Saturday, June 16, 2012

แนะนำอาชีพ"กระถางปั้นหนังสือพิมพ์เก่า"

การทำ “กระถางสร้างสรรค์” สร้างชิ้นงานทำเงิน-เพิ่มกำไรด้วยไอเดีย ซึ่งโครงการ “เดลินิวส์ฝึกอาชีพ” ได้จัดฝึกไปนั้น วิทยากรผู้สันทัดกรณีที่มาให้ข้อมูลการทำคือ อ.เกรียงศักดิ์ เจริญไตรรัตน์ โดยการทำชิ้นงานศิลปะประดิษฐ์ประเภทนี้ อุปกรณ์หลัก ๆ ประกอบด้วย... กระดาษทรายเบอร์ 1, กาวร้อน หรือนอตและแหวนรอง, กระถางพลาสติกใบเล็ก, สีอะคริลิก 12 สี , จานสี (หรือรังไข่พลาสติก), แก้วพลาสติกใส่น้ำ, ปากกาเมจิกกันน้ำหัวเล็ก, พู่กันเบอร์ 10, พู่กันเบอร์ 6, พู่กันเบอร์ 4,  สีพลาสติกทาบ้าน (ขาว และดำ),  ต้นไม้สำหรับจัดใส่กระถาง และหินสี

สำหรับวัสดุที่ใช้ หลัก ๆ ประกอบด้วย... แป้งข้าวโพด, กาวลาเท็กซ์, ดินสอพอง, น้ำมันมะกอกสำหรับใส่ผมหรือทาผิว และที่เป็น “พระเอก” ที่ขาดไม่ได้เลยคือ “กระดาษหนังสือพิมพ์” ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในการทำ “ดินกระดาษ” เพื่อปั้นเป็นชิ้นงาน โดยกระดาษหนังสือพิมพ์ที่เหมาะจะนำมาใช้งานนั้น ก็คือกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าที่เรา ๆ ท่าน ๆ อ่านข้อมูลข่าวสารกันเรียบร้อยแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ ๆ แต่อย่างใด คือทั้งได้อ่าน และได้ใช้ คุ้ม!!

มาถึงขั้นตอนการทำ เริ่มจากขั้นตอนการเตรียมกระดาษ นำกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าที่เตรียมไว้มาทำการฉีกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนำลงแช่ในภาชนะที่ใส่น้ำสะอาดเตรียมไว้ ใส่น้ำพอให้ท่วมกระดาษ แช่ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน โดยการตรวจสอบว่ากระดาษที่แช่น้ำสามารถใช้งานได้หรือยังคือให้ใช้มือจับดู หากกระดาษมีความนิ่มตัวเปื่อยยุ่ย แสดงว่าพร้อมใช้งานแล้ว ก็นำกระดาษมาปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ หรือหากทำจำนวนน้อย ไม่ต้องการจะลงทุนค่าเครื่อง ก็อาจใช้วิธีฉีกกระดาษให้เป็นชิ้นจิ๋ว ๆ และก็ตำในครกแทนก็ได้ แต่ก็เป็นวิธีที่ต้องใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นอีกหน่อย

ถ้าใส่เครื่องปั่น ข้อแนะนำขณะปั่นคือควรใช้อัตราส่วน “กระดาษ 2 ส่วน : น้ำ 1 ส่วน” ซึ่งจะช่วยยืดอายุเครื่องปั่นที่ใช้ให้มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น ไม่สึกหรอง่าย เมื่อปั่นกระดาษจนละเอียดแล้ว ก็นำเนื้อกระดาษที่ได้มาทำการกรองด้วยผ้าขาวบางหรือผ้ามุ้ง คล้ายกับการคั้นน้ำกะทิ นำเนื้อกระดาษที่ปั่นแล้วมาใส่ลงในผ้ากรองจากนั้นก็บิดม้วนเพื่อคั้นให้น้ำ ที่ผสมอยู่ออกไปจนเหลือแต่เพียงเนื้อกระดาษ นำมาคลี่ออกและทำการบี้ด้วยมือให้เนื้อกระดาษละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ขั้นตอนต่อมาเป็นการเตรียมส่วนผสม เริ่มจากนำแป้งข้าวโพด และดินสอพอง ปริมาณพอเหมาะสมกับเนื้อกระดาษ มาใส่ในภาชนะเพื่อละลายน้ำ เทคนิคคือให้ค่อย ๆ รินน้ำใส่ทีละน้อย ๆ และค่อย ๆ นวดหรือบี้แป้งข้าวโพดกับดินสอพองให้ค่อย ๆ ละลาย โดยตรวจสอบดูว่า ถ้าแป้งข้าวโพดและดินสอพองมีลักษณะเหนียวหนืดคล้ายกับลักษณะของนมข้นหวาน ก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้ ให้นำส่วนผสมที่ได้นี้ผสมรวมลงไปในเนื้อกระดาษที่ปั่นและกรองแล้ว

ลำดับถัดมาคือเติมกาวลาเท็กซ์ลงไปผสม ซึ่งถ้าจะให้ดีควรใช้ อัตราส่วน “กระดาษ 1 ส่วน : กาวลาเท็กซ์ 1 ส่วน” จากนั้นทำการนวดให้ส่วนผสมเข้ากัน คล้ายการนวดแป้งในการทำอาหาร หากไม่ทราบว่าดินกระดาษที่นวดนั้นใช้งานได้หรือยัง ก็ให้ใช้ความรู้สึก คือหากรู้สึกว่าเหนียวติดมือแล้ว ก็ถือว่าใช้งานได้แล้ว และหากไม่ต้องการให้เลอะเปรอะเปื้อนมือมาก ก็แนะนำให้เติมน้ำมันมะกอกลงไปในดินกระดาษเล็กน้อยในขณะที่นวด ซึ่งต้องใช้น้ำมันมะกอกสำหรับใส่ผมหรือทาผิวเท่านั้น ห้ามใช้น้ำมันมะกอกสำหรับทำอาหาร เพราะจะมีกลิ่นเหม็นหืน

เมื่อได้ดินกระดาษที่มีความเหนียวพอดีแล้ว ก็นำมาปั้นให้เป็นก้อนกลม ๆ จากนั้นนำใส่ถุงพลาสติกรัดปิดปากถุงทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ซึ่งถ้าต้องการให้ดินกระดาษมีประสิทธิภาพที่สุด ควรนำดินกระดาษที่ปั้นเป็นก้อนไปแช่ในตู้เย็นคล้ายกับการหมักลูกแป้งในการทำ อาหารและขนม เพื่อให้กระบวนการหมักตัวมีประสิทธิภาพ จุดสังเกตที่จะทราบว่าดินกระดาษที่หมักไว้ใช้งานได้หรือยัง ให้สังเกตเวลาที่จับดินกระดาษ หากมีผิวที่เนียนและมีน้ำหนักที่เบาขึ้นกว่าตอนก่อนแช่ ก็แสดงว่าพร้อมสำหรับการปั้นขึ้นรูปแล้ว

การปั้นขึ้นรูป ก็นำดินกระดาษที่ปั้นเป็นก้อนและทิ้งไว้ประมาณ 1 คืนแล้ว  มาปั้นเป็นชิ้นงานตามแบบที่ออกแบบไว้ เช่น นกเพนกวิน จากนั้นนำไปตากแดดประมาณ 1 วัน ถ้าหากพบว่าดินกระดาษมีรอยแยกหรือรอยแตกปรากฏให้เห็น ก็ไม่ต้องตกใจ สามารถใช้วิธีการลงสีทับลงไปให้พื้นผิวหนาขึ้น เพื่อปกปิดรอยแตกนั้น คล้าย ๆ กับการโป๊วสีรถยนต์

ขั้นตอนการลงสี และการประกอบกระถาง นำชิ้นงานดินกระดาษที่เซตตัวดีแล้วมาขัดผิวให้เรียบด้วยกระดาษทราย จากนั้นลงสีพื้นด้วยสีพลาสติกสีขาว ทาทับหลาย ๆ ชั้น เพื่อให้ผิวของดินกระดาษเนียนเรียบและเพื่อปกปิดรอยแตกที่อาจเกิดขึ้นขณะนำ ดินกระดาษไปตากแดด ทิ้งไว้ให้สีขาวแห้ง แล้วจึงนำสีอะคริลิกมาลงเป็นลวดลายตามต้องการ ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ซึ่งถ้าทำเป็นตัวนกเพนกวิน จะมีส่วนที่ต้องเป็นสีดำ ส่วนนี้ให้ใช้สีพลาสติกสีดำทำการลงสี และใช้ปากกาเมจิกกันน้ำเขียนรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ เช่น ส่วนที่เป็นตา คิ้ว ปาก เป็นต้น 

เมื่อทิ้งชิ้นงานไว้จนสีแห้งดีแล้ว ก็นำกระถางพลาสติกมายึดติดกับตัวชิ้นงานดินกระดาษ ยึดติดด้วยกาวร้อนหรือนอตและแหวนรอง ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำกระถาง สุดท้ายก็เป็นการนำต้นไม้ เช่นต้นตะบองเพชรต้นเล็ก ๆ มาใส่ลงในกระถาง โรยหน้าด้วยหินสีเพื่อตกแต่ง เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมจำหน่าย โดย กระถางสร้างสรรค์พร้อมต้นไม้ ตั้งราคาจำหน่ายได้ชิ้นละประมาณ 299 บาท มีต้นทุนเฉพาะในส่วนของวัสดุประมาณ 30% จากราคาขาย
 
“ใช้วัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่าย อย่างเช่นกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ใช้เป็นวัสดุหลักในการผลิต” ...ทาง อ.เกรียงศักดิ์ เจริญไตรรัตน์ ระบุถึงจุดน่าสนใจจุดหนึ่งของชิ้นงานรูปแบบนี้ ซึ่งนี่ก็หมายถึงการใช้ต้นทุนต่ำ แต่สามารถจะทำรายได้ได้ดีด้วยไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งหากใครต้องการติดต่อกับ อ.เกรียงศักดิ์ ก็ติดต่อได้ที่ เลขที่ 580/13 ซอยเศรษฐกิจ 5 หมู่บ้านเศรษฐกิจ แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ และที่ตลาดนัดสนามหลวง 2 โทร.08-9667-3541
http://www.dailynews.co.th/article/384/120042

No comments: