Saturday, May 4, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เปิดร้านกาแฟแบบยั่งยืน

“ช่องทางทำกิน” วันนี้ยังคงเก็บตกกิจกรรมครั้งที่ 6 ตามโครงการ “เดลินิวส์ฝึกอาชีพ” ฟรี!! ซึ่งคณะผู้บริหารเดลินิวส์จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนทางด้านอาชีพ โดยกิจกรรมครั้งที่ 6 นี้ทางเดลินิวส์จัดฝึกอบรมการทำ “ธุรกิจร้านกาแฟ” โดยร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด อีกครั้ง...
                              
การฝึกอบรมครั้งนี้ ดร.พิสิฐ เหตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์เดลินิวส์, คุณนนท์ รุจิรวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดหนังสือพิมพ์เดลินิวส์, คุณบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพี ออลล์, คุณนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพี รีเทลลิงค์ และทีมงานของทุกฝ่าย คอยให้การต้อนรับดูแลผู้เข้าอบรม 50 คนอย่างใกล้ชิด โดยคุณนริศซึ่งสันทัดกรณีธุรกิจกาแฟให้เกียรติเป็นวิทยากรให้ความรู้ผู้เข้า อบรมทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ

“ทำร้านกาแฟอย่างไรให้ยั่งยืน?” นี่เป็นประเด็นสำคัญ โดยคุณนริศระบุว่า ธุรกิจกาแฟขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน ด้วยตลาดที่ใหญ่ก็ทำให้คนหันมาสนใจธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยากเปิดร้านกาแฟเพราะมองว่ากำไรดี, คิดว่ามีอิสระ เปิด-ปิดเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจ, อยากเป็นเจ้าของกิจการ, มีสถานที่อยู่แล้ว หรือเปิดเพราะอยากมีที่รับรองเพื่อนก็ยังมี

“อยากให้ข้อมูลว่าจากการสำรวจพบว่าร้านกาแฟท้องถิ่นมีอัตรารอด 20% มักพบปัญหาการลาออกบ่อยของพนักงาน หลายคนเริ่มต้นโดยขาดความรู้ ไม่มีระบบ ทำให้ตกอยู่ในสภาพรอดก็ไม่ได้-ตายก็ลำบาก” นี่เป็นคำเตือนจากกูรูผู้เชี่ยวชาญธุรกิจร้านกาแฟ ทว่า...การจะสร้างตัวจากธุรกิจร้านกาแฟนั้นก็ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้

การทำธุรกิจร้านกาแฟสดนั้น หลัก ๆ ที่จะต้องคำนึงถึง ประกอบด้วย... การตลาด ผู้เปิดร้านกาแฟต้องวิเคราะห์ว่า ตลาดอยู่ไหน ใครคือลูกค้า มีขนาดเท่าไร นอกจากนี้ต้องทราบ พฤติกรรมลูกค้า อุปนิสัย ความชื่นชอบ วิถีชีวิต เพื่อจะทราบว่าสินค้าและบริการแบบใดตรงใจกับกลุ่มเป้าหมาย และต้องพิจารณา ราคาที่คุ้มค่าและความเหมาะสม ด้วยว่าสำหรับลูกค้าแล้ว ควรอยู่ที่อัตราเท่าไร และรู้ว่า ทำอย่างไรลูกค้าจะกลับมาซื้อซ้ำ ขณะที่ ช่องทางที่สะดวกในการเข้าถึงสินค้าและบริการ ก็ต้องคิดว่าจะเป็นอย่างไร จะต้องใช้กลยุทธ์และยุทธวิธีอะไรบ้าง??

“การเลือกทำเลก็สำคัญมาก ขณะที่กลยุทธ์เรื่องการโฆษณาและส่งเสริมการขาย ก็ควรใช้ให้พอดี เหมาะสม ไม่พร่ำเพรื่อ ทำเท่าที่จำเป็น และต้องมีเหตุผลสนับสนุนทุกครั้งที่จะทำ” เป็นสิ่งที่วิทยากรเน้นย้ำ

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาเลือกทำเล มีดังนี้... ทำเลที่เลือกต้องสอดคล้องกับแนวคิดธุรกิจ, เลือกพื้นที่ค้าขายดี, เลือกจุดที่ต้องการ, รวบรวมข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และตัดสินใจเลือกทำเลร้านให้เหมาะกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน

อาจฟังดูยาก แต่ย่อยให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ... ต้องเป็นทำเลที่คนเห็นร้านได้ง่าย, ภาพลักษณ์ร้านดึงดูดน่าสนใจ, เป็นย่านที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหนาแน่นเพียงพอ, ที่ตั้งร้านอยู่ในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางกิจกรรมต่าง ๆ, ลักษณะกายภาพร้านและทำเลต้องส่งเสริมกันทางบวก เช่น มีที่จอดรถ สะดวกในการเข้าร้าน เป็นต้น

ในส่วนของตัวสินค้า คือ “กาแฟ” การสร้างสินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย มีข้อพิจารณาคือ... รสชาติและความสม่ำเสมอของรสชาติ มีการรับประกันคุณภาพ เช่น ความสดของเมล็ดกาแฟและวัตถุดิบอื่น ๆ โดยร้านที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีสินค้าขายดี และรวมถึงมีความหลากหลายด้วย
เรื่อง การบริการ ที่ก็สำคัญ มีข้อพิจารณาคือ... บริการที่ลูกค้าคาดหวัง เช่น วิธีรับออร์เดอร์, เวลาในการเตรียมสินค้า, เวลารอคอยสินค้า, ลักษณะการเสิร์ฟ, น้ำดื่มและน้ำแข็งสะอาด ตลอดจนองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น เวลาทำการ, เมนูแนะนำ, ป้ายแสดงราคา, ห้องน้ำ, บริการเสริมต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ไวไฟอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ขณะที่ การจัดร้าน บรรยากาศภายในและภายนอกร้าน ก็เป็นสิ่งที่ผู้ทำธุรกิจร้านกาแฟจะต้องให้ความสำคัญเช่นกัน
วัสดุอุปกรณ์ ประกอบการขายสำหรับร้านกาแฟ โดยทั่วไปก็จะประกอบด้วย เครื่องชงกาแฟ, เครื่องบด, อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ, ตู้แช่, เมล็ดกาแฟ, แก้ว, ช้อน, ถุง, น้ำตาล, ไซรัป, ผงช็อกโกแลต, นม, หัวเชื้อ ฯลฯ และลงลึกอีกนิดกับอุปกรณ์ร้านกาแฟ ที่จำเป็นก็เช่น แก้วชอท, แก้วตวง 8 ออนซ์, ช้อนตักฟองนม, ช้อนคนส่วนผสม, เทอร์โมมิเตอร์, นาฬิกาจับเวลา, แก้ว 16 ออนซ์, แก้วร้อนคาปูชิโน, กระบะเคาะกาก, เหยือกตีฟองนม, แปรงปัดผงกาแฟขนาดเล็กและขนาดใหญ่, ขวดโรยผงโกโก้, แทมเปอร์ส, ขวดบีบซอส, หลอดกาแฟ
ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจกาแฟใหม่ ๆ หากเป็นร้านขนาดที่คาดว่าจะมีอัตราการชงกาแฟต่อวัน 50-150 แก้ว อาจใช้เครื่องชงกาแฟพร้อมเครื่องบดขนาด 1 หัวชงก็ได้ แต่ถ้าหากเป็นร้านขนาดใหญ่ที่มีอัตราการชงกาแฟต่อวันประมาณ 250-500 แก้ว ควรจะเลือกใช้เครื่องชงกาแฟพร้อมเครื่องบดขนาด 2 หัวชง จึงจะมีความเหมาะสม ขณะที่ในส่วนของสูตรกาแฟ ณ ที่นี้ก็มีมาบอกกันบางส่วน แต่กับสูตรกาแฟ-การชงกาแฟนั้น ควรต้องหาแหล่งเรียนรู้ ต้องฝึกฝน จึงจะชงกาแฟได้รสชาติดี

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจร้านกาแฟนั้น ยังสามารถสร้างรายได้จากสินค้าเสริมต่าง ๆ ได้ด้วย เช่น ชา นม น้ำผลไม้ เบเกอรี่ สแนค ของหวาน บัตรเติมเงินมือถือ ฯลฯ แต่ทั้งนี้ที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาดในการเปิดร้านคือ ใบอนุญาต ข้อกำหนดข้อปฏิบัติของภาครัฐและชุมชนที่ตั้งร้าน เช่น การกำจัดขยะ และของเสียต่าง ๆ เป็นต้น
 
…ก็เป็นโดยสรุป โดยสังเขป เกี่ยวกับการทำ “ธุรกิจร้านกาแฟ” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” เก็บตกจากกิจกรรม “Coffee Rich รวยรินกลิ่นกาแฟ รับทรัพย์แน่ แค่อบรม” กิจกรรมครั้งที่ 6 ของโครงการ “เดลินิวส์ฝึกอาชีพ” มานำเสนอ

ผู้ที่สนใจธุรกิจนี้ก็ลองพิจารณากันดู.
ทีมช่องทางทำกิน : รายงาน
สันติ มฤธนนท์-ภานุพงศ์ พนาวัน : ภาพ

...........................................................................................
ส่วนผสมกาแฟ "6 สูตร"
กาแฟ “แมคเคียโต้เย็น” มีส่วนผสมคือ... เอสเปรสโซ่ชอท 2 ออนซ์, นมสดเย็น 1 ออนซ์, ซอสกาแฟ 2 ออนซ์

กาแฟ “ลาเต้เย็น” มีส่วนผสมคือ... เอสเปรสโซ่ชอท 2 ออนซ์, นมสดเย็น 1 ออนซ์, ซอสกาแฟ 2 ออนซ์, นมสดเย็นสำหรับราด 1 ออนซ์
กาแฟ “ลาเต้ร้อน” มีส่วนผสมคือ... เอสเปรสโซ่ชอท 1 ออนซ์, นมสดร้อน 4 ออนซ์ และฟองนมสด
กาแฟ “คาปูชิโน่เย็น” มีส่วนผสมคือ... เอสเปรสโซ่ชอท 2 ออนซ์, นมสดเย็น 1 ออนซ์, ซอสกาแฟ 2 ออนซ์ และฟองนม กับผงโกโก้
กาแฟ “คาปูชิโน่ร้อน” มีส่วนผสมคือ... เอสเปรสโซ่ชอท 1 ออนซ์, นมสดร้อน 2 ออนซ์, ฟองนมสดร้อน 2 ออนซ์
กาแฟ “เอสเปรสโซ่ร้อน” มีส่วนผสมคือ... เอสเปรสโซ่ชอท 1 ออนซ์.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/202089

No comments: