Saturday, September 29, 2012

แนะนำอาชีพ “ไอศกรีมน้อยหน่า”

“ไอศกรีม” เป็นหนึ่งในของหวานที่คนไทยทุกเพศทุกวัยนิยมรับประทาน ยิ่งเมืองไทยเราเป็นเมืองร้อน การทำไอศกรีมขายยิ่งเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลการทำการขาย “ไอศกรีมน้อยหน่า” ไอศกรีมผลไม้ ไอศกรีมโฮมเมด ไขมันต่ำ เพื่อสุขภาพ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งจุดขายที่โดดเด่น มานำเสนอให้ลองพิจารณากัน...
 
ศักดิ์สุกฤต นาคบัว หรือ โอ เป็นเจ้าของธุรกิจไอศกรีมโฮมเมด ยี่ห้อ “J.Homemade” ผลิตและขายไอศกรีมผลไม้ ชายหนุ่มผู้นี้นำความรู้สมัยเรียนปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหาร มาผสมผสานเข้ากับความชอบของตัวเอง จนกระทั่งได้ผลผลิตออกมาเป็นไอศกรีมแสนอร่อย และอุดมไปด้วยคุณค่าของผลไม้ไทย ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า เบื่อหน่ายกับงานประจำที่เคยทำ ก็เลยเฟ้นหากิจกรรมที่ชอบ ก็พบว่าตัวเองสนใจไอศกรีม คิดว่าน่าจะขายได้ เพราะบ้านเราอากาศร้อน ประกอบกับที่บ้านมีสวนผลไม้อยู่ที่จันทบุรี ก็เป็นการช่วยนำผลไม้ที่สวนมาแปรรูปด้วย

“ผมหาเวลาว่างไปเรียนการทำตามสถาบันต่าง ๆ ซึ่งสูตรที่เรียนมาบางครั้งก็ใช้ไม่ได้ จึงต้องนำมาปรับพลิกแพลงและพัฒนาอยู่นานเป็นปี จนได้สูตรไอศกรีมผลไม้ไขมันต่ำ คนที่ได้ชิมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อย จึงร่วมหุ้นทำธุรกิจนี้กับรุ่นพี่ที่เป็นตำรวจคือ พ.ต.ท.เจนกมล คำนวล รองผู้กำกับฯอยู่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยนำไอศกรีมที่ทำไปเสนอตามร้านอาหารที่ยังไม่มีขนมหวาน เสียงตอบรับดีมาก เพราะเป็นไอศกรีมเพื่อสุขภาพ อุดมไปด้วยคุณค่าจากผลไม้แท้ 100% ไม่แต่งสีไม่แต่งกลิ่น ไม่มีส่วนผสมของนม ไข่ ไขมันจากสัตว์ ไม่ใส่สารกันบูด รสชาติหวานเย็นหอมมันพอดี กลมกล่อมอร่อยแบบธรรมชาติ ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ชอบทานไอศกรีม แต่ห่วงเรื่องสุขภาพ”

คุณโอบอกอีกว่า ไอศกรีมที่ทำมีหลายรสชาติให้เลือก แต่ตัวที่ทำตลาดได้ดี ขายดิบขายดีคือ น้อยหน่า มังคุด สละ ซึ่งในส่วนของ “ไอศกรีมน้อยหน่า” เป็นสูตรดั้งเดิมที่ได้รับถ่ายทอดจากคุณย่าและคุณแม่ นำมาปรับสูตรให้เหมาะสมกับการผลิตในปัจจุบัน ใส่เนื้อน้อยหน่าเป็นชิ้น ๆ ไอศกรีมแต่ละถ้วยมีปริมาณเนื้อไม่น้อยกว่า 30% ในการทำก็ควบคุมความสะอาดทุกขั้นตอนการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน จนได้รับเครื่องหมาย อย. และเมื่อมั่นใจในรสชาติ และความสะอาด ปลอดภัย จึงเริ่มทำออกจำหน่ายอย่างจริงจังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันอุปกรณ์ที่จำเป็น ต้องมีในการทำไอศกรีม หลัก ๆ ก็ได้แก่ เครื่องปั่นไอศกรีม ที่เหลือก็จะเป็นอุปกรณ์ทั่วไป เช่น หม้อ เครื่องตวง เตาแก๊ส ทัพพี ฯลฯ ซึ่ง “ไอศกรีมน้อยหน่า” ที่จะยกตัวอย่างวิธีทำนั้น ส่วนผสมที่ใช้ในการทำก็มี มะพร้าว, ผลไม้สด คือ น้อยหน่า, น้ำตาลทราย

ขั้นตอนการทำ “ไอศกรีมน้อยหน่า” เริ่มจากการนำผลน้อยหน่าที่เตรียมไว้มาคว้านเอาแต่เนื้อ ใส่ภาชนะพักไว้ เตรียมมะพร้าวที่ขูดใหม่ใส่กะละมัง นำน้ำร้อนที่เดือดพล่านราดใส่ลงไป ทิ้งไว้สักครู่พอให้คลายร้อน จึงทำการคั้นกรองด้วยกระชอนและผ้าขาวบาง 2 -3 ครั้งให้ได้น้ำกะทิในปริมาณตามที่ต้องการ ใส่น้ำตาลทรายลงในกะทิ คนให้น้ำตาลละลาย ยกขึ้นตั้งไฟอ่อน ตุ๋นไปเรื่อย ๆ พอเดือดยกลงกรองด้วยผ้าขาวบางอีกครั้ง ใส่เนื้อน้อยหน่าลงไป ทิ้งไว้ให้เย็น ก่อนจะนำไปปั่นในเครื่องปั่นไอศกรีม ใช้เวลา 15-20 นาที ให้สังเกตดูพอเนื้อเนียนก็ใช้ได้

หลังจากปั่นจนได้ที่ ก็ทำการเทและจัดเก็บไว้ในกล่องที่เตรียมไว้ จากนั้นก็นำไปทำกรรมวิธีต่อไปคือการบ่ม ซึ่งการบ่มก็คือการนำไปแช่เก็บไว้เพื่อเป็นการทำให้เนื้อไอศกรีมได้เซตตัว ใช้เวลาบ่มประมาณ 6 ชั่วโมงก็ใช้ได้

สำหรับไอศกรีมผลไม้ตัวอื่น ก็จะมีส่วนผสมของน้ำและเนื้อผลไม้ที่ต้องการจะใช้ทำไอศกรีมรสชาตินั้น ๆ มาทำการแปรรูปผ่านกรรมวิธีเพื่อที่จะได้ออกมาในรูปของน้ำ ใช้น้ำผลไม้ที่ได้ประมาณ 65% ผสมน้ำสะอาดประมาณ 5% แล้วทำการต้มเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค ระหว่างต้มก็ใส่เนื้อของผลไม้นั้น ๆ ประมาณ 29% ใส่ไขมันจากพืชคือน้ำมันมะกอก 1% และน้ำตาลเล็กน้อย ผสมลงไปต้มแค่พอเดือด จากนั้นก็ยกลงพักไว้ ผลไม้ที่นำมาทำไอศกรีมควรใช้ผลไม้ที่มีความแก่จัด เวลาทำออกมาจะได้รสชาติและกลิ่นของผลไม้นั้น ๆ อย่างเต็มที่ ส่วนขั้นตอนอื่น ๆ ก็เหมือนกับไอศกรีมน้อยหน่า

ไอศกรีมผลไม้นี้สามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 6 เดือน ในอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ -18 องศาเซลเซียส
 
ราคาขายไอศกรีมน้อยหน่า และไอศกรีมผลไม้แท้อื่น ๆ เจ้านี้จะขายถ้วยละ 30 บาท มีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัตถุดิบประมาณไม่เกิน 60% ของราคา ปัจจุบันมีขายตามร้านอาหารชั้นนำหลายแห่ง เช่น ร้านอาหารในเครือแม่ศรีเรือน, ร้านอบอร่อย-ทาวน์อินทาวน์, ข้าวมันไก่โก๊ะตี๋, แหลมเจริญ ซีฟู้ด, สวนอาหารนาทอง ใกล้แยกเหม่งจ๋าย ฯลฯ รวมถึงร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ ร้าน Asian Corner ภายใน King Power Duty Free Down Town Complex ซอยรางน้ำ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะมีเอกลักษณ์ที่เป็นไอศกรีมผลไม้ไทยแท้ถูกใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้ประกอบการรายนี้ยังทำเงินได้จากการรับจัดเป็นของว่างตามงานประชุม สัมมนา และออกงานต่าง ๆ ด้วย
 
ใครสนใจติดต่อ โอ-ศักดิ์สุกฤต ธุรกิจไอศกรีมโฮมเมด “J.Homemade” ติดต่อได้ที่ โทร. 08-1576-9988 และ 08-1335-8188 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” จากสินค้าอาหารที่ “เพื่อสุขภาพ” เป็นจุดเด่นจุดขายที่ดี.

http://www.dailynews.co.th/article/384/157992

No comments: