Saturday, August 17, 2013

แนะนำอาชีพ ‘ช่างเครื่องเสียง’

“งานช่าง” บางเรื่องสามารถคิดทำต่อยอด ’ช่องทางทำกิน“ ออกมาจากงานเดิมได้ โดยเฉพาะการเสริมในเรื่องของ “การบริการ” เพิ่มเข้าไป โดยสามารถอาศัยทักษะพื้นฐาน และความชำนาญด้านเดิม “พลิกแพลง-ปรับตัว” ให้เข้ากับยุคกับสมัยได้ไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ อย่างเช่นงาน ’บริการอัพเกรดเครื่องเสียง“ ของ “อดิศักดิ์ สุจริต” รายนี้... ****** อดิศักดิ์ เจ้าของงานบริการรับอัพเกรดเครื่องเสียง เล่าว่า คลุกคลีกับเครื่องเสียง เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด มาตั้งแต่สมัยเรียนจบใหม่ ๆ โดยยึดอาชีพช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งตอนนั้นทำงานประจำให้กับบริษัทเครื่องเสียงแห่งหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาเปิดธุรกิจของตัวเอง รับให้บริการซ่อมและอัพเกรดเครื่องเสียงให้กับลูกค้าโดยตลอด โดยใช้ชื่อร้านว่า 4seasonsaudio โดยมีหน้าร้านอยู่ที่ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า ชั้น 3 และมีเว็บไซต์ของร้านคือ www.4seasonsaudio.com ไว้เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ส่วนสาเหตุที่พลิกผันจากงานซ่อมหันมาให้บริการอัพเกรดเครื่องเสียง เขาบอกว่า เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมที่นิยมการซ่อม แต่ปัจจุบันจะหันไปซื้อเครื่องเสียงใหม่แทนมากกว่า ดังนั้นช่างที่เคยรับงานซ่อมเช่นเขา จึงจำเป็นต้องเน้นงานปรับเครื่องเสียง-การอัพเกรดเครื่องเสียงแทน... “แต่ก่อนหนึ่งซอยจะมีร้านรับซ่อมต้นซอย กลางซอย ท้ายซอย แต่เดี๋ยวนี้ปิดไปหมด เพราะลูกค้าไม่นิยมซ่อม แต่ซื้อใหม่ ก็เลยต้องปรับตัว หันมาให้บริการอัพเกรดหรือการโมดิฟายด์ แทน” อดิศักดิ์กล่าว งานบริการนี้โดยพื้นฐานยังใช้ “ทักษะ” ที่ “ช่างไฟ-ช่างอิเล็กทรอนิกส์” ทุกคนมีติดตัว เพียงแต่ว่าเรื่อง “การออกแบบ-การอัพเกรด” นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความชำนาญของช่างแต่ละราย เช่น ต้องรู้จักอุปกรณ์ที่อัพเกรด, ต้องทราบว่าควรเลือกวัสดุแบบใด ตรงนี้ขึ้นกับการศึกษาเฉพาะของช่างแต่ละคน ซึ่งการอัพเกรดเครื่องเสียงจะอยู่ที่ “ภาคจ่ายไฟ” เป็นหลัก ตั้งแต่อุปกรณ์ท้ายเครื่อง จนถึงอุปกรณ์บางตัวในภาคจ่ายไฟ... ทุนเบื้องต้น ใช้ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป หรือถ้ามีอุปกรณ์ช่างอยู่บ้างก็จะลดลงอีก ทุนหมุนเวียนอยู่ที่ปริมาณการรับบริการ ถ้าช่วงใดมีสต๊อกอะไหล่ไว้ก็ใช้ทุนไม่มาก รายได้-ค่าบริการขึ้นอยู่กับงาน แต่ส่วนใหญ่ค่าบริการอยู่ในช่วง 2,000-20,000 บาท ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์หลัก ๆ ก็มี มิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า, ปากกาหัวแร้ง, ตะกั่ว, ค้อน, ไขควง เป็นต้น ขั้นตอนการให้บริการ เริ่มตั้งแต่เมื่อลูกค้าเดินเข้ามา ลูกค้าจะแจ้งความประสงค์ว่าต้องการรับการบริการชนิดไหน อาทิ เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ เปลี่ยนอะไหล่ให้มีคุณภาพดีกว่าเก่า หรือจะเป็นงานเกี่ยวกับการปรับตั้งเครื่องเสียงใหม่ จากนั้นก็จะลงลึกเรื่องในเรื่องของงบประมาณ โดยงบประมาณจะเป็นตัวแปร ที่กำหนดว่างานบริการที่จะต้องทำนั้น จะมีราคาค่าบริการมากน้อยแตกต่างกันไปเท่าใด และนอกเหนือจากการที่ลูกค้าหิ้วเครื่องเสียงเข้ามารับบริการปรับเครื่องใหม่ที่ร้านเองแล้ว ก็ยังมีการบริการรับปรับเครื่องเสียงนอกสถานที่ ซึ่งถือว่าเป็นบริการเสริม ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับตัวช่างหรือร้านด้วยเช่นกัน เช่น การติดตั้งเดินสายไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบ การเดินสายและเปลี่ยนสายลำโพงเครื่องเสียงใหม่ เป็นต้น “การอัพเกรด เราสามารถเบิกเงินลูกค้าก่อนครึ่งหนึ่งได้ และใช้กำไรเป็นทุนหมุนเวียน ซึ่งการอัพเกรดทำได้เร็วกว่างานซ่อม เพราะเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ให้เครื่องดีขึ้น ไม่ต้องหาต้นเหตุของอาการเสียเหมือนงานซ่อม ทั้งนี้ ช่างที่รับทำต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ และต้องควบคุมความผิดพลาดให้ได้ เพราะลูกค้าจะคาดหวังความพึงพอใจเป็นพิเศษ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือว่าสำคัญ และต้องทำให้ลูกค้าไว้วางใจ” เป็นคำแนะนำจากอดิศักดิ์ นอกจากนี้ เขายังบอกว่า อยากฝากถึงเพื่อนช่าง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลง จากงานซ่อมพื้นฐาน ก็อัพเกรด ยกระดับอาชีพได้ด้วยการเพิ่มเติมในเรื่องเทคนิคเข้าไป ซึ่งตลาดตรงนี้กำลังเติบโตในปัจจุบัน และมีรายได้ที่น่าสนใจ... ****** บริการโมดิฟายด์ ’อัพเกรดเครื่องเสียง“ เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ ซึ่งสำหรับอดิศักดิ์เขายังผลิต “กล่องไฟ” เพื่อเพิ่มคุณภาพของเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกเสริมให้ลูกค้าที่ต้องการยกระดับเครื่องเสียงอีกด้วย ใครสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08-9891-4247 หรือใครสนใจลงลึกรายละเอียดก็สอบถามได้เช่นกัน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่พลิกวิกฤติจากงานพื้นฐาน ด้วยการอัพเกรดอาชีพ จนเกิดเป็นงานบริการที่น่าสนใจ. ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/384/226505

No comments: