Monday, April 4, 2011

แนะนำอาชีพ"เลี้ยงปลาทับทิม"

เมื่อกระแสความนิยมบริโภคเนื้อปลามีมากขึ้น แต่ปลาทะเลกลับลดปริมาณลงเรื่อย ๆ กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จึงได้เริ่มวางโครงการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ด้วยการนำ ปลานิลจิตรลดาพระราชทาน มาเป็นต้นตระกูลเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ตามแนวพระราชดำริ พร้อมกับคัดเลือกสายพันธุ์ปลาที่มีลักษณะเด่นมากในด้านต่าง ๆ ทั้งจากอังกฤษ อเมริกา อิสราเอล และไต้หวัน มาผสมข้ามพันธุ์กันและปรับปรุงสายพันธุ์ทางด้านคุณภาพให้ดีขึ้นโดยวิธีตาม ธรรมชาติ ไม่ใช้การตัดแต่งพันธุกรรม กระทั่งได้ปลาเนื้อพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะภายนอกอันโดดเด่น คือ สีของเกล็ดและตัวปลาที่มีสีแดงอมชมพูดูเป็นมงคล และเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามปลาชนิดใหม่นี้ว่า ปลาทับทิม

นอกจากปลาทับทิมจะมีข้อดีด้านคุณค่าทางโภชนาการ ปลาชนิดนี้ยังมีปริมาณเนื้อมากสามารถบริโภคได้ต่อน้ำหนักตัวสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วในระยะเวลาเพียง 4-5 เดือน หน่วยงานราชการได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาทับทิมเป็น อาชีพในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใสสะอาด ปราศจากมลพิษ ไม่มีการใช้ยาและสารเคมีที่ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในตัวปลา และได้วางมาตรฐานการปฏิบัติทางการประมงที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ (Good Aquaculture Practice : GAP) ที่เป็นเหมือนเครื่องหมายยืนยันคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะทำให้ปลาที่เลี้ยงออกมามีมาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟก็ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังตามมาตรฐาน นี้ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย การเลี้ยงดูไม่ยุ่งยาก เกษตรกรสามารถเลี้ยงได้แม้จะมีทุนน้อย ทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค จึงกลายเป็นปลาเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน

สำหรับการเลี้ยงปลาทับทิมในเชิงพาณิชย์ มีเคล็ดลับอยู่ที่การคัดเฉพาะปลาตัวผู้ไปเลี้ยง เพราะปลาตัวผู้มีลักษณะเด่นคือ โตเร็ว เนื้อเยอะ มีไขมันเยอะกว่า ส่วนสาเหตุที่ไม่นิยมเลี้ยงปลาตัวเมีย เพราะปลาจะออกไข่ก่อนที่จะได้ขนาดที่ตลาดต้องการ ทั้งยังมีพฤติกรรมการอมไข่ และเลี้ยงลูกในปาก ที่สำคัญปลาทับทิมหรือแม้แต่ปลานิลนั้นเป็นปลาที่สามารถออกไข่ได้บ่อย ทำให้ปลาไม่ค่อยกินอาหาร จึงโตช้ามาก หากเลี้ยงตัวผู้ปนกับตัวเมียจะทำให้ไม่สามารถจับปลาพร้อมกันได้ในคราวเดียว จำเป็นต้องยืดอายุการเลี้ยงปลาที่เหลือออกไป จึงไม่คุ้มกับการลงทุน เหล่านี้เป็นเหตุผลให้เกษตรกรนิยมเลี้ยงปลาตัวผู้มากกว่าการเลี้ยงปลาคละเพศ

นายนิกร สุขมารถ เกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพการเลี้ยงปลาในโครงการส่งเสริมอาชีพการ เลี้ยงปลาทับทิมครบวงจร ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า ตนเองมีความสนใจในการเลี้ยงปลามาตั้งแต่เด็ก ทันทีที่ซีพีเอฟเริ่มเข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงปลาทับทิม ในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2544 จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโดยไม่รีรอ ควักกระเป๋าลงทุนประมาณ 1 แสนบาท เริ่มต้นเลี้ยงปลาทับทิม 8 กระชังในแม่น้ำแม่กลอง ต่อมาได้ผลการเลี้ยงอยู่ในระดับที่ดีสามารถสร้างกำไรให้เป็นที่น่าพอใจและ มองเห็นอนาคตที่สดใสของอาชีพ จึงตัดสินใจเลี้ยงเป็นธุรกิจหลักมาตลอด 9 ปี กระทั่งสามารถซื้อที่ดิน เลขที่ 99/1 หมู่ 1 ต.ท่ามะขาม อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี บนพื้นที่กว่า 140 ไร่ สำหรับเลี้ยงปลาโดยไม่ต้องเช่าเหมือนอดีต และกลายเป็นเจ้าของกระชังปลา 260 กระชังในปัจจุบัน

สำหรับเพื่อนเกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงปลาก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ใส่ใจ และตั้งใจจริง เพราะทางซีพีเอฟจะส่งนักวิชาการมาคอยให้ความรู้เป็นประจำ อีกทั้งยังจัดหาตลาดรองรับผลผลิตให้ทั้งหมด อีกด้วย

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=676&contentID=130720

No comments: