Saturday, April 27, 2013

แนะนำอาชีพ "บายศรีกระดาษ"

"บายศรีกระดาษ" เป็นการประดิษฐ์บายศรีจากวัสดุที่หาง่ายอย่างกระดาษ ซึ่งเป็นการคิดต่าง เพื่อให้สินค้าสามารถกระจายขายได้กว้างขึ้น และที่สำคัญไม่เป็นการสิ้นเปลืองใบตองที่นับวันจะมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งบายศรีกระดาษนี้สามารถเก็บไว้ได้นานทีเดียว ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลเรื่องนี้มานำเสนอให้พิจารณา...
  
กัญญา บุญศิริ เจ้าของงาน “บายศรีกระดาษ” วัย 76 ปี ซึ่งเป็น 1 ในวิทยากรของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพ และพิทักษ์เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ข้อมูลกับทีม “ช่องทางทำกิน” หลังจากที่ได้พบกันงานตลาดนัดภูมิปัญญาสร้างอาชีพ ครั้งที่ 3 เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยบอกว่า ทำบายศรีเป็นทุกประเภท เพราะช่วยพี่สาวซึ่งมีอาชีพรับทำบายศรีจากใบตองมานาน และก็ได้หัดพลิกแพลงมาทำบายศรีกระดาษ เพราะเห็นว่าแปลกดี และสามารถจะทำได้หลายสี อีกทั้งวัสดุก็หาง่าย ราคาไม่แพง 
“บายศรีทุกประเภทที่ว่านั้น ก็มี บายศรีเทพ, บายศรีพรหม, บายศรีตอ, บายศรีปากชาม เป็นต้น โดยบายศรีที่เป็นที่นิยมที่สุด มีคนสั่งทำเยอะสุด คือบายศรีปากชาม ซึ่งจะต้องทำเป็นคู่ ยิ่งเป็นช่วงเทศกาล หรือช่วงที่มีการประกอบพิธีกรรมเยอะ ๆ ทำกันไม่ทันทีเดียว” กัญญากล่าว

วัสดุที่ใช้ในการทำบายศรีกระดาษ ก็มี กระดาษสี, กระดาษขาว, พานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว, ดอกไม้พลาสติก ประกอบด้วย กุหลาบ พุด ดาวเรือง บานไม่รู้โรย บัว และโบผ้า ส่วนอุปกรณ์ที่ต้องใช้หลัก ๆ ก็มี กาว, กรรไกร, คัตเตอร์, ไม้บรรทัด, เข็มหมุด และที่เย็บกระดาษ

วิธีทำ “บายศรีกระดาษ” เริ่มจากตัดกระดาษขาว ขนาด 9.5x13.5 นิ้ว จำนวน 1 แผ่น และตัดกระดาษสีขนาดเดียวกัน อีก 1 แผ่น แล้วเอากระดาษขาวม้วนเป็นกรวยเตรียมไว้ จากนั้นเอากระดาษสีม้วนทับบนกรวยขาวอีกชั้นหนึ่ง เสร็จแล้วเย็บติดกันด้วยลวดเย็บกระดาษ แล้วนำไปวางบนพานที่เตรียมไว้

ตัดกระดาษสีขนาด 5x2 นิ้ว เตรียมไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อไว้ทำ ตัวบายศรี โดยบายศรีที่จะยกตัวอย่างการทำนี้ เป็น บายศรีปากชาม แบบแม่ 3 ลูก 3

เริ่มที่ ใช้กระดาษสีพันดอกพุดพลาสติก 1 ดอก เป็นตัวบายศรี โดยพันเป็นรูปสามเหลี่ยม เอาดอกพุดพลาสติกติดไว้ด้านบน ติดลวดเย็บกระดาษให้เรียบร้อย แล้วเอากระดาษสีขนาดเดียวกันอีก 1 ชิ้น มาพับปิดตัวบายศรีอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่า “นุ่งผ้า” ทำแบบนี้ไว้ประมาณ 27 ชิ้น

ขั้นตอนต่อมา ทำ “แม่บายศรี” โดยเอาตัวบายศรีแต่ละชิ้นมาเย็บติดกันเป็นแนวตั้ง โดยแม่บายศรี 1 ตัว จะใช้ตัวบายศรี 9 ชิ้น และบายศรีปากชามนี้จะใช้แม่บายศรีทั้งหมด 3 ชิ้น 
ส่วน ลูกบายศรี จะต้องทำและใช้ตัวบายศรี 3 ชิ้น โดยเอาแต่ละชิ้นมาเย็บติดกันเป็นแนวตั้ง ซึ่งสำหรับบายศรีปากชามนี้ก็จะใช้ลูกบายศรีทั้งหมด 3 ชิ้นเช่นกัน

การประกอบ ก็เอาตัวแม่บายศรีทั้ง 3 ชิ้นมาเย็บติดกับกรวยที่ทำเตรียมไว้บนพาน กะระยะห่างให้เท่า ๆ กัน และติดตัวลูกบายศรีอีก 3 ชิ้นตรงช่องว่างของตัวแม่ 3 ช่อง จัดขยับให้ดูเข้าที่เรียบร้อย ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนนี้

ปิดท้ายด้วยการตกแต่งพานบายศรี ตกแต่งด้วยดอกไม้พลาสติก อาทิ กุหลาบ ดาวเรืองที่มีเกสรเป็นดอกบานไม่รู้โรย โดยปักดอกไม้ให้ดูสวยงามมีศิลปะ และตกแต่งในส่วนของกรวยด้วยดอกดาวเรือง ดอกบัว พันรอบกรวยด้วยโบผ้าให้สวยงาม เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบ ร้อยสมบูรณ์ สำหรับการทำบายศรีกระดาษ แบบบายศรีปากชาม แม่ 3 ลูก 3

สำหรับราคาขายบายศรีกระดาษ ถ้าเป็นบายศรีปากชาม ราคาอยู่ที่คู่ละ 200 บาท โดยมีต้นทุนวัสดุ ยังไม่รวมค่าแรงค่าฝีมือ ประมาณไม่เกิน 70 บาท
  
การทำ “บายศรีกระดาษ” ขาย นี่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่น่าพิจารณา ซึ่งหากใครสนใจบายศรีกระดาษ ต้องการติดต่อ กัญญา บุญศิริ ก็ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1902-2632

http://www.dailynews.co.th/article/384/200352

No comments: