Saturday, December 3, 2011

แนะนำอาชีพ 'หูฟังถัก'

แนะนำอาชีพ 'หูฟังถัก'มหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่ แต่ถ้าใครยังเผชิญความลำบากอยู่ ทีม ’ช่องทางทำกิน“ ขอส่งใจช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคครั้งนี้ไปได้เร็ว ๆ ส่วนวันนี้ ณ ที่นี้ก็มีข้อมูลงานไอเดียงานฝีมือมานำเสนอ เป็นงานไม่ยาก รายละเอียดไม่ซ้ำซ้อน แต่ทำขายสร้างรายได้อย่างไม่น่าเชื่อ กับงาน “หูฟังถัก” ที่ก็น่าสนใจ...

“นิภาพรรณ อันสุวรรณ์ชัย” ซึ่งทำงานประดิษฐ์ “หูฟังถัก” เล่าว่า ตนเองชอบและหลงใหลงานประดิษฐ์ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับถักและประดิษฐ์จากผ้า ทำให้มีความชำนาญเกี่ยวกับงานประเภทนี้เป็นพิเศษ สำหรับไอเดียงานหูฟังถักนี้เริ่มจากตัวเองเป็นคนชอบฟังเพลง ซึ่งหูฟังที่ใช้ประจำมีราคาแพง และมักมีปัญหาจากการใช้งาน เช่น ข้อต่อขาดจากการพับหรือม้วน, สายสกปรกง่าย จึงลองนำงานถักมาปรับใช้ โดยเริ่มทำจากหูฟังของตนเองที่มีอยู่ โดยมีทั้งการถักที่สายหูฟัง และการถักในส่วนที่เป็นที่ครอบหูฟัง หลังทำเสร็จปรากฏว่ามีคนรู้จักเห็นเข้าและสอบถามว่าซื้อมาจากที่ไหน ตนจึงคิดว่าน่าจะสามารถผลิตและต่อยอดเพื่อผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายได้ จึงทำออกมา โดยอาศัยจำหน่ายผ่านทางเว็บไซต์ http://i-ears.tarad.com และในเฟซบุ๊ก www.facebook.com/iears2011 ก็ปรากฏว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี

ข้อดีของหูฟังถัก นิภาพรรณบอกว่า จะช่วยทำให้สายหูฟังดูใหม่เสมอ การถักหุ้มสายหูฟังทำให้สายหูฟังไม่โดนความสกปรกจากคราบมือ หรือมีสิ่งสกปรกต่าง ๆ มาติด ยิ่งสายหูฟังสีขาวด้วยแล้ว ยิ่งเห็นชัดได้ง่ายว่าสีหม่น เมื่อเก่าหรือสกปรก นอกจากนี้งานถักยังช่วยป้องกันและเพิ่มความแข็งแรงสายขั้วต่อต่าง ๆ ช่วยให้แข็งแรงมากขึ้นและใช้งานได้นานขึ้น เนื่องจากเมื่อใช้งานไปนาน ๆ บริเวณข้อต่อของหูฟัง เช่น บริเวณที่สวมหู และบริเวณแจ๊กเสียบ มักจะหลุดหักและขาดบ่อยจากการใช้งาน กับการพับงอขณะเก็บหูฟัง ซึ่งการถักหุ้มหูฟังจะช่วยคลุมสายส่วนขั้วต่อ ทำให้ลดความเสี่ยงความเสียหายที่เกิดจากการถูกทับ หรือใส่กระเป๋าโดยไม่ระมัดระวัง

“สินค้าจะเน้นที่ประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ขณะเดียวกันเราก็เพิ่มลูกเล่นและสีสันเข้าไปเพื่อให้สินค้าดูแปลกตา สร้างความน่าสนใจให้หูฟังมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันชิ้นงานมีทั้งที่ทำสำเร็จรูป โดยเราซื้อหูฟังนำมาถักเอง กับอีกแบบคือลูกค้าจะส่งหูฟังของลูกค้ามาให้เราถัก หรือในอนาคตที่คิดไว้คือลูกค้าสามารถสั่งรุ่นและยี่ห้อของหูฟังที่ต้องการ โดยทางเราจะเป็นฝ่ายจัดซื้อให้และนำมาถักแบบสำเร็จรูป” นิภาพรรณกล่าว

สำหรับทุนเบื้องต้นการทำชิ้นงานรูปแบบนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 30% ของราคา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 150-300 บาทต่อการถักหูฟัง 1 ชุด หรือขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของชิ้นงาน

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ก็มีไม่มากชิ้น หลัก ๆ ประกอบด้วย ด้ายซัมเมอร์ (คุณสมบัติคือ เส้นเล็ก เหนียว ไม่มีขนเหมือนไหมพรม), กรรไกร, เข็มถักโครเชต์หลายขนาด, เข็มปลายทู่ (ห้ามใช้เข็มปลายแหลมเพราะอาจทำอันตรายและสร้างความเสียหายกับสายหูฟังได้) และอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ตามต้องการ

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบและวางรูปแบบลวดลายที่จะถัก และเลือกสีด้ายที่ต้องการใช้ จากนั้นเริ่มทำการถัก โดยอาจจะเริ่มถักจากหูฟังก่อน หรือถักจากส่วนที่เป็นข้อต่อก่อนก็ได้ รูปแบบการถักเรียกว่า ถักแบบเก็บปลายด้าย โดยจะไม่มีการมัดด้ายเป็นปม เพราะปมของด้ายอาจจะไปเบียดสายหูฟังทำให้เกิดความเสียหายได้

เมื่อขึ้นรูปแบบได้แล้ว ก็ให้ถักต่อไปเรื่อย ๆ จนครบความยาวของสายหูฟัง หากเป็นการถักแบบสีเดียวก็จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นการถักสลับสี ระยะเวลาที่ใช้ก็อาจจะเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับจำนวนของสีที่ใช้นั่นเอง

“งานหูฟังถักมีขั้นตอนการทำไม่ยาก แต่ต้องใช้เวลาและต้องใช้ความระมัดระวังในการขึ้นชิ้นงาน เพราะหูฟังที่ลูกค้าส่วนใหญ่นำมาให้ถักมักจะเป็นหูฟังที่มีราคาแพง ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งจำเป็นมากว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเชื่อใจว่าหูฟัง ของเขาจะไม่เกิดความเสียหายในขั้นตอนการถัก” นิภาพรรณระบุ

ใครสนใจ ’หูฟังถัก“ ต้องการติดต่อนิภาพรรณ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-0552-2759 หรือตามเว็บไซต์ข้างต้น ซึ่งนี่ก็เป็นอีกงานไอเดียชิ้นเล็ก ๆ ที่รายได้ไม่เล็ก เป็นอีกรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ที่ใช้เวลาในการทำไม่มาก ขั้นตอนการทำไม่ยากเกิน ไม่มีอุปกรณ์มากมายซับซ้อน ที่นำมาบอกเล่าไว้ให้ลองพิจารณากัน.
http://www.dailynews.co.th/article/384/1442

No comments: