Monday, January 25, 2010

แนะนำอาชีพ'เพาะเห็ดแครงในถุงพลาสติก '

"เห็ดแครง” จัดเป็นเห็ดที่บริโภคเป็นทั้งอาหารและยา เนื่องจากเป็นอาหารที่บำรุงร่างกายและยังมีสรรพคุณในการป้องกันโรคได้หลาย ชนิด เห็ดชนิดนี้สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น นำมาเจียวกับไข่ แกงกะทิ ห่อหมกและงบเห็ดแครง เป็นต้น

มีรายงานว่าที่สาธารณรัฐประชาชน จีนมีคำแนะนำให้คนไข้ที่เป็นโรคระดูขาว รับประทานเห็ดแครงที่ปรุงกับไข่เพื่อรักษาโรค ในประเทศญี่ปุ่นใช้เห็ดแครงเป็นยาเนื่องจากในเห็ดแครงมีสารที่มีคุณสมบัติใน การต่อต้านเซลล์มะเร็งและต่อต้านเชื้อไวรัส สำหรับประเทศไทยเห็ดแครงพบมากในภาคใต้ ของประเทศ ในธรรมชาติต้นยางพาราที่ตัดโค่นไว้ เมื่อท่อนไม้ตายและมีฝนตกจะพบเห็ดแครงขึ้นเป็นจำนวนมากแต่ด้วยในปัจจุบันมี การใช้ยาฆ่าตอต้นยาง ชาวบ้าน บอกว่าเห็ดแครงที่เก็บมารับประทานแล้วมีอาการคันปาก

อ.กาญจณี เตชะวรรักษ์ จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ ได้ทดลองการเพาะเห็ดแครงในถุงพลาสติกในเชิงพาณิชย์จนประสบผลสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำไปประกอบอาชีพได้ โดยได้สรุปในเบื้องต้นว่าเห็ดแครง จำนวน 1 ถุง มีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ยประมาณ 4.86 บาท เมื่อนำเห็ดแครงไปเปิดถุงจะได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 110-130 กรัม ปัจจุบันราคาเห็ดแครงสดที่มีขายในท้องตลาดราคากิโล กรัมละ 100-150 บาท ทำให้เกษตรกรที่ซื้อเห็ดแครงไปเปิดดอกจะได้กำไรจากการขายเห็ดแครงก้อนละ 5-10 บาท

แต่ในการเพาะเห็ดแครง ในถุงพลาสติกมีข้อควรระวังดัง นี้ ในการทำก้อนเห็ด ผู้ผลิตจะต้องเจาะก้อนเห็ดให้มีความลึก ประมาณ 2 นิ้วเพื่อป้องกันไม่ให้เห็ดออกดอกที่จุก, ในระยะที่พักบ่มเชื้อ จำเป็นจะต้องบ่มเส้นใยในที่มืด มิฉะนั้นแสง จะกระตุ้นให้เส้น ใยสร้างดอกทั้ง ๆ ที่เส้นใยยังเจริญไม่เต็มถุงมีผลทำให้ผลผลิตต่ำไม่คุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจ, ในระยะเปิดดอกเกษตรกรจะต้องมีการดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการปนเปื้อนจากราเขียวและราสีส้ม ราสีส้มมักจะเกิดเป็นกระจุกบริเวณปากถุงมีลักษณะเป็นผลหรือเป็นก้อนติดกันมี สีชมพูอมส้ม บาง ถุงอาจจะเกิดที่ก้นถุงทำให้เส้นใยเห็ดไม่สามารถเจริญได้ เพราะเชื้อราชนิดนี้เจริญปกคลุมเส้นใยอย่างรวดเร็ว

เทคนิคในการเปิดดอก อ.กาญจณีแนะให้ใช้วิธีกรีดข้างถุงให้เป็นมุมเฉียงจาก บนลงล่างทั้ง 4 มุมของถุง เพราะถ้ากรีด 3 แถวดอกที่ออกจะแน่นทำให้ดอกเห็ดเจริญไม่เต็มที่ ในระยะแรกของการรดน้ำ ควรรดเฉพาะที่พื้นโรงเรือน รอให้เส้นใยเจริญประสานกันก่อน ถ้ารดน้ำไปถูกก้อนเชื้อจะทำให้เห็ดออกดอกช้าและถ้าน้ำไม่สะอาดจะทำให้เชื้อ จุลินทรีย์เข้าทำลายรอยแผล

ในการให้น้ำก้อนเชื้อควรจะติดระบบ สปริงเกลอร์ ให้น้ำเช้า-เย็น ถ้าอากาศแห้งควรเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นอีก.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=568&contentID=44094

No comments: