Monday, August 10, 2009

กระปุกออมสินไม้ไผ่จากเมือง3หมอก

กระปุกออมสินไม้ไผ่จากเมือง3หมอก

ไม้ ไผ่เป็นพืชที่พบได้ในพื้นที่ทั่วๆ ไป และนับว่าเป็นพืชที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องประดับ เครื่องใช้ต่างๆ
โดย ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนี้เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีต้นไผ่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป และมีเป็นจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่จึงนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ รวมถึงทำเป็นของฝากและของที่ระลึกต่างๆ มากมาย

เมื่อเทียบกับสังคมเมืองที่มีแต่การใช้โลหะ พลาสติก และวัสดุต่างๆ ที่มีการคิดค้นขึ้นมาแล้ว ในกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับตรงกันข้าม นั่นคือพยายามนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ ในส่วนของประปุกออมสินนั้นในเมืองก็นิยมทำมาจากโลหะ หรือปูนปาสเตอร์ แต่ในสังคมที่อยู่กับธรรมชาติแล้ว สามารถที่จะประยุกต์หรือสรรหามาได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะทำมาจากดิน กะลามะพร้าว หรือกระบอกไม้ไผ่

ในส่วนของการทำกระปุกออมสินจากไม่ไผ่นั้น จริงๆ แล้วเป็นผลพลอยได้จากการตัดไม้ไผ่ ซึ่งเกิดจากการตัดไม้ไผ่นำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ตัดมาทำบ้านเรือน เครื่องจักสาน หรือเครื่องประดับ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีไม้ไผ่บางส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เหลืออยู่บ้าง ซึ่งก็เพียงแค่การหาไม้ไผ่ที่มีขนาดพอเหมาะ ตามความต้องการของแต่ละคน อาจจะขนาดเล็กบ้าง ขนาดใหญ่บ้างตามชอบ เมื่อได้มาก็ตัดหัวตัดท้ายให้เหลือเพียงแค่ปล้องเดียว แล้วก็เจาะรูที่ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้สามารถใส่เหรียญหรือใส่แบงค์ลงไปได้

ปัจจุบันนี้เมื่อเดินทางไปในส่วนต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจจะได้พบกับภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ขายโดยทั่วไป อาจจะมีการตกแต่งบ้าง หรืออาจจะคงสภาพแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ตกแต่งเลย ราคาก็ 10 - 30 บาท ตามแต่ละขนาด จากสิ่งที่หลายๆ คนมองว่าไม่มีค่าก็อาจจะมีค่าขึ้นมาได้

สิ่งของที่อยู่รอบตัวเรา หากเรามองว่าไม่มีค่า สิ่งนั้นก็จะไม่มีค่าอยู่เช่นนั้นตลอดไป แต่หากเรามองให้มีค่า สิ่งนั้นก็จะมีค่าขึ้นมาทันที แม้ขยะยังมีค่าสำหรับคนหลายๆ คน แม้มูลหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ก็ยังมีค่า เพราะฉะนั้นลองมองรอบๆ ตัวดู ว่าอะไรบ้างที่เรามองว่าไม่มีค่าแล้วอยู่กับเรา สิ่งนั้นอาจจะมีค่าสำหรับผู้อื่นก็ได้ จงใช้ หรือจงให้ เพื่อสิ่งเหล่านั้นจะได้ไม่ไร้ค่าอีกต่อไป

นอกจากนี้ทุกสิ่งล้วนมีคุณค่า แล้วคุณล่ะ มีคุณค่าหรือไม่

ที่มา : วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

No comments: