Friday, October 26, 2012

แนะนำอาชีพ ''งานผ้า-งานปัก''

งานผ้า-งานปัก ยังเป็นชนิดชิ้นงานที่ได้รับความสนใจทั้งจากกลุ่มผู้ผลิตและกลุ่มผู้ซื้อต่อ เนื่องมาตลอด ส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งจากลวดลายของผ้า รวมไปถึงรูปแบบของลักษณะชิ้นงานที่ทำขึ้น เราจึงพบว่าแม้ตลาดจะมีผู้ผลิตชิ้นงานอยู่มากมาย แต่ก็ยังเกิดรูปแบบ และลวดลายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างเช่นงานมีสไตล์เฉพาะของ “วิลาสินี พูลพิพัฒน์” กับ ’งานผ้าปัก“  สารพัดชนิด ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้...
วิลาสินี เล่าว่า ยึดอาชีพผลิตชิ้นงานจากผ้าปักเป็นอาชีพเสริมจากอาชีพหลักคือการเป็นนักออก แบบสิ่งพิมพ์ มาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว โดยงานผ้า-งานปักนี้เกิดจากความชอบส่วนตัว ได้รับแรงบันดาลใจจากคนใกล้ชิดอย่างคุณแม่และคุณยายที่นำผ้าเก่าที่เก็บไว้ นานหลายปีมามอบให้ ซึ่งพอได้เห็นก็เกิดไอเดียว่าลวดลายบนผ้ามีความสวยงามน่าจะสามารถนำมาสร้าง สรรค์ให้เกิดเป็นชิ้นงาน โดยใส่สไตล์เฉพาะที่ตนคิดขึ้นจากทักษะด้านการออกแบบที่มีอยู่ จึงทดลองและฝึกทำ โดยช่วงแรกนำไปมอบเป็นของขวัญให้กับคนรู้จัก ทำให้มีคนสั่งทำต่อเนื่องติดต่อกันมาเรื่อย จึงคิดว่าน่าจะสามารถนำมาทำเป็นอาชีพเสริมได้ จึงเริ่มผลิตเพื่อวางจำหน่ายโดยอาศัยการขายผ่านระบบออนไลน์ คือที่เว็บไซต์ www.reveryshop.com กับทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/pages/Reveryshop-online

ข้อดีของการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางนี้ วิลาสินี บอกว่า คือประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการลงทุนเปิดร้าน เนื่องจากตนเคยเปิดร้านผลิตงานผ้าพิมพ์มาก่อน จึงรู้ ซึ่งการเปิดร้านที่ตั้งอยู่กับที่นั้นหากเงินทุนหมุนเวียนไม่มากพอ หรือมีทุนสำรองไม่มากพอ ก็อาจจะประสบปัญหาได้ ขณะที่การจำหน่ายสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์และอินเทอร์เน็ตนั้น หากเข้าใจและใช้งานได้เหมาะสม ก็ถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่เหมาะมากกับสินค้าประเภทงานประดิษฐ์และงานฝีมือ โดยเฉพาะสินค้าแฮนด์เมด แต่ข้อจำกัดของระบบการขายผ่านทางช่องทางนี้ ในเรื่องความน่าเชื่อถือ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษา และต้องสร้างความเชื่อมั่นไว้ใจให้ลูกค้า อีกทั้งควรจะต้องหมั่นเข้าอัพเดทหรือติดตามความเคลื่อนไหวให้สม่ำเสมอ

วิลาสินี กล่าวต่อไปว่า สำหรับชิ้นงานที่ทำอยู่ ปัจจุบันก็มี ปลอกหมอน, กระเป๋าถือ, กระเป๋าสะพาย, กระเป๋าเก็บสมุดธนาคาร, กระเป๋าเครื่องสำอาง, ชุดคลุมสตรี, เสื้อยืด เป็นต้น ส่วนลายผ้าที่ลูกค้านิยม มีอยู่สามลาย ได้แก่ ลายธรรมชาติ, ลายวินเทจ, ลายดอกไม้ โดยจุดเด่นของชิ้นงานจะเน้นที่สีสันสดใสและรอยปักที่เป็นงานทำมือ

“ลูกค้าจะชอบงานปักด้วยมือ และสินค้าทุกชิ้นจะมีส่วนที่ใช้มือทำ ไม่ว่าจะการเย็บปลอกหมอน การขึ้นรูปกระเป๋า รูปแบบก็จะพลิกแพลงต่อยอดออกไปเรื่อย ๆ ตามลักษณะสินค้า และลวดลายของเนื้อผ้า” เจ้าของชิ้นงานกล่าว

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 5,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุ และอุปกรณ์หลัก ๆ ในการผลิต ซึ่งถ้าหากต้องการทำเป็นงานเสริมหรือผลิตเพียงไม่กี่ชิ้นก็สามารถจะตัดทุนใน ส่วนของจักรเย็บผ้าออกไปได้ ใช้การเย็บมือทั้งหมด ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 50% จากราคาขาย ที่เริ่มตั้งแต่ชิ้นละ 190 บาท ถึง 2,000 บาท ขึ้นกับชนิดสินค้า และขนาด

วัสดุ-อุปกรณ์ หลัก ๆ ประกอบด้วย ผ้าชิ้นลวดลายต่าง ๆ, ผ้าแคนวาส (สำหรับทำตัวกระเป๋า, ปลอกหมอน), เข็มกับด้าย, กรรไกร, ไหมปัก, ชิ้นใยสังเคราะห์อัดแผ่น, วัสดุตกแต่งประกอบชิ้นงาน อาทิ ซิป, กระดุม, ริบบิ้น เป็นต้น

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากออกแบบลวดลายและรูปทรงชิ้นงานลงบนกระดาษสเกตช์ จากนั้นทำการลอกลายลงบนกระดาษลอกลายหรือกระดาษสำหรับขึ้นแพตเทิร์น เมื่อได้แล้วก็ทำการตัดออกเป็นชิ้น ๆ จากนั้นนำมาทาบกับผ้าแคนวาสเพื่อตัดแบ่งออกเป็นส่วนประกอบชิ้นงาน เช่น กระเป๋า นำผ้าลายต่าง ๆ มาตัดขึ้นรูปเป็นชิ้นตามที่ได้ออกแบบไว้

จากนั้นนำผ้าลายต่าง ๆ ที่ตัดไว้มาทำการเย็บประกอบติดกับส่วนประกอบของกระเป๋าด้วยด้ายหรือไหมปัก ทำการเย็บประกอบส่วนต่าง ๆ เพื่อขึ้นรูปกระเป๋า จากนั้นก็ทำการติดวัสดุตกแต่ง เช่น ซิป, หูกระเป๋า ตามต้องการ สำรวจความเรียบร้อยของชิ้นงานว่าประกอบขึ้นรูปครบถ้วนดีแล้ว ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำในส่วนของกระเป๋า

“ขั้นตอนมีไม่มาก แต่ขั้นตอนแต่ละจุดจำเป็นต้องใช้ความประณีต ใจเย็น และอดทน สำหรับการวางตำแหน่งของชิ้นผ้าก็ควรจะจัดวางให้ไม่ดูรกหรือเยอะเกินไป อีกทั้งการเลือกใช้สีของด้ายและไหมปักก็ควรจะดูกลมกลืนหรือไปกันได้กับลาย ผ้าบนชิ้นงานด้วย” เป็นคำแนะนำของวิลาสินีที่บอกต่อสำหรับคนที่สนใจงานประเภทนี้
ใครสนใจงานประเภทนี้ ก็เข้าไปดูรูปแบบของสินค้าได้ตามเว็บไซต์ข้างต้น หรือต้องการติดต่อวิลาสินี ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 08-0446-2445 หรือทางอีเมล revery_shop@hotmail.com นี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทชิ้นงานจาก ’งานผ้า-งานปัก“  ที่สร้างเงิน สร้างอาชีพ ได้อย่างน่าสนใจ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ’ช่องทางทำกิน“  ที่นำมาให้ได้ลองพิจารณากัน.

http://www.dailynews.co.th/article/384/163050

No comments: