Wednesday, March 2, 2011

แนะนำอาชีพ 'ปลูกพริกหลังนา'

เดิมหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เกษตรกรในพื้นที่บ้านก๋ง ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน ส่วนใหญ่มักจะว่างงาน หลายคนอพยพเข้าสู่กรุงเทพฯและเมืองใหญ่ ๆ เพื่อหางานทำ จนกระทั่งเมื่อปี 2544 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตรด้วยระบบน้ำหยด จึงมีการรวบรวมสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ แรกเริ่มมี 21 ราย เลือกกิจกรรมปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ช่วงแรกก็จะปลูกไม้ผลแต่บางปีได้ผลผลิตน้อย ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อีกทั้งประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชอายุเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อยแทนซึ่งสมาชิก สามารถทำได้หลังฤดูทำนา พืชที่ปลูกได้แก่ พริก ผักกาด คะน้า และหอม ทำให้มีรายได้ดีขึ้น

กำนันทองคำ มินทร ประธานวิสาหกิจชุมชนกสิกรรมไร้สารพิษบ้านก๋ง เล่าว่า กระทั่งปี 2546 เริ่มสังเกตเห็นว่า เกษตรกรและชาวบ้านหลายรายในพื้นที่ป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ บางรายเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จึงได้สรุปว่าน่าจะเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนสะสมในร่างกาย ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินน่าน เข้ามารณรงค์ให้ลด ละ เลิกใช้สารเคมีในการผลิตสินค้าเกษตร ผมจึงเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และได้ร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่ม รวมทั้งคนในชุมชนให้เข้าใจเรื่องลด ละ เลิก การใช้สารเคมี และชี้ให้เห็นถึงอันตรายของสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพ พร้อมกันนี้ยังได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดชาวบ้านให้หันมาใช้สารชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ทดแทนสารเคมีด้วย ซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี จึงสามารถเปลี่ยนแนวคิดได้

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกสิกรรมไร้สารพิษบ้านก๋ง ได้ส่งเสริมสมาชิกกว่า 40 ราย ให้ปลูกพริกปลอดสารพิษป้อนตลาดโดยมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดประมาณ 160 ไร่ เฉลี่ยรายละ 4 ไร่ ทุกปีสมาชิกจะนำกล้าพริกอายุ 1 เดือนลงปลูกในนาข้าวที่ไถปรับพื้นที่ไว้แล้ว พริกเป็นพืชที่ดูแลง่าย ไม่ยุ่งยาก และยังใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าวโพด ในระยะแรกเมื่อปลูกลงแปลงต้องให้น้ำทุกวัน เมื่อต้นพริกโตขึ้นต้องสังเกตความชื้นของดิน ถ้าดินอุ้มน้ำดีอาจเว้นระยะการให้น้ำได้หลายวัน แต่ต้องระวังไม่ให้ดินชื้นมาก เพราะอาจเกิดโรคโคนเน่าสร้างความเสียหายได้

การใช้สารชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนสารเคมี ส่งผลให้สมาชิกได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เม็ดพริกโตขึ้น และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก ปกติต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500-3,500 บาท/ไร่ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำ หลังปลูกพริก 4 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวพริกสดสีแดง ป้อนตลาดได้ โดยพ่อค้าคนกลางจะมารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม ซึ่งราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับภาวะตลาดแต่ละช่วง พ่อค้าคนกลางจะรับซื้อผลผลิตของกลุ่มทั้งหมด เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพ ทั้งยังมีความปลอดภัย และไร้สารพิษตกค้างปนเปื้อน หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว สมาชิกกลุ่มจะมีกำไรจากการจำหน่ายพริกสดแดงหลังฤดูทำนา เฉลี่ยรายละกว่า 100,000 บาท ซึ่งช่วงหน้าแล้งของปีที่ผ่านมา ตำบลยมมีเงินสะพัดจากการค้าพริกสดแดงหลายล้านบาท นับว่าเป็นรายได้เสริมที่คุ้มค่ากว่าการปลูกข้าวโพด...

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น เกษตรกรคงต้องงัดกลยุทธ์เด็ดขึ้นมาสร้างจุดแข็งเป็นจุดขายให้กับสินค้าของตน เอง โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องไม่ลืมใส่ใจถึงเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหารด้วย.

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=124275

No comments: