Saturday, December 15, 2012

แนะนำอาชีพ "เทียนแกะสลักแฟนซีหอม"

’เทียนแฟนซี“ มีรูปแบบที่หลากหลาย เป็น การนำศิลปะผสมผสานลงไปบนเทียน ทำให้เกิดรูปแบบที่สวยงาม ซึ่งด้วยสีสันบวกกับการแต่งกลิ่นหอมลงไป เกิดเป็นเทียนแฟนซีที่ยิ่งได้รับความนิยม และเทียนแฟนซีแบรนด์ “เทียนไท” ที่ใช้ศิลปะการแกะสลักมาตกแต่งลงบนเทียนเป็นรูปทรงและลวดลายต่าง ๆ ที่ดูสวยงาม เป็นจุดเด่นดึงดูดผู้ที่ชอบเทียนหอมได้อย่างมาก นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ ในรูปแบบสวยหอมสร้างรายได้...

เมตตา เลขะสมาน และ ทับทิม แสงสุวรรณ ร่วมกันผลิต “เทียนแฟนซี” ภายใต้แบรนด์ “เทียนไท” ออกจำหน่าย โดยเมตตาเล่าว่า เดิมก็ทำงานเป็นพนักงานบริษัท เป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนกับหลาย ๆ คน แต่หลังจากที่ทำงานได้สักระยะหนึ่งก็เริ่มอยากที่จะหาอะไรทำเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นการหารายได้เพิ่มเติม จนมีเพื่อนมาชวนให้ทำเทียนแฟนซีด้วยกัน ซึ่งเขาก็ได้เอารูปแบบเทียนที่จะทำมาให้ดู หลังจากที่ได้ดูรูปแบบแล้วก็เกิดตกหลุมรักทันที เพราะเป็นเทียนที่สวย และเป็นรูปแบบที่แปลกตา
  
หลังจากที่ชอบเป็นการส่วนตัวด้วย ก็เลยตัดสินใจที่จะลองทำธุรกิจเทียนแฟนซีทันที โดยเพื่อนที่ชวนทำจะเป็นคนสอนทำ แต่เพื่อนคนนี้สอนได้นิดหน่อยแล้วเขาก็หายไป จึงต้องมานั่งหัดทำกันเองกับทับทิม เรียกว่าเริ่มจากศูนย์เลยก็ว่าได้เพราะไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำเทียนมา แต่แรก แต่ฝึกหัดทำ ลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 2-3 เดือน ก็ได้วิธีการทำและรูปแบบของเทียนที่ลงตัว
  
“จุดเด่นของเทียนแฟนซีของเรานั้นอยู่ที่รูปแบบที่อ่อนช้อยสวยงาม ดูแปลกตา เพราะใช้ศิลปะและเทคนิคการแกะสลักมาผสมผสานตกแต่งเทียน และเวลาจุดมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ แสงเทียนนั้นก็จะเป็นสีตามสีของเทียน”
  
สำหรับอุปกรณ์ในการทำ หลัก ๆ ก็มี...บล็อกเทียน (เป็นรูปดาว 6 แฉกสำหรับทำแกน), หม้อต้ม, ถังแก๊ส, เครื่องชั่งน้ำหนัก, มีดแกะสลัก, คัตเตอร์ เป็นต้น ส่วนวัตถุดิบนั้นก็มี... พาราฟิน ใช้ทำเทียน, แว็กซ์ ช่วยทำให้เทียนสีสดและเป็นมันเงา, สี เฉพาะสำหรับผสมเทียน, น้ำหอมกลิ่นต่าง ๆ ตามที่ต้องการ
  
การลงทุนนั้น เมตตาบอกว่า ตอนเริ่มต้นลงทุนไปประมาณ 20,000-30,000 บาท
  
ขั้นตอนการทำ...เริ่มจากการหล่อแกนเทียนก่อนเป็นอันดับแรก โดยเริ่มจากการนำพาราฟินและแว็กซ์ใส่ลงไปต้มในหม้อที่ตั้งไฟ ให้วัตถุดิบทั้ง 2 ละลายผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียว จากนั้นก็นำน้ำหอมกลิ่นที่ต้องการใส่ผสมเข้าไป (กลิ่นที่เมตตาใช้จะเป็น กลิ่นโรสแมรี่) หลังจากที่ตั้งไฟได้ที่ ก็เทลงบล็อก โดยเตรียมบล็อกที่เป็นรูปดาว 6 แฉก โดยนำไส้เทียนใส่ไว้ตรงกลาง จากนั้นก็นำเทียนที่ต้มไว้มาเทลงไปในบล็อก พักทิ้งไว้ให้เย็นสนิทแข็งตัวอยู่ทรง ก็เสร็จขั้นตอนทำแกนเทียน
  
ต่อไปเป็นการชุบเคลือบแกนเทียนให้เกิดเป็นชั้นสีสันต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ก่อนที่จะนำไปแกะสลักลวดลายอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยขั้นตอนการชุบเคลือบนี้เริ่มจากการต้มเทียนเหมือนเดิม แต่จะต้มไว้หลายหม้อ และผสมสีสันลงในหม้อต้มเทียนหลากหลายสี ขั้นตอนนี้จะต้องคงอุณหภูมิของเทียนที่ต้มไว้ให้คงที่ ควบคุมอุณหภูมิให้พอดี เพราะถ้าเย็นไปเมื่อนำเทียนมาชุบก็จะทำให้เกิดฟองอากาศ ผิวไม่เรียบ หรือร้อนเกินไปก็ชุบไม่ติด
  
การทำก็นำแกนเทียนที่เตรียมไว้มาชุบลงไปในหม้อเทียนที่เตรียมไว้ ต้องการให้เป็นสีไหนก็ชุบสีนั้น ชุบลงไป 1 ครั้ง ยกขึ้นมา แล้วก็ชุบลงน้ำให้เทียนที่เคลือบแข็งตัวเล็กน้อย จากนั้นก็ชุบลงในหม้อเทียนที่ผสมสีอีก ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ โดยชุบเคลือบประมาณ 30 รอบขึ้นไป หรือตามต้องการ
      
หลังจากที่ชุบเคลือบเทียนได้ขนาดตามที่ต้องการแล้ว ก็นำเทียนมาตัดตกแต่งส่วนด้านล่างที่เป็นฐานเทียนให้เรียบเสมอกัน เวลาตั้งต้องไม่เอียง จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการแกะสลักตกแต่งทำลวดลายลงบนเทียน โดยนำเทียนที่ได้มาแขวน แล้วใช้มีดแกะสลักกรีดตัดตกแต่งสร้างลวดลายให้สวยงามตามที่ต้องการ แกะจากด้านล่างไล่ขึ้นไปข้างบนให้รอบแท่งเทียน เมื่อแกะลวดลายเสร็จก็ทำการตกแต่ด้านบนให้เรียบร้อย พักทิ้งไว้ให้เทียนแข็งตัวแห้งสนิท แล้วจากนั้นก็ทำการบรรจุใส่แพ็กเกจ พร้อมจำหน่าย
  
เทียนแฟนซีของแบรนด์นี้มีหลากหลายลวดลาย อาทิ ลายกลีบบัว ลายเก๋งจีน ลายหมู่มาลี ลายหงส์ฟ้า ลายโบ เป็นต้น และยังมีการพัฒนาลายอื่น ๆ ออกมาอีกเรื่อย ๆ โดยขนาดของเทียนที่ทำมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว ความสูงประมาณ 12 ซม. ราคาขายอยู่ที่ 250-300 บาท แต่ถ้าลูกค้าซื้อ 20 ชิ้นขึ้นไปก็จะได้ในราคาส่ง

ใครสนใจ ’เทียนหอมแฟนซีแกะสลัก“ แบรนด์นี้ ต้องการจะติดต่อ-สั่งออร์เดอร์ ก็ติดต่อได้ที่ เลขที่ 77/19 หมู่ 1 หมู่บ้านนันทวัน 8 ถนนเลียบวารี แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ 10530 เบอร์โทรศัพท์คือ โทร. 08-9445-9769 และสามารถเข้าไปดูสินค้าได้ที่ http://tieantaibynoo.lnwshop.com ทั้งนี้ กรณีศึกษารายนี้ก็บ่งชี้ว่า ’ช่องทางทำกิน“ จาก ’เทียนแฮนด์เมด“ นั้น ยังไปได้ต่อ ยังไม่ตัน.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน
แสงจันทร์ สนั่นเอื้อ : ภาพ

..................................

คู่มือลงทุน...เทียนแฟนซีแกะสลัก

ทุนเบื้องต้น     ประมาณ 20,000-30,000 บาท
ทุนวัสดุ    ประมาณ 50% ของราคาขาย
รายได้    ราคาขาย 250-300 บาท / ชิ้น
แรงงาน    1 คนขึ้นไป
ตลาด    ขายในอินเทอร์เน็ต, แหล่งท่องเที่ยว
จุดน่าสนใจ    สร้างจุดขายด้วยลวดลายแกะสลัก

http://www.dailynews.co.th/article/384/172309

Saturday, December 8, 2012

แนะนำอาชีพ “เคสจากย่านลิเภา”

การช่วยส่งเสริม-พัฒนาเอสเอ็มอี และโอทอป โดยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังคงเดินหน้าอยู่ตลอด ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ได้ไปพบเจอผลิตภัณฑ์ของผู้ที่ได้เข้าร่วมโครงการสร้างตราสินค้าใหม่ให้แก่ ผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อน กับแบรนด์ “โฟลี่ บาย บุญยรัตน์” ซึ่งมี “เคสสมาร์ทโฟนจากย่านลิเภา” เป็นผลิตภัณฑ์เด่น จึงนำมาเล่าสู่กัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา...
  
ผลิตภัณฑ์นี้นำเสนอแนวคิดด้าน Creative Mobile Life นำย่านลิเภามาผสานกับชีวิตสมัยใหม่ยุคไอที โดย เจษฎา หงสุชน กรรมการผู้จัดการ หจก.บุญยรัตน์ไทยคร๊าฟท์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า บุญยรัตน์ไทยคร๊าฟท์ทำกระเป๋าย่านลิเภาและเครื่องถมมาตั้งแต่รุ่นคุณย่าคุณ ยาย จนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ จ.นครศรีธรรมราช ช่วงสองสามปีก่อนมีความคิดขยายกลุ่มลูกค้า โดยตั้งเป้าลดอายุกลุ่มเป้าหมายให้เหลือประมาณ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งด้วยทักษะที่ประณีตและดีไซน์ลวดลายที่สวยงาม ทำให้ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาครองใจผู้ใช้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกระแสโลก
  
“เราต้องการให้งานจักสานย่านลิเภาสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนรากเหง้าทั้งหมด แต่ผสมผสานความเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านจากงานจักสานและย่านลิเภาที่เป็นไม้ ประจำถิ่น กับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน อย่างกลมกลืน เพื่อให้ โฟลี่ บาย บุญยรัตน์ เป็นแบรนด์ที่คนรุ่นใหม่รับรู้และนึกถึงเมื่อต้องการสิ่งที่แตกต่าง แล้วไอเดียก็เป็นจริงเมื่อมีโครงการ นครศรีดี๊ ดี ด้วยคอนเซปต์ นครร่วมสมัย ซึ่งก็ตรงกับบุญยรัตน์ ที่ต้องการจะปรับตัวให้ร่วมสมัยเช่นกัน ก่อนที่จะได้รับแรงบันดาลใจจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่แนะให้ใช้ย่านลิเภาทำเคสไอโฟน ผมจึงร่วมกับกลุ่มสตรีแม่บ้านสหกรณ์การเกษตรท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีฝีมือประณีตในการจักสาน มาดำเนินการตามที่ตั้งใจ”
  
อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานย่านลิเภาเป็น “เคส” นั้น หลัก ๆ ก็มี ตัวเคส, มีด (ใช้สำหรับขูดเส้นลิเภาให้ได้ตามต้องการ), เหล็กแหลม (ใช้เจาะรูที่โครงเพื่อเสียบไม้ไผ่และช่วยในการจัดลาย), แผ่นโลหะเจาะรู (ใช้ขูดเกลาให้ย่านลิเภาและไม้ไผ่ที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์มีขนาดเท่ากัน), ปลอกนิ้ว (ทำจากผ้าหนา ๆ ใช้สวมนิ้วเวลาขูดย่านลิเภา จะได้ไม่เจ็บ), กาวลาเท็กซ์ (ใช้ทาเส้นลิเภาให้ยึดติดกับโครงแบบที่จะทำ หรือใช้ยึดส่วนประกอบของกระเป๋า) และวัสดุหลักที่ใช้ในการทำคือ ย่านลิเภา ซึ่งย่านลิเภามี 2 ชนิดคือ ย่านลิเภาสีดำ และย่านลิเภาสีน้ำตาล
  
ขั้นตอนและวิธีการทำ “เคส” เช่น เคสไอโฟน เคสไอแพด จากย่านลิเภา
  
เริ่มจากนำย่านลิเภาใหญ่ไปลอกหรือปอกเปลือก แล้วนำเปลือกที่ลอกได้ไปแขวนตากลมในที่ร่มแห้ง จากนั้นก็นำมาฉีกเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการจะใช้งาน แล้วตั้งพักไว้ก่อน
  
นำกระป๋องนมมาเจาะรู 5 รู เรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปหาเล็กที่สุด จากนั้นเอาย่านลิเภาที่เป็นเส้นฝอยมารูดทีละช่องจนถึงช่องเล็กที่สุด โดยดึงผ่านจากโคนถึงปลาย ก็จะทำให้ขนาดของย่านลิเภาเรียบและมีขนาดเท่ากัน ขั้นตอนนี้เรียกว่าการชักเลียด (ในการทำควรจะทำครั้งละมาก ๆ เพื่อสะดวกในการนำไปใช้ ส่วนย่านลิเภาที่ยังไม่ได้ใช้ก็ให้นำไปแช่ตู้เย็นเพื่อเก็บความชื้นไว้ เพื่อจะง่ายต่อการสาน เพราะถ้าเส้นลิเภาแห้งแล้วจะสานยาก)
  
การสาน นำเส้นลิเภาที่ขูดจนเส้นเป็นมันและเหนียวแล้ว มาสานแบบขัดเป็นลวดลายต่าง ๆ บนแป้นที่เตรียมไว้ เช่น ลายไทย ลายไทยประยุกต์, ลายดอกสี่เหลี่ยม, ลายสอง, ลายตาสับปะรด, ลายลูกแก้ว และลายอิสระที่ไม่มีแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้สานจะคิดและประดิษฐ์เองให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โดยสีของลวดลายส่วนใหญ่มี 4 สี คือ สีเนื้อ สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลแก่ และสีดำ ลักษณะงานจักสานวิธีนี้จะเป็นรูปทึบ จากนั้นก็นำไปประกอบเข้ารูปกับเคสไอแพด หรือไอโฟน หรืออื่น ๆ ที่เตรียมไว้ เพียงเท่านี้ก็จะได้ เคสลายไทยประยุกต์ ที่สวยงาม
  
เจษฎาบอกอีกว่า โฟลี่ บาย บุญยรัตน์ นำย่านลิเภามาทำเป็นเคส โดยช่างฝีมือด้านการสานย่านลิเภาทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ที่ทางหน่วยงานส่ง เสริม-พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่งมาเป็นที่ปรึกษา โดยลายสินค้าจะใช้ลายดั้งเดิม ทีมดีไซเนอร์จะเสริมในเรื่องรูปแบบ การวางลาย และองค์ประกอบทางด้านศิลปะ ซึ่งตัวงานก็ยังคงเน้นที่การทำมือ ไม่ใช้เครื่องจักรเลย ซึ่งนี่เป็นจุดขายอย่างหนึ่ง
  
ใครสนใจ “เคสจากย่านลิเภา” ต้องการติดต่อเจษฎา ติดต่อได้ที่ โทร.08-9474-3918, 08-9474-2053 และ 0-7535-6196 ทั้งนี้ งานจักสานเป็นมรดกที่สั่งสมและถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่า คือภูมิปัญญาไทยอันล้ำค่าที่ควรช่วยกันสืบทอด สร้างเป็นงานหัตถศิลป์ระดับชาติ และก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ให้คนไทยสืบไป.

เชาวลี  ชุมขำ

...............................................      

คู่มือลงทุน...เคสย่านลิเภา

ทุนเบื้องต้น    ประมาณ  3,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัสดุ    ประมาณ  50% ของราคา
รายได้    ราคา 850 บาทขึ้นไป / เคส
แรงงาน    1 คนขึ้นไป
ตลาด    แหล่งท่องเที่ยว, ผลิตขายส่ง
จุดน่าสนใจ    ภูมิปัญญาไทยทำเงินอินเทรนด์

http://www.dailynews.co.th/article/384/171340

Friday, December 7, 2012

แนะนำอาชีพ “ตุ๊กตาอัดเสียง”

อาชีพงานประดิษฐ์ประเภทของขวัญ-ของที่ระลึก นอกจากขายฝีมือการประดิษฐ์ชิ้นงานแล้ว บางชนิดก็พลิกแพลงเป็นงานบริการได้อีกทางหนึ่งด้วย ยิ่งถ้าเสริมในเรื่องของกระจุกกระจิกหรือของประดับตกแต่งเข้าไป ก็ยิ่งเพิ่มจุดขายและจุดเด่นให้งานบริการได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น “ตุ๊กตาอัดเสียง” ที่ทาง “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้...
“หทัยชนก สมมิตร” เล่าว่า ทำงานเป็นพนักงานบริษัท ต่อมาอยากหาอาชีพเสริมทำเพื่อเสริมรายได้ และด้วยความที่เป็นคนมีนิสัยชอบความโรแมนติก เวลาที่ต้องมอบของขวัญให้คนที่รู้ใจหรือคนรู้จักที่สนิทก็มักจะมองหาของขวัญ ที่มีลักษณะพิเศษอยู่เสมอ จึงเกิดความคิดว่า ถ้ามองถึงของขวัญที่สามารถแทนใจแทนความรู้สึกของผู้ให้ ที่จะทำให้คนรับนึกถึงคนให้ได้เสมอ ของขวัญต้องมีจุดเด่นที่พิเศษไม่เหมือนใคร จึงหันมาสนใจธุรกิจ “ตุ๊กตาอัดเสียง” นี้

“ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าต้องเลือกของขวัญสักชิ้นให้คนพิเศษ จะเลือกซื้ออะไร เราก็เลยมองไปที่ตุ๊กตาเพราะเราชอบงานตุ๊กตาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำถามต่อมาคือ ตุ๊กตาอะไรที่สามารถมอบได้กับคนทุกเพศทุกวัย เราก็มองไปที่ตุ๊กตาหมี ก็เลยเกิดเป็นธุรกิจเล็ก ๆ นี้ขึ้นในชื่อ “I’m a Bear” หทัยชนกกล่าว ก่อนเล่าต่อไปว่า เมื่อได้คำตอบว่าน่าจะเป็นตุ๊กตาหมี จึงคิดว่าน่าจะเพิ่มลูกเล่นให้สินค้าน่าสนใจขึ้น และมองว่าลูกค้าบางคนอาจอยากฝากข้อความพิเศษหรือบันทึกเสียงคำอวยพรเพื่อบอก ความในใจและความรู้สึก เพราะหลายคนเขินอายไม่กล้าพูด ทำให้คิดว่าบริการตัวนี้น่าจะช่วยเหลือลูกค้าตรงจุดนี้ได้ โดยตุ๊กตาที่ให้บริการอยู่นั้น สามารถอัดหรือลบเสียงได้ตลอดเวลา

ปัจจุบันสินค้ายังไม่มีหน้าร้านจำหน่าย แต่อาศัยจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊ก www.facebook.com/IamAbear2012 ซึ่งเปิดมาได้ 6 เดือนแล้ว ผลตอบรับก็ค่อนข้างน่าพอใจ โดยลูกค้ามีทั้งนักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน ซึ่งข้อดีของการจำหน่ายผ่านช่องทางนี้คือ ต้นทุนต่ำ สื่อสารกับลูกค้าได้ตลอดเวลา ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนมีผู้ใช้เพิ่มขึ้น ทำให้ช่องทางนี้เป็นที่สนใจ เพราะกำลังเติบโตและได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสะดวก ตอบสนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

“นอกเหนือไปจากการที่อัดเสียงได้ เราเสริมในเรื่องชุดเสื้อผ้าและของประดับเพิ่มเข้าไป โดยเฉพาะช่วงเทศกาล หรือโอกาสพิเศษ เช่น รับปริญญา จบการศึกษา หรือรับทำของที่ระลึกประจำรุ่นที่จบ ซึ่งระบุได้ว่าอยากจะปักชื่อหรือข้อความอะไร นอกจากนี้ยังรับสั่งทำรูปอื่น ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการด้วย” หทัยชนกกล่าว

ทุนเบื้องต้นอาชีพ ใช้ประมาณ 20,000 บาท เป็นค่าตุ๊กตาหมีและเครื่องบันทึกหรืออัดเสียง ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 65% จากราคาขาย ซึ่งมีตั้งแต่ 350 บาท ไปจนถึง 1,000 บาท ขึ้นกับขนาดตุ๊กตา โดยสินค้ามี 4 แบบคือ 1.แบบของทางร้าน 2.ชุดรับปริญญา 3.ชุดนักเรียน 4.แบบที่สั่งทำเฉพาะ ส่วนขนาดมี 3 ขนาดคือ ใหญ่, กลาง, เล็ก  ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำมีไม่มาก อาทิ ตุ๊กตาหมี, ชุดตุ๊กตาหมี, เครื่องอัดเสียง และอุปกรณ์สำหรับเย็บผ้า เช่น เข็ม, ด้าย, กรรไกร
 
“ปกติเราจะเตรียมเงินหมุนเวียนในการสต๊อกสินค้าอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน เพราะการสต๊อกสินค้าจะทำให้เราสามารถควบคุมเรื่องราคาต้นทุนได้ และทำให้เราสามารถเช็กยอดสินค้าคงคลังของเราได้รวดเร็ว แต่ข้อเสียคือ หากสต๊อกสินค้าไว้ไม่เหมาะสมก็อาจจะมีปัญหาเรื่องต้นทุนที่จมลงไปกับสินค้า หรือหากสั่งน้อยไปจนสินค้าไม่พอกับความต้องการก็อาจทำให้เราเสียโอกาสในการ ขายสินค้าได้” หทัยชนกแนะนำ

การทำ “ตุ๊กตาอัดเสียง” เนื่องจากนี่เป็นธุรกิจบริการประเภทที่นำสินค้ามาผสมผสาน ขั้นตอนจึงไม่มีอะไรมาก

จะมีในส่วนที่ต้องทำที่เป็นจุดขายก็คือ การบันทึกหรืออัดเสียงพูด ซึ่งมีขั้นตอนคือ ลูกค้ากดปุ่มตัวอาร์ตรงแขนด้านซ้ายของตุ๊กตาค้างไว้ จนได้ยินเสียงสัญญาณดัง จึงทำการพูดเพื่อบันทึกเสียงลงไป เมื่อพูดจบให้ปล่อยมือจากปุ่ม จะได้ยินเสียงสัญญาณดังสองครั้งจึงจะถือว่าการอัดเสียงเสร็จสมบูรณ์ หากต้องการฟังก็ให้กดตรงแขนด้านขวา

ส่วนการลบเสียง ให้กดที่แขนด้านซ้ายของตุ๊กตาโดยไม่ต้องกดค้างไว้ จะได้ยินเสียงสัญญาณดังสองครั้ง ถือว่าลบเสียงออกได้สมบูรณ์ หากไม่แน่ใจก็กดที่แขนขวาเพื่อลองฟังดูก่อนอัดเสียงใหม่ได้ ซึ่งเหล่านี้ลูกค้าสามารถทำได้ด้วยตัวเองตามคำแนะนำในการใช้งาน โดยสามารถดูได้ที่เฟซบุ๊กของทางร้าน
ใครสนใจติดต่อหทัยชนก ติดต่อได้ที่ โทร. 08-8884-0409 หรืออีเมลiam_a_bear@hotmail.com ส่วนตัวสินค้าก็เข้าไปดูที่เฟซบุ๊กของทางร้าน ซึ่ง “ตุ๊กตาอัดเสียง” นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่ผสมผสานรูปแบบการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่น่าสนใจ และยังใช้ช่องทางจำหน่ายสินค้าที่น่าสนใจ ในโลกยุคออนไลน์ที่เติบโตขึ้นทุกวัน.

http://www.dailynews.co.th/article/384/171151

Saturday, December 1, 2012

แนะนำอาชีพ ‘พานขันหมาก’

ทางทีม “ช่องทางทำกิน” เคยนำงานใบตองอย่าง “บายศรี” มานำเสนอไปแล้ว และวันนี้ทางทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนองาน “ใบตอง” อีกรูปแบบหนึ่ง นั่นก็คือ “พานขันหมาก” ซึ่งฝีมือดี ๆ ก็เป็นช่องทางสร้างรายได้ที่ดีได้...
  
จากข้อมูลในเว็บไซต์ http://www.wedding.in.th ระบุไว้ว่า ประเพณีการยกขันหมากสู่ขอนั้นเป็นพิธีมงคลที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการคารวะผู้ ปกครองฝ่ายเจ้าสาว เป็นการบอกกล่าวขออนุญาตในการที่เจ้าบ่าวจะสู่ขอเจ้าสาวไปเป็นภรรยา และกับประวัติที่มาของ “พานขันหมาก” มีมาแต่สมัยสุโขทัย สมเด็จพระร่วงเจ้าทรงบัญญัติว่า ถ้าทำการรับแขกเป็นสนามใหญ่มีการอาวาห์มงคลหรือวิวาห์มงคลแล้ว ให้ร้อยดอกไม้เป็นรูปพานขันหมาก และให้เรียกว่า “พานขันหมาก”
  
ปัจจุบันการทำ “พานขันหมาก” สามารถทำเป็นอาชีพทำเงินได้ ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบ “ช่องทางทำกิน”
  
เสกสรรค์ มะลิซ้อน หรือ อาท อายุ 25 ปี ซึ่งสร้างสรรค์ผลงาน “พานขันหมาก” เล่าว่า เป็นชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง และรับทำพานขันหมากไปด้วย ซึ่งเงินที่ได้ก็สามารถใช้เป็นทุนการศึกษาต่อโดยที่ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ผู้ปก ครองอาทเล่าต่อไปว่า สมัยเรียนชั้นประถมได้เรียนทักษะวิชาการจากหนังสือความสามารถพิเศษ ในด้านการร้อยมาลัย งานใบตอง เมื่อโตขึ้นก็มีโอกาสได้ร่วมทำพานขันหมากกับคนเฒ่าคนแก่ตามที่ต่าง ๆ ที่มีการจัดงาน หรือบางทีไปร่วมงานแต่งงานก็จะดู จะแหวกดูพานขันหมาก ว่าเขาทำกันอย่างไรบ้าง? “การเรียนรู้ของผมคือฝึกด้วยตัวเอง ศึกษาเบื้องต้นจากอินเทอร์เน็ตบ้าง แล้วมาศึกษาการทำจริงจังตอนงานแต่งงานพี่สาวตัวเอง”  
      
พานขันหมากนี้ อาทบอกว่า เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนชาติใดในโลก เป็นงานที่ต้องใส่ใจมาก เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือและความประณีต ถือเป็นวัฒนธรรมตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากนี้การทำยังเป็นการฝึกสมาธิชั้นเยี่ยมอีกด้วย
  
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำพานขันหมาก หลัก ๆ ก็มี ใบตอง หรือหยวกกล้วย, ดอกไม้-ใบไม้ อาทิ ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกบัว แกนดอกบัว ดาวเรือง ใบนาก ใบเงิน ใบทอง ใบพลู หมาก, หยวกกล้วย หรือโฟม, พานขนาดต่าง ๆ, ลวดเย็บกระดาษ, หมุดเข็ม, ลวด, ตะปู, เชือก, เข็ม-ด้าย และวัสดุประกอบอื่น ๆ ที่เหมาะสม
  
สำหรับขั้นตอนการทำพานขันหมาก เริ่มที่เตรียมพานขนาดตามต้องการ ตัดโฟมหรือหยวกกล้วยให้เป็นรูปวงกลม เท่ากับขนาดของความกว้างพาน   
ขั้นตอนต่อไปคือการทำ “คอม้า” รอบโฟมหรือหยวกกล้วย ด้วยการฉีกใบตองให้มีขนาดกว้าง 2 นิ้ว แล้วพับใบตองแต่ละด้านเข้ามาตรงกลางให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วพับสามเหลี่ยมแต่ละด้านเข้าหากัน พับแบบนี้ทีละชิ้น แล้วนำแต่ละชิ้นมาเย็บติดกันเป็นวงกลมให้ได้ขนาดเท่ากับโฟมหรือหยวกกล้วย แล้วนำไปติดรอบโฟมหรือหยวกกล้วย ปักติดด้วยหมุดเข็ม หรือใช้ลวดเย็บกระดาษเย็บติดก็ได้ เสร็จแล้วตัดใบตองส่วนที่ยาวออกไป
  
ต่อไปทำ “กลีบรอบ” ด้วยการฉีกใบตองให้มีขนาดกว้าง 1 นิ้ว แล้วพับใบตองแต่ละด้านเข้ามาตรงกลางให้มาเป็นรูปสามเหลี่ยม  แล้วพับใบตองด้านข้างของสามเหลี่ยมเข้ามาตรงกลาง พับทั้งสองข้าง ทำแบบนี้ทีละชิ้น แล้วนำไปเย็บติดบนคอม้าให้รอบ ทำให้ได้ 3 รอบ เรียงสับหว่างกันให้ดูสวยงาม และเป็นระเบียบ เสร็จแล้วตัดใบตองส่วนที่ยาวออกไป
  
ถัดมาเป็นการตกแต่งพานด้วยการติดดอกไม้ที่มีชื่อมงคล อย่างดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก ใช้หมุดเข็มปักเข้าไปตรงกลางของดอกไม้ทีละดอก แล้วนำไปติดรอบพาน เริ่มด้วยดอกบานไม่รู้โรย ตามด้วยดอกรัก   ติดให้รอบทีละชั้น

ส่วนการตกแต่งในตัวพานก็เช่นเดียวกัน ใช้ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก แกนดอกบัว และดอกบัว วิธีการคือ ใช้หมุดเข็มปักเข้าไปตรงกลางของดอกไม้ทีละดอก แล้วนำไปปักในตัวพาน เริ่มด้วยดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก แกนดอกบัว ส่วนดอกบัวให้วางไว้ตรงกลางเพื่อความสมบูรณ์สวยงาม  และพานขันหมากจะต้องมีดอกดาวเรือง หมาก ใบพลู ใบเงิน ใบทอง ใบนาก ร่วมประดับด้วย
ปิดท้ายที่การทำ “กรวยครอบพานขันหมาก” ด้วยการฉีกใบตองกว้าง 3 นิ้ว พับครึ่งตามยาว แต่ให้เฉียงเล็กน้อย ทำทีละชิ้น ประมาณ 24 ชิ้น แล้วนำมาเย็บติดกันเป็นวงกลมด้วยลวดเย็บกระดาษ (ทั้งด้านล่างและด้านบน) ตัดใบตองส่วนบนออกเล็กน้อยเพื่อความสวยงาม นำไปครอบปิดพาน เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อย 
ราคาพานขันหมากรูปแบบที่ว่ามานี้ อยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ถ้าเป็นชุด มี 5 พาน อาทิ พานขันหมากเอก, พานสินสอด, พานธูปเทียนแพ, พานเชิญขันหมาก ราคาชุดละ 4,500-5,000 บาท
                                      
ใครสนใจเรื่อง “พานขันหมาก” สนใจต้องการติดต่อกับ อาท-เสกสรรค์ มะลิซ้อน ก็ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-5768-4014 หรือทางอีเมล Art.Art1234@hotmail.com หรือ okee123@hotmail.com และ http://www.facebook.com/okeeyakung ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” จากวิถีไทยโบราณ.

http://www.dailynews.co.th/article/384/170054