Saturday, March 26, 2011

แนะนำอาชีพ 'รองเท้ากันลื่น'

จากอดีตพนักงานรับส่งเอกสาร หันมาเอาดีในทางสร้างชิ้นงานประดิษฐ์ ที่แรกเริ่มเกิดจากความต้องการเพียงแค่ผลิตเพื่อใช้งานสำหรับตนและครอบครัว แต่ต่อมาสามารถต่อยอดจนผลิตเป็นสินค้าที่แปลกใหม่ และตอบสนองการใช้งานได้อย่างจริงจัง ผลงานประดิษฐ์ ’รองเท้าสุขภาพกันลื่น”วันนี้กลายเป็นอีกหนึ่ง ’ช่องทางทำกิน”

“จงสวัสดิ์ สนหละหวังอารีย์” เจ้าของชิ้นงานเล่าว่า เดิมทำงานเป็นพนักงานรับส่งเอกสารประจำบริษัท ซึ่งอาชีพนี้เมื่อเข้าช่วงหน้าฝนมักจะเจอกับปัญหารองเท้าหนังที่สวมใส่อยู่ เปียกชื้น ทำให้มีกลิ่นอับ และชำรุดง่ายอยู่เสมอ ๆ จึงคิดว่าจะมีวิธีใดที่จะทำให้รองเท้าไม่เปียกฝน สามารถทำงานต่อได้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่คิดประดิษฐ์รองเท้ากันฝนขึ้น และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจในปัจจุบัน ยิ่งภายหลังที่ได้ไปอบรมการเริ่มต้นธุรกิจจากหน่วยงานต่าง ๆ จึงมองว่าไอเดียนี้สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดทำเป็นธุรกิจได้ จึงเริ่มต้นธุรกิจจากจุดนั้น

สำหรับ “รองเท้าสุขภาพกันลื่น” จงสวัสดิ์เล่าว่า เกิดแรงบันดาลใจที่จะผลิตรองเท้าชนิดนี้ขึ้น ภายหลังคุณแม่ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำภายในบ้าน จึงคิดว่าน่าจะออกแบบรองเท้ากันลื่นที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยไว้สวมใส่เพื่อ เดินไปมาในบ้าน จึงได้ออกแบบและทดลองทำอยู่นานกว่าจะได้วัสดุและการออกแบบที่ลงตัว ภายหลังจึงได้มาคิดต่อยอดเพิ่มขึ้นว่า...น่าจะเพิ่มประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น โดยเสริมพื้นรองด้านในของรองเท้า ให้มีลักษณะเป็นปุ่ม ๆ เพื่อสำหรับใช้นวดกดจุดที่ฝ่าเท้า เป็นการเพิ่มมูลค่าจากประโยชน์ใช้สอยได้อีกต่อหนึ่ง นอกจากนี้ยังทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้มีที่มาจากการออกแบบและทดลองทำ โดยมุ่งเน้นที่ประโยชน์จากการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน

“ตอนแรกคิดเพียงว่าจะผลิตออกมาสำหรับลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุ แต่ปรากฏว่าลูกค้ามีหลากหลายวัยมาก ซึ่งคนทั่วไปก็ซื้อไปสวมใส่เดินภายในบ้านได้ เพราะมีปุ่มนวดฝ่าเท้า และยังกันลื่น ทำให้มีตลาดกว้างขึ้น” เจ้าของชิ้นงานกล่าว

สำหรับรูปแบบนั้น จงสวัสดิ์บอกว่ามีอยู่เพียง 2 แบบคือ แบบรัดส้น และแบบไม่รัดส้น ซึ่งลูกค้าหลายคนก็มีคำแนะนำเข้ามาเรื่อย ๆ บางคนแนะว่าน่าจะเป็นรองเท้าหนัง เพื่อที่จะสามารถนำไปใส่เดินนอกบ้านได้ แต่จากการทดสอบหลายครั้งพบว่า หากเป็นรองเท้าหนังจะทำให้เกิดปัญหากับลูกค้าบางรายที่มีลักษณะเท้าแต่ละราย ไม่เหมือนกัน และด้วยเหตุที่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน คนไทยจึงมีเหงื่อออกมากโดยเฉพาะที่ฝ่าเท้า จึงคิดว่าแบบโปร่งน่าจะสวมใส่ได้เหมาะกับสภาพมากกว่า และด้วยคุณสมบัติที่ยืดหยุ่น ทำให้ปรับขนาดได้ตามรูปทรงของเท้า สามารถใส่อาบน้ำ ใส่ว่ายน้ำได้เพราะทำจากเส้นใยที่แห้งเร็วและคงทน ด้วยราคาที่ไม่แพง นอกจากนี้แผ่นนวดฝ่าเท้าและส่วนหุ้มส้นเท้าสามารถแยกออกจากตัวรองเท้าได้ ตามความต้องการและการใช้งาน

“ถ้าวัสดุเป็นหนังจะไม่ยืดหยุ่นเท่ากับผ้าโพลีเอสเตอร์โปร่งแบบนี้ อีกทั้งยังดูแลรักษาและทำความสะอาดยากกว่าการใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ชนิดโปร่ง” เจ้าของชิ้นงานกล่าวอธิบาย

ทุนเบื้องต้นสำหรับอาชีพผลิตรองเท้าสุขภาพกันลื่น ใช้ประมาณ 100,000 บาท เป็นค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต อาทิ จักรอุตสาหกรรม สำหรับการเย็บรองเท้า เป็นต้น ซึ่งหากต้องการลดต้นทุนก็อาจเลือกใช้จักรเย็บที่เป็นของมือ 2 ซึ่งราคาก็จะถูกลงไปอีก ส่วนทุนวัตถุดิบอยู่ที่ประมาณ 50% ของราคาขาย โดยราคาอยู่ที่คู่ละ 200 บาท

วัสดุในการผลิต ประกอบด้วย ผ้าโพลีเอสเตอร์ (ชนิดตาข่ายโปร่ง สำหรับทำหูรองเท้า), หนังแก้ว (สำหรับกุ๊นหรือหุ้มริมขอบรองเท้า), วัสดุสังเคราะห์ หรือโฟมผสมยาง (สำหรับทำปุ่มพื้นรองด้านใน), เวลโคร หรือตีนตุ๊กแก (สำหรับใช้ยึดติดกับพื้นด้านในรองเท้า), ผ้าตาข่ายขน (สำหรับทำพื้นรองเท้าด้านใน), ผ้าชุดว่ายน้ำ (สำหรับยึดระหว่างหูและพื้นรองเท้า) และพื้นยางกันลื่น (สั่งทำพิเศษตามการออกแบบ)

“วัสดุที่ใช้จะมีเหตุผลรองรับสำหรับการใช้งาน อย่างผ้าโปร่งโพลีเอสเตอร์นั้นก็เพื่อให้ระบายน้ำและอากาศได้ดี อีกทั้งยังช่วยยืดหยุ่น ปรับตามลักษณะเท้าของผู้สวมใส่ ส่วนผ้าชุดว่ายน้ำนั้นนำมาเย็บเป็นตัวยึดระหว่างหูรองเท้าและพื้น ซึ่งเหตุที่ใช้วัสดุนี้ เพราะมีความยืดหยุ่นและระบายน้ำได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่น”

ขั้นตอนการทำ ’รองเท้าสุขภาพกันลื่น” เริ่มจากออกแบบรูปทรงรองเท้าที่ต้องการ ทำการตัดวัสดุที่เตรียมไว้ ตามส่วนประกอบของรองเท้าแต่ละส่วนที่ได้ออกแบบไว้ จากนั้นเริ่มขึ้นชิ้นงาน โดยเริ่มจากการเย็บหูรองเท้า จากนั้นทำการเย็บเข้ากับตัวรองเท้า และทำการประกบเข้ากับพื้นรองฝ่าเท้าด้านล่างที่เป็นยาง ทำการเย็บขอบเก็บริมหรือกุ๊นด้วยหนังแก้ว ทำการตกแต่งและบรรจุใส่บรรจุภัณฑ์ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำรองเท้าสุขภาพกันลื่น

“จุดเด่นของชิ้นงานอาจไม่ได้อยู่ที่รูปแบบหน้าตาของรองเท้า แต่อยู่ที่ประโยชน์จากการใช้งานจริง ๆ มากกว่า เพราะรองเท้าสุขภาพกันลื่นเกิดขึ้นจากความต้องการที่ต้องการรองเท้ากันลื่น ที่สามารถใช้งานได้จริง ๆ กับชีวิตประจำวัน”

ใครสนใจติดต่อจงสวัสดิ์ ได้ที่ กลุ่มรองเท้ากันลื่น เลขที่ 55/298 ถนนรามคำแหง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ โทร. 08-3857-3534 ซึ่งกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน” รายนี้ ก็มีที่มา มีจุดเริ่มต้นในการทำอาชีพที่น่าพิจารณา.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=497&contentId=129015

No comments: