Saturday, January 7, 2012

แนะนำอาชีพ 'สวนผักดาดฟ้า'

แนะนำอาชีพ 'สวนผักดาดฟ้า' ช่องทางทำกิน” วันนี้ทางทีมงานมีข้อมูลการทำ “สวนผักดาดฟ้า” มานำเสนอให้ลองพิจารณากัน ซึ่งเป็นการประยุกต์ดัดแปลงทำสวนผักแปลงผักต่าง ๆ ให้เข้ากับสถานที่ที่มี ซึ่งอาจจะเพื่อบริโภคเอง หรือเพื่อขายก็ยังได้…

“สวนผักดาดฟ้า” เป็นอีกแนวคิดในการทำเกษตรกรรมแบบประยุกต์ในเมือง ที่ทำให้สวนผักกับคนเมืองไม่ใช่เรื่องที่ไกลกัน ซึ่ง ดร.กนกรัตน์ ยศไกร รองผู้อำนวยการศูนย์สำนักวิทยบริการ และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ อัญชนา ธาตุบุรมย์ หัวหน้าฝ่ายวิทยบริการ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้ให้ข้อมูลการทำสวนผักดาดฟ้า ซึ่งทางฝ่ายวิทยบริการได้ใช้ดาดฟ้าของอาคารสำนักวิทยบริการ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นสถานที่ทำแปลงผักมาแล้ว 1 ปี ซึ่งได้ผลดี และเก็บผลผลิตบริโภคได้สำหรับทุกคน เมื่อเหลือจากการแบ่งกันบริโภคแล้วก็ขายได้ในราคาไม่แพงอีกด้วย

ดร.กนกรัตน์ กล่าวว่า บนดาดฟ้าของอาคารมีพื้นที่ค่อนข้างกว้างมาก สามารถปลูกผักได้ถึง 14 แปลง ขนาดแปลงละ 1x3 เมตร สูง 1 ฟุต และโครงเหล็กสำหรับไม้เลื้อยขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 2.3 เมตร จำนวน 8 โครง ล้อมรอบแปลงเป็นตัวยู หรือแบบครึ่งวงกลม

ขั้นตอนการทำแปลงผัก อัญชนา เล่าว่า วัสดุที่ใช้ในการทำจะใช้ชั้นวางหนังสือของห้องสมุดที่ไม่ใช้แล้ว ร้อยต่อกันด้วยลวด ปิดด้านมุมด้วยแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดทั้ง 4 มุม หนุนด้านข้างด้วยอิฐบล็อกข้างละ 4 ก้อน 2 ข้าง เพื่อกันไม่ให้ล้ม และปักมุมด้วยไม้ยาว ทั้ง 4 ด้าน

เริ่มทำสวนผักดาดฟ้าแรก ๆ เริ่มต้นด้วยแปลง ผักบุ้งจีน, ผักคะน้า, ผักกวางตุ้ง ส่วนไม้เลื้อยก็ปลูก ฟักทอง, บวบ, ถั่วฝักยาว, มะระ ปลูกตามเสาของโครงเหล็ก

เตรียมแปลงผักด้วยการเตรียมดิน รองพื้นด้วยกระสอบ, กาบมะพร้าว (เพื่อกันร้อน) และดิน ตามลำดับ จากนั้นในกรณีผักบุ้งจีนก็หว่านเมล็ดลงไปในแปลงได้เลย ส่วนผักคะน้าและผักกวางตุ้งให้เพาะต้นอ่อนในถาดหลุม 2-3 วันเพื่อให้ต้นแทงยอดขึ้น แล้วจึงนำต้นกล้าไปเพาะลงในแปลง รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เสริมด้วยการรดฮอร์โมน อาทิ ฮอร์โมนไข่ ฮอร์โมนกุ้ง ที่ซื้อมาเพิ่มเติม โดยรดในช่วง 2 สัปดาห์แรก เช้า-เย็นเช่นกัน

แนะนำอาชีพ 'สวนผักดาดฟ้า' นอกจากนี้ ยังสามารถปลูก กะเพรา แมงลัก ในกระถาง วางตามหัวแปลง ซึ่งช่วยไล่ศัตรูพืชได้ด้วย

สำหรับไม้เลื้อย ฟักทอง, บวบ, ถั่วฝักยาว, มะระ ให้ปลูกในกระถางแล้ววางตามเสาของโครงเหล็ก รดน้ำเช้า-เย็นเช่นกัน และเสริมด้วยการรดฮอร์โมน ไข่ ฮอร์โมนกุ้ง โดยรดในช่วง 2 สัปดาห์แรก เช้า-เย็นเช่นเดียวกับการรดแปลงผัก

แปลงผักบุ้ง จะเก็บผลผลิตได้ในสัปดาห์ที่ 3 ให้ค่อย ๆ ทยอยเก็บ ซึ่งผักบุ้งในรอบที่ 2 สามารถเก็บผลผลิตได้อีกแค่ 30% จึงต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ ส่วนผักคะน้า และผักกวางตุ้ง จะเก็บได้ในสัปดาห์ที่ 4 และผลผลิตในรอบต่อไปจะเก็บได้ราว 30% เช่นกัน ถ้าจะปลูกซ้ำก็จะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่

กรณีไม้เลื้อย เก็บผลผลิตได้เมื่อ 1 เดือนผ่านไปแล้ว โดยเก็บได้แค่ครั้งเดียว ถ้าลงใหม่ก็ต้องลงเมล็ดใหม่อีกรอบ

อัญชนา บอกว่า วิธีการเก็บผลผลิตพืชผักทุกชนิดคือถอนขึ้นมาทั้งรากเลย ถ้ามีศัตรูพืชลงแปลงผัก ถ้าไม่มากให้ดึงใบที่เสียออกเลย ถ้ามากก็ให้ฉีดด้วยใบยาสูบผสมน้ำ หรือจะเอาน้ำสบู่ลูบที่ใบก็ได้ แต่จะไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเด็ดขาด

เมล็ดผักบุ้งจีน 1 กก. จะเพาะได้ 4 แปลง ส่วนเมล็ดผักคะน้า และเมล็ดผักกวางตุ้ง จำนวน 1 ถุง จะเพาะได้ 2 แปลง ส่วนผักไม้เลื้อย จะปลูกได้ถุงละ 1 กระถาง เพราะไม่ได้มีเมล็ดจำนวนมากต่อถุง

อัญชนา บอกอีกว่า การเก็บผลิตนั้น จะเก็บให้พอบริโภคก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะนำออกขาย โดยแต่ละรอบของแปลงผักจะลงทุนประมาณ 200-300 บาท ส่วนผักที่เหลือจากการเก็บให้เพียงพอบริโภคของกว่า 40 ชีวิต จะขายได้แต่ละรอบประมาณ 900-1,000 บาท ซึ่งก็นับว่าเป็นรายได้เสริมที่ไม่เลวเลย โดยรายได้ส่วนมากจะได้จากผักคะน้า ผักบุ้ง และผักกวางตุ้ง ส่วนผักไม้เลื้อยส่วนใหญ่จะเก็บบริโภคเอง

ต้นทุนในการลงทุนทำแปลงผักครั้งแรกนั้น ประมาณ 20,000 บาท โดยต้นทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนทำโครงเหล็ก ส่วนแปลงผักมีวัสดุของตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากนัก

ใครสนใจเรื่องการทำ “สวนผักดาดฟ้า” อยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอดูตัวอย่าง ติดต่อ ดร.กนกรัตน์ ยศไกร และ อัญชนา ธาตุบุรมย์ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1619-1684 และ 08-7082-1266 ตามลำดับ ซึ่งสวนผักดาดฟ้านี้อาจจะเป็น “ช่องทางทำกิน” แบบ “สร้างรายได้เสริม” ที่ดี โดยที่ไม่ต้องกลัว “น้องน้ำ” แต่อย่างใด.

ที่มา แนะนำอาชีพ 'สวนผักดาดฟ้า' http://www.dailynews.co.th/article/384/6463

No comments: