Saturday, December 8, 2012

แนะนำอาชีพ “เคสจากย่านลิเภา”

การช่วยส่งเสริม-พัฒนาเอสเอ็มอี และโอทอป โดยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังคงเดินหน้าอยู่ตลอด ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ได้ไปพบเจอผลิตภัณฑ์ของผู้ที่ได้เข้าร่วมโครงการสร้างตราสินค้าใหม่ให้แก่ ผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อน กับแบรนด์ “โฟลี่ บาย บุญยรัตน์” ซึ่งมี “เคสสมาร์ทโฟนจากย่านลิเภา” เป็นผลิตภัณฑ์เด่น จึงนำมาเล่าสู่กัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา...
  
ผลิตภัณฑ์นี้นำเสนอแนวคิดด้าน Creative Mobile Life นำย่านลิเภามาผสานกับชีวิตสมัยใหม่ยุคไอที โดย เจษฎา หงสุชน กรรมการผู้จัดการ หจก.บุญยรัตน์ไทยคร๊าฟท์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า บุญยรัตน์ไทยคร๊าฟท์ทำกระเป๋าย่านลิเภาและเครื่องถมมาตั้งแต่รุ่นคุณย่าคุณ ยาย จนกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ จ.นครศรีธรรมราช ช่วงสองสามปีก่อนมีความคิดขยายกลุ่มลูกค้า โดยตั้งเป้าลดอายุกลุ่มเป้าหมายให้เหลือประมาณ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งด้วยทักษะที่ประณีตและดีไซน์ลวดลายที่สวยงาม ทำให้ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาครองใจผู้ใช้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกระแสโลก
  
“เราต้องการให้งานจักสานย่านลิเภาสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนรากเหง้าทั้งหมด แต่ผสมผสานความเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านจากงานจักสานและย่านลิเภาที่เป็นไม้ ประจำถิ่น กับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน อย่างกลมกลืน เพื่อให้ โฟลี่ บาย บุญยรัตน์ เป็นแบรนด์ที่คนรุ่นใหม่รับรู้และนึกถึงเมื่อต้องการสิ่งที่แตกต่าง แล้วไอเดียก็เป็นจริงเมื่อมีโครงการ นครศรีดี๊ ดี ด้วยคอนเซปต์ นครร่วมสมัย ซึ่งก็ตรงกับบุญยรัตน์ ที่ต้องการจะปรับตัวให้ร่วมสมัยเช่นกัน ก่อนที่จะได้รับแรงบันดาลใจจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่แนะให้ใช้ย่านลิเภาทำเคสไอโฟน ผมจึงร่วมกับกลุ่มสตรีแม่บ้านสหกรณ์การเกษตรท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีฝีมือประณีตในการจักสาน มาดำเนินการตามที่ตั้งใจ”
  
อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานย่านลิเภาเป็น “เคส” นั้น หลัก ๆ ก็มี ตัวเคส, มีด (ใช้สำหรับขูดเส้นลิเภาให้ได้ตามต้องการ), เหล็กแหลม (ใช้เจาะรูที่โครงเพื่อเสียบไม้ไผ่และช่วยในการจัดลาย), แผ่นโลหะเจาะรู (ใช้ขูดเกลาให้ย่านลิเภาและไม้ไผ่ที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์มีขนาดเท่ากัน), ปลอกนิ้ว (ทำจากผ้าหนา ๆ ใช้สวมนิ้วเวลาขูดย่านลิเภา จะได้ไม่เจ็บ), กาวลาเท็กซ์ (ใช้ทาเส้นลิเภาให้ยึดติดกับโครงแบบที่จะทำ หรือใช้ยึดส่วนประกอบของกระเป๋า) และวัสดุหลักที่ใช้ในการทำคือ ย่านลิเภา ซึ่งย่านลิเภามี 2 ชนิดคือ ย่านลิเภาสีดำ และย่านลิเภาสีน้ำตาล
  
ขั้นตอนและวิธีการทำ “เคส” เช่น เคสไอโฟน เคสไอแพด จากย่านลิเภา
  
เริ่มจากนำย่านลิเภาใหญ่ไปลอกหรือปอกเปลือก แล้วนำเปลือกที่ลอกได้ไปแขวนตากลมในที่ร่มแห้ง จากนั้นก็นำมาฉีกเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการจะใช้งาน แล้วตั้งพักไว้ก่อน
  
นำกระป๋องนมมาเจาะรู 5 รู เรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปหาเล็กที่สุด จากนั้นเอาย่านลิเภาที่เป็นเส้นฝอยมารูดทีละช่องจนถึงช่องเล็กที่สุด โดยดึงผ่านจากโคนถึงปลาย ก็จะทำให้ขนาดของย่านลิเภาเรียบและมีขนาดเท่ากัน ขั้นตอนนี้เรียกว่าการชักเลียด (ในการทำควรจะทำครั้งละมาก ๆ เพื่อสะดวกในการนำไปใช้ ส่วนย่านลิเภาที่ยังไม่ได้ใช้ก็ให้นำไปแช่ตู้เย็นเพื่อเก็บความชื้นไว้ เพื่อจะง่ายต่อการสาน เพราะถ้าเส้นลิเภาแห้งแล้วจะสานยาก)
  
การสาน นำเส้นลิเภาที่ขูดจนเส้นเป็นมันและเหนียวแล้ว มาสานแบบขัดเป็นลวดลายต่าง ๆ บนแป้นที่เตรียมไว้ เช่น ลายไทย ลายไทยประยุกต์, ลายดอกสี่เหลี่ยม, ลายสอง, ลายตาสับปะรด, ลายลูกแก้ว และลายอิสระที่ไม่มีแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้สานจะคิดและประดิษฐ์เองให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โดยสีของลวดลายส่วนใหญ่มี 4 สี คือ สีเนื้อ สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลแก่ และสีดำ ลักษณะงานจักสานวิธีนี้จะเป็นรูปทึบ จากนั้นก็นำไปประกอบเข้ารูปกับเคสไอแพด หรือไอโฟน หรืออื่น ๆ ที่เตรียมไว้ เพียงเท่านี้ก็จะได้ เคสลายไทยประยุกต์ ที่สวยงาม
  
เจษฎาบอกอีกว่า โฟลี่ บาย บุญยรัตน์ นำย่านลิเภามาทำเป็นเคส โดยช่างฝีมือด้านการสานย่านลิเภาทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ที่ทางหน่วยงานส่ง เสริม-พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่งมาเป็นที่ปรึกษา โดยลายสินค้าจะใช้ลายดั้งเดิม ทีมดีไซเนอร์จะเสริมในเรื่องรูปแบบ การวางลาย และองค์ประกอบทางด้านศิลปะ ซึ่งตัวงานก็ยังคงเน้นที่การทำมือ ไม่ใช้เครื่องจักรเลย ซึ่งนี่เป็นจุดขายอย่างหนึ่ง
  
ใครสนใจ “เคสจากย่านลิเภา” ต้องการติดต่อเจษฎา ติดต่อได้ที่ โทร.08-9474-3918, 08-9474-2053 และ 0-7535-6196 ทั้งนี้ งานจักสานเป็นมรดกที่สั่งสมและถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่า คือภูมิปัญญาไทยอันล้ำค่าที่ควรช่วยกันสืบทอด สร้างเป็นงานหัตถศิลป์ระดับชาติ และก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ให้คนไทยสืบไป.

เชาวลี  ชุมขำ

...............................................      

คู่มือลงทุน...เคสย่านลิเภา

ทุนเบื้องต้น    ประมาณ  3,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัสดุ    ประมาณ  50% ของราคา
รายได้    ราคา 850 บาทขึ้นไป / เคส
แรงงาน    1 คนขึ้นไป
ตลาด    แหล่งท่องเที่ยว, ผลิตขายส่ง
จุดน่าสนใจ    ภูมิปัญญาไทยทำเงินอินเทรนด์

http://www.dailynews.co.th/article/384/171340

No comments: