Sunday, July 31, 2011

แนะนำอาชีพ 'เส้นบะหมี่ไข่'

ปัจจุบันอาหารจานเส้นเข้ามามีบทบาทกลายเป็นอาหารจานหลักของคนไทยทั่วไป มีคนหันมาทำอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็เปิดช่องว่างอาชีพผลิตวัตถุดิบองค์ประกอบในการขายก๋วยเตี๋ยวให้กว้าง ขึ้น และวันนี้ทางทีมงาน “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำ “เส้นบะหมี่ไข่” ขาย ซึ่งหาตลาดขายได้ไม่ยาก มาให้ลองพิจารณากัน...

สุปรีชา หงส์สวาสดิวัฒน์ หรือ “อากู๋ชา” เจ้าของสูตร “บะหมี่ไข่” และเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวที่ จ.ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า สู้ชีวิตมานาน กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ผ่านอะไรมามากมาย และเปลี่ยนอาชีพมาหลากหลายอาชีพ เริ่มตั้งแต่ช่วงเป็นวัยรุ่นก็รับจ้างปั้นโอ่ง ทำอยู่นานหลายปีก็เบื่ออาชีพลูกจ้าง จึงขยับขึ้นมาขายโอ่งแทน แต่อาชีพนี้ก็มีค่าใช้จ่ายมาก ทั้งค่าขนส่ง ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายจิปาถะ จึงเปลี่ยนเป็นประกอบอาชีพค้าขายอย่างอื่น อาทิ ฟูก ที่นอน แต่ก็ทำได้ไม่เวิร์ก เลยเปลี่ยนเป็นขายของกินตามตลาดนัด อย่าง ปลาทู หอยแมลงภู่ กุ้ง เรียกว่าขายสารพัดอย่างที่มีกำไรเลี้ยงครอบครัว

“แล้วต่อมาก็ขายผลไม้ ทำประมาณ 2 ปีก็ยังไม่ดีขึ้น ไม่เหลือเงินเก็บ สุดท้ายพี่สาวก็เลยบอกให้ลองขายก๋วยเตี๋ยวดู ผมก็โอเคเลย เพราะมีคนสอนวิธีทำให้ ขายก๋วยเตี๋ยวได้ระยะหนึ่งก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 3 ปีก็หันมาทำลูกชิ้นเอง เพราะแต่ละวันเราใช้ลูกชิ้นเยอะ ก็ต้องเอาต้นทุนไปลงค่าลูกชิ้นวันหนึ่งเกือบ 2 ใน 3 ของรายได้ พอทำลูกชิ้นเอง ก๋วยเตี๋ยวยิ่งขายดีกว่าเดิม ต่อมาก็ทำบะหมี่และเกี๊ยวเองเพิ่มเติม โดยเรียนจากผู้ที่เคยทำอาชีพนี้มาก่อนแล้ว ซึ่งสูตรทุกอย่างที่ได้มา จะนำมาปรับให้เป็นสูตรของตัวเอง” เจ้าของช่องทางทำกินรายนี้เล่า

นอกจากขายก๋วยเตี๋ยวแล้ว อากู๋ชายังทำลูกชิ้นหมูขายด้วย ในราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 120 บาท และขายส่งกิโลกรัมละ 100 บาท

สำหรับการทำ “เส้นบะหมี่ไข่” นั้น อุปกรณ์ในการทำหลัก ๆ ก็มี เครื่องนวด, เครื่องกระแทกอัดแน่น, เครื่องรีด นอกนั้นก็จะเป็นอุปกรณ์ครัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ

ส่วนผสม/วัตถุดิบการทำ “เส้นบะหมี่ไข่” หลัก ๆ ก็มี แป้งสาลี, โซเดียมคาร์บอเนต, ไข่ไก่, เกลือป่น, น้ำสะอาด และแป้งนวลที่ใช้สำหรับโรยบะหมี่

ขั้นตอนการทำ “เส้นบะหมี่ไข่” เริ่มจากนำแป้งสาลีมาร่อน 3-4 ครั้งเพื่อให้แป้งเบา ตั้งพักไว้ในอ่างผสม ทำเป็นบ่อตรงกลางแป้ง ละลายเกลือป่นและโซเดียมคาร์บอเนตในน้ำสะอาด ตอกไข่ไก่ใส่ตามลงไป ตีให้เข้ากัน เสร็จแล้วเทลงไปผสมกับแป้งสาลี ทำการนวดให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี นำเข้าเครื่องกระแทกแป้งให้แน่น เสร็จเอาผ้าขาวบางชุบน้ำบิดหมาด ๆ คลุมปิดไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง (ในขั้นตอนนี้หากไม่มีเครื่องนวดและเครื่องกระแทกแป้ง ก็ใช้มือนวดไปเรื่อย ๆ ขณะนวดก็ทุ่มน้ำหนักมือไปที่แป้ง นวดจนแป้งเหนียวนุ่ม มีความยืดหยุ่น เด้ง ๆ ดีแล้วก็พักไว้)

ต่อไปเป็นขั้นตอนการรีดแป้งเป็นแผ่น โดยโรยแป้งนวลลงบนกระบะที่จะรีดแผ่นแป้งเตรียมไว้ จากนั้นนำส่วนผสมแป้งที่ได้มาเข้าเครื่องรีด ทำการรีดทับให้เป็นแผ่นยาว ไล่จากหนาไปหาบางตามความต้องการ เสร็จแล้วนำแป้งนวลมาโรยเส้นบะหมี่ที่ได้ แล้วจับให้เป็นก้อนด้วยมือ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย สำหรับจุดเด่นของเส้นบะหมี่ไข่เจ้านี้นั้น อากู๋ชาบอกว่า อยู่ที่ความเหนียว นุ่ม ยืดหยุ่น และก้อนใหญ่ โดยแต่ละก้อนน้ำหนักอยู่ที่ 100 กรัม หรือเท่ากับ 2 ก้อนของบะหมี่ที่วางขายตามตลาดทั่ว ๆ ไป การเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งจะอยู่ได้ประมาณ 3-4 วัน หากเก็บไว้นานไปเมื่อนำไปใช้เส้นจะเละ

ใครสนใจ “เส้นบะหมี่ไข่” และลูกชิ้น ของอากู๋ชา ก็ต้องไปที่ร้าน ปรีชาลูกชิ้นหมู ปรีชาบะหมี่เกี๊ยว เลขที่ 73/2 หมู่ 10 ต.เจดีย์หัก อ.เมือง จ.ราชบุรี อยู่บริเวณสามแยกเขางู ซึ่งร้านนี้ทำเงินจากการรับจัดงานนอกสถานที่ได้ด้วย โดยคนที่สนใจเรียนรู้การทำบะหมี่ แผ่นเกี๊ยว ลูกชิ้น เพื่อเป็น “ช่องทางทำกิน” ลองติดต่อสอบถามไปที่ โทร. 08-1197-5780 และ 08-1668-3998.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=154088

Friday, July 29, 2011

แนะนำอาชีพ 'พวงมาลัยโครเชต์'

ช่วงเทศกาล “วันแม่” ที่ปีนี้ก็ใกล้จะมาถึง ของขวัญของที่ระลึกยอดนิยมหนีไม่พ้น “พวงมาลัย”สารพัดชนิด ซึ่งทีมคอลัมน์ ’ช่องทางทำกิน“เองก็เคยนำเสนอไปหลากหลายรูปแบบ ทั้งพวงมาลัยดอกมะลิ-ดอกไม้สด พวงมาลัยประดิษฐ์จากดินปั้น แม้กระทั่งพวงมาลัยจากสบู่ แต่ในตลาดก็มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ออกมาเรื่อย ๆ และที่จะนำเสนอวันนี้นี่ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่าสนใจ กับงานประดิษฐ์ ’พวงมาลัยโครเชต์“…

“วชิรา ศรีสวัสดิ์อำไพ” เจ้าของผลงาน เล่าว่า ประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่ด้วยความเป็นคนชอบงานประดิษฐ์ โดยเฉพาะงานถักโครเชต์ จึงมักอาศัยเวลาว่างหยิบจับหัดทำเพื่อมอบให้คนรู้จักเป็นประจำ สำหรับ “พวงมาลัยโครเชต์”นี้ได้ไอเดียเมื่อปีที่แล้วที่ต้องการของขวัญ เพื่อมอบให้มารดาของตนเอง ซึ่งพวงมาลัยดอกมะลิและดอกไม้สดที่สวย ๆ ก็มักจะมีราคาแพงและไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน จึงมาคิดว่าตนเองก็มีความรู้เกี่ยวกับการถักโครเชต์อยู่ น่าจะสามารถดัดแปลงและทำเป็นงานเลียนแบบพวงมาลัยดอกไม้สดได้ จึงหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหารูปแบบและลวดลายที่จะนำมาใช้

หลังจากทำเสร็จก็ยังไม่คิดที่จะขาย แต่ปรากฏว่ามีคนรู้จักได้เห็นและชอบในรูปแบบพวงมาลัยโครเชต์ จึงได้รับการติดต่อให้ทำเพื่อที่จะนำไปมอบเป็นของขวัญของที่ระลึก ตนจึงคิดประดิษฐ์พวงมาลัยออกมาหลายรูปแบบ และเพิ่มจุดเด่นของสินค้าด้วยการเพิ่ม “กลิ่นดอกมะลิ”เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของวันแม่ จากนั้นจึงต่อยอดและลงประกาศขายโดยอาศัยช่องทางในเฟซบุ๊ก www.facebook.com/ThaiGarland โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะต้องสั่งจองล่วงหน้าเพราะเป็นงานฝีมือและค่อนข้างต้อง ใช้เวลาในการทำ

สำหรับจุดเด่นของพวงมาลัยโครเชต์นั้น เจ้าของผลงานกล่าวว่า นอกจากกลิ่นดอกมะลิแล้ว อีกจุดเด่นก็คือสามารถเก็บรักษาและใช้งานได้นานกว่าพวงมาลัยดอกไม้สด ดังนั้น นอกจากลูกค้าจะใช้มอบเป็นของขวัญที่ระลึกในเทศกาลวันแม่แล้ว ลูกค้าบางส่วนก็นิยมนำไปเป็นพวงมาลัยสำหรับบูชาพระอีกด้วย

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ไม่มาก อยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 50% ของราคาขาย โดยรายได้-ราคาขายสำหรับพวงมาลัยโครเชต์ทุกพวงอยู่ที่ 600 บาท

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ มีอาทิ เข็มถักโครเชต์, ไหมพรม (สีแดง สีขาว สีชมพู สีเขียว สีเหลือง) สำหรับถัก, กลิ่นดอกมะลิสังเคราะห์ (หัวน้ำหอม) และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ โดยสามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ถักโครเชต์ทั่วไป

ขั้นตอนการทำ จะแบ่งเป็นการถัก 2 ส่วน คือ การถักพวงมาลัย และการ ถักดอกประกอบ หรือที่เรียกว่าทำอุบะ เพื่อจะได้นำทั้งสองส่วนเชื่อมต่อกันจนเป็นพวงมาลัย 1 พวง สำหรับการถักพวงมาลัยนั้น จะใช้วิธีการถักลายที่เรียกว่า “ลายเมล็ดข้าวโพด”โดยเริ่มต้นด้วยการถักโซ่ ซึ่งวิธีการคิดนั้น โดยทั่วไปจะใช้สูตรการคำนวณคือ จำนวนโซ่เริ่มต้น ลบด้วยจำนวนเม็ดข้าวโพด แล้วก็คูณ 2 โดยผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นจำนวนโซ่ที่จะเริ่มถัก เมื่อถักได้จำนวนโซ่ที่ต้องการแล้ว จากนั้นก็ให้ทำการร้อยให้เป็นวงกลม

และสำหรับการถักอุบะก็ใช้วิธีการถักเมล็ดข้าวโพดเหมือนกัน รวมถึงการถักดอกกุหลาบก็ใช้การถักลายเมล็ดข้าวโพดเช่นกัน

เมื่อถักตัวพวงมาลัยเสร็จแล้ว จากนั้นก็ให้ยัดข้างในพวงมาลัยด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ผสมกลิ่นดอกมะลิ เตรียมไว้ ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการยัดเส้นใยโพลีเอสเตอร์ด้วยนั้น ก็เพื่อให้พวงมาลัยมีน้ำหนักและเพิ่มความนุ่ม อีกทั้งยังเป็นการเสริมโครงและรูปทรงของพวงมาลัย

เทคนิคสำคัญที่เจ้าของผล งานนี้แนะนำก็คือ การยัดเส้นใยโพลีเอสเตอร์ อย่ายัดให้แน่นจนเกินไป ให้ยัดแค่พอดี ๆ จากนั้นจึงค่อยทำการดัดพวงมาลัยให้เป็นรูปโค้ง พวงมาลัย จะเกิดเป็นรูปทรงกลมได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหากไม่ทำ การยัดเส้นใยโพลีเอสเตอร์ พวงมาลัยก็จะดูแบน และไม่โค้งเป็นรูปวงกลม

ยัดเส้นใยโพลีเอสเตอร์แล้ว ก็นำส่วนประกอบที่เตรียมไว้มาร้อยเชื่อมเข้าด้วยกัน เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

“คำแนะนำสำหรับการเลือกไหมพรมนั้น แนะนำให้เลือกไหมพรมที่มีเส้นค่อนข้างนิ่ม และอย่าใช้ไหมพรมสำหรับการถักตุ๊กตาเพราะเส้นไหมพรมจะแข็งและกระด้าง ทำให้ช่องว่างระหว่างเม็ดห่าง ทำให้ไม่สวย” เจ้าของผลงานแนะนำ

ใครสนใจ ’พวงมาลัยโครเชต์“ นอกจากมีช่องทางดูผลงานทางเฟซ บุ๊กดังที่ว่ามาข้างต้นแล้ว ยังสามารถติดต่อวชิรา-เจ้าของผลงานได้ที่ โทร.08-9128-2525 หรือที่อีเมล wachiras@hotmail.com ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่ง ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ ที่เหมาะสำหรับคนที่สนใจงานประเภทโครเชต์ เป็นอีกหนึ่งไอเดียทำเงิน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันแม่.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=153886

Friday, July 22, 2011

แนะนำอาชีพ 'คุกกี้ต้มยำกุ้ง'

คุกกี้ต้มยำกุ้งสมุนไพร“ เป็นการนำขนมทานเล่นที่ทุกคนรู้จัก กับอาหารคาวที่ขึ้นชื่อของไทยอย่างต้มยำกุ้ง มาทำการผสมผสานเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว กลายเป็นขนมคุกกี้รสชาติใหม่ที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า วันนี้ทีมงาน ’ช่องทางทำกิน“ มีเรื่องราวการพลิกแพลงคิดทำเมนูใหม่เมนูนี้มานำเสนอให้ลองพิจารณาเป็นกรณี ศึกษา...

นุ้ก-ภาวิณี ธนภัทรพงศ์ เจ้าของสูตร คุกกี้ต้มยำกุ้งสมุนไพร เล่าว่า เริ่มจากเป็นคนที่ชอบทานขนม จากนั้นก็เริ่มหัดทำเองแรก ๆ ก็ทำแจกเพื่อน ๆ จนเริ่มมีคนรู้จักและได้รับการตอบรับดี จึงเริ่มทำเพื่อจำหน่าย โดยใช้ชื่อแบรนด์ “Bakery Story”ขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ เพราะว่าตอนเริ่มต้นนั้นยังทำงานประจำที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งอยู่ด้วย ซึ่งหลังจากทำงานประจำอยู่ระยะหนึ่งก็อยากเปิดร้านอาหารเป็นธุรกิจของตัวเอง จึงออกจากงานมาเปิดร้านอาหารด้วย

จากนั้นก็มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมการทำธุรกิจอาหารในโครงการ เชฟไทย สู่ครัวโลก ได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนในการประกอบธุรกิจร้านอาหาร จากที่อบรม สำหรับสูตรการทำ คุกกี้ต้มยำกุ้งสมุนไพร ก็คิดขึ้นมาตอนที่ได้เข้าอบรมกับโครงการนี้ จากการที่ถนัดด้านการทำเบเกอรี่ ขนม และคิดว่าต้มยำกุ้งเป็นอาหารที่ชาวต่างชาติรู้จักดี จึงทดลองนำมาผสมผสานรวมกัน ก็ใช้เวลาทดลองทำอยู่ 2 สัปดาห์ ปรับปรุงสูตร-รสชาติลงตัว และประกวดได้รางวัลรองชนะเลิศ

ทำให้คุกกี้ตัวนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น ตอนนี้นุ้กก็เปิดร้านอาหารเป็นของตัวเองชื่อร้าน “ตำเว้ย!!”เป็นร้านขายส้มตำที่มีคอนเซปต์เป็นส้มตำอินเตอร์ มีส้มตำหลากหลายแบบ แถมยังมีข้าวเหนียวสมุนไพร 7 สี ไว้ให้ลูกค้าได้เลือกทาน และก็ขายเบเกอรี่ควบคู่ไปด้วย

“สำหรับคุกกี้ต้มยำกุ้งสมุนไพร ตอนนี้เป็นพระเอกของที่ร้านไปแล้ว ซึ่งคุกกี้ต้มยำกุ้งสมุนไพรมีส่วนผสมของสมุนไพรไทยหลากหลายที่มีประโยชน์ เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก มะนาว เป็นต้น และคุกกี้ก็จะมีรสชาติเดียวกับการรับประทานต้มยำกุ้ง” นุ้กกล่าว

วัตถุดิบและสูตรการทำคุกกี้ต้มยำสมุนไพรนั้น มีดังนี้คือ... ในส่วนของเครื่องต้มยำ ตามสูตรก็มี ข่า 10 แว่น, ตะไคร้ 18 ก้าน, ใบมะกรูด 25 ใบ, ผักชีฝรั่ง 100 กรัม, หอมแดง 5 หัว, พริกขี้หนูสด 12 เม็ด, มะนาว 4 ลูก, กะทิ 2 ช้อนโต๊ะ, เกลือเล็กน้อย ส่วนกุ้งนั้นจะใช้เป็นกุ้งอบแห้ง กิโลกรัม

กุ้งอบแห้งก็คือการนำกุ้งสดไปทำการอบในเตาอบ เพื่อให้น้ำในตัวกุ้งระเหยออกจนหมด ใช้ความร้อนประมาณ 150 องศาเซลเซียส อบประมาณ ชั่วโมง

ส่วนผสมแป้งคุกกี้ ตามสูตรก็มี... แป้งอเนกประสงค์ 480 กรัม, ผงฟู 2 ช้อนชา, เนยสด 300 กรัม, เนยขาว 50 กรัม, น้ำตาลทราย 120 กรัม, น้ำตาลไอซิ่ง 60 กรัม, เกลือ 1 ช้อนชา

จากสูตรที่ว่ามาจะทำคุกกี้ได้ประมาณ 1 กิโลกรัม

วิธีการทำ... เริ่มจากการเตรียมแป้งคุกกี้ก่อน โดยการนำแป้งอเนกประสงค์มาใส่ตะแกรงร่อนเอาเนื้อแป้งที่ละเอียด สำหรับผงฟูและเกลือ ก็ให้ทำการร่อนด้วยเหมือนกัน จากนั้นก็นำทั้ง 3 อย่างมาผสมเข้าด้วยกัน ทำการคลุกเคล้าให้เข้ากัน พักเตรียมไว้

ขั้นตอนต่อไปก็นำเนยสดชนิดจืดทั้งหมดใส่ลงไปในเครื่องตีไฟฟ้า (เครื่องตีไข่แบบใช้ไฟฟ้า) ทำการเดินเครื่องตี ใช้ความแรงระดับต่ำ ตีเนยสดไปเรื่อย ๆ จนเนยฟูเหมือนครีม แล้วก็ใส่เนยขาวลงไปตีให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นก็ค่อย ๆ ใส่น้ำตาลทรายลงไปทีละน้อยจนหมด (ต้องค่อย ๆ ทยอยใส่เพื่อไม่ให้น้ำตาลจับกันเป็นก้อน) ตามด้วยน้ำตาลไอซิ่ง ทำการตีไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ดูจนเนื้อเนียนฟู ก็ให้ทำการใส่แป้งที่เตรียมไว้ลงไป ตีให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้เวลาประมาณ 8-10 นาที จึงนำแป้งคุกกี้ที่เสร็จแล้วไปพักไว้ในตู้เย็น

จากนั้นก็มาเตรียมเครื่องต้มยำ เริ่มจากนำผักสมุนไพรทุกอย่าง พวก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ผักชีฝรั่ง หอมแดง พริกขี้หนูสด ปั่นให้ละเอียดที่สุด เพื่อที่เวลาใช้ทำคุกกี้แล้วคุกกี้จะไม่แข็ง แล้วก็นำกุ้งอบแห้งมาทำการสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ

เมื่อเตรียมเครื่องต้มยำเสร็จแล้ว นำแป้งคุกกี้ออกมาจากตู้เย็น ใส่ส่วนผสมเครื่องต้มยำและกุ้งลงไปผสมในแป้งคุกกี้ และใส่น้ำมะนาวกับกะทิลงไป (ใส่กะทิเพื่อให้มีกลิ่นหอม) จากนั้นใช้ไม้พายคนคลุกเคล้าให้เข้ากัน

หลังทำการผสมแป้งคุกกี้กับเครื่องต้มยำเข้ากันแล้ว ก็ทำการหยดแป้งให้เป็นชิ้น ขนาดประมาณเหรียญ 10 บาท ใช้ส้อมกดให้แป้งแบออกเพื่อให้แป้งบางลงด้วย เพื่อที่เวลาอบแล้วคุกกี้จะสุกถึงเนื้อใน ทำการหยดจนเต็มถาด อาจใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ด้วย แล้วก็นำไปเข้าเตาอบ ใช้ไฟ 180 องศาเซลเซียส อบประมาณ 15 นาที คุกกี้ก็จะสุกได้ที่ นำออกมาทำการแซะคุกกี้ออกจากถาดอบ ไปวางเรียงไว้บนตะแกรง ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วก็ทำการบรรจุใส่บรรจุภัณฑ์ โดยบรรจุแค่ถุงละชิ้นเพื่อที่คุกกี้จะได้ไม่แตกหัก จากนั้นก็บรรจุใส่กล่อง ๆ ละ กิโลกรัม ก็จะได้ประมาณ 28-30 ชิ้น โดยประมาณ“คุกกี้ต้มยำกุ้งสมุนไพร”1กล่อง กิโลกรัม ราคาขาย 300 บาท

สำหรับผู้ที่สนใจ ’คุกกี้ต้มยำกุ้งสมุนไพร“ และเบเกอรี่แบรนด์ Bakery Story อีกหลากหลายฝีมือที่ นุ้ก-ภาวิณีทำ คลิกเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ www.bakerystoryonline.com หรือจะไปซื้อ-ไปชิมที่ “ร้านตำเว้ย!!”ร้านนี้อยู่ที่เลขที่ 189/188 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ร้านเปิดทุกวันช่วง 11.00-21.00 น. เบอร์โทรศัพท์คือ 08-6544-8785, 08-7406-3822 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=152599

Sunday, July 17, 2011

แนะนำอาชีพ "ด้นผ้า"

ศิลปะการด้นผ้า จัดว่าเป็นศาสตร์ทางภูมิปัญญาไทยที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งต้องใช้ความพิถีพิถันในการเย็บผ้าด้วยมือ โดยไม่ต้องใช้จักร ไม่ว่าจะเป็นการเย็บผ้าสไบ ผ้าซิ่น ผ้าเช็ดหน้า หรือการปักเลื่อม ปักดิ้นต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าชิ้นงานแต่ละชิ้นต้องใช้ความประณีต ละเอียดอ่อน ผลงานจึงจะออกมาสวยงาม ถูกตาต้องใจต่อผู้พบเห็น

ที่หมู่บ้านกระจัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยการนำของคุณภารดี ศรีเหรา ประธานกลุ่มผ้าด้นมือบ้านกระจัน ได้รวมกลุ่มชาวบ้านที่เป็นสุภาพสตรี ซึ่งมีอาชีพหลักคือเกษตรกร ทำนา ทำไร่ แต่อยากมีรายได้เสริมด้วยการรับงานด้นผ้ามาทำที่บ้าน โดยนำภูมิปัญญาไทยผสมผสานกับศิลปะตะวันตก ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ปลอกหมอน ผ้าห่ม กระเป๋าจนมีสีสันสดใสดูสวยงามทีเดียว

ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานี้สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านได้ อย่างเป็นกอบเป็นกำจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการกันสูง เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ส่วนสนนราคาของสินค้านั้น มีตั้งแต่ 450–20,000 บาทต่อชิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ
อุปกรณ์สำคัญในการทำผ้าด้น

1. เข็มเย็บผ้า
2. เข็มหมุด
3. กรรไกรขนาดเล็ก และกรรไกรขนาดใหญ่
4. หมอนปักหมุด
5. เข็มกลัด

6. ด้ายสีต่างๆ (ตามใจชอบ)
7. ผ้าสีต่างๆ
8. สะดึงขนาดต่างๆ
9. ดินสอ 2 B
10. กระดาษลอกลาย

11. กระดาษขาว – เทา
12. ใยสังเคราะห์

ขั้นตอนและวิธีการทำ

1. นำกระดาษขาว-เทา มาตัดลายตามที่ต้องการ เช่น ลายกราฟิก ลายดอกไม้ ลายผีเสื้อ เป็นต้น (เพื่อเป็นต้นแบบในการตัดผ้า)
2. เลือกผ้าลายหรือผ้าสี ที่ต้องการนำมาประกบกับกระดาษต้นแบบแล้ว ลอกลายตามแบบลงบนผ้า
3. ใช้กรรไกรตัดลวดลายตามที่ลอกจากแบบ
4. เมื่อได้ลวดลายที่ต้องการนำลวดลาย (ในที่นี้จะหมายถึงผีเสื้อ) ไปวางบนผ้าพื้นที่เตรียมไว้เนาตัวผีเสื้อให้ติดกับผ้าพื้นจำนวนลายผีเสื้อ ตามที่ต้องการ หลังจากนั้นสอยเก็บริมผ้าผีเสื้อแต่ละตัวให้เรียบร้อย
5. นำชิ้นงานที่ได้มาปักลวดลายเพิ่มเติม ด้วยเส้นไหมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของชิ้นงาน เช่น หนวดผีเสื้อข้อปล้องต่างๆ นำชิ้นงานมาซักรีดเพื่อลบลอยดินสอที่ขีดร่างต้นแบบ มาเขียนลายเพิ่มเติมผืนผ้าเพื่อเป็นแนวในการด้นต่อไป นำผ้าพื้นไปประกบกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และผ้าพื้นลองหลังเนายึดให้ติดกันทั้ง 3 ชิ้น
6. นำชิ้นงานที่ได้ไปใส่สะดึงเพื่อทำการด้นด้วยด้ายหลากสี (ตามลายที่ลอกตามข้อ 5)

7. ประกอบเป็นชิ้นงาน อาทิ ปลอกหมอน ผ้าห่ม กระเป๋า เป็นต้น.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=151272&categoryID=585

แนะนำอาชีพ 'กิมจิสดเพื่อสุขภาพสไตล์ไทย'

ในภาวะที่เศรษฐกิจขึ้น ๆ ลง ๆ การทำมาหากินเป็นไปด้วยความลำบาก หากย่ำอยู่กับสิ่งเดิมๆ อาจไปไม่รอด เรื่องการค้าการขายจำเป็นต้องสร้างจุดขาย มีไอเดียแปลกใหม่ และตามกระแสความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลที่ทีม “ช่องทางทำกิน” นำมาเสนอวันนี้ ก็เป็นไอเดียดีๆ ที่น่าสนใจ กับการทำ-การขาย “กิมจิสด” ซึ่งเหมาะกับคนรักสุขภาพ

“อร-ณัฐมณฑ์ อึ้งโสภาพงษ์” เจ้าของสูตร “อรเมนูเพื่อสุขภาพ” เล่าให้ฟังว่า เคยทำงานมาหลายอย่าง เริ่มจากทำงานประจำ เป็นพนักงานบริษัทขายหัวน้ำหอม รู้สึกเบื่อก็ลาออกมาทำผ้าบาติกส่งขายตามตลาดน้ำ และชมรมแอโรบิก และสนใจเข้าอบรมในโครงการต้นกล้าอาชีพเรื่องการแปรรูปผักและผลไม้

“เดิมทีก็ไม่ได้สนใจที่จะทำอาชีพนี้เลย พอมีปัญหาสุขภาพเลยต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ชอบกินก๋วยเตี๋ยวลุยสวน แฟนจะซื้อมาให้กินทุกวัน เจ้านี้น้ำจิ้มอร่อยมาก ก็อยากทำกินเอง บอกอาจารย์ที่สอนต้นกล้าอาชีพสอนสูตรการทำน้ำจิ้มให้ แต่ทำแล้วก็ไม่อร่อยเท่าเจ้าที่แฟนซื้อมา พอกระแสอาหารเกาหลีดัง ก็เลยขอให้อาจารย์สอนการทำกิมจิ เป็นอาหารเพื่อสุขภาพทำจากผัก และมีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อมีงานโอทอป ที่เมืองทองธานี มีการเชิญทางต้นกล้าอาชีพไปออกงาน เราก็เอาพวกมะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงอบแห้ง กิมจิสด ไปขาย ตอนแรกคิดว่ากิมจิคงขายไม่ค่อยได้ แต่ปรากฏว่ากลับขายดี หมดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้เราเกิดไอเดียจากกระแสรักสุขภาพ ลูกค้าจะสนใจมาก ยิ่งช่วงเทศกาลกินเจจะขายดีมาก ๆ” อร-ณัฐมณฑ์เล่า

จากนั้นก็เริ่มทำ “กิมจิสด” ออกขายที่ตลาดนัด กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้รับการตอบรับดีมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นขยายต่อไปในที่ต่าง ๆ นอกจากนี้คุณอรยังมีอาหารเพื่อสุขภาพอื่น ๆ อีก อาทิ ขาเห็ดหอมคั่วสมุนไพร, เห็ดสวรรค์, ขาเห็ดหอมปรุงรส, ลูกชิ้นเห็ดหอมหัวบุก, มะขามป้อมแช่อิ่ม, มะขามป้อมแซบ, ส้มจี๊ด และบ๊วยสามรส

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ “กิมจิสด” หลัก ๆ ก็มี... ตาชั่งเล็ก, เครื่องปั่น, เตาแก๊ส, หม้อสเตนเลส, กะละมังปากกว้าง, ตะกร้า, มีดถาด,เขียง, ทัพพี, โหลมีฝาปิด, ถุงพลาสติก ฯลฯ

ส่วนผสม/วัตถุดิบ หลัก ๆ ก็มี... ผักกาดขาวปลี หรือ ผักหางหงษ์, แครอทหัวใหญ่, หัวไชเท้า (หัวผักกาดขาว), ต้นหอม, ต้นกุยช่าย, กระเทียมปอกเปลือก, ขิงแก่สับ, พริกชี้ฟ้าแดงทั้งสด-แห้ง, ซอสพริก, ซอสมะเขือเทศ, น้ำตาลทราย, เกลือเม็ด-เกลือป่น และน้ำสะอาด

ขั้นตอนการทำ “กิมจิสด” เริ่มจากล้างผักทุกชนิดให้สะอาดก่อน แล้วนำผักกาดขาวปลีมาผ่าครึ่ง หั่นตามแนวยาวหยาบๆ ใส่ตะกร้าผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ตามด้วยต้นหอม กุยช่าย หั่นเป็นท่อนตามยาวขนาด 2 นิ้ว ส่วนแครอท หัวไชเท้า ปอกเปลือกล้างให้สะอาดแล้วหั่นตามขวาง และหั่นเป็นเส้นอีกครั้ง

ผสมเกลือเม็ดกับน้ำ คนให้ละลาย เสร็จแล้วนำผักที่หั่นเตรียมไว้ลงแช่พร้อมกัน ดองน้ำเกลือทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วบีบน้ำเกลือออก ตั้งพักไว้ก่อนในภาชนะที่สะอาด

ต่อไปเป็นขั้นตอนการทำเครื่องปรุงกิมจิ โดยการนำพริกชี้ฟ้าแห้งมาผ่าเอาเม็ดออก แล้วตัดเป็นท่อนสั้น ๆ นำไปต้มจนนิ่ม เสร็จแล้วก็เอาพริกชี้ฟ้าแห้งที่ได้ลงปั่นพร้อมกับขิงแก่สับ กระเทียม ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ จนละเอียด นำเครื่องปรุงที่ปั่นเสร็จแล้วผสมน้ำตาลทราย

ขั้นต่อไปเทเครื่อง ปรุงกิมจิที่ทำเสร็จแล้วลงผสมกับผักที่เตรียมไว้ในภาชนะปากกว้าง โรยเกลือป่นเพื่อเพิ่มรสชาติ แล้วทำการคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน เสร็จแล้วนำไปใส่ลงภาชนะปิดมิดชิด หมักไว้นอกตู้เย็น 3 วัน จนมีรสเปรี้ยว หรือแบ่งใสถุงเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 1 เดือน

สำหรับราคาขายกิมจิ ถุงใหญ่ 4 ขีด ราคา 50 บาท ถุงเล็ก 2 ขีด ราคา 35 บาท มีต้นทุนวัตถุดิบ ไม่รวมทุนเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ไม่เกิน 50% จากราคาขาย

การทำ-การขายอาหารแนวเพื่อสุขภาพนั้น กับ “กิมจิสด” สไตล์ไทย ๆ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่น่าสนใจ ซึ่งใครอยากติดต่อคุณอร-ณัฐมณฑ์ อยากได้กิมจิสด อาหารพื้นๆ ของเกาหลีแต่สไตล์คนไทย ไปลองลิ้มชิมรส หรือสั่งไปจำหน่ายต่อเป็น “ช่องทางทำกิน” ในอีกรูปแบบ ก็ติดต่อสอบถามไปได้ที่ โทร. 08-1805-8055.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=151409

Saturday, July 16, 2011

แนะนำอาชีพ 'โมจิไส้สตรอเบอรี่'

แม้แต่อาหารการกิน ขนม และเครื่องดื่ม ก็จำเป็นจะต้องสร้างจุดขาย เฟ้นหาความแตกต่าง เพราะนอกจากจะใช้เป็นจุดเรียกความสนใจได้แล้ว ก็ยังถือเป็นอีกเคล็ดลับหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าจดจำสินค้าได้อย่างดี อย่างเช่น ’โมจิไส้สตรอเบอรี่“ อีกหนึ่งไอเดีย ’ช่องทางทำกิน“ ที่จะนำเสนอให้ได้ลองพิจารณากันในวันนี้...

“หญิง-จุติภัค ยังโนนตาด” เจ้าของสูตร “โมจิไส้สตรอ เบอรี่” เล่าว่า เดิมทีทำงานเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ ต่อมารู้สึกเบื่องานประจำ จึงพยายามมองหาลู่ทางที่จะหยิบจับทำธุรกิจของตัวเอง ก็เป็นคนชอบทานขนม และเคยชิมโมจิสดแล้วรู้สึกติดใจในรสชาติ ประกอบกับได้คำแนะนำจากเพื่อนที่รู้จักกันซึ่งเดินทางมาจากญี่ปุ่น แนะนำว่าน่าจะลองทำดู จึงตัดสินใจฝึกหัดทดลองทำ และพยายามปรับสูตรเรื่อยมาจนลงตัว หลังจากนั้นก็เริ่มทดลองตลาดโดยนำไปฝากให้ผู้ใหญ่ที่รู้จักกันทดลองชิม ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดี เมื่อทำขายจริงก็มียอดสั่งซื้อตลอด โดยยึดอาชีพนี้มาได้ 2 ปีกว่าแล้ว

“เป็นคนชอบทานขนม จึงคิดว่าถ้าจะทำอาชีพส่วนตัวก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขนม และพอดีได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ๆ บอกว่าน่าจะลองทำดู เพราะในตลาดนั้นคู่แข่งที่ทำโมจิสดนี้ยังมีน้อยมาก คนที่อยากจะทานก็ต้องทานในร้านอาหารญี่ปุ่นเท่านั้น จึงคิดว่าน่าจะมีช่องว่างให้เราทำได้ ก็จึงลงมือทำ”

เจ้าของสูตรโมจิบอกอีกว่า การผลิตยังเป็นรูปแบบของอุตสาหกรรมในครัวเรือน ไม่มีหน้าร้าน และทำตามยอดสั่งซื้อจากลูกค้า เพราะเน้นผลิตโมจิแบบวันต่อวัน โดยจะไม่ทำค้างคืนเก็บไว้ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีทั้งที่นำไปเป็นของว่างรับแขกในงานเลี้ยง และมีทั้งที่ซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ โดยโมจิสดของตนสามารถเก็บไว้นอกตู้เย็นได้ประมาณ 3 วัน แต่ถ้าแช่ตู้เย็นก็จะสามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 1 สัปดาห์

สำหรับไส้ขนมโมจิที่ทำอยู่เป็นประจำนั้น ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 12 ไส้ ได้แก่ เผือก, ชาเขียว, ถั่วแดง, ถั่วเหลือง, งาดำ, พุทรา, กาแฟ, ไดฟุกุ, ทุเรียน, โมจิสด, วิปปิ้งครีม และ สตรอเบอรี่ โดยเฉพาะอย่างหลังจะได้รับความสนใจค่อนข้างมาก และทำให้ลูกค้าจำยี่ห้อได้ดี แต่จะทำเฉพาะลูกค้าที่สั่งพิเศษเท่านั้น เพราะราคาของวัตถุดิบค่อนข้างจะสูงกว่าโมจิไส้อื่น ๆ ส่วนเหตุผลที่ทำโมจิไส้ผลสตรอเบอรี่นั้น ก็เพราะต้องการ ฉีกตัวเองออกไปจากตลาดคู่แข่ง และต้องการให้ลูกค้าจดจำสินค้าได้ โดยใช้สตรอเบอรี่ 1 ผล ต่อโมจิ 1 ลูก ราคาขายคือ 30 บาท

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้เงินทุนประมาณ 30,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ ขณะที่ทุนวัตถุดิบ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ที่เริ่มต้นลูกละ 12 บาท ไปจนถึง 30 บาท

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำ ประกอบด้วย เครื่องตีแป้ง, แม่พิมพ์กดลายโมจิ, ภาชนะและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในงานเบเกอรี่ สำหรับส่วนผสม ถ้าใช้แป้งผสมสำเร็จรูป 1 กิโลกรัม จะใช้แบะแซ 1 กิโลกรัม, ถั่วแดงกวน 2 กิโลกรัม, น้ำสะอาด 900 กรัม, สีผสมอาหาร, กลิ่นสังเคราะห์, ผงไอซ์ซิ่ง และผลสตรอเบอรี่ 100 ลูก โดยสูตรนี้ทำโมจิได้ราว 100 ลูก

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำแบะแซผสมรวมกับน้ำสะอาดที่เตรียมไว้ในภาชนะ ต้มด้วยไฟกลาง ๆ และคนไปเรื่อย ๆ จนส่วนผสมละลายตัว จากนั้นเติมสีและกลิ่นผสมอาหารที่เตรียมไว้ตามต้องการ คนต่อไปให้เข้ากัน เมื่อส่วนผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียวแล้วให้ทำการเทแป้งลงในน้ำที่ผสมเสร็จ จากนั้นหรี่ไฟลงเล็กน้อย หรือใช้ไฟอ่อน ๆ ทำการคนแป้งให้เข้ากัน หรือกวนจนแป้งสุก ร่อน ไม่ติดหม้อ โดยต้องกวนให้ทั่ว ๆ หลังจากดูว่าส่วนผสมเข้าเนื้อกันดีแล้ว จึงนำมาเทออกใส่ภาชนะหรือถาด ทิ้งไว้ให้อุ่นพอปั้นได้ จากนั้นทำการนวดแป้งด้วยมืออีกครั้ง แล้วพักเตรียมไว้

สำหรับไส้สตรอเบอรี่นั้น จะห่อผลสตรอเบอรี่ด้วยถั่วแดงชั้นหนึ่งก่อน การทำไส้ถั่วแดง ก็นำถั่วแดงที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วแช่น้ำ แล้วนำมาปั่นละเอียดด้วยเครื่องปั่น จากนั้นนำไปผสมน้ำเทใส่ลงหม้อต้ม ใช้ไม้พายคนหรือกวนไปเรื่อย ๆ บนไฟอ่อน เติมรสตามชอบ เมื่อกวนจนไส้ถั่วแดงเหนียวได้ที่ ก็ตักพักไว้ในภาชนะเพื่อรอให้เย็นหรือเซตตัว

มาถึงขั้นตอนการปั้น ใช้ช้อนตักแป้งที่เตรียมไว้ออกมา ปั้นให้เป็นก้อนกลม ๆ แล้วนำถั่วแดงมาหุ้มผลสตรอเบอรี่ที่เตรียมไว้ จากนั้นนำแป้งโมจิที่ปั้นไว้แผ่ออกและค่อย ๆ หุ้มลงบนผลสตรอเบอรี่ที่พอกด้วยถั่วแดง แล้วจึงปั้นหรือจัดแป้งให้เป็นรูปทรงกลม นำไปเข้าแม่พิมพ์เพื่อกดลาย (ในกรณีที่ไม่ต้องการกดลายบนขนมโมจิ ก็ข้ามขั้นตอนนี้ไป) เมื่อได้แล้วก็ให้นำไปคลุกผงไอซ์ซิ่ง จากนั้นบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

“ขั้นตอนไม่ยุ่งยากซับซ้อนมาก แต่ก็ต้องใช้เวลา โดยจุดเด่นของโมจิสดคือ ความเหนียวนุ่มของแป้ง” เจ้าของสูตรโมจิสดไส้ผลสตรอเบอรี่กล่าว

สนใจ ’โมจิสดไส้สตรอเบอรี่“ ต้องการติดต่อ หญิง-จุติภัค ติดต่อได้ที่ เลขที่ 88/15 ถนนเลียบทางด่วนวงแหวนประชาอุทิศ ทุ่งครุ กรุงเทพฯ โทร. 08-7455-3351, 08-1557-2421 ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกกรณีศึกษา อีกไอเดียเกี่ยวกับอาชีพค้าขายอาหารการกิน ที่พลิกแพลงดัดแปลงเพื่อสร้างจุดน่าสนใจ...ได้อย่างน่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=151240

Tuesday, July 12, 2011

แนะนำอาชีพ"สร้างรายได้จากแผ่นซีดีที่ไม่ใช้ "

จากการที่บทความ แนะนำอาชีพ"ทำโคมไฟจากแผ่นซีดีที่ไม่ใช้ " เป็นบทความที่มีผู้คนเข้ามาอ่านมากที่สุด ผมก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นซิดี ที่ไม่ได้ใช้แล้วสามารถเอามาทำอะไรได้บ้าง



ได้ลองค้นหาข้อมูลดูว่าแผ่น cd ที่ไม่ได้ใช้แล้วเขาเอามาใช้ทำอะไรได้บ้าง

1 นำเอามาแขวนไล่นก ไล่แมลงวัน เช่นแขวนไว้ในท้องนา ในบ่อปล่า ในที่มีแมลงเยอะๆ เป็นต้น

2 นำเอามาทำเป็นโมบาย มูลี่กั้นห้อง พื้นหลังของกรอบรูป ประดับผนังห้อง

3 นำมาติดท้ายรถ ท้ายสัตว์ เพื่อใช้ในการสะท้อนแสงในตอนการคืนเพื่อป้องกันการดดยชนท้าย

4 นำมาตัดเป็นสิ้นเล็กๆ จากนั้นก็เจาะให้เป็นรูแล้วร้อยเป็นกระเป๋า ผ้าปูโต๊ะ ก็ได้

5. นำมาทำเป็นกล่องทิชชู่ หรือ ถังขยะ

6. นำมาทำเป็นที่ว่างโทรศัพท์มือถือก็

จากที่ผมได้นำเสนอมาทั้ง 6 ข้อ นั้นเป็นข้อมูลที่ผมหามาได้เพื่อเป็นแนวความคิดสำหรับการพัฒนาให้เป็นแบบของเราเอง จะสามารถสร้างรายได้ให้เรามากเลย

เดี่ยวจะหาข้อมูลมาเขียนโดยละเอียดให้

Saturday, July 9, 2011

แนะนำอาชีพ 'ไส้อั่วหน่อกะลา'

“ไส้อั่ว” อาหารท้องถิ่นของภาคเหนือที่มีขายกันทั่วไป หากมีการประยุกต์สร้างจุดขายให้แปลกแตกต่างออกไป ก็สามารถสร้างจุดขายให้มีลักษณะเด่นยิ่งขึ้น กลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่สร้างอาชีพ-สร้างรายได้ได้อย่างดี อย่าง “ไส้อั่วหน่อกะลา” สินค้าโอทอป จ.นนทบุรี นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” ที่น่าพิจารณา...

ดวงใจ แสงงามปลั่ง ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปไส้อั่วสวนนนท์ เผยไว้เมื่อตอนนำสินค้าร่วมแสดงในงานกาชาด จ.นนทบุรี เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า เป็นคนภูมิลำเนา อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี หลังเรียนจบก็ไปทำงานที่เชียงใหม่กับลำพูนประมาณ 3–4 ปี และแต่งงานที่นั่น ภายหลังก็คิดอยากกลับบ้านเกิด เมื่อกลับมาอยู่บ้านก็ได้นำอาชีพทำไส้อั่วขายมาศึกษา เพราะครอบครัวของสามีมีอาชีพทำไส้อั่วขายอยู่แล้ว ซึ่งไส้อั่ว แคบหมู สำหรับคนเชียงใหม่นั้นถือเป็นอาหารพื้นบ้าน และตนเองได้เริ่มทำไส้อั่วเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่เมื่อมาอยู่ที่ จ.นนทบุรี เหมือนเริ่มต้นใหม่จากที่สามีเคยทำ ซึ่งสมัยนั้นการทำไส้อั่วขายไม่ค่อยมีคู่แข่ง ถ้ามีก็มีน้อยมาก โดยตนเองก็ได้ลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมา

ไส้อั่วที่ทำช่วงเริ่มต้นมี 2 แบบ คือ ไส้อั่วหมู ไส้อั่วปลา ต่อมาเพิ่ม ไส้อั่วหน่อกะลา ด้วย เพื่อสื่อความหมาย จ.นนทบุรี เพราะหน่อกะลาเป็นพืชสมุนไพรของเกาะเกร็ดที่มีแห่งเดียวในนนทบุรี จึงนำมาใส่เพื่อประยุกต์ และให้เป็นสินค้าของนนทบุรี ส่วนการพัฒนาวัตถุดิบอื่น คือใช้ตะโพกหมูล้วน ๆ ในการทำไส้อั่ว ไม่ใช้เศษหมู และวัตถุดิบที่สำคัญคือมันหมู

นอกจากนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบ จากที่เป็นวงใหญ่ ๆ กลายเป็นขดกลม ๆ ที่มีขนาดเล็กหน่อย เป็นในลักษณะค่อนข้างครึ่งวงกลม เพื่อจะช่วยเรื่องยอดจำหน่าย ให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น จึงคิดริเริ่มทำให้ขนาดเล็กลง

ดวงใจบอกอีกว่า สำหรับสูตรการทำไส้อั่วหมูกับไส้อั่วปลา ก็ไม่ได้ต่างกันมาก เพียงแต่บางคนชอบกินปลาเพราะมันจะนุ่มกว่าหมู ปลาที่ใช้ก็จะเป็นปลากรายกับปลายี่สก ถ้าใช้ปลากรายอย่างเดียวต้นทุนจะสูงมาก จึงนำปลาน้ำจืดชนิดอื่นมาผสมด้วย สาเหตุที่ต้องเป็นปลาน้ำจืด เพราะหากนำปลาน้ำเค็มมาผสมจะทำให้มีกลิ่นคาว

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำก็มี เครื่องบดหมู เครื่องตีผสม เครื่องสุญญากาศ กะละมัง ทัพพี ถังน้ำ หม้อนึ่ง เครื่องบดพริก เตาแก๊ส กระทะ ฯลฯ ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ก็มี หมูสันนอก มันแข็ง ไส้หมู น้ำพริกแกง ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย ผักชี ต้นหอม ใบมะกรูด และหน่อกะลา ซึ่งวัตถุดิบในการทำไส้อั่วหมูหน่อกะลา 10 กิโลกรัม จะมีดังนี้คือ หมูสันนอก 8 กิโลกรัม, มันหมูแข็ง 2 กิโลกรัม, หน่อกะลา 1-2 กิโลกรัม, พริกแกง 2.5 กิโลกรัม โดยเครื่องปรุงพริกแกงก็มี พริกแดงแห้งเม็ดใหญ่ 500 กรัม, หอมแดง 500 กรัม, กระเทียม 300 กรัม, กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ, ตะไคร้ 1 กิโลกรัม (ซอยเอาแต่เนื้ออ่อน ๆ)

ส่วนผสมเครื่องปรุงรส ก็มี ซีอิ๊วขาว 500 ซีซี., น้ำตาลทราย 300 กรัม, ผงปรุงรสรสหมู 300 กรัม และส่วนผสมอื่น ๆ ก็คือ ใบมะกรูด, ผักชี, ต้นหอม อย่างละพอประมาณ หากชอบสมุนไพรก็ใส่ใบโหระพาหรือผักชีฝรั่งเพิ่มได้

วิธีทำ นำเครื่องปรุงพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ และตะไคร้ มาตำหรือบดรวมกันให้ละเอียด ก็จะได้เป็นพริกแกง จากนั้นนำหมู และมันหมู มาบดรวมกัน ใส่ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย ผงปรุงรสรสหมู ใบมะกรูด ผักชีและต้นหอม คลุกรวมกัน เสร็จแล้วนำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน กรอกส่วนผสมทั้งหมดลงไปในไส้หมูที่กว้าง 1 นิ้วครึ่ง ยาว 7 นิ้ว โดยใช้เครื่องบดน้ำพริกในการบรรจุ (ตัวเครื่องสามารถใส่กรวยเพื่อกรอกไส้อั่วได้) เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงมัดปลายทั้ง 2 ข้างโดยการบิดไส้หมูให้เป็นเกลียว เสร็จแล้วนำไปนึ่งให้สุก และนำไปผึ่งให้แห้ง การทำเป็นไส้อั่วหน่อกะลา ก็นำหน่อกะลามาซอยและผสมลงไปด้วย ปริมาณ 2 กิโลกรัม ถ้าไม่ชอบหน่อกะลามากก็ให้ใส่แค่ประมาณ 1 กิโลกรัม

ขั้นตอนสุดท้าย ใส่ถุงเก็บไว้ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็ง ซึ่งระยะเวลาของการเก็บรักษานั้น จะเก็บไว้ได้ประมาณ 1 เดือน

ดวงใจบอกเคล็ดลับเพิ่มเติมว่า การทำไส้อั่ว ต้องหนักตะไคร้ และใบมะกรูด เพราะกลิ่นมันจะหอม ส่วนในการทำไส้อั่วปลา ก็จะลดปริมาณหมู คือจะใช้ปลา 5 กิโลกรัม และหมู 3 กิโลกรัม

สำหรับราคาขายไส้อั่วเจ้านี้ จะขายขีดละ 30 บาท หรือกิโลกรัมละ 300 บาท โดยมีต้นทุนราว 200 บาทขึ้นไป

สนใจเรื่อง “ไส้อั่วหน่อกะลา” ติดต่อ ดวงใจ แสงงามปลั่ง ติดต่อได้ที่ 92/41 หมู่ 9 บางเลน ซอย 10 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 08-9660-0768 และ 08-1869-4780.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=525&contentId=150035

แนะนำอาชีพ 'กระดานติดแม่เหล็ก'

งานประดิษฐ์งานแฮนด์เมดเป็นงานที่ได้รับความสนใจจากลูกค้าหลายกลุ่ม ยิ่งถ้ารู้จักพลิกแพลงสร้างสรรค์ใส่ไอเดีย คิดงานที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง แม้จะไม่ใช่งานใหม่ แต่ก็จะเป็นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาจสามารถจำหน่ายสร้างรายได้ได้น่าสนใจอย่างงาน ’กระดานติดแม่เหล็กกรอบไม้สัก’ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอ...

หนาว-วิทธวัช คาดบัว ร่วมกับพี่ชาย สร้างสรรค์ “กระดานติดแม่เหล็กกรอบไม้สัก” ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “the magnet” โดยเจ้าของความคิด-เจ้าของผลงานเล่าว่าเรียนจบมาทางด้านรัฐศาสตร์ หลังจากจบก็ทำงานมาหลายที่ จนปัจจุบันทำงานเอกสารอยู่ที่ศาลอาญา ส่วนงานกระดานติดแม่เหล็กนี้ทำเป็นอาชีพเสริม ซึ่งเริ่มทำมาได้ประมาณ 3-4 เดือน ก็ถือว่าได้รับการตอบรับดีจากลูกค้าหลากหลายกลุ่ม

“การที่มาทำงานกระดานติดแม่เหล็กตัวนี้ เกิดมาจากการที่ได้ไปเดินตามตลาดนัดขายสินค้าหลายๆ ที่ ก็มักจะเห็นงานที่เป็นกระดานโลหะมีสติกเกอร์ติด ดูแล้วเป็นงานธรรมดา ผมก็คิดว่าน่าจะทำงานออกมาได้ดีกว่า จึงมีความคิดที่จะทำงานกระดานติดแม่เหล็กที่ออกแบบเองให้ดูสวยงามและเป็น เอกลักษณ์ของตัวเองไม่เหมือนใคร จึงปรึกษาพี่ชายว่าจะทำงานออกมาเป็นแบบไหนดี จนได้งานกระดานติดแม่เหล็กกรอบไม้สัก ที่ใช้ไม้สักมาทำก็เพราะมีความรู้ความชำนาญในด้านงานไม้ ที่สำคัญไม้สักนั้นมีความสวยงามของลายไม้ในตัว ดูมีคุณค่ามีราคา มีความทนทานด้วย

แต่กว่าที่จะได้รูปแบบงานและวัสดุในการทำที่ลงตัวอย่างที่ต้องการ ก็ต้องใช้เวลาทดลองทำอยู่นาน ตอนแรกเริ่มทดลองทำจากอันเล็กก่อน ก็จะเป็นกระดานติดสติกเกอร์สี แต่เวลาติดแม่เหล็กแล้วเลื่อนไปมาทำให้สติกเกอร์เป็นรอย ไม่สวย จากนั้นก็ลองนำแผ่นพลาสติกมาวางทับ ก็ดูหนาเกินไป ไม่สวยงาม จนสุดท้ายมาใช้ผ้าแทน จึงได้งานที่ลงตัว”

หลังจากได้ผลงานที่ถูกใจก็ผลิตงานออกจำหน่าย โดยเริ่มจากลงประกาศขายในอินเทอร์เน็ตและก็ขายให้กับเพื่อนๆ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดี ก็เริ่มทำงานชิ้นใหญ่หลายไซซ์มากขึ้น จนมีทั้งไซซ์ S-M-L-XL-JUMBO โดยมีขนาด...14x16 ซม.-14x20 ซม.-20x20 ซม.-30x40 ซม. -25x50 ซม. และ 95x45 ซม.

นอกจากขายในอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็นำงานออกขายเองตามตลาดงานแฮนด์เมดต่าง ๆ หลายที่ ซึ่งเจ้าของงานบอกว่า การที่ต้องเปลี่ยนตลาดขายไปเรื่อย ๆ ก็เพราะต้องการที่จะขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ถ้าขายอยู่ที่เดียวก็จะได้กลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียว

วัสดุอุปกรณ์ในการทำงานดังกล่าวนี้หลักๆ ก็มี... ไม้สัก, ผ้า, แผ่นสังกะสี, กาวร้อน, กระดาษทราย, แผ่นไม้อัด, แม่เหล็กแบบแบนทรงกลม, แล็กเกอร์ ฯลฯ

ไม้สักนั้นจะใช้เป็นเศษไม้ที่หาซื้อได้จากโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนผ้าที่ใช้จะใช้ผ้าไหม ผ้าสักหลาด หรือผ้าชนิดอื่นๆ ก็ได้หลากหลาย แต่จะต้องเลือกสีและลวดลายของผ้าให้สวยงาม

ขั้นตอนการทำ...เริ่มจากเลือกไม้ที่จะนำมาทำ เพราะเป็นเศษไม้จึงต้องเลือกดูว่าจะทำไซซ์ไหนได้ หลังจากที่ได้ไม้ที่ต้องการก็ทำการตัดไม้ทำเป็นกรอบตามขนาดไซซ์ที่ต้องการ ให้ขอบของกรอบรูปกว้างประมาณ 2 ซม.จากนั้นก็ทำการขัดไม้ด้วยเครื่องขัดแบบหยาบ แล้วนำมาขัดมือด้วยกระดาษทรายละเอียดอีกรอบ ขัดลบคมลบเหลี่ยมให้หมด ขัดไปจนเนื้อไม้เรียบ ลายไม้ขึ้นเห็นชัดเจน

เมื่อทำการขัดกรอบไม้ที่ตัดมาเรียบร้อยแล้ว ก็ทำการประกอบไม้ให้เป็นกรอบ ยึดให้แน่นด้วยกาวร้อนสำหรับติดไม้ เมื่อกาวแห้งสนิทแล้วก็ทำการขัดให้เรียบด้วยกระดาษทรายอีกหนึ่งรอบ จากนั้นก็ทาแล็กเกอร์ไปหนึ่งรอบ พอแล็กเกอร์แห้งก็ใช้กระดาษทรายขัดอีกหนึ่งรอบให้ผิวไม้เรียบ ทำการลงแล็กเกอร์ชนิดเงาอีกรอบ พอแห้งก็ขัดด้วยกระดาษทรายอีกรอบ จากนั้นก็ลงด้วยแล็กเกอร์ชนิดด้าน รอจนแห้ง ก็จะได้กรอบรูปเรียบร้อย

ขั้นตอนต่อไป นำแผ่นสังกะสีมาทำการตัดให้ได้ขนาดพอดีที่จะใส่ในกรอบไม้ได้ แล้วก็เลือกผ้าเลือกลายและสีที่ต้องการนำมาตัดให้ได้ขนาดเท่ากับแผ่นสังกะสี นำผ้าไปติดบนแผ่นสังกะสี ยึดด้วยกาวร้อนให้แน่น

จากนั้นให้นำแผ่นสังกะสีที่ติดผ้าแล้วไปใส่ในกรอบรูปที่ทำไว้ โดยวางให้ด้านที่ติดผ้าออกด้านหน้ากรอบรูป ตัดแผ่นไม้อัดให้ได้ขนาดเท่ากรอบรูป นำมาทำการปิดด้านหลังกรอบรูป แล้วใช้ไม้ยึดติดขอบด้านหลังทั้งสี่ด้านให้แน่นด้วยกาว ทำการตกแต่งเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย สุดท้ายจะติดเป็นตัวแขวนหรือทำขาตั้งก็ได้ ตามไอเดีย-ดีไซน์ของผู้ทำ

หนาวบอกต่อว่า สำหรับตัวแม่เหล็กนั้นใช้วิธีการไปเลือกซื้องานไม้ที่ทำเป็นรูปการ์ตูน รูปสัตว์ รูปดอกไม้ หรือรูปต่าง ๆ ที่ดูน่ารักสีสันสดใส เป็นงานชิ้นเล็ก นำมาทำการติดแม่เหล็กแบบแบนทรงกลมไว้ด้านหลัง ยึดด้วยกาวซิลิโคน เท่านี้ก็ได้แม่เหล็กไว้เป็นของแถมให้ลูกค้าที่ซื้อกระดานติดแม่เหล็ก โดยจะแถมตามขนาดของกระดาน ไซซ์ S ให้ 3 ตัว, M ให้ 4 ตัว, L ให้ 5 ตัว, XL ให้ 8 ตัว, JUMBO ให้ 20 ตัว หรือถ้าลูกค้าจะซื้อเพิ่มก็ขายตัวละ 10 บาท

“กระดานติดแม่เหล็กกรอบไม้สัก” ผลงานของหนาว มีทั้งแบบขาตั้ง และแบบแขวน มีราคาขายตามไซซ์ของกระดาน ตั้งแต่ 150-200-250-350 บาท ขึ้นไปจนถึง 800 บาท โดยมีต้นทุนวัสดุประมาณ 60% ของราคา

ใครสนใจ ’กระดานติดแม่เหล็กกรอบไม้สัก“ ของหนาว ต้องการสั่งออร์เดอร์ไปจำหน่าย ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-4669-9020, 08-4669-9505 หรือเข้าไปดูงานได้ที่ www.shoppingmall.co.th/themagnet

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=149851

Sunday, July 3, 2011

อนะนำอาชีพ “พายมะพร้าวอ่อน”

แม้ปัจจุบันจะมีผู้ทำอาชีพ-ทำธุรกิจเกี่ยวกับ เบเกอรี่ ขนมปัง เค้ก คุกกี้ จำนวนมาก แต่ตลาดก็ยังมีช่องว่าง ซึ่งขนมประเภทนี้ยังขายได้ ยังเป็นที่นิยมในยุคปัจจุบัน ด้วยความอร่อย ราคาไม่แพง รูปร่างหน้าตาน่ารับประทาน มีให้เลือกหลากหลายชนิด อาทิ ขนมปังหน้า
ต่าง ๆ สารพัดไส้ บราวนี่ เค้ก คุกกี้ พาย ฯลฯ และวันนี้ “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลและสูตรการทำ “พายมะพร้าวอ่อน” จำหน่าย มานำเสนอให้กับผู้กำลังมองหาอาชีพ ได้ลองพิจารณากันดู...

นารีรัตน์ สุขุมาลจันทร์ หรือ “ป้าแดง” ซึ่งทำเบเกอรี่ส่งขาย เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของอาชีพนี้ว่า พลิกผันชีวิตตัวเองจากเป็นแม่บ้านดูแลสามีและลูก ๆ อยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม หันมาทำเบเกอรี่ขาย สืบเนื่องเพราะสามีมีอาชีพรับราชการเป็นนายตำรวจ มักมีแขกแวะเวียนมาที่บ้านเป็นประจำ ในฐานะแม่บ้านจึงต้องทำ ต้องสรรหาอาหาร ขนม อาหารว่างอร่อย ๆ ไว้ต้อนรับแขก ซึ่งก็มักจะได้รับคำชมจากแขกเสมอ ๆ ก็มีความสุขทุกครั้ง และส่วนตัวก็สนใจเรื่องการทำอาหารและขนมต่าง ๆ มาตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน พอมีเวลาว่างก็จะศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือและทีวี

พอสามีย้ายเข้ากรุงเทพฯ คิดว่าโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันมาถึงแล้ว จึงไปลงคอร์สเรียนการทำขนมและเบเกอรี่ หลังจากเรียนการทำขนมในแต่ละครั้งก็จะมาลองฝึกทำต่อที่บ้านเพื่อความชำนาญ แล้วนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ทุกคนชิมแล้วต่างแนะนำให้ทำขาย ก็เห็นด้วย เพราะที่กรุงเทพฯค่าครองชีพสูง ก็อยากมีรายได้เสริมช่วยครอบครัว พอดีสามีมาเสียชีวิตลง ตนเองก็ต้องเป็นเสาหลักแทน จึงมุ่งมั่นทำเบเกอรี่ขายเลี้ยงลูก ๆ มาจนถึงปัจจุบันนี้

นารีรัตน์ยังบอกอีกว่า อาจเพราะมีใจรักและพอจะมีฝีมือ แม้ไม่มีหน้าร้านวางขนมขาย แต่อาศัยว่าลูกค้าที่เคยชิมหรือสั่งซื้อขนมไปรับประทาน บอกต่อกันปากต่อปาก ทำให้มียอดสั่งซื้อไม่ขาด บางคนใช้เป็นของฝากของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ รวมทั้งมีคนมารับไปขายต่อด้วย และปัจจุบันก็ยังรับสอนโดยคิดแค่ค่าวัตถุดิบเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

อาชีพนี้ อุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นอุปกรณ์สำหรับการทำเบเกอรี่ทั่วไป อาทิ เตาอบ หม้อ ฟอยล์ ช้อนตวง มีด จาน ส้อม ถาด ฯลฯ ส่วนการทำ “พายมะพร้าวอ่อน” สำหรับไส้พาย ส่วนผสมก็มี...เนื้อมะพร้าวอ่อน 83 กรัม, น้ำมะพร้าวอ่อน 500 กรัม, นมข้นจืด 250 กรัม, น้ำตาลทราย 300 กรัม, แป้งข้าวโพด 116 กรัม, เกลือ ช้อนชา, เนยสด 50 กรัม

ขั้นตอนการทำ “พายมะพร้าวอ่อน” เริ่มต้นจากการทำไส้มะพร้าวอ่อนก่อน โดยนำเนื้อมะพร้าวกับน้ำมะพร้าวใส่หม้อยกขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟอ่อนต้มจนเดือด ใส่น้ำตาลทราย นมข้นจืด และเกลือ ตามลงไป คนให้เข้ากัน ต้มต่อไปสักครู่ แล้วค่อยละลายแป้งข้าวโพดใส่ตามลงไป คนส่วนผสมให้เข้ากัน ใส่เนยสดตามลงไปเป็นขั้นตอนสุดท้าย ยกลงตั้งพักไว้ให้เย็น

ต่อไปเป็นขั้นตอนการทำตัวแป้ง ส่วนผสมก็มี แป้งสาลีอเนกประสงค์ 400 กรัม, เนยสด 100 กรัม, น้ำเย็น 50 กรัม วิธีทำเริ่มจากนำแป้งลงผสมกับเนยสดในกะละมัง ใช้มือนวดส่วนผสมให้เข้ากัน ค่อย ๆ เทน้ำเย็นใส่ตามลงไปทีละน้อย นวดไปเรื่อย ๆ ให้ส่วนผสมแป้งเข้ากันดี ตั้งพักไว้ประมาณ 10-15 นาที

นำแป้งที่ผสมดีแล้วมาแบ่งออกเป็น 4 ส่วน นำแต่ละส่วนมาปั้นให้เป็นก้อนกลม ๆ ใช้ไม้นวดแป้งมาคลึงรีดให้เป็นแผ่นใหญ่ ๆ ให้มีความบางประมาณ ซม. จากนั้นให้นำแป้งที่ได้ใส่จานพาย ตัดขอบให้กลมเท่าจาน ใช้ส้อมจิ้มแป้งพายให้ทั่ว ตักไส้มะพร้าวอ่อนที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในตัวแป้งให้สูงประมาณ ของพาย

จากนั้นนำก้อนแป้งมาคลึง รีดเป็นแผ่น วางปิดหน้าพาย ตัดขอบให้กลมตามขนาดจานพาย แล้วกดขอบแป้งให้ติดกัน ทำจีบรอบจานให้สวยงาม แล้วใช้กรรไกรหรือส้อมเจาะรูให้เป็นรูปหรือลวดลายที่สวยงามเพื่อใช้เป็นช่อง ของไอน้ำที่ระเหยออกจากพิมพ์ นำเข้าเตาอบ อบด้วยอุณหภูมิ 400 องศาฟาเรนไฮต์ ใช้เวลาอบประมาณ 12-15 นาที หรือจนกระทั่งสุก นำออกมาจากเตา ตั้งพักไว้ให้เย็น

นารีรัตน์บอกว่า “พายมะพร้าวอ่อน” ที่ทำนี้สามารถเก็บโดยแช่ตู้เย็น เก็บไว้ได้นานเป็นระยะเวลา 3 วัน โดยไม่เสียรสชาติ และจากสูตรที่ว่ามาสามารถทำพายมะพร้าวอ่อนได้ 2 ถาด ราคาขายพายมะพร้าวอ่อน ถาดละ 55 บาท (ตัดแบ่งได้ 8 ชิ้น)

สนใจ “พายมะพร้าวอ่อน” เจ้านี้ ต้องการสั่งซื้อ ต้องการซื้อไป จำหน่ายต่อ หรือต้องการเรียนการทำเบเกอรี่กับนารีรัตน์ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-9514-2174 ซึ่งการทำเบเกอรี่ขายนั้น แม้ไม่มีหน้าร้านก็สามารถทำได้ ด้วยวิธีรับสั่งทำ.

.....................................

คู่มือลงทุน...พายมะพร้าวอ่อน

ทุนเบื้องต้น ประมาณ 30,000 บาท

ทุนวัตถุดิบ ไม่เกิน 60% ของราคา

รายได้ ราคาถาดละ 55 บาท

แรงงาน 1 คนขึ้นไป

ตลาด ขายเอง ขายส่ง รับสั่งทำ

จุดน่าสนใจ ไม่มีหน้าร้านก็ทำขายได้

เชาวลี ชุมขำ

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=525&contentID=148676

Saturday, July 2, 2011

แนะนำอาชีพ "ดอกไม้โปรยทาน"

เวลาไปตามงานบุญ งานบวช งานศพ อีกประเพณีหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยคือการ “โปรยทาน” โดยใช้เหรียญเงิน ตามคติความเชื่อของไทยเก่าแก่ จากเดิมที่เป็นเพียงการนำเหรียญเศษสตางค์ต่าง ๆ มาโปรย ต่อมาก็มีการพัฒนา มีการตกแต่ง ทำการห่อหุ้มเหรียญโปรยทานเหล่านั้นให้มีรูปแบบสวยงามมากขึ้น และก็ได้กลายมาเป็นอีก ’ช่องทางทำกิน“ ที่สามารถทำได้ทั้งแค่อาชีพเสริม หรือจะยึดเป็นอาชีพหลัก อย่างเช่นไอเดีย ’ตกแต่งเหรียญโปรยทาน“ ไอเดียนี้...


“สังเวียน ชราศรี” เจ้าของไอเดียเหรียญโปรยทานรูปทรงหลากหลายที่สร้างเอกลักษณ์ด้วยชื่อ “ดอกบุญ” เล่าว่า เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมามีโอกาสเดินทางไปร่วมงานบุญ งานบวช และงานศพบ่อยครั้ง และได้สังเกตว่าเจ้าภาพจะทำการโปรยทานให้กับแขกที่มาร่วมงาน โดยแขกส่วนใหญ่จะนิยมเก็บเหรียญที่ได้กลับไปบ้านเพื่อนำไปติดตัว หรือเก็บไว้เป็นสิริมงคล โดยมีความเชื่อว่าเป็นดอกบุญ และจะทำให้ค้าขายคล่อง ทำให้โชคดี จึงกลับมานั่งคิดว่าน่าจะนำความรู้เกี่ยวกับการพับดอกไม้ที่เกี่ยวกับงาน ประดิษฐ์มาประยุกต์ดัดแปลงเพิ่มความสวยงามได้ จึงพยายามคิดออกแบบเหรียญโปรยทานขึ้น ด้วยการนำวัสดุประเภทโบหรือริบบิ้นมาประดิดประดอยตกแต่งเป็นรูปดอกไม้ต่าง ๆ

เจ้าของไอเดียเล่าต่อว่า เริ่มจากการนำโบและริบบิ้นมาพับเลียนแบบลักษณะดอกไม้ตามธรรมชาติชนิดต่าง ๆ เช่น ดอกกุหลาบ ดอกดาวกระจาย ดอกจอก เป็นต้น หลังจากทำเสร็จจึงทดลองนำไปให้ญาติ ๆ ใช้ประกอบในพิธีการงานบุญต่าง ๆ ปรากฏว่าก็ได้รับความสนใจดี จนตอนหลังจึงมีการสั่งทำอยู่ตลอด จึงคิดว่าน่าจะนำมายึดทำเป็นอาชีพได้ โดยตอนนี้ก็มีลูกค้าสั่งสินค้าจากทั่วประเทศ โดยอาศัยช่องทางการส่งผ่านระบบไปรษณีย์

จุดเด่นสินค้าจะอยู่ที่ความตั้งใจ เน้นความประณีต ละเอียด อีกทั้งมีรูปแบบให้เลือกที่หลากหลาย อาทิ ลายดอกจอก, ลายตะกร้อ, ลายดอกดาวกระจาย, ลายดอกกุหลาบ เป็นต้น ซึ่งลายดอกกุหลาบจะเป็นที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากมีความสวยงามมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่น ๆ และในอนาคตก็จะมีลายต่าง ๆ
เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสเลือก นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถเลือกสีสันได้ตามใจชอบอีกด้วย ทุนเบื้องต้นอาชีพ ใช้เพียงประมาณ 1,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ที่ต่อชิ้นก็ตั้งแต่ 3-5 บาท ขึ้นกับจำนวนที่สั่งทำ โดยหากเป็นราคาส่ง เฉลี่ยอยู่ที่ 300 ชิ้นขึ้นไป ราคาอยู่ที่ชิ้นละ 3 บาท ถ้าต่ำกว่า 300 ชิ้น ราคาชิ้นละ 5 บาท ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ มีอาทิ ริบบิ้น กรรไกร ไม้บรรทัด เงินเหรียญ 1 บาท หรือตามลูกค้ากำหนด

“หลายคนอาจจะมองว่าราคาสูงไปหรือเปล่า ความจริงไม่สูง เพราะในดอกบุญจะมีต้นทุนคงที่ คือเหรียญ 1 บาทใส่อยู่ ซึ่งเป็นต้นทุน 1 บาทแล้ว ในการยึดอาชีพทำดอกบุญนั้น นอกจากจะต้องเป็นคนที่มีฝีมือด้านประดิษฐ์แล้ว ยังต้องเป็นคนที่ใจเย็นอีกด้วย” เจ้าของงานกล่าว

ขั้นตอนการทำ ยกตัวอย่างวิธีทำดอกกุหลาบ เริ่มจากวัดริบบิ้นด้วยไม้บรรทัด ให้ได้ความยาว 22 นิ้ว ตัดริบบิ้นให้ได้ 4 เส้น จากนั้น ขั้นตอนก่อนวางเหรียญบาทจะต้องทำฐานสำหรับรองเหรียญก่อน นำริบบิ้นที่พับครึ่งมาทบไขว้กัน ทบไปทบมา โดยไขว้ให้เยื้องกันสี่ทิศ และต้องใช้เส้นที่สั้นที่สุดอยู่ด้านบน เมื่อได้ฐานแล้วให้เอาเหรียญบาทมารองห่อเหรียญบาท ห่อแบบวางพาดไปพาดมา โดยเส้นสุดท้ายต้องสอดเข้าฝัก เพื่อให้แน่นและเรียบ ก็จะเป็นสี่เหลี่ยมที่มีเหรียญบาทวางไว้ข้างใน สังเกตว่าแต่ละด้านจะมีริบบิ้นอยู่ด้านละ 2 เส้น

จากนั้นทำกลีบดอกไม้ พับตามรูปอีกครั้ง ก็จะได้เส้นริบบิ้นพาดลงมา นำเส้นริบบิ้นที่พาดอยู่สอดเข้าฝักให้เรียบร้อย เมื่อเวลาสอดลงมาเราก็จะได้เป็นกลีบดอกไม้ ทำตามขั้นตอนนี้จนครบ 8 กลีบ จากนั้นจับตรงกลางม้วนตามรอยที่ริบบิ้นหันไปทางเดียวกัน (ม้วนหมุนตามเข็มนาฬิกา) และม้วนตรงกลางประมาณ 4-5 รอบ ทำการบิดริบบิ้นเส้นแรกไปด้านหลัง แล้วสอดปลายริบบิ้นเข้าก้นกลีบด้านบน จนครบ 8 เส้น จากนั้นใช้กรรไกรตัดตกแต่งขอบให้สวยงาม

“จะว่ายากก็ไม่ยาก แต่กว่าจะถักเป็นลายแต่ละลายออกมาได้ ก็ต้องใช้เทคนิคและเวลาพอสมควร แต่หลังจากที่ได้แบบแล้วก็ง่ายขึ้น สำหรับเวลาในการทำ หากเป็นดอกไม้ที่มีรายละเอียดมาก อย่างเช่น ดอกกุหลาบ ดอกดาวกระจาย ก็จะใช้เวลาทำค่อนข้างนาน ดอกหนึ่งอาจต้องใช้เวลาถึง 10 นาที แต่ถ้าเป็นดอกที่มีรายละเอียดน้อยก็จะใช้เวลาไม่นานมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์” เจ้าของงานกล่าว


ใครสนใจ ’ดอกไม้โปรยทาน“ สนใจชิ้นงานลักษณะนี้ ต้องการติดต่อ สังเวียน ชราศรี ก็ติดต่อไปได้ที่ โทร.08-6218-2199 ใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามได้โดยตรงที่เจ้าของไอเดียชิ้นงานนี้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่ง ’ช่องทางทำกิน“ ที่เกิดขึ้นจากความช่างสังเกต จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งอาชีพด้านงานประดิษฐ์ที่น่าสนใจ.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=148539