หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าที่มีการขายเครื่องปรุงอาหาร เทคนิคการหุงข้าวทำซูชิ จะใช้ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิ ในอัตราส่วน 2-1-5 โดยนำข้าว 3 ชนิดมาผสมกัน ซาวล้างให้สะอาด ก่อนจะนำไปหุงในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ใส่น้ำในปริมาณปกติเหมือนหุงข้าวทั่วไป ระหว่างรอข้าวสุกก็หันมาทำน้ำปรุงรสซูชิ ก็จะมีน้ำส้มสายชูหมัก น้ำตาลทราย เหล้าสาเก และเกลือนิดหน่อย นำส่วนผสมทั้งหมดใส่หม้อ ตั้งไฟให้เดือด ยกลงตั้งพักไว้ให้เย็น เมื่อข้าวที่หุงสุกแล้ว ก็ตักใส่อ่างไม้ ปล่อยทิ้งไว้ 15 นาทีให้ระอุ แล้วจึงพรมด้วยน้ำปรุงรสซูชิที่เตรียมไว้ให้ทั่ว เคล้าเบา ๆ ให้เข้ากัน ทิ้งไว้ให้เย็น ก่อนจะนำมาใช้ปั้นทำซูชิ การห่อหรือปั้นซูชิสามารถทำได้หลายแบบ ถ้าเป็นแบบกลม ๆ และแบบรี ๆ จะใช้สาหร่ายพันข้าว โดยการตักข้าวกะปริมาณพอดี ๆ ทำการม้วนให้ได้ขนาดที่ต้องการ กดให้แน่น เสร็จแล้วตัดให้ได้พอดีคำ หน้าซูชิที่ใช้ข้าวปั้นแบบกลม ๆ คือหน้าปลาไหล ไข่กุ้งส้ม ปลาหมึก สลัดต่าง ๆ และหน้าสาหร่ายที่โรยงาคั่วด้านบน ส่วนการทำอุระมากิซูชิ ซึ่งเป็นการห่อด้วยการนำสาหร่ายไว้ด้านใน เอาข้าวไว้ด้านนอก เมื่อหั่นออกมาแล้วนำไปคลุกงานั้น งาที่ใช้ต้องคั่วใหม่วันต่อวัน ซูชิที่พันออกมาเป็นแบบรี ๆ คือหน้าปลาหมึก ปลาแซลมอน ซาบะดอง ส่วนซูชิมากิจะบิดออกมาให้เป็นแบบสามเหลี่ยม ต้องจัดเรียงซูชิให้เป็นรูปดอกไม้ โดยจะต้องวางไส้ด้านใน จะมีแตงกวา แครอท และใส่มายองเนสเพิ่มรสชาติ ส่วนหน้าไข่หวาน ปูอัด กุ้งต้ม ต้องปั้นข้าวเป็นชิ้น ๆ ลักษณะออกรี ๆ วางหน้าต่าง ๆ ด้านบน แล้วพันด้วยสาหร่ายด้านบน ************************ “ซูชิข้าวกล้องไรซ์เบอรี่” เจ้านี้ การขายในปัจจุบันเน้นออกขายตามงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ในฐานะสินค้าโอทอป 4 ดาวของ จ.อุบลราชธานี รวมถึงมี “ช่องทางทำกิน” ในรูปแบบรับทำตามออร์เดอร์ รับออกงานและจัดเลี้ยงต่าง ๆ ซึ่งลูกค้าขาประจำจะคุ้นเคยกันดีในชื่อ “ซูชิข้าวกล้องอุบลฯ” ใครสนใจ ต้องการติดต่อ ไชย-ศุภชัย ติดต่อได้ที่ โทร. 08-5631-9789. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/229914

Friday, August 30, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เพนท์แก้ว’

งานฝีมือที่ใช้ทักษะศิลปะยังต่อยอด-พลิกแพลงได้ตลอด จุดสำคัญคือค้นหาเอกลักษณ์ สร้างจุดเด่น เล่นกับจุดขาย เพื่อให้ชิ้นงานโดดเด่นโดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด ยิ่งปัจจุบันมีช่องทางที่สามารถทำการขายได้หลากหลายรูปแบบ โอกาสจะทำเงินสร้างอาชีพก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้น อย่างเช่นงาน ’เพนท์แก้ว“ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้... ****** “ตรีเนตร วิจิตรศักดิ์” เจ้าของงานเพนท์แก้ว ที่ใช้ชื่อว่า Cup and Mug Design เล่าว่า เดิมทีมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท ทำงานประจำ เป็นมนุษย์เงินเดือน ต่อมารู้สึกเบื่อ และคิดอยากจะหาอาชีพส่วนตัวที่เป็นธุรกิจของตัวเองทำ จึงลาออกจากงานประจำ ออกมาเปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้า แต่ด้วยความที่เป็นอาชีพที่ใช้เงินทุนสูง ประกอบกับในตลาดมีการแข่งขันกันมาก จึงมองหางานอาชีพที่ลงทุนน้อยกว่า และไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านเพื่อจำหน่ายชิ้นงาน จนมาเจอกับงานเพนท์แก้วนี้... เขาเล่าอีกว่า สำหรับงานเพนท์แก้ว เท่าที่ศึกษาในตลาดส่วนใหญ่จะมีรูปแบบซ้ำ ๆ เช่น ไม่เป็นลายดอกไม้ ก็จะเป็นลายกราฟิกเรียบ ๆ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ จึงมองว่าหากใส่ลายเส้นที่ดูสนุก ๆ ให้อารมณ์กวน ๆ ก็น่าจะมีช่องว่างในตลาดที่ชิ้นงานจะแทรกเข้าไปได้ จึงเริ่มทดลองผลิตชิ้นงานเพื่อจำหน่าย โดยอาศัยช่องทางผ่าน โซเชียล เน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก ในชื่อ www.facebook.com/CupandMug.Design นอกจากนั้นยังใช้อินสตาแกรมชื่อ cupandmugdesign นำเสนอชิ้นงานให้ลูกค้าได้เลือกอีกด้วย โดยทำมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว ซึ่งผลตอบรับถือว่าดี “ข้อดีของช่องทางนี้คือเราและลูกค้าสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งทุนที่ใช้ในเรื่องของการตกแต่งแบบการเปิดร้าน แบบการมีหน้าร้าน ก็ตัดไป แต่จุดสำคัญคือต้องทำให้ลูกค้าเชื่อถือ ไว้ใจ ดังนั้น รูปสินค้าที่เราโพสต์ลงไปจะเน้นรูปจากชิ้นงานจริง จะไม่มีการตกแต่งดัดแปลง” ตรีเนตรกล่าว... งานเพนท์แก้วที่ทำนั้น เขาบอกว่า ชิ้นงานที่ทำขึ้นจะเน้นลายเส้นที่ดูเป็นวัยรุ่น เน้นลายกราฟิก และลายการ์ตูนกวน ๆ โดยภาชนะที่นำมาเพนท์ลายนั้น นอกจากแก้วน้ำรูปทรงต่าง ๆ แล้ว ก็ยังเพนท์งานลงบนภาชนะอื่น ๆ อาทิ จาน, ถ้วย, ชาม, เหยือก และนอกจากจะเพนท์ชิ้นงานสำเร็จรูปเพื่อจำหน่าย ก็ยังมีบริการรับสั่งทำชิ้นงานตามออร์เดอร์ แต่จะเน้นที่ลวดลายกราฟิก ลายการ์ตูน จะไม่เน้นงานเพนท์ภาพเหมือน ชิ้นงานแต่ละชิ้นจะใช้เวลาทำประมาณ 1 ชั่วโมงต่อ 1 ชิ้นงาน หลายคนมองแล้วอาจจะดูง่าย แต่การเพนท์แก้วจะแตกต่างจากการวาดภาพหรือระบายสีบนกระดาษหรือผ้าใบ เพราะแก้วที่นำมาเพนท์จะมีคุณสมบัติโค้งมน ผิวเรียบเป็นมัน เงา และลื่น ดังนั้น การเพนท์แก้วแต่ละใบจำเป็นต้องอาศัยความใจเย็น อดทน และใช้ความประณีตมาก อีกทั้งหากขณะเพนท์งาน จับถือไม่ดี อาจเกิดการตกหล่นหรือกระแทกจนทำให้ชิ้นงานเสียหาย ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 3,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 40% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 150-260 บาท ขึ้นกับลายและขนาดภาชนะ และสำหรับวัสดุอุปกรณ์ก็ประกอบด้วย แก้ว หรือภาชนะรูปทรงต่าง ๆ (จาน, ชาม, ถ้วย, เหยือก), ปากกามาร์คเกอร์อะคริลิกสีต่าง ๆ ใช้ลงเส้นหรือเพนท์, กรรไกร, คัตเตอร์, ฟ็อกกี้ฉีดน้ำ สำหรับฉีดทำความสะอาดภาชนะ, ถุงมือยาง ใช้ใส่ขณะเพนท์ เพื่อป้องกันรอยนิ้วมือหรือคราบสกปรกติดเปื้อนลงบนสี และผ้าสะอาดสำหรับเช็ด ซึ่งหลัก ๆ มีอยู่เท่านี้ โดยอุปกรณ์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายเครื่องเขียนทั่วไป... ขั้นตอนการทำมีไม่มาก เริ่มจากเลือกภาชนะที่จะนำมาเพนท์ลาย โดยเลือกจากขนาด รูปทรง หรือพื้นผิวของภาชนะที่ใช้ จากนั้นนำภาชนะที่เลือกมาทำความสะอาดด้วยการฉีดน้ำ ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดให้ทั่ว ผึ่งไว้ให้แห้งสักพัก จึงนำภาชนะนั้นมาลงมือทำการเพนท์ลวดลาย สำหรับการเพนท์นี้ หากยังไม่ชำนาญในการลงเส้น อาจใช้การร่างภาพด้วยดินสอก่อน หรือหากต้องการทำลายเดิมซ้ำกันหลาย ๆ ใบ อาจใช้วิธีตัดกระดาษทำเป็นแม่แบบก็ได้ เมื่อเพนท์ลายลงบนแก้วหรือภาชนะครบตามต้องการแล้ว นำแก้วหรือภาชนะที่เพนท์มาผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นทำการห่อด้วยกระดาษเพื่อป้องกันฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกติดแก้ว บรรจุใส่กล่องหรือภาชนะที่ใช้เก็บสินค้า เป็นอันเสร็จขั้นตอน “ขั้นตอนมีไม่มาก แต่ต้องใช้ทักษะในการวาดการเพนท์ลายพอสมควร ปากกามาร์คเกอร์อะคริลิกที่เลือก แนะนำว่าควรศึกษาให้ดี เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะให้คุณสมบัติของสีหรือลายเส้นแตกต่างกัน ตรงนี้ยืนยันว่ามีผลมากกับการสร้างสรรค์ชิ้นงาน” ตรีเนตร เจ้าของงานเพนท์แก้ว กล่าวแนะนำ... ****** ใครสนใจติดต่อตรีเนตร ติดต่อได้ที่ โทร. 08-7558-1655 และเข้าไปดูรูปแบบสินค้าได้ตามช่องทางออนไลน์ที่ระบุไว้ข้างต้น ซึ่งงาน ’เพนท์แก้ว“ รูปแบบนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งงานฝีมือที่นำทักษะเชิงศิลป์มาประยุกต์ใช้ จนกลายเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/229701

Saturday, August 24, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ไส้อั่วหมูรสเผ็ด’

เก็บตกจากกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางสร้างสุขภาพใจกับโรงพยาบาลมนารมย์” ที่มีการจัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว ที่รีสอร์ท “คุ้มประสานใจ” อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งรีสอร์ทเชิงสุขภาพแห่งนี้เกิดขึ้นโดย นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต โดย นพ.ไกรสิทธิ์ เผยไว้ว่า ตั้งใจให้รีสอร์ทแห่งนี้มีส่วนในการช่วยสร้างความเข้าใจให้คนไทยเรื่องจิตวิทยา เรื่องสุขภาพจิตที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพกาย กับกิจกรรมที่จัดขึ้น ก็มีการสาธิตการทำ “ไส้อั่ว” สูตรจากเมืองแพร่ โดยทีมงานของรีสอร์ท ซึ่งทางผู้สาธิตบอกว่า รสชาติของไส้อั่วของแต่ที่ แต่ละเมือง ก็จะแตกต่างกันออกไป โดยสำหรับสูตรของเมืองแพร่นี้จะเน้นให้มี รสชาติเผ็ดนิดหน่อย โดยจะใช้พริกเยอะหน่อย อุปกรณ์ที่ใช้ทำไส้อั่ว หลัก ๆ ก็มี กะละมังผสม, เขียง-มีด, เครื่องบด, เตาย่าง, ถุงมือ เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะมีอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยยัดไส้อั่ว คือ ไม้จิ้มฟัน, ไม้เสียบลูกชิ้น และคอขวดน้ำพลาสติก ส่วนผสมไส้อั่ว ตามสูตรนี้ก็มี หมูบด 2 กก. (ใช้เนื้อตะโพก), มันหมูหั่นเป็นชิ้น ๆ 200 กรัม, ตะไคร้ 15 ต้น (ต้นใหญ่ ๆ ซอยบาง ๆ), พริกขี้หนูแห้ง 26 เม็ด, กระเทียม 20-25 กลีบ, หอมแดงซอย 10 หัว, ขมิ้นเหลือง 5 แง่ง หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ, ซีอิ๊วขาว 3-4 ช้อนโต๊ะ และไส้หมูสำหรับยัดส่วนผสมทำเป็นไส้อั่ว วิธีทำ เริ่มจากการเตรียมหมูบด และมันหมูหั่น ใส่ลงในกะละมังผสมไว้ด้วยกัน จากนั้นทำเครื่องแกงไส้อั่ว โดยตักตะไคร้ซอย, พริกขี้หนูแห้ง, ขมิ้น, หอมแดง และกระเทียม ใส่ลงเครื่องปั่น โดยจะปั่นเครื่องแกง 2 ครั้ง คือ ตักส่วนผสมแต่ละอย่าง อย่างละครึ่งลงในเครื่องปั่น เปิดเครื่องปั่นให้ละเอียด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 นาที จากนั้นตักส่วนผสมเครื่องแกงที่เหลือใส่เพิ่มลงไปในเครื่องปั่นทีละอย่างจนครบ แล้วปั่นต่อให้ละเอียด ใช้เวลาอีกราว 5-7 นาที ก็เป็นอันใช้ได้ตักเครื่องแกงที่ปั่นละเอียดใส่ลงไปในกะละมังที่ใส่หมูบดและมันหมูหั่น เทซีอิ๊วขาวลงไป จากนั้นสวมถุงมือยาง ทำการคลุกเคล้าเครื่องแกงกับส่วนของหมูให้เข้ากัน เตรียมไว้ เตรียมไส้หมูความยาวราว 30 เซนติเมตร ที่ล้างทำความสะอาดดีแล้ว (ล้างให้สะอาดจนไม่มีกลิ่น และกลับด้านเอาส่วนของด้านในลำไส้ออกมาด้านนอก แล้วนำไปคั้นกับมะขามเปียก เพื่อไม่ให้ไส้มีรสขม ล้างน้ำอีกครั้ง ก่อนกลับไส้เหมือนเดิม) ใช้คอขวดพลาสติกยัดไว้ตรงบริเวณไส้หมูด้านบน ส่วนด้านล่างใช้ไม้จิ้มฟันขัดไว้ไม่ให้เนื้อของไส้อั่วไหลออกมา ค่อย ๆ ยัดส่วนผสมของหมูและเครื่องแกงผ่านคอขวดพลาสติกลงไป ยัดให้แน่น โดยทีมงานสาธิตคนเดิมบอกว่า ถ้ายัดไม่แน่น เวลาย่าง ไส้อั่วจะแฟบ เหี่ยว ไม่สวย ซึ่งจะดูไม่น่ารับประทาน เมื่อยัดไส้เสร็จแล้ว ขดไส้ให้เป็นวงกลม แล้วใช้ไม้เสียบลูกชิ้นเสียบให้ติดกัน คือเสียบจากบนลงล่าง เสียบจากซ้ายไปขวา จัดให้ดูสวยงาม แล้วนำไปย่างบนเตาไฟที่เตรียมไว้ เตาที่ใช้ย่างไส้อั่วนั้น ใช้เตาถ่าน ใช้กะลาเป็นเชื้อเพลิง เวลาย่างให้ยกตะแกรงให้สูงจากเตาขึ้นมามากหน่อย พยายามสุมไฟให้มีควันมาก ๆ ใช้ความร้อนจากควันรมให้ไส้อั่วสุก หากมีเขม่าติดให้ใช้มีดขูดออก ใช้เวลาย่างไม่เกิน 30 นาที ระหว่างย่างหมั่นพลิกไส้อั่วด้วย เมื่อย่างได้ที่แล้วก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนไส้อั่วสูตรนี้ มีต้นทุนประมาณ 400 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม สามารถตั้งราคาขายได้กิโลกรัมละ 450 บาทขึ้นไป *************** นี่ก็เป็นข้อมูล “ไส้อั่วหมูรสเผ็ด” สูตรเมืองแพร่ ที่เก็บตกจากกิจกรรม “ตามรอยเส้นทางสร้างสุขภาพใจกับโรงพยาบาลมนารมย์” ที่รีสอร์ทเชิงสุขภาพ “คุ้มประสานใจ” อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งหากใครสนใจทำไส้อั่วขายเป็น “ช่องทางทำกิน” แล้วละก็ สำหรับไส้อั่วสูตรดั้งเดิมแบบนี้ก็เป็นหนึ่งในทางเลือก ที่ก็ยังคงมีเสน่ห์ดึงดูดลูกค้าได้ไม่น้อย. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/228349

แนะนำอาชีพ ‘ไส้อั่วเห็ด-ปลา’

อาหารอย่าง “ไส้อั่ว” ที่เราเห็นมีขายกันทั่วไป สามารถนำมาพลิกแพลงดัดแปลงให้เกิดความหลากหลาย เป็นการชูจุดเด่นเน้นจุดขาย ด้วยการนำวัตถุดิบอย่าง ปลานิล และ เห็ด มาทำ เป็นไส้อั่วที่อุดมไปด้วย สมุนไพร แล้ว ยังบวกออพชั่นความแปลกใหม่โดยผสม ยอดชาอ่อน ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความหอม ความสดชื่น และประโยชน์ให้กับผู้รับประทาน ซึ่งสูตรนี้เป็นสูตรของ “คุณแดง ศรีวิชา” จนได้เป็น ’ไส้อั่วเห็ด-ไส้อั่วปลา สมุนไพร ยอดชาอ่อน“ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่สามารถสร้างยอดขายได้เป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้ทีม ’ช่องทางทำกิน“ ก็นำข้อมูลมาฝากกัน... ******************* คุณแดง ศรีวิชา หรือที่รู้จักกันในนาม “เจ๊แดงไส้อั่วสมุนไพรใบชา” เจ้าของสูตรไส้อั่วเห็ดและไส้อั่วปลา สมุนไพรยอดใบชา เล่าว่า ก่อนที่จะมาคิดสูตรไส้อั่วทั้ง 2 ตัวนี้ ก็เริ่มจากการเปิดร้านขายอาหารตามสั่งมาก่อน ซึ่งที่ร้านก็ทำไส้อั่วหมูขายอยู่แล้ว โดยสูตรการทำไส้อั่วที่คิดทำนั้นจะใส่ยอดใบชาอู่หลง โดยใช้ยอดอ่อน ผสมเข้าไปด้วย เป็นการเพิ่มความหอมให้ไส้อั่ว แถมใบชายังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้รับประทานอีกด้วย ประมาณปี 2547 มีคนชวนเข้าประกวดใน “เทศกาลชาโลก” ประเภทอาหารคาว ก็เริ่มคิดสูตรทำ ไส้อั่วปลา ขึ้นมา เพราะเห็นว่าไส้อั่วหมูเป็นอาหารที่เห็น ๆ กันอยู่ทั่วไป การนำปลามาทำเป็นไส้อั่วนั้นยังไม่เห็นมีคนทำกัน จึงลองคิดลองทำ ก็ทดลองสูตรอยู่ระยะหนึ่งกว่าจะลงตัว พอเอาเข้าไปประกวดก็ได้รับรางวัลชมเชย จากนั้นก็ทำออกจำหน่ายมาเรื่อย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี หลังจากนั้นก็เริ่มมองหาสูตรไส้อั่วใหม่ ๆ เพิ่ม เพื่อเป็นการขยายตลาดและกลุ่มลูกค้า ก็เห็นว่ากลุ่มคนที่รักสุขภาพ คนกินมังสวิรัติ มีอยู่มาก จึงคิดจะทำ ไส้อั่วเห็ด ขึ้นมาเป็นสินค้าตัวใหม่ ก็ทดลองทำ ซึ่งก็ทำยากอยู่พอสมควร ลองผิดลองถูกอยู่เป็นเดือนกว่าจะได้สูตรที่ลงตัว ซึ่งหลังจากที่ทำออกมาสู่ตลาดก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำไส้อั่วปลา-ไส้อั่วเห็ด หลัก ๆ มีดังนี้...เครื่องยัดไส้, กะละมัง, ทัพพี, ถังน้ำ, หม้อนึ่ง, เครื่องปั่น, เตาแก๊ส และอุปกรณ์ครัวเบ็ดเตล็ด ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ ตามสูตรก็มี... เห็ดนางฟ้า 10 กิโลกรัม หรือปลานิล 20 กิโลกรัม ต่อน้ำพริกแกง 1 กิโลกรัม, ไส้หมู, ไส้เทียม (สำหรับทำไส้อั่วเห็ด), ผักชี กิโลกรัม, ต้นหอม กิโลกรัม, ใบมะกรูด กิโลกรัม, ตะไคร้ กิโลกรัม, หอมแดง กิโลกรัม, ยอดใบชาอ่อน (ชาอู่หลง) 1 ขีด ใบชาที่ใส่ผสมลงไปนั้นไม่ควรใส่เยอะเกินไป เพราะจะทำให้ไส้อั่วขม ให้ใส่พอมีกลิ่นหอมของใบชาเท่านั้น ขั้นตอนการทำไส้อั่วเห็ด เริ่มจากการนำเห็ดนางฟ้า 10 กิโลกรัม มาล้างทำความสะอาด แล้วหั่นสับให้พอหยาบ เตรียมไว้ จากนั้นก็มาทำการเตรียมเครื่องส่วนผสมอื่น ๆ โดยนำตะไคร้หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำเข้าเครื่องปั่นให้ละเอียด พวกใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี อย่างละ กิโลกรัม ใบชาเขียวใช้ 1 ขีด ทำการหั่นซอยเป็นฝอย จากนั้นนำพริกแกงใส่ลงไปในกะละมัง ใส่ส่วนผสมที่เตรียมไว้ ทั้งเห็ดนางฟ้า ตะไคร้ ใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี ใบชาเขียว ใส่ผสมลงไปในพริกแกง ทำการผสมคลุกเคล้าส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน ขั้นต่อไปคือ ตั้งกระทะใช้ไฟอ่อน ๆ นำส่วนผสมที่คลุกเคล้าเข้ากันดีแล้วใส่ลงในกระทะ คั่วไปเรื่อย ๆ ประมาณเกือบชั่วโมงจนเห็ดสุก (คั่วเพื่อเอาน้ำในเห็ดออกให้หมดเพื่อที่จะเก็บไว้ได้นาน) หลังจากคั่วสุกแล้วก็นำไปยัดใส่ไส้เทียมโดยใช้เครื่องสำหรับยัดไส้ ยัดเป็นท่อน ไม่ต้องยาว ให้ได้น้ำหนักท่อนละ 1-2 ขีด นำไส้อั่วไปนึ่งจนสุก แล้วใช้สีผสมอาหารสีส้มแดงทาลงบนไส้อั่วเป็นการเพิ่มสีสันให้ดูน่ารับประทาน จากนั้นก็นำไส้อั่วเข้าตู้อบสักครู่ เพื่อทำให้แห้ง ก็เป็นอันเสร็จ ขั้นตอนการทำไส้อั่วปลา เริ่มจากนำไส้หมูมาล้างทำความสะอาดเพื่อไม่ให้มีกลิ่น ทำการกลับด้านเอาส่วนของด้านในลำไส้ออกมาด้านนอก แล้วนำไปคั้นกับมะขามเปียก เพื่อไม่ให้ไส้มีรสขม ล้างน้ำอีกครั้ง ก่อนกลับไส้เหมือนเดิม พักไว้ แล้วมาเตรียมปลาโดยนำปลานิลมาล้างทำความสะอาดแล้วนำไปนึ่งให้สุก พอสุกก็ทำการแกะเอาแต่เนื้อปลา (ปลานิล 20 กิโลกรัม แกะเอาแต่เนื้อก็จะเหลือประมาณ 10 กิโลกรัม) นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องพริกแกงและส่วนผสมที่หั่นเตรียมไว้ทั้งตะไคร้ ใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี อย่างละ กิโลกรัม และใบชาเขียว 1 ขีด ส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ก็นำไปยัดใส่ไส้หมูที่ล้างเตรียมไว้ ยัดด้วยเครื่องยัดไส้ ให้หนักท่อนละประมาณ 1-2 ขีด แล้วนำไปนึ่งจนสุก จากนั้นใช้สีผสมอาหารสีส้มแดงทาลงบนไส้อั่วเป็นการเพิ่มสีสันให้ดูน่ารับประทาน นำไส้อั่วเข้าตู้อบสักครู่ เพื่อทำให้แห้ง ซึ่งไส้อั่วนี้ก็สามารถจะเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานเป็นเดือน ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำไส้อั่วอีกรูปแบบ จากสูตรที่ว่ามา สามารถทำไส้อั่วเห็ด หรือไส้อั่วปลา ได้ประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งเจ๊แดงขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 400 บาท นอกจากนั้นยังมีสินค้าอื่น ๆ อีกหลากหลาย อาทิ ลาบปลา ลาบหมู น้ำพริกอ่อง น้ำพริกเห็ด พริกแกง เป็นต้น **************************** ’ไส้อั่วเห็ด-ไส้อั่วปลา สมุนไพร ยอดชาอ่อน“ ของ “เจ๊แดงไส้อั่วสมุนไพรใบชา” อยู่ในกลุ่มร้านค้าวิสาหกิจชุมชนที่ตั้งอยู่ที่ 20/1 หมู่ 9 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสั่งออร์เดอร์ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-4073-9088, 08-9403-2244, 08-9950-0078 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ จากการพลิกแพลง. ทีมา http://www.dailynews.co.th/article/384/228081

Sunday, August 18, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ข้าวอบเบญจรงค์’

ข้าวผัดเป็นอาหารยอดนิยมอีกอย่างที่ทานกันได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และปัจจุบันเมนู “ข้าวอบ” ก็นิยมกันแพร่หลายเช่นกัน ข้าวอบที่รู้จักกันดีก็มีหลายอย่าง เช่น ข้าวอบสับปะรด ข้าวอบเผือก ข้าวอบกุนเชียง ข้าวอบหนำเลี้ยบ ฯลฯ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีสูตรข้าวอบที่อุดมด้วยสารอาหารที่หลากหลายจากวัตถุดิบที่นำมาปรุง หน้าตาสวยงาม และอร่อย คือ “ข้าวอบเบญจรงค์” หรือ “ข้าวอบ 5 สี” เพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้ให้กับผู้ที่สนใจ... ********************* ผศ.สุวรรณี อาจหาญณรงค์ อาจารย์ประจำวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ข้อมูลว่า เมนูข้าวอบเบญจรงค์ถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่ง ปัจจุบันคนหันกลับมาสนใจสุขภาพ ประกอบกับมีการรณรงค์ให้คนไทยบริโภคข้าวไทย จึงคิดเมนูอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำง่าย วัตถุดิบหาง่าย สามารถดัดแปลงได้ตามความชอบ ก็ได้เมนูข้าวอบเบญจรงค์ หรือข้าวอบ 5 สี เป็นทางเลือกใหม่ “เมนูนี้แม้จะเป็นเมนูง่าย ๆ แต่ว่าอร่อยล้ำ แถมยังเหมาะสำหรับเด็กที่ไม่สามารถทานอาหารเผ็ด ๆ ด้วย ความพิเศษของเมนูนี้อยู่ที่ส่วนผสม แต่ละตัวอุดมไปด้วยสารอาหารและคุณประโยชน์มากมาย เช่น มีแครอท จะมีวิตามินเอ และสารเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยบำรุงสายตา แก้โรคตาฝ้าฟาง บำรุงผิว และช่วยยับยั้งความเสื่อมของอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีเห็ดหอม ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท เพิ่มความสดชื่น ลดคอเลสเตอรอล ต้านมะเร็ง ต้านไวรัส ลดความเครียด ชะลอความชรา มีแปะก๊วย ช่วยบำรุงปอด แก้ไอ แก้หอบ มีถั่วฝักยาว อุดมไปด้วยแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ป้องกันโรคกระดูกพรุน มีส่วนช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน อีกทั้งยังควบคุมการทำงานของไตด้วย” อุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ในการทำ ก็เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำครัวทั่ว ๆ ไป เช่น เตาแก๊ส กระทะ ทัพพี เขียง กะละมัง ฯลฯ และอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้คือ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า และตะเกียบ ส่วนผสมที่ใช้ในการทำ ก็มี... ข้าวสารข้าวเจ้า, ข้าวสารข้าวเหนียว, น้ำมันพืช, ขิงแก่, พริกไทยป่น, น้ำซุปหรือน้ำสต๊อก, ผงปรุงรส (หมู), ซีอิ๊วขาว, เห็ดหอมแห้ง, แครอท, ถั่วฝักยาว, แปะก๊วย, กุ้งแห้ง ขั้นตอนการทำ “ข้าวอบเบญจรงค์” เริ่มจากการหุงข้าวก่อนเป็นอันดับแรก ในการทำข้าวอบเบญจรงค์หรือข้าวอบ 5 สีนั้น การหุงข้าวเราต้องใช้ข้าวสารข้าวเจ้าผสมกับข้าวสารข้าวเหนียว ในอัตราส่วน 5 ต่อ 1 ทำการซาวข้าวสองชนิดให้สะอาด สรงขึ้นกรองให้สะเด็ดน้ำ ตั้งพักไว้สักครู่ ระหว่างรอข้าวสะเด็ดน้ำก็หันไปเตรียมเครื่องปรุงทั้งหมดให้พร้อม เห็ดหอมแห้งนำมาแช่น้ำทิ้งไว้สักครู่ พอเห็ดนิ่ม สรงขึ้นสะเด็ดน้ำแล้วหั่นเป็นเส้นตามที่ต้องการ ขิงแก่นำมาปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาดหั่นเป็นแว่นตามขวางบาง ๆ แครอทสดนำมาปอกเปลือกล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ถั่วฝักยาวก็นำมาล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นท่อนเล็ก ๆ กุ้งแห้งนำไปแช่น้ำสักครู่ ส่วนแปะก๊วยนำไปต้มให้สุกแล้วตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ เตรียมเครื่องปรุงทั้งหมดพร้อมแล้ว ต่อไปก็ตั้งกระทะบนเตา โดยใช้ไฟปานกลาง ใส่น้ำมันพืชลงไปพอประมาณ ใส่ขิงลงไปผัดให้พอมีกลิ่นหอม จึงใส่เห็ดหอม ตามด้วยกุ้งแห้งใส่ตามลงไป ผัดกลับไปกลับมาสัก 4-5 รอบ จึงใส่ข้าวสารผสมที่เตรียมไว้ลงไปผัดเบา ๆ ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว และผงปรุงรสหมู ผัดส่วนผสมในกระทะโดยใช้ไฟแรงประมาณ 10 นาที จนส่วนผสมเข้ากันดี และข้าวสารดีดตัว (สังเกตปลายเมล็ดจะชี้) ก็เป็นอันใช้ได้ จากนั้นก็ให้นำส่วนผสมข้าวที่ผัดมาใส่ลงในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า นำส่วนผสมที่เหลือคือ แครอท ถั่วฝักยาว และแปะก๊วย ใส่ตามลงไปในหม้อหุงข้าว เติมน้ำซุปลงไปพอเหมาะสมกับการหุงข้าว คนส่วนผสมในหม้อหุงข้าวให้เข้ากัน กดปุ่มหุงข้าว (ถ้าไม่มีหม้อหุงข้าวไฟฟ้าก็ให้ใช้วิธีการนึ่งก็ได้) จนปุ่มหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเด้ง ข้าวที่หุงสุก ทั้งนี้ เพื่อให้เมล็ดข้าวระอุ และเครื่องปรุงซึมเข้าไปในเมล็ดข้าวได้ดี ถึงขั้นตอนนี้ให้ใช้ตะเกียบจุ่มน้ำตะกุยข้าวแทนการใช้ทัพพี เพื่อไม่ให้เมล็ดข้าวแหลก เมื่อจะรับประทานหรือจำหน่ายก็จัดลงภาชนะเสิร์ฟหรือจำหน่าย ถ้าเป็นผู้ใหญ่รับประทาน มีน้ำปลาพริกที่มีหอมแดงกับพริกขี้หนูสวนซอย ก็จะอร่อยกลมกล่อมยิ่งขึ้น ************************ เมนู “ข้าวอบเบญจรงค์” นี้มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก มีวัตถุดิบอะไรก็พลิกแพลงจับใส่ได้ตามชอบ ที่สำคัญคือสามารถนำไปเป็นสูตรสร้าง “ช่องทางทำกิน” ได้ ซึ่งหากใครสนใจ และยังมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มจาก ผศ.สุวรรณี อาจหาญณรงค์ อาจารย์ประจำวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ที่ โทร. 08-1432-0147 ซึ่งทางอาจารย์ก็ยังมีสูตรอาหารเพื่อสุขภาพอีกหลายชนิด. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/226742

Saturday, August 17, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ช่างเครื่องเสียง’

“งานช่าง” บางเรื่องสามารถคิดทำต่อยอด ’ช่องทางทำกิน“ ออกมาจากงานเดิมได้ โดยเฉพาะการเสริมในเรื่องของ “การบริการ” เพิ่มเข้าไป โดยสามารถอาศัยทักษะพื้นฐาน และความชำนาญด้านเดิม “พลิกแพลง-ปรับตัว” ให้เข้ากับยุคกับสมัยได้ไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ อย่างเช่นงาน ’บริการอัพเกรดเครื่องเสียง“ ของ “อดิศักดิ์ สุจริต” รายนี้... ****** อดิศักดิ์ เจ้าของงานบริการรับอัพเกรดเครื่องเสียง เล่าว่า คลุกคลีกับเครื่องเสียง เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด มาตั้งแต่สมัยเรียนจบใหม่ ๆ โดยยึดอาชีพช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งตอนนั้นทำงานประจำให้กับบริษัทเครื่องเสียงแห่งหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาเปิดธุรกิจของตัวเอง รับให้บริการซ่อมและอัพเกรดเครื่องเสียงให้กับลูกค้าโดยตลอด โดยใช้ชื่อร้านว่า 4seasonsaudio โดยมีหน้าร้านอยู่ที่ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า ชั้น 3 และมีเว็บไซต์ของร้านคือ www.4seasonsaudio.com ไว้เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ส่วนสาเหตุที่พลิกผันจากงานซ่อมหันมาให้บริการอัพเกรดเครื่องเสียง เขาบอกว่า เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมที่นิยมการซ่อม แต่ปัจจุบันจะหันไปซื้อเครื่องเสียงใหม่แทนมากกว่า ดังนั้นช่างที่เคยรับงานซ่อมเช่นเขา จึงจำเป็นต้องเน้นงานปรับเครื่องเสียง-การอัพเกรดเครื่องเสียงแทน... “แต่ก่อนหนึ่งซอยจะมีร้านรับซ่อมต้นซอย กลางซอย ท้ายซอย แต่เดี๋ยวนี้ปิดไปหมด เพราะลูกค้าไม่นิยมซ่อม แต่ซื้อใหม่ ก็เลยต้องปรับตัว หันมาให้บริการอัพเกรดหรือการโมดิฟายด์ แทน” อดิศักดิ์กล่าว งานบริการนี้โดยพื้นฐานยังใช้ “ทักษะ” ที่ “ช่างไฟ-ช่างอิเล็กทรอนิกส์” ทุกคนมีติดตัว เพียงแต่ว่าเรื่อง “การออกแบบ-การอัพเกรด” นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความชำนาญของช่างแต่ละราย เช่น ต้องรู้จักอุปกรณ์ที่อัพเกรด, ต้องทราบว่าควรเลือกวัสดุแบบใด ตรงนี้ขึ้นกับการศึกษาเฉพาะของช่างแต่ละคน ซึ่งการอัพเกรดเครื่องเสียงจะอยู่ที่ “ภาคจ่ายไฟ” เป็นหลัก ตั้งแต่อุปกรณ์ท้ายเครื่อง จนถึงอุปกรณ์บางตัวในภาคจ่ายไฟ... ทุนเบื้องต้น ใช้ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป หรือถ้ามีอุปกรณ์ช่างอยู่บ้างก็จะลดลงอีก ทุนหมุนเวียนอยู่ที่ปริมาณการรับบริการ ถ้าช่วงใดมีสต๊อกอะไหล่ไว้ก็ใช้ทุนไม่มาก รายได้-ค่าบริการขึ้นอยู่กับงาน แต่ส่วนใหญ่ค่าบริการอยู่ในช่วง 2,000-20,000 บาท ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์หลัก ๆ ก็มี มิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า, ปากกาหัวแร้ง, ตะกั่ว, ค้อน, ไขควง เป็นต้น ขั้นตอนการให้บริการ เริ่มตั้งแต่เมื่อลูกค้าเดินเข้ามา ลูกค้าจะแจ้งความประสงค์ว่าต้องการรับการบริการชนิดไหน อาทิ เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ เปลี่ยนอะไหล่ให้มีคุณภาพดีกว่าเก่า หรือจะเป็นงานเกี่ยวกับการปรับตั้งเครื่องเสียงใหม่ จากนั้นก็จะลงลึกเรื่องในเรื่องของงบประมาณ โดยงบประมาณจะเป็นตัวแปร ที่กำหนดว่างานบริการที่จะต้องทำนั้น จะมีราคาค่าบริการมากน้อยแตกต่างกันไปเท่าใด และนอกเหนือจากการที่ลูกค้าหิ้วเครื่องเสียงเข้ามารับบริการปรับเครื่องใหม่ที่ร้านเองแล้ว ก็ยังมีการบริการรับปรับเครื่องเสียงนอกสถานที่ ซึ่งถือว่าเป็นบริการเสริม ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับตัวช่างหรือร้านด้วยเช่นกัน เช่น การติดตั้งเดินสายไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบ การเดินสายและเปลี่ยนสายลำโพงเครื่องเสียงใหม่ เป็นต้น “การอัพเกรด เราสามารถเบิกเงินลูกค้าก่อนครึ่งหนึ่งได้ และใช้กำไรเป็นทุนหมุนเวียน ซึ่งการอัพเกรดทำได้เร็วกว่างานซ่อม เพราะเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ให้เครื่องดีขึ้น ไม่ต้องหาต้นเหตุของอาการเสียเหมือนงานซ่อม ทั้งนี้ ช่างที่รับทำต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ และต้องควบคุมความผิดพลาดให้ได้ เพราะลูกค้าจะคาดหวังความพึงพอใจเป็นพิเศษ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือว่าสำคัญ และต้องทำให้ลูกค้าไว้วางใจ” เป็นคำแนะนำจากอดิศักดิ์ นอกจากนี้ เขายังบอกว่า อยากฝากถึงเพื่อนช่าง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลง จากงานซ่อมพื้นฐาน ก็อัพเกรด ยกระดับอาชีพได้ด้วยการเพิ่มเติมในเรื่องเทคนิคเข้าไป ซึ่งตลาดตรงนี้กำลังเติบโตในปัจจุบัน และมีรายได้ที่น่าสนใจ... ****** บริการโมดิฟายด์ ’อัพเกรดเครื่องเสียง“ เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ ซึ่งสำหรับอดิศักดิ์เขายังผลิต “กล่องไฟ” เพื่อเพิ่มคุณภาพของเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกเสริมให้ลูกค้าที่ต้องการยกระดับเครื่องเสียงอีกด้วย ใครสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08-9891-4247 หรือใครสนใจลงลึกรายละเอียดก็สอบถามได้เช่นกัน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่พลิกวิกฤติจากงานพื้นฐาน ด้วยการอัพเกรดอาชีพ จนเกิดเป็นงานบริการที่น่าสนใจ. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/226505

Sunday, August 11, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ขายเห็ดย่าง’

อาชีพทำกินที่เกี่ยวกับ “เห็ด” มีมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพาะเห็ด, ซุปเห็ด, ยำเห็ด, เห็ดทอด ฯลฯ และกับ “เห็ดย่าง” นำเห็ดมาเสียบไม้ย่างขาย ตอนนี้ก็มีขายทั่วไปตามริมทาง, ตลาดน้ำ, แหล่งท่องเที่ยว, แหล่งชุมชน หรืองานแสดงสินค้าต่าง ๆ ซึ่งอาชีพนี้ก็ไปได้ดี โดย “ช่องทางทำกิน” รูปแบบนี้ วันนี้ทางทีมงานเราก็มีข้อมูลมานำเสนอ... ***************** วุฒิวัฒน์ ศรีฐานิศรากร หรือ เอฟ วัย 26 ปี เป็นเจ้าของร้าน “555 เห็ดย่าง” ในตลาดน้ำคลองลัดมะยม ซึ่งขายมาประมาณปีกว่า ๆ แล้ว โดยเจ้าตัวเล่าว่า ก่อนหน้าจะมาขายเห็ดย่างนั้น ทำงานร้านกาแฟ ร้านดอกไม้ ร้านขนมจีบ รวมทั้งรับจ้างถ่ายรูปมาก่อน ส่วนการขายเห็ดย่างนั้น เหตุเพราะชอบทานเห็ดย่างพันเบคอนและเห็ดย่างทาเนยมาก จึงพยายามหัดทำดู และเมื่อปีที่แล้วจึงศึกษาการขายเห็ดย่างอย่างจริงจัง ลองฝึกทุกอย่างตั้งแต่เลือกเห็ด, เสียบเห็ด, ย่างเห็ด รวมถึงการทำน้ำจิ้ม และลองเริ่มขายที่ตลาดนัดศาลายาก่อน เมื่อได้ที่ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยมจึงมาขายที่นี่เต็มตัว ปัจจุบันเห็ดที่วุฒิวัฒน์นำมาย่างขายมี 2 ชนิดหลัก ๆ คือ เห็ดนางรมหลวง หรือ เห็ดออรินจิ (Eringii Mushroom) และ เห็ดเข็มทอง (Enoki Mushroom) ซึ่งจะเสียบไม้ย่างในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยก่อนหน้านั้นเคยมีเห็ดหอมย่างและแปะก๊วยย่างด้วย แต่เห็ดหอมที่สวย ๆ สด ๆ หายาก จึงเลิก ส่วนแปะก๊วยย่างนั้นคนไม่นิยม จึงเลิกเช่นกัน สำหรับเห็ดนางรมหลวงหรือเห็ดออรินจิ วุฒิวัฒน์บอกว่า เป็นเห็ดเพื่อสุขภาพ คือมีโปรตีนประมาณ 25% คลอเรสเตอรอลต่ำ และมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ที่สำคัญปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีการใช้สารเคมี ส่วนเห็ดเข็มทอง คุณค่าและสรรพคุณทางยาคือ ช่วยรักษาโรคตับ โรคกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็ง เห็ดย่างที่ร้านขายตอนนี้ แม้จะมีเห็ด 2 อย่าง แต่ก็ทำเป็น 4 รูปแบบคือ เห็ดออรินจิสด, เห็ดออรินจิพันเบคอน, เห็ดเข็มทองพันสาหร่าย, เห็ดเข็มทองพันเบคอน เห็ดออรินจิสด วิธิทำก็หั่นเห็ดออรินจิสดเป็นแผ่น ๆ ตามแนวเฉียงของเห็ด ขนาดพอดี ๆ ไม่หนาไม่บาง นำไปเสียบไม้ ไม้ละ 4 ชิ้น เตรียมไว้ เห็ดออรินจิพันเบคอน หั่นเห็ดออรินจิเป็นชิ้น ๆ ตามแนวตั้ง หนาประมาณ 0.75 นิ้ว เตรียมไว้ จากนั้นหั่นเบคอนหมูให้กว้างประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปพันให้รอบเห็ด (ตรงกลาง) ทำแบบนี้ทีละชิ้น แล้วนำไปเสียบไม้ ไม้ละ 3 ชิ้น เตรียมไว้ เห็ดเข็มทองพันสาหร่าย แบ่งเห็ดเข็มทองมาทำเป็นกำเล็ก ๆ แต่ละกำขนาดกว้างประมาณหัวแม่โป้ง เตรียมไว้ จากนั้นหั่นแผ่นสาหร่ายให้กว้างประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปพันให้รอบเห็ด (ตรงกลาง) ทำแบบนี้ทีละชิ้น แล้วนำไปเสียบไม้ ไม้ละ 4 ชิ้น เตรียมไว้ เห็ดเข็มทองพันเบคอน แบ่งเห็ดเข็มทองมาทำเป็นกำเล็ก ๆ แต่ละกำขนาดกว้างประมาณหัวแม่โป้ง เตรียมไว้เช่นกัน จากนั้นหั่นแผ่นเบคอนหมูให้กว้างประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำไปพันให้รอบเห็ด (ตรงกลาง) ทำแบบนี้ทีละชิ้น แล้วนำไปเสียบไม้ ไม้ละ 4 ชิ้น เตรียมไว้ การขายเห็ดย่าง ตอนย่างต้องมีซอสทา ร้านนี้ใช้ ซอสเทอริยากิ ทาตอนย่างเห็ด ซอสนี้มีขายแบบสำเร็จรูป สำหรับน้ำจิ้มเห็ดย่าง ร้านนี้มีทั้ง น้ำจิ้มสเต๊ก ที่ทำเอง โดยมีส่วนผสมของซอสมะเขือเทศ 60% อีก 40% ที่เหลือคือส่วนผสมของซอสปรุงรส, เนย, น้ำตาลทราย วิธีทำคือตั้งกระทะหรือหม้อ เคี่ยวซอสมะเขือเทศบนไฟอ่อน-ปานกลาง ให้เป็นน้ำข้น ๆ จากนั้นใส่ซอสปรุงรส เนย และน้ำตาลทรายลงไป ค่อย ๆ เคี่ยวให้เข้ากัน ชิมรสให้ออกหวานอมเปรี้ยวนิด ๆ ก็ใช้ได้ กินกับเห็ดย่างแล้วได้รสชาติกลมกล่อม น้ำจิ้มอีกแบบคือ น้ำจิ้มซีฟู้ด ร้านนี้ก็ทำเองเช่นกัน โดยมีส่วนผสมหลัก ๆ คือ พริกขี้หนูสวน 40%, น้ำมะนาวสด 30%, กระเทียม 20% น้ำตาลปี๊บ 10% และเกลืออีกเล็กน้อย วิธีทำก็นำหม้อตั้งไฟ ใส่น้ำตาลปี๊บและเกลือละลายให้เข้ากัน เสร็จแล้วปิดไฟ ใส่น้ำมะนาวลงไปผสม เตรียมไว้ จากนั้นนำพริกขี้หนูสวน กระเทียม และส่วนผสมของน้ำตาลปี๊บ-เกลือ-น้ำมะนาว ใส่ลงในเครื่องปั่น เปิดเครื่องปั่นให้ละเอียด เสร็จแล้วเทใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ชิมรสให้เผ็ด เปรี้ยว หวาน แบบลงตัว ตามสูตรนี้ยังปรับรสชาติได้ตามที่ต้องการ วิธีขาย “เห็ดย่าง” เสียบปลั๊กเตาย่างไฟฟ้าให้ร้อน ซึ่งเตาย่างที่ร้านนี้ใช้เป็นเตาอินฟราเรด เมื่อเตาร้อนก็นำเห็ดที่ลูกค้าสั่งวางลงย่าง โดยทาเนยบนเห็ดทั้ง 2 ด้านด้วย ย่างไปสักพักก็ทาด้วยซอสเทอริยากิ ย่างให้เห็ดสุก เบคอนสุก มีสีออกเหลือง ๆ (อย่าย่างให้เห็ดไหม้ เพราะหากไหม้เห็ดจะเหนียว และระหว่างย่างขายต้องหมั่นเช็ดเตาย่างให้สะอาด) พอสีออกเหลือง ๆ ก็เป็นอันใช้ได้ พร้อมเสิร์ฟพร้อมขายคู่กับน้ำจิ้มสเต๊ก และน้ำจิ้มซีฟู้ด ราคาขายเห็ดย่างร้านนี้อยู่ที่ไม้ละ 20-25 บาท ****************** สนใจ “เห็ดย่าง” ของวุฒิวัฒน์ ร้าน “555 เห็ดย่าง” อยู่ที่ตลาดน้ำคลองลัดมะยม โซนกลาง ขายทุกเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ หมายเลขโทรศัพท์คือ 08-6886-8484 ซึ่งอาชีพขายเห็ดย่างนี้ ดู ๆ แล้วก็ไม่ยุ่งยากมากมายอะไรนัก และก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่มีเทรนด์เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพเป็นจุดขายที่น่าสนใจ. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/225171

Saturday, August 10, 2013

แนะนำอาชีพ ‘กระเป๋าผ้าไหม’

งานแฮนด์เมดเป็นงานที่สามารถแตกไลน์ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ที่คิดประดิษฐ์ออกสู่ตลาด ซึ่งการเพิ่มความแตกต่างให้สินค้าให้เกิดเป็นจุดเด่นเพื่อที่จะแข่งขันได้ ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับ ’ช่องทางทำกิน“ จากงานแฮนด์เมด และกับสินค้าประเภทกระเป๋านั้น ’กระเป๋าผ้าไหม“ นี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าพิจารณา... ****** “อัจฉรา บุญนคร” นำเอาผ้าไหมมาใช้ในการเย็บเป็นกระเป๋าโดยใช้เทคนิคการเย็บต่อผ้าไหมให้เป็นหลากหลายสี ทำออกจำหน่ายสร้างรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า ทำงานประจำเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี สำหรับกระเป๋าที่ทำจากผ้าไหมนี้เป็นงานที่ทำขายเป็นอาชีพเสริม เริ่มทำมาได้ปีกว่า ๆ แล้ว ซึ่งผลงานฝ่ายผลิตนั้นจะเป็นฝีมือของคุณแม่ เริ่มจากการที่คุณแม่เคยเป็นครูสอนตัดเย็บเสื้อผ้า พอหลังจากเลิกเป็นครูสอนตัดเย็บเสื้อผ้าก็ออกมาเปิดร้านรับตัดเสื้อของตัวเอง ซึ่งช่วงที่เปิดร้านตัดเสื้อนั้นลูกค้าที่สั่งตัดชุดผ้าไหมก็มีอยู่เยอะ ต่อมาหลังจากที่เลิกทำร้านตัดเสื้อแล้วก็ยังมีเศษผ้าไหมเหลืออยู่เป็นจำนวนไม่น้อย จึงมีความคิดว่าเศษผ้าไหมที่เหลือน่าจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ จึงลองนำ “เศษผ้าไหม” ที่เหลือหลากหลายสี หลากหลายลาย มาเย็บต่อกันทำเป็น “กระเป๋าถือ” สำหรับใช้เอง หลังจากที่ทำใช้เอง เพื่อน ๆ ก็เห็นและชอบ จากนั้นก็เลยทำแจกเพื่อน แต่พอมีคนถามหาเยอะขึ้น จึงลองทำขาย โดยลงขายผ่านทางเว็บไซต์ ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็มีกระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี สินค้าสามารถขายได้เรื่อย ๆ การนำผ้าไหมมาทำเป็นกระเป๋านั้น จะใช้ผ้าไหมแท้ ซึ่งจะทำให้กระเป๋าดูดีมีคุณค่าและสีสันที่สดใส และมีหลายสีก็ทำให้กระเป๋าดูสวยงามโดดเด่น ซึ่งกระเป๋า 1 ใบนั้นจะใช้ผ้าไหม 8 สี มาปะติดปะต่อกัน... “การทำกระเป๋าจากผ้าไหมนั้น จะต้องเป็นคนที่มีใจรัก เพราะเป็นงานที่ยากกว่าการตัดเสื้อ การทำกระเป๋าเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดในการทำสูง การเย็บต่อผ้าตะเข็บตรงรอยต่อผ้าจะต้องเป็นแนวตรงกันเพื่อความสวยงามของกระเป๋า การที่ใช้ผ้าหลายผืนมาเย็บต่อกันเพื่อทำกระเป๋านอกจากจะได้ความสวยงามจากหลากหลายสีสันของผ้าไหมแล้ว การเย็บกระเป๋าแบบนี้ก็ยังเป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระเป๋าอีกด้วย” อัจฉรากล่าว วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ “กระเป๋าผ้าไหม” หลัก ๆ ก็มีดังนี้คือ... ผ้าไหมแท้, หูกระเป๋า, ผ้าซับใน, ผ้าอัดกาว, ซิป และอุปกรณ์สำหรับเย็บผ้า พวกจักรเย็บผ้า ด้าย กรรไกร เป็นต้น ผ้าไหมที่ใช้นั้น จะต้องเลือกซื้อผ้าไหมที่เนื้อดี ไม่บางจนเกินไป การเลือกให้ลองยกผ้าขึ้นมาส่องดู ต้องมองไม่ทะลุผ้า ผ้าที่ซื้อให้เลือกที่อบผ้ามาเรียบร้อยแล้ว เพราะถ้าผ้ายังไม่อบ จะหดและสีก็จะตกมากด้วย สำหรับผู้ที่คิดอยากลองทำ เริ่มทำใหม่ ๆ ให้ลองซื้อเศษผ้าไหมมาทดลองดูก่อน เพราะราคาไม่สูงมาก ขั้นตอนการทำ... เริ่มจากการเลือกผ้าไหมให้ได้สีตามที่ต้องการจะทำ (กระเป๋า 1 ใบจะใช้ผ้าไหม 8 สีมาต่อกัน) จากนั้นก็วัดตามหน้าผ้า 6 นิ้ว แล้วก็ตัดผ้าหน้ากว้าง 6 นิ้วตามแนวยาว ทั้ง 8 ชิ้น 8 สี แล้วนำผ้าที่ตัดแล้วไปทำการอัดรีดกับผ้าอัดกาว โดยใช้เตารีด ใช้ความร้อนต่ำในการรีดให้ผ้าไหมติดกับผ้าอัดกาว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผ้าไหม หลังจากที่อัดผ้าไหมหน้ากว้าง 6 นิ้วกับผ้าอัดกาวติดกันแล้ว ก็ให้วัดผ้าหน้ากว้าง 6 นิ้วนั้นโดยแบ่งเป็นช่วง ๆ ละ 3 นิ้ว แล้วก็ตัดผ้าออกมาให้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 3x3 นิ้ว โดยตัดผ้าทั้ง 8 สีให้ได้ขนาดที่เท่ากันตามนี้ แล้วขั้นตอนต่อไปก็นำแบบที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 2x2 นิ้ว มาทาบลงด้านหลังผ้าที่ตัดไว้ ใช้ดินสอขีดร่างไว้ เมื่อทำการวาดแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 2x2 นิ้วเสร็จแล้ว ก็นำแผ่นผ้านั้นมาเย็บต่อกันตามแนวดินสอที่ขีดไว้ เรียงตามสีที่ต้องการ เย็บเป็นแถวยาว โดย 8 แผ่น เท่ากับ 1 แถว เย็บ 6 แถว จากนั้นก็นำมาเย็บต่อเรียงกันขึ้นไป ทำให้ได้ผืนผ้า 2 ชิ้นใหญ่ จากนั้นก็นำมาเย็บประกอบเข้ากันเป็นกระเป๋า ติดซิป ใส่หูกระเป๋า นำผ้าซับในมาตัดเย็บให้ได้ขนาดเท่ากับกระเป๋าที่ทำ แล้วก็ทำการใส่ผ้าซับในเข้าไปในกระเป๋า ทำการเย็บเก็บปิดให้เรียบร้อย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน กระเป๋าถือทำจากผ้าไหมของอัจฉรา มีราคาขายอยู่ที่ใบละ 1,700 บาท และก็ยังมีสินค้าประเภทกระเป๋ารูปแบบอื่น ๆ ที่ใช้ผ้าไหมทำอีกหลายชนิด อาทิ กระเป๋าใส่โทรศัพท์มือถือ, กระเป๋าใส่เศษสตางค์, ซองใส่ไอแพด เป็นต้น... ****** ’กระเป๋าผ้าไหม“ ผลงานของอัจฉราและคุณแม่นั้น รูปแบบสินค้ามีให้ดูใน http://www.afterrainshop.com หรือ http://www.facebook.com/Afterrainshop ซึ่งหากใครสนใจสั่งออร์เดอร์ ต้องการติดต่อสอบถามกับอัจฉราทางโทรศัพท์ ก็ติดต่อได้ที่ โทร.08-1909-2178 ทั้งนี้ งานแฮนด์เมดรูปแบบนี้ก็เป็นอีกกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสน. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/224939

Sunday, August 4, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ผัดไทยกุ้งสด’ ‘ห่อไข่’

“ผัดไทย” เป็นอาหารที่อยู่คู่บ้านเมืองไทยมานาน เป็นอาหารจานเดียวที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ด้วยรสชาติอร่อยแบบหวานเค็มเปรี้ยวพอดี ๆ สีสันสวยงามน่ารับประทาน จึงกลายเป็นอีกเมนูยอดฮิตของชาวไทย และชาวต่างชาติก็ชอบ แทบจะเรียกว่าเป็นอาหารประจำชาติอย่างหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลกเช่นเดียวกับต้มยำกุ้ง ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้หันมาพิสมัยอาหารไทย ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ อาหารชนิดนี้ทำไม่ยาก สามารถทำเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำการขายผัดไทยอีกรูปแบบหนึ่ง คือ “ผัดไทยกุ้งสดห่อไข่” มานำเสนอให้พิจารณา... ณัชชา เอกพจน์ หรือ ตุ๊กตา วัย 33 ปี เจ้าของร้านผัดไทย จ๋อ จ๋อ เล่าให้ฟังว่า เธอนั้นสนใจและชื่นชอบการทำอาหารมาตั้งแต่เด็กแล้ว โดยได้รับการถ่ายทอดสูตรอาหารหลายอย่างมาจากคุณแม่ และผัดไทยหรือก๋วยเตี๋ยวผัดไทยนี่ก็มาจากคุณย่าที่ขายผัดไทยสูตรโบราณอยู่ที่ตลาดสวนหลวง เธอช่วยเป็นลูกมืออยู่หลายปี หลังจากแต่งงานมีครอบครัว จึงแยกตัวมาค้าขายส่วนตัว ด้วยความที่ชอบทำอาหาร จึงได้ทำ ผัดไทยห่อไข่กุ้งสด สูตรคุณย่า ขายที่ห้างแห่งหนึ่ง “ผัดไทยห่อไข่ขายดีมาก ตุ๊กตา กับ น้องตาล น้องสาว ทำขายแทบไม่ทัน แต่นาน ๆ ไปก็รู้สึกเบื่อหน่ายและอึดอัดกับกฎเกณฑ์หลาย ๆ อย่างของสถานที่ขาย ระหว่างนั้นก็พยายามมองหาอาชีพอื่นไปด้วย ทีนี้สองคนพี่น้องก็มานั่งปรึกษากันว่าจะทำอะไรดี ก็คิด ๆ กันว่าเรามีฝีมือในการทำอาหารและชำนาญในการทำก๋วยเตี๋ยวผัดไทยห่อไข่ ก็น่าจะเปิดร้านขาย จังหวะพอดีกับที่ได้ทำเลร้านที่ย่านดอนเมือง จึงบอกเลิกสัญญากับห้างแล้วมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวผัดไทยห่อไข่ และอาหารตามสั่ง สุกี้ และน้ำปั่น เป็นเวลา 6 เดือน แล้ว ซึ่งที่ร้านเราจะใช้วัตถุดิบอย่างดีทั้งของแห้งและของสด ทำกันใหม่ ๆ วันต่อวัน ลูกค้าจะพูดกันปากต่อปากว่าอาหารที่ร้านอร่อยถูกปาก ราคาไม่แพง ทำให้มีลูกค้าทั้งขาประจำ และขาจรมาอุดหนุนมากมาย บางคนไม่อยากมานั่งรอก็จะโทรฯ มาสั่งล่วงหน้า” ตุ๊กตาเล่า สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ทำผัดไทย หลัก ๆ ก็มี... เตาแก๊ส, กระทะ และเครื่องครัวเบ็ดเตล็ดทั่ว ๆ ไป ส่วนผสมผัดไทยห่อไข่กุ้งสด หรือ “ผัดไทยกุ้งสดห่อไข่” ก็มี... ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์, กุ้งสด หรือกุ้งแห้งเนื้อดี, เต้าหู้เหลืองหั่นลูกเต๋า, ไข่ไก่, หอมแดงสับ, หัวไชโป๊เค็มสับ, น้ำมะขามเปียก, น้ำปลา, น้ำตาลปี๊บ, น้ำมันพืช, น้ำสะอาด, ถั่วลิสงคั่วบุบ, พริกป่น, ถั่วงอก และใบกุยช่ายหั่นท่อน ผักสดที่ใช้แนม ก็จะมี... หัวปลี, ใบบัวบก, ถั่วงอก, ใบกุยช่าย และมะนาวหั่นชิ้น ขั้นตอนการทำก๋วยเตี๋ยวผัดไทยห่อไข่กุ้งสด ขั้นตอนแรกต้องเตรียมเครื่องปรุงทั้งหมดให้พร้อม ทั้งของสด ของแห้ง ล้างให้สะอาด สับหรือหั่นให้เรียบร้อย อาจจะดูเยอะแยะมากมายไปบ้าง แต่การเตรียมเครื่องปรุงแต่ละชนิดอย่างดีนี่แหละ เมื่อนำมาผัดรวมกับเส้นจะได้ก๋วยเตี๋ยวผัดไทยที่มีรสชาติอร่อยกลมกล่อม ดึงดูดลูกค้าให้อุดหนุน ผัดไทยกุ้งสดห่อไข่ ก่อนจะลงมือผัดก็จะต้องทำแผ่นไข่ที่จะใช้ห่อก่อน โดยตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันเพียงเล็กน้อย กลอกน้ำมันให้ทั่วกระทะ ตอกไข่ไก่ 2 ฟองใส่ถ้วย ตีให้เข้ากัน พอกระทะร้อนได้ที่แล้วเทไข่ที่ตีเตรียมไว้ลงไป กลอกให้เป็นแผ่นบาง ๆ ใช้ไฟอ่อน ๆ พอไข่สุกดีแล้วใช้ตะหลิวแซะแผ่นไข่ออกมาวางในจาน เตรียมไว้ห่อเส้น จากนั้นตั้งกระทะ ใช้ไฟปานกลาง ใส่น้ำมันพืชลงไปพอประมาณ เอากุ้งสดที่เตรียมไว้ใส่ลงไปทอดให้สุกเหลือง ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำมัน ตักน้ำมันออกจากกระทะให้เหลือเพียงเล็กน้อย ใส่เต้าหู้เหลืองหั่น หอมแดงสับ หัวไชโป๊เค็มสับ ลงไปผัดคลุกเคล้าให้ทั่ว พอให้มีกลิ่นหอม แล้วใส่เส้นจันท์ลงไปผัด เติมน้ำพอประมาณ (เพื่อให้เส้นสุกและนุ่ม) ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ มะขามเปียก ผัดไปมาให้เส้นเข้ากับเครื่องปรุง เกลี่ยเส้นแล้วตอกไข่ใส่ลงไป ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากันจากนั้นจึงใส่ถั่วงอก และใบกุยช่าย ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดไฟ เทคนิคห่อไข่ นำแผ่นไข่วางแผ่ลงในถ้วยพลาสติก ตักเส้นผัดไทยวางตรงแผ่นไข่ในถ้วย แล้วห่อพับเป็นห่อสี่เหลี่ยม ใช้ใบตองสดปิดบนถ้วย จับคว่ำลงบนจาน หรือภาชนะอื่นที่ใช้ใส่ขาย ใช้มีดกรีดแผ่ไข่ออกให้สวยงาม นำกุ้งที่ทอดเตรียมไว้วางข้างบน เตรียมถั่วงอก กุยช่าย หัวปลี มะนาวหั่นชิ้น น้ำตาลทราย ถั่วลิสงคั่วบุก็เป็นอันพร้อมเสิร์ฟพร้อมขาย ราคาขายก๋วยเตี๋ยวผัดไทยห่อไข่กุ้งสดร้านนี้ ชุดละ 50 บาท ถ้าเป็นแบบธรรมดาไม่ห่อไข่ขาย 40 บาท ใครสนใจ “ช่องทางทำกิน” ลักษณะนี้ ก็ลองไปฝึกทำกันดู หรือต้องการจะลองชิม “ผัดไทยห่อไข่กุ้งสด” สูตรคุณย่า ของร้าน จ๋อ จ๋อ ร้านนี้จะอยู่ตรงถนนประชาอุทิศ เลยสำนักงานเขตดอนเมืองประมาณ 200 เมตร ให้สังเกตขวามือ จะอยู่ตรงข้ามอู่รถ (ร้านปิดวันศุกร์) ต้องการสอบถามทางไปร้านหรือสั่งอาหาร ติดต่อ ตุ๊กตา ได้ที่ โทร. 08-0915-5657 หรือติดต่อ น้องตาล โทร. 08-2652-3626 ทั้งนี้ อาหารนั้นถ้ารู้จักพลิกแพลงให้โดดเด่น ก็มีโอกาสที่จะเป็นสินค้าขายดี!!!. http://www.dailynews.co.th/article/384/223690

Saturday, August 3, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ดอกไม้การบูร’

อาชีพทำสินค้างานประดิษฐ์จำหน่ายถือเป็นอาชีพที่ต้องปรับตัวอยู่เสมอ นอกจากจะต้องปรับตัวให้ทันกับความนิยมของตลาดแล้ว ยังจำเป็นต้องปรับปรุงสินค้าให้มีความแปลกใหม่น่าสนใจตลอดเวลาด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะทำให้สินค้าที่ผลิตมีความหลากหลายมากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มมูลค่า รวมถึงเปิดตลาดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ด้วย อย่างเช่นงาน ’ช่อดอกไม้การบูร“ ฝีมือของ “กาญจนา สดศรี” จ.นนทบุรี ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอให้พิจารณาในวันนี้... กาญจนาเล่าว่า เริ่มทำงานประดิษฐ์จากการบูรหอมนี้มาตั้งแต่ปี 2546 โดยเริ่มจากชิ้นงานที่มีรูปแบบง่าย ๆ อย่างเช่นการบูรหอมบรรจุถุง และซองใส่การบูรหอม ต่อมาก็คิดดัดแปลงสินค้าใน รูปแบบต่าง ๆ ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้า อาทิ การบูรแบบผลไม้, การบูรรูปดอกไม้ เป็นต้น จากนั้นก็คิด ว่าหากนำชิ้นงานที่ทำอยู่มาต่อยอดเพิ่มขึ้น โดยนำมาจัดเป็น ช่อดอกไม้ จัดเป็นแจกัน หรือจัดทำเป็นกระเช้าของขวัญ ก็น่าจะสร้างความน่าสนใจได้ดี ซึ่งหลังจากที่ทำขึ้นก็ปรากฏว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และช่วยทำให้มีกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น สำหรับรูปแบบ “ช่อดอกไม้การบูร” นั้น เป็นการนำงานฝีมือ 3 ชนิด คือการทำดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้าใยบัว, งานการบูรหอม, การจัดช่อดอกไม้ เข้ามาผสมผสานกัน จนเกิดเป็นชิ้นงานที่โดดเด่นน่าสนใจ โดยกลุ่มลูกค้ามีตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงคนทำงาน และชิ้นงานก็เป็นได้ทั้งของขวัญ ของที่ระลึก ของชำร่วย ไปจนถึงกลุ่มของใช้ “สินค้าที่ทำขึ้นมีกลุ่มลูกค้าหลากหลายมาก เพราะสามารถใช้แทนของขวัญ ของที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ เช่น รับปริญญา งานเกษียณ หรือจะนำไปจัดตกแต่งบ้าน หรือสถานที่ทำงานก็ได้” กาญจนากล่าวถึงชิ้นงาน ทุนเบื้องต้นสำหรับทำอาชีพ ทำชิ้นงานรูปแบบนี้ ใช้ประมาณ 2,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 60% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มต้นที่ราคา 18 บาท ไปจนถึง 800 บาท ขึ้นกับชนิด ขนาด และความยากง่ายของชิ้นงาน วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ประกอบด้วย กระดาษสา, ผ้าใยบัว, การบูรหอม, ก้านดอกไม้, ลวดดัดขนาดเล็ก สำหรับใช้ทำโครงสร้างดอกไม้, กาวแห้ง (กาวยูฮู), กาวใส, คัตเตอร์, กรรไกร, เข็มกับด้าย, คีมปากจิ้งจก และวัสดุสำหรับใช้ตกแต่งต่าง ๆ เช่น เกสรดอกไม้, ฟลอร่าเทป (เทปพันก้านดอกไม้), ใบไม้ประดิษฐ์ ใช้สำหรับตกแต่งดอกไม้, โบกับริบบิ้น, แจกัน, กระถาง, หินสี สำหรับโรยเพื่อตกแต่งชิ้นงาน เป็นต้น ซึ่งวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้หาซื้อได้ตามร้านงานประดิษฐ์ทั่วไป ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการนำลวดดัดมาขึ้นโครงเพื่อสร้างรูปทรงของดอกไม้ โดยให้ม้วนลวดเป็นรูปวงกลม จากนั้นนำผ้าใยบัว เลือกสีตามที่ต้องการมาทำการพันหุ้มให้รอบโครงลวด บรรจุการบูรหอมตรงกลางผ้าใยบัว จากนั้นใช้ด้ายมัดรวบปลายของผ้าใยบัวนั้นให้แน่น ทำการดัดลวดให้ได้รูปทรงของดอกไม้ที่ต้องการทำหรือที่ออกแบบเอาไว้ ก็จะได้ดอกไม้ 1 ดอก (ดอกคลาร่า) หรือได้กลีบดอกไม้ 1 กลีบ ต่อมาให้นำเกสรดอกไม้มาประกอบเข้ากับตัวดอก ทำการมัดด้วยด้ายให้แน่นอีกครั้ง จากนั้นประกอบเข้ากับก้านดอกไม้ที่เตรียมไว้ ใช้ด้ายมัดรวบให้ก้านกับดอกไม้ยึดติดกัน นำใบไม้ประดิษฐ์ที่เตรียมไว้มาประกอบเข้ากับก้าน ใช้ฟลอร่าเทปหรือเทปพันก้านดอกไม้พัน จากนั้นนำไปประกอบเข้าช่อรวมกัน ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำช่อดอกไม้การบูร 1 ช่อ “ขั้นตอนทำไม่มาก แต่ต้องอาศัยเวลาพอสมควร โดยเฉพาะการทำดอกไม้ ซึ่งอาจใช้วิธีทำครั้งละหลายดอก หลายชนิด เตรียมไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมาประกอบช่อเข้ากัน” กาญจนากล่าวแนะนำ นอกจากรับผลิตเพื่อจำหน่ายและผลิตตามคำสั่งลูกค้าแล้ว หากใครสนใจอยากเรียนรู้อย่างรู้ลึก-รู้จริง กาญจนาบอกว่ายินดีถ่ายทอดให้ชนิดไม่หวงวิชา ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหาอาชีพเสริม เนื่องจากงานฝีมือชนิดนี้ลงทุนน้อย ขั้นตอนไม่ยากมาก อีกทั้งยังต่อยอดได้หลากหลาย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ทำมาเธอยืนยันว่า...ตลาดยังไม่ตันแน่นอน สนใจติดต่อ กาญจนา สดศรี ติดต่อได้ที่ โทร.08-5551-2385 ซึ่ง ’ช่อดอกไม้การบูร“ นี่ก็เป็นอีกชิ้นงานหนึ่งที่พัฒนา-ดัดแปลงจากสินค้ารูปแบบเดิม ๆ ด้วยไอเดียน่าสนใจ ทำให้ขายได้ราคาเพิ่มขึ้น ด้วยการนำเทคนิคงานฝีมือชนิดต่าง ๆ มาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว จนเป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ. คู่มือลงทุน…ช่อดอกไม้การบูร ทุนเบื้องต้น ประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป ทุนวัสดุ ประมาณ 60% จากราคาขาย รายได้ ราคาขายช่อละ 18-800 บาท แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด กลุ่มของขวัญ ของที่ระลึก จุดน่าสนใจ ลงทุนน้อย ขายฝีมือราคางาม ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/223253

Saturday, July 27, 2013

แนะนำอาชีพ ‘กระเป๋าผ้าขาวม้า’

“ผ้าขาวม้า” ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และด้วยลวดลายก็มีหลากหลาย บวกกับสีสันที่สวยสดใส ปัจจุบันจึงมีการนำผ้าขาวม้ามาประยุกต์ดัดแปลงทำเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย ซึ่ง “กระเป๋าผ้าขาวม้า” นี่ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผ้าขาวม้าทำออกมาได้อย่างสวยงาม เป็นสินค้าประเภทงานแฮนด์เมดที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้สร้างสรรค์ได้ดีไม่แพ้ผลิตภัณฑ์อื่น และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำมานำเสนอ… ****** เก็บตกจากการที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดงาน “37 ปี เทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ราชมงคลธัญบุรี สร้างคุณค่าสู่สังคมไทย” เมื่อวันที่ 17-18 ก.ค. 2556 ที่ผ่านมา ภายในงานมีการสาธิต อบรม สอนอาชีพหลากหลายอาชีพ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีการสอนการทำ “กระเป๋าผ้าขาวม้า” กระเป๋าผ้าที่ทำจากผ้าขาวม้า อ.ศรุต สุขสวัสดิ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีคหกรรม ศาสตร์ ภาควิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้า บอกว่า สำหรับผ้าขาวม้านั้น โดยส่วนตัวมองว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย เป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ผู้ทำก็อาจจะทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ ใช้เวลาว่างมาทำเพื่อเสริมรายได้ อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ผ้าขาวม้าและส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย ด้วยคุณสมบัติของผ้าขาวม้าที่มีเนื้อผ้าที่หลากหลาย มีลวดลายและสีสันที่สวยสดใส ผ้าขาวม้าจึงสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เนื้อผ้า อย่างการนำผ้าขาวม้ามาดัดแปลงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋า การออกแบบก็สามารถทำได้หลายแบบหลายทรง อาทิ กระเป๋าถุงผ้า, กระเป๋าย่าม, กระเป๋าอเนกประสงค์, กระเป๋าใส่โทรศัพท์ เป็นต้น หรือจะนำผ้าขาวม้ามาทำเป็นเสื้อ หรือใช้ผ้าขาวม้ากับงานห่อปกก็ได้ “สำหรับการทำกระเป๋าผ้าขาวม้า เป็นงานแฮนด์เมด ทำด้วยมือ สามารถเพิ่มรูปแบบ แตกรายสินค้าได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับไอเดีย และความสามารถของแต่ละบุคคล” อ.ศรุต กล่าว ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็ได้หยิบยกการทำกระเป๋าผ้าขาวม้าแบบ “กระเป๋าถุงผ้า” ที่สามารถเปลี่ยนทรงกระเป๋าได้ถึง 4 รูปแบบ มานำเสนอ... “การทำกระเป๋าถุงผ้าจากผ้าขาวม้า ก็ทำได้หลายขนาด แล้วแต่ต้องการ แต่ไม่ควรทำไซซ์ที่เล็กกว่า 20 เซนติเมตร เพราะกระเป๋าที่ทำออกมาจะเล็กเกินไป” อ.ศรุต กล่าวแนะนำ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ก็มีดังนี้คือ...ผ้าขาวม้า, ผ้าคอตตอน, ชอล์กเขียนผ้า, เชือก (สำหรับทำเป็นสายรูดปิดปากกระเป๋า), อุปกรณ์ตัดเย็บ พวก เข็ม ด้าย กรรไกร เป็นต้น ขั้นตอนการทำ...เริ่มจากการตัดกระดาษเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตามขนาดที่ต้องการทำเป็นแพตเทิร์น จากนั้นก็เลือกผ้าขาวม้าตามลายและสีที่ต้องการ ใช้แพตเทิร์นวางลงบนผ้าขาวม้า ใช้ชอล์กขีดเส้นตามแพตเทิร์น ใช้กรรไกรตัดตามแพตเทิร์นให้ห่างจากเส้นที่ขีดไว้ประมาณ 1 เซนติเมตร ก็จะได้ผืนผ้าขาวม้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เตรียมไว้ แล้วก็ทำการตัดผ้าคอตตอนให้ได้ขนาดเท่ากับผ้าขาวม้าอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งสีผ้าคอตตอนที่เลือกจะต้องเข้ากับสีของผ้าขาวม้าที่ใช้ด้วย เมื่อได้ผ้าแบบ เป็นผ้าขาวม้า 1 ชิ้น ผ้าคอตตอน 1 ชิ้น ก็นำผ้าทั้ง 2 มาประกบกัน จากนั้นทำการเย็บผ้าทั้ง 2 ชิ้นให้ติดกัน โดยเย็บตามเส้นที่ใช้ชอล์กขีดไว้ จะใช้มือเย็บหรือจะใช้จักรเย็บก็ได้ แต่จะต้องเย็บให้แน่นหนา เย็บให้รอบจนเกือบครบรอบ โดยให้เหลือช่องไว้เล็กน้อย จากนั้นก็กลับด้านเอาด้านนอกออกมา ทำการเย็บปิดช่องให้เรียบร้อย (เหมือนการเย็บทำหมอน เพียงแต่ไม่ต้องยัดนุ่นหรือใยสังเคราะห์เข้าไป) เมื่อเย็บเสร็จ ก็จะได้เป็นผ้าทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จากนั้นก็ทำการพับผ้าให้เป็นรูปสามเหลี่ยม โดยเอาด้านที่เป็นผ้าขาวม้าออกด้านนอก แบ่งผ้าที่พับเป็นสามเหลี่ยมออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยการพับเข้าหากัน หลังจากที่แบ่งส่วนเท่ากันแล้ว ใช้ชอล์กขีดเส้นตรงรอยที่พับแบ่ง แล้วใช้เข็มเย็บตามรอยขีดทั้ง 2 ด้าน เสร็จแล้วก็วัดจากรอยเย็บขึ้นไปด้านบนยอดประมาณ 1 นิ้ว เมื่อวัดได้แล้วก็พับลงมาครึ่งหนึ่ง ทำการเย็บตามแนวเส้นที่ขีดไว้ สำหรับทำเป็นปากถุงใส่เชือกไว้รูดปิด-เปิด ขั้นตอนสุดท้ายก็เป็นการพับก้นถุงผ้า ซึ่งสามารถพับและปรับได้ 4 แบบ ตามแต่ต้องการ ทั้งนี้ การออกแบบการทำกระเป๋าจากผ้าขาวม้าของ อ.ศรุตนั้น สำหรับเผยแพร่ให้ความรู้กับชุมชนหรือหน่วยงานที่สนใจอยากเรียนรู้ ไม่ได้มุ่งทำขาย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนสำหรับการทำกระเป๋าถุงผ้าขนาด 60 เซนติเมตร จะอยู่ที่ประมาณ 90 บาท ซึ่งการทำเป็น “ช่องทางทำกิน” การตั้งราคาขาย ก็สามารถจะตั้งได้ที่ประมาณ 135 บาท ****** สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการทำ “กระเป๋าผ้าขาวม้า” ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป ชุมชน หรือหน่วยงาน ทาง อ.ศรุต สุขสวัสดิ์ ยินดีให้ความรู้การทำ ซึ่งสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้ที่เบอร์ 0-2549-3161, 08-5675-4415. http://www.dailynews.co.th/article/384/221799