Wednesday, March 23, 2011

แนะนำอาชีพ 'ข้าวฮางหอม'

ข้าวฮาง เป็นข้าวที่ผลิตขึ้นตามกรรมวิธีโบราณ และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวภูไทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สืบต่อกันมานานกว่า 200 ปี ปัจจุบันข้าวฮางได้รับการจดสิทธิบัตรทางการค้าและขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าบ่ง ชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอ (GI:Geographical Indications) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในนามข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ขณะเดียวกันยังเป็นสินค้าโอทอป (OTOP) ระดับ 5 ดาว ซึ่งช่วยให้สินค้าดังกล่าวมีศักยภาพการแข่งขันและเป็นที่ยอมรับเพิ่มสูงขึ้น

นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนา เกษตรกร เปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯได้สนับสนุนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร จำนวน 500,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการแปรรูปข้าวฮางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิต ข้าว ป้อนให้กับตลาดและกลุ่มผู้บริโภคที่รักษ์สุขภาพที่มีความต้องการสูง เพื่อช่วยให้เกษตรกรสมาชิกมีอาชีพและมีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวเพิ่มขึ้น

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาบ่อเป็นกลุ่มที่มีการรวมตัวอย่างเหนียวแน่น ทั้งยังมีความสามัคคี มีระบบบริหารจัดการและควบคุมภายในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถผลิตข้าวฮางหอมคุณภาพดีป้อนตลาดได้สัปดาห์ละประมาณ 1-1.2 ตัน ซึ่งผลิตภัณฑ์มี 2 รูปแบบ คือ ชนิดถุง บรรจุ 1 กิโลกรัม ราคา 50 บาท และชนิดขวด บรรจุ 4.25 กิโลกรัม ราคา 250 บาท ซึ่งขณะนี้กลุ่มฯ ได้ชำระเงินกู้คืนพร้อมดอกเบี้ยให้กับกองทุนฟื้นฟูฯเกือบครบแล้ว

ทางด้าน นางสาวนิภาพร ร่มเกษ วัย 26 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาบ่อ กล่าวว่า สมาชิกจำนวน 38 ราย จะร่วมวางแผนและช่วยกันผลิตข้าวฮางให้ทันตามยอดสั่งซื้อของลูกค้าที่มีอย่าง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ จะชอบข้าวฮางมากเนื่องจากมีกลิ่นหอมและมีรสชาติดีแล้ว ที่สำคัญยังมีสารอาหารครบถ้วนและคุณค่าทางโภชนาการสูงด้วย ทำให้
ยอดจำหน่ายข้าวฮางหอมในช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 20% หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว กลุ่มฯ มีกำไรสุทธิกว่า 534,000 บาท ซึ่งปี 2554 นี้ แนวโน้มตลาดยังไปได้ค่อนข้างดี

ปีนี้ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาบ่อได้ปรับกลยุทธ์เพื่อพัฒนาสมรรถนะและเพิ่มขีด ความสามารถการแข่งขัน พร้อมสร้างโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น โดยส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรในหมู่บ้านกว่า 56 ครัวเรือน ให้ผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งกลุ่มจะรับซื้อผลผลิตอินทรีย์เพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็น ข้าวฮางอินทรีย์ ขณะเดียวกันยังเร่งพัฒนาศักยภาพสมาชิกกลุ่มในทุกขั้นตอนและกระบวนการผลิต ข้าวฮาง ตั้งแต่แผนกคัดเลือกข้าวเปลือกคุณภาพดี แผนกนึ่งข้าว แผนกสีข้าว และแผนกบรรจุภัณฑ์ ทั้งยังจะเร่งพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเชื่อมโยงการผลิตและสร้างเครือข่ายการตลาดด้วย

...นอกจากนั้น ยังมีแผนเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้กรรมวิธีการผลิตและการแปรรูปข้าวฮางหอมไปสู่ เยาวชน นักเรียนและยุวเกษตรกรในพื้นที่ที่มีความสนใจ เพื่อทดแทนรุ่นเดิมที่มีอายุสูงขึ้น มุ่งให้สืบทอดและสานต่อภูมิปัญญาการผลิตข้าวฮางไปสู่รุ่นลูกหลานต่อไป ไม่ให้สูญหายจากท้องถิ่น.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=128257

No comments: