Sunday, January 13, 2013

แนะนำอาชีพ ‘เต่าเงิน-เต่าทอง’

ทีม “ช่องทางทำกิน” เคยนำเสนอการทำงานประดิษฐ์ ของชำร่วย ของที่ระลึก ไปแล้วหลายแบบ และวันนี้ก็จะนำเสนออีกหนึ่งแบบ คือการทำ “เต่าเงิน-เต่าทอง” จากสบู่ โดย อ.พยุง ทองสุข  ประธานชมรมผู้สูงอายุทองสุข 5 เครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นวิทยากรให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลการทำของชำร่วยจากสบู่รูปแบบนี้...
                             
อ.พยุง บอกว่า เริ่มหัดทำงานประดิษฐ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2546 โดยเริ่มที่งานดอกไม้ก่อน  แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนทำอย่างอื่นด้วย สำหรับ “เต่าเงิน-เต่าทอง” ซึ่งเป็นการประดิษฐ์ที่เพิ่มค่าให้กับสบู่ ได้ไอเดียจากการออกงานต่างจังหวัดบ้าง รายการโทรทัศน์บ้าง หรืออ่านหนังสือบ้าง ซึ่งก็ใช้เวลาคิดทำนานพอสมควร เมื่อทำออกมาแล้วก็เป็นของชำร่วยที่ได้รับความนิยมอีกชนิดหนึ่ง โดยนิยมมอบให้ผู้ใหญ่ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ อาทิ งานเกษียณอายุ วันเกิด หรือวันปีใหม่

วัสดุ-อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ หลัก ๆ ก็มี สบู่หอม, หมุดเล็ก, กาว, ริบบิ้นเงิน-ทอง ประมาณ 10 เมตร, คัตเตอร์, ลวดเงิน-ลวดทอง
  
วิธีทำ ตัดสบู่เป็นก้อนสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 3 ซม. ยาว  4.5 ซม. หนา 1.5 ซม.  เพื่อทำเป็นรูป “ตัวเต่า”  โดยเกลามุมทั้งสี่ของตัวเต่าให้มน ๆ เสร็จแล้วปักหมุดเล็กบริเวณหัวให้เป็นวงกลม ทั้งหมด 10 ตัว จากนั้นปักหมุดเล็กบริเวณรอบตัวเต่า ประมาณ  42 ตัว กะระยะห่างแต่ละตัวประมาณ 0.5 ซม.

ขั้นต่อไปก็ใช้หมุดเล็กประมาณ 6 ตัว ปักบริเวณตรงกลางหลังเต่าหรือกลางสบู่ ให้เป็นวงกลม สำหรับเป็น “หลัก” ในการโยงริบบิ้นกับหมุดเล็กที่ปักรอบตัวเต่า

วิธีการโยงคือ  ใช้หมุดเล็ก (ที่ปักบริเวณตรงกลางสบู่) อันใดอันหนึ่งปักปลายริบบิ้น แล้วโยงริบบิ้นไปพันกับหมุดเล็กอันใดอันหนึ่งตรงบริเวณหัวเต่า โดยหลัก 1 หลัก จะพันหมุดเล็ก 7 หมุด  ทำไปเรื่อย ๆ จนครบ 6 หลัก เสร็จแล้วก็พลิกสบู่อีกด้านขึ้นมา แล้วทำการโยงเหมือนที่กล่าวมา

ลำดับถัดมาเป็นการทำ “เชิงเต่า” ด้วยการพันริบบิ้นรอบหมุดเล็กที่ปักรอบตัวเต่า  วิธีการคือ ให้พันริบบิ้นรอบหมุดเล็กตัวใดตัวหนึ่ง และค่อย ๆ พันรอบหมุดเล็กตัวต่อไป ทำแบบนี้ 2 รอบ
ขั้นตอนต่อไปคือ การทำ “หลังเต่า” หรือเรียกว่า “กระเบื้อง” ด้วยการปักหมุดเล็กบนหลังเต่า 3 ชั้น ชั้นละ 4 ตัว ชั้นที่ 1 ปักชิดบริเวณเชิงเต่า โดยปักบริเวณตรงกลางด้านหัวเต่า 1 ตัว ตรงกลางด้านท้ายตัวเต่า 1 ตัว และตรงกลางของด้านข้างตัวเต่าแต่ละด้าน ด้านละ 1 ตัว  ชั้นที่ 2 เขยิบขึ้นมาสูงอีกนิด แล้วปักหมุดเล็กลงตรงบริเวณกึ่งกลางของหมุดเล็กของชั้นที่ 1 ส่วน ชั้นที่ 3 ปักหมุดเล็กให้ตรงกับชั้นที่ 2 แต่ขยับพื้นที่ที่จะปักให้ขึ้นมาสูงอีกนิด
วิธีการโยงริบบิ้น  หมุดเล็กชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ให้ริบบิ้นโยงแบบ สลับฟันปลา ไปมา ให้รอบตัวเต่า ส่วนหมุดเล็กชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ให้โยงริบบิ้นให้เป็นรูป สามเหลี่ยม

เมื่อเสร็จขั้นตอนต่าง ๆ ดังที่ว่ามาข้างต้น ก็ทำการตกแต่งตัวเต่าด้วยการใช้อัญมณีมงคลที่เป็นอัญมณีเทียม เช่น เพชร มุก ทับทิม หรือคริสตัล วางตกแต่งบนหลังเต่า
  
เสร็จแล้วจึงทำ “หัวเต่า” ด้วยการใช้ริบบิ้นพันบนเม็ดโฟมกลม ๆ (หรือจะใช้เกสรดอกบัวแทนก็ได้) แล้วติดลูกตา และติดลวดเล็กสำหรับเสียบเข้าไปในเนื้อสบู่ ส่วน “หางเต่า” ใช้กระดาษทิซชูแผ่นเล็ก ๆ ม้วนเป็นเส้นยาวประมาณ 1 ซม. ใช้ริบบิ้นพันทับอีกที แล้วติดลวดเล็ก ขณะที่ “ขาเต่า” ทั้ง 4 ขา  ใช้ลวดเล็กทำ ดัดเป็นฝ่าเท้า พันทับด้วยริบบิ้น เสร็จแล้วนำแต่ละส่วนไปเสียบตามตัวเต่าให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำทั้งหมด
  
“เต่าเงิน-เต่าทอง” งานประดิษฐ์ ของชำร่วย ของที่ระลึก จากสบู่หอม รูปแบบนี้ ขายพร้อมตู้กระจกในราคาคู่ละ 350 บาท โดยมีต้นทุนชุดละประมาณ 200 บาท
                            
ใครสนใจงานประดิษฐ์ “เต่าเงิน-เต่าทอง” ต้องการติดต่อ  อ.พยุง ทองสุข  ประธานชมรมผู้สูงอายุทองสุข 5 เครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี ผู้ให้ข้อมูล “ช่องทางทำกิน” รูปแบบนี้ ก็ติดต่อได้ที่ เลขที่ 48 หมู่ 2 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หมายเลขโทรศัพท์ 08-3037-5189 และ 08-6407-0377.

http://www.dailynews.co.th/article/384/177785

No comments: