Saturday, February 26, 2011

แนะนำอาชีพ 'น้ำดอกไม้พร้อมดื่ม'

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีม ’ช่องทางทำกิน” มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือไอแทป (iTAP) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จนต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นได้ อย่างเช่น ’น้ำดอกไม้พร้อมดื่ม” รายนี้ ก็น่าสนใจไม่น้อย...


“สำเนียง ดีสวาสดิ์” เล่าว่า ผลิต “น้ำดอกไม้” เพื่อสุขภาพ จำหน่ายมาได้ 4 ปีแล้ว โดยเริ่มจากการทำน้ำลูกสำรองและน้ำสมุนไพรพร้อมดื่มจำหน่ายที่ตลาดน้ำอัมพวา ต่อมามีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามาสอบถามว่าสนใจ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากดอกไม้หรือไม่ ซึ่งได้ตอบว่าสนใจ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ โดยจัดทำเป็นสูตรของตนเองขึ้น สำหรับดอกไม้ที่นำมาทำเป็นน้ำดอกไม้เพื่อสุขภาพนั้น ประกอบไปด้วยดอกไม้ 5 ชนิด ได้แก่ ดอกดาหลา, ดอกบัว, ดอกกุหลาบ, ดอกเข็มแดง, ดอกอัญชัน โดยดอกไม้ทั้ง 5 ชนิดนี้สามารถหาได้ในท้องถิ่น และจากการวิจัยพบว่ามีประโยชน์และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก

“เริ่มจากทำน้ำดอกดาหลาก่อนเป็นอันดับแรก แต่แรก ๆ ตลาดไม่ตอบรับนัก เพราะรสชาติของดาหลาเมื่อทำเป็นน้ำ รสชาติค่อนข้างจะเผ็ด จึงทำการปรับปรุงสูตรโดยเพิ่มส่วนผสมอื่น ๆ เข้าไปเพื่อให้ได้รสชาติที่ลูกค้าทานได้ง่ายขึ้น”

เจ้าของผลิตภัณฑ์กล่าวก่อนระบุว่า แต่ปัญหาต่อมาคือ เมื่อทำเสร็จแล้วน้ำดอกไม้มีอายุการเก็บรักษาสั้นมาก คือเดิมอยู่ที่ประมาณ 3 วัน ทำให้ลูกค้าไม่กล้าซื้อในจำนวนมาก ๆ ต่อมาเมื่อได้รับการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไอแทป ทำให้สามารถผลิตน้ำดอกไม้ชนิดเข้มข้น ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 1 ปี อีกทั้งยังนำกระบวนการสเตอริไลส์และกระบวนการพาสเจอไรซ์เข้ามาช่วยในการผลิต น้ำดอกไม้พร้อมดื่ม ทำให้มีอายุการเก็บรักษาได้นานตั้งแต่ 7 วันถึง 1 เดือน ทำให้กระจายและขายผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้น

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้เริ่มต้นที่ประมาณ 10,000 บาท ส่วนทุนวัตถุดิบประมาณ 50% จากราคาขาย โดยน้ำดอกไม้พร้อมดื่มจำหน่ายขวดละ 10 บาท เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ทำ หลัก ๆ ได้แก่ เครื่องปั่น, ภาชนะสเตนเลส, เตาสำหรับต้ม, ซึ้งนึ่ง, เครื่องวัดความหวาน หรือบริกซ์มิเตอร์ (Brix Meter) เครื่องอัดฝาจีบ (สำหรับผู้ที่ต้องการทำบรรจุขวดแก้ว) ส่วนผสมกับวัตถุดิบ แบ่งตามชนิดของน้ำดอกไม้ ได้แก่

น้ำดอกดาหลา ประกอบด้วย ดอกดาหลา 1 กิโลกรัม, ตะลิงปลิง 1 กิโลกรัม, น้ำตาลทรายขาว กิโลกรัม, เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำสะอาด 5 ลิตร

น้ำดอกเข็มแดง ประกอบด้วย ดอกเข็มแดงตากแห้ง ขีด, น้ำสะอาด 4 ลิตร, น้ำตะลิงปลิงสด กิโลกรัม, เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ, โซดา 4 ลิตร, น้ำตาลทราย ตามชอบ

น้ำดอกอัญชัน ประกอบด้วย ดอกอัญชันแห้ง ขีด, น้ำมะพร้าว 10 ลิตร, น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม, เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำสะอาด 2 ลิตร

น้ำดอกบัว ประกอบด้วย เกสรดอกบัวตากแห้ง 1 ขีด, น้ำสะอาด 4 ลิตร, น้ำตาลทราย 7 ขีด, เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ

น้ำดอกกุหลาบ ประกอบด้วย ดอกกุหลาบแห้ง 1 ขีด, วุ้นมะพร้าว 1 กิโลกรัม, น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม, น้ำสะอาด 8 ลิตร

“ส่วนผสมสูตรนี้สามารถทำได้ประมาณ 35 ขวด สำหรับขวดบรรจุขนาด 220 ซีซี” เจ้าของสูตรกล่าว

ขั้นตอนการทำ เริ่มจาก น้ำดอกดาหลา นำดอกดาหลามาปั่นจากนั้นนำมาต้มให้สุก ส่วนตะลิงปลิงนั้นให้นำมาหมัก โดยตอนหมักให้ใส่น้ำตาลทรายประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนโต๊ะลงไปด้วย จากนั้นหมักทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จะได้น้ำหมักตะลิงปลิงมาใส่แทนน้ำโซดาและให้รสเปรี้ยวธรรมชาติ น้ำตาลทรายที่เตรียมไว้นำมาทำน้ำเชื่อม จากนั้นเมื่อได้ส่วนผสมทั้งหมดก็นำมาผสมรวมกัน ต้มให้สุก ชิมรสตามต้องการ ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด

น้ำดอกเข็มแดง นำดอกเข็มแดงมาต้ม จากนั้นกรองให้เหลือแต่น้ำ นำตะลิงปลิงสดมาคั้นน้ำ นำน้ำตะลิงปลิงผสมกับน้ำดอกเข็ม โดยน้ำตะลิงปลิงจะทำปฏิกิริยาทำให้น้ำดอกเข็มมีสีแดงมากขึ้น เติมส่วนผสมที่เตรียมไว้รวมกัน ต้มพอเดือด จากนั้นยกลงทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด

น้ำดอกอัญชัน เริ่มจากเติมน้ำตาลทรายลงไปในน้ำสะอาดที่ตั้งรอไว้ ต้มให้สุก จากนั้นนำดอกอัญชันแห้งที่เตรียมไว้ใส่ลงไป ต้มต่อไปให้เดือด เติมรสตามชอบ จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด

น้ำดอกบัว ตั้งน้ำสะอาดให้เดือด จากนั้นนำเกสรบัวใส่ลงไป คนให้ทั่วสักพัก จากนั้นยกลงเลย เติมน้ำตาล เติมเกลือตามส่วนผสม ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด

น้ำดอกกุหลาบ นำกุหลาบแห้งมาต้ม เสร็จแล้วเติมกลิ่นและสีผสมอาหารเพื่อช่วยให้มีกลิ่นและสีกุหลาบเพิ่มขึ้น เล็กน้อย นำวุ้นมะพร้าวที่กรองสะอาดเตรียมไว้มาปั่น นำส่วนผสมที่ได้ใส่ลงไปต้มให้สุก ทิ้งไว้ให้เย็น นำไปบรรจุขวด


ใครสนใจติดต่อผู้ผลิต ’น้ำดอกไม้เพื่อสุขภาพ” รายนี้ ติดต่อได้ที่ เลขที่ 79/10 หมู่ 11 ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โทร. 08-1640-4367, 0-3475-2997 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ที่พลิกแพลงเพิ่มมูลค่าด้วยงานวิจัย เป็นอีกตัวอย่างของการไม่กลัวที่จะเรียนรู้และเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา...

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=123522&categoryID=498

No comments: