Sunday, February 3, 2013

แนะนำอาชีพ "อักษรไม้"

อาชีพผลิตงานฝีมือ งานประดิษฐ์ หลายคนยึดจับจนเป็นอาชีพหลัก แต่หลายคนก็ทำเป็นอาชีพเสริมได้น่าสนใจ แม้ไม่มีหน้าร้านขาย แต่ก็สามารถใช้สื่อออนไลน์ค้าขายทำเงินได้ไม่แพ้กัน อย่างเช่นงานประดิษฐ์ ’ตัวอักษรไม้“ ของ ’กาญจน์-วันเพ็ญ ทันจิตต์“ สองหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอในวันนี้...
              
กาญจน์ เล่าว่า ธุรกิจนี้เริ่มจากความคิดที่อยากทำของขวัญด้วยมือให้ภรรยา คือวันเพ็ญ ความที่มีอาชีพเกี่ยวกับงานกราฟิกจึงมองว่าอยากประดิษฐ์ตัวอักษรที่มี เอกลักษณ์ของตัวเองขึ้น จึงลงมือออกแบบ ก่อนนำมาตัดขึ้นรูปบนแผ่นไม้ หลังจากนั้นมีหลายคนเห็นแล้วเกิดความชอบ ขอให้ช่วยทำให้บ้าง จึงมองว่าน่าจะพัฒนาเป็นอาชีพได้ โดยจากเดิมที่เป็นการตัดด้วยมือก็พัฒนามาใช้เครื่องตัดไฟฟ้า ก่อนผสมผสานเทคนิคหลายอย่าง จนเกิดเป็นตัวอักษรไม้ประดิษฐ์นี้ขึ้น
  
ด้านวันเพ็ญ เล่าว่า รูปแบบที่เห็น นำไอเดียที่เคยพบจากร้านงานประดิษฐ์ในต่างประเทศมาประยุกต์ให้เหมาะกับ ลูกค้าและตลาดในไทย สินค้าจัดอยู่ในกลุ่มของขวัญ ของที่ระลึก และของตกแต่ง ลูกค้าจึงมีทั้งกลุ่มที่สั่งทำชิ้นงานสำเร็จรูป และกลุ่มที่ซื้อตัวอักษรเพื่อนำไปตกแต่งชิ้นงานอีกต่อหนึ่ง โดยใช้ชื่อสินค้าว่า “19 December” ปัจจุบันยังไม่มีหน้าร้าน อาศัยจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียว คือที่ http://woodencraft.weloveshopping.com กับ www.facebook.com/pages/19-December โดยเปิดมาได้ 1 ปีครึ่ง ซึ่งผลตอบรับกลับมาก็ค่อนข้างน่าพอใจ
  
“ข้อดีของการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ คือราคาถูก ค่าใช้จ่ายแทบไม่มี แต่ต้องใช้เวลาในการทำการตลาดเพื่อให้ชื่อสินค้าเป็นที่รู้จัก อีกทั้งต้องหมั่นพยายามโต้ตอบหรือตอบข้อซักถามกับลูกค้าที่เข้ามา ซึ่งสื่อใหม่นี้ถ้าใช้ให้ดีจะมีพลังมาก” ก็เป็นมุมมองสำหรับคนที่สนใจการค้าการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ที่วันเพ็ญแนะนำไว้...
  
สินค้าของทั้งคู่มีจุดเด่นอยู่ที่ “ฟอนต์ (Font)” หรือ “ตัวอักษร” ที่จะถูกออกแบบขึ้นใหม่ ไม่ใช่ตัวอักษรสำเร็จรูปที่มีอยู่ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ขนาด สีสัน และลักษณะของตัวอักษร ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
  
“บางคนเขาก็จะบอกความต้องการมา เช่น ต้องการนำไปประดับตกแต่งในงานแต่งงาน เขาก็จะบอกแนวคิดหรือรูปแบบของงานมาให้ เราก็จะช่วยคิดและออกแบบให้ลูกค้าดูว่าชอบไหม ถ้าชอบใจก็จะเริ่มต้นขึ้นชิ้นงาน ลูกค้าบางคนก็สั่งโดยเขียนข้อความมาให้ เพื่อให้เราทำ โดยมีทั้งที่นำไปมอบให้ผู้ใหญ่ใช้สำหรับตั้งโต๊ะ นำไปเป็นป้ายแสดงความยินดีมอบให้คนที่เรียนจบการศึกษา อีกทั้งลูกค้าบางรายมาสั่งให้ทำป้ายชื่อร้านก็มี” กาญจน์ ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิต ระบุ  
  
และบอกอีกว่า การทำชิ้นงานลักษณะนี้ขาย ทุนเบื้องต้นนั้นขึ้นอยู่กับกำลังการผลิต หากผลิตไม่มาก อาจใช้แค่เพียงเลื่อยฉลุด้วยมือ หรือเลื่อยตัดไม้ไฟฟ้า ต้นทุนก็จะไม่มาก แต่หากต้องการผลิตจำนวนมาก ก็อาจจะต้องลงทุนในส่วนของเครื่องตัดไฟฟ้า ราคาก็อยู่ที่หลักหลายหมื่นบาท โดยตัวที่เขาใช้อยู่มีราคาประมาณ 50,000 บาท ส่วนทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มต้นที่ตัวอักษรละ 100 บาทขึ้นไป ขึ้นกับขนาด รูปแบบ และความยากง่ายในการทำ
  
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ หลัก ๆ ประกอบด้วย เครื่องตัดไม้ไฟฟ้า (เครื่องซีเอ็นซี), เลื่อยฉลุหรือเลื่อยตัดไฟฟ้า (เลื่อยจิ๊กซอว์), ไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ไม้สน ไม้เปอร์เซีย ไม้สัก ไม้อัดสังเคราะห์ (เอ็มดีเอฟ), กระดาษทรายเบอร์ต่าง ๆ สำหรับลบเสี้ยนผิวไม้, สีน้ำทาบ้าน, สีสำหรับงานแนปกิ้น, กาวลาเท็กซ์ และวัสดุตกแต่ง อาทิ กระดาษแนปกิ้น ลูกปัด กากเพชร
  
“ส่วนใหญ่เราจะใช้ไม้สน ไม้เปอร์เซีย และไม้สัก โดยจะซื้อมาเป็นแผ่น ๆ สำรองไว้ ไม้เอ็มดีเอฟหรือไม้อัดสังเคราะห์จะไม่ค่อยใช้เท่าไหร่ เพราะอายุการใช้งานน้อย และบางทีก็ไม่เหมาะสำหรับงานภายนอก เพราะเมื่อโดนแดดโดนฝนก็จะเปื่อยยุ่ยได้ง่าย” เป็นคำแนะนำการเลือกใช้ไม้  
  
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบตัวอักษรตามความต้องการของลูกค้าในเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อได้แบบที่พอใจแล้วก็ทำการบันทึกและป้อนคำสั่งไปที่เครื่องตัดไฟฟ้าหรือ ซีเอ็นซี จากนั้นเครื่องก็จะทำการตัดขึ้นรูปเป็นตัวอักษรที่ต้องการ นำตัวอักษรไม้ที่ได้มาตรวจดูรอยไม้หรือเสี้ยนที่เกิดขึ้น ใช้กระดาษทรายเบอร์ต่าง ๆ ทำการลบเสี้ยนให้เรียบ จากนั้นนำไปตกแต่งด้วยสีและวัสดุที่เตรียมไว้ ตรวจตราความเรียบร้อย เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำตัวอักษรไม้
  
“ขั้นตอนไม่ซับซ้อน แต่ก็มีรายละเอียดที่ต้องทำอยู่บ้าง เช่น การตรวจดูเหลี่ยมมุมของตัวอักษรและรอยเส้นบนเนื้อไม้ ที่เหลือก็ไม่มีอะไรยาก ขึ้นอยู่กับจินตนาการและไอเดียเป็นสำคัญ” วันเพ็ญ ทิ้งท้ายถึง ’ช่องทางทำกิน“ รูปแบบนี้
                                    
สนใจชิ้นงาน ’ตัวอักษรไม้“ ติดต่อที่ โทร. 08-9201-2909, 08-1753-8505 หรือเปิดเข้าไปดูในหน้าร้านออนไลน์ตามช่องทางข้างต้นดูก็ได้ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งงานไอเดียที่น่าสนใจ สามารถพลิกแพลงสินค้าได้หลากหลายประเภท.

http://www.dailynews.co.th/article/384/181963

No comments: